แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
ครั้งที่ ๑๕๒๕
สาระสำคัญ
จดหมายพระคุณเจ้า จากวัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี, ไม่ต้องแสวงหาธรรมที่ไหน (มีสิ่งที่กำลังปรากฏ รอให้ปัญญารู้แจ้งชัด) , สติสามารถระลึกอกุศลธรรม, ขุ. เถรคาถา - ใครหนอในโลกเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๙
ถ. สำหรับผู้ที่เจริญฌานจิต เช่น รูปฌาน ต้องมีกสิณเป็นอารมณ์ และเพ่งกสิณต่างๆ เวลาที่หลับตาแล้วเห็นภาพกสิณเป็นรูป เช่น ปฐวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่หลับตาแล้วเห็นเป็นดวงกสิณ จะเป็นรูปได้ไหม
สุ. ไม่เป็น
ถ. เป็นความทรงจำหรือ
สุ. เป็นบัญญัติ เพราะว่าจำรูปนั้น มีสัญญาความจำในรูปนั้น
ถ. เป็นบัญญัติเกิดจากความทรงจำ
สุ. ที่ใช้คำว่า บัญญัติ เนื่องจากเป็นนิมิต ซึ่งต่างจากรูปที่ดูด้วยตา เพราะต้องมีความผ่องใส ทำให้จิตเกิดปีติโสมนัส ขณะนั้นไม่ได้มีการคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์
ถ. ในขณะที่ฝัน เราเห็นภาพคน เห็นสิ่งต่างๆ นั้น คงจะไม่ใช่รูป ใช่ไหม
สุ. ไม่ใช่รูปที่ปรากฏทางตา จะรู้ได้ว่าขณะนั้นกำลังคิดนึก
ถ. เป็นเรื่องเป็นราว ได้ยินเสียงด้วย
สุ. เพราะว่าในชีวิตประจำวันจริงๆ ทันทีที่เห็นคิดเป็นเรื่องหมด ฉันใด เวลาที่จำและเกิดฝันขึ้น เป็นเรื่องใช่ไหมในความฝัน ขณะนี้ไม่ได้ฝัน จะให้นึกเหมือนอย่างฝัน นึกได้ไหม ก็ไม่เหมือน ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ความฝัน คือ สัญญาความจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยเป็นเรื่อง และคิดถึงเรื่อง แต่ในขณะที่คิดนั้น ก็มีสัญญาความจำในสี ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ แล้วแต่ว่าจิตในขณะนั้นจะเกิดขึ้นคิดถึงเรื่องอะไร
ผู้ฟัง เรื่องรูป เรื่องนาม ที่อาจารย์ตอบคำถามของพระคุณเจ้า เป็นเรื่องยาก และลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาการเจริญสติปัฏฐาน ผมเองฟังอยู่เป็นปีๆ รูปนามทางใจก็ยังสงสัย กว่าจะทำความเข้าใจกับรูปนามทางใจได้ ต้อง ใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๕ – ๖ ปี เพราะฉะนั้น คำถามที่พระคุณเจ้าถามมา ผมว่า เป็นคำถามที่ดี และวันนี้อาจารย์ก็พูดชัดเจนขึ้นมาอีก ทำให้เพิ่มความเข้าใจขึ้น
รูปนามทางตา ฟังก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาคือรูป ที่เห็นคือนาม หู จมูก ลิ้น กาย ก็เข้าใจ แต่รูปนามทางใจ กว่าจะเข้าใจได้ตั้ง ๕ – ๖ ปี เพราะฉะนั้น ผมอยากจะฝากผู้ที่ศึกษาการเจริญสติปัฏฐานว่า ถ้ายังไม่เข้าใจควรจะถาม เพราะ รูปนามทางใจเป็นเรื่องยากมาก ผมเคยถามอาจารย์ในคำถามเดียวกันนี้ ๓ – ๔ ครั้ง ก็ยังไม่เข้าใจ แต่ได้จากการฟังเทปเป็นปีๆ เสริมไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเวลานี้คิดว่าพอจะเข้าใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า จะมีลึกกว่านั้นอีกหรือเปล่า ขอบพระคุณ
สุ. ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าที่ถามคำถามนี้ จะหมดข้อสงสัยในเรื่องของรูปทางใจที่จะพิจารณาหรือยัง เพราะว่าโดยมากอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องการปฏิบัติจาก หลายๆ ที่ หลายๆ แห่ง เพราะฉะนั้น อาจจะยังคงคิดว่า จะต้องเป็นรูปอื่นทางใจ แต่ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ตลอดเวลา ในขณะนี้ก็พิสูจน์ได้ มีรูปอะไร นอกจาก สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปารมณ์ และเสียงที่ปรากฏทางหูเป็นสัททารมณ์ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูกเป็นคันธารมณ์ รสที่ปรากฏทางลิ้นเป็นรสารมณ์ เย็นร้อนอ่อนแข็งที่ปรากฏที่กายเป็นโผฏฐัพพารมณ์ นอกจากนี้แล้วจะมีรูปอะไรอีกในวันหนึ่งๆ ที่ปรากฏ
ถ้าไม่มี ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ใช่ว่าการเจริญสติปัฏฐานต้องไปแสวงหา แต่สิ่งใด ที่เกิดและปรากฏ เมื่อสิ่งนั้นยังไม่ดับ เป็นโอกาสที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้ศึกษา ให้ค่อยๆ เพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น อย่างทางตา เป็นสิ่งให้พิสูจน์ได้ชัดเจนว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ รอที่จะให้ปัญญารู้แจ้งชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ถ. รูปทางใจ เข้าใจว่าความนึกคิดจะเป็นรูปทางใจ ใช่หรือเปล่า
สุ. ความนึกคิดไม่ใช่รูป เพราะว่าจิตคิด รูปคิดไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่คิด ไม่ใช่รูปคิด เพราะฉะนั้น ที่คิดนั้นไม่ใช่รูปแน่นอน
ถ. ที่บอกว่าเป็นธัมมารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิต ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
สุ. รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มี ๗ รูป เพราะฉะนั้น ๗ รูปนี้เป็นรูปหยาบจึงปรากฏ รูปละเอียดจะไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย นอกจากนั้นยังมีรูปที่จัดว่าหยาบอีก ๕ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ รวมรูปหยาบ ๑๒ รูป ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูป เป็นรูปละเอียด รู้ได้เฉพาะทางใจ
และในบรรดารูปหยาบ ๑๒ รูป ปสาทรูป ๕ ต้องรู้ได้ทางใจทางเดียว เพราะฉะนั้น ธัมมารมณ์ หมายความถึงอารมณ์ที่รู้ได้เฉพาะทางใจ ได้แก่ จิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป นิพพาน และบัญญัติ อารมณ์ ๖ อย่างนี้เป็นธัมมารมณ์ เพราะว่ารู้ได้เฉพาะทางใจ
ถ. ถ้าอย่างนั้น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็เป็นรูปที่รู้ได้ทางใจ
สุ. จักขุวิญญาณเป็นจิต เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น รูปที่รู้ทางใจ ได้แก่ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ รวมเป็น ๒๑ รูป และรูปที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป จึงรวมเป็น ๒๘ รูป
สำหรับนามธรรม คือ จิต รู้ได้เฉพาะทางใจ เจตสิก รู้ได้เฉพาะทางใจ นิพพาน ก็รู้ได้เฉพาะทางใจ ส่วนบัญญัติ ก็รู้ได้ทางใจ
ฉะนั้น ทุกคนรู้ว่ามีสุขุมรูป แต่เมื่อไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องรู้ อย่างชีวิตินทริยรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมทำให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิตในขณะที่รูปนั้นยังไม่ดับ ก็เป็นรูปที่ รู้ได้เฉพาะทางใจ เพราะว่าทางตาเห็นเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น หรือแม้แต่ อิตถีภาวรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวที่ทำให้ปรากฏอาการลักษณะของเพศหญิง ก็เป็นรูปที่ รู้ได้เฉพาะทางใจ เพราะว่าทางตาเห็นแต่เพียงสีสันต่างๆ เท่านั้น
หทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ขณะนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ
แต่ทางตาที่เห็น จักขุทวารวิถีดับแล้ว มโนทวารวิถีรู้ต่อทันที เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตรู้ได้ทุกอารมณ์ ไม่ใช่แต่เฉพาะธัมมารมณ์ แต่สำหรับธัมมารมณ์นั้น ต้องรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารวิถี ทวารเดียว
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องไม่ลืมว่า มโนทวารวิถีจิต รู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ ไม่เว้นเลย รู้รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ได้ รู้จิตได้ รู้เจตสิกได้ รู้นิพพานได้ รู้บัญญัติได้ รู้ปสาทรูปได้ รู้สุขุมรูปได้
แต่ธัมมารมณ์ รู้ได้เฉพาะมโนทวารวิถี ทวารเดียว
จักขุทวาริถีจะรู้จิต เจตสิก ปสาทรูป สุขุมรูป อะไรๆ เหล่านี้ไม่ได้เลย จักขุทวารวิถีจิตต้องมีรูปารมณ์เท่านั้นเป็นอารมณ์ มีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ และสำหรับโสตทวารวิถีจิต ก็ต้องมีเฉพาะเสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ มีสี มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ไม่ได้
นี่เป็นการกล่าวถึงชีวิตของแต่ละบุคคลในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง
ถ. สภาพธรรมที่เป็นอกุศล สติสามารถระลึกได้หรือเปล่า
สุ. ได้
ในวันหนึ่งๆ โดยวิถีจิตทราบว่า อกุศลเกิดมากกว่ากุศล และก็รู้เหตุด้วย ว่า อกุศลจิตหรือกุศลจิตจะต้องเกิด เมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะถ้าไม่มีอเหตุกจิตเหล่านี้ ก็ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และจะมีอกุศลเกิดได้ไหม หรือว่าจะมีกุศลเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า เพราะเห็น เพราะได้ยิน เพราะได้กลิ่น เพราะลิ้มรส เพราะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นปัจจัยให้กิเลสที่ยังไม่ได้ดับเกิดขึ้น เป็นอกุศลจิตประเภทต่างๆ ในวันหนึ่งๆ นี่มากมาย โดยคำพูดกล่าวว่ามาก แต่โดยการรู้จริงๆ ว่ามาก จะรู้ได้อย่างไร
โดยตำรารู้จริงๆ ว่า วันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมาก แต่ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า มากกว่าที่คิดหรือที่เข้าใจแค่ไหน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่า วันหนึ่งๆ นั้น อกุศลจิตเกิดมาก
ตามธรรมดา มีใครเคยคิดสำรวจตัวเองโดยละเอียดบ้างไหมว่า มีอกุศลธรรมอะไรบ้าง และแต่ละอย่างๆ ที่เป็นอกุศลธรรมนั้น อย่างไหนมากแค่ไหน และอย่างไหนน้อยกว่าอย่างอื่นบ้าง ซึ่งคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย
ทุกคนที่อยากรู้จักตัวเอง ต้องพิจารณาตัวเองตามความเป็นจริง และต้องเป็น ผู้ที่ตรงด้วย ถ้าใครเห็นแต่ความดีของตัวเอง หรือเห็นแต่กุศลที่ได้ทำแล้ว ชื่อว่าพิจารณายังไม่ละเอียด ถูกไหม เพราะถ้ารู้แต่ว่าได้ทำกุศลอะไรบ้าง มีกุศลมาก อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ลืมพิจารณาว่า อกุศลล่ะ มีพอๆ กับกุศล หรือมากกว่าเยอะแยะ และเป็นอกุศลประเภทใด และอกุศลนั้นๆ ร้ายแรงน่ารังเกียจ หรือไม่ดีสักแค่ไหน ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นอกจากตัวเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างละเอียด และเห็นอกุศลธรรม เห็นกิเลสของตนเอง จะเป็นประโยชน์ ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท และจะไม่คิดว่า ตัวเองดีพอแล้ว เพราะถ้าคิดว่าดีพอแล้ว กุศลกรรมก็ทำมากแล้ว จะทำให้ ไม่เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งความจริงแล้วถ้าเทียบกันระหว่างกุศลและอกุศล โดยสภาพของความเป็นปุถุชน กุศลมากเท่าไรก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นอกุศลของตนเองโดยละเอียดยิ่งขึ้นว่า มีอกุศลประเภทใดมาก
น่ารู้ไหม อกุศลของตนเอง ไม่ต้องให้คนอื่นรู้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นอกุศลของตนเอง และเห็นโทษของอกุศลธรรมนั้นๆ และขวนขวาย ที่จะดับอกุศลธรรมนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงรู้ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจ ไม่ใช่เพียงให้รู้ แต่เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นด้วย
ขุททกนิกาย เถรคาถา ข้อ ๓๘๗ ท่านพระเตลุกานิเถระได้กล่าวคาถา มีข้อความว่า
เรามีความเพียรค้นคิดธรรมอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ ...
ทุกคนเร่าร้อน และไม่สงบใจอยู่บ่อยๆ ใช่ไหม บางคนพากันไปแสวงหาว่า ทำอย่างไรจิตใจจะสงบ มีข้อปฏิบัติอะไรที่ทำให้สงบได้ แต่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง จริงๆ ว่า ความสงบจริงๆ นั้น จะมีได้เมื่อปัญญาเกิดขึ้นเข้าใจลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริงในเรื่องของกุศล ในเรื่องของอกุศล ในเรื่องของกรรม ในเรื่องของวิบาก แม้ในเรื่องของยุคสมัย เช่น กาลสมบัติหรือกาลวิบัติต่างๆ ซึ่ง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ ใครๆ ย่อม ไม่อาจสงบใจได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น แม้ท่านพระเตลุกานิเถระท่านก็ได้กล่าวว่า
เรามีความเพียรค้นคิดธรรมอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ จึงได้ถาม สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลกเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ใครเล่าเป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจักปฏิบัติธรรมของใครซึ่งเป็นเครื่องให้รู้แจ้งปรมัตถ์ เราเป็นผู้ มีความคด คือ กิเลสอันไปแล้วในภายใน เหมือนปลาที่กินเหยื่อฉะนั้น
ต้องเป็นผู้มีปัญญาถึงจะรู้ตัวว่า ขณะที่กำลังปรารถนารูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะต่างๆ ทุกขณะนั้นเหมือนปลาที่กินเหยื่อ แต่ถ้าไม่พิจารณา ย่อมกินเหยื่ออย่างเพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่พิจารณาธรรม ย่อมเห็นอวิชชาของตนเอง คือ เห็นความไม่รู้ของตนเองที่ทำให้ยังมีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทุกๆ วัน ก็เหมือนกับการกินเหยื่อทุกวัน ซึ่งจะทำให้เกิดทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ไม่สิ้นสุด
บางคนบอกว่า กินเหยื่อก็อ้วนพีดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปเรื่อยๆ ทุกขณะที่มีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ท่านพระเตลุกานิเถระกล่าวว่า
เราถูกผูกด้วยบ่วงใหญ่ คือ กิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูร ถูกผูกด้วยบ่วงของท้าวสักกะฉะนั้น เรากระชากบ่วงคือกิเลสนั้นไม่หลุด จึงไม่พ้นไปจากความโศกและความร่ำไร ใครในโลกจะช่วยเราผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้น ประกาศทาง เป็นเครื่องตรัสรู้ให้เรา เราจะรับสมณะหรือพราหมณ์คนไหนไว้เป็นผู้แสดงธรรมอันกำจัดกิเลสได้ จะปฏิบัติธรรมเครื่องนำไปปราศจากชราและมรณะของใคร
นี่คือผู้ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบจริงๆ ที่กล่าวว่า ใครในโลกจะช่วยเรา ผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้น ประกาศทาง เป็นเครื่องตรัสรู้ให้เรา
ไม่ใช่ต้องการให้บอกว่าปฏิบัติอย่างไร ให้นั่งอย่างไร ให้เดินอย่างไร ให้นอนอย่างไร แต่ต้องการผู้ที่ประกาศทาง เป็นเครื่องตรัสรู้ ถ้าเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ ให้สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง จึงจะปราศจากชราและมรณะได้ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่รู้ ท่านพระเตลุกานิเถระท่านก็ ไม่ปรารถนาข้อปฏิบัติและหนทางนั้น
ท่านพระเตลุกานิเถระกล่าวต่อไปว่า
จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย ประกอบด้วยความแข่งดีเป็นกำลัง ฉุนเฉียว ถึงความเป็นจิตกระด้างด้วยใจ
ทุกท่านจะพิจารณา และเห็นกิเลสของตนเองอย่างท่านพระเตลุกานิเถระไหม หรือวันหนึ่งๆ ไม่เคยเห็นเลยว่า มีความลังเลสงสัย มีความแข่งดี ฉุนเฉียว และ จิตกระด้างด้วยใจ
จิตกระด้างด้วยใจ คือ ในขณะที่คิดนึกต่างๆ เห็นแล้วก็คิด ใช่ไหม เปรียบเทียบเป็นเขาเป็นเราในทุกทาง ทำให้เกิดความสำคัญตนขึ้น หรืออาจจะดูหมิ่นคนอื่นก็ได้ ในขณะนั้นก็เป็นจิตที่หยาบกระด้างด้วยใจ คือ ตามความคิดนึกต่างๆ
เป็นเครื่องรองรับตัณหา สิ่งใดมีธนู คือ ตัณหาเป็นสมุฏฐานมีประเภท ๓๐ เป็นของมีอยู่ในโลก เป็นของหนัก ทำลายหทัยแล้วตั้งอยู่ ขอท่านจงดูสิ่งนั้นเถิด
ทุกคนมีกิเลส แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นของหนัก จนกว่ากิเลสนั้นจะกลุ้มรุม วันหนึ่งวันใด ทำให้มีความกลุ้มใจเป็นกำลัง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโลภะ ในเรื่อง ของโทสะ ในเรื่องของอิสสา ในเรื่องของมัจฉริยะความตระหนี่ต่างๆ ก็แล้วแต่ ในขณะนั้นจึงจะรู้ว่า กระวนกระวาย ซึ่งเป็นขณะที่กิเลสอกุศลเหล่านั้นเป็นของหนัก และทำลายจิตใจด้วยในขณะนั้น ทำให้จิตใจทรุดโทรม ไม่เบิกบานร่าเริง ทำให้ เศร้าหมอง และเป็นทุกข์อยู่นาน ตลอดเวลาที่อกุศลเหล่านั้นครอบงำ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๓ ตอนที่ ๑๕๒๑ – ๑๕๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560