แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540


    ครั้งที่ ๑๕๔๐


    สาระสำคัญ

    ขณะจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา (ไม่จำกัดเชื้อชาติ ไม่จำกัดศาสนา)

    ลักษณะของโลภะ และสัทธา

    องฺ.ปญฺจก.ธนสูตร - ทรัพย์ในธรรม ๕ ประการ, องฺ. ปญฺจก. วัฑฒิสูตร ที่ ๑ - ธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๙


    ถ. ผมเข้าใจว่า ศรัทธาแปลว่าความเชื่อในทางที่ถูกเท่านั้น

    สุ. คนที่ไม่เชื่ออะไรเลย กุศลจิตเกิดได้ไหม เป็นคนใจดี จิตใจดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลแล้วโดยที่ไม่ต้องเชื่ออะไร ในยุคนี้สมัยนี้ คนที่ไม่เชื่อ ลัทธิหนึ่งลัทธิใดดูจะมีมาก แต่จิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ที่ช่วยเหลือคนอื่นก็เกิดได้ ซึ่งขณะนั้นศรัทธาเจตสิกเป็นสภาพที่เลื่อมใสในกุศล ไม่ใช่ในลัทธิ ไม่ใช่ในความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นความเลื่อมใสในกุศล จึงทำกุศลในขณะนั้น

    เลื่อมใสในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่า ต้องมีความเชื่อว่านี่เป็นกุศล แต่สภาพของจิตที่ผ่องใสสะอาดซึ่งครอบงำอกุศล ทำให้อกุศลเกิดไม่ได้ในขณะนั้น เพราะว่าศรัทธาเกิดแล้ว ใครจะบอกว่าไม่ให้ให้ เขาก็จะให้ ใครบอกว่าไม่ให้ช่วย เขาก็จะช่วย เพราะว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา เป็นศรัทธาเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ไม่จำกัด ไม่ใช่ว่าจะต้องเชื่อในพระพุทธศาสนาจึงจะเป็นศรัทธา แต่ท่านที่เชื่อในพระธรรมคำสอน ก็เพิ่มศรัทธาขึ้นในพระธรรมคำสอนด้วย มี ความผ่องใส เลื่อมใสยิ่งขึ้น เมื่อมีความเข้าใจในเหตุผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องศึกษาและพิจารณาโดยละเอียดว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น เป็นอกุศล หรือเป็นกุศลอย่างไร

    สำหรับลักษณะของศรัทธาเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย เพราะฉะนั้น ศรัทธาไม่ใช่โลภะ โลภะเป็นอกุศลเจตสิก เกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ศรัทธาเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น แม้ดูเสมือนว่าคล้ายๆ กัน ในการกระทำบางอย่าง แต่แม้กระนั้นเมื่อพิจารณาแล้วก็พอที่จะรู้ได้ว่า ศรัทธานั้น ต้องเป็นความเลื่อมใสในคุณธรรม แต่โลภะเป็นความติด หรือเป็นความพอใจ เป็นความต้องการ

    ขอเปรียบเทียบลักษณะของเจตสิก ๓ ดวง ซึ่งในบางแห่งอาจจะใช้พยัญชนะเหมือนกัน แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมต่างกัน

    ลักษณะของโลภะ

    มีการรับอารมณ์ คือ มีการพอใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ ราวกะความตะกรุมตะกรามแห่งลิงฉะนั้น

    นี่เป็นคำอุปมาที่แสดงให้เห็นลักษณะของความต้องการอย่างรวดเร็วของจิต ของแต่ละคน จากอารมณ์ทางตา ไปสู่อารมณ์ทางหู ไปสู่อารมณ์ทางจมูก ไปสู่อารมณ์ทางลิ้น ไปสู่อารมณ์ทางกาย ไปสู่อารมณ์ทางใจ จิตเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเห็น โลภะก็พอใจ ไม่ว่าจะได้ยิน โลภะก็พอใจ เพราะฉะนั้น จะเห็นความรวดเร็วของโลภะว่า ช่างคล้ายๆ กับลักษณะที่ตะกรุมตะกรามแห่งลิง คือ รวดเร็วถึงอย่างนั้นที่จะพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ

    มีการข้องติดอยู่เป็นรส คือ เป็นกิจ ราวกะชิ้นเนื้อที่โยนไปบนกระเบื้องอันร้อน

    นี่เป็นลักษณะที่ติดแน่นอย่างมาก

    มีความไม่สละรอบเป็นปัจจุปัฏฐาน ราวกะย้อมด้วยการทาน้ำมันฉะนั้น

    เวลาที่โลภะเกิด มีความพอใจ ไม่ว่าจะเป็นความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะไม่สละสิ่งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ นี้ ช่างสละน้อยจริงๆ และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าขณะที่โลภะเกิดขึ้น ขณะใด ขณะนั้นมีการไม่สละรอบ ทุกอย่างสละไม่ได้ในขณะที่พอใจ

    มีความเห็นว่าควรยินดีในสังโยชนียธรรมทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    คือ เห็นความน่ายินดีของสิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันเป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ถ้าพิจารณาจริงๆ จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นอกุศลจิต ซึ่งอาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ความจริงไม่ใช่ ถ้าสติเกิดพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นความติด ไม่ใช่เป็นกุศล

    สำหรับลักษณะของศรัทธา คือ

    ศรัทธามีความเชื่อเป็นลักษณะ

    แต่ความเชื่อในที่นี้ต้องเป็นความเชื่อในกุศลธรรม

    มีความเลื่อมใสเป็นรส เหมือนแก้วมณีที่ทำให้น้ำใส ไม่ขุ่นมัว หรือมีการ แล่นไปหรือนำไปเป็นรส คือ เป็นกิจ ราวกะวีรบุรุษผู้ข้ามห้วงน้ำ เพราะว่าธรรมดา คนขลาดไม่กล้าข้ามน้ำที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม แต่เมื่อมีนักรบที่แกล้วกล้าในการสงครามมาถึง ก็ถามว่า ทำไมพวกท่านถึงหยุดอยู่ไม่ข้ามไป พวกนั้นก็กล่าวว่า กลัวภัย ไม่กล้าข้าม นักรบก็บอกให้คนเหล่านั้นตามไป แล้วก็ก้าวลงสู่แม่น้ำ เอาดาบป้องกันสัตว์ร้ายทั้งหลาย ทำให้คนเหล่านั้นปลอดภัยจากฝั่งนี้ไปสู่ฝั่งโน้น จากฝั่งโน้นมาสู่ฝั่งนี้ ฉันใด เมื่อบุคคลให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถกรรม เจริญภาวนา ศรัทธา ย่อมเป็นหัวหน้านำไปฉะนั้น

    เพราะฉะนั้น ศรัทธาเป็นโสภณสาธารณเจตสิกดวงแรกที่ทรงแสดงไว้ เพราะว่ามีลักษณะนำมาซึ่งกุศลทั้งหลายเวลาที่ศรัทธาเกิด

    ศรัทธามีความไม่ขุ่นมัวเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความน้อมใจเชื่อ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเป็นปทัฏฐาน หรือมีโสตาปัตติยังคธรรม เป็นปทัฏฐาน พึงเห็นเป็นดุจมือ ทรัพย์สมบัติ และพืช ฉะนั้น

    นี่คือลักษณะของศรัทธา

    ที่ว่า ศรัทธาพึงเห็นราวกะว่ามือ เพราะว่าศรัทธานั้นมีสภาพถือไว้ซึ่งกุศลธรรม ไม่ปล่อยกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้น ขณะนั้นเมื่อศรัทธาเกิด ศรัทธา ก็เหมือนกับถือเอากุศลนั้น

    ศรัทธาพึงเห็นราวกะว่าทรัพย์ เพราะว่าทรัพย์นำมาซึ่งสิ่งที่น่าปลื้มใจ น่าพอใจทั้งปวงมาให้ฉันใด ศรัทธาก็ฉันนั้น ศรัทธาย่อมนำสิ่งที่น่าปลื้มใจแห่งสมบัติทั้งปวง ยิ่งกว่าทรัพย์ในทางโลก เพราะว่าศรัทธานั้น ย่อมนำมาให้ทั้งสมบัติทางโลก และสมบัติทางธรรมทุกขั้น

    ศรัทธาพึงเห็นราวกะพืช เพราะว่าพืชย่อมผลิตผลให้มากมายฉันใด ศรัทธา ก็ผลิตผลมากมายราวกะเมล็ดพืชฉันนั้น

    อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ธนสูตร ข้อ ๔๗ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทรัพย์ในธรรม ๕ ประการ

    ทรัพย์ ๕ ประการ คือ

    ทรัพย์ คือ ศรัทธา ๑ ทรัพย์ คือ ศีล ๑ ทรัพย์ คือ สุตะ ๑ ทรัพย์ คือ จาคะ ๑ ทรัพย์ คือ ปัญญา ๑

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ผู้ใดมีความเชื่อในตถาคต ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว มีศีลอันงามอันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นที่ตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุนั้นผู้มีปัญญา เมื่อนึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ และความเห็นธรรมเนืองๆ เถิด ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    ลักษณะของโลภะ ลักษณะของศรัทธา ต่างกัน และลักษณะของศรัทธา ไม่ใช่ลักษณะของความเชื่อทั่วไป แต่ต้องเป็นความเชื่อในกุศลธรรม

    สภาพของเจตสิกอีกดวงหนึ่งซึ่งอาจจะดูคล้ายกับศรัทธา คือ อธิโมกขเจตสิก

    อธิโมกข์มีความตกลงใจเป็นลักษณะ

    มีความไม่กระเสือกกระสนเป็นรส

    มีการตัดสินใจเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีธรรมที่พึงตกลงใจเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    พึงเห็นราวกะเสาเขื่อน ด้วยความไม่คลอนแคลนในอารมณ์

    เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง จิตอื่นๆ ทั้งหมดมีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับโลภมูลจิต นอกจาก อธิโมกขเจตสิกแล้ว ก็มีโลภเจตสิกและอกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย แต่ทางฝ่ายกุศลนั้น นอกจากอธิโมกขเจตสิกแล้ว ก็มีศรัทธาเจตสิกและโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย

    บางท่านเข้าใจว่าท่านมีศรัทธา จนกว่าปัญญาจะเกิดจึงรู้ว่า แท้ที่จริงหาใช่ศรัทธาไม่ แต่ในขณะที่ปัญญายังไม่เกิดก็ยังไม่รู้ ก็ยังเข้าใจว่าขณะนั้นๆ เป็นศรัทธา ซึ่งในบางครั้งเป็นโลภมูลจิต บางครั้งเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ และบางครั้ง ก็เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่เกิดร่วมกับปัญญา แต่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และบางครั้งก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มีศรัทธาและปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของศรัทธาเจตสิก เกิดกับโสภณจิตโดยที่ปัญญาเจตสิกไม่เกิดร่วมกับศรัทธาได้ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิด ร่วมด้วย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความเจริญที่ประเสริฐ ซึ่งเป็นความเจริญของจิตใจ ไม่ใช่ความเจริญของวัตถุ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัญญาวรรคที่ ๒ วัฑฒิสูตรที่ ๑ ข้อ ๖๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการ ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย

    ธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญ ๕ ประการนี้แล ชื่อว่าย่อมเจริญด้วยธรรมเป็นเหตุเจริญอย่างประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้ยึดถือสาระ และยึดถือสิ่งประเสริฐแห่งกาย ฯ

    อริยสาวกผู้ใดย่อมเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ทั้งสองฝ่าย อริยสาวกผู้เช่นนั้นเป็นสัปบุรุษ มีปรีชาเห็นประจักษ์ ชื่อว่าย่อมยึดถือสาระแห่งตนในโลกนี้ไว้ได้ทีเดียว ฯ

    นี่คือผู้ที่เห็นความเจริญที่ถูกที่ควร ซึ่งเป็นความเจริญที่ประเสริฐ เพราะว่า ไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ ไม่ใช่ความเสื่อมของจิต แต่ต้องเป็นความเจริญของจิตด้วยความเจริญด้วยศรัทธา

    เมื่อมีศรัทธาแล้ว ย่อมเจริญด้วยศีล ย่อมเจริญด้วยสุตะ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ย่อมเจริญด้วยปัญญา

    ทุกท่านพิจารณาตนเองได้จากการฟังพระธรรมว่า มีศรัทธาเพิ่มขึ้น มีสุตะเพิ่มขึ้น มีจาคะเพิ่มขึ้น มีปัญญาเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่งๆ ซึ่งปกติแล้ว กุศลที่เกิดในแต่ละวันยากที่จะเห็นลักษณะของศรัทธา ถ้ากุศลนั้น เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ในเรื่องของทาน ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งชีวิตประจำวันของทุกท่าน คือ มีการสละวัตถุให้บุคคลอื่น เช่น บุคคลในบ้าน มีการคิดถึงความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายของบุคคลในบ้าน อาจจะเป็นผู้รับใช้ และมีการสละวัตถุสิ่งของเพื่อให้เขามีความสะดวกสบาย แต่เมื่อทำจนชินก็อาจจะไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้น มีศรัทธาเจตสิกเกิดกับกุศลจิต จึงเป็นเหตุให้กระทำทานแม้เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ หรือบางครั้งอาจจะไม่ได้กระทำด้วยตนเอง เพียงการเอ่ยวาจาให้คนอื่นให้ทาน ขณะนั้นก็เป็นศรัทธาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ซึ่งอาจจะไม่มีการพิจารณาสังเกตเห็นเลย แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีศรัทธาเจตสิกเกิดแล้ว

    หรือในการอุทิศส่วนกุศล เวลาที่ทำบุญเสร็จแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศล ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะสภาพของจิตซึ่งเป็นสภาพที่ผ่องใส เพราะว่าขณะนั้นไม่มีอกุศล ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะเกิดร่วมด้วย ก็ไม่รู้ว่า แม้เพียง ในขณะที่กำลังอุทิศส่วนกุศล ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธา มิฉะนั้นก็ทำไม่ได้ เพราะว่า บางคนทำกุศลแล้ว แต่อาจจะไม่อุทิศส่วนกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่อุทิศส่วนกุศล อาจจะไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร แต่ตามความเป็นจริง ก็เพราะขณะนั้นศรัทธา ไม่เกิด เพราะถ้าศรัทธาเกิดย่อมคิดที่จะอุทิศส่วนกุศล และในขณะที่กำลัง อุทิศส่วนกุศลนั้น ก็เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยศรัทธา

    และวันหนึ่งๆ เวลาได้ยินข่าวที่เป็นกุศลก็เกิดอนุโมทนา ยินดีด้วย ในขณะนั้น ก็เป็นมหากุศลที่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิตเกิด บ่อยๆ จนกระทั่งเป็นนิสัย จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาในกุศล แม้ว่าขณะนั้นจะไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ก็เป็นกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีศรัทธาในกุศลนั้น กุศลนั้นจึงเกิด

    สำหรับบุญกิริยาที่เป็นเรื่องของศีล มีการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจาขณะใด ขณะนั้นก็เป็นผู้มีศรัทธาที่จะวิรัติ

    บุญกิริยาที่เป็นอปจายนะ คือ การอ่อนน้อม ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพ จากใจด้วยกาย เช่น การกราบ การไหว้ หรือสำหรับพระรัตนตรัยก็เป็นการบูชา ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้น ซึ่งขณะที่ทำนั้นอาจจะทำจนกระทั่งรู้สึกว่า เสร็จอย่างรวดเร็ว เพียงแต่มีพวงมาลัย หยิบขึ้นมา และนำไปบูชา ก็เสร็จแล้ว แต่ความจริง ในขณะนั้นต้องมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมกับมหากุศล จึงได้กระทำอปจายนะ คือ การอ่อนน้อม แสดงความเคารพด้วยกายได้

    หรือแม้ในขณะที่มีวาจาที่สุภาพ ยกย่อง ไม่ดูหมิ่นบุคคลใด ขณะนั้นก็ต้อง มีศรัทธาที่จะกระทำอย่างนั้น เพราะว่าวันหนึ่งๆ ถ้าคิดถึงแต่ความสุขความสบาย ความสำคัญตนแล้ว ย่อมจะไม่กระทำกิริยาอาการทางกาย ทางวาจาอย่างนั้น แต่ที่จะมีการระลึกได้ว่า ถ้าใช้คำพูดที่น่าฟัง เป็นคำพูดที่อ่อนโยน ย่อมทำให้ผู้ที่ได้ยินเกิดความสบายใจ ขณะนั้นก็มีศรัทธาในการที่จะมีสัมมาวาจา

    สำหรับบางท่านเป็นผู้ที่คิดถึงผู้สูงอายุ นอกจากแสดงความเคารพด้วย การกราบไหว้แล้ว ยังคิดถึงสุขภาพร่างกาย มีการประคับประคองให้ท่านได้ นั่งสะดวกสบาย ช่วยเหลือในการลุกขึ้น ในการนั่ง มีการถนอมจิตใจ รู้ว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรผู้ที่ชราจึงจะรู้สึกเบิกบานใจ ในขณะนั้นก็เป็นศรัทธาที่เกิดกับ กุศลจิต อาจจะเป็นอุปนิสัยของท่านผู้นั้น โดยที่ท่านผู้นั้นเมื่อท่านไม่ได้ศึกษาก็ ไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นศรัทธาที่กระทำอย่างนั้น เพราะว่าบุคคลอื่นไม่ทำ ผู้ที่ไม่ทำก็คือไม่มีศรัทธาที่จะทำอย่างนั้น

    สำหรับกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ การช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น จะเห็นได้ว่า ก็ย่อมจะทำกุศลที่เป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือ คือ เวยยาวัจจะ ทางกาย เช่น การปรนนิบัติรับใช้ การเอื้อเฟื้อ หรือการช่วยกิจธุระของบุคคลอื่นในขณะใด ขณะที่กำลังช่วยเหลือ ก็ต้องเป็นศรัทธาที่เป็นกุศลจิต จึงจะกระทำได้

    บางท่านอาจจะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ป่วยไข้ มีการจัดหาหมอ หายาให้ ซึ่งเป็นศรัทธาทั้งนั้นที่เป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ดีงามทางกาย หรือแม้แต่ทางวาจา ก็สามารถจะกระทำได้ โดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนไข้ซึ่งไม่ชอบรับประทานยา ก็ชักชวนให้เขารับประทานยา เพราะถ้ารับประทานยาแล้วจะหาย ทำให้ คนที่ไม่อยากรับประทานยาเห็นในความหวังดีของคนอื่น ก็อาจจะรับประทานยาได้

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เมื่อมีการทำประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นขณะใด ขณะนั้นก็ต้องมีศรัทธาที่จะทำอย่างนั้นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๔ ตอนที่ ๑๕๓๑ – ๑๕๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564