แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508


    ครั้งที่ ๑๕๐๘


    สาระสำคัญ

    ส.ส.โคธิกสูตร

    ผู้ที่พร้อมที่จะตาย (เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน - เป็นผู้พร้อม คือ เจริญเหตุ)

    อถ ชาดก เอกนิบาต อถ บุปผรัตตชาดกที่ ๗

    ความยินดีในความเห็นผิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๙


    . ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ว่า ทำไมนั่ง ถ้ายังไม่ศึกษาให้รู้ ก็มีเพียงอยาก ทั้งกลุ่มมีผมแตกกลุ่มมาคนเดียว ถ้ามีโอกาสก็อยากจะคุยให้เขาเข้าใจด้วย

    สุ. แม้เขาจะบอกว่า เขาเห็นนิมิตเหมือนกับนิมิตอย่างอานาปานสติสมาธิในวิสุทธิมรรค จะเป็นปุยนุ่น หรือจะเป็นสร้อยสังวาล หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นเต้นว่า เป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ แต่ต้องสาวไปถึงเหตุ คือข้อปฏิบัติว่า ขณะนั้นสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร ระลึกอย่างไร โยนิโสมนสิการอย่างไร และทำไมจึงเจาะจงอานาปานสติสมาธิ ซึ่งเป็นอารมณ์ของมหาบุรุษ

    สำหรับอานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ยากมาก เพราะถ้าทำผิด ผล คือ อาการโยกโคลง ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกแสดงไว้ชัดว่า ท่านพระมหากัปปินะเป็นผู้ที่เจริญอานาปานสติอยู่เสมอ การนั่งของท่านตรง ไม่มีการหวั่นไหว ไม่มีการโยกโคลงเลย และมีข้อความอธิบายไว้ว่า การปฏิบัติผิดจะทำให้มีการโยกโคลงเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็จะทำอานาปานสติสมาธิ เพราะว่าเป็นอารมณ์ที่ละเอียด และถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ จะเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล เพราะในขณะที่โยกโคลงนั้นไม่ใช่เป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญาต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว

    สำหรับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในอดีตชาติมามาก ถึงขั้นที่สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่บรรลุธรรม ก็ยังฆ่าตัวตายได้ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โคธิกสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ฯ

    ก็สมัยนั้นแล ท่านพระโคธิกะอยู่ที่กาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ (คือ บรรลุฌานสมาบัติ) ภายหลังท่านโคธิกะได้เสื่อมจาก เจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น

    แม้ครั้งที่ ๒ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ได้เสื่อมจากเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์นั้น

    แม้ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ครั้งที่ ๕ ครั้งที่ ๖ ครั้งที่ ๗ ท่านโคธิกะเป็น ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ก็ได้บรรลุเจโตวิมุตติอันเป็นโลกีย์อีก ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราเสื่อมจากเจโตวิมุตติ อันเป็นโลกีย์ถึง ๖ ครั้งแล้ว ถ้ากระไรเราพึงนำศัสตรามา ฯ

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ถามว่า เพราะเหตุไรท่านโคธิกะจึงเสื่อมถึง ๖ ครั้ง

    ตอบว่า เพราะท่านมีอาพาธเรื้อรังประจำตัว โดยเป็นโรคลมดีและเสมหะ ด้วยอาพาธนั้นท่านจึงไม่อาจบำเพ็ญอุปการธรรมให้เป็นสัปปายะของสมาธิได้ และท่านทราบว่า ผู้ที่ฌานเสื่อมแล้วนั้น เมื่อจุติแล้วก็มีคติไม่แน่นอน (คือ ไม่ได้เกิดในพรหมโลก) ท่านจึงคิดที่จะฆ่าตัวตาย ก็ขึ้นชื่อว่าการฆ่าตัวตายนี้ ย่อมมีแก่ผู้ไม่เยื่อใยในร่างกายและชีวิต

    แต่อย่าลืม ด้วยอวิชชาหรือด้วยปัญญา

    เมื่อมารพิจารณารู้ว่า ท่านพระโคธิกเถระจะฆ่าตัวตาย และท่านย่อมจะพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ และย่อมจะบรรลุธรรมได้ถึงพระอรหัต มารก็คิดที่จะให้พระผู้มีพระภาคห้ามท่านพระโคธิกะฆ่าตัวตาย เพราะถ้ามารห้ามเอง ท่านพระโคธิกะก็จะไม่เชื่อ

    กลัวว่าท่านพระโคธิกะจะได้เป็นพระอรหันต์ มารจึงได้เข้าไปเฝ้ากราบทูล พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ และกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตอันตัดเสียซึ่งมานะ ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงกระทำกาละเสียเล่า ฯ

    เพราะไม่ควรฆ่าตัวตายให้ปรากฏแก่มหาชนว่า เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคแล้วยังฆ่าตัวตาย

    ก็เวลานั้น ท่านพระโคธิกะได้นำศัสตรามาแล้ว ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสกะมารว่า

    ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล

    หมายความถึง ย่อมพากเพียรเจริญปัญญา

    ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต โคธิกะภิกษุถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว ฯ

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านยังเป็นผู้มีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ และชีวิตที่จะเป็นไปในวันหนึ่งๆ ย่อมไม่มีใครทราบแน่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ การสะสมในอดีตที่สะสมความพอใจ อาจจะเป็นผู้ที่ชอบการฆ่า หรือเคยฆ่าสัตว์ มามาก ก็มีความโน้มเอียงในการที่จะฆ่าได้โดยง่าย และสำหรับอกุศลวิบากทางกาย ย่อมเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านพระโคธิกะเอง ท่านก็ได้รับทุกข์ทางกายเพราะอาพาธที่เรื้อรังประจำตัว แต่ท่านเป็นผู้มีความเพียรระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนสามารถบรรลุถึงความเป็นอรหัตก่อนที่ ท่านจะสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ทราบว่าความตายจะมาถึงโดยลักษณะใด จึงควรเป็น ผู้ที่พร้อม คือ เจริญเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความตายในลักษณะใดก็ตาม ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ยังไม่ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่กุศลจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ที่เกิดก่อนจุติจะเป็นชนกกรรมทำให้ญาณสัมปยุตต์ปฏิสนธิได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้ และทุกคนหวังที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ที่จะเป็นได้เหมือนอย่างท่านพระโคธิกะ หรือแม้แต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมก่อนที่จะจุติได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐาน นั่นคือผู้พร้อมที่จะตาย

    สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะฟังเรื่องของความตายโดยลักษณะต่างๆ และ รู้ว่า ความตายเป็นของแน่ ควรที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ แต่อกุศลที่ได้สะสมมามากก็ทำให้เป็นผู้หลงลืมสติอยู่เสมอ และมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเป็นประจำ และ ยังมีโทสะ ความขุ่นเคืองใจ เวลากระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่ไม่สามารถให้กิเลสหมดไปได้อย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ฟัง ทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องฟัง และอบรมเจริญปัญญา และเห็นโทษของอกุศลจริงๆ

    แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือ ก่อนนั้น ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ จนกระทั่งถึงในสมัยนี้ ทุกท่านย่อมเห็นกำลังของอกุศลว่า มีมากจริงๆ ในวันหนึ่งๆ

    สำหรับเรื่องของความทุกข์ทางกาย ซึ่งมีมากและเห็นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาล ก็ย่อมมีการเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ต่างๆ และมีโรคบางโรคที่ ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย แต่ก็ซอกแซกเป็นจนได้ ตราบใดที่ยังมี รูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า และสำหรับคนที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมทนได้ทุกอย่าง ไม่ว่าทุกข์ทางกายจะมากมายสักเท่าไรเพื่อที่จะไม่ให้เกิดทุกข์ทางใจ คือ เพื่อที่จะได้สิ่งที่ปรารถนา ที่ต้องการ ยอมที่จะทนความยากลำบากทุกอย่าง ซึ่งทุกท่านควรที่จะพิจารณาข้อความในพระไตรปิฎกเป็นอุทาหรณ์ เป็นตัวอย่างว่า สมควรที่จะให้ความทุกข์นั้นๆ เกิดขึ้นมีกำลังจนกระทั่งทำให้ได้รับความทุกข์ทางกายในสังสารวัฏฏ์ ต่อๆ ไปอีกหรือไม่

    ขอยกเรื่องในอดีตเรื่องหนึ่งให้เห็นความทุกข์ใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์กายอย่างสาหัส แต่ก็ไม่อาจจะพรากจากกิเลสและดับทุกข์ได้ แม้ว่ากำลังมีความทุกข์กาย อย่างมาก

    ข้อความใน อรรถกถาชาดก เอกนิบาต อรรถกถาบุปผรัตตชาดกที่ ๗ มีว่า

    ณ พระวิหารเชตะวัน พระผู้มีพระภาคตรัสอดีตชาติของพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งประสงค์จะลาสิกขาบทกลับไปหาภรรยาเก่าผู้มีรสมืออร่อย จนภิกษุนั้นไม่อาจจะพรากจากกันได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในอดีตชาตินานมาแล้วนั้น ภรรยาเก่าของภิกษุนั้น ก็ได้นำทุกข์อย่างใหญ่หลวงมาให้ภิกษุนั้น

    ในสมัยที่พระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี ครั้งนั้น ในพระนครพาราณสีมีมหรสพกลางคืนวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ผู้คนพากันตบแต่งบ้านเรือนสวยงามราวกับเทพนคร คนทั้งปวงก็มุ่งจะเล่นมหรสพ

    มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง มีผ้าเนื้อแน่นอยู่คู่เดียวเท่านั้น เขาเอามาซักให้สะอาด ฟาดลงเลยขาดเป็นริ้วเป็นรอยนับร้อยนับพัน ครั้งนั้นภรรยาพูดกับเขาว่า ฉันอยากจะนุ่งผ้าย้อมดอกคำสักผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง กอดคอท่านเที่ยวตลอดงานประจำราตรี เดือนกัตติกะ

    เขากล่าวว่า นางผู้เจริญ เราเข็ญใจจะมีผ้าย้อมดอกคำได้ที่ไหน เธอจงนุ่งผ้าขาวเที่ยวเล่นเถิด

    นางกล่าวว่า เมื่อไม่ได้ผ้าย้อมดอกคำ ฉันจักไม่เล่นกีฬาในงานมหรสพละ เธอพาหญิงอื่นเล่นกีฬาเถิด

    เขากล่าวว่า นางผู้เจริญ ทำไมจึงคาดคั้นฉันนักเล่า เราจักได้ผ้าย้อมดอกคำมาจากไหน

    นางกล่าวว่า เมื่อความปรารถนาของลูกผู้ชายมีอยู่ มีหรือจะชื่อว่าไม่สำเร็จ ดอกคำในไร่ดอกคำของพระราชามีมากมิใช่หรือ

    นี่ไม่ใช่คำกล่าวตรงๆ เพียงพูดแนะเท่านั้นเอง

    สามีกล่าวว่า นางผู้เจริญ ที่นั่นมีการป้องกันแข็งแรง เราไม่อาจเข้าไปใกล้ ได้ดอก เธออย่าชอบใจเลย จงยินดีตามที่ได้มาเท่านั้นเถิด

    นี่ก็เห็นกำลังของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่ายังไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิดใดๆ ในเรื่องของโลก ในเรื่องของชีวิต ในเรื่องของกรรม ในเรื่องวิบากเลย แต่ก็เป็นความพอใจซึ่งมีอยู่ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะมีกำลังแรงในขณะไหน เมื่อไร ซึ่งภรรยาก็ไม่ละความปรารถนา และไม่ละความพยายาม ได้กล่าวกับสามีว่า

    เมื่อความมืดในยามรัตติกาลมีอยู่ ขึ้นชื่อว่าสถานที่ที่ลูกผู้ชายจะไปไม่ได้ ไม่มีเลย

    คือ แนะนำกลายๆ ให้แอบไปในตอนกลางคืน ท่านผู้ฟังคิดว่า ความปรารถนาในผ้าย้อมดอกคำผืนหนึ่ง อกุศลจิตชวนะต้องเกิดมากมายเท่าไร ยังไม่ทันจะได้มาเลย เพราะฉะนั้น ชีวิตของแต่ละคน ทันทีที่เกิดความปรารถนา ความต้องการ ไม่ว่าจะต้องการรูป ต้องการเสียง ต้องการกลิ่น ต้องการรส ต้องการสัมผัสใดๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า กว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้แต่ละครั้งๆ อกุศลชวนจิตเกิดมากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครละ ไม่มีใครเลิก ยังมีคนพยายามที่จะให้ความหวังหรือความต้องการนั้นสำเร็จไป แม้ว่าอกุศลจะมากมาย สักเท่าไรก็ตาม

    เมื่อภรรยาพูดเซ้าซี้อยู่บ่อยๆ อย่างนี้ เขาก็เชื่อถือถ้อยคำของนางด้วยอำนาจกิเลส พอถึงเวลากลางคืน ก็เสี่ยงชีวิตออกจากพระนครไปสู่ไร่ดอกดำของหลวง ปีนรั้วเข้าไปในไร่ พวกคนเฝ้าไร่ได้ยินเสียงต่างร้องว่า ขโมย ขโมย แล้วล้อมจับไว้ได้ ช่วยกันรุมจับทำร้าย มัดไว้ ครั้นสว่างแล้วก็พาไปมอบพระราชา

    พระราชารับสั่งว่า ไปเถิดพวกเจ้า จงเอามันไปเสียบเสียที่หลาว

    คนเหล่านั้นมัดเขาไพล่หลัง พาออกจากเมือง โดยมีคนตีกลองประกาศโทษประหารตามไปด้วย แล้วเอาไปเสียบที่หลาว เขาเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส

    คิดดู ถูกเสียบหลาวทั้งเป็น

    ฝูงกาพากันไปเกาะที่ศีรษะ จิกนัยน์ตาด้วยจะงอยปากอันคมเหมือนปลายคีม เขาไม่ได้ใส่ใจทุกข์แม้จะสาหัสเพียงนั้น คิดถึงแต่หญิงนั้นอย่างเดียว รำพึงว่า เราพลาดโอกาสจากงานประจำราตรีในเดือนกัตติกะ กับนางผู้นุ่งผ้าย้อมด้วยดอกคำ แล้วกล่าวคาถามีความว่า ที่เราถูกหลาวเสียบนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ ที่ถูกกาจิกเล่าก็ ไม่เป็นทุกข์ เราทุกข์อยู่แต่ว่า นางผิวทองจักไม่ได้นุ่งห่มผ้าย้อมดอกคำ เที่ยวงานประจำราตรีแห่งเดือนกัตติกะ ดังนี้

    นี่คือความทุกข์ใจ ทุกข์กายที่ว่ามีมากบางคนทนได้ แต่ว่าทุกข์ใจ ก็ยังคง คร่ำครวญพร่ำเพ้อบ่นถึงภรรยาอยู่อย่างนี้จนตายไปเกิดในนรก

    เพราะฉะนั้น น่าจะเห็นโทษ แต่ก็ไม่เห็นจริงๆ จนกว่าปัญญาจะเกิดและรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสตามลำดับขั้น ซึ่งยังไม่ใช่ การดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ต้องดับ ความยินดีในความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน และความเห็นผิดอื่นๆ ทั้งหมดก่อน มิฉะนั้น จะไม่สามารถดับกิเลส ใดๆ ได้เลย

    ยังคงเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม ทุกคน ชีวิตของท่านต้องได้รับความทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจยังคงมีอยู่มากกว่าทุกข์กายได้ เปรียบเทียบดูว่า ถ้ากลัวทุกข์กายอย่างนั้น จะดับได้อย่างไร เพราะแม้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังมี อกุศลวิบากทางกาย หรือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น จนกว่าจะปรินิพพาน

    เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นโทษจริงๆ ก็จะเป็นอนุสสติที่เตือนให้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันทีได้ นี่เป็นโทษของโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็ยังทำให้เกิดการกระทำที่เป็นอกุศลกรรม

    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง ที่พูดถึงอเหตุกจิต ไม่ใช่พูดถึงจิตอื่นเลย ในขณะนี้เอง เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อ

    การที่ได้กล่าวถึงจิตที่เป็นกามาวจรจิต ที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะโดยละเอียด พร้อมทั้งตัวอย่างในพระสูตร ก็เพื่อให้ระลึกว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของกรรมและวิบาก คือ อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง เป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ เมื่ออกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้กระทำสำเร็จ ลงไปแล้วย่อมมีผล ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ และผลนั้นคืออกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกจิตในชีวิตประจำวัน

    สำหรับอเหตุกวิบาก ๑๕ ดวงที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ อย่างละ ๒ ดวง ก็เป็น ๑๐ ดวง

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็ง่าย จักขุวิญญาณกุศลวิบาก คือ จิตเห็นสิ่งที่ดีๆ เป็นผลของกุศลกรรม ๑ ดวง จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก คือ จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม ๑ ดวง นี่ทางตาที่เห็นเป็นปกติ ซึ่งอาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า ขณะไหนเป็นอกุศลวิบาก ขณะไหนเป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเห็น สิ่งที่ไม่พอใจ น่ารังเกียจ รู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้ว

    ทางหู ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบาก เป็นผลของกรรมของตนเองที่ได้กระทำไว้

    ทางจมูก ได้กลิ่นที่ไม่ดีขณะใด ก็เป็นผลของอดีตกรรมที่เป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะนั้นก็เป็นฆานวิญญาณอกุศลวิบาก

    ทางลิ้น ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก

    ทางกาย เกิดเจ็บแม้สักเพียงเล็กน้อย ยุงกัด หรือคันนิดคันหน่อย หรืออะไร ก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นกายวิญญาณอกุศลวิบากที่เป็นผลของอกุศลกรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 92
    28 ธ.ค. 2564