แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1479


    ครั้งที่ ๑๔๗๙


    สาระสำคัญ

    ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน (มหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละ)

    วิปัสสนาญาณ - การประจักษ์แจ้งสภาพที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ความติดในรสในอดีตชาติของสุขสามเณร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๘


    ผู้ที่ไม่ได้ต้องการทำให้เกิดสมาธิโดยกำหนดให้สติตั้งมั่นที่ลมหายใจ แต่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน แม้นามรูปปริจเฉทญาณ ลมขณะนั้นก็ปรากฏได้ โดยไม่ได้คิดหมายมาก่อนเลย เพราะว่าปัญญาแต่ละขั้นจะปรากฏโดยสภาพความ เป็นอนัตตา ถ้าเป็นผู้ที่เคยอบรมอานาปานสติมาแล้วในอดีต เมื่อถึงเวลาที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นสติเกิดจะระลึกที่ลมหายใจ ก็ไม่มีใครยับยั้งได้ การแทงตลอด จะแทงตลอดและประจักษ์ความเกิดดับของลมหายใจ ในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาโดยละเอียดว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละ โดยสติระลึกและศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น และรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ไม่ว่าสติเกิดจะระลึกที่ลมหายใจขณะไหน เมื่อไร แม้แต่เวลาที่เป็นสมาธิแล้วก็ตาม ก็ควรที่จะได้รู้สภาพธรรม ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะเป็นแต่เพียงรูปธรรมอย่างหนึ่ง และสภาพที่รู้ในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมอย่างหนึ่ง

    เป็นเรื่องละ เพราะฉะนั้น รูป ๒๘ ก็ละ คือ ไม่ต้องไปสนใจ และพิจารณาลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏ

    . ผมถามตรงๆ ให้อาจารย์ตัดสินเลยดีกว่า คือ ผมมีความเห็นว่า ปัญญาขั้นนามรูปปริจเฉทญาณต้องรู้ทั่วนามรูปทุกทาง

    สุ. ไม่จำเป็น เพียงแต่ในขณะนั้น พิจารณาลักษณะของนามบ่อยๆ เนืองๆ แต่ไม่ใช่นามเดียว ทางเดียว ถ้าทางเดียว นั่นแสดงว่าติด ใช่ไหม

    . ทางตาอย่างเดียวไม่ได้

    สุ. ถ้าเป็นอย่างนั้น แสดงว่า ไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจเรื่อง สติปัฏฐาน

    . ต้องทุกทางๆ ใช่ไหม

    สุ. ถ้าเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน แล้วแต่สติ ถูกไหม สติอาจจะไม่ระลึกทางตา แต่ระลึกทางอื่น แต่ไม่ใช่ทางเดียว เป็นเรื่องของสติจริงๆ และเมื่อศึกษาลักษณะของนามธรรม พิจารณาจนกระทั่งมีความรู้ว่า นี่คืออาการรู้ ลักษณะรู้ และถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณเมื่อไร ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามธรรมใด จะปรากฏ รูปธรรมใดจะปรากฏ โดยเป็นอนัตตา ไม่ได้เลือก และไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องทั่วทั้ง ๖ ทางก่อน

    การที่จะถึงความสมบูรณ์ของปัญญา แล้วแต่ว่าจะถึงความสมบูรณ์เมื่อไร แต่จะพิจารณาทั่วไหม ไม่สำคัญ

    สำคัญที่ความรู้ว่า ลักษณะนี้เป็นนามธรรม เด็ดขาด มั่นคง แน่นอนว่า นี่เป็นลักษณะของนามธรรม ไม่คลอนแคลน และพร้อมที่ญาณนั้นจะประจักษ์แจ้งในขณะใดก็ประจักษ์แจ้งในขณะนั้น แต่ยังไม่ได้ดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ถ้าโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉท ต้องเป็นในขณะที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิด แต่คลายความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วยวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น

    . เพราะฉะนั้น ขณะนามรูปปริจเฉทญาณเกิด บุคคลคนนั้นอาจจะยัง ไม่เคยระลึกปสาทรูปหรือสุขุมรูปเลย

    สุ. ไม่ต้อง เพียงรูปที่ปรากฏก็พอแล้ว แต่ไม่ใด้หมายความว่า จะ ไม่ปรากฏกับบุคคลท่านอื่น แล้วแต่บุคคล ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปัญญาสะสมมามาก ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณของท่านพระสารีบุตร ขณะนั้นวิตกเจตสิกจะปรากฏ ได้ไหม หรือแม้วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

    เรื่องของอานาปานสติ อย่าลืมว่า เป็นเรื่องละ ไม่เหมือนกับเรื่องต้องการ ถ้าเรื่องต้องการ ก็พยายามพากเพียรหาวิธีที่จะให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ

    . ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ หมายความว่า ปัญญาต้องรู้ทีละอย่าง เป็นปัจจุบันอารมณ์ ใช่ไหม ในนามและรูป แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมด

    สุ. ถูกต้อง เช่น ในขณะนี้ ไม่ใช่ว่ารูปทั้ง ๒๘ รูปมาปรากฏจะได้รู้ทั่วทั้งหมด หรือไม่ใช่นามทุกชนิดมาปรากฏ จะได้รู้ทั่วทั้งเจตสิก ๕๒ ไม่ใช่อย่างนั้น

    . หมายความว่า ปัญญาต้องรู้ไปทีละอย่าง ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ สภาพธรรมที่ปรากฏสืบต่อกันโดย ไม่ขาดตอน จะปรากฏลักษณะทีละอย่างเพียงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นปะปนเลย ทางมโนทวารวิถี

    . ทางมโนทวารวิถีต้องรู้ทุกๆ อย่าง แต่ว่า

    สุ. ที่กำลังปรากฏ

    . ตรงนี้เข้าใจ แต่ว่าที่ปรากฏทีละอย่าง

    สุ. จะใช้คำว่า ทุกอย่าง ไม่ได้

    . ทุกอย่างนี่หมายความว่า รู้ไปทีละอย่าง ไม่พร้อมกัน

    สุ. ไม่ใช่ทุกอย่าง อย่างเช่นเวลานี้ สุขุมรูปปรากฏไหม

    . ยังไม่ปรากฏ

    สุ. เมื่อไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับสุขุมรูป รูปใดที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้

    . หมายความว่า ปัญญารู้รูปแต่ละรูป ทีละอย่าง แต่ในครั้งก่อนๆ คงจะต้องรู้รูปอื่นๆ ไปด้วย ใช่ไหม

    สุ. เวลานี้รูปทางตาดูเสมือนว่าปรากฏพร้อมกับเสียง ใช่ไหม

    . ใช่

    สุ. นี่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณจะปรากฏพร้อมกันอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ชื่อว่าประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    . คือ ขณะใดที่รู้อย่างเดียว ก็เป็นนามหรือรูป

    สุ. ไม่ใช่เพียงรู้อย่างเดียว ต้องสภาพธรรมนั้นปรากฏทางมโนทวาร เช่น ขณะนี้โดยการศึกษาทราบว่า เมื่อจักขุทวารวิถีจิตทางตาที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือโสตทวารวิถีจิตที่ได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ ดับไปหมด ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากทางจักขุทวารวิถี และมโนทวารวิถีจิต ก็รู้เสียงที่ปรากฏทางหูต่อจากโสตทวารวิถี แต่ละวาระก็มีภวังคจิตคั่น

    ถ้าถามว่า ในขณะนี้ที่กำลังได้ยินอยู่นี่ เป็นมโนทวารวิถีขณะไหน ตอบได้ไหม โดยปริยัติทราบว่า ทางตา จักขุทวารวิถีดับหมด ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีเกิด รู้สีที่ปรากฏทางตาต่อ ทางหู เวลาที่โสตทวารวิถีจิตได้ยินเสียง ดับแล้วทั้งเสียงทั้ง โสตทวารวิถีจิต ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถีที่เพิ่งดับไป นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุดว่า เมื่อวิถีจิตทางทวารหนึ่งทวารใดดับแล้ว มโนทวารวิถีจิตต้องเกิดต่อ และรู้รูปนั้นต่อทันทีเมื่อภวังคจิตคั่นแล้ว

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีมโนทวารวิถีจิตคั่นหลังจากที่ปัญจทวารวิถีจิตดับ มีมโนทวารวิถีจิตคั่นหลังจากที่โสตทวารวิถีจิตดับ เวลานี้มีมโนทวารวิถีคั่นระหว่างภวังคจิตกับทวารวิถีจิตต่างๆ แต่ละวาระ ถ้าถามว่า ในขณะที่กำลังเห็นนี่ ขณะไหนเป็นจักขุทวารวิถี ขณะไหนเป็นมโนทวารวิถี ตอบได้ไหม

    . ยังไม่ได้

    สุ. ตอบไม่ได้ ขณะที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ขณะไหนเป็นโสตทวารวิถี ขณะไหนเป็นมโนทวารวิถี ตอบได้ไหม

    . ยังไม่ได้

    สุ. ไม่มีใครตอบได้ เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วอย่างนี้ตลอด จึงไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ในขณะที่กำลังเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นการประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าต่างกับรูปธรรมทางมโนทวารวิถีโดยตลอด เพราะฉะนั้น จึงรู้ลักษณะว่า มโนทวารวิถีที่กำลังคั่นอยู่ขณะนี้มีลักษณะอย่างไร และสามารถรู้รูปต่อจากทางจักขุทวารวิถี รู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถี เพราะว่าทางมโนทวารวิถีนั้นสามารถที่จะรู้นามธรรมได้ รู้รูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณ คือ การประจักษ์แจ้งสภาพที่ต่างกันของนามธรรมว่าไม่ใช่รูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงทีละอย่าง อย่างเดียว ไม่ปะปนกัน ในขณะนี้

    . เป็นนามหรือรูปอะไรก็ได้ ทีละอย่าง

    สุ. ขณะนี้ยังปะปนกัน เพราะว่าการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากทำให้ ไม่สามารถแยกขาดลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาออกจากเสียงที่ปรากฏทางหู ซึ่งความจริงแล้วต้องแยกขาดกันจริงๆ โดยมโนทวารวิถีคั่น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ก็พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปจนกว่าจะค่อยๆ เพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมขึ้น รูปธรรมขึ้น โดยไม่ต้องหวังว่า เมื่อไรจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    . แต่นามรูปปริจเฉทญาณจะต้องรู้นามธรรม รูปธรรม โดยทั่วไปด้วย ใช่ไหม

    สุ. ทั่วไป หมายความว่าอะไร

    . เราทราบว่า จะต้องรู้ทีละอย่าง ใช่ไหม

    สุ. ที่กำลังปรากฏ

    . แต่หมายความว่า นามและรูปทั่วๆ ไป กุศลจิต และอกุศลจิตต่างๆ ปัญญาจะต้องรู้ทั่วเหมือนกัน แต่เป็นไปทีละอย่าง ใช่ไหม

    สุ. รู้ลักษณะของนามธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน แน่นอนที่สุด เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งไม่ปะปนกับรูปเลย คิดถึงสภาพที่ไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ สีไม่มี เสียงไม่มี กลิ่นไม่มี รสไม่มี มีแต่เฉพาะธาตุรู้ที่กำลังเป็นสภาพรู้ นั่นคือการรู้ทางมโนทวาร เพราะว่า ทางมโนทวารสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมได้ และเมื่อเสียงปรากฏ ขณะนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่ใครเลย ไม่มีอะไร นอกจากเสียง เป็นลักษณะของเสียงที่ปรากฏกับสภาพที่ กำลังรู้ในขณะนั้น และไม่มีอย่างอื่นปรากฏรวมกับเสียงในขณะนั้นเลย และเมื่อ เสียงหมดไปแล้ว รูปอื่นปรากฏ ก็เห็นความขาดตอนของรูปทีละรูป เพราะว่าตามปกติ มโนทวารวิถีคั่นอยู่ทุกปัญจทวารวิถี

    . ปัญญาต้องทราบเหมือนกันว่า ระหว่างสีที่เห็น กับเสียงที่ได้ยินนี่ต่างกัน ใช่ไหม

    สุ. ขณะนี้รู้ว่าต่างกัน แต่ปรากฏเหมือนพร้อมกัน แต่เวลาที่เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ จะปรากฏพร้อมกันอย่างนี้ไม่ได้ ทีละอย่างจริงๆ คือ ความสมบูรณ์ของปัญญาที่สามารถแทงตลอดโดยรวดเร็ว

    . ทีละอย่างๆ ไป

    สุ. เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังปะปนกันอยู่ ยังไม่ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ

    ในเรื่องความพอใจในรูปบ้าง ในรสบ้าง ในสัมผัสบ้าง ที่สะสมมาตลอดเวลาที่ยาวนาน ไม่มีผู้ใดรู้เลยว่า อาจจะเป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามโอกาสของกรรมและกิเลสนั้นๆ ซึ่งบางท่านพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถ้าอุบาสกท่านนั้นเพียงแต่จะนั่งฟังพระธรรมต่อไปอีกเพียงสักครู่เดียว เขาจะได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน แต่อุบาสกท่านนั้นก็มีกิจธุระที่ต้องกลับไปสู่บ้านเรือนของตน เพราะฉะนั้น ก็พลาดโอกาสที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้เลย

    ขอกล่าวถึงเรื่องของ ท่านพระสุขเถระ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ถ้า ท่านฉันภัตตาหารก่อนในวันนั้น จะไม่ได้บรรลุพระอรหัต

    ข้อความในเรื่องนี้มีว่า

    ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภท่าน พระสุขสามเณร แล้วตรัสเรื่องที่เกี่ยวกับรสอาหารในอดีตชาติของท่าน ซึ่งมีข้อความโดยย่อว่า

    ในระหว่างพระพุทธศาสนาแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสมณโคดมพระองค์นี้ เป็นกาลว่างพระพุทธศาสนา มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า

    ครั้งนั้น ท่านพระสุขสามเณรเกิดเป็นคนขายฟืนในชนบท ท่านมีเพื่อนรัก คนหนึ่งอยู่ในพระนครพาราณสี สมัยนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่อว่าคันธกุมาร มีปกติอยู่ในพระนครพาราณสี เมื่อเศรษฐีบิดาของคันธกุมารนั้นสิ้นชีวิตแล้ว พระราชาแห่ง พระนครพาราณสีก็ได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีนั้นให้แก่คันธกุมาร ด้วยสักการะเป็นอันมากกว่ามาก ตั้งแต่นั้นมาคันธกุมารนั้น ก็มีชื่อว่าคันธเศรษฐี

    สมัยนั้น ผู้รักษาคลังสมบัติของคันธเศรษฐีนั้นได้เปิดประตูห้องคลังสมบัติ แล้วขนเอาทรัพย์สมบัติออกมาเป็นอันมากให้คันธเศรษฐีดู และกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ทรัพย์มีประมาณเท่านั้นๆ เป็นของบิดาของท่าน ทรัพย์มีประมาณเท่านั้นๆ เป็นของปู่ของท่าน

    คันธเศรษฐีแลดูกองทรัพย์นั้น แล้วถามนายคลังว่า

    คนเหล่านั้นมีปู่และบิดาเป็นต้น ทำไมไม่ขนทรัพย์ทั้งหลายเอาไปด้วย

    ผู้รักษาคลังสมบัตินั้นก็ตอบว่า

    ธรรมดาคนทั้งหลายผู้ตายไปแล้ว และไปสู่ปรโลกนั้น ย่อมขนเอาทรัพย์ไปด้วยไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายจะพาไปได้ก็แต่กุศลและอกุศลที่ตนกระทำไว้เท่านั้น

    คำของนายคลังสมบัตินั้นเป็นสุภาษิต เป็นคำที่ควรคิด แต่คันธเศรษฐีได้ฟังแล้วกลับคิดว่า

    บิดาของเราเป็นต้นสะสมทรัพย์สมบัติทั้งปวงไว้แล้ว แต่ละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ต่างคนก็ต่างจากโลกนี้ไปแต่ตัวเปล่า เพราะปราศจากปัญญา แต่สำหรับตัวเราเอง จะขนสมบัติทั้งหมดนี้ไปกับตัวให้ได้

    เมื่อคันธเศรษฐีคิดอย่างนี้แล้ว แทนที่จะคิดให้ทานหรือว่ากระทำการสักการบูชา ก็คิดว่า เราจะบริโภคทรัพย์เหล่านี้ให้หมด

    นี่คือการนำไปกับตัวเอง คือ คิดว่าเป็นการฉลาดที่จะใช้ทรัพย์ให้หมดไป

    เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็จำหน่ายทรัพย์แสนกหาปนะทำซุ้มสำหรับอาบน้ำด้วยแก้วผลึก และจ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นแผ่นสำหรับอาบน้ำด้วย แก้วผลึก จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเตียงรองสำรับอาหาร จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นบัลลังก์สำหรับนั่ง จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งทำเป็นถาดสำหรับบริโภคภัตตาหาร จ่ายทรัพย์อีกแสนหนึ่งให้กระทำมณฑปสำหรับเป็นที่นั่งบริโภคอาหาร แล้วให้ทำเป็นสีหบัญชร ช่องหน้าต่างในเรือนด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง และจ่ายทรัพย์เป็นค่าอาหารวันละพัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำก็จ่ายทรัพย์แสนหนึ่งให้ทำอาหาร และให้ประดับประดาพระนคร ให้ตีกลองร้องป่าว ให้ชาวพระนครทั้งหลายมาดูลีลาการบริโภคอาหารของคันธเศรษฐี

    ถ้าใครมีทรัพย์มากมายอย่างนี้ และคิดอย่างคันธเศรษฐี ก็แล้วแต่การสะสม ซึ่งแต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน แต่แสดงให้เห็นว่า ใครจะคิดอย่างไร ก็ต้องเคยคิดอย่างนั้นมาบ้างในอดีต เวลาที่มีทรัพย์เกิดขึ้น บางคนคิดจะให้ทาน บางคนก็คิดที่จะใช้ทรัพย์นั้นให้หมด

    มหาชนทั้งหลายก็ประชุมกัน ผูกเตียงน้อยและเตียงใหญ่เพื่อที่จะดูลีลา บริโภคภัตตาหารของคันธเศรษฐี

    ท่านคันธเศรษฐีขึ้นนั่งเหนือแผ่นกระดานอันควรค่าหนึ่งแสน ในซุ้มสำหรับอาบน้ำอันควรค่าแสนหนึ่ง แล้วก็อาบน้ำหอม ๑๖ กระออม แล้วเปิดสีหบัญชร ช่องแกล ออกนั่งเหนือบัลลังก์

    ครั้งนั้น ชนชาวพนักงานทั้งหลายตั้งถาดทองไว้ที่เชิงรองสำรับอาหาร แล้วตักโภชนาหารอันควรค่าแสนหนึ่งออกจากหม้อ ส่วนคันธเศรษฐีก็บริโภคอาหาร โดยมีสตรีบำรุงบำเรอแวดล้อมเป็นอันมาก

    ส่วนกัฏฐหารกบุรุษ ผู้เก็บฟืนขาย ซึ่งมีเพื่อนอยู่ในพระนครพาราณสี ก็บรรทุกฟืนใส่ยานขับไปหาสหายที่อยู่เมืองพาราณสี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๘ ตอนที่ ๑๔๗๑ – ๑๔๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564