แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560


    ครั้งที่ ๑๕๖๐


    สาระสำคัญ

    ตอบปัญหาธรรมที่กุรุน้อย ราชบุรี

    กำลังเห็นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    หลักของพระพุทธศาสนาสำคัญที่สุด (ไม่ใช่ตัวตน มีแต่นามธรรม รูปธรรม)


    ที่กุรุน้อย ราชบุรี

    วันเสาร์ที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๙


    ถ. มีผู้ถามว่า ในขณะที่เห็น มักจะท่องว่า นี่กำลังเห็น หรืออาจจะท่องว่า เห็น เห็น เวลาเห็นอีกก็ท่องว่า เห็น ท่องไปเรื่อยๆ อบรมไปอย่างนี้เรื่อยๆ บ่อยๆ จนกระทั่งต่อมาขณะที่เห็น ไม่ต้องท่องก็รู้ว่ากำลังเห็นอยู่ อยากจะขอคำชี้แนะเกี่ยวกับการอบรมเจริญสติอย่างนี้ว่า ถูกต้องไหม อย่างไร

    อ. ทุกคนรู้ว่า กำลังเห็นอยู่ ใช่หรือเปล่า ทุกคนรู้ว่ากำลังเห็นอยู่ ไม่ต้องบอกตัวเองว่า เดี๋ยวนี้ผมกำลังเห็นอยู่นะ ก็รู้อยู่แล้ว ใช่หรือไม่ใช่ หรือว่าต้องบอกกับตัวเองว่า เดี๋ยวนี้กำลังเห็นอยู่ คงไม่จำเป็นหรอก ใช่ไหม ทุกคนรู้ว่ากำลังเห็นอยู่ แต่สิ่งที่ไม่รู้ คือ ที่กำลังเห็นอยู่นั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเอง ไม่ใช่รูปร่างที่กำลังนั่งอยู่ที่เก้าอี้ เพราะว่าร่างกายไม่สามารถรู้อะไรทางตาได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องรู้ คือ ไม่ใช่เรากำลังเห็น แต่สภาพเห็นเป็นอย่างไร สภาพเห็นก็ต่างกับสภาพอื่นๆ มากมายที่เกิดขึ้น สภาพเห็นไม่เหมือนกับ สภาพรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย และสภาพเห็นไม่เหมือนกับสภาพคิดที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร หรือเอาไปใช้ทำอะไร หรือมีประโยชน์อย่างไร นั่นเป็นความคิด หรือรู้ชื่อของสิ่งนั้น ซึ่งนั่นเป็นความคิด ไม่ใช่สภาพเห็น

    ที่จะรู้ลักษณะของสภาพเห็นได้ ต้องพิจารณาตรงสภาพเห็น พิจารณาลักษณะของสภาพเห็น จะเรียกว่าสภาพเห็น หรือจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า seeing หรืออะไรก็ได้ แต่นั่นไม่ได้ช่วย เพราะเป็นแค่คำ ใครจะคิดคำนี้ก็ได้ จะรู้เรื่องไม่รู้เรื่องก็คิดได้ เด็กเล็กๆ ก็สามารถพูดคำนี้ออกมาได้ เด็กเล็กๆ สามารถพูดกับตัวเองว่ากำลังเห็นอยู่ หรือนี่คือการเห็น ไม่รู้ว่าอย่างนี้จะช่วยได้อย่างไร เพราะเพียงคิดใช้คำว่า นี่คือเห็นๆ แต่เห็นคืออะไร ที่บอกว่านี่คือเห็น

    เห็นคืออะไร มันมีลักษณะของมันเอง เกิดขึ้นรู้ลักษณะทางตาทางเดียว รู้ลักษณะทางอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะท่องสักเท่าไร บ่อยสักแคไหน คงไม่ช่วยเลยสักนิดเดียว แต่ถ้าจะคิดถึงคำสอนเกี่ยวกับการเห็นว่า การเห็นคืออะไร และพยายามที่จะเข้าใจความหมาย นี่มีประโยชน์มากๆ เพราะกำลังพิจารณา ไม่ใช่ว่า พูดคำออกมาเฉยๆ หรือนึกขึ้นมาเฉยๆ ว่า นี่คือการเห็น

    ต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่า การเห็นคืออะไรแน่ เดี๋ยวนี้การเห็นกับสีต่างกันอย่างไรแน่ สีก็มี แต่ถ้าไม่มีการเห็นสีจะปรากฏไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีการเห็นด้วย มีทั้งการเห็นด้วย มีทั้งสีด้วยปรากฏ ก็ถามตัวเองบ่อยๆ และถามถึงสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่นี่คือเห็นๆ ถ้าตัวเองรู้แล้วว่าเห็นเป็นอย่างไร ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น เพราะว่าเข้าใจชัดเจนแล้ว ไม่ต้องบอกตัวเองว่านี่คือเห็น รู้แล้วว่าเห็นคืออะไร ไม่ต้องพูดอะไร ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องใช้คำอะไรสักคำเลย

    . เป็นการอบรมให้สังเกตในสิ่งที่เห็น เวลาที่เห็น บ่อยๆ เนืองๆ

    อ. อบรมให้เข้าใจ ไม่ใช่สังเกตเฉยๆ ใครๆ ก็สังเกตได้ว่า ตัวเองกำลัง เห็นอยู่ ถามใครก็ได้ จะเป็นคนศาสนาไหน จะเป็นคนสนใจเจริญสติปัฏฐานหรือ ไม่สนใจ ถามเขาว่า สังเกตหรือยังว่าตัวเองกำลังเห็นอยู่ เขาก็จะตอบว่า ก็สังเกตเหมือนกัน

    ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ไม่ใช่สังเกตเฉยๆ แต่ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่สังเกตนั้น คืออะไร เป็นนามธรรมหรือว่าเป็นเรา สิ่งที่สังเกตนั้นกำลังนั่งอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็น การเห็น มันนั่งอยู่ไม่ได้ มันไม่มีรูปร่าง และนึกคิดอะไรไม่ได้ รู้อย่างอื่นนอกจากสภาพสีที่ปรากฏทางตาไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังเกตเฉยๆ ไม่พอ ต้องพิจารณาศึกษา ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในขณะที่การเห็นกำลังเกิดขึ้นปรากฏ ในขณะที่สีกำลังเกิดขึ้นปรากฏทางตา มีวิธีเดียว

    รู้สึกว่า ทุกคนสังเกตแล้วว่าการเห็นมี นอกจากคนตาบอดก็คงไม่ได้สังเกต คนอื่นเขาสังเกตแล้วว่าการเห็นมีอยู่ สังเกต แต่ไม่เข้าใจว่าการเห็นนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม ต่างกับรูปธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะสังเกตหรือไม่สังเกต แต่เมื่อสังเกต เข้าใจหรือยัง ศึกษาและพิจารณาพอหรือยัง หรือว่าสังเกตเฉยๆ และนึกในใจว่า นี่คือการเห็นเฉยๆ เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่หนทาง เพราะว่า ยังไม่ได้พิจารณา ยังไม่ได้ศึกษา

    . การอบรมให้มีการรู้ตัวในเวลาที่ทำอะไรอยู่ ซึ่งเป็นการอบรมให้มีสัมปชัญญะ ถ้าการรู้ตัวมีมากขึ้นเพิ่มขึ้นแล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีการระลึกใน สิ่งที่ปรากฏได้หรือไม่

    อ. ทุกคนก็ทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่นั่งก็ยืน ไม่ยืนก็นอน ไม่นอนก็เดิน ไม่พูดก็เงียบ ทุกคนกำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องบอกว่า ถ้ากำลังทำอะไร เพราะกำลังทำอะไรอยู่ ที่ใช้คำว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความจริงเป็นภาษาพูด ที่เราเข้าใจกันได้ แต่ที่เราเรียกว่า กำลังทำอะไรอยู่ นั่นไม่ใช่ตัว นี่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ตัว แต่มีนามธรรมและรูปธรรมต่างๆ นานาชนิด ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    . ขณะที่อยู่ในอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ให้มีการรู้ตัว

    อ. รู้ตัว อยากทราบว่า ตัวเป็นอย่างไร

    . รู้ว่าขณะนั้น เดินก็รู้ นั่งก็รู้

    อ. คิดว่า ทุกคนในห้องนี้รู้ว่ากำลังนั่งอยู่ ถ้าไม่รู้ก็แย่ คือ รู้อยู่แล้วว่า กำลังนั่งอยู่ ถ้าเจริญสติปัฏฐานก็ต้องมากกว่านี้หน่อย รู้ตัวเป็นการอบรมอย่างไร เพราะตัวคืออะไร

    . ตัวนี้อาจจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    อ. แล้วทางตาเป็นตัวไหม หรือว่าเป็นสี สิ่งที่เห็นคือสีใช่ไหม และทางหูเป็นตัวหรือว่าเป็นเสียง

    . เป็นเสียง

    อ. รู้ตัวทำแบบไหนไม่รู้ คิดว่าการเจริญสติปัฏฐานต้องรู้สี รู้เสียง ซึ่ง ไม่ใช่ตัว ต้องรู้แข็งซึ่งแข็งไม่ใช่ตัว เพราะแข็งเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นที่นี่ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่จะต้องรู้เฉพาะตอนที่เกิดขึ้นที่ร่างกายที่อาจจะเรียกว่าตัว ต้องรู้ขณะที่เกิดขึ้น ที่เก้าอี้ ซึ่งไม่ใช่ตัว ต้องรู้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เมื่อไร เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม

    ที่รู้ตัวนี่ ไม่ทราบว่าได้แก่นามธรรมด้วยหรือเปล่า เพราะนามธรรมไม่ใช่ตัวแน่ๆ นามธรรมไม่มีรูปธรรมปนอยู่เลยสักนิดเดียว ถ้าจะรู้เฉพาะรูปธรรมก็ไม่พอ ต้องรู้นามธรรมด้วย

    . ที่อบรมนี่ อบรม เห็นก็รู้

    อ. เห็นที่ไม่ใช่ตัว และสีที่ไม่ใช่ตัว

    . จับแข็ง ก็รู้ว่ากำลังสัมผัสแข็ง

    อ. ไม่ใช่กำลัง รู้สึกว่าเร็วกว่านั้น กำลัง คล้ายๆ กับว่า อยู่นานๆ อาจจะรู้แป๊บเดียว และรู้อย่างอื่นต่อ ไม่มีใครรู้ว่า..

    . แข็งก็รู้แข็ง เย็นก็รู้เย็น อบรมรู้อย่างนี้บ่อยๆ เนืองๆ

    อ. ยิ่งบ่อยยิ่งดี แต่บางทีไม่บ่อย บางทีนานๆ ที แต่ช่วยไม่ได้ มันผ่านไปแล้ว

    . ถ้ามีบ่อยๆ มากขึ้น รู้สิ่งที่มากระทบ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติระลึกในสิ่งที่ปรากฏเร็วขึ้นได้หรือไม่

    อ. ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ก็ต้องมีสติบ่อยขึ้น ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง สติก็ไม่ค่อยเกิด แค่นั้นเอง

    . ขณะที่อบรมการรู้สึกตัว การเจริญสติ ขณะที่สัมผัสหรือจับน้ำแข็ง เราก็รู้ว่าเย็นกระทบ แต่เมื่อเราเอามือออกจากน้ำแข็งแล้ว เย็นก็ยังมีปรากฏ ไม่ทราบว่าขณะนั้นนึกเอา หรือว่าเย็นมีจริงๆ

    อ. ถ้าเย็นปรากฏจริงๆ ก็เป็นเย็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่น้ำแข็ง ไม่ใช่นิ้ว ถ้าไม่ปรากฏก็ระลึกรู้ตรงสภาพเย็นไม่ได้ แต่ถ้านึกถึงสภาพเย็นว่า เป็นเย็นหรือไม่เป็นเย็น ก็ควรจะระลึกรู้ว่า สภาพที่กำลังนึกถึงเรื่องเย็นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    เย็นมีลักษณะที่พอจะรู้ได้ ไม่ต้องถามตัวเองว่า นี่นึกหรือมีสภาพเย็นปรากฏ

    . คือ เมื่อเอามือออกจากน้ำแข็ง เย็นก็ยังติดมืออยู่ ขณะนั้นถือว่าเย็น ยังกระทบอยู่หรือเปล่า

    อ. เย็นปรากฏหรือเปล่า ก็คุณตอบปัญหาของคุณเองอยู่แล้ว ถ้าเย็นปรากฏ ก็ไม่ใช่อย่างอื่น

    . ที่เย็นติดมือ คือ นามหรือ ...

    อ. ไม่รู้ เพราะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่รู้ว่าถ้าเย็นปรากฏ ก็ปรากฏ และไม่ใช่ตัวตน และไม่ใช่น้ำแข็ง แต่เป็นสภาพเย็น เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่เรา ไม่สามารถจะสร้างขึ้นด้วยความคิดได้ เพราะต้องเกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยของมันเอง

    . ตอนเจ็บป่วย บางครั้งรู้สึกเย็นมาก

    อ. ไม่ใช่ตัวเอง ใช่ไหม

    . ไม่ใช่ตัวเอง และความร้อนก็ปรากฏอีก ขณะนั้นหมายความว่า เป็นเวทนาเกิดขึ้น ใช่ไหม ไม่ใช่สิ่งที่กระทบจริงๆ

    อ. หมายถึงว่า ถ้าเป็นเย็นก็เป็นรูปธรรม ถ้าเป็นร้อนก็เป็นรูปธรรม และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็เป็นนามธรรม อาจจะรู้สึกเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ก็แล้วแต่

    . ทั้งเย็นและร้อนนี้เป็นทุกข์ทั้งคู่ คือ เย็นมากก็ไม่พอใจ ร้อนก็ไม่พอใจ

    อ. คนละขณะ ใช่ไหม

    . ขณะนั้นเป็นเวทนา ใช่ไหม ไม่ถือว่ามีการกระทบ เพราะไม่ได้กระทบอะไร แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น

    อ. ถ้ารู้ทางกายจะต้องมีการกระทบ และเย็นต้องรู้ทางกายก่อนที่จะรู้ ทางใจ ก็ต้องกระทบ แต่ไม่น่าจะต้องเป็นห่วงว่า กระทบหรือไม่กระทบ เพราะว่าปรากฏแล้ว เมื่อปรากฏแล้วก็ควรจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ใช่น้ำแข็ง

    . และไม่ต้องจำแนกว่าเป็นอะไร ใช่ไหม

    อ. คุณมีสิทธิที่จะจัด ถ้าอยากจะจัด แต่อยากให้ทราบว่า เป็นจิตที่จัด ไม่ใช่เรา

    . ถ้าเราปวดท้อง ปวดเป็นรูป หรือเป็นเวทนา

    อ. รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวด ถ้าไม่มีรูปธรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็คงไม่เจ็บ คงไม่ปวด ใช่ไหม ต้องมีรูปธรรมที่แข็งมาก หรือที่ร้อนมาก จึงจะรู้สึกว่าเจ็บหรือปวด ถ้าพอดีๆ ก็ไม่เรียกว่าปวด

    . ปวดท้อง สมมติว่าปวดกระเพาะ ความรู้สึกปวดนี่เป็นรูป หรือ เป็นเวทนา

    อ. ถ้าไม่มีรูปจะไม่ปวด ใช่ไหม

    ถ. ใช่ ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่ปวด

    อ. ก็ต้องมีรูปปรากฏทางร่างกายจึงจะเจ็บปวดได้ ลักษณะของรูปจะว่าเป็นทุกข์เป็นสุขก็ไม่ได้ ใช่ไหม เป็นเรื่องของเวทนา

    . ปวดนี้ก็ต้องทุกขเวทนา

    อ. เวทนาเป็นเวทนา รูปเป็นรูป ต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ต้องมีรูปด้วย รูปที่ ร้อนมาก เป็นต้น และต้องมีความรู้สึกร้อนด้วย ต้องมีจิตที่รู้ร้อน และเวลาที่จิตรู้ร้อน ก็ต้องมีความรู้สึกเกิดขึ้นพร้อมกับจิตนั้น ซึ่งถ้าร้อนมากความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมกับจิตที่รู้ร้อนต้องเป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สามารถจะรู้ทางกายได้เลย ไม่เหมือนความร้อน เฉพาะสภาพร้อนที่ร้อน แต่ความรู้สึกไม่ใช่สภาพร้อน จำแนกออกจากกันได้ เพราะร้อนเป็นร้อน จะร้อนสักเท่าไรก็เป็นร้อน และสามารถที่จะรู้ได้ทางกาย แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นที่เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ นั่นไม่ใช่สภาพร้อน เป็นนามธรรม รู้ได้ทางใจ ไม่ใช่รู้ทางกาย สามารถที่จะแยกออกจากกันได้

    . อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่า ปวดท้อง ก็ต้องเนื่องด้วยรูป ต้องมีรูปก่อน จึงจะปวดได้ เมื่อปวดท้อง จิตก็รู้มันปวด ผมก็สงสัยว่า ปวดนี้เป็นรูปขันธ์ หรือ เวทนาขันธ์

    อ. ผมอยากทราบว่า ตอนที่ปวดท้อง ความร้อนหรือรูปปรากฏบ้างหรือเปล่า

    . ความร้อนไม่ปรากฏ ปวดท้องอย่างเดียว มันปวด

    อ. อาจารย์ช่วยหน่อย

    สุ. หมายความว่า เวลาที่ปวดเกิดแล้ว อยากจะทราบใช่ไหมว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แต่ไม่ใช่ตำราบอกและเราจะได้บอกว่า อ้อ ปวดนี้เป็นนามธรรม ถ้าอย่างนี้ก็ง่าย ใช่ไหม ถ้าบอกว่าเวทนา คือ ความรู้สึก ดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แต่ทำไมแม้จะบอกอย่างนั้น เราก็ยังไม่รู้ ใช่ไหม

    อย่างตำราบอกว่า ความรู้สึกมี ๕ อย่าง คือ รู้สึกดีใจ ๑ รู้สึกเสียใจ ๑ รู้สึกเจ็บปวดเป็นทุกข์ทางกาย ๑ รู้สึกสบายทางกาย ๑ และรู้สึกเฉยๆ ๑ ตำราบอกอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ว่าตำราบอกแล้ว เวลาถามอะไรก็เอาตำรามาบอก ใช่ไหม

    ทุกอย่างที่ได้ฟัง พิจารณาในขณะที่กำลังเป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น ถ้าพูดถึง เรื่องเวทนา ความรู้สึก พูดได้ ใช่ไหม เพราะว่าเป็นของจริงซึ่งทุกท่านพิสูจน์ได้ นี่คือ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่เมื่อทรงแสดงแล้ว ทำไมเรายังงง นี่เป็นนามหรือนี่เป็นรูป งงกันอยู่อย่างนี้แหละ

    ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มีนามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น และมีคำจำกัดความไว้ชัดเจนซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย คือ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้อะไรไม่ใช่สภาพรู้ คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่กระทบสัมผัสอะไรทั้งหมด นั่นคือลักษณะของรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น สภาพรู้ อาการรู้ คือ กำลังเห็น ไม่ใช่คนตาย ใช่ไหม สิ่งที่ต่างกันของคนตายและคนเป็น คือ คนตายไม่เห็น ไม่มีสภาพรู้ คนตายไม่ได้ยิน แม้ว่าเสียงมี แต่สภาพรู้เสียงไม่มี นี่คือความต่างกัน

    ที่จะรู้ว่าลักษณะของนามธรรม หรือสภาพรู้ ธาตุรู้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่บอกตามตำราว่า มีนามธรรมและรูปธรรม และนามธรรมเป็นสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้ ส่วนรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้

    ถึงแม้ว่าจะบอกอย่างนี้ แต่ถ้าไม่พิจารณาในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง รู้สึกบ้าง จะไม่เข้าใจลักษณะของคำว่านามธรรม แต่ถ้าโดยชื่อ ตอบได้ ใช่ไหม คนที่เรียนมากๆ ถามว่า เฉยๆ เป็นอย่างไร ก็บอกว่าเป็นเวทนาขันธ์ ใช้คำว่า ขันธ์ด้วย และอาจจะใช้ภาษาบาลีว่า เป็นอุเบกขาเวทนา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้ความรู้สึกเฉยๆ ของเราในขณะนี้ว่า ไม่ใช่เรา

    ความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความรู้สึกดีใจก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความเจ็บความปวดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเมื่อบอกแล้วว่า ความเจ็บ ความปวด โดยชื่อบอกว่าเวทนา แต่ก็ไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของ สภาพธรรม เข้าใจแต่เพียงชื่อ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องแยกกัน คือ ตอบโดยชื่อ ไม่ใช่ตอบโดยรู้ว่าเวทนาคือความรู้สึก แต่ถ้าเข้าใจว่าเวทนาคือความรู้สึกแล้ว ไม่ต้องถามเลยว่า นี่ขันธ์อะไร นี่บาลีเรียกว่าเวทนาใช่ไหม

    ทุกคนมีความรู้สึก เห็นแล้ว ดีใจไหม ชอบไหม เสียใจไหม โกรธไหม ไม่ดีใจ ไม่สบายใจ รวมที่ใจ คือ ความรู้สึกทั้งหมด ความรู้สึกทุกประเภท ทุกชนิด

    ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาไทย ถ้าพระผู้มีพระภาคเกิดเมืองไทยก็จะบอกว่าความรู้สึกธรรมดาๆ อย่างนี้แหละ ดีใจ หรือเสียใจ หรือเจ็บนี่แหละ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อท่านเกิดที่โน่น และใช้ภาษาบาลี แทนที่จะบอกว่า ความรู้สึก ก็ใช้คำว่า เวทนา แต่ก็หมายความถึงความรู้สึกนั่นเอง อย่างเวลาเจ็บปวด รู้แล้วใช่ไหมว่า เป็นอะไร

    . เวลาเจ็บปวด ก็เป็นความรู้สึก

    สุ. ก็เป็นความรู้สึก ภาษาบาลีเรียกว่า เวทนา เท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นภาษาไทย ก็คือ ความรู้สึกทางกาย

    . เวลาเราปวดท้อง เราก็เพียงแต่กำหนดรู้ว่า มันปวด ไม่ต้องไปแยกว่า นี้เป็นรูป หรือว่าเป็นนาม

    สุ. มันเป็นเราปวด

    . ไม่มีเราปวด

    สุ. ไม่มีเราปวดได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ก็ต้องเป็นเรา ในเมื่อยังไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ใช่ไหม สภาพธรรมมีหลายอย่าง ดีใจก็เกิดขึ้นขณะเดียว ไม่ใช่เสียใจ เสียใจเกิดขึ้นขณะเดียวโดยเหตุโดยปัจจัยและ ดับไป และไม่ใช่ดีใจ เพราะฉะนั้น ปวดก็เหมือนกัน ก็เป็นสภาพธรรมเหมือนดีใจเสียใจ แต่นี่เป็นความรู้สึกเจ็บทางกาย ความทุกข์กายทั้งหมด จะปวด หรือจะคัน หรือจะเจ็บ หรือว่าจะมีอาการอื่นๆ อีกก็ตามแต่ที่กาย ทั้งหมดเป็นสภาพของความรู้สึกทางกาย ซึ่งไม่น่าพอใจ

    . อย่างเวลาปวด รู้สึกว่าเราไม่ชอบ เราอยากจะให้หาย

    สุ. ก็เราหมด เราทั้งนั้นเลย ๑ เราปวด ๒ เราไม่ชอบ ๓ เราอยาก ไม่ปวด และจะบอกว่าไม่ใช่เราได้ไหม ในเมื่อเป็นเราอยู่ตลอด

    . มีความรู้สึกว่า เป็นเราตลอด

    สุ. เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเรา ถูกหรือผิด ในเมื่อความปวดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับ สิ่งที่ดับไปแล้วยังจะบอกว่าเรา หรือของเรา ได้ไหม อะไรก็ตาม อย่างได้ยินเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นและดับไป ได้ยินดับไปแล้ว ยังจะบอกว่า ของฉัน ของฉัน ได้ยินของฉัน ทั้งๆ ที่ได้ยินก็ไม่เหลือเลย หมดเกลี้ยงไปเลย แต่ยังบอกว่าได้ยินเมื่อกี้เป็นของเรา ก็ไม่ถูกต้อง ใช่ไหม

    ความเจ็บก็เหมือนกัน เกิดขึ้นและต้องดับ และเกิดอีก และก็ดับ เพราะว่า มีเหตุที่จะให้ความรู้สึกเป็นทุกข์นั้นเกิดขึ้นตราบใด ความรู้สึกเป็นทุกข์นั้นก็ต้องเกิดขึ้นตราบนั้น แต่ความรู้สึกนั้นที่ต้องรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็เพื่อถ่ายถอนความรู้สึกนั้นว่าเป็นเราออกไป โดยการรู้ว่า ความรู้สึกนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะของจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเมื่อกายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่สบายกาย และต้องดับไปทั้งนั้น

    นี่คือประโยชน์ที่จะรู้ว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพื่อที่จะไม่มีเราเลย สักขณะเดียว ถ้ายังมีเราอยู่ ก็ต้องเป็นทุกข์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๖ ตอนที่ ๑๕๕๑ – ๑๕๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564