แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
ครั้งที่ ๑๕๑๒
สาระสำคัญ
ขุ.ธ. บัณฑิตวรรคที่ ๖ - ลักษณะของพาลและบัณฑิต
โลกก็คือแต่ละขณะ
อเหตุกจิต ๑๘ (ผลของอดีตกรรม ๑๕ และกิริยาจิต ๓)
ความต่างกันของทวิปัญจวิญญาณและสัมปฏิจฉันนจิต
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๙
ขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง เป็นประจำ ในชีวิตประจำวัน เป็นหนี้บ้างหรือเปล่า
ตราบใดที่ยังมีกิเลส ย่อมยังไม่พ้นหนี้ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ทุกคนมีหนี้ หนี้เก่าในชาตินี้ขณะที่หลงลืมสติเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต ซึ่งล่วงเป็นอกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา หรือแม้ทางใจ มีบ้างไหม ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ และหนี้เก่า ในชาติก่อนๆ ในอสงไขยกัป
หนี้ในขณะปัจจุบัน ที่หลงลืมสติไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และหนี้ในอนาคต คือ วันต่อๆ ไปที่หลงลืมสติไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นหนี้ที่พอกพูนอยู่เรื่อยๆ จะพ้นหนี้ได้อย่างไร มีหนทางเดียว คือ เจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมและดับกิเลส จึงจะพ้นจากหนี้ได้
เพียงให้รู้สึกตัวว่าเป็นหนี้ ก็เป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่า หนี้มากเหลือเกิน หนี้ในอดีต หนี้ในปัจจุบัน หนี้ในอนาคต เพราะฉะนั้น ควรเป็นผู้ที่คิดจะชำระหนี้ ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะพ้นจากหนี้ ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้นดับกิเลสได้ ขณะนั้นก็พ้นจากการเป็นหนี้
ลักษณะของพาลและบัณฑิต ข้อความใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปัณฑิตวรรคที่ ๖ ข้อ ๑๖ มีว่า
หน้าที่ของบัณฑิต คือ
... ก็พวกคนไขน้ำย่อมไขน้ำไป พวกช่างศรย่อมดัดศรให้ตรง พวกช่างถากย่อมถากไม้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน ดังนี้
เพราะฉะนั้น ใครจะเป็นพาล ใครจะเป็นบัณฑิต ขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยแยบคายว่า บัณฑิตมีหน้าที่ฝึกตน
การที่จะไขน้ำเสีย คือ กิเลสที่หมักหมมเน่าเหม็น มีหนทางเดียว คือ ด้วยการเพิ่มน้ำใส คือ กุศลจิต และการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะต้องพิจารณาเห็นสิ่งที่ไม่ดีของตัวเองก่อน เพราะว่ากุศลจิตน้อยมากเมื่อเทียบกับ อกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คิดแก้อกุศลโดยการเพิ่มกุศลในทุกๆ ทาง ย่อมไม่มีทางดับกิเลสได้ แต่ถ้าเริ่มเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกตน จะทำให้เป็นผู้ที่ตรงโดยการเห็นว่า กิเลสทั้งหลายเป็นโทษ จึงพากเพียรที่จะละกิเลส
ถ้าผูกโกรธใคร คิดดู จะเป็นพาลหรือจะเป็นบัณฑิต ถ้าจะเป็นพาลก็ผูกโกรธต่อไป ใครก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าจะเป็นบัณฑิต ก็เห็นว่าความผูกโกรธไม่มีประโยชน์เลย เป็นอันตราย เป็นโทษ เพียงแค่อภัยทานยังทำไม่ได้ จะปฏิบัติธรรมอะไรได้
เมื่อมีการพิจารณาตนเองในทุกๆ ทาง จะทำให้เป็นผู้ที่เพิ่มกุศลจิตด้วยการ ทำดีทางกาย ทางวาจา ต่อคนที่คิดว่าไม่เป็นมิตรกัน หรือว่าไม่ถูกกัน
นี่คือ บัณฑิตที่ย่อมฝึกตน และเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ทำกุศลทุกอย่างทันที
ทุกคนถ้าตายในวันนี้ ก็ลืมเรื่องของชาตินี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น จะเดือดร้อนทำไมกับความโกรธบ้าง ความโลภบ้าง ความรักบ้าง ความชังบ้างในชาตินี้ ฉะนั้น ถ้าลืมเสียตั้งแต่ในชาตินี้ ไม่ต้องคอยถึงชาติหน้า จะดีกว่าไหม แทนที่จะยังโกรธอยู่ เพราะยังจำได้ แต่ถ้าคิดว่า ตายแล้วก็ลืมหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นที่ชัง หรือสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นที่ชัง ก็ลืมเสียเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องคอยถึงชาติหน้า และตั้งต้นใหม่ทุกขณะ โดยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น
ซึ่งความจริงแล้วที่ปรากฏเป็นโลก เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีใครเลยจริงๆ ขณะที่สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจะมีสิ่งอื่นไม่ได้ ขณะที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหูจะมีสิ่งอื่นไม่ได้ นอกจากได้ยินกับเสียง เพราะฉะนั้น โลก คือ แต่ละขณะ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น
เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา มีหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นการฟังเรื่องของ สภาพธรรมที่ปรากฏและพิจารณาตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น เห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะอะไร ก็เพราะว่า เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรืออาการรู้ ซึ่งเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
เพียงเท่านี้ ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ จะคิดอย่างนี้ไปทั้งวัน ก็ดับกิเลสไม่ได้ จนกว่าสติจะระลึกที่ลักษณะที่กำลังเห็น ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลย แต่สิ่งที่เห็นหรือสภาพที่เห็นมีจริง เพราะฉะนั้น เมื่อสิ่งนั้นมีจริง สติย่อมเกิดระลึกได้ เพียงแต่ว่าก่อนที่สติจะระลึกได้ ไม่ใช่ว่าจะระลึกได้ตามใจชอบ หรือคิดว่าขณะนี้จะระลึกที่นั่น จะระลึกที่นี่ แต่ ต้องเป็นสติเองที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและระลึกได้ และขณะนั้นปัญญาก็พิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่อบรมเจริญได้
ถ. หนี้สินอื่นได้ชำระหมดแล้ว แม้แต่หนี้ชีวิตก็ชำระกันไปบ้าง ในชาตินี้ ผมไม่ได้มีหนี้อะไรกับใคร
สุ. จริงหรือ ถ้ามีกิเลส ก็ยังมีหนี้
ถ. มีเหลือแต่หนี้กิเลส ถ้าทำบัญชีรับจ่ายวันหนึ่งๆ ก็ขาดดุลทุกวัน มากมาย จะชำระอย่างไร
สุ. จะเอาศรัทธาที่ไหนมามากๆ จะเอาสติที่ไหนมามากๆ จะเอาวิริยะที่ไหนมามากๆ จะเอาปัญญาที่ไหนมามากๆ ต้องค่อยๆ สะสมทีละเล็กทีละน้อย หนี้ยังมีทีละเล็กทีละน้อยจนหนาแน่น เพราะฉะนั้น เวลาจะชำระหนี้ ก็ต้องหาทรัพย์ คือ อริยทรัพย์ ได้แก่ ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญาที่เกิดในขณะที่ระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ชำระหนี้ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย โดยระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ดีที่รู้สึกตัวว่ายังเป็นหนี้อยู่ เพื่อจะได้ชำระหนี้ ถ้าไม่รู้ตัวว่าเป็นหนี้ ก็ไม่ชำระหนี้ ใช่ไหม ก็พอกพูนไป ซึ่งการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นเรื่องละเอียดและเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่รู้ได้จริงๆ เพราะว่าเป็นสัจธรรม เป็นของจริงที่สามารถพิสูจน์ได้
ในการกล่าวถึงหนี้ หรือการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครคนหนึ่งคนใดสามารถจะหยิบยกอกุศลทั้งหมดออกทิ้งไปได้โดยการทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นการฟัง เพราะว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เพื่อให้เห็นว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเสมือนว่าไม่ดับเลยเพราะเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมากนั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นชั่วขณะเดียวและทำกิจการงานสืบต่อกัน ในขณะที่มีการเห็นวาระหนึ่ง การได้ยินวาระหนึ่ง การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง และแสดงให้เห็นว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอดีตกรรม ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง
สำหรับอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผลของอกุศลกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ของปาณาติบาต ของอทินนาทาน ของกาเมสุมิจฉาจาร หรืออกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มากกว่า ๗ เลย และอกุศลวิบากนั้นก็เกิดขึ้นตามกำลังของเหตุปัจจัย ในชีวิตประจำวัน สำหรับกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะมี ๘ ดวง
อเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวงที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ทวิปัญจวิญญาณซึ่งเป็น อเหตุกวิบากจิต ๑๐ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง
สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณที่เห็น เกิดต่อจากโสตวิญญาณที่ ได้ยิน เกิดต่อจากฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส เกิดต่อจากกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่ให้ใครไปพยายามรู้สัมปฏิจฉันนะ แต่ ทรงแสดงเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง ความเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วในขณะที่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อให้สติระลึก ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมต่างจากสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม นี่เป็นขั้นต้น ไม่ต้องห่วงเรื่องของโสตวิญญาณ หรือ สัมปฏิจฉันนะ หรือสันตีรณะ หรือจิตดวงอื่นๆ เลย แต่ฟังเพื่อให้เห็นความไม่มีสาระ และความไม่เที่ยงของจิต
สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต เกิดต่อจากทวิปัญจวิญญาณ และเมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณวิบากจิตซึ่งเป็นอเหตุกวิบากอีกดวงหนึ่งก็เกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น สำหรับฐานที่เกิดของจิตก็ไม่สับสนกัน คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดก่อนจักขุวิญญาณไม่ได้ หรือจักขุวิญญาณเกิดต่อจากสันตีรณจิตไม่ได้ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้วในแต่ละวาระของการรู้อารมณ์แต่ละทาง เป็นเหตุเป็นปัจจัยตั้งแต่เมื่ออารมณ์กระทบกับปสาท กระทบกับภวังค์ จิตจะเห็นทันทีไม่ได้ ภวังคจิตที่เกิดขณะที่รูปกระทบ ขณะนั้นเป็น อตีตภวังค์ เพราะแสดงให้เห็นว่า รูปกระทบกับจักขุปสาทและกระทบภวังค์ก่อน และดับไป จักขุวิญญาณจะเกิดทันทีไม่ได้ ภวังคจลนะต้องเกิดก่อน ไหว เพื่อทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อรู้อารมณ์ใหม่ แต่ขณะที่เป็นภวังคจลนะก็ยังไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย และเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว วิถีจิตจะไม่เกิดไม่ได้
ขณะที่มีการเห็นครั้งหนึ่งๆ รู้ได้เลยว่า อตีตภวังค์ดับ ภวังคจลนะเกิดต่อ และดับ ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อและดับก่อนที่จะมีการเห็นการได้ยินแต่ละครั้ง และการที่จะรับผลของกรรม เมื่อกรรมทำให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด และดำรงภพชาติรักษาความเป็นบุคคลนั้นแล้ว กรรมอื่นก็ยังมีปัจจัยที่จะให้ผล ทำให้รู้อารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งการที่จะเปลี่ยนจากการรับผลของกรรมแต่ละทาง ต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน คั่นระหว่างภวังค์ทั้งหลายกับวิบากอื่นที่จะรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิต จึงเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ไม่ใช่ชาติวิบาก เป็นชาติกิริยา สามารถรู้อารมณ์ที่กระทบไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลวิบาก หรืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ เป็นผลของอกุศลวิบาก
ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนเป็นวิถีจิตขณะแรก ในวาระหนึ่งจะต้องมี ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด และเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณ จึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้จักขุวิญญาณเห็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี
สัมปฏิจฉันนจิตจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากตามจักขุวิญญาณ เพราะว่า การรับผลของกรรมต้องเป็นผลของกรรมประเภทเดียวกัน อารมณ์ยังไม่เปลี่ยน เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นรูปนั้นเกิดดับช้ากว่าจิต คือ มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ซึ่งขณะที่กระทบกับอตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ และจักขุวิญญาณนั้น รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะที่เกิด ก็รู้รูปเดียวกันกับที่ปัญจทวาราวัชชนจิตและจักขุวิญญาณ เห็นนั่นเอง ถ้าเป็นรูปที่ไม่ดี จักขุวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะก็เป็น อกุศลวิบาก วิบากทั้งหลายที่เกิดขึ้นรู้รูปเดียวกันนั้น ถ้ารูปนั้นเป็นรูปที่ไม่ดี วิบากทั้งหมดต้องเป็นอกุศลวิบาก เปลี่ยนไม่ได้
สำหรับสัมปฏิจฉันนะ โดยชาติเป็นวิบากเช่นเดียวกับทวิปัญจวิญญาณ และเป็นผลของกรรมเดียวกันด้วย ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปยังไม่ดับ จักขุวิญญาณเห็นสิ่งใด สัมปฏิจฉันนะก็รับสิ่งนั้นต่อ
ถ้าเป็นเสียงทางหู มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะที่โสตวิญญาณ กุศลวิบากเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ดีดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้เสียงที่ดีต่อจากโสตวิญญาณ
ถ้าเป็นเสียงที่ดี โสตวิญญาณเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นผลของกรรมใด สัมปฏิจฉันนะก็เป็นผลของกรรมเดียวกันนั้น
โดยเวทนา สัมปฏิจฉันนะเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
โดยอารมณ์ มีอารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
สัมปฏิจฉันนะไม่เกิดทางมโนทวาร เกิดทางปัญจทวารเท่านั้น
สำหรับความต่างกันของทวิปัญจวิญญาณและสัมปฏิจฉันนจิต คือ ทวิปัญจวิญญาณรู้เฉพาะอารมณ์ของตน เช่น จักขุวิญญาณรู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียวเท่านั้น คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ เสียงที่ปรากฏ ทางหู ฆานวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ กลิ่นที่กระทบจมูก ชิวหาวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ รสที่กระทบลิ้น กายวิญญาณรู้ได้อารมณ์เดียว คือ โผฏฐัพพะที่กระทบกาย แต่สัมปฏิจฉันนะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทีละอารมณ์ เพราะไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โสตวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ และอาศัยทวาร ๕ ทวาร
โดยกิจ สัมปฏิจฉันนะไม่ได้ทำกิจเดียวกับจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะว่าจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ คือ เห็น จิตอื่นนอกจากจักขุวิญญาณทำทัสสนกิจไม่ได้เลย สามารถมีอารมณ์นั้นได้ แต่ไม่เห็นอารมณ์นั้น โสตวิญญาณทำสวนกิจ คือ กิจได้ยินเสียงที่ปรากฏ สัมปฏิจฉันนจิตมีเสียงเป็นอารมณ์ แต่ไม่ได้ทำสวนกิจ คือ ไม่ได้ยินเสียง เพียงแต่รับรู้เสียงนั้นต่อจากโสตวิญญาณ
นี่เป็นกิจที่ต่างกันของทวิปัญจวิญญาณและสัมปฏิจฉันนจิต
สำหรับที่เกิดของสัมปฏิจฉันนจิต คือ โดยวัตถุ ต่างกับทวิปัญจวิญญาณ ในขณะนี้ ถ้าศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด จะทราบกิจของจิตแต่ละดวง ในวาระหนึ่งๆ เช่น ในขณะที่เห็น เฉพาะจักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท ทำกิจเห็นขณะเดียวและดับ สัมปฏิจฉันนจิตไม่เห็นแต่อาศัยจักขุปสาทรับรู้รูปนั้นต่อจาก จักขุวิญญาณและเกิดที่หทยวัตถุ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๒ ตอนที่ ๑๕๑๑ – ๑๕๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560