แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532


    ครั้งที่ ๑๕๓๒


    สาระสำคัญ

    ธรรมไม่สาธารณะสำหรับทุกคน

    กามาวจรกุศลหรือมหากุศล ๘ ดวง

    อรรถสาลินี - กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ลักษณะ ๔ ของกุศลจิต

    อถ.ปฏิสัมภิทามรรค - เหตุที่จะให้เกิดกุศลจิต (จักร ๔ ซึ่งเป็นสมบัติ เป็นเหตุ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กฎกราคม ๒๕๒๙


    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และข้อความในอรรถกถาก็ได้แสดงความละเอียดของธรรมไว้มาก เช่น ใน อัฏฐสาลินี มีข้อความว่า

    ถามว่า ก็บทเหล่านี้ คือ กุสลาก็ดี หรือว่า ธัมมาก็ดี เป็นต้น มีความหมายเป็นอันเดียวกัน หรือว่ามีความหมายต่างกัน

    ธรรมนี่จะให้ผิวเผิน เล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ จะให้ละเอียดจนกระทั่งต้องพิจารณากันมากมายหลายวันหลายเดือนก็ได้ เพราะฉะนั้น ในอรรถกถาท่านจึงแสดงความละเอียดไว้สำหรับให้ผู้ที่สนใจได้ไตร่ตรอง พิจารณา แม้พยัญชนะที่ว่า กุสลาก็ดี ธัมมาก็ดี เป็นต้น มีความหมายเป็นอันเดียวกัน หรือว่ามีความหมายต่างกัน

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาได้อธิบายต่อไปว่า

    ในข้อนี้พึงทำความเข้าใจให้ชัดเสียหน่อยหนึ่งว่า ถ้าว่าคำเหล่านี้ มีความหมายเป็นอันเดียวกัน คำว่า กุสลา ธัมมา ก็เหมือนกล่าวซ้ำกันว่า กุสลา กุสลา

    ถ้าว่ามีความต่างกัน ธรรมหมวด ๓ ก็ต้องเป็นธรรมหมวด ๖ คือ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา

    คือ แทนที่จะเป็น ๓ ก็เป็น ๖ คือ เป็นกุศลา ๑ ธัมมา ๑ อกุศลา ๑ ธัมมา ๑ อัพยากตา ๑ ธัมมา ๑

    เพราะฉะนั้น

    ข้อที่ท่านกำหนดว่า มีความหมายเหมือนกัน หรือมีความหมายต่างกัน ไม่เป็นข้อสำคัญ

    สำหรับท่านที่คิดมากจนไขว้เขว ท่านก็แสดงไว้ว่า ไม่เป็นข้อสำคัญ เพราะว่า

    ศัพท์เหล่านี้ เมื่อกล่าวแยกกันแต่ละศัพท์ ส่องเพียงความหมายของตนๆ เมื่อกล่าวรวมกัน ส่องถึงว่ามีความหมายเสมอกัน และมีความหมายต่างกัน

    คือ ถ้าจะแยกกล่าว กุศลาก็อย่างหนึ่ง ธัมมาก็อย่างหนึ่ง เพราะว่าธรรมที่ไม่ใช่กุศลก็มี แต่ถ้ากล่าวรวมกัน ก็ส่องว่ามีความหมายเหมือนกัน และมีความหมายต่างกันตามคำที่รวมกัน เช่น ธรรมก็เป็นธรรม แต่ว่าธรรมที่เป็นอกุศลก็มี กุศลก็มี เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลนั้น จึงเป็นธรรมที่ต่างกัน

    นี่เป็นเรื่องความละเอียดซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านกล่าวไว้ว่า ไม่เป็นข้อสำคัญ ถ้าเข้าใจแล้วว่า กุศลธรรมคืออะไร อกุศลธรรมคืออะไร อัพยากตธรรมคืออะไร

    สำหรับกามาวจรกุศล คือ กุศลที่เป็นไปกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปทั้งในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของสมถภาวนา และในขั้นของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นบาทที่จะให้เกิดรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศล เพราะถ้ากามาวจรกุศลไม่เกิดขึ้น ไม่อบรม ไม่เจริญขึ้น รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศลก็เกิดไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้ กามาวจรกุศลจึงชื่อว่ามหากุศล เพราะว่าเป็นไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งในขั้นของทาน ของศีล ของสมถภาวนาและ สติปัฏฐาน

    ใช้คำว่า มหากุศล หมายความถึงกามาวจรกุศล เพราะว่ากามาวจรกุศลเป็นมหากุศล บางท่านคิดว่า มีกุศลธรรมดา และมีมหากุศลอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ อย่างนั้น มหากุศลนั่นแหละคือกุศลที่เป็นกามาวจรกุศล

    ขั้นทานก็เป็นมหากุศล ศีลก็เป็นมหากุศล ขณะที่จิตสงบก็เป็นมหากุศล ขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นมหากุศล

    สำหรับกามาวจรกุศลหรือมหากุศล มี ๘ ดวง คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ ดวง ถ้าสังเกตจะเห็นได้ว่า คล้ายๆ กับ โลภมูลจิต ๘ ดวง คือ เวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เหมือนกัน เป็นอสังขาริก ๔ ดวงเหมือนกัน เป็นสสังขาริก ๔ ดวงเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วย เพราะว่าโลภมูลจิตมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง แต่ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล คือ กามาวจรกุศล ๘ ดวง มีญาณคือปัญญา เกิดร่วมด้วย ๔ ดวง ไม่มีญาณคือปัญญาเกิดร่วมด้วย ๔ ดวง

    สำหรับมหากุศล ๘ ดวง คือ

    ฝ่ายที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ดวง ได้แก่

    โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง

    โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง

    โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    อีก ๔ ดวงที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ได้แก่

    อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ๑ ดวง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง ๑ ดวง

    ไม่ยากเลยที่จะจำ เพราะว่ามหากุศล ๘ ดวง มหาวิบาก ๘ ดวง และ มหากิริยา ๘ ดวง เหมือนกัน ต่างกันโดยชาติ ซึ่งเป็นกุศล ๘ ดวง เป็นวิบาก คือ ผลของกุศล ๘ ดวง และเป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์ ซึ่งไม่ใช่เหตุ คือ ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่วิบาก จึงเป็นมหากิริยาจิต ๘ ดวง

    สำหรับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ข้อความใน อัฏฐสาลินี แสดงอรรถว่า

    สำหรับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญานั้นมีอรรถ ๒ อย่าง คือ ไม่มีโรค ๑ และไม่มีโทษ ๑ แต่ว่าไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา

    สำหรับลักษณะ ๔ ของกุศลจิตทุกประเภท คือ

    มีสุขวิบากอันไม่มีโทษเป็นลักษณะ

    กุศลทุกประเภทต้องให้ผลเป็นสุขเป็นลักษณะ

    มีการกำจัดอกุศลเป็นรส คือ เป็นกิจ

    มีความผ่องแผ้วเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ

    มีโยนิโสมนสิการเป็นปทัฏฐาน คือ มีความไม่มีโทษเป็นปทัฏฐาน

    เพราะว่าในขณะนั้นเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก

    ทุกคนอยากจะมีกุศลมากๆ บ่อยๆ แต่กุศลจะต้องมีเหตุที่จะให้เกิดด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีปัจจัยอะไรเลย แต่อยากจะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็จะเกิดได้ตามความต้องการ

    สำหรับเหตุที่จะให้เกิดกุศลจิต ใน อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค แสดงจักร ๔ ซึ่งเป็นสมบัติ ๔ เป็นเหตุให้เกิดกุศล มีข้อความว่า

    ปฏิรูปเทสวาโส การอยู่ในประเทศที่สมควร ๑

    สัปปุริสูปนิสสโย การคบสัตบุรุษ ๑

    อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ๑

    ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญทำไว้แต่ปางก่อน ๑

    จักร ๔ เหล่านี้ เป็นโอกาสในการที่จะยังกุศลให้เกิดขึ้น

    สำหรับข้อที่ ๑ คือ ปฏิรูปเทสวาโส การอยู่ในประเทศที่สมควร คือ ในประเทศที่มีพุทธบริษัท และมีคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีคำสอนของพระผู้มีพระภาค การที่ใครจะมีกุศลเจริญขึ้นๆ เป็นสิ่งซึ่งยากที่จะเป็นไปได้

    สัปปุริสูปนิสสโย การคบสัตบุรุษ คือ การฟังธรรมของสัตบุรุษ

    อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ คือ ถ้าเคยเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธามาก่อน และเป็นผู้ที่มีศรัทธา ขณะนั้นแสดงว่าเป็นผู้ที่ตั้งตนไว้ชอบ

    ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญทำไว้แต่ปางก่อน

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละท่าน แต่ละวันจะผันแปรไปทางไหน ตามจักรซึ่งหมุนไป ก็ไม่มีใครรู้ได้ ใช่ไหม

    แต่ก่อนนี้อาจจะอยู่ในประเทศหนึ่ง สถานที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการศึกษาธรรมเลย อย่างท่านที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่มีการฟังวิทยุเหมือนอย่างกับชาวกรุงเทพซึ่งมีโอกาสได้ฟังมานานแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งวันใดบุญที่ได้กระทำไว้แต่ก่อน ย่อมเป็นเสมือนจักรที่จะผันหรือหมุนให้ไปสู่การที่จะเจริญกุศลได้ ถ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำบุญไว้แล้ว เพราะว่าพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่สาธารณะกับทุกคน แล้วแต่ว่าใครเป็นผู้ที่ได้เคยฟังมาบ้างในครั้งก่อนๆ และเป็น ผู้ที่มีศรัทธามาแล้วในครั้งก่อนๆ ก็ย่อมเป็นจักรที่จะหมุนหรือผันให้มีโอกาสที่จะได้ อยู่ในประเทศที่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้พิจารณา และตั้งตนไว้ชอบ เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้กระทำบุญไว้ก่อนแล้ว

    แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ก่อน ชาตินี้อาจจะผ่านไปโดยที่ไม่มีโอกาส ได้ฟังพระธรรมเลย

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีคำอธิบายว่า

    จักร ๔ มีการอยู่ในประเทศที่สมควรเป็นต้นที่ท่านกล่าวไว้ เว้นความ พร้อมเพรียงแห่งขณะ คือ ความเป็นมนุษย์ การเสด็จอุบัติขึ้นแห่งพระผู้มีพระภาค การฟังพระสัทธรรม และสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเสีย ย่อมมีไม่ได้

    ความเป็นมนุษย์เป็นต้น เป็นสภาพที่ได้โดยยาก กุศลอันเป็นอุปการะแก่ โลกุตตรธรรมอันเนื่องมาจากขณะ แสนจะได้ยากแท้ เพราะขณะเป็นของที่หาได้ยาก

    แม้จะได้อยู่ในประเทศที่สมควร และถึงความพร้อมเพรียงแห่งขณะ คือ เป็นมนุษย์ และมีการเสด็จอุบัติขึ้นของพระผู้มีพระภาค มีการฟังพระธรรม และ มีสัมมาทิฏฐิแล้ว แต่ กุศลอันเป็นอุปการะแก่โลกุตตรธรรมอันเนื่องจากขณะ แสนจะได้ยากแท้ เพราะขณะเป็นของที่ได้ยาก คือ ขณะที่จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ขณะที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ฟัง

    ได้ฟังเรื่องของสติปัฏฐาน มีความเข้าใจ แต่จะต้องอาศัยการฟังบ่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งที่จะให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ เพราะทุกท่านย่อมจะรู้ว่า ในวันหนึ่งๆ สติปัฏฐานเกิดกี่ขณะ

    และถึงแม้ว่าจะเป็นชั่วขณะทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐและมีค่า แต่ไม่ควรจะประมาทกุศล อื่นๆ ด้วย เพราะแม้ไม่เป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งเป็นสติปัฏฐานที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กุศลอื่นๆ ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ทานบ้าง ศีลบ้าง หรือความสงบของจิตบ้างในวันหนึ่งๆ ก็ยังเกิดยาก

    เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภท เกิดยากจริงๆ และก็ยากขึ้นตามลำดับขั้น กุศลญาณสัมปยุตต์ที่เป็นสติปัฏฐานก็ยาก และแม้ไม่ใช่กุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นกุศลขั้นทาน ศีล หรือความสงบของจิตในวันหนึ่งๆ ก็ยังยาก

    ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลมากเพื่อให้เห็นโทษ ใครที่ยังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ยังประมาทอยู่ เพราะคิดว่ามีกุศลพอแล้ว แต่ถ้าเห็นโทษของอกุศลมากๆ จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท

    ถ. การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเจริญอย่างไร

    สุ. ทุกคนมีกาย และเชื่อว่ามีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามานาน แม้แต่ในขณะนี้ ใช่ไหม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งบางท่านก็ขอให้กล่าวถึงเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพต่างๆ แต่ถ้าจะให้เข้าใจจนกระทั่ง สติสามารถที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงเข้าใจตามตำราว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีกี่บรรพ อะไรบ้าง เพราะพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สำหรับให้ผู้ฟังพิจารณาทันที เข้าใจทันที และพิสูจน์ธรรมได้ทันทีด้วย แม้แต่ในเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งโดยชื่อหมายความว่า สติระลึกลักษณะของกายเนืองๆ บ่อยๆ แต่ก็น่าสงสัยว่า ทุกคนเข้าใจเรื่องกายที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหน ในการที่จะเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า ในขณะนี้เอง ไม่ว่าใครจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด จะประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม ส่วนของร่างกายที่เข้าใจว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรา ในขณะนี้เอง อยู่ตรงไหน

    ถ. ที่ผมเข้าใจ ส่วนที่นับเนื่องด้วยกาย ตั้งแต่ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง อาการ ๓๒ ทั้งหมด เป็นกาย ใช่ไหม

    สุ. นี่จำ ใช่ไหม กำลังนั่งอยู่นี่ ต้องไปคิดถึงเล็บ ฟัน หนัง นี่จำหรือเปล่า หรือในขณะนี้เอง พิสูจน์ธรรม เข้าใจธรรมในขณะนี้ว่า ที่กำลังยืน หรือคิด หรือเห็น หรือได้ยินในขณะนี้ ส่วนที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ตรงไหน นี่เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ธรรม จริงๆ ในขณะนี้

    ถ้ากล่าวว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ต้องไปนึกถึงผม ต้องไปนึกถึงเล็บ ใช่ไหม ซึ่งในขณะนี้ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย แต่ที่กายนี้ มีสภาพธรรมอะไรที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ตรงไหน ตรงไหนของร่างกายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา

    ถ. โดยปกติ ทั้งหมดยึดถือว่าเป็นเราหมดเลย

    สุ. ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยึดถือตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นเรา นั่นคือแต่ก่อนนี้ แต่ในขณะนี้เอง ต้องพิจารณาจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า กำลังยึดถือกายตรงไหนว่าเป็นเราในขณะนี้ จึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ถ้ายังไม่เข้าใจตอนนี้ ก็เจริญ สติปัฏฐานไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องตำรับตำราที่ต้องไปคิดก่อน แต่ขณะนี้ สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ตรงไหน

    ถ. อาจารย์หมายความว่า ถ้ายึดส่วนไหนแล้ว ให้พิจารณาสภาพรูปธรรมในขณะนั้นหรืออย่างไร

    สุ. โดยมากเรามีอัตตสัญญา เข้าใจว่ามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มานาน แต่ความจริงแล้วสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว รูปก็เกิดดับเร็วมาก หมายความว่า รูปๆ หนึ่งที่เกิดจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปเวลานี้ก็ดับไปอย่างเร็ว และเกิดขึ้นอย่างเร็ว และก็ดับไปอย่างเร็ว ทั้งนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก แทบจะเรียกได้ว่าสลับซับซ้อนจนปรากฏเสมือนว่ามีร่างกายใหญ่โต หรือว่ามีจิตหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย ทั้งคิดนึกด้วย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมอย่างนามธรรม เช่น จิต ต้องเกิดขึ้นเพียงทีละขณะเดียว

    ชีวิตของทุกคนไม่ใช่ว่าจะยืนยาวนานมากเลย เพราะว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียวแล้วก็ดับ เมื่อกี้นี้ก็ดับแล้ว และก็มีจิตเกิดต่อ และจิตขณะนั้นก็ดับ และก็มีจิตเกิดต่อฉันใด รูปก็ฉันนั้น

    รูปที่ดับไปแล้วทั้งหมด ที่ยังยึดถือว่าเป็นเราอยู่ ก็ด้วยความทรงจำเท่านั้น เพราะฉะนั้น อัตตสัญญาลึกมาก ที่ยังจำไว้ว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นเพียงความทรงจำที่ลึก เหนียวแน่น เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มี มีแต่รูปซึ่งเกิดดับๆ อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ที่กำลังยึดถือว่าเป็นกายของเรานี้ ตรงไหน

    รูปที่ดับไปแล้ว ก็ดับไปแล้ว คงจะไม่ยึดรูปที่ดับไปแล้ว เพราะว่านั่นเป็นเพียงความทรงจำ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ยึดรูปที่ร่างกายตรงไหนว่าเป็นเรา ถ้ายัง ตอบไม่ได้ ก็เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้

    ถ. ก็ยึดทุกส่วน

    สุ. ทุกส่วนได้อย่างไร ทุกส่วนไม่ได้ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ก็รู้อารมณ์ที่ กำลังปรากฏ ที่ว่าทุกส่วน แต่ก่อนนี้ทรงจำไว้ว่ามีเรา เป็นอัตตา ตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้าจำไว้ว่ายังมี แต่จริงๆ แล้วไม่มี รูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ที่ร่างกาย ยึดรูปตรงไหนว่าเป็นเรา

    ถ. ขณะที่รู้อารมณ์ส่วนไหนของรูป ขณะนั้นยึดอารมณ์ส่วนนั้นว่าเป็นเรา

    สุ. ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ร่างกายส่วนไหน ตรงไหนที่กำลังปรากฏ ส่วนนั้นแหละยึดถือว่าเป็นเรา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๔ ตอนที่ ๑๕๓๑ – ๑๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564