แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1477


    ครั้งที่ ๑๔๗๗


    สาระสำคัญ

    เรื่องของรส (การสะสมความติด)

    เรื่องท่านพระปิณฑปาติยติสสเถระ (ผู้ที่ยังติดในรส) - ศรัทธาของทารุภัณฑกมหาติสสะ

    ศรัทธาของอุบาสิกาท่านหนึ่ง - สละสิ่งที่เป็นที่พอใจถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘


    . ทางกายทวาร ขณะที่แข็งก็ดี ร้อนหรือเย็นปรากฏก็ดี ความไม่มีตัว ไม่มีตนก็เห็นชัดๆ อยู่แล้ว เป็นธรรม ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยๆ ถ้าหากมีเวลาให้กับการพิจารณาให้ยาวนานอีกนิดหนึ่ง จะเห็นความเป็นธรรมจริงๆ แต่เท่านี้คงยังไม่เพียงพอ และยังมาติดที่ว่า ธาตุรู้นั้นเป็นอย่างไร ตรงธาตุรู้นี้ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายธาตุรู้ทางกาย ทั้งในแง่ปริยัติและปฏิบัติด้วย

    สุ. ก็คือสภาพรู้ในขณะนี้ ถ้ากระทบสัมผัสอะไรที่แข็ง ลักษณะที่กำลังรู้ อาการที่รู้แข็งนั้น คือ ธาตุรู้ทางกาย ไม่มีเกินไปกว่านี้ เท่านี้ พิจารณาไปกี่ภพกี่ชาติ ก็คือความจริงเท่านี้เอง ขณะใดที่แข็งปรากฏ สติระลึกได้ก็รู้ว่า ขณะที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ หรืออาการรู้ ซึ่งกำลังรู้แข็ง

    . ไม่พ้นจากการคิดนึก ถ้าไม่คิดเคยสังเกตว่า ขณะใดที่ไม่ได้คิดนั้น ลักษณะที่เป็นรูปรู้สึกจะเป็นรูปธรรมจริงๆ เป็นธรรมทางฝ่ายรูปธรรม คือ ธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์ ก็ชัดเจนว่าเป็นธรรมจริงๆ ความเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งของ ไม่มีจริงๆ เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีปัญญารู้ธาตุรู้ที่ชื่อว่ากายวิญญาณ ใช่ไหม

    สุ. ต้องรู้ความต่างกันของสภาพรู้และรูปธรรม จึงจะไม่ใช่เราที่กำลังรู้ และรูปธรรมก็ไม่ใช่นามธรรม ไม่อย่างนั้นก็ยังสงสัยว่า ที่เห็นนี่เป็นนามธรรมตอนไหน และเป็นรูปธรรมอย่างไร

    . อุทยัพพยญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ได้เกิดเพียงขณะจิตเดียว ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน วิปัสสนาญาณต้องเกิดมากพอที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามควรแก่เหตุว่าจะประจักษ์มากน้อยนานเท่าไร ไม่ใช่รูปเดียวนามเดียว เพราะว่าในขณะนี้มีทั้งเห็นด้วย คิดนึกด้วย อาจจะมีเสียงปรากฏด้วย มีกายกระทบสัมผัสด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น ปัญญาแทงตลอดลักษณะของรูปโดยมโนทวารวิถีซึ่งแทรกคั่นอยู่แต่ละรูป ทีละรูป ไม่ใช่เพียงรูปเดียว

    เรื่องของรส แม้ว่าจะไม่ปรากฏมากอย่างทางตา ทางหู แต่ก็ทำให้มีความติดความพอใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏ โลภะจะไม่เกิดขึ้นติดพอใจต้องการ ในสิ่งนั้น ไม่มีเลย แม้ในวันหนึ่งๆ รสก็กระทบลิ้นชั่วไม่กี่นาที ใช่ไหม ขณะนี้รสไม่ได้กระทบลิ้น ตอนเช้ารสกระทบ ตอนกลางวันรสกระทบ และบางคนอาจจะมีรสกระทบตอนเย็น ตอนค่ำ แต่จริงๆ แล้ว ชั่วเวลาไม่นานเลย อาจจะเพียง ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือบางคนอาจจะบริโภคด้วยความสุขสบาย เจริญใจ อาจจะถึงชั่วโมง สองชั่วโมง นั่นก็แล้วแต่บุคคล แต่จะเห็นได้ว่า แม้ว่ารสจะปรากฏจริงๆ เพียงเท่านั้น แต่ความติดในรสทำให้มีเรื่องของรสมาก

    สำหรับบางท่าน อาจจะเป็นผู้ที่คิดถึงเรื่องรส คือ การปรุงอาหารตลอดเวลา เช่น ท่านที่มีภัตตาคารหรือร้านอาหาร เรื่องใหญ่ของท่านก็คือเรื่องรส และเรื่องของแม่บ้าน ก็จะคิดนึกไปในเรื่องของรส

    และบางคนอาจจะไม่ทราบว่า ความติดความพอใจในรสที่ตนต้องการ ทำให้คนอื่นต้องลำบากสักแค่ไหน เพราะบางครั้งอาหารทำเสร็จแล้ว ก็ยังต้องให้เอากลับไปปรุงใหม่ก็เป็นได้ สำหรับความติดในรสของพระภิกษุ ก็ทำให้ชาวบ้านลำบาก และบางครั้งถึงกับเปลี่ยนสภาพของชีวิตก็ได้ แต่ว่ายามใดที่กุศลให้ผล ยามนั้นย่อมได้รับความสุข

    ขอกล่าวถึงเรื่องของ ท่านพระปิณฑปาติยติสสเถระ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    มีคนเข็ญใจคนหนึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการขายฟืน จึงมีชื่อว่าทารุภัณฑกมหาติสสะ เมื่อเขาคิดถึงความยากจนของเขาก็เกิดความสังเวช เขากล่าวกับภรรยาว่า เพราะ เขาทั้งสองไม่ได้บำเพ็ญทานจึงยากจน พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญทานว่ามีผลมาก แต่เขาจะทำทานทุกวันไม่ได้ เขาจะถวายภัตแก่สงฆ์เฉพาะในวันข้างขึ้นครั้งหนึ่ง และวันข้างแรมครั้งหนึ่ง และถ้าได้ของสิ่งใดมาเป็นพิเศษ ก็จะกระทำสลากภัต

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันของพุทธบริษัท

    เขาถามภรรยาว่า ภรรยามีความคิดอย่างไร ซึ่งภรรยาก็เห็นด้วย ในวันรุ่งขึ้นภรรยาก็นำอาหารไปถวายพระภิกษุ ครั้งนั้นเป็นกาลที่พระภิกษุสงฆ์ฟุ่มเฟือยด้วยจตุปัจจัย ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายเลือกฉันแต่จังหันที่ประณีตบรรจง จังหันที่ภรรยาของทารุภัณฑกมหาติสสะถวายนั้น เป็นจังหันที่เศร้าหมองไม่ประณีต ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลายเสียไม่ได้ก็จำเป็นจำรับไว้ แต่พอรับแล้วก็สาดเทเสีย ต่อหน้าต่อตา ภริยาของทารุภัณฑกมหาติสสะก็เล่าให้สามีฟัง แต่ไม่ได้เดือดร้อน กินแหนงใจประการใด ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ปรึกษากับภรรยาว่า ทำอย่างไรจะได้มีอาหารที่ประณีตให้พระคุณเจ้าทั้งหลายฉันได้ ภรรยาก็แนะนำให้เอาลูกสาวไปขายฝากไว้ที่ตระกูลหนึ่งสัก ๑๒ ตำลึง และเอาเงินนั้นไปซื้อโคนมมาตัวหนึ่งจะได้ถวายสลากภัตด้วยนมและเนยได้ สามีก็กระทำตาม และด้วยบุญของคนทั้งสอง ทำให้รีดน้ำนมได้มากทั้งเช้าและเย็น สามารถหุงข้าวด้วยน้ำมันเนยอย่างดีถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายได้

    ทารุภัณฑกมหาติสสะคิดที่จะเปลื้องธิดาให้พ้นจากการเป็นทาสี ก็ปรึกษากับภรรยาแล้วก็ไปรับจ้างหีบน้ำอ้อยถึง ๖ เดือน จึงได้เงิน ๑๒ ตำลึง ครบค่าตัวของ ลูกสาว จึงเดินทางกลับบ้าน

    ระหว่างทางเขาเห็นท่านพระปิณฑปาติยติสสะกำลังเดินจะไปนมัสการ พระเจดีย์ที่ติสสมหาวิหาร เขาใคร่ที่จะได้ฟังธรรม จึงรีบเดินตามท่านไปข้างหลัง พอถึงเวลาที่ใกล้จะกระทำภัตตกิจ เขาคิดว่าเมื่อถึงประตูเมืองจะซื้ออาหารถวาย ขณะนั้นมีคนถือห่อข้าวเดินมา ทารุภัณฑกมหาติสสะก็นิมนต์พระเถระให้นั่งที่ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วเข้าไปหาบุรุษผู้นั้นขอซื้อข้าวนั้น ๑ กหาปนะ ซึ่งเท่ากับ ๑ ตำลึง บุรุษผู้นั้นคิดว่า ข้าวห่อนี้ราคาไม่ถึง ๑ มาสก แต่ว่าทารุภัณฑกมหาติสสะขอซื้อถึง ๑ ตำลึง คงจะต้องมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นแน่ เขาจึงไม่ยอมขายให้ แต่ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ขอซื้อเพิ่มขึ้น ทวีราคาขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๑๒ ตำลึง บุรุษ ผู้นั้นก็ยังไม่ยอมขายให้ ทารุภัณฑกมหาติสสะก็บอกว่า เขามีกหาปนะอยู่เท่านั้นเอง ถ้ามีกหาปนะมากกว่านั้นก็จะให้มากกว่านั้นอีก แล้วบอกว่า ข้าวห่อนี้ไม่ใช่ว่าเขาจะบริโภคเอง แต่เขาได้นิมนต์พระคุณเจ้ารูปหนึ่งให้นั่งใต้ต้นไม้นั้น ขอจงให้ข้าวนั้นไปทำบุญด้วยกันเถิด

    เมื่อบุรุษผู้นั้นทราบ ก็รับเงิน ๑๒ ตำลึงและให้ข้าวทารุภัณฑกมหาติสสะไป ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ล้างมือสะอาด นำอาหารใส่บาตรพระมหาเถระ พอเขา ใส่บาตรได้ครึ่งหนึ่ง พระมหาเถระก็ปิดบาตร แต่เขาก็กราบเรียนท่านว่า อาหารนี้ พออิ่มสำหรับคนเดียว ขอให้ท่านรับไว้ทั้งหมด พระมหาเถระก็รับไว้ทั้งหมด

    เมื่อท่านกระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเดินไปกับทารุภัณฑกมหาติสสะ และเมื่อท่านถาม ทารุภัณฑกมหาติสสะก็ได้เล่าเรื่องราวของเขาทั้งหมดให้ท่านฟัง ตั้งแต่ออกจากบ้านไปจนกระทั่งถึงซื้อข้าวห่อด้วยเงิน ๑๒ ตำลึง

    ท่านพระเถระได้ฟังก็สลดใจ และรู้คุณของอุบาสก เมื่อถึงติสสมหาวิหารแล้ว ท่านก็เพียรกระทำสมณธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ เมื่อท่านจะปรินิพพานก็มีผู้ถามท่านว่า อะไรเป็นเหตุให้ท่านเกิดธรรมสังเวช ท่านก็ได้เล่าเรื่องศรัทธาของ ทารุภัณฑกมหาติสสะที่ถวายข้าวห่อแก่ท่านให้ผู้ที่อยู่ในที่นั้นฟัง ซึ่งบริษัททั้ง ๔ นั้น ก็ให้สาธุการโดยทั่วกัน

    ก่อนปรินิพพานท่านอธิษฐานว่า ที่ประดิษฐานสรีระของท่านนั้น ขออย่าให้ ใครๆ ยกได้ นอกจากทารุภัณฑกมหาติสสะเท่านั้น

    เมื่อพระราชาทรงทราบว่า พระมหาเถระปรินิพพานแล้ว ได้เสด็จไปสักการะ และเมื่อทรงให้ตกแต่งเชิงตะกอน และให้เชิญพระศพของพระมหาเถระไปสู่เชิงตะกอน แต่ใครๆ ก็ยกไม่ขึ้น ต่อเมื่อพระราชารับสั่งให้หาตัวทารุภัณฑกมหาติสสะมาสอบถาม และได้พระราชทานเครื่องประดับอันมีราคามากให้ทารุภัณฑกมหาติสสะอาบน้ำชำระร่างกาย ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ แล้วไปถวายนมัสการสรีระของพระมหาเถระ

    เมื่อทารุภัณฑกมหาติสสะยกเท้าของท่านพระมหาเถระขึ้นทูนบนศีรษะนั้น ที่ประดิษฐานศพของท่าน ก็ลอยไปประดิษฐานเหนือเชิงตะกอนได้

    แสดงให้เห็นถึงการที่อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธา ต้องขวนขวายด้วยความยากลำบากในการที่จะบำรุงพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งท่านยังเป็นผู้ที่ยังติดในรส จนกว่าจะเกิดธรรมสังเวช ความสลดใจว่า ผู้อื่นต้องหามาให้ท่านด้วยความเหนื่อยยากลำบากเพียงใด ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้ในกาลสมัยที่ผ่านมาแล้วก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเหตุการณ์และสถานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้น

    ในเรื่องของรส การสะสมความติด ความพอใจ ความต้องการ ในอดีตก็มีมามาก เพราะว่าในปัจจุบันชาตินี้ ทุกท่านสามารถรู้ได้ถึงความติดในรสของท่านเองว่า มีมากน้อยแค่ไหน บางท่านอาจจะไม่ติดในรสมาก คือ รับประทานอะไรก็ได้ แต่ บางท่านไม่ได้ อาหารชนิดนี้ต้องสุกมากๆ ชนิดนั้นต้องเป็นรสอย่างนั้น เป็นรสอย่างนี้ มิฉะนั้นแล้ว ก็บริโภคไม่ได้

    แสดงให้เห็นถึงความติด ความพอใจในรส ซึ่งในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนานมาแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้อดีตชาติได้ว่า เคยมีการแสวงหา เคยมีความพอใจในรสมากน้อย แค่ไหน แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึงอดีตชาติของแม้พระสาวก เพื่อให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องมีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่แต่ละคนสะสมมา ทำให้วิถีชีวิตในชาติหนึ่ง ภพหนึ่ง ของสังสารวัฏฏ์หนึ่งต่างๆ กันไป

    ขอกล่าวถึงศรัทธาของอุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งสามารถสละสิ่งที่เป็นที่พอใจ ของตนเพื่อจะได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์

    ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตผู้ครอง พระนครอุชเชนีทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงบังเกิดในโลกแล้ว พระองค์ได้รับสั่งให้ท่านอาจารย์กัจจายนพราหมณ์ไปเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคมาสู่พระนครอุชเชนี เมื่อท่านกัจจายนพราหมณ์กับบุรุษอีก ๗ คนได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และได้ฟัง พระธรรมแล้ว ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๘ ท่าน

    ท่านพระมหากัจจายนะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค พรรณนาหนทางไปสู่ นครอุชเชนี

    นี่เป็นการเชิญเสด็จ แต่ไม่ควรเชิญเสด็จด้วยคำพูดอย่างอื่น นอกจากพรรณนาถึงหนทางไปสู่พระนครอุชเชนี เพื่อที่พระผู้มีพระภาคจะทรงพระมหากรุณาเสด็จไป ถ้าพระองค์เห็นว่าสมควร

    แต่ ธรรมดาว่า พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งแล้ว ย่อมมิได้เสด็จไปสู่ที่อันไม่ควรเพื่อจะเสด็จ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระมหากัจจายนะว่า

    ดูกร ภิกษุ ท่านจงไปแต่ผู้เดียวเถิด ในกาลเมื่อท่านไปแล้ว พระราชาจะทรงเลื่อมใสในท่าน

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และพระราชานั้น จะทรงเลื่อมใสท่านพระมหากัจจายนะ โดยที่พระองค์เองไม่จำเป็นต้องเสด็จไป

    ท่านพระมหากัจจายนะก็ดำริว่า ขึ้นชื่อว่าพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสองนั้น ไม่มีเลย ท่านก็ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาค แล้วเดินทางกลับไปสู่นครอุชเชนี พร้อมด้วยภิกษุอีก ๗ รูปที่มาด้วยกัน

    ระหว่างทางนั้น มีนิคมตำบลหนึ่งชื่อว่าปนารนิคม ในนิคมนั้นมีธิดาเศรษฐี ๒ คน คนหนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีเก่าตกยาก เข็ญใจ ไร้ทรัพย์ เมื่อมารดาบิดาสิ้นชีวิตแล้วแม่นมก็ได้ดูแลรับใช้ต่อมา เศรษฐีธิดาผู้นี้งามมาก มีผมยาวสวยที่หาผู้เสมอ ได้ยาก ส่วนเศรษฐีธิดาอีกคนหนึ่งนั้นก็มั่งมี แต่ว่าอาภัพผม ก่อนที่ท่าน พระมหากัจจายนะจะไปถึงนิคมนั้น ธิดาเศรษฐีผู้อาภัพผมก็ได้ส่งคนไปขอซื้อผมของเศรษฐีธิดาเข็ญใจ ๑๐๐ กหาปนะบ้าง ๑,๐๐๐ กหาปนะบ้าง เศรษฐีธิดาเข็ญใจ ก็ไม่ขายให้

    เมื่อท่านพระมหากัจจายนะมาถึงปนารนิคมนั้นแล้ว เศรษฐีธิดานั้นเห็นท่านแวดล้อมด้วยภิกษุ ๗ รูป ถือบาตรเปล่าเดินไป นางใคร่ที่จะถวายไทยธรรมแก่ ท่านพระเถระ แต่เมื่อไม่มีทรัพย์ก็คิดที่จะขายผม จึงได้ให้แม่นมอาราธนา ท่านพระภิกษุทั้ง ๘ รูปเข้ามานั่งในบ้าน แล้วให้แม่นมเอาตะไกรตัดผมไปขายให้ ธิดาเศรษฐีผู้อาภัพผม และสั่งให้เอาเงินที่ได้มานั้นจัดถวายบิณฑบาตแก่ภิกษุสงฆ์

    ฝ่ายแม่นมนั้นไม่อาจที่จะกลั้นน้ำตาได้ ยกมือขึ้นเช็ดน้ำตา พลางทุบอกด้วยมือข้างหนึ่ง แล้วเอาผมนั้นซ่อนไม่ให้พระมหาเถระทั้งหลายเห็น แล้วก็ไปยังสำนักแห่งเศรษฐีธิดาคนมีทรัพย์นั้น

    ธรรมดาว่า วัตถุอันประณีตมีแก่นสารเป็นของมีราคามากนั้น ถ้าบุคคล น้อมนำไปเที่ยวขายด้วยตนเองแล้ว ถึงว่าจะดีมีราคามาก ก็จะกลายเป็นของไม่สู้ดี ไม่สู้มีราคาได้ ชื่อว่ายังราคาให้ตกไป มิได้ยังความเคารพคารวะในวัตถุและบุคคล ให้เกิดขึ้น

    นี่เป็นของธรรมดา เวลาที่มีใครต้องการและพยายามขอซื้อ เจ้าของไม่ขาย ก็เพิ่มราคาให้ แต่ถ้าเจ้าของคิดจะขาย และถึงกับเอาไปขายด้วยตัวเอง ราคาก็ต้อง ตกลงเป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะเอาของอะไรไปขายเอง ก็จะทราบได้ว่า ราคาต้องลดลง

    เพราะฉะนั้น

    เศรษฐีธิดาซึ่งเป็นคนที่อาภัพผมนั้นก็คิดว่า แต่ก่อนนี้ขอซื้อด้วยราคาเท่าไรๆ ก็ไม่ยอมขาย แต่ว่าบัดนี้เมื่อตัดออกจากศีรษะแล้ว ราคาผมก็ย่อมลดลง ขึ้นชื่อว่า ผมของตนที่คนเอาไปขายในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ย่อมควรแก่ราคาเพียง ๘ กหาปนะเท่านั้นแหละ ว่าแล้วก็ให้ทรัพย์เพียง ๘ กหาปนะแก่แม่นมนั้น

    แต่ก่อนนี้เคยขอซื้อถึง ๑,๐๐๐ กหาปนะ แต่เมื่อตัดผมไปขายให้ ก็ได้ ราคาเพียง ๘ กหาปนะเท่านั้น

    เศรษฐีธิดานั้นได้เอากหาปนะทั้ง ๘ นั้น ทำภัตตาหาร ตกแต่งบิณฑบาตถวายพระมหาเถระทั้ง ๘ องค์ องค์ละกหาปนะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๘ ตอนที่ ๑๔๗๑ – ๑๔๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564