แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523


    ครั้งที่ ๑๕๒๓


    สาระสำคัญ

    ชีวิตเป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้น (เห็น ได้ยิน... และคิด)

    ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึก (ปัญญาละความรู้สึกนั้นๆ ว่า เป็นเรา)

    จิตที่เป็นเหตุและจิตที่เป็นผล

    จำแนกจิตโดยวิญญาณธาตุ ๗


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๙


    บางท่านอาจจะคิดถึงเรื่องเก่าๆ ในอดีต อาจจะมีการกระทำที่ทำให้รู้สึกโทมนัสเกิดขึ้นว่า ไม่ควรเป็นอย่างนั้นเลย ในขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิดก็รู้ว่า เป็นเพียง ชั่วขณะที่จิตกำลังคิดเท่านั้นและก็ดับ

    ถ้าระลึกได้จริงๆ และสามารถรู้ได้อย่างนั้นจริงๆ ก็จะรู้ความต่างกันของเวทนาในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิดกับในขณะที่สติปัฏฐานเกิด เพราะว่าในขณะที่ สติปัฏฐานไม่เกิดก็เป็นความโทมนัส ความเสียใจ เศร้าใจต่างๆ แต่เมื่อสติเกิด ระลึกได้ ในขณะนั้นถ้ารู้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะเดียวที่คิดในสังสารวัฏฏ์ และก็คิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งก็เป็นเพียงจิตขณะที่คิดเท่านั้น ถ้าจิตขณะนั้นไม่คิดเรื่องนั้นความโทมนัสนั้นก็ไม่เกิด ถ้ารู้อย่างนี้ว่าไม่ใช่ตัวตนในขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นเวทนา ก็เปลี่ยนแล้ว ใช่ไหม จากความโทมนัสเป็นความผ่องแผ้วที่เป็นกุศลได้ เพราะว่าเวทนาที่เป็นอกุศลต่างกับเวทนาที่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทำให้ละทุกข์ได้ ในขณะที่ปัญญาเกิดสามารถรู้ ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

    ถ. ถ้าเป็นพระอริยบุคคล หรือพระอรหันต์ สามารถระลึกรู้สภาพจิต ตามเท่าทันทุกขณะจิตที่เกิดขึ้นไหม

    สุ. ไม่จำเป็น เพราะว่าพระอริยบุคคลมีตั้งแต่ที่เป็นเอตทัคคะในทางต่างๆ อย่างท่านพระสารีบุตร นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีปัญญาสูงที่สุดแล้วรองลงมาคือท่านพระสารีบุตร เพราะฉะนั้น พระอริยะองค์อื่นๆ ต้องมีปัญญา ไม่เท่ากับพระอริยะซึ่งเป็นอัครสาวก หรือเป็นมหาสาวก

    ถ. ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ ขณะที่สติระลึกรู้ได้ว่า การนึกคิดอย่างนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และจะเกิดการผ่องแผ้วขึ้น แต่ผมคิดว่า ถ้าเรามัวระลึกรู้อย่างนี้ สภาพธรรมอื่นๆ หรือลักษณะของจิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ขณะนั้นเราละเลยไปหรือเปล่า

    สุ. เวลาที่จิตผ่องแผ้ว หรือความรู้สึกสบายขึ้น ก็รู้ว่าต่างกับขณะที่เป็นอกุศล นี่ด้วยอะไร ถ้าขณะนั้นสติไม่ระลึก จะรู้ความต่างกันไหม

    ถ. ไม่ทราบ

    สุ. เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็เกิดต่อ โดยการที่ว่า ขณะแรก คือ ตอนต้นก็ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้โทมนัส เสียใจ เพราะนึกคิดขึ้นมา แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงชั่วขณะที่คิดเรื่องนั้นเท่านั้น ถ้าไม่คิดเรื่องนั้นโทมนัสก็ไม่เกิด เมื่อรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงจิตที่เกิดคิดเรื่องนั้นขึ้น ที่รู้อย่างนั้นเป็นปัญญาหรือเปล่า และเมื่อเป็นปัญญาแล้ว ก็ยังสังเกตรู้ลักษณะของความรู้สึกว่า ความรู้สึกของขณะที่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ต่างกับขณะที่เป็นอกุศลที่กำลังโทมนัส

    นี่ก็ไม่ได้ไปที่อื่น ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏสืบต่อกัน ในขณะนั้นเอง

    ถ. ที่อาจารย์พูดว่า ขณะนั้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังได้กลิ่นไหม ยังพอใจไหม และขณะนั้นเป็นอุเบกขาหรือเปล่า ผมยังข้องใจตอนนี้ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    สุ. ขณะนี้มีอุเบกขาเวทนาแน่ๆ เพราะว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน จักขุวิญญาณเกิดกับอุเบกขา โสตวิญญาณเกิดกับอุเบกขา แต่หลังจากที่อเหตุกจิตเหล่านี้ดับไปแล้ว กุศลจิตเกิด จะเป็นอุเบกขาหรือจะเป็นโสมนัสก็ได้ หรือถ้าอกุศลจิตเกิดก็มีทั้งอุเบกขาก็ได้ หรือโสมนัสก็ได้ หรือโทมนัสก็ได้

    เพราะฉะนั้น จะรู้ได้จริงๆ เมื่อสติกำลังระลึกลักษณะของความรู้สึก ไม่ใช่เพียงพูดเรื่องความรู้สึก แต่ที่พูดเรื่องความรู้สึกให้ทราบว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกจนกว่าปัญญาจะละความรู้สึกนั้นๆ ว่าเป็นเราที่กำลังดีใจ ที่กำลังเสียใจ ที่กำลังเฉยๆ

    เพราะฉะนั้น มีจิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีสภาพความรู้สึก คือ เวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งก็ดับไปแล้วอย่างรวดเร็วถ้าสติไม่ระลึก

    สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าจะระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือระลึกลักษณะของรูปธรรม

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ต้องเป็นสติพละจึงสามารถระลึกติดตามได้ตลอดเวลา

    สุ. ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ

    ถ. เคยได้ยินว่า กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล สงสัยว่า อกุศลจิตเป็นเหตุ หรือเป็นผล

    สุ. อกุศลเป็นเหตุ อกุศลวิบากเป็นผล หรืออกุศลจิตขณะนี้เป็นเหตุ คือ เป็นปัจจัย โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยสะสมสืบต่อทำให้อกุศลขณะต่อไปข้างหน้าเกิดขึ้น เช่น ถ้ามีโลภะชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด อยากจะเห็นสิ่งนั้นอีก ยังไม่เลิก ยังไม่ละ ยังไม่ ทิ้งไป เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดโลภะในรูปทางตา จะสะสมสืบต่อไปที่จะให้โลภะ เกิดอีกในขณะที่เห็นรูปทางตา หรือว่าสะสมโทสะก็ได้ สะสมอิสสา สะสมมัจฉริยะ ความตระหนี่ สะสมความสำคัญตน ได้ทุกอย่าง โดยอุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เพราะว่าเกิดดับสะสมบ่อยๆ

    ถ. ผมมักจะแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เช่น มาฟังธรรมที่นี่ เป็นการทำบุญ หรือที่เราได้มาฟังธรรมเพราะเราได้ทำบุญไว้แล้ว การมาฟังเป็นเหตุ หรือเรากำลังรับผลที่เคยทำบุญมาก่อนๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเรียนเรื่องชาติของจิตโดยละเอียดว่า จิตขณะไหนเป็นวิบาก จิตขณะไหนเป็นกิริยา จิตขณะไหนเป็นกุศล จิตขณะไหนเป็นอกุศล ไม่อย่างนั้นแยกไม่ออก เพราะว่าแต่ละวาระก็เกิดดับสลับซับซ้อนกันเร็วมาก จนกระทั่งเหมือนกับเห็นด้วย ได้ยินด้วย แต่ความจริงแล้ว วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์หลายวาระโดยมีภวังค์คั่นแต่ละวาระ ซึ่งวาระหนึ่งๆ ก็มีวิถีจิตหลายประเภทที่รู้อารมณ์เดียวกัน

    ถ. บางทีมีเรื่องส่วนตัวทำให้เดือดร้อนใจ เดือดร้อนก็เป็นโทสมูลจิต เป็นอกุศล ดูเหมือนว่าเรื่องทำนองนี้เป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นบาป แต่คิดว่าเรื่องของความเดือดร้อนน่าจะเป็นผลของบาปที่เกิดจากอกุศลกรรมที่เคยทำไว้แล้ว

    สุ. ถ้าเป็นผลของกรรม วิบากจิต ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ตทาลัมพนจิต นอกจากนี้ไม่ใช่วิบาก นี่เป็นเหตุที่จะต้องรู้ว่า ในวาระหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่วิบากจิต เพราะเมื่อถึงชวนะ เป็นเหตุแล้ว

    ถ. ถ้าอย่างนั้น เวลาเกิดโกรธขึ้นมา ขัดเคืองใจ หรือมีเรื่องเดือดร้อนใจ นี่ไม่ใช่เป็นผลของกรรม

    สุ. ไม่ใช่เป็นผลของกรรม แต่เป็นผลของการสะสมโทสะในอดีตที่ยัง ไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น โทสะเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ได้จบหรือหมดไปเพียงเท่านั้น ยังสะสมสืบต่อทำให้โทสมูลจิตเกิดข้างหน้าอีก

    เพราะฉะนั้น อกุศลใดๆ ที่ยังไม่ดับ อกุศลนั้นๆ แม้ไม่เกิดขึ้นก็เป็นอนุสัยกิเลส คือ ตามนอนเนื่องสืบต่ออยู่ในจิต จนกว่าจะมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด อกุศลประเภทนั้นก็เกิด

    ขณะใดที่โลภะเกิด รู้ได้เลยว่ายังไม่ได้ดับโลภะเป็นสมุจเฉท จึงมีเหตุปัจจัย ทำให้โลภะเกิดในขณะนี้ และโลภะไม่ใช่วิบาก ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ใช่ผลของอกุศลจิต ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่มีเจตนาทำทุจริตกรรม

    ถ้ารับประทานอร่อย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่อกุศลกรรม แต่เป็นอกุศลจิต ผลของโลภมูลจิตในขณะนั้น คือ ทำให้โลภมูลจิตเกิดต่อไปข้างหน้าอีก สะสมเพิ่มขึ้นอีก

    เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดเดือดร้อน ลำบาก กระวนกระวาย กระสับกระส่าย ให้ทราบว่าในขณะนั้นจักขุวิญญาณเป็นอะไร เป็นอกุศลวิบากหรือเปล่า หรือแม้ว่า เห็นสิ่งต่างๆ ที่น่ารื่นรมย์ น่าพอใจ แต่ใจเศร้าหมองเดือดร้อน ขณะนั้นก็แยกได้ว่า ขณะเห็น จักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลจึงเห็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่ขณะที่ใจกำลังเดือดร้อนกระสับกระส่าย ขณะนั้นไม่ใช่วิบาก

    วิบากต้องเฉพาะจักขุวิญญาณ ขณะเห็น ถ้าเป็นจักขุทวารวิถีก็ทั้ง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ และตทาลัมพนะเป็นวิบาก นอกจากนั้นไม่ใช่วิบาก

    ถ. ในขณะที่เป็นวิบาก ยังไม่เป็นกุศลและอกุศล

    สุ. ถูกต้อง คือ จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นกุศล จะเป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาไม่ได้ ถ้าจิตเป็นกิริยา ก็จะเป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นอกุศลไม่ได้

    ถ. อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่าง เวทนาที่เป็นอุเบกขาที่พระพุทธเจ้าท่านพิจารณาตลอด ๓ เดือนในพรรษา

    สุ. ทรงพิจารณาเวทนาที่ปรากฏกับพระองค์ในขณะนั้น เวทนามีมาก และทรงแสดงไว้โดยตลอด แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะมีเวทนาประเภทใด ซึ่งก็น่าพิจารณาจริงๆ คือ ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่า สภาพความรู้สึกเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าประสบกับอารมณ์ที่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยทำให้โสมนัสเวทนาเกิด ถ้าประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยให้โทมนัสเวทนาเกิด

    วันหนึ่งๆ ทุกคนก็มีโทมนัสเวทนาพอสมควร เพราะว่าทางตาที่กำลังเห็น ในภูมิมนุษย์ ถ้าเป็นสิ่งที่น่ายินดีพอใจ ขณะนั้นจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก แต่เวลาที่คิดเรื่องอะไรที่กลุ้มใจ เดือดร้อน ขณะนั้นเป็นโทมนัสเวทนา แสดงให้เห็นว่า ถ้าปัญญาเกิดจริงๆ จะตัดได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เรารับผลของกรรมจริงๆ หรือเปล่า หรือเราเพียงแต่เป็นทุกข์เดือดร้อนโดยไม่ใช่ผลของกรรม เพราะถ้าเป็นผลของกรรมขณะใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะได้อารมณ์ที่ดีถ้าเป็น ผลของกุศลกรรม และจะได้อารมณ์ที่ไม่ดีถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อย่างทางกาย ถ้าไม่ป่วย ไม่เจ็บ ไม่ใช่อกุศลวิบาก แต่ทำไมเดือดร้อน ทำไมกลุ้มใจ แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรจะกลุ้มใจ ในเมื่อยังไม่ได้รับผลของกรรมจริงๆ ทางกาย

    ถ้าใครอยู่บ้าน เมื่อวานนี้เป็นสุข แต่วันนี้เป็นทุกข์ บ้านก็คือบ้านเก่า และจักขุวิญญาณก็เกิดเห็นสิ่งต่างๆ ในบ้าน ซึ่งอาจจะเป็นดอกไม้สวยๆ หรืออาจจะ เป็นอะไรก็ได้ตามปกติ แต่ทำไมใจเป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า วิบากเหมือนเดิม คือ ถ้าเป็นกุศลวิบากทางตา ก็เห็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่เวลาที่ใจเดือดร้อนและระลึกขึ้นมาได้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่การรับผลของกรรม เป็นแต่เพียงกิเลสของเราเองที่ทำให้จิตใจกระสับกระส่ายกระวนกระวายเดือดร้อน ก็จะบรรเทาได้ว่า นี่ยังไม่ใช่การรับผลของกรรมจริงๆ เพราะถ้ารับผลของกรรมจริงๆ ต้องเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ได้ยินเสียงที่ไม่ดีทางหู ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสที่ ไม่ดี และกายเป็นทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าร่างกายยังแข็งแรงดี ก็ไม่ควรที่จะกลุ้มใจอะไร

    คอยรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ และ กันเรื่องวิตกกังวลเดือดร้อนออกไป เพราะว่าในขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม

    จะกลุ้มใจ หรือไม่กลุ้มใจ วิบากจิตชนิดไหนจะเกิด ก็ต้องเกิดตามควรแก่กาลของวิบากนั้นๆ

    ถ. ทางมโนทวาร เป็นวิบากไหม

    สุ. ทางมโนทวาร วิถีจิตเริ่มตั้งแต่มโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เป็นกิริยาจิต หลังจากนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลซึ่งไม่ใช่วิบาก และเมื่อเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน กุศลหรืออกุศล ๗ ชวนะวิถีนั้นดับไปแล้ว ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากก็เกิด

    ถ. ถ้าอย่างนั้น ทางมโนกรรมที่เกิดกุศลหรืออกุศล ก็เป็นการสะสมสืบต่อสำหรับตัวเราเอง ใช่ไหม

    สุ. กุศล อกุศล เป็นการสั่งสมสันดาน

    ถ. ไม่ได้หมายความว่า เป็นวิบากที่จะได้รับต่อไปหรือ

    สุ. ถ้าไม่ใช่อกุศลกรรม ก็ไม่ทำให้เกิดอกุศลวิบาก ต้องแยกจิตเป็น อกุศลจิตและอกุศลกรรม ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถ ถึงความเป็นกรรมบถ เป็นกรรมที่ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ แต่ถ้าเป็นเพียงอกุศลจิต ไม่ได้ทำอกุศลกรรม ผลของอกุศลจิตนั้นจะสะสมสืบต่อทำให้อกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดอีก มีเชื้อมีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยๆ ถ้าสะสมกุศลจิตทางหนึ่งทางใด ก็เป็นการสะสมสืบต่อที่จะให้กุศลประเภทนั้นๆ เกิดอีก

    ถ. ผมเคยเข้าใจว่า ที่สืบต่อก็เป็นวิบากเหมือนกัน เพิ่งมาเข้าใจเดี๋ยวนี้เอง

    สุ. ต้องรู้เรื่องชาติของจิตโดยละเอียดจริงๆ

    ถ. ความวิตกกังวล ความเดือดร้อนใจ ไม่ใช่เป็นผลของกรรม ความเดือดร้อน ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเพราะอะไร

    สุ. เพราะกิเลส พระอรหันต์ท่านไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าท่านจะอยู่ในป่า อากาศจะหนาว จะเย็น จะร้อนอย่างไรก็ตามแต่ เพราะท่านรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงโผฏฐัพพะที่กระทบกาย หรือสิ่งใดๆ ที่จะกระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น สำหรับพระอรหันต์ไม่เดือดร้อน เพราะว่าท่านหมดกิเลส เมื่อดับกิเลสหมดแล้วก็ไม่มีเรื่องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครกลุ้มใจขณะไหน ให้ทราบว่า เป็นการสะสมความกลุ้มใจ ประเภทนั้นๆ กลุ้มใจด้วยโลภะก็มี กลุ้มใจด้วยโทสะก็มี แล้วแต่ว่าจะเป็นความกระวนกระวายเดือดร้อนด้วยอกุศลประเภทใด กลุ้มใจด้วยมานะก็มี กลุ้มใจด้วยอิสสาก็มี กลุ้มใจด้วยมัจฉริยะก็มี เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น ถ้าเห็นกิเลสแล้ว ก็น่ากลัว กลุ้มใจมากๆ เมื่อไร รู้ได้เลยว่าปัญญาไม่ได้ละคลายความกลุ้มใจนั้น เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    ถ้ากลุ้มใจและสติเกิด จะรู้ว่าต่างกับกลุ้มใจและสติไม่เกิด ซึ่งสติปัฏฐานเกิดได้แน่นอน และจะบรรเทาความกลุ้มใจในขณะนั้นด้วย เพราะขณะที่ปัญญาเกิดย่อม รู้ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเพียงชั่วขณะเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าความกลุ้มใจนั้นจะตั้งอยู่ได้นานๆ ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คนละขณะกับขณะที่กลุ้มใจ เพราะฉะนั้น ถ้าใส่ใจ ศึกษา พิจารณาขณะที่กำลังเห็น จะทำให้ไม่กลุ้มใจในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น วิบากจริงๆ ที่ทุกคนจะเดือดร้อน ก็เฉพาะกายวิญญาณที่เป็นทุกขสหคตังเท่านั้น เมื่อไรกายป่วยไข้ เป็นทุกข์ เจ็บปวด เมื่อนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้รับทางกายที่ทำให้ทุกขเวทนาเกิด แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่ได้รับทางตา เห็นสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ก็น่าจะทนได้ ไม่ควรจะเดือดร้อน

    ถ้าสุขภาพสมบูรณ์ดี ควรที่จะรู้ว่า ขณะนั้นยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม ทางกาย และจะเดือดร้อนทำไม เพราะว่าความวิตกกังวลทั้งหมด เป็นอกุศลจิต

    เรื่องของอโสภณจิต ๓๐ ดวง เมื่อกามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวงและเป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นปกติประจำวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของจิต ๓๐ ดวงนี้ ก็เหลือไม่มากสำหรับจิตที่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    และสำหรับบางท่านที่ใคร่ครวญพิจารณาธรรม ที่ควรจะได้ศึกษาโดยละเอียด คือ รู้ว่าจิตประเภทไหนเกิดได้กี่ทวาร และรู้ได้กี่อารมณ์ เช่น จักขุวิญญาณ เกิดทวารเดียว คือ ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร เป็นทางที่จะให้เห็นรูปารมณ์ เท่านั้น ทำกิจอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นวิญญาณธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียว

    โสตวิญญาณก็โดยนัยเดียวกัน คือ รู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียว ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ รู้ได้เฉพาะอารมณ์ของตนเพียงอารมณ์เดียว ทวารเดียว แต่สัมปฏิจฉันนจิตก็ดี ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ดี แม้ว่าเป็นจิตต่างชาติกัน แต่ก็รู้อารมณ์ได้เท่ากัน คือ สามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทางทวารทั้ง ๕ เพราะฉะนั้น จึงเป็นมโนธาตุ ไม่ใช่วิญญาณธาตุอย่างจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564