แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510


    ครั้งที่ ๑๕๑๐


    สาระสำคัญ

    โลกปรมัตถ์ต่างกับโลกบัญญัติ

    ปัญญาเป็นแสงสว่าง

    ปัญญาระลึกลักษณะของสภาพนามธรรม (ขณะที่เป็นชวนวิถี)

    ความถูกต้องอยู่ที่ความเข้าใจและเหตุผล

    ความเห็นไม่ถูก การปฏิบัติก็ถูกไม่ได้

    ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๙


    ขณะนี้ทุกท่านอยู่ในโลกที่สว่างหรือว่าอยู่ในโลกที่มืดมากกว่ากัน ถ้าศึกษาปริยัติธรรมจะตอบได้ ตรงกันข้ามกับที่กำลังปรากฏนี่ ใช่ไหม เพราะว่า จักขุทวารวิถีจิตทวารเดียว ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อหลายวาระ ขณะที่เป็นภวังคจิต มืดไหม ไม่ใช่จักขุทวารวิถี ขณะที่เป็นมโนทวารวิถี มืดไหม ขณะที่กำลังได้ยินเสียงมืดหรือสว่าง มืด ใช่ไหม และเวลาที่โสตทวารวิถีจิตดับ ภวังค์เกิดต่อหลายขณะ มืดหรือสว่าง มืด และมโนทวารวิถีจิตที่มีเสียงเป็นอารมณ์ มืดหรือสว่าง หลายวาระ ฉะนั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มืด ทั้ง ๕ ทวาร มีเฉพาะจักขุทวารวิถีทางเดียวเท่านั้นที่สว่าง ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลาสภาพธรรมปรากฏจริงๆ ตามความเป็นจริง ทางมโนทวารวิถี จะรู้ได้เลยว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ได้ปรากฏเหมือนอย่างที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าเวลาที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง มโนทวารวิถีไม่ได้ปรากฏเลย หรือแม้แต่โสตทวารวิถีซึ่งกำลังได้ยินเสียง และภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อหลายวาระก็ไม่ได้ปรากฏ ใช่ไหม ก็ดูเสมือนมีสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่ และมีโสตทวารวิถีแทรก และมีมโนทวารวิถีที่คิดนึกคั่น เพราะฉะนั้น ยังเป็นโลกที่สว่างอยู่ ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริงเวลาที่ สภาพธรรมจะปรากฏ สภาพธรรมปรากฏกับปัญญา

    เพราะฉะนั้น ที่เราว่าโลกมืด มืดหลายอย่าง สำหรับผู้ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้อะไรเลย อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่รู้เลย นั่นเป็นความมืดตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายไม่สามารถที่จะรู้ได้ เป็นความมืดของอวิชชา ซึ่งไม่ว่าสิ่งใดจะปรากฏก็ไม่รู้ทั้งนั้น

    แต่เวลาที่สภาพธรรมแม้มืด ปัญญาก็สามารถแทงตลอดสภาพธรรมนั้นได้ ตามความเป็นจริง เพราะว่าปัญญาเป็นแสงสว่าง แต่ไม่ใช่แสงสว่างอย่างความสว่าง แต่เป็นแสงสว่างเพราะสามารถแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมแม้ที่มืดสนิทได้ เช่น เวลาที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง ในขณะนั้นไม่มีสีสันวัณณะปรากฏเลย เวลาที่กายวิญญาณกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะนั้นก็ไม่มี สีสันวัณณะต่างๆ ปรากฏเลย แต่ปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาเป็นแสงสว่างที่สว่างกว่าแสงสว่างอื่นใดทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าจะเป็นธรรมที่มืดสนิท ไม่มีแสงสว่างปรากฏเลย ปัญญาก็ยังประจักษ์แจ้ง ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้

    เรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องศึกษา พิจารณา และอบรม เจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง อย่างเช่นลักษณะของนามธรรม ถ้าจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น จะมืดหรือ จะสว่าง เพราะว่าต้องเป็นการรู้ทางมโนทวารวิถี เพราะว่านามธรรมไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ผิดหรือถูก พระธรรมที่ทรงแสดงไว้จะทำให้ รู้ว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง พระพุทธองค์ทรงแสดงโดยพระสัพพัญญุตญาณ แม้กระทั่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้เองแล้วก็แสดงไม่ได้ แต่จะบอกว่า อบรมได้ อย่าเพิ่งท้อแท้ใจ

    สุ. ต้องเป็นผู้ที่อดทน อดทนจริงๆ ตั้งแต่ขั้นการฟัง และพิจารณา ถ้าขณะนี้ทุกท่านหลับตา จะรู้ได้เลยว่า อ่อนหรือแข็งไม่สว่าง เสียงก็ไม่สว่าง คิดนึกก็ไม่สว่าง

    . ขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ขณะนั้นเป็นทวิปัญจวิญญาณหรือเปล่า

    สุ. หมายความว่า จะเป็นทวิปัญจวิญญาณ หรือสัมปฏิจฉันนะ หรือ สันตีรณะ หรืออะไรอย่างนั้นหรือ

    . ครับ

    สุ. อย่าไปไกลถึงขนาดนั้น ดีไหม แต่ปัญญาต้องระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมก่อน และถ้าจะรู้จริงๆ ทรงแสดงไว้ว่า ขณะที่เป็นชวนวิถี เพราะว่าชวนวิถีเกิดดับถึง ๗ ขณะ แต่จักขุวิญญาณนั้นเพียงขณะเดียว แต่ถึงแม้ว่าชวนวิถีจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือมหากุศลจิตก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็มีสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรสนั่นเองเป็นอารมณ์ เพียงแต่ว่าไม่ได้กระทำกิจเห็นหรือกิจได้ยิน แต่อารมณ์นั้นยังคงปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องคิดว่า เป็น จักขุวิญญาณ หรือสัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ

    . เพราะฉะนั้น ตอนที่เป็นชวนวิถี สามารถมีนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ อาการรู้ปรากฏได้

    สุ. ได้

    . และขณะนั้นไม่น่าจะมืด ถ้าสีสามารถปรากฏกับทวิปัญจวิญญาณแล้ว คือ สามารถเป็นอารมณ์ของจิตอื่นๆ ทางปัญจทวารวิถีได้ด้วย ขณะนั้นไม่น่ามืด

    สุ. คิดดูว่า จักขุทวารวิถี วิถีเดียว กับโสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี ตั้ง ๔ ทาง รวมทั้งทางมโนทวารวิถีอีก ๑ จะมากกว่ากัน หรือจะน้อยกว่ากัน

    . ถ้าเราไม่พิจารณาทวารอื่น เราพิจารณาเฉพาะทางตาอย่างเดียว ใช่ไหม

    สุ. ถ้าพิจารณาทางเดียว ก็แน่นอนว่า อารมณ์ใดปรากฏทางจักขุทวารวิถี เป็นของจริงอย่างไรก็เป็นของจริงอย่างนั้น แต่ไม่มีทางที่จะเป็นทวารเดียว ใช่ไหม เช่น ในขณะนี้ จะให้มีแต่เห็น โดยที่ไม่มีได้ยินกับคิดนึก เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการรู้ตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย จึงจะประจักษ์ความจริงได้ และเมื่อประจักษ์ความจริง ก็พิจารณาดูว่า อยู่ในโลกที่สว่างหรืออยู่ในโลกที่มืด ในขณะที่ปัญญาประจักษ์ลักษณะของ สภาพธรรม

    . ฉะนั้น เวลาเราเห็นสีครั้งหนึ่ง ก็ไม่แน่ อาจจะเป็นทางมโนทวารก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    . ที่สว่างอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่เฉพาะขณะจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเท่านั้นสว่าง

    สุ. จักขุทวารวิถีมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ภวังคจิตไม่ได้มี สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ แต่มโนทวารวิถีที่เกิดต่อ รับสี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุทวารวิถี ถ้าเทียบกับขณะที่เป็นภวังค์ และมีวิถีทางทวารอื่นคั่น เช่น ขณะที่กำลังได้ยิน หรือขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ขณะนั้นจะรู้ได้ว่า สภาพธรรมใน วันหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่ทางจักขุทวาร ทวารอื่นนั้นมืด

    . ถ้าบุคคลใดไม่ได้เรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน จะมีวิธีใดที่จะเห็นสัจธรรมได้บ้าง ถ้าไม่เรียนปริยัติ

    สุ. เราทำของเราเอง หรืออย่างไร เพื่อเรา หรือว่าเพื่อคนอื่น

    . ผมเห็นว่า เป็นเรื่องยาก คำก็ยาก อะไรก็ยาก

    สุ. การเกิดไม่ยาก การไม่เกิดยาก ใช่ไหม

    . แต่จะเรียนรู้อย่างไรได้บ้าง มีทางลัดบ้างไหม ทางลัด ทางสั้น

    สุ. ทางสั้น คือ ทางไม่รู้

    . เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องเรียนปริยัติด้วย ใช่ไหม

    สุ. ปริยัติ ที่จริงไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป เพราะว่าเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้นเอง และเป็นเรื่องของจิตซึ่งทุกคนมี เพียงแต่ว่ามีชื่อซึ่งอาจจะยากสักหน่อย เช่น เห็น ก็ชื่อว่าจักขุวิญญาณ ได้ยิน ก็ชื่อว่าโสตวิญญาณ ยากที่ชื่อ แต่สภาพธรรมกำลังมีให้พิสูจน์ และถ้าอยากจะรู้ให้ละเอียดในเรื่องของตัวเอง ก็จะรู้เรื่องของจิตหลายๆ ประเภทในวันหนึ่งๆ และสามารถที่จะแยกได้ รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นว่า เป็นผลของกรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นผลของกรรมที่เป็นอกุศล

    ดีกว่าไม่รู้ ใช่ไหม หรือว่าดีกว่าโทษคนอื่น คิดว่าคนอื่นทำให้ ความจริงไม่ใช่ เป็นผลของกรรมของตนเอง รู้เท่านี้ก็ยังสบายใจ และวันหนึ่งๆ มีกุศลจิตมากหรือ มีอกุศลจิตมาก ถ้ารู้ว่าตัวเองมีอกุศลจิตมาก ก็จะเพิ่มกุศลจิตขึ้น แทนที่จะสะสมอกุศลให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของตัวเอง แต่ยากที่ชื่อเท่านั้นเอง

    . ผมฟังอาจารย์ทางวิทยุที่อาจารย์บอกว่า ให้รู้สึกตัว ผมก็นึกว่า เราพยายามรู้สึกตัว แต่อาจารย์บอกว่า สติก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผมไม่ได้เรียนปริยัติเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน …

    ­สุ. และเรียนเรื่องสติหรือ สติก็เป็นปริยัติแล้ว

    . หมายความว่า ...

    สุ. หมายความว่า ไม่อยากเรียนเรื่องจิต เจตสิก รูป หรือเปล่า

    . อย่างผมจะไปบวชพราหมณ์ ผมมาฟังจากอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ให้ทำในชีวิตประจำวัน ผมว่าก็ดีในชีวิตประจำวัน แต่ผมอยากได้คำแนะนำว่า ที่ผมจะไปบวชพราหมณ์เพื่อรักษาศีล เป็นการถูกต้องหรือเปล่า

    สุ. ความถูกต้องอยู่ที่ความเข้าใจและเหตุผล พราหมณ์คืออะไร ถ้าตอบไม่ได้ จะไปบวชทำไม

    . คำนี้ คือ เนกขัมมะ ผมคิดว่า ทุกคนที่ไปคงจะไปรักษาศีล

    สุ. ในพระพุทธศาสนามีบวชพราหมณ์ไหม

    . ผมก็ไม่ทราบ แต่ว่า

    สุ. ก่อนที่จะทำอะไร พิจารณาเหตุผลก่อน แม้แต่พราหมณ์คืออะไร ถ้าเรายังไม่เข้าใจ บวชก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะบวชแล้วก็ยังไม่รู้จักว่าพราหมณ์ คืออะไรจะบวชทำไม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรควรจะรู้เหตุผล ความถูกต้อง อยู่ที่เหตุผลกับความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ความถูกต้อง จะรักษาศีลโดยไม่ต้องบวชพราหมณ์ได้ไหม

    . ได้

    สุ. แล้วบวชทำไม ทำไมบวช เพราะฉะนั้น มีคำตอบอยู่คำเดียว คือ อยาก ถ้ายังไม่มีเหตุผล ถามเถอะ จะต้องอยาก จะนั่งสมาธิ นั่งทำไม ถ้ายังไม่ได้เหตุผล ทำไมทำ อยาก จะต้องนำไปด้วยความอยากเสมอ ถ้าไม่ใช่ปัญญาและเหตุผล

    จะนั่งนานๆ นั่งทำไม อยาก ถ้าไม่มีเหตุผลแล้วอยากทั้งนั้น บางคนนั่งๆ อยู่ ก็จะเดิน เดินทำไม อยาก คือ ถ้าไม่มีเหตุผลแล้วลงที่อยากทั้งนั้น

    . ผมอยากรักษาศีล ๕ แต่ก็มีเหตุทำให้บางครั้งรักษาศีลไม่ได้

    สุ. ไม่ใช่พระโสดาบัน นี่คือคำตอบ

    . แต่เรื่องนี้เป็นชีวิตประจำวัน

    สุ. ถูกต้อง ชีวิตประจำวัน คือ ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบันยังไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วน

    . ไม่มีใครเพียบพร้อม ใช่ไหม

    สุ. นอกจากพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น เป็นชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริง แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีเจตนาวิรัติ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนา แต่ขึ้นอยู่กับวิรตีเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นวิรัติทันทีโดยไม่ต้องคิด มาก่อน

    ผู้ที่สะสมสีลุปนิสัย เป็นผู้สังวร สำรวมกายวาจาให้เป็นไปในทางสุจริต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในขณะนั้น วิรตีเจตสิกซึ่งเป็นอนัตตามีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นวิรัติ โดยธรรมชาติ โดยสภาพธรรม โดยเหตุโดยปัจจัย ไม่ใช่ด้วยความคิดว่า เป็นเราที่จะทำหรือที่จะวิรัติ เพราะถ้าเป็นเราที่ตั้งใจว่าจะไม่ทำ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ ความตั้งใจนั้นก็ช่วยไม่ได้เสียแล้ว ก็เป็นไปได้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เป็นความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ย่อมไม่สามารถรักษาศีล ๕ ได้โดยครบถ้วน โดยบริบูรณ์

    . บางครั้งผมฟังอาจารย์แล้ว รู้สึกเหมือนกับว่า เราปล่อยไปตามเรื่อง คือ เราปล่อยไปตาม...

    สุ. ไม่ได้เข้าใจเรื่องของกรรมหรือว่า ทำกรรมใดไว้ก็ได้รับผลของกรรมนั้น หรือตามเรื่องอีกเหมือนกัน

    สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรม อย่าเพียงคิดว่าจะปฏิบัติ หรือชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่ควรที่จะพิจารณาว่า กลัวบ้างไหมว่าจะปฏิบัติผิด เพราะมักจะสนใจไปปฏิบัติ หรือชักชวนกันไปปฏิบัติ แต่อาจจะไม่เคยกลัวว่าจะปฏิบัติผิด ซึ่งตามความจริงแล้ว การปฏิบัติต้องมีทั้งที่ผิดและที่ถูก เพราะว่าความเห็นมี ๒ ประการ คือ ความเห็นผิด กับความเห็นถูก

    ถ้าความเห็นยังไม่ถูก การปฏิบัติก็ถูกไม่ได้ แทนที่จะคิดว่าจะไปปฏิบัติ ก็ควรกลัวว่าจะปฏิบัติผิด และจะยึดถือข้อปฏิบัติผิดนั้นแน่นอน ถ้าไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่า ถ้ากลัวการปฏิบัติผิด และกลัวการติด การยึดถือ ข้อปฏิบัติที่ผิดแล้ว จะต้องทำอย่างไร

    ขออย่าให้ท่านผู้ใดไม่กลัวการปฏิบัติผิด เพียงแต่คิดว่าจะปฏิบัติ จะปฏิบัติ ผิดก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเป็นการปฏิบัติผิดแล้ว จะทำให้ยึดถือข้อปฏิบัติผิดนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ในชาตินี้

    เพราะฉะนั้น เมื่อกลัวการปฏิบัติผิด และกลัวการติด การยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด จะทำอย่างไร

    มีหนทางเดียว คือ ต้องศึกษาพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม คืออย่างไร มิฉะนั้นแล้วก็จะชวนกันไปปฏิบัติธรรม ซึ่งถ้าไม่เข้าใจก็ต้องผิด

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่มีโอกาสได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ฟังพระธรรม และเกิดความเข้าใจ เกิดความเลื่อมใสแล้ว ก็เปล่งวาจาขอถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะ

    การกล่าววาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็คือ จะประพฤติปฏิบัติตาม พระธรรมวินัยตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

    พอหรือยังเท่านี้ หรือจะต้องทำพิธีอะไรอีก ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมและ เห็นประโยชน์ เกิดความเลื่อมใส เปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ย่อมหมายความว่า ผู้นั้นจะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

    อย่างที่พุทธบริษัทได้กล่าววาจานอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาค ขอถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะ ซึ่งนั่นแสดงว่า ทุกท่านจะมีชีวิตอยู่โดยการประพฤติ ปฏิบัติธรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ตามพระธรรมที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรม จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลย เพราะว่า เรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นเรื่องของความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะลิ้มรส ในขณะกระทบสัมผัส ในขณะคิดนึก ประพฤติปฏิบัติธรรมหรือเปล่า โดยที่ไม่ต้องทำพิธีอะไร เพราะว่า ได้กล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564