แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
ครั้งที่ ๑๕๑๗
สาระสำคัญ
กิจของจิต (มีกิจ ๑๔ กิจ)
อเหตุกจิต ๑๘ ดวง (ทำกิจครบ ๑๔ กิจ)
กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิมีกิจ ๒ อย่าง (ชนกกิจ และอุปภัมภกกิจ)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๙
ขอทบทวนเรื่องกิจของจิต ซึ่งขณะนี้จิตกำลังทำกิจการงานอยู่ แต่ถ้าไม่ทราบว่า ๑๔ กิจนั้นคืออะไรบ้าง ก็จะคิดว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังทำกิจนั้นกิจนี้
กิจของจิต ๑๔ กิจ คือ
๑. ปฏิสนธิกิจ
๒. ภวังคกิจ
๓. อาวัชชนกิจ
๔. ทัสสนกิจ
๕. สวนกิจ
๖. ฆายนกิจ
๗. สายนกิจ
๘. ผุสสนกิจ
๙. สัมปฏิจฉันนกิจ
๑๐. สันตีรณกิจ
๑๑. โวฏฐัพพนกิจ
๑๒. ชวนกิจ
๑๓. ตทาลัมพนกิจ
๑๔. จุติกิจ
ซึ่งขณะนี้ จิตกำลังทำกิจต่างๆ ใน ๑๔ กิจ
สำหรับท่านที่ทราบแล้วว่าจิตอะไรทำกิจอะไร ขอให้ถือว่าเป็นการทบทวน เพราะว่าเรื่องกิจของจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้สามารถรู้ได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจเพียง ชั่วขณะที่เกิดและดับไป
สำหรับกิจที่ ๑ คือ ปฏิสันธิ (ปฏิสนธิ) กิจ ในภพหนึ่งชาติหนึ่งจะมีจิตที่เกิดขึ้นทำกิจนี้เพียงขณะแรกขณะเดียวของภพภูมินี้ จะไม่มีถึง ๒ ขณะ ๓ ขณะอย่างจิตอื่นๆ เลย ซึ่งอเหตุกจิตที่ทำกิจนี้มี ๒ ดวง คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑
นี่เป็นการจำแนกให้เห็นว่า อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ทำกิจได้ครบทั้ง ๑๔ กิจ เพราะแม้ปฏิสนธิกิจก็ทำได้
คงไม่มีใครไม่เคยทำอกุศลกรรม มากบ้างน้อยบ้างในชาตินี้ และในชาติก่อนๆ นั้นกรรมที่ทำแล้วที่ให้ผลคือวิบากจิตเกิดขึ้นแล้วก็มี และที่ยังไม่ได้ให้ผลคือยังไม่ได้ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นก็มี และไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า อกุศลกรรมที่ได้ทำแล้วในชาติ ก่อนๆ ที่ยังไม่ได้ให้ผล หรืออกุศลกรรมที่ทำในชาตินี้ที่ยังไม่ให้ผล จะทำให้ อเหตุกอุเบกขาสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิเมื่อไร ซึ่งย่อมเป็นไปได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ เป็นพระอริยบุคคล อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจ ปฏิสนธิได้
สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม อย่างอ่อน ซึ่งกุศลกรรมที่แต่ละท่านทำนั้นก็มีทั้งอย่างอ่อนมาก และอย่างที่เต็มเปี่ยมด้วยเจตนา ศรัทธา และวิริยะ แต่ไม่มีใครเลือกได้ว่า จะให้กรรมไหนให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด
เพราะฉะนั้น การทำกุศลแต่ละครั้งผู้ทำย่อมทราบว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก คือผลข้างหน้า และอาจทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิเมื่อเป็นผลของกุศล แต่ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน จะทำให้เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด
การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งส่องไปถึงเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีตว่า เป็นผลของกุศลประเภทไหน แต่ตราบใดที่ยังมีกุศลกรรมอย่างอ่อน เมื่อพร้อมด้วยปัจจัยจะเป็นเหตุให้อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้
นอกจากอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากและอกุศลวิบาก กุศลกรรมที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกุศลที่มีกำลัง สามารถทำให้มหาวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ คือ ในมนุษย์และสวรรค์ ทำให้ไม่เป็นบุคคลที่พิการตั้งแต่กำเนิด
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านคงพอจะทราบได้จากผลในชาตินี้ว่า ในอดีตได้กระทำกรรมประเภทไหนจึงทำให้ปฏิสนธิเป็นมหาวิบากเกิดในสุคติภูมิ ไม่เป็นผู้พิการตั้งแต่กำเนิด
ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ดวง เป็นอเหตุกจิต ๒ ดวง มหาวิบาก ๘ ดวง รวมเป็น ๑๐ ดวง นอกจากนั้นยังมีปฏิสนธิจิตที่เป็นรูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ทำให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ ซึ่งจะมีวิบากตามสมควรแก่การเกิดเป็นรูปพรหมบุคคล คือ ไม่มีฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ แต่ยังมีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น และสำหรับอรูปาวจรกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ทำให้ปฏิสนธิเป็น อรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหม ๔ ภูมิ รวมเป็นปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง
ปฏิสนธิจิตมีความสำคัญ เพราะว่าประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลายที่สมควรจะให้เกิดวิบากในชาติหนึ่งๆ บังคับไม่ได้เลยว่า ถ้าเป็นอเหตุกอกุศลวิบากปฏิสนธิ ในอบายภูมิ ที่จะให้มีความสุขประณีตอย่างมากอย่างสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็เป็นไปไม่ได้ หรือแม้แต่การเกิดในมนุษย์ เป็นผลของมหากุศล ทำให้มหาวิบากปฏิสนธิเป็นผู้ที่ ไม่พิการแต่กำเนิด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิจิตของแต่ละคนเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคลก็ประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลายที่สามารถจะมีปัจจัยทำให้วิบากของกรรมนั้นๆ เกิดขึ้น ในภพชาติที่ปฏิสนธิด้วยจิตนั้น
ฉะนั้น แต่ละคนจึงมีสุขมีทุกข์ต่างๆ กันตามปฏิสนธิจิต แล้วแต่ว่าปฏิสนธิจิตนั้นจะเป็นจิตประเภทใด
นี่เป็นความสำคัญอย่างหนึ่งของปฏิสนธิจิต เพราะถ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นอเหตุกปฏิสนธิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ จะเห็นได้ว่า จำกัดวิบากที่จะเกิดขึ้นว่าต้องเป็นไปตามกำเนิดนั้นๆ จะให้มีกุศลวิบากเพียบพร้อมสมบูรณ์อย่างผู้เป็นมนุษย์และเทวดา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ. มหากุศลเป็นทาน เป็นศีล เข้าใจ แต่มหากุศลที่ประกอบด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย หมายความว่าอย่างไร
สุ. ทางตา เห็นแล้วเกิดกุศลจิตได้ แล้วแต่ว่าเห็นสิ่งใด ก็คิดให้เป็นไปในเรื่องของทาน หรือในเรื่องของศีล เช่น เห็นอาหารที่อร่อย หรือเห็นสีสันวัณณะที่ น่าพอใจคิดว่าสมควรจะให้บุคคลอื่นได้มีส่วนในสิ่งนั้นๆ ก็มีการสละวัตถุนั้นให้
ได้ทุกอย่างสำหรับมหากุศล เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามหากุศล เพราะเป็นกุศลที่เป็นไปได้มากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
สำหรับจิตที่ทำปฏิสนธิกิจสั้นมาก เพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งดับไปแล้วไม่เกิดอีกในภพนั้นชาตินั้น และทุกคนก็มีจิตที่กระทำกิจนี้แล้ว
ต่อจากปฏิสนธิกิจ คือ กิจที่ ๒ ได้แก่ ภวังคกิจ เป็นกิจที่ดำรงภพชาติ สภาพความเป็นบุคคลตามที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จนกว่าจะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนั้น คือ เมื่อจิตใดทำกิจปฏิสนธิดับไปแล้ว กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดจะทำให้ วิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตทำกิจเกิดสืบต่อไป จนกว่ากรรมอื่นจะทำให้ วิบากจิตเกิดขึ้นรับผลของกรรมนั้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ ถ้าจิตเป็นภวังค์ จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลยใน ขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การตื่นขึ้นและทำกิจการงานต่างๆ ไม่ใช่เป็นสัตว์ เป็นบุคคลใดๆ เลย แต่เป็นจิตประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นและทำกิจอื่น นอกจากภวังคกิจ เพราะถ้าปฏิสนธิจิตขณะเดียวดับไป และภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติสืบต่ออยู่ จะไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะไม่มีการเคลื่อนไหวประกอบกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็เหมือนคนที่กำลังรองานที่จะต้องทำ แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำทางไหน จะทำทางตา หรือจะทำทางหู หรือจะทำทางจมูก หรือจะทำทางลิ้น หรือจะทำทางกาย หรือจะทำทางใจ
ในขณะที่เป็นภวังคจิต ในขณะที่กระทำภวังคกิจ เคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส แต่ไม่ใช่มีกรรมที่เพียงทำให้ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นดับไปและภวังคจิตเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ เท่านั้น เพราะการเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม จริง กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อดับแล้วกรรมนั้นยังทำให้ภวังคจิตเกิดทำภวังคกิจดำรงภพชาติอยู่ เพื่ออะไร ก็เพื่อทำกิจอื่นต่อไป โดยรับผลของกรรมอื่นๆ ที่ได้กระทำแล้ว ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางกายบ้าง
เวลาเห็นใครก็ตามที่ทำหน้าที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พ่อค้า ครู อาจารย์ นักเรียน หรือนักแสดง ดูเหมือนว่าเขากำลังทำกิจนั้นๆ แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังเป็นภวังคจิตอยู่ ทำไม่ได้เลย และที่คิดว่าคนนั้นกำลังทำกิจนั้นกิจนี้ ก็เป็นจิต ที่เกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ ที่ไม่ใช่ภวังคกิจ
เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดจึงมีกิจที่จะกระทำ ๑๔ กิจ กิจแรก คือ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ ทั้ง ๒ กิจนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดจะเป็นการรับผลของกรรมโดยกรรมอื่นก็ได้ หรือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็ได้ เพราะว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิมีกิจ ๒ อย่าง คือ ชนกกิจ และอุปถัมภกกิจ
ชนกกิจ คือ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด อุปถัมภกกิจ คือ อุปถัมภ์ให้ดำรงภพชาตินั้นสืบต่อไปจนกว่ากรรมอื่นจะให้ผล แต่ถึงแม้ว่ากรรมอื่นจะไม่ให้ผล กรรมนั้นก็ยังอุปถัมภ์โดยการทำให้เกิดเห็น เกิดได้ยิน เกิดได้กลิ่น เกิดลิ้มรส เกิดรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยสภาพความเป็นบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคนก็ไม่ปรากฏว่าเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าใครเกิดในตระกูลใด ครอบครัวใด ฐานะใด ในสิ่งแวดล้อมใด ก็จะอยู่ในสกุลนั้น ฐานะนั้น และสิ่งแวดล้อมนั้นๆ โดยกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิตามอุปถัมภ์ให้ดำรงสภาพนั้นอยู่ แต่ส่วนการเห็นสิ่งอื่น ได้ยินสิ่งอื่น ได้กลิ่น ลิ้มรส ในสิ่งแวดล้อมอื่น ก็เป็นผลของกรรมอื่นที่มีโอกาสจะให้ผลหลังจากที่กรรมหนึ่งได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว
กรรมที่ได้กระทำไว้แล้ว จึงมีทั้งที่ทำชนกกิจคือทำให้ปฏิสนธิ และอุปถัมภกกิจ คืออุปถัมภ์ให้ดำรงคงสภาพที่กรรมนั้นพึงให้ผลตามปฏิสนธิ และยังมีกรรมอื่นซึ่งอุปถัมภ์ซ้ำอีกเพิ่มอีกก็ได้ เพราะว่าบางคนแม้จะเกิดมาในสกุลหรือในครอบครัว ในสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง ก็ยังมีกุศลกรรมที่อุปถัมภ์เพิ่มขึ้นอีกให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้เพิ่มพูนด้วยเกียรติยศหรือทรัพย์สินเงินทองมากมายเพิ่มขึ้นอีก นี่คือกรรมอื่นที่ยังทำอุปถัมภกกิจได้ และอกุศลกรรมก็ยังตามเบียดเบียนได้ด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงไม่ได้มีแต่ความสุขตลอดชีวิตหรือมีแต่ความทุกข์ตลอดชีวิต แต่จะมีสุขบ้าง ทุกข์บ้างมากน้อยตามควรของกรรมที่ปฏิสนธิประมวลมาซึ่งกรรมทั้งหลาย ที่จะเป็นเหตุให้เกิดวิบากต่างๆ ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง
สำหรับปฏิสนธิกิจ ไม่มีแล้ว แต่ภวังคกิจยังคงมีอยู่ระหว่างที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจิตจะต้องเกิดขึ้นทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติไว้จนกว่าจะมีจิตอื่นเกิดขึ้นทำกิจทางทวารต่างๆ
และการที่จะรับผลของกรรมอื่น ที่ไม่ใช่กรรมที่ทำให้ภวังคจิตเกิดดับ จะต้องมีกิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตที่เริ่มรู้อารมณ์ที่กระทบทวาร เพราะถ้าอารมณ์ ไม่กระทบทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตก็ยังคงเป็นภวังค์ ทำภวังคกิจอยู่เรื่อยๆ แต่จะไม่มีใครสักคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วมีชีวิตอยู่โดยมีแต่ภวังคจิตตลอดไปจนกระทั่งตาย และตายไม่ได้แน่นอน ถ้าชวนจิต คือ กุศลจิต หรืออกุศลจิตไม่เกิดก่อนตาย เพราะว่าทุกคนก่อนจะตาย ต้องมีกุศลหรืออกุศลซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในชาติต่อไปเกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงกิจนั้น
ถ้ากล่าวตามลำดับ กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ
กิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ เป็นวิถีจิตแรกที่รู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งจิตที่ทำกิจนี้เป็นอเหตุกจิต ได้แก่ อเหตุกกิริยาจิต ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง
และการที่อารมณ์อื่นจะผ่านมาสู่จิตอื่นที่ไม่ใช่ภวังคจิต จะต้องมีกิริยาจิต ที่เป็นอเหตุกะ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร
ทวารมี ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นรูป จึงรวมเรียกว่า ปัญจทวาร ๕
สำหรับทางใจที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดกระทบตา ไม่ต้องมีเสียงกระทบหู ไม่ต้องมีกลิ่นกระทบจมูก ไม่ต้องมีรสกระทบลิ้น ไม่ต้องมีโผฏฐัพพะกระทบกาย แต่ใจก็รู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่ภวังค์ได้ เช่น ขณะที่กำลังคิดนึก ต่างๆ ซึ่งก่อนนั้นต้องมีมโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่รู้หรือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบใจ
สำหรับวิถีจิตแรก ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ต้องเป็น อาวัชชนกิจ ซึ่งมีจิต ๒ ดวงที่ทำหน้าที่นี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และ มโนทวาราวัชชนจิต ๑
ถ้าจะอุปมา ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เหมือนยามชั้นนอก มโนทวาราวัชชนจิตก็เหมือนยามชั้นในที่อารมณ์จะผ่านไปสู่จิตอื่น ซึ่งจะเกิดขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มแรก ต้องเป็นภวังคจิตก่อน และเวลาที่อารมณ์กระทบกับทวาร เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ กระทบกับจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ หรือเสียงในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะนี้เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ ก่อนจะมีการได้ยินซึ่งเป็นวิบากจิต ต้องมีกิริยาจิตซึ่งเหมือนยามเกิดก่อน
สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต อุปมาเหมือนกับยามชั้นนอก คือ เวลาที่อารมณ์กระทบกับทวาร ใครรู้อารมณ์นั้นก่อน ก็ยามที่อยู่ข้างนอก ก่อนที่คนอื่นหรือจิตอื่นจะเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนและดับไป วิถีจิตอื่นจึงจะเกิดสืบต่อตามลำดับ โดยอารมณ์จะผ่านไปต่อจากปัญจทวาราวัชชนจิตที่ดับ และ จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือโสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่ปรากฏทางหู แต่ว่ากิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ จะต้องเกิดก่อนเป็นวิถีจิตแรก
ถ้าจะจำยาม ๒ คน อาจช่วยให้จำปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตได้ ถ้าคิดว่าก่อนที่จิตอื่นๆ จะรู้อารมณ์ ต้องมียามชั้นนอกที่รู้อารมณ์นั้นก่อน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๒ ตอนที่ ๑๕๑๑ – ๑๕๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560