แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536


    ครั้งที่ ๑๕๓๖


    สาระสำคัญ

    ขุ.สรภังคชาดก - บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ทั้งหลาย

    ขุ.เถรคาถา - ผู้ที่ยินดีในปัญญา

    เถรคาถา อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถรคาถา - ทรงเตือนไม่ให้ติดลาภสักการะ

    อัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ - อธิบายเรื่องอารมณ์ (เหตุ ๔ ประการเกื้อกูลให้กุศลเกิด)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กฎกราคม ๒๕๒๙


    สำหรับเรื่องของกุศล ควรที่จะได้พิจารณาว่า มีทั่วไปในโลกโดยไม่จำกัด เชื้อชาติ วรรณะ ผิวพรรณ ลัทธิ ขนบธรรมเนียมประเพณีใดๆ ก็จริง แต่กุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์นั้น ไม่ใช่เกิดง่าย และไม่ใช่จะเกิดได้โดยปราศจากเหตุ เพราะว่าให้ทานโดยไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรือวิรัติทุจริตโดยไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ถ้าขณะใดเห็นคุณประโยชน์ของปัญญา ปัญญาย่อมสะสม ปรุงแต่งเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ทั้งที่เป็นญาณวิปปยุตต์และญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของวิชชา เพราะถ้าวิชชาไม่เกิด ไม่มีหนทางที่จะละคลายอวิชชาเลย

    ขุททกนิกาย จัตตาฬีสนิบาตชาดก สรภังคชาดก ข้อ ๒๔๗๐ มีข้อความว่า

    บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ทั้งหลาย ละเอียดลออ เป็นพหูสูต พึงเป็นทั้งนักเรียน และไต่ถาม พึงตั้งใจฟังคำสุภาษิตโดยเคารพ นรชนทำอย่างนี้จึงจะเป็นผู้มีปัญญา

    ผู้มีปัญญานั้น ย่อมพิจารณาเห็นกามคุณทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นโรค ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้ ย่อมละความพอใจในกามทั้งหลายอัน เป็นทุกข์ มีภัยใหญ่หลวงเสียได้

    ผู้นั้นปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะได้ พึงเจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณ งดอาชญาในสัตว์ทุกจำพวกแล้ว ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงแดนพรหม

    สำหรับผู้ที่สามารถละความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ปราศจากราคะแล้ว กำจัดโทสะแล้ว เจริญเมตตาจิตไม่มีประมาณ ย่อมบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว จะเกิดในพรหมภูมิ ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้คือในกามสุคติภูมิอีก

    ข้อความในพระไตรปิฎก เตือนให้อบรมเจริญปัญญา แม้ในขุททกนิกาย เถรคาถา ท่านพระเถระทั้งหลายผู้ที่ยินดีในปัญญา ก็ได้กล่าวคาถาที่เป็นประโยชน์ เพื่อเตือนให้อบรมเจริญปัญญาอยู่เสมอ

    เถรคาถา สัตตกนิบาต ลกุณฏกเถรคาถา ข้อ ๓๖๒

    ท่านพระลกุณฏกเถระได้กล่าวคาถา มีข้อความว่า

    ภัททิยภิกษุอยู่ ณ อัมพาฏการามอันสวยงามในชัฏแห่งป่า ได้ถอนตัณหา พร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เจริญด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพ่งฌานอยู่ในไพรสณฑ์นี้ กามโภคีบุคคลบางพวก ย่อมยินดีด้วยเสียงตะโพน เสียงพิณ และบัณเฑาะว์ แต่ความยินดีของพวกเขานั้นไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ส่วนเรายินดีแล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า อยู่ที่โคนไม้ ก็พระพุทธเจ้าได้ประทานพรแก่เรา เรารับ พรนั้นแล้ว ถือเอากายคตาสติอันโลกทั้งปวงพึงเจริญเป็นนิตย์

    ชนเหล่าใดถือรูปร่างเราเป็นประมาณ และถือเสียงเราเป็นประมาณ ชนเหล่านั้นตกอยู่ในอำนาจฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักเรา คนพาลถูกกิเลสกั้นไว้รอบด้าน ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก ก็ลอยไปตามเสียง ส่วนผู้ใดมีความเห็น ไม่ถูกกั้น ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน ทั้งเห็นแจ้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไปตามเสียง

    เป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยปัญญา และคำที่ท่านกล่าวก็เป็นคาถาที่เตือน ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ไม่เห็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นกิเลสเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง ก็จะรู้ความหมายของคาถาของท่านพระเถระเหล่านั้นที่ว่า คนพาลถูกกิเลสกั้นไว้รอบด้าน ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง

    ฟังอย่างนี้อาจจะยังไม่ทราบว่า กำลังไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก

    ไม่รู้ทั้งภายใน คือ ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่ตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภะ โทสะ โมหะ อิสสา มัจฉริยะ ความแข่งดี มานะ ความสำคัญตน หรือทางฝ่ายกุศลที่เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด ย่อมไม่รู้ ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอก ย่อมลอยไปตามเสียง

    สำหรับ แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน แต่เห็นภายนอก ก็ลอย ไปตามเสียง คือ ผู้ที่เห็นผลภายนอก เช่น เห็นลาภบ้าง เห็นยศบ้าง เห็นทรัพย์สมบัติบ้าง นี่เป็นผลภายนอก แต่ไม่รู้ภายใน คือ ไม่รู้เหตุที่จะให้เกิดผลต่างๆ เหล่านั้น ก็ลอยไปตามเสียง

    ทุกคน ทุกวัน ลอยไป จิตใจนี้ลอยไปตามเสียงชมบ้าง เสียงติบ้าง แต่ผู้ที่มีความเห็นไม่ถูกกั้น ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน ทั้งเห็นแจ้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไป ตามเสียง

    อีกท่านหนึ่งใน เถรคาถา อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถรคาถา ข้อ ๓๖๖

    ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า

    ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวนขวายเพื่อยังปัจจัยให้เกิด เพราะภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายเพื่อยังปัจจัยให้เกิด

    นี่คือความต่างกันของเพศภิกษุกับคฤหัสถ์ เพราะว่าทุกชีวิตต้องดำรงอยู่ด้วยปัจจัย ปัจจัย ๔ คือ ที่อยู่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ต่อการมีชีวิต แต่ถ้าผู้ใดขวนขวายมาก ก็แสดงว่ายังติดในปัจจัยอยู่มาก

    สำหรับคฤหัสถ์เป็นชีวิตที่ยังข้องอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่สำหรับบรรพชิตนั้น ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวนขวายเพื่อยังปัจจัยให้เกิด เพราะถ้าภิกษุใดยังขวนขวายเพื่อปัจจัย ย่อมแสดงว่า ท่านยังมีความติดข้องอยู่ในปัจจัยนั้นๆ

    และ ภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายเพื่อยังปัจจัย ให้เกิด ชีวิตของพระภิกษุก็ละไปมากแล้ว ทั้งวงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ แต่ก็ยังต้องดำรงชีวิตอยู่ และเมื่อยังไม่ได้ดับกิเลส ก็ยังมีความติดใน รสอาหาร ซึ่งถ้ายังติดในรสอาหาร ก็จะมีการกระทำต่างๆ ที่ขวนขวายเพื่อให้ปัจจัยเกิดขึ้น

    และชื่อว่าละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวการไหว้การบูชาในสกุลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียดถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก

    พระผู้มีพระภาคและท่านพระเถระที่ดับกิเลสแล้ว ทรงเตือนและได้เตือนเป็น อันมากในเรื่องของการไม่ให้ติดในการไหว้ การบูชา ในสักการะ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีปัญญาย่อมจะทำให้อกุศลธรรมเจริญ

    วิธีที่จะทำลายคนอื่น ไม่ยาก มีท่านผู้หนึ่งกล่าวว่า ไม่ต้องทำอะไร เพียงชมอย่างเดียว ชมอย่างเดียวเท่านั้น ชมให้มากๆ ก็จะเป็นการทำลายบุคคลนั้นได้

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงซ่องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

    คนเราย่อมไม่เป็นโจรเพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ก็คนพวกอื่นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า พวกเราที่สมาคมนี้จักพากันยุบยับในหมู่ชนพวกนั้น พวกใดมารู้สึกตัวว่า พวกเราจักพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาท ย่อมระงับไปเพราะพวกนั้น

    คือ ไม่ควรเสียเวลาทะเลาะกัน แต่ควรที่จะพิจารณาศึกษาธรรมให้ถูกต้อง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว

    ผู้มีปัญญาถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดีก็ทำเป็นดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญาก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุรพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้

    ไม่ทราบว่ามีข้อความตอนไหนที่สะกิดใจท่านผู้ฟังบ้างหรือเปล่า ที่จะเป็นการระลึกถึงคุณของท่านพระเถระที่ท่านกล่าวเตือนไว้

    นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว

    ฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เรื่องสติปัฏฐาน เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส คิดนึก ในขณะนี้ นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว คือ พิจารณาทันทีในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เอง

    แม้ว่าจะกล่าวอย่างนี้ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า การสะสมของบุคคลใดจะปรุงแต่งให้ขณะนี้สติเกิด หรือจะปรุงแต่งให้คิดเรื่องอื่น แทนที่สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่อธิบายเรื่องอารมณ์ว่า

    อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามอารมณ์

    คือ เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้เลยในวันนี้ว่า ไม่ได้พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น การที่ปกติ จิตย่อมเป็นโลภะ คือ ปรารถนา ติด พอใจในกามอารมณ์ และจิตจะเปลี่ยนเป็นกุศลจะต้องมีเหตุ ๔ ประการ คือ

    ประการที่ ๑ ด้วยสามารถที่กำหนดได้

    คือ บางคนเป็นผู้ที่นิยมในกุศล คิดที่จะทำกุศลอยู่เสมอ ก็คงจะสังเกตเห็นได้ว่า เวลาที่ใครชักชวนให้ทำกุศลก็ทำ หรือแม้ไม่มีใครชักชวน แต่ความที่เป็นผู้ที่นิยม ในกุศล อาจจะเป็นในเรื่องของทาน ของศีล ในเรื่องของการสงเคราะห์ อนุเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ก็มีการคิดนึกเกิดขึ้นที่จะกระทำกุศลนั้นๆ ด้วยตนเอง นี่เป็นประการที่ ๑ ด้วยสามารถที่จะกำหนด คือ คิดได้

    ประการที่ ๒ ด้วยสามารถเปลี่ยนได้

    ถ้าเกิดรู้สึกขึ้นมาในขณะใดว่า จิตขณะนี้เป็นอกุศล จะเป็นด้วยการกระทำ ทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม อาจจะเกิดสติระลึกได้ทันทีว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ถ้าขณะนั้นสติเกิดและเห็นสภาพที่เป็นอกุศลว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร และเกิดระลึกที่จะเป็นกุศลในขณะนั้น ก็ย่อมเป็นกุศลได้

    เช่น ทุกคนเคยโกรธ แต่ถ้าใครมีสติระลึกได้ในขณะที่กำลังโกรธว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นอันตรายกับตนเอง เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ในขณะนั้นจะเห็นโทษของอกุศล

    หรือว่าในขณะใดที่รู้สึกตระหนี่ ไม่มีการสละ ไม่มีการบริจาคแม้ใน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะให้ใคร อาจจะเป็นอาหาร หรือเสื้อผ้า หรือของใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น แต่ไม่ได้คิดเลยในขณะนั้น ก็ยังคงเก็บไว้เฉยๆ แต่ถ้าสติเกิด ระลึกได้ขณะใด ทราบว่าขณะนั้นเป็นความติดในวัตถุ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์กับตนเอง แต่จะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ในขณะนั้นก็เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล

    หรือในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ถ้าเคยเข้าใจผิด ประพฤติปฏิบัติผิด และเกิดระลึกได้ว่านั่นไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง เช่น ถ้าคิดว่าจะต้องไปทำอย่างอื่นแทนที่สติ จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อาจจะคิดว่า ต้องทำสมาธิก่อน ต้องให้สงบก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดระลึกได้ว่า ปัญญาที่ควรจะเจริญ ควรจะอบรม ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง โดย ไม่ต้องทำอย่างอื่นขึ้นเลย เพราะว่าเห็นมีแล้ว เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เพียงแต่ระลึก แม้ในตอนแรกๆ ยังไม่สามารถรู้ชัดว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพรู้ เป็นนามธรรม และสิ่งที่ปรากฏที่เคยเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลต่างๆ ก็จะต้องถ่ายถอนความสำคัญผิด จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นพิจารณา และละความเห็นผิดในขณะใด ขณะนั้นก็ ด้วยสามารถเปลี่ยนได้ คือ จากอกุศลเป็นกุศล นี่เป็นประการที่ ๒

    ประการที่ ๓ ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ

    ถ้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดบ่อยๆ จะต้องเคยชิน คุ้นเคยกับสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นที่สนุก ทำบ่อยๆ ก็ติด การดูหนัง ดูละคร หรือการเล่นกีฬาต่างๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการอบรม เป็นกิจวัตรที่กระทำเป็นนิสัย เช่น การสวดมนต์ หรือการใส่บาตร การเว้นการฆ่าสัตว์ การเว้นวจีทุจริต หรือการเพิ่มความเมตตา ความกรุณา เป็นประจำยิ่งขึ้นในทุกๆ วัน การอบรมให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยในกุศลประเภทนั้นๆ ซึ่งทุกท่านจะเห็นกุศลของ แต่ละท่านเองได้ว่า ไม่เหมือนกัน

    แม้ว่าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมด้วยกัน ถ้าพิจารณาถึงอัธยาศัยในการทำกุศล ของแต่ละท่าน ก็ต่างกันไปตามการสะสม เช่น บางท่านไม่ได้สวดมนต์เลยก็มี ทำกุศลอย่างอื่นแต่ไม่ได้สวดมนต์ บางท่านสวดมนต์แต่ไม่ได้ทำกุศลอื่น เช่น ไม่ได้ ใส่บาตรเป็นประจำ หรือบางท่านอาจจะไหว้พระสวดมนต์ แต่ไม่ได้รักษาอุโบสถศีล เพราะว่าไม่ได้ทำบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นนิสัย แต่ถ้าใครกระทำบ่อยๆ ด้วยสามารถแห่งการประพฤติเสมอ กุศลประเภทนั้นๆ ก็ย่อมเกิดได้

    ประการที่ ๔ ด้วยสามารถแห่งการผูกใจไว้

    ทำให้เป็นผู้ที่มีการพิจารณาเหตุผลโดยแยบคาย เมื่อได้อยู่ในประเทศที่เหมาะสม เป็นประเทศที่มีคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้คบสัตบุรุษ ได้ฟังพระธรรม และได้เคยกระทำบุญมาแล้ว

    บางท่านกุศลเหล่านี้ยังไม่เกิดเลย เพราะว่าอยู่ในประเทศที่ห่างไกลพระพุทธศาสนา หรือแม้จะอยู่ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่มีโอกาส ที่จะได้ยินได้ฟังคำสอนเลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ยังมีชีวิตที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นชาวโลก แต่เมื่อใดที่มีโอกาสได้คบสัตบุรุษ ได้ฟังธรรม ได้พิจารณาธรรม กุศลที่ได้สะสมมาแล้วแต่ปางก่อน คือ ในชาติก่อนๆ จะเป็นเหตุที่จะกระทำให้เกิดกุศลจิต ซึ่งทุกท่านคงจะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม แต่ละท่านก็มีชีวิตในทางโลกด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรมแล้ว ผู้ที่ได้เคยสะสมกุศลมาแล้วจะเกิดความสนใจ และกุศลจิตก็เกิด

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ แม้มีปัจจัยทำให้อกุศลจิตเกิดมาก แต่ แม้กระนั้นก็ยังมีเหตุ ๔ ประการที่เป็นปัจจัยให้กุศลจิตแต่ละขณะเกิดขึ้น ก็ขอให้พิจารณาดูว่า กุศลของท่านที่เกิดแต่ละครั้งเป็นเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดในเหตุ ๔ ประการนี้บ้าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๔ ตอนที่ ๑๕๓๑ – ๑๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564