แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1495


    ครั้งที่ ๑๔๙๕


    สาระสำคัญ

    อถ.เอกนิบาตชาดก อวิทูเรนิทาน - พระโพธิสัตว์ทรงบรรพชา

    ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด (ศึกษาธรรมที่เกิดกับตนโดยละเอียดจริงๆ)

    ทุกข์ใจเพราะกิเลส

    ทุกข์กายเป็นผลของกรรม

    อถ.ขุ.เอก.อถ.มหิฬามุขชาดก -การโน้มเอียงไปตามสิ่งแวดล้อม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๙


    อรรถกถา เอกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค อวิทูเรนิทาน มีข้อความก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ ในครั้งที่พระองค์ทรงออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรง ส่งนายฉันนะกลับไปทูลพระชนกพระชนนี และม้ากัณฐกะก็ตายแล้ว

    เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรพชาแล้วก็อยู่ในอนุปิยอัมพวันตลอดสัปดาห์ ด้วยความสุขอันเกิดจากการบรรพชา ต่อจากนั้น เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก

    ท่านที่เคยไปพระนครราชคฤห์ คงจะเกิดอนุสสติว่า ณ สถานที่นั้น เมื่อ พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์เสด็จออก มหาภิเนษกรมณ์แล้ว ได้เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก

    ผู้คนทั้งพระนครตื่นเต้นเมื่อได้เห็นพระรูปโฉมของพระโพธิสัตว์ แม้พระเจ้า พิมพิสาร พระราชาแห่งแคว้นมคธก็ทรงอัศจรรย์พระทัย และทรงรับสั่งให้พวก ราชบุรุษไปคอยพิจารณาดูว่า พระโพธิสัตว์ออกจากพระนครแล้วไปทางไหน ถ้า เป็นเทวดาก็จะเหาะไป ถ้าเป็นนาคก็จะดำดินไป ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะบริโภคอาหารตามที่ได้

    เมื่อพระมหาบุรุษทรงรวบรวมภัตเพียงพอแก่การบริโภคเพื่อให้ร่างกายเป็นไปแล้ว ก็เสด็จออกจากพระนครทางประตูที่เสด็จเข้ามานั้นแหละ บ่ายพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ประทับนั่งที่ร่มเงาของปัณฑวบรรพต เริ่มเพื่อเสวยพระกระยาหาร

    ลำดับนั้นพระอันตะ ไส้ใหญ่ของพระองค์ ได้ถึงอาการจะออกมาทางพระโอษฐ์ พระองค์ทรงอึดอัดกังวลพระทัยด้วยอาหารอันปฏิกูล เพราะด้วยทั้งอัตภาพนั้น พระองค์ไม่เคยเห็นอาหารเห็นปานนั้นแม้ด้วยพระเนตร จึงทรงโอวาทตนด้วยพระองค์เองอย่างนี้ว่า

    ดูกร สิทธัตถะ เธอเกิดในสถานที่มีโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ด้วยโภชนะแห่ง ข้าวสาลีมีกลิ่นหอมซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี ในตระกูลอันมีข้าวและนํ้าหาได้ง่ายมาก ได้เห็นบรรพชิตผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปหนึ่งแล้วคิดว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักเป็นผู้เห็นปานนั้นเที่ยวบิณฑบาตบริโภค กาลนั้นจักมีไหมหนอสำหรับเรา จึงออกบวช บัดนี้เธอจะทำข้อนั้นอย่างไร

    ครั้นทรงโอวาทพระองค์อย่างนี้แล้ว ไม่ทรงมีอาการผิดแผก ทรงเสวย พระกระยาหาร เมื่อพวกราชบุรุษเห็นดังนั้น ได้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารรีบเสด็จออกจากพระนครไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ทรงเลื่อมใสเฉพาะพระอิริยาบถเท่านั้น จึงทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระโพธิสัตว์

    เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้ทรงต้องการวัตถุกามหรือกิเลสกามทั้งหลาย ทรงปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณจึงออกบวช แม้ว่าพระเจ้าพิมพิสารจะทรงอ้อนวอนเป็นอเนกประการ พระโพธิสัตว์ก็ไม่ได้ทรงรับ พระเจ้าพิมพิสารจึงตรัสว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอทรงโปรดเสด็จมายังแคว้นของพระองค์ก่อน

    นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนจะต้องมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การ ลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ และถ้าไม่เป็นทางกายจริงๆ ไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่เป็นความทุกข์ซึ่งเกิดเพราะกิเลส อย่างบางคนรับประทานยากจริงๆ เลือกมาก ก็ควรจะเห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะทรงตรัสรู้ และเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ไม่เคยเห็นอาหารเห็นปานนั้นแม้ด้วยพระเนตร จึงยากเหลือเกินที่จะมีพระทัยสม่ำเสมอในการที่จะไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครมีอาหารไม่ประณีต และมีอนุสสติ ระลึกถึงโอวาทที่พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทพระองค์เอง ก็จะทำให้ละคลายความรังเกียจ หรือความไม่สบายใจในขณะที่ได้บริโภคอาหารที่ไม่ประณีตนั้น แต่ก็เป็นไปได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จริงๆ และดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ซึ่งต้องเริ่มด้วยการพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็น ในวันหนึ่งๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น

    เรื่องของอกุศลในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับเรื่องของกุศล คือ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และแต่ละท่านก็ไม่ได้เห็นการสะสมของอกุศลแต่ละขณะทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจว่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นและสะสมปรุงแต่งทำให้มี อกุศลจิตที่วิจิตร ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ต่างกันออกไปใน วันหนึ่งๆ มากสักแค่ไหน แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงชี้ให้เห็นถึงอกุศล ซึ่งในขณะที่จิตเป็นอกุศลจะมีการกระทำทางกายและวาจาอย่างไรบ้าง ที่ต่างกับขณะที่เป็นกุศล

    ถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด และไม่เห็นคุณประโยชน์ของ พระธรรมส่วนละเอียด อาจจะคิดว่าไม่เป็นประโยชน์ เพราะดูเหมือนรู้แล้วว่า อกุศล มีเท่าไรและมีอะไรบ้าง แต่เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นจริงๆ รู้ไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

    ถ้าจะพิจารณาตัวเอง บางท่านอาจจะเริ่มพิจารณาและคิดว่า เริ่มรู้จักตัวเอง ขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังไม่ละเอียด ยังไม่ถี่ถ้วน และวันไหนที่สติจะเกิดระลึกได้ และเริ่มศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งปัญญาค่อยๆ สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น

    นี่คือความจริงของการสะสมอย่างละเอียดของทางฝ่ายอกุศล ซึ่งการสะสมอย่างละเอียดของทางฝ่ายกุศลก็ต้องเช่นเดียวกัน คือ ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตัวเอง จริงๆ ให้ตรง และขัดเกลาอกุศลเท่าที่สติในขณะนั้นสามารถเกิดและระลึกได้

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตในครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ และเที่ยวไปตามลำดับตรอก ได้อาหารซึ่งพระองค์ไม่เคยแม้แต่ที่จะเห็น แต่การสะสมกุศลในอดีตมาแล้วทำให้พิจารณาได้ถูกต้อง ทำให้ทรงเตือนพระองค์เอง ซึ่งในวันหนึ่งๆ ขณะที่ทุกท่านรับประทานอาหาร จะมีกุศลในอดีตที่สะสมมาอย่างละเอียดทำให้ระลึกได้และเตือนตัวเองบ้างไหม เพราะว่าทุกข์กายซึ่ง เป็น ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง เป็นอเหตุกจิตดวงหนึ่งที่เป็นอกุศลวิบาก ใน วันหนึ่งๆ เกิดน้อยกว่าทุกข์ใจ สังเกตได้ ทุกขณะ แม้แต่ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร ถ้าฟันไม่ขบลิ้น จะมีทุกขกายวิญญาณไหม ก็ไม่มี แต่เวลาเห็นอาหารและรู้สึกว่า ไม่มีความน่าอร่อยทั้งในสีและในกลิ่น หรือในเสียงที่กำลังปรากฏ คือ ในขณะที่กำลังบริโภคอาหารก็อาจจะมีเสียงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็พิจารณาให้ละเอียดลงไปว่า ทุกข์ใจเกิดมากกว่าทุกข์กาย

    เวลาที่ทุกข์กายเกิดจะรู้สึกว่า ยากที่จะทน เจ็บ ปวด คัน เมื่อย และถ้าเป็นโรคที่ร้ายแรง ทุกข์กายนั้นก็เพิ่มมาก แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่ากิเลสจะหมด ทั้งๆ ที่ เห็นว่าเมื่อยังมีกายอยู่ มีการเกิดขึ้น ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากทุกข์กายได้เลย ถึงแม้จะเกิดในสวรรค์ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม เมื่อยังไม่เป็นพระอริยบุคคลคือ พระโสดาบัน ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก ยังไม่บรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์และปรินิพพานตราบใด ทุกข์กายก็ยังหมดไม่ได้

    แต่ทุกข์กายเมื่อเทียบกับทุกข์ของใจ หรือทุกข์ของกิเลส ในวันหนึ่งๆ ทุกข์ใจ ก็มากกว่าทุกข์กาย และการที่ทุกข์กายซึ่งทุกคนกลัวจริงๆ กลัวเจ็บ กลัวโรคภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะดับหมดสิ้นได้ตราบใดที่ทุกข์ใจ คือ กิเลสยังไม่ดับ ถึงแม้ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติในนรก หรือเกิดเป็นมนุษย์มีทุกข์กายมากมาย ก็ยังไม่สามารถดับทุกข์กายนั้นได้ จนกว่าจะดับทุกข์ใจได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ไม่สบายเท่านั้น แต่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะเรื่องราวและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ นินทาก็มีมาก และถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะไม่ใช่ทุกข์ในเรื่องราวและบุคคลต่างๆ ไม่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ก็ยังมีทุกข์ในขณะที่กำลังบริโภคอาหาร หรือในขณะที่ทำกิจการงาน หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังสนุกสนานเพลิดเพลิน เวลารับประทานอาหารอร่อยรู้สึกเพลิดเพลิน สักครู่เดียว พริกเม็ดหนึ่งก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้แล้ว ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกข์จะเกิดจากบุคคลอื่น หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับลาภ ยศ สรรเสริญ นินทาเท่านั้น แต่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับใครๆ เลย ทุกข์ก็ยังเกิดอยู่เสมอเป็นประจำ ทั้งทุกข์กายบ้าง และทุกข์ใจบ้าง

    สำหรับผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่ต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จะต้องศึกษาธรรม ที่เกิดกับตนโดยละเอียดจริงๆ จึงจะเห็นการสะสมอย่างละเอียดของอกุศลและกุศล

    อย่างการสนใจธรรม เริ่มฟังธรรม เริ่มศึกษา เริ่มพิจารณาโดยละเอียด อาจจะเห็นว่าวันนั้นสติปัฏฐานไม่ได้เกิด แต่มีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น และถ้าฟังทุกวัน พิจารณาบ่อยๆ จะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานเริ่มเกิดแล้ว และถึงแม้ว่าขณะที่สติปัฏฐานเริ่มเกิด ยังไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แต่การฟังและการพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมเป็นปัจจัยให้เริ่มน้อมไปที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นทีละเล็กทีละน้อย และการผสมผสานของกุศลทั้งหลายที่ได้กระทำ ย่อมเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้เมื่อสติระลึก ปัญญาเริ่มพิจารณา สภาพธรรมได้ตรงถูกต้อง ปัญญาจึงค่อยๆ เจริญขึ้น

    แต่ทางฝ่ายอกุศลก็มีมาก ประมาทไม่ได้เลย เพราะว่าสำหรับรูปธรรม เช่น การเพาะปลูกต้นมะม่วงหวาน เวลาที่ปลูกใกล้ชิดกับต้นสะเดาขม ยังทำให้รสของมะม่วงนั้นเปลี่ยนไปได้ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งไม่มีใครสังเกตเลย ทุกคนอาจจะเชื่อมั่นว่า เมื่อเป็นมะม่วงหวาน มีเชื้อของรสนั้น ก็ต้องเป็นรสนั้นตลอดเวลา แต่อาศัยการเสพ การคุ้นเคย สิ่งแวดล้อม การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ทำให้รสของมะม่วงเปลี่ยนไปได้ ฉันใด คนที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส ถ้ามีการคบหาสมาคม หรือมีความประมาทในอกุศล อาจจะไม่รู้สึกว่า การพิจารณาธรรมเริ่มไม่ตรง มีความโน้มเอียงไปสู่ทางผิดโดยไม่รู้สึกตัวเลย เพราะการโน้มเอียงไปสู่ความเห็นผิดไม่ปรากฏในชาตินั้นก็ได้ คือ การคบหาสมาคมแต่ละชาติๆ มีโอกาสเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้ความ โน้มเอียงไปในความเห็นผิดปรากฏขึ้นในชาติหนึ่งชาติใดซึ่งไม่ใช่ในปัจจุบันชาตินี้ก็ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรประมาทในเรื่องของอกุศล และจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะถ้าต้องการเจริญปัญญา เจริญกุศล ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย มิฉะนั้นแล้ว คงไม่ต้องมีทั้งอธิษฐานบารมีและสัจจบารมี

    อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่าตัวเองดีแล้ว หรือดีกว่าคนอีกหลายคน จะมีความพอใจในความดีของตนเอง ทั้งๆ ที่ความไม่ดีมีมาก ไม่ว่าจะบริโภคอาหาร จะกำลังสนุกสนาน จะกำลังทำกิจการงานต่างๆ ก็เต็มไปด้วยอกุศลในขณะที่กุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง คิดว่า เป็นผู้ที่ดีแล้ว ก็จะไม่เจริญกุศล และไม่รู้ตัวด้วยว่า อกุศลกำลังชักจูงทำให้โน้มเอียงขึ้นทุกที

    สำหรับผู้ที่มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญปัญญา ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท และยังต้องมีสัจจบารมี คือ การเป็นผู้จริง เป็นผู้ตรงต่อความตั้งใจมั่นนั้น มิฉะนั้นแล้ว ตั้งใจว่าจะศึกษา ตั้งใจที่จะทำกุศล แต่ถ้าไม่มีสัจจบารมี ย่อมหวั่นไหวและพ่ายแพ้ต่ออกุศล เพราะว่าวันหลังก็ได้ หรือเมื่อไรก็ได้ ก็จะเป็นผู้ที่ห่างไกลจากการเจริญกุศลที่จะดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า การรู้จักตัวเองและอบรมเจริญกุศลต้อง เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ไม่ประมาท

    ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก กุรุงควรรค อรรถกถา มหิฬามุขชาดก มีข้อความที่กล่าวถึงการโน้มเอียงไปตามสิ่งแวดล้อม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงย่อมไม่รู้ว่า การกระทำสิ่งใดควรและไม่ควร และจะเป็นเหตุให้ค่อยๆ โน้มเอียงไปในทางอกุศลอย่างไรบ้าง

    ข้อความมีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภท่าน พระเทวทัต จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โปราณโจราน วโจ นิสัมมะ ดังนี้

    เรื่องมีว่า เมื่อท่านพระเทวทัตทำให้อชาตศัตรูกุมารเลื่อมใสแล้ว ยังลาภสักการะให้เกิดขึ้น อชาตศัตรูกุมารได้สร้างวิหารที่ตำบลคยาสีสะเพื่อท่านพระเทวทัต แล้วได้ถวายโภชนะข้าวสาลีมีกลิ่นหอม ซึ่งเก็บไว้ ๓ ปี วันละ ๕๐๐ สำรับ โดยรสเลิศต่างๆ เพราะอาศัยลาภสักการะ บริวารของท่านพระเทวทัตจึงเพิ่มขึ้น ท่าน พระเทวทัตพร้อมทั้งบริวารก็อยู่ในวิหารนั่นแหละ

    จะเห็นได้ว่า ท่านพระเทวทัตเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระผู้มีพระภาค แม้ว่า ท่านพระเทวทัตเองจะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การสะสมอกุศลในอดีตชาติของท่านพระเทวทัต ค่อยๆ ผสมผสานทำให้มีความรู้สึกที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาค แม้ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาเกื้อกูลต่อสัตว์โลกโดยละเอียด แต่ท่าน พระเทวทัตก็ยังคิดว่า ท่านเองเทียมเท่าพระผู้มีพระภาคได้

    นี่เป็นอันตรายซึ่งมองไม่เห็นเลยว่า การสะสมทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็ทำให้สามารถมีความคิดอย่างนั้นได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๐ ตอนที่ ๑๔๙๑ – ๑๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564