แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1444


    ครั้งที่ ๑๔๔๔


    สาระสำคัญ

    ขณะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ขณะที่คิด

    ม.มู.มหาหัตถิปโทปมสูตร อส.รูปกัณฑ์ อธิบายรูปายตนนิทเทส - สี เป็นสิ่งปรากฏแก่จักขุวิญญาณ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    . ถ้าในห้องนี้มืด เราไม่เห็นโต๊ะ ไม่เห็นเก้าอี้ ก็หมายความว่า วัณณรูปไม่มี ใช่ไหม

    สุ. มีจักขุปสาท ลืมตาขึ้นมา เห็นมืดไหม

    . เห็นมืด เห็น

    สุ. ขณะนั้นเป็นเพราะจักขุปสาท ไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต

    . จักขุวิญญาณก็เกิด ใช่ไหม

    สุ. จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่ว่าจะเป็นอะไร ก็ตาม จะเป็นมืดหรือจะเป็นสว่าง เราไม่แยก สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา ทั้งหมด เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท

    . ถ้าเราเห็นสิ่งของ ต้องมีวัณณรูปจึงเห็น แต่ความมืด ความมืดมี วัณณรูปหรือ

    สุ. ที่สงสัย เข้าใจว่าสงสัยในเรื่องของสี ในเรื่องของแสง คือ สงสัยในเรื่อง ใช่ไหม แต่ข้ามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้โดยที่ยังไม่ได้คิดอะไรเลย ยังไม่ได้คิดว่าเป็นสีหรือเป็นแสง ยังไม่ได้เรียกว่าสีหรือว่าแสง แต่ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ และมีจิตหรือสภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพียงชั่วขณะที่ทั้งจักขุปสาทและรูปนั้นยังไม่ดับ นิดเดียวเท่านั้น ยังไม่มีเรื่องอะไรเลย ที่จะต้องคิดว่าเป็นแสงหรือว่าเป็นสี หรือว่าอยู่ที่ไหน ความจริงมีอยู่เพียงเท่านี้เอง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่กระทบกับจักขุปสาทรูป ทำให้เกิดการเห็นขึ้นในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ในขณะที่กำลังนึกเรื่องว่านี่เป็นมืดหรือ นี่เป็นสว่าง นี่เป็นแสงหรือนี่เป็นสี หรือมาจากไหน

    . ถ้าเราจะเห็นอะไร สมมติว่า เห็นโต๊ะ เพราะว่าโต๊ะหรือรูปนั้นมี วัณณรูปอยู่ เราจึงเห็น ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    . อาจารย์บอกว่า เห็นความมืด ผมสงสัยว่า ความมืดเป็นวัณณรูปหรือ

    สุ. ถ้าไม่มีจักขุปสาท และไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาที่กระทบกับ จักขุปสาท การเห็นก็ไม่มี เราไม่พูดถึงเรื่องมืดสว่างได้ไหม

    . ได้ แต่ผมสงสัยว่า ความมืดเป็นรูปหรือ จึงได้เห็นความมืด

    สุ. สิ่งที่กระทบกับจักขุปสาทจะมืดหรือสว่างก็ตาม สิ่งใดที่ไม่กระทบ กายปสาท ไม่กระทบโสตปสาท แต่กระทบเฉพาะจักขุปสาททำให้เห็น และสามารถบอกได้ว่าเห็นอะไร สิ่งที่เห็นมีจริงใช่ไหม ถ้าเห็นมืด บอกได้ว่ามืด ถ้าเห็นสว่าง บอกได้ว่าสว่าง เมื่อเห็นเกิดขึ้น สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นของจริงอย่างหนึ่ง

    . รู้สึกขัดกัน คือ ความมืดเป็นรูปธาตุหรือ เราจึงเห็น เพราะคล้ายกับว่า ที่เราเห็น ต้องมีวัณณรูป แต่ความมืดไม่ใช่รูปธาตุ เราจะเห็นอะไร ก็เลยขัดกัน พระพุทธพจน์ก็ตรัสไว้ว่า อาศัยรูปจักขุวิญญาณจึงเกิด การเห็นจึงเกิด ใช่ไหม ผมสงสัยว่า ความมืดคือรูปหรือ เราจึงได้เห็น

    สุ. เวลานี้ปัญหาอยู่ที่ ความมืดเป็นวัณณรูปหรือเปล่า ใช่ไหม

    . เป็นรูปปรมัตถ์หนึ่งในอวินิพโภครูปหรือเปล่า

    สุ. เพราะเข้าใจว่า วัณณะต้องเป็นแสงสว่าง ถูกไหม แต่ถ้ากล่าวว่า รูปใดๆ ก็ตาม จะใช้คำว่ารูปารมณ์ หรือว่าวัณณะก็ตาม หมายถึงสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูปเท่านั้น สิ่งใดก็ตามที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูป

    . เราพูดว่า ความมืด ความมืดกระทบจักขุปสาท เหมือนกับเรามองอากาศ เราก็เห็นแต่ความว่างเปล่า

    สุ. เห็น ใช้คำว่า เห็น นั่นแหละคือ ...

    . ผมสงสัย ถ้าผมเห็นอวกาศ อวกาศเห็นได้หรือ แสดงว่าเราไม่ได้เห็นอะไร เราไม่ได้เห็น

    สุ. จะเห็นอะไรก็ตามแต่ …

    . เป็นสภาวะที่แปลก ค่อนข้างจะแปลกมาก

    สุ. เป็นความไม่รู้เรื่องของการเห็น แสดงว่าไม่รู้สภาพที่แท้จริงของเห็นและสิ่งที่ปรากฏ เพราะเมื่อกี้ใช้คำว่าเห็น ใช้คำนี้เมื่อไร ขณะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น กระทบกายปสาทไม่ได้ กระทบโสตปสาทไม่ได้ จะมองไปที่ไหนก็ตาม ถ้าบอกว่าเห็นเกิดขึ้น …

    . เห็นด้วยปัญญา ก็ใช้คำว่าเห็น

    สุ. มิได้ เวลานี้ไม่ใช่เห็นด้วยปัญญา ใช่ไหม

    . ถูก ผมว่า ผมเห็นอวกาศ ผมก็สงสัยว่า ผมเห็นจริงๆ หรือเปล่า

    สุ. เห็น จะเห็นอะไรก็ตามแต่ เมื่อใช้คำว่าเห็น เห็นเกิดขึ้น หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะนั้นกำลังกระทบกับจักขุปสาทรูป ไม่ต้องใช้คำอะไรเลย

    . สงสัยว่า พุทธพจน์บอกว่า ต้องอาศัยรูปจักขุวิญญาณจึงเกิด การเห็นจึงจะเกิด

    สุ. ถูกต้อง

    . แต่อวกาศไม่ใช่รูป

    สุ. ในขณะนั้นไม่ได้พูดเรื่องอวกาศเลย ใช่ไหม เหตุที่ให้เกิดจักขุวิญญาณ มีอวกาศอะไรไหม ไม่มี ใช่ไหม

    . ไม่มี ก็ไม่น่าจะเห็นอวกาศ จักขุวิญญาณก็ไม่น่าจะเกิด

    สุ. มีจักขุปสาท ใช่ไหม ต้องมีรูปที่กระทบจักขุปสาทแน่นอนการเห็นจึงเกิดขึ้นได้ นี่คือความจริง ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นอีก ถ้าคิดเรื่องอื่นจะไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง เพราะว่าในขณะนั้นกำลังโยงเรื่องราวทั้งหลายมากมายเป็นต้นว่า อวกาศ หรือมืด หรือสว่าง โดยที่ไม่ได้รู้ว่า สิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็น สิ่งนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่มีจริง จะใช้คำอะไรหรือไม่ใช่คำอะไรก็ได้ แต่ลักษณะนั้นกระทบกับจักขุปสาทการเห็นจึงเกิดขึ้น แต่การที่นึกว่าเป็นอวกาศ หรือนึกว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ แสงเป็นคลื่นมากระทบหรืออะไร นั่นเป็นเรื่องคิดนึก ไม่ใช่เป็นสภาพที่กำลังปรากฏทางตา

    . แต่ผมเคยอ่านในอรรถกถาว่า ถ้าเราเห็นอากาศ หมายถึงอวกาศ ที่ใช้คำว่า อากาศ อัชฎากาศก็ดี พวกนี้รู้ได้ด้วยทางมโนทวาร แต่เราไม่ได้เห็นจริงๆ ตามเงื่อนไขที่ว่า ต้องมีรูป

    สุ. ก็กำลังคิด แม้แต่คำว่าอวกาศก็คิด เห็นไหม ถ้าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ ในขณะนั้นเห็น ไม่มีคำว่าอวกาศอะไรเลย เพราะฉะนั้น สำหรับทางตา ...

    . มีนิกายหนึ่งชื่อว่าปรวาที บอกว่าเห็นช่องว่าง เห็นอากาศ เห็นอวกาศ ซึ่งสกวาทีท่านก็โต้จนกระทั่งว่า เห็นไม่ได้จริงๆ ถ้าเห็นได้ต้องเป็นรูปหนึ่ง เป็นวัณณรูปเท่านั้น ก็ถือว่าฝ่ายปรวาทีนั้นเป็นฝ่ายมิจฉาทิฏฐิไป

    สุ. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นของจริงที่ต้องระลึกจึงจะรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีไหม ถ้ามี ไม่ต้องเรียกอะไรเลย นั่นคือสภาพปรมัตถธรรม ที่ต้องรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่การนึกว่าเป็นอะไร นั่นภายหลัง ไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ และต้องในขณะที่จักขุปสาทยังไม่ดับ รูปารมณ์ที่กำลังกระทบก็ยังไม่ดับด้วย การเห็นจึงเกิดขึ้นได้ เพียงชั่วขณะสั้นๆ และก็ดับ ส่วนการคิดเรื่องราวต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ

    อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีข้อความที่อธิบายรูปายตนนิทเทสว่า

    จะวินิจฉัยในรูปายตนนิทเทสต่อไป

    สีนั่นแหละชื่อว่าวัณณนิภา อีกอย่างหนึ่งชื่อว่านิภา ด้วยอรรถว่า ส่องแสง อธิบายว่า เป็นสิ่งปรากฏแก่จักขุวิญญาณ

    คำอธิบายไม่ว่าจะใช้คำว่า วัณณะ หรือวัณณนิภา หรือนิภาก็ตามแต่ ก็อธิบายว่า เป็นสิ่งปรากฏแก่จักขุวิญญาณ

    แสง คือ สี ชื่อว่าวัณณนิภา

    นี่คือศัพท์ที่ใช้สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ว่าจะเป็นแสง จะเป็นสี เป็นอะไรก็ตาม สิ่งใดที่กระทบกับจักขุปสาท สิ่งนั้นคือรูปายตนะ คือ เป็นสิ่งที่ปรากฏแก่จักขุวิญญาณ

    ถ้ายังมีตัวตน มีสิ่งนั้นมีสิ่งนี้อยู่ ก็เป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด ไม่ใช่การรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏแล้วทางตา เมื่อกระทบกับจักขุปสาท โดยที่ยังไม่มีการคิดนึกเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

    เวลานี้ที่กำลังสงสัยอยู่เพราะว่าแยกแสงกับสี ใช่ไหม แต่ถ้าไม่แยกเลยจะรู้ว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น จะใช้คำอะไรก็ได้ ไม่ใช้คำอะไรก็ได้

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๔๖ ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ... ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในกาลใดแลจักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมมาสู่คลองจักษุ ทั้งความกำหนดอันเกิดแต่จักษุและรูปก็ย่อมมีในกาลนั้น (คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน ๑ ขณะ) ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้

    ใครจะรู้หรือไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็นนั้นเป็นอะไร แต่ตามความเป็นจริง คือ ขณะใดที่จักขุปสาทเกิดและยังไม่ดับ และรูปารมณ์มาสู่คลองของจักษุ คือ กระทบกับจักขุปสาท และไม่ใช่ภวังคจิต แต่เป็นวิถีจิตโดยปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อจากภวังคจิตและดับไป หลังจากนั้นจักขุวิญญาณต้องเกิด ใครจะยับยั้งไม่ได้เลย ใครจะรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัวอย่างไร จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ในขณะนั้นต้องมีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งเป็นในขณะนี้เอง

    ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องพยายามเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งจะปรากฏได้เพียง ๖ ทางเท่านั้น คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ และสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นรูป เป็นแสงสีต่างๆ ทางตา เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะเท่านั้นเองในวันหนึ่งๆ ที่เป็นรูป นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ความนึกคิดต่างๆ ทางใจ ที่สติจะเกิดและระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ และศึกษา คือ สำเหนียก สังเกต จนกว่าจะรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ที่เกิดและดับ ซึ่งจะต้องอาศัยการไม่ข้ามที่จะฟังและพิจารณาเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และแม้แต่ทางตาทางเดียว ซึ่งทำให้กิเลสเกิดมากมายเป็นประจำทุกวันๆ ถ้าสติไม่ได้เกิดและไม่ได้ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ จะทำให้ยังคงไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา และสติค่อยๆ เกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง โดยที่ยังไม่ใช่ความคิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

    ข้อความต่อไปใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า

    ๒ บทว่า เงา แดด นี้กำหนดกันเอง แสงสว่างและมืดก็เช่นเดียวกัน

    คือ เป็นคำที่ใช้กัน เพราะว่ามีสัญญา ความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตามีทั้งที่เป็นเงาและแดด ก็มีคำที่จะทำให้รู้ในสภาพของสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาที่ต่างกัน แม้แต่คำว่า แสงสว่าง และมืด ก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าโดยลักษณะแท้ๆ แล้ว ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ว่าเงาหรือแดด ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สว่างหรือมืดก็ปรากฏทางตา ในขณะที่มีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับและรูปนั้นกระทบจักขุปสาท และปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป จักขุวิญญาณต้องเกิด

    สิ่งที่ควรจะต้องทราบ คือ อุปาทายรูปทั้งหมดต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิด มหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ทั้ง ๔ รูปแยกจากกันไม่ได้เลย เพราะว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เมื่อมีธาตุทั้ง ๔ นี้แล้ว ยังมีรูปอื่นซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ถ้ามหาภูตรูป ๔ ไม่มี รูปอื่นจะมีไม่ได้เลย แม้แต่ที่เข้าใจกันว่า เป็นแสง ก็ต้องมีมหาภูตรูปเป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้ง ซึ่งทุกคนอาจจะไม่ได้คิดเลย เพราะว่าไม่ได้พิจารณาลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตาจริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ก็อาศัยความคิดเรื่องราว ความรู้ต่างๆ มารวมกัน ทำให้มีการแยกสิ่งที่ปรากฏทางตาออกตามหลักวิชาการต่างๆ แต่ควรคิดถึงสภาพธรรม จริงๆ ว่า จะเรียกว่าแสง จะเรียกว่าสี จะเรียกอะไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ต้องอาศัยมหาภูตรูป ต้องมีมหาภูตรูปสิ่งนั้นจึงมี และกระทบกับจักขุปสาทได้

    ขณะนี้คงไม่มีใครคิดถึงแสงของไม้ขีดไฟ ใช่ไหม จากแสงที่เล็กที่สุด ก็ต้องอาศัยมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแสงของไม้ขีดไฟก็มีไม่ได้ นอกจากไม้ขีดไฟ แสงหิ่งห้อยก็ต้องมีมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูปแสงนั้นก็ไม่ปรากฏ มีไม่ได้ แสงเทียน แสงไฟฟ้า ทุกอย่าง ต้องอาศัยมหาภูตรูปทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ความสว่างของแสงต่างๆ ย่อมต้องเพิ่มขึ้นตามมหาภูตรูปซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของแสงนั้นๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่า รูปทั้งหมดที่ปรากฏเพียงทางตา ก็เป็นสิ่งที่มีความวิจิตรมาก แม้ว่าจะมีรูปรวมกันอยู่เพียง ๘ รูปเท่านั้น คือ อวินิพโภครูป ๘ รูป ที่แยกกันไม่ได้

    ๘ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔ ที่เกิดรวมกันในกลุ่มหนึ่งๆ ของรูป ซึ่งแต่ละกลุ่มเล็กที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ต้องมีธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ และมีรูปที่เราใช้คำว่าสี หรือหมายความถึงสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท ๑ มีกลิ่น ๑ มีรส ๑ มีโอชา ๑ นี่คือ ๘ รูปที่รวมอยู่ในกลุ่มที่เล็กที่สุด แต่ความวิจิตรของกลุ่มเล็กๆ ที่มีรูปเพียง ๘ รูปซึ่งรวมกัน ทำให้ปรากฏเป็นสิ่งต่างๆ ทางตาที่วิจิตรมากในชีวิตประจำวัน

    สำหรับรูปที่ไม่มีใจครอง ก็ทำให้ปรากฏเห็นเป็นดอกไม้ ต้นไม้ กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผลต่างๆ กัน แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะไม่พ้นจากมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔ รวมเป็น ๘ รูปเท่านั้น ก็ยังวิจิตรได้อย่างนี้ ปรากฏให้เห็นเป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำ ลำธาร เป็นเครื่องยนต์ เป็นวิทยุ เป็นโทรศัพท์ เป็นเครื่องใช้ เป็นรถยนต์ เป็นเครื่องบิน เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ความจริง คือ เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ของรูป ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรูปรวมกันเพียง ๘ รูปเท่านั้น โดยมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดแต่ละกลุ่ม

    นี่คือสิ่งซึ่งปรากฏทางตาให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ เมื่อกระทบสัมผัสก็เป็นรูปที่แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นโผฏฐัพพะ แต่ถ้าทางตา ก็ปรากฏเป็นรูปร่างสีสันต่างๆ เป็นเครื่องยนต์กลไก เป็นต้นไม้ใบหญ้า เป็นเครื่อง ใช้ต่างๆ

    นอกจากนั้น ถ้ากลุ่มของรูปกลุ่มใดมีรูปเกินกว่า ๘ รูป ก็ย่อมปรากฏทางตาให้เห็นเป็นสิ่งอื่นๆ คือ เห็นเป็นสัตว์ บุคคล หญิง ชายต่างๆ เพราะว่ามีรูปเพิ่มมากกว่า ๘ รูป ทางตาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แสดงให้เห็นว่า มีรูปเกินกว่า ๘ รูป

    รูปภายนอกที่ไม่มีใจครอง ที่ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน จะมีแต่รูปที่เกิดจากอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐานอย่างเดียวเท่านั้น และตามปกติ ในขณะที่ไม่มีเสียงเกิดร่วมด้วย ก็มีรูปเพียง ๘ รูป ในกลุ่มหนึ่งๆ

    ฉะนั้น อาหารอร่อยมากก็มีรูป ๘ รูป อาหารไม่อร่อยก็มีรูป ๘ รูป

    ถ้าเข้าห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีใจครองที่ไม่ได้เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ขณะนั้นก็มีรูปเพียง ๘ รูปเท่านั้น

    แต่สำหรับรูปที่มีใจครอง มีกลุ่มของรูปมากกว่านั้น คือ ต้องมีกลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีกลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน มีกลุ่มของรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน มีกลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน ซึ่งแต่ละกลุ่มทยอยกันเกิดขึ้น และทยอยกันดับไปอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ ในขณะนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564