แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
ครั้งที่ ๑๕๐๑
สาระสำคัญ
ส.ส.เทวหิตสูตร - การประชวรของพระผู้มีพระภาค
เสพคุ้นกับพระธรรม (สะสมอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูกยิ่งขึ้น)
อถ สํ.สฬ.อวัสสุตปริยายสูตรที่ ๖ - เห็นประโยชน์ของการคบหาสมาคมกับพระธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙
ถ. ตามเรื่องที่กระผมทราบ พระพุทธองค์กับท่านพระอานนท์เกิดรุ่นราวคราวเดียวกัน ฉะนั้น พระอานนท์ในขณะนั้นที่กำลังอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ท่านคงจะแก่พอๆ กัน
สุ. แต่ไม่แก่เท่าคนทั้งหลาย เพราะว่าท่านเป็นผู้มีจิตใจที่ห่างไกลจากทุกข์
ถ. พระเทวทัต พระอานนท์ พระอนุรุทธะ ออกบวชในสมัยเดียวกันน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระพุทธองค์ แต่พระอานนท์ปรินิพพานหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วประมาณ ๔๐ ปี พระอานนท์ท่านปรินิพพานตอนท่านอายุได้ ๑๒๐ ปี แสดงว่าตอนที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน พระอานนท์อายุ ๘๐ ปี แต่ในเรื่องว่าเป็น พุทธอนุชา คงเรียกว่า เป็นลูกผู้น้อง อย่างนั้นใช่ไหม แต่ผมเข้าใจว่า พระอานนท์กับพระพุทธเจ้าคงแก่พอๆ กัน
สุ. อายุเท่ากันได้ แต่ความแก่ไม่เท่ากันก็ได้ ถ้าท่านพระอานนท์จะแก่มากมายอย่างคนสมัยนี้ เมื่อถึงอายุ ๑๒๐ ปี ท่านคงไม่สามารถแสดงธรรมหรือไปที่ อื่นๆ ได้ แต่ท่านก็ยังแสดงธรรมและอนุเคราะห์พุทธบริษัทอยู่จนถึงเวลาที่ ท่านปรินิพพาน
สำหรับความทุกข์ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าทุกข์ใจ ไม่มี แต่เมื่อมีกายปสาทซึ่งเป็นเหตุให้กระทบกับโผฏฐัพพะ ก็ต้องมีทุกข์กาย เป็นธรรมดา
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อุปาสกวรรคที่ ๒ เทวหิตสูตร มีข้อความเกี่ยวกับการประชวรของพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงกระทำทุกรกิริยา ๖ พรรษา ทรงนำเอาถั่วเขียวและถั่วพูเป็นต้นอย่างละฝายมือมาเสวย เป็นเหตุให้ภายหลัง ลมในพระอุทรกำเริบ เพราะเสวยไม่ดีและบรรทมลำบาก ซึ่งท่านพระอุปวาณะในสมัยนั้นเป็นพุทธอุปัฏฐาก ก็ได้ไปหาเทวหิตพราหมณ์ซึ่งขายน้ำร้อนและผงสำหรับอาบ
เมื่อพราหมณ์ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวรด้วยลมในพระอุทร ก็ได้ให้น้ำร้อนกับงบอ้อย และให้ท่านอุปวาณะละลายน้ำร้อนกับงบอ้อยถวาย เมื่อสรงเสร็จ
เมื่อพระผู้มีพระภาคหายประชวร ก็เป็นเหตุให้เทวหิตพราหมณ์เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงว่าได้ถวายการรักษาพระผู้มีพระภาค เป็นเหตุให้ท่านมีความรู้สึกอยากจะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรม และผลคือท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
เพราะฉะนั้น การที่แต่ละคนจะเข้ามาสู่พระธรรม ก็แล้วแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ กัน ซึ่งแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน
ขณะนี้มีทุกข์ไหม ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ไม่สังเกตก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายหรือทุกข์ใจ คงจะมีบางท่านเมื่อย ก็เป็นทุกข์ และคงจะมีบางท่านกำลังเป็นห่วงกังวล บางเรื่อง แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ความรู้สึกไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น ก็เป็นทุกข์ใจ
ถ. พระพุทธองค์ไม่มีทุกข์ใจ เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของพระพุทธองค์ไม่มีคำว่ากลุ้มใจ แต่มนุษย์ปุถุชนอย่างเราคำว่า กลุ้มใจ พูดเกือบทุกวัน
ผมขอถามปัญหาที่ติดกันอยู่ในการสนทนาธรรม พุทธพจน์ที่ว่า ใจประเสริฐ ใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจ ฉะนั้น ขณะที่ใจร้าย พูดอะไรก็เป็นร้ายออกมา แต่มีคำพังเพยคำโบราณที่ว่า ปากร้าย ใจดี จะขัดกันไหม
สุ. แล้วแต่การสะสม
ถ. คำว่า ปากร้าย ใจดี เป็นได้หรือ ถ้าเป็นได้ ก็ไม่ตรงกับพุทธพจน์นี้
สุ. จิตเกิดดับสลับเร็วมาก
ถ. ขณะที่พูดออกไป ถ้าร้ายก็ต้องร้าย แต่ขณะที่ใจดี ก็คนละขณะ ใช่ไหม
สุ. ถ้ายังไม่หมดกิเลส ก็ยังมีเหตุทำให้คำร้ายๆ เกิด
ถ. คำร้ายๆ แต่ใจร้ายด้วยหรือเปล่า
สุ. ในขณะที่กิเลสยังไม่หมด ขณะนั้นอกุศลจิตต้องมีได้ แล้วแต่ว่าจะถึง ขั้นไหน
ถ. แต่ขณะที่พูดนั้น ถ้าพูดร้ายก็ต้องร้าย ส่วนอีกขณะจิตหนึ่ง ใจอาจจะดี ก็คนละขณะแล้ว
สุ. พูดเพราะ พูดไม่เพราะ แต่ยังไม่ถึงร้ายก็มี ใช่ไหม คำพูดมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการพูดดีหรือในการพูดร้าย ถ้าในการพูดดี ก็มีทั้งคำพูดที่จริง คำพูดที่เป็นประโยชน์ แต่กล่าวอย่างเพราะหรือเปล่า นั่นก็เป็นระดับขั้นของคำที่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คำที่ร้ายก็เหมือนกัน โดยนัยเดียวกัน ต้องมีคำที่ร้ายพอประมาณ หรือร้ายมาก หรือเพียงคำพูดที่ไม่เพราะจะเรียกว่าร้ายก็ได้ แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การสะสม เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสังเกตตัวเองจึงจะรู้ตามความเป็นจริง
ไม่ชอบคำร้าย แต่เมื่อยังมีกิเลส ก็มีเหตุให้กล่าวคำร้าย แต่สติที่ระลึกได้ จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าจะรู้ว่า คำใดควรกล่าว คำใดไม่ควรกล่าว แต่ถ้าสติไม่เกิด ระลึกไม่ได้ ก็จะกล่าวต่อไป และคำพูดที่ดีก็ยังจะดีขึ้นอีกได้เรื่อยๆ ตามสภาพของกุศลจิต เพราะนอกจากจะเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ เป็นคำจริง ก็ยังพูดด้วยคำที่ไพเราะน่าฟังด้วย
ถ. ที่สาตาคิรยักษ์กับเหมวตยักษ์ที่ว่าสนทนากัน และอุบาสิกาได้ฟัง จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน คงจะสนทนาอยู่กลางอากาศ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. อุบาสิกากำลังมีครรภ์แก่ ได้ฟังการสนทนาของยักษ์ ๒ ตนนี้ และได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
สุ. พิจารณาธรรมในขณะที่ฟัง
ถ. แสดงว่า ยักษ์ ๒ ตน สนทนาธรรมกัน ใช่ไหม
สุ. สาตาคิรยักษ์เป็นพระโสดาบัน และเห็นว่าสหายของท่านไม่ได้อยู่ใน ที่นั้น ท่านก็อยากจะให้ฟังด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็ไปเพื่อจะชวนสหายของท่านมาฟัง แต่เมื่อได้พบกัน ไต่ถามกันแล้ว ได้เล่าเรื่องที่ได้ฟังพระธรรมให้สหายฟัง และสหายของท่านก็ไต่ถามธรรม ท่านก็กล่าวแก้ จนกระทั่งท้ายที่สุดท่านก็สรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาค
ถ. อุบาสิกาได้ฟังแค่ที่ยักษ์สนทนากันเท่านั้น
สุ. ก็สามารถรู้แจ้งเป็นพระโสดาบันบุคคลได้
ถ. คงสนทนากันเรื่องรูปเรื่องนาม ใช่ไหม
สุ. เรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เรื่องสัจธรรม และการอุปมาว่า การที่อุบาสิการู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น อุปมาเหมือนกับบริโภคอาหารที่บุคคลอื่นคดให้บุคคลอื่น แม้ว่าไม่ใช่เพื่ออุบาสิกาเอง แต่ก็ยังได้รับรสของพระธรรมที่บุคคลอื่นกำลังแสดงธรรมให้อีกบุคคลหนึ่งฟัง
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ธรรมที่เป็นของจริงสามารถพิสูจน์ได้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ แต่เทพยดาทั้งหลายที่มาประชุมกันในที่นั้น ก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก
สำหรับกาฬีอุบาสิกา เป็นอุบาสิกาท่านแรกที่ได้เป็นพระโสดาบัน ในคืนวันที่เป็นพระโสดาบันนั้น ได้ให้กำเนิดท่านพระโสณโกฏิกัณณะ และสำหรับท่าน พระโสณโกฏิกัณณะที่ชื่อเช่นนั้น เพราะว่าสมัยที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ ท่านมีเครื่องประดับต่างหูซึ่งมีค่า ๑ โกฏิ เพราะฉะนั้น คนจึงเรียกท่านว่า โสณโกฏิกัณณะ
ถ. ขณะที่โกรธ กับขณะที่กลัว ลักษณะมีความแตกต่างกันไหม
สุ. เป็นสภาพที่ไม่พอใจ
ถ. เหมือนกัน แต่เป็นสภาพที่แยกออกมาจากกันและกันได้ คือ ขณะที่กลัวก็อย่างหนึ่ง ขณะที่โกรธก็อย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน
สุ. ที่จริงแล้ว ถ้าไม่ใช้ชื่อ ท่านผู้ฟังก็จำแนกลักษณะของโทสมูลจิตแล้วว่า ลักษณะหนึ่งกลัว อีกลักษณะหนึ่งโกรธ แต่อย่างไรก็ตามเป็นสภาพที่ไม่น่าพอใจทั้ง ๒ อย่าง เวลาโกรธ ไม่กลัว อย่างหนึ่ง และเวลากลัว ก็ไม่ใช่ขณะที่โกรธ ก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างเป็นอาการของสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่พอใจ ก็เป็นของธรรมดาๆ เอาชื่อออก ก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ถ. ถ้าอย่างนั้น เป็นโทสมูลจิตตัวเดียวกัน
สุ. ขณะใดที่เป็นสภาพที่ไม่พอใจ ขณะนั้นเป็นโทสเจตสิก บางท่านอาจจะมีลักษณะอื่นอีกนอกจากกลัวกับโกรธ ก็เป็นการที่จะสังเกตรู้ว่า ขณะใดที่ความรู้สึก ไม่แช่มชื่น ขณะนั้นต้องเป็นโทสะ
เรื่องของการพ้นทุกข์ เป็นสิ่งที่ยาก ถึงแม้ว่าทุกคนจะรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ และกล่าวว่ามีทุกข์ และไม่อยากจะมีทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ประเภทใดทั้งสิ้น เวลาที่เกิดความรู้สึกไม่แช่มชื่น หรือความรู้สึกทุกข์กายเกิดขึ้น ก็อยากให้ทุกข์นั้นหมดลงโดยเร็ว แต่ไม่มีใครสามารถดับทุกข์ได้ ถ้ายังดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา โดยเสพคุ้นกับพระธรรม ทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่ประมาท มิฉะนั้นจะทำให้ห่างไกลออกไปจากการคุ้นเคยกับพระธรรม และการสะสมอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ท่านคบหาสมาคมกับบุคคล แต่โดยสภาพของปรมัตถธรรม เป็นการคบหาสมาคมกับธรรมทั้งสิ้น แล้วแต่ท่านจะคบหาสมาคมกับความเห็นถูก หรือคบหาสมาคมกับความเห็นผิด หรือคบหาสมาคมกับกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม ซึ่งการคบหาพระธรรมคือการฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด และไตร่ตรองเลือกเฟ้นพระธรรมโดยรอบคอบ ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยทำให้สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
บางท่านอาจจะสงสัยว่า ท่านจะคบกับพระธรรมอย่างไร ก็โดยการฟัง พระธรรม ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง และบางครั้งอาจจะเกิดความสงสัย ก็คบต่อไปอีก โดยการฟังต่อไป และพิจารณาพระโอวาทที่ได้ทรงตักเตือน
ถ้าท่านคบหาสมาคมกับบุคคลที่เป็นมิตรสหาย อาจจะได้ฟังความคิดเห็นของมิตรสหาย ถ้ามีสิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มิตรสหายนั้นก็จะโอวาทหรือช่วยตักเตือนเพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า เมื่อคบกับพระธรรม พระธรรมจะเป็นเหมือน มิตรสหายได้อย่างไร แต่ความจริงพระธรรมเป็นยิ่งกว่ามิตรสหาย เพราะแม้ไม่เห็นตัว แต่ก็ยังฟัง เหมือนกับมีบุคคลที่กำลังแสดงพระธรรมให้ฟัง และถ้าสงสัย ก็ศึกษาและฟังต่อไปอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ เหมือนกับการที่จะตอบข้อสงสัยของท่านผู้ฟังได้
บุคคลในสมัยพระผู้มีพระภาค มีความศรัทธา เลื่อมใส และเห็นประโยชน์ของการคบหาสมาคมกับพระธรรม ซึ่งใน อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอวัสสุตปริยายสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า
เจ้าศากยะทั้งหลายได้สดับว่า สัณฐาคาร (คือ อาคารที่ว่าราชการของพวก เจ้าศากยะ) เสร็จแล้ว จึงได้ไปตรวจดูสัณฐาคารนั้นทั้งหมดตั้งแต่ซุ้มประตูและคิดว่า สัณฐาคารนี้น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง มีสิริมิ่งขวัญ ใครใช้สอยก่อน พึงมีประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน
นี่คือความคิดที่ละเอียด แม้แต่การที่พวกเจ้าศากยะจะได้สร้างสัณฐาคารสำหรับว่าราชการแล้ว ก็ยังคิดว่า เมื่อจะใช้สอยสัณฐาคารนี้ จะให้ผู้ใดได้ใช้สอยก่อน จึงจะเป็นประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่พวกเราตลอดกาลนาน
เมื่อปรึกษากันแล้วก็ตกลงกันว่า แม้เมื่อเราถวายครั้งแรกแก่ญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา ก็ควรแก่พระศาสดา (คือ โดยความเป็นญาติ การถวายแก่ พระผู้มีพระภาคก็สมควร) แม้เมื่อถวายด้วยอำนาจความเป็นทักขิเนยยบุคคล (คือ ผู้ที่ควรแก่การบูชา) ก็สมแก่พระศาสดาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะให้ พระศาสดาทรงใช้สอยก่อน จักนิมนต์ภิกษุสงฆ์มา เมื่อภิกษุสงฆ์มาแล้ว พระพุทธพจน์คือปิฎกทั้ง ๓ ก็จักเป็นอันมาด้วย เราจะให้อาราธนาพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พวกเราตลอดยามสามแห่งราตรี ดังนั้น สัณฐาคารนี้ พระรัตนตรัยก็ ใช้สอยแล้ว พวกเราจักใช้สอยในภายหลัง อย่างนี้ก็จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่พวกเราตลอดกาลนาน
ถ้าจิตใจเป็นไปในเรื่องของพระธรรม ทุกอย่างในชีวิตประจำวันย่อมจะระลึกถึงพระธรรมเป็นธรรมดา
เจ้าศากยะเหล่านั้น ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้อาราธนาให้ พระผู้มีพระภาคประทับที่สัณฐาคาร
วันนั้น สัณฐาคารเป็นอันจัดด้วยดี ทะนุถนอมด้วยดี เหมือนเทพพิมาน เพื่อเป็นที่ทอดทัศนาสำหรับราชตระกูลก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ชื่อว่าไม่ตบแต่งให้สมควรแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จริงอยู่ ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยชอบป่า มีป่าเป็นที่รื่นรมย์ พึงอยู่ในบ้านหรือไม่อยู่ก็ตาม เพราะฉะนั้น พวกเจ้าศากยะจึงดำริว่า พวกเราพอรู้พระหฤทัยของพระผู้มีพระภาค จึงจัดตกแต่งเพื่อให้ไม่ลำบากในการ ฟังธรรมได้ตลอดคืนยันรุ่ง และให้ตั้งตุ่มน้ำขนาดใหญ่ไว้ เพื่อพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์จะได้ล้างมือล้างเท้า หรือกระทำกิจได้ตามชอบใจ และได้บรรจุน้ำ สีแก้วมณีให้เต็ม ใส่ดอกไม้ต่างๆ เพื่ออบและจุณอบ
เจ้าศากยะเหล่านั้น ให้ตบแต่งสัณฐาคารอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ โดยที่แท้ ให้ปัดกวาดแม้ถนนของพระนครกบิลพัสดุ์ในทางโยชน์หนึ่ง กระทำนครทั้งสิ้นให้ เป็นราวกับว่ามีดวงดาวเกลื่อนกล่นด้วยประทีปและมาลาเป็นต้น ให้คนตีกลอง ร้องประกาศว่า พวกท่านจงให้เด็กเล็กๆ ที่ยังดื่มนมให้ดื่มนมเสีย ให้พวกเด็กรุ่นๆ รีบกินข้าวแล้วให้นอนเสีย อย่าทำเสียงเอ็ดอึง วันนี้พระผู้มีพระภาคจักประทับในบ้านราตรีหนึ่ง ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประสงค์แต่เงียบเสียง แล้วพากันถือเอาประทีปด้ามด้วยตนเอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทูลเชิญเสด็จไปประทับที่สัณฐาคาร
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560