แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1497


    ครั้งที่ ๑๔๙๗


    สาระสำคัญ

    ธรรมทานประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด

    สิกขาคือ การศึกษา พิจารณาสังเกตลักษณะของสภาพธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    บทว่า สัพพทานัง เป็นต้น ความว่า ก็ถ้าบุคคลพึงถวายไตรจีวรเช่นกับใบตองอ่อน (คือ เป็นไตรจีวรอย่างดี) แด่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ทั้งหลายผู้นั่งติดๆ กันในห้วงจักรวาลตลอดถึงพรหมโลก การอนุโมทนา ที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงทำด้วยพระคาถา ๔ บาทในสมาคมนั้นประเสริฐ

    ก็ทานนั้น หามีค่าถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพระคาถานั้นไม่ การแสดงก็ดี การกล่าวสอนก็ดี การสดับก็ดีซึ่งธรรม เป็นของใหญ่ ด้วยประการฉะนี้

    อนึ่ง บุคคลใดให้ทำการฟังธรรม (คือ จัดให้มีการฟังธรรม) อานิสงส์เป็น อันมากก็ย่อมมีแก่บุคคลนั้นแท้ ธรรมทานนั่นแหละที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นให้เป็นไปแล้ว แม้ด้วยอำนาจอนุโมทนา โดยที่สุดด้วยพระคาถา ๔ บาท ประเสริฐที่สุดกว่าทาน ที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยบิณฑบาตอันประณีตแล้วถวายแก่บริษัทเห็นปานนั้น นั่นแหละบ้าง ประเสริฐกว่าเภสัชทานที่ทายกบรรจุบาตรให้เต็มด้วยเนยใสและน้ำมันเป็นต้นแล้วถวายบ้าง ประเสริฐกว่าเสนาสนทานที่ทายกให้สร้างวิหารเช่นกับมหาวิหารและปราสาทเช่นกับโลหปราสาทตั้งหลายแสนแล้วถวายบ้าง ประเสริฐกว่าการบริจาคที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้นปรารภวิหารทั้งหลายแล้วทำบ้าง เพราะเหตุไร

    เพราะว่าชนทั้งหลาย เมื่อจะทำบุญเห็นปานนั้น ต่อฟังพระธรรมแล้วเท่านั้น จึงทำได้ ไม่ได้ฟังก็หาทำได้ไม่ ก็ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายไม่พึงฟังธรรมไซร้ เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง เพราะเหตุนี้ธรรมทานนั่นแหละ จึงประเสริฐที่สุดกว่าทานทุกชนิด

    ประโยชน์ของธรรมทานต่อไป คือ

    อีกอย่างหนึ่ง เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้นผู้ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัปทั้งสิ้น ก็ยังไม่สามารถบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นโดยธรรมดาของตนได้ ต่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้นแสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลและทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา เพราะเหตุแม้นี้มหาบพิตร ธรรมทานนั่นแหละจึงประเสริฐที่สุด เพราะเหตุนั้นพระศาสดาจึงตรัสว่า สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ

    ถ. การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทุกอย่าง เราต้องฟังพระพุทธพจน์แน่นอน เรื่องท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือวิสาขามหาอุบาสิกาบริจาคทาน ก็เป็นทานมหาศาล แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมคงจะไม่ได้บริจาค ผมเห็นด้วยว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทุกอย่าง ถ้าให้ศีล ให้สมาธิ หรือให้ปัญญา การให้เหล่านั้นจะเท่ากันไหม

    สุ. แล้วแต่ผู้รับ ไม่ใช่ท่านผู้ฟังต้องการให้การเจริญสติปัฏฐานแก่ผู้ที่ยัง ไม่พร้อม เพราะเห็นว่าการให้ธรรมทาน เช่น โพธิปักขิยธรรม เป็นเลิศ ต้องขึ้นกับผู้รับ เหมือนอย่างมัจฉริยโกสิยเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้ที่ตระหนี่มาก และได้เป็นพระโสดาบัน แต่ก่อนนั้น ชาติก่อนๆ ท่านก็ตระหนี่ และผู้ที่เกื้อกูลท่าน ก็เกื้อกูลท่านในเรื่องของทานก่อน เป็นการสะสมความผสมผสานของกุศลจนกว่าจะถึงขั้นที่ท่านสามารถ แม้ตระหนี่ก็ยังมีปัจจัยทำให้เป็นพระโสดาบัน

    ถ. อย่างพระพุทธองค์ให้ธรรมแก่อัญญเดียรถีย์ ซึ่งเปรียบเทียบว่าเป็น นาที่เลว อาจจะได้แค่ไตรสรณคมน์เท่านั้น ก็ถือว่าให้ธรรมเป็นทานเหมือนกัน

    สุ. ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นธรรม ที่เป็นความถูกต้อง ซึ่งจะต้องสะสมไป

    ถ. ท้าวสักกเทวราช ตามประวัติเป็นพระโสดาบัน จริงหรือเปล่า

    สุ. จริง

    ถ. องค์ปัจจุบันก็เป็นโสดาบันหรือ

    สุ. ยังไม่สิ้นอายุ

    ถ. ถ้าเช่นนั้น ท่านก็สามารถแก้ปัญหาให้เทวดาได้ ทำไมต้องมาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย

    สุ. ความละเอียด ความลึกซึ้ง การสะสมมาทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าเพียงฟังครั้งเดียวจะสามารถบรรลุมรรคผลได้ หรือการแสดงธรรมก็เหมือนกัน ไม่ใช่ฟังเพียงสั้นๆ นิดเดียว ทุกคนจะเข้าใจจนกระทั่งมีอธิษฐานบารมีและสัจจบารมี แต่ต้องอาศัยพระธรรมทั้งหมดโดยตลอด โดยละเอียดจริงๆ ทั้งฝ่ายอกุศลและกุศล และที่เกิดกับตนด้วยที่จะต้องเป็นผู้ละเอียด

    ถ. เฉพาะองค์นี้ใช่ไหมที่ท่านเป็นพระโสดาบัน และท้าวสักกเทวราช องค์ก่อนๆ

    สุ. ต้องไปดูประวัติสารบรรณ อย่างท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านก็เคยเป็นท้าวสักกะ เพราะฉะนั้น เรื่องการเป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็วนเวียน กันไป เพราะว่าสังสารวัฏฏ์นั้นยืดยาวมากจริงๆ

    ถ. การที่เราทำบุญกุศลอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย หรือผู้ล่วงลับไปแล้ว จะเป็นญาติเราก็ดี หรือผู้อื่นก็ดี เราจะตั้งจิตอย่างไร หรือมีสมาธิแค่ไหน หรือมีวิธีการอย่างไรที่อุทิศให้เขา และเขารับได้

    สุ. ไม่ใช่เรื่องของการกระทำ แต่เป็นสภาพจิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้นขณะใด เมื่อมีเมตตาที่จะให้บุคคลอื่นได้รับประโยชน์ ถ้าเป็นผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำให้เขาได้อนุโมทนา แล้วแต่ว่าเขาจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา

    ถ. เขาจะรับทราบหรือ ถ้าจิตเราไม่ใช่ขณิกสมาธิ

    สุ. ไม่มีทางที่จะรู้ได้ รู้ได้เฉพาะตนเองว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลที่มีความมั่นคงขั้นไหน มีความตั้งใจขั้นไหน หรือว่ารีบร้อน เพียงแต่ให้เสร็จไปเท่านั้นเอง หรือกำลังมีธุระด่วน การอุทิศส่วนกุศลนั้นก็ไม่ใช่ความตั้งใจมั่นก็ได้ ก็เป็นแต่ละเหตุการณ์ แต่ละวาระ ซึ่งทุกขณะก็ดับสูญไปไม่กลับคืนมาอีกเลย

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ควรมีสติระลึกลักษณะของจิต เพราะว่าในการทำกุศล ชื่อว่ากุศลจริง แต่กว่ากุศลนั้นจะสำเร็จ จิตเป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเป็นอกุศลมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีความเป็นห่วงเป็นกังวลขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ถ้ามีอุปสรรคขัดข้อง ขณะนั้นต้องพิจารณาว่า จิตหวั่นไหวไหม หรือเรื่องขัดข้องก็เป็นเรื่องธรรมดา ย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติ และรู้สภาพจิตของตนเอง ในขณะนั้นว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ถ. ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาภาค ๑ เรื่องพระจักขุบาลเถระเรื่องที่ ๑ ท่านกล่าวถึงธุระในพระศาสนาไว้ ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ท่านบอกว่า ท่านบวชเมื่อแก่ ท่านไม่สามารถจะทำคันถธุระให้บริบูรณ์ได้ แต่ท่านทำวิปัสสนาธุระให้บริบูรณ์ และท่านก็ทูลพระพุทธเจ้าให้ตรัสสอนวิปัสสนาธุระ คำว่า วิปัสสนาธุระนี้ ท่านบอกว่า การเริ่มตั้งต้นความสิ้นไปแล้วเจริญวิปัสสนา ด้วยสามารถแห่งการกระทำเป็นไปติดต่อ แล้วยึดถือหรือบรรลุพระอรหันต์ นี้ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ

    ผมสงสัยอรรถของคำว่า ด้วยสามารถแห่งการกระทำเป็นไปติดต่อ คำว่า การกระทำเป็นไปติดต่อ หมายถึงในขณะที่วิปัสสนากัมมัฏฐาน ญาณต่างๆ เกิด สำหรับผู้ที่มีปัญญามาก ตั้งแต่ญาณแรกจนกระทั่งถึงญาณสุดท้าย จะต้องเกิดเป็นลำดับไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นบรรลุมรรคผลอย่างนั้นเลย จะเป็นไปได้หรือเปล่า จะถูกต้องหรือเปล่า

    สุ. เป็นไปได้ แล้วแต่เหตุ

    ถ. ปกติทั่วไป วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นที่เกิดขึ้น บางทีเกิดแล้วอาจจะหายไปนานกว่าจะมาเกิดอีกที แต่สำหรับผู้มีปัญญา ท่านสามารถเจริญติดต่อตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณไปเรื่อยจนกระทั่งถึงสำเร็จมรรคผลนิพพาน อย่างนี้ก็มีใช่ไหม

    สุ. นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล และปทปรมบุคคล มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ต่างกัน

    ถ. แต่ในความหมายของวิปัสสนาธุระ รู้สึกท่านพูดความหมายนี้ ความหมายเดียวในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาว่า ต้องเป็นไปติดต่อตลอด ทำให้เข้าใจว่า ทุกคนเวลาเจริญวิปัสสนาต้องติดต่อไปเรื่อย ตลอด ผมจึงสงสัยอรรถของคำว่า ติดต่อ จะเป็นอย่างนี้ทุกคนที่เจริญวิปัสสนาหรือเปล่า

    สุ. พระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ หรือว่าให้ทำให้ติดต่อ ในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กาย เวทนา จิต ธรรม บ่อยๆ เนืองๆ หรือว่า ให้ทำให้ติดต่อกัน พยัญชนะที่ใช้ ใช้คำไหน

    ถ. ก็ให้เจริญบ่อยๆ เนืองๆ

    สุ. เป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จึงใช้คำว่า อนุปัสสนา

    แสดงให้เห็นว่า สติเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่มีใครสามารถมีสติติดต่อตลอดกันไปได้อย่างพระอรหันต์ ถึงแม้พระอรหันต์เอง ในขณะที่กำลังเห็น ขณะนั้น สติเจตสิกก็ไม่เกิดกับจักขุวิญญาณ ไม่ได้เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือปัญจทวาราวัชชนะ แต่ชวนจิตของพระอรหันต์ มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งบางครั้งเป็นญาณสัมปยุตต์ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย บางครั้งเป็นญาณวิปปยุตต์ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ใครจะทำให้สติเกิดติดต่อกันได้ ในเมื่อผู้นั้นเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะแม้พระอรหันต์เอง สติก็ไม่ได้เกิดติดต่อกัน ทุกขณะจิต

    ถ. อย่างในกรณีนี้ ในธัมมปทัฏฐกถาธรรมบท ฟังแล้วคล้ายๆ จะค้านกับมหาสติปัฏฐาน

    สุ. ที่ไหนที่ว่า จะค้าน

    ถ. เพราะท่านใช้คำว่า เจริญวิปัสสนาด้วยสามารถให้เป็นไปติดต่อ

    สุ. ให้ติดต่อกันในที่นี้ หมายความว่า ไม่ว่าจะทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น หรือไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน อยู่ที่ไหนก็ตาม สติควรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่ว่า หยุดพักเป็นวันๆ หรือเป็นตอนๆ ว่า มีตอนเช้า ตอนค่ำ

    ถ. หรือไม่จำเป็นต้องให้ไปเกิดในห้อง ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. เป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เนืองๆ

    ถ. อีกอย่างหนึ่ง เรื่องสติที่เกิดขึ้นรู้สึกว่า เกิดยากเหลือเกิน และที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ทราบว่าจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า ไม่แน่ใจ คือ ที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเป็น สติปัฏฐาน สติที่เกิดรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ จะเป็นนามก็ได้ รูปก็ได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ตัวกระผมเอง เวลาสติเกิดมักจะไม่ได้กำหนดว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป คือ การที่จะรู้ว่าอะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูปนั้น จะเป็นโดยอัตโนมัติ หรือว่า เราต้องไปแยก ไปคิดให้เป็นอันนี้นาม อันนี้รูป

    สุ. ที่ปฏิบัติแล้ว เคยเป็นอัตโนมัติไหม

    ถ. ก็ที่สติเกิด ก็เป็นอัตโนมัติ

    สุ. มิได้ การที่จะรู้อะไรเป็นนาม เป็นรูป จะเป็นโดยอัตโนมัติได้ไหม

    ถ. ผมว่าเป็นโดยอัตโนมัติ ในเมื่อสติปัญญาของเราเกิด

    สุ. โดยไม่ต้องทำอะไรเลยหรือ

    ถ. หมายถึงว่า สติปัญญาของเราเกิดแล้ว คือ การที่จะรู้ว่านามว่ารูป จะต้องรู้โดยที่เราไม่ต้องคิด

    สุ. แล้วทำอะไร ศึกษาคืออย่างไร คำว่า ศึกษา คืออย่างไร

    ถ. หลังจากที่ฟังแล้ว ศึกษาแล้ว เข้าใจแล้วว่า ข้อปฏิบัติเป็นอย่างนี้

    สุ. นั่นขั้นปริยัติ แต่ว่าศึกษา หรือ สิกขา ได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ ไม่ใช่ในขณะที่กำลังพิจารณาเรื่องที่ได้ฟัง แต่ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สิกขาในขณะนั้นต้องมี ถ้าไม่มี ปัญญาเกิดไม่ได้

    สิกขา คือ การศึกษา พิจารณา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ถ. ถ้าอย่างนั้น สติสัมปชัญญะเกิดในขณะใด ก็จะต้องศึกษา จะต้องรู้ในขณะนั้นว่า นี่นาม นี่รูป

    สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ท่านยังไม่รู้ ใช่ไหม เพราะขาดเหตุ คือ ไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่สติเกิด และคำว่า สิกขา เป็นที่สงสัยว่า จะศึกษาอย่างไร เพราะว่าเคยศึกษาโดยการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เวลาที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วและสั้นมาก เพราะว่าสติดับเร็วเช่นเดียวกับสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นและก็ดับ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เนื่องจากชั่วขณะแรกๆ ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เกือบจะไม่ได้ศึกษาอะไรเลย เพราะเพียงแต่รู้ว่า สติระลึก และสติก็ดับไป แต่เมื่อรู้ว่า ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และการที่จะรู้ขึ้นต้องมีเหตุมีปัจจัย ไม่ใช่ว่าปล่อยไปโดยที่ไม่ได้ศึกษาเลยและจะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นขึ้นมาได้ว่า สภาพนั้นเป็นรูป หรือว่าสภาพนั้นเป็นนาม

    โดยการฟัง ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่ในขณะนี้เอง สภาพรู้เป็นอย่างไร ก็ยังไม่หมดความสงสัย แม้ว่าทางตากำลังเห็น และทางหูก็กำลังได้ยิน ทางกายก็กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๐ ตอนที่ ๑๔๙๑ – ๑๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564