แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
ครั้งที่ ๑๕๒๒
สาระสำคัญ
อถ. ขุ.ปฏิสัมภิทามรรค อถ สัมสนญาณนิทเทส - ความหยาบ และความละเอียดของเวทนา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๙
ถ. ถ้าชวนะทั้งทางปัญจทวารและทางมโนทวารเป็นมหากุศล สมมติว่าสติปัฏฐานเกิดด้วย สติปัฏฐานจะเกิดกับชวนจิตทางปัญจทวาร หรือจะเกิดกับชวนจิตทางมโนทวาร หรือจะเกิดได้ทั้ง ๒ ทวาร
สุ. เวลานี้มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต หรือเวลาไหนๆ ก็ตาม แยกกันได้ไหม ตามความเป็นจริง จะเกิดสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ที่จะรู้ว่าเร็วแค่ไหน คือ เพียงเฉพาะทางตาและทางหูที่ปรากฏเสมือนว่าสืบต่อกันไม่มีช่องว่างเลย ในขณะที่เห็นด้วยได้ยินด้วยเดี๋ยวนี้ เสมือนไม่มีช่องว่าง ไม่มีจิตใดๆ เกิดคั่นเลย แต่ตามความเป็นจริง ทางตา จักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิต เกิดสืบต่อ ต่อจากนั้น ภวังคจิตคั่นหลายวาระกว่าจะถึงทางหู เพราะฉะนั้น จะแยกอย่างไรในความเร็วอย่างนี้
และเวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นสติระลึกลักษณะสภาพของอารมณ์ที่กำลังปรากฏจึงรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมที่เป็นนามธรรมว่า ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม ซึ่งในขณะนั้นต้องมีปัญจทวารวิถีแต่ละทวารที่กำลังเกิดขึ้นรู้รูปแต่ละรูป ที่ทำให้มโนทวารวิถีจิตซึ่งเกิดสลับรู้ชัดในอารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ด้วยทางปัญจทวาร เมื่อเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ปัญญานั้นอยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้ลักษณะของรูปปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และเกิดสลับสืบต่อกันอย่างเร็วจนกระทั่งแยกไม่ออกเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าอย่างไร
ถ. เพราะว่าทางมโนทวารและทางปัญจทวารเกิดดับสลับกันเร็วมาก และมหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ทั้ง ๒ ทวาร
สุ. ทั้ง ๖ ทวาร
ถ. แต่มโนทวาร การเจริญสติปัฏฐานเท่าที่ผมมีความเข้าใจ คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏก็ระลึกที่สภาพธรรมนั้น ซึ่งการที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกจะปราศจากวิถีจิตทางปัญจทวารไม่ได้ ข้อนี้ผมเข้าใจที่ท่านอาจารย์อธิบาย
แต่ปัญหาที่ผมเรียนถาม คือ ขณะที่สติเกิด ขณะนั้นสติเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต และสติที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ต้องขณะที่เป็นชวนะ อยากทราบเท่านั้นเองว่า ขณะที่สติเกิด ในขณะนั้นจิตที่เกิดเป็นประธานให้สติเกิด ร่วมด้วยและรู้รูปารมณ์ ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ชวนะขณะนั้นน่าจะเป็นทางไหน
สุ. มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต เกิดดับสลับกันอย่างเร็วจนกระทั่งแยกไม่ได้ เหมือนขณะนี้ ทางตากับทางหูเหมือนกับไม่มีอะไรคั่นเลย และจะถามว่าเป็นทางไหน ในเมื่อเพียงทางตาทางเดียวที่จักขุทวารวิถีจิตดับลงไปภวังคจิตก็หลายขณะ มโนทวารวิถีจิตก็หลายวาระ รวมทั้งภวังค์คั่นด้วย ใช่ไหม ก็คิดดูตามความเป็นจริงว่า เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็ ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ความชัดเจนนั้นต้องเป็นทางมโนทวารแน่นอน เพราะว่ารู้ลักษณะที่ต่างกันของทั้งนามธรรมและรูปธรรม
และในขณะที่รูปหนึ่งรูปใดปรากฏ มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ทางทวาร นั้นๆ ที่รูปปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ แต่เป็นมหากุศลและญาณสัมปยุตต์ด้วย และเมื่อเป็นทางปัญจทวาร ก็รู้ได้แต่เฉพาะรูปทางทวารนั้นๆ ในขณะที่เป็นปัญจทวารวิถีทวารหนึ่งทวารใด แต่สำหรับทางมโนทวารวิถี สามารถ รู้ได้ทั้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ถ. ถ้าไม่พูดถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม พูดแค่เรื่องการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้นว่า จริงๆ ชวนจิตทางปัญจทวารเป็นมหากุศลได้ทั้ง ๘ ดวง สติจึง เกิดได้ ซึ่งสติเจตสิกก็ต้องเกิดร่วมกับโสภณจิต
สุ. ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าวิปัสสนาญาณกำลังเกิด ใช่ไหม จะกล่าวว่าวิปัสสนาญาณเกิดโดยไม่มีสติปัฏฐานหรือไม่เป็นสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติยังไม่มีกำลัง เพียงระลึกลักษณะของนามธรรมนิดหน่อยบางนาม รู้ลักษณะของรูปธรรมบ้างบางรูป ในขณะที่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ สติย่อมมีกำลังมากกว่าขณะที่กำลังเกิดบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ใช่ไหม ซึ่งปัญญา ในขณะนั้นรู้ชัด แม้วิถีจิตทางปัญจทวารในขณะนั้น รูปปรากฏ ก็รู้ชัดในรูปมากกว่า ในขณะที่สีปรากฏ เสียงปรากฏ และจิตเป็นโลภะบ้าง หรือโทสะบ้าง หรือโมหะบ้าง หรือว่าสติปัฏฐานเพิ่งจะเกิด นี่เป็นความต่างกันของความชัดเจนของวิปัสสนาญาณกับขณะที่สติเพิ่งจะเริ่มอบรม
และจะมีความประณีต หรือความละเอียด หรือความชัดเจนขึ้นเป็นขั้นๆ ตามลำดับของญาณด้วย แต่จะแยกปัญจทวารวิถีออกจากมโนทวารวิถีให้ห่างกันไกลมากและให้เป็นแต่ละขณะไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ หมายความว่า สติและปัญญาต้องมีกำลังตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณนั้นๆ เพียงแต่ว่าทาง ปัญจทวารวิถีไม่สามารถมีนามธรรมเป็นอารมณ์ แต่เมื่อมโนทวารวิถีสามารถประจักษ์แจ้งชัดเจนในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏกับปัญจทวารวิถีก็ต้องชัดเจนด้วย
ถ. ขอบพระคุณ
สุ. เรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็มีทั้งจิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าพระธรรมจะทรงแสดงไว้โดยละเอียดถึงลักษณะของจิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปประเภทต่างๆ แต่การที่จะรู้จริงๆ ว่า จิตแต่ละลักษณะ แต่ละประเภท หรือว่าเจตสิกนั้นๆ รูปนั้นๆ มีลักษณะอย่างไร ต้องในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
ขอกล่าวถึงความยากในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น ความรู้สึก ซึ่ง ทุกคนมี และก็ถือความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้ามีความทุกข์สักนิดหนึ่งเกิดขึ้น เดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงได้ ใช่ไหม เพียงความรู้สึกไม่สบายกาย เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่กายวิญญาณอกุศลวิบากจิตเกิด ก็เดือดร้อนมาก หารู้ไม่ว่าเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นที่เป็นทุกข์ทางกาย ส่วนความเดือดร้อนกระวนกระวายทั้งหมดเป็นเรื่องของความทุกข์ทางใจ ไม่ใช่ทางกาย
เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ถึงแม้จะทรงแสดงไว้ว่า มีลักษณะ ๕ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ แต่ก็ยากที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมจิตและดับพร้อมจิต สลับกันอย่างรวดเร็ว
สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาสัมมสนญาณนิทเทส แสดงความหยาบและความละเอียดของเวทนา ด้วยสามารถแห่งชาติ สภาวะ บุคคล โลกียะ และโลกุตตระ
นี่คือเวทนาในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นบุคคลใด
ที่ท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ โดยนัยมีอาทิว่า เวทนาเป็นอกุศลหยาบ เวทนาเป็นกุศลและอัพยากตะละเอียด
ทุกคนมีจิตเจตสิกซึ่งเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง และการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก จะต้องรู้ว่า ความรู้สึกขณะจิตใดสามารถรู้ได้ ง่ายกว่าขณะจิตอื่น และถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของความรู้สึก เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะว่าปัญญาต้องละความยึดมั่นในขันธ์ ๕ คือ ทั้งในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์
ในเมื่อความรู้สึกมีจริง แต่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ความจริงของความรู้สึก จะให้ละคลายการยึดถือความรู้สึกว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ควรทราบว่า ขณะที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของเวทนา เวทนาประเภทไหนหยาบพอที่จะระลึกได้มากกว่าเวทนาที่ละเอียด
โดยชาติ ซึ่งมี ๔ คือ อกุศล ๑ กุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ เวทนาเป็นอกุศลหยาบ เวทนาเป็นกุศลและอัพยากตะ คือ วิบากและกิริยา ละเอียด
ข้อความต่อไปมีว่า
เวทนาที่เป็นอกุศล เป็นไปเพื่อความไม่สงบ เพราะเป็นกิริยาเหตุอันมีโทษ และเพราะกิเลสทำให้เดือดร้อน เพราะเหตุนั้นจึงเป็นเวทนาหยาบกว่าเวทนาที่เป็นกุศล
เวทนาที่เป็นอกุศล เป็นเวทนาหยาบกว่าวิบากและกิริยา เพราะมีความขวนขวาย มีความอุตสาหะ มีวิบาก โดยกิเลสทำให้เดือดร้อนและโดยมีโทษ
ขณะนี้มีเวทนา พิจารณายากไหม ความรู้สึก ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน ตอบได้ ขณะนี้รู้สึกอย่างไร ดีใจ หรือว่าเฉยๆ แต่เวลาสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก ยากแล้ว ใช่ไหม ความรู้สึกในขณะนี้เป็นอะไร เกือบจะตอบไม่ได้ เพราะเหตุใด
ขณะที่กำลังเห็น ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณที่เห็น แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้ยากเพราะเป็นสภาพที่ละเอียด เพราะเป็นวิบาก แต่ในขณะใดที่เวทนาเป็นอกุศล จะรู้ง่าย ใช่ไหม กำลังดีใจ ตื่นเต้น ปีติ โสมนัส เป็นสุข สติยังพอที่จะระลึกได้ว่า สภาพความรู้สึกขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง พอที่จะเห็นได้ พอที่จะระลึกได้ แต่ทางตาที่กำลังเห็นและเป็นอุเบกขาเวทนา ทางหูที่กำลังได้ยินเป็น อุเบกขาเวทนา ขณะที่กำลังได้กลิ่นเป็นอุเบกขาเวทนา ยากไหม ถ้าเป็นกลิ่นที่ ไม่น่าปรารถนา กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ กลิ่นเหม็น กลิ่นขยะ กลิ่นน้ำเน่า ในขณะนั้นพอที่จะรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ในขณะที่กำลังได้กลิ่นไหม หรือเป็นความรู้สึกเดือดร้อนมาก ทนไม่ได้ บางท่านถึงกับแสดงกิริยาอาการป้องกันไม่ให้กลิ่นนั้นปรากฏหรือกระทบกับฆานปสาท อาจจะอุดจมูก หรือทำอะไรก็แล้วแต่
แสดงให้เห็นว่า เวทนาที่เป็นอกุศลหยาบกว่าเวทนาที่เป็นวิบากและกิริยา อย่างไรก็ตาม สติจะต้องระลึกลักษณะของความรู้สึก แต่ไม่ใช่บังคับว่า วันนี้ควร หรือวันนี้ต้องระลึกลักษณะของเวทนา แล้วแต่สติจะเกิดขณะใด เพราะสติเป็นอนัตตา สติมีกิจระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วแต่สติจะระลึกลักษณะของรูปหรือนาม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ จะระลึกลักษณะของความรู้สึก หรือจะระลึกลักษณะของสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินก็แล้วแต่ แต่แสดงให้เห็นว่า การที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาต้องเจริญ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าสามารถดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลได้โดยไม่รู้ลักษณะ ของขันธ์ ๕
เพราะฉะนั้น จะเหลืออีกเท่าไรที่ปัญญาจะต้องเจริญ ก็แล้วแต่ปัญญาของ แต่ละบุคคลที่สะสมมามากน้อยต่างกันว่า จะต้องอบรมเจริญระลึกรู้ลักษณะของ ขันธ์ใด ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สำหรับเวทนาที่หยาบด้วยสามารถของสภาวะ คือ ทุกขเวทนาหยาบกว่าอุเบกขาเวทนาและสุขเวทนา
ใช่ไหม วันนี้ไม่รู้เลยว่า เวทนาเป็นอุเบกขาหรือเป็นสุขเวทนาทางกาย แต่เวลาที่ทุกขเวทนาทางกายเกิดเมื่อไร รู้ทันที เจ็บสักนิดหนึ่ง คันสักนิดหนึ่ง ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน พวกนี้เป็นทุกขเวทนา ซึ่งโดยสภาวะแล้วหยาบกว่าอุเบกขาเวทนาและสุขเวทนา เพราะไม่มีความพอใจ มีแต่ความเดือดร้อนและครอบงำด้วย
สุข ทุกข์ ๒ อย่าง เป็นเวทนาหยาบกว่าอทุกขมสุข ทั้งสุขและทุกข์หยาบกว่า อทุกขมสุข คือ อุเบกขาเวทนา โดยความควรแก่ความเดือดร้อน โดยทำความกำเริบ และโดยปรากฏ
สำหรับอกุศลจิตด้วยกัน เวทนาที่เกิดกับโทสมูลจิตหยาบกว่าเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต
จริงไหม เวลาที่โทสมูลจิตเกิด รู้เลยว่าหยาบกระด้าง ความรู้สึกในขณะนั้นหยาบมาก
ผู้ฟัง ผมคิดว่า เวทนาสำคัญมาก ฟังอาจารย์พูดเรื่องเวทนา ก็ฟังมานานแล้ว แต่สติไม่ค่อยได้ระลึกที่เวทนาเท่าไร เวทนาเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดอยู่ทุกเวลาแต่ไม่ค่อยรู้ เมื่ออาจารย์อธิบายว่า มีความละเอียดและหยาบแตกต่างกัน ถ้าเป็นทุกขเวทนาจะหยาบและรู้สึกง่าย เป็นการเตือนสติจริงๆ เหมือนได้มองหน้าและได้เห็นหน้าของเวทนาชัดขึ้นหลังจากที่ได้ฟังแล้ว ขอบคุณ
สุ. ข้อความในพระไตรปิฎก ในสูตรหนึ่งมีว่า ในพรรษาหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาเฉพาะเวทนาอย่างเดียวตลอด ๓ เดือน เพราะฉะนั้น เวทนา ความรู้สึก เป็นสภาพที่น่าพิจารณา และถ้ายิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นความวิจิตร หรือความต่างกันของความรู้สึกแต่ละอย่างแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาจริงๆ มิฉะนั้นไม่สามารถรู้ความต่างกันของลักษณะของเวทนาได้
ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า
เวทนาเป็นกามาวจร สำเร็จด้วยทานหยาบ สำเร็จด้วยศีลละเอียด แม้สำเร็จด้วยศีลก็หยาบ สำเร็จด้วยภาวนาละเอียด แม้สำเร็จด้วยภาวนาเป็น ทุเหตุกะ (คือ มีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๒ เหตุ) ก็หยาบกว่าเวทนาที่เป็นติเหตุกะ (คือ มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย) แม้เป็นติเหตุกะ เป็น สสังขาริกะก็หยาบ เป็นอสังขาริกะละเอียด
เป็นความละเอียดของเวทนาซึ่งเกิดร่วมกับจิต จิตยากที่จะรู้ เวทนาที่เกิดดับไปพร้อมกับจิตก็ยากที่จะรู้ด้วย
ท่านที่อาจจะยังไม่เคยพิจารณาลักษณะของเวทนาความรู้สึกเลย แต่เมื่อ ทราบว่าจะต้องระลึก ก็อาจจะทำให้เกิดระลึกขึ้นได้บ้าง แต่ต้องตรงลักษณะของความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม เช่น ในขณะที่กำลังเห็น แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ จะรู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไรได้ไหมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็รู้ไม่ได้ เพราะเคยรู้ว่าเวทนาเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา ก็ถือว่าเป็นเรา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560