แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
ครั้งที่ ๑๕๐๙
สาระสำคัญ
ผลของอกุศลกรรม (อกุศลวิบาก ๗ ดวง)
อรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต
ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน (ผู้ที่รู้ตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๒๙
โดยมากทุกท่านต้องการกุศลวิบากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งแต่ละท่านจะทราบได้ว่า ชีวิตของท่านในชาติหนึ่งๆ นั้น ขณะใดเป็นผลของอกุศลกรรม และขณะใดเป็นผลของกุศลกรรม
ถ้าจะกล่าวเพียงแต่ว่า การรับผลของกรรม คือ ตื่นขึ้นมาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้ากล่าวสั้นๆ เพียงเท่านี้ จะพอไหม ซึ่งก็เป็นความจริง ทุกคนจำได้ง่ายๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทางตาก็จักขุวิญญาณ ทางหูก็โสตวิญญาณ ทางจมูกก็ฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็ชิวหาวิญญาณ ทางกาย ก็กายวิญญาณ อกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ รวมเป็น ๑๐ ดวง ก็น่าจะพอแล้ว ใช่ไหม
แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า การที่จะดับกิเลสโดยไม่ฟังเรื่องของธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับอย่างละเอียด จะไม่ทำให้เข้าใจสภาพที่ไม่เที่ยงซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมากได้ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแสดงเรื่องของจิต เจตสิก และรูปโดยละเอียด เพื่อที่จะให้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว แม้ในขณะที่เข้าใจว่า กำลังเห็นและไม่ดับเลย จะมีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้คลายแม้ ในขั้นของการฟังว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คงจำได้และไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ควรทราบว่า อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ได้ให้ผลเพียงแค่ทำให้ปัญจวิญญาณ ๕ ดวง ที่เป็นอกุศลวิบากเกิด แต่อกุศลจิต ๑๒ ดวงที่ได้กระทำอกุศลกรรมสำเร็จไปแล้ว จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก ๗ ดวง สำหรับ ๕ ดวง คือ จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑
เพราะฉะนั้น จะได้กล่าวถึงอีก ๒ ดวง ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรม นอกจากนั้นจะไม่มีอกุศลวิบากอีกเลย เพราะว่าอกุศลวิบากจิตมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น
บางท่านบอกว่าชื่อยาก ชื่อยากก็หมดไปแล้ว ๕ ชื่อ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะฉะนั้น เหลืออกุศลวิบากอีก ๒ ดวงเท่านั้น คือ สัมปฏิจฉันนจิตอกุศลวิบาก ๑ ดวง และ สันตีรณจิตอกุศลวิบาก ๑ ดวง
นี่เป็นผลของอกุศลกรรม
ถ้าเป็นผู้ที่กระทำอกุศลกรรมไว้แล้ว น่าที่จะรู้จักผลของอกุศลกรรมว่า มีอกุศลวิบาก ๗ ดวง
ขอทวนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ชินกับชื่อ
อเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง
วิบากจิต ๑๕ ดวง ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง และสันตีรณจิต ๓ ดวง
สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง
สันตีรณจิต ๓ ดวง ที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง ที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง
การกล่าวถึงจิต จำเป็นต้องกล่าวถึงเวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพื่อจำแนกจิตออกเป็นประเภทๆ อย่างสันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากจิต มี ๓ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง สำหรับกุศลวิบาก ๒ ดวง ถ้าไม่จำแนกโดยเวทนา จะไม่สามารถแยกจิต ๒ ดวงนี้ได้ ฉะนั้น เมื่อสันตีรณจิตมี ๓ ดวง จึงเป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา และเป็นกุศลวิบาก ๒ ดวง ดวงหนึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อีกดวงหนึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา คือ จำแนกสันตีรณกุศลวิบากเป็น ๒ ดวง เพราะต่างกันที่เวทนาเจตสิก
ขณะนี้ก็มี จักขุวิญญาณก็เกิด โสตวิญญาณก็เกิด กายวิญญาณก็เกิด สัมปฏิจฉันนะก็เกิด สันตีรณะก็เกิด เพียงแต่เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่สามารถรู้ว่า เป็นจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดเพราะปัจจัยต่างๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ ใครจะสามารถรู้ได้ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ก็ได้ทรงแสดงเรื่องของจิต โดยละเอียด เพื่อให้พิจารณาเห็นว่า แม้ในขณะที่เห็นนิดเดียว สั้นสักเท่าไรก็ตาม จิตเกิดดับเท่าไร ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจักขุวิญญาณดวงเดียวเท่านั้น
สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต ต้องเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณ เพราะว่ากรรมใดก็ตามที่จะให้ผล ต้องมีจิตที่เป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงจะเป็นการรับผลของกรรม ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วนอน นิ่งเฉยๆ หลับสนิทอยู่เรื่อยๆ อย่างนั้นจะไม่มีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเลย แต่กรรมไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับ และก็เป็นภวังค์ แต่ต้องมีการรับผลของกรรม แล้วแต่ว่ากรรมนั้นจะให้ผลทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
และสำหรับจิตที่จะเป็นสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ต้องเป็นวิบากจิต จิตอื่นที่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่ผลของกรรม
ต้องทราบว่า จักขุวิญญาณเป็นวิบาก โสตวิญญาณเป็นวิบาก ฆานวิญญาณเป็นวิบาก ชิวหาวิญญาณเป็นวิบาก กายวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบาก สันตีรณจิตเป็นวิบาก
กรรมไม่ได้ทำให้เพียงจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ แต่ยังทำให้ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดสืบต่อ
ที่ชื่อว่าสัมปฏิจฉันนจิต เพราะว่าเป็นจิตที่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ หรือฆานวิญญาณ หรือชิวหาวิญญาณ หรือกายวิญญาณนั่นเอง
ถ้าเห็นแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อเลย ก็ ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม เห็นแล้วก็หมด ได้ยินแล้วก็หมด ได้กลิ่นแล้วก็หมด ลิ้มรสแล้ว ก็หมด หรือเพียงแค่ทุกขเวทนาทางกายชั่วขณะจิตเดียวที่เกิดกับกายวิญญาณ และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจิตอื่นที่เป็นวิบากไม่เกิดขึ้นต่อ ผลของกรรมก็น้อยไป
เพราะฉะนั้น นอกจากทวิปัญจวิญญาณแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจาก จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
ขณะนี้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้น จะรู้ดี หรือไม่รู้ดี
ทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อทุกครั้ง ดีไหมที่ทราบ ดีกว่าไม่รู้ จะได้เห็นความไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอนเลยของจักขุวิญญาณ เกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วดับ แต่ทำไมดูเหมือนไม่ดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิด รับอารมณ์นั้นต่อ
ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงลักษณะของสัมปฏิจฉันนจิต คือ
จักขุวิญญาณาทีนัง อนันตรรูปาทิวิชชานนลักขณา มีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ
หมายความว่า เมื่อจักขุวิญญาณ เห็น ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะรับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ เมื่อโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับเสียงนั้นต่อ เมื่อฆานวิญญาณเกิดขึ้นได้กลิ่น ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับรู้กลิ่นนั้นต่อ เมื่อชิวหาวิญญาณลิ้มรสแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้รสนั้นต่อ เมื่อกายวิญญาณรู้โผฏฐัพพะแล้วดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพะนั้นต่อ
รูปาทีนัง สัมปฏิจฉันนรสา มีการรับอารมณ์มีรูปเป็นต้นเป็นรสะ คือ เป็นกิจ ตถาภาวปัจจุปัฏฐานา มีภาวะอย่างนั้น คือ เป็นภาวะที่รับอารมณ์ เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
จักขุวิญญาณาทิ อปคมนปทัฏฐานา มีความไปปราศของจักขุวิญญาณ เป็นต้นเป็นปทัฏฐาน
คือ ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลย นอกจาก สัมปฏิจฉันนจิต เช่นเดียวกับทางหู เวลาที่โสตวิญญาณดับ จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้เลยนอกจากสัมปฏิจฉันนจิต ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทราบแล้วว่า ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ
ถ. เรื่องอเหตุกจิต โดยเฉพาะทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ก็รู้ตามตำราว่า มีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นเรื่องที่ยาก ลำบากจริงๆ ที่เราจะประจักษ์ ผมอ่าน ตำราที่อาจารย์เขียน แนวทางเจริญวิปัสสนา มีตอนหนึ่งที่ว่า
เมื่อมีสติรู้สภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว จะต้องรู้ด้วยว่า ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมนั้น มีสภาพธรรมที่แท้จริงที่เป็นลักษณะที่ปรากฏ หรือไม่
หมายความว่า เมื่อสติเกิดขึ้นแล้วยังไม่พอ จะต้องรู้ด้วยว่า สติที่เกิดขึ้นนั้น รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นแล้วหรือยัง
ผมฟังอาจารย์พูดเรื่องทวิปัญจวิญญาณ สติก็เกิดยากแสนยากแล้ว และเมื่อเกิดแล้วก็ยังไม่ค่อยรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่ทราบว่า อาจารย์จะช่วยสงเคราะห์อย่างไรบ้าง เพื่อเกื้อกูลให้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะ ที่เห็น ที่ได้ยิน
สุ. นี่เป็นความต่างกันของปริยัติกับปฏิบัติ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงตามที่ทรงตรัสรู้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ตรัสรู้ ยังไม่ประจักษ์ลักษณะ ของสภาพธรรม เพียงขั้นการฟัง ก็จะต้องฟังโดยการพิจารณา และต้องมี โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาตามลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจ ด้วย ความแยบคายโดยถูกต้อง จึงจะรู้ว่า นามธรรมมี
ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีแน่นอน ทุกคนไม่ปฏิเสธ เพราะว่าปรากฏ แต่ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะปรากฏไม่ได้ถ้าไม่มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งเห็น
ที่กำลังปรากฏนี่ ต้องมีเห็น ถ้าไม่เห็น เช่น กำลังได้ยิน สีสันวัณณะจะ ปรากฏรวมกับเสียงไม่ได้
เพราะฉะนั้น แม้แต่ในขั้นของการฟัง ต้องรู้ว่านามธรรมมี แต่เมื่อนามธรรมไม่ใช่สิ่งที่เหมือนรูป หรือเหมือนเสียง หรือเหมือนกลิ่น หรือเหมือนรส หรือเหมือนโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัส หรือใช้หูฟัง ใช้จมูกดม แต่นามธรรมเป็นธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูป ใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่อาการรู้นั้นมี ถ้าอาการรู้ไม่มีก็ไม่เห็น ก็ไม่ได้ยิน ก็ไม่ได้กลิ่น ก็ไม่ได้ลิ้มรส ก็ไม่ได้คิดนึก ฉะนั้น ในขณะที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีในชีวิตประจำวัน ก็ต้องอาศัยการพิจารณาเพื่อให้สติระลึกในลักษณะที่กำลังปรากฏ เช่น เห็น รู้ว่า ต้องมีสภาพรู้ ต้องเป็นอาการรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาจึงจะปรากฏได้
ไม่มีวิธีอื่นเลย นอกจากทรงแสดงสัจธรรม ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ให้ได้พิจารณาจนกระทั่งสติระลึก จนกระทั่งปัญญาพิจารณาและค่อยๆ รู้ขึ้น
ถ. ทั้งๆ ที่เห็น ทุกคนก็เห็นทั้งนั้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสภาพที่เห็น ลักษณะที่เห็นเป็นอย่างไร เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ลักษณะที่แท้จริงของสภาพเห็น อาการเห็นนั้นเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ
สุ. แต่มี ใช่ไหม
ถ. รู้ว่ามี แต่ไม่ประจักษ์
สุ. ก็เป็นความจริง ทุกคนรู้ว่ามี เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม หรือไม่รู้ว่านามธรรมเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น
แสดงให้เห็นว่า อวิชชา ความไม่รู้ มาก ถ้าทุกคนรู้ได้อย่างรวดเร็ว พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคงจะไม่ถึงกับไม่น้อมพระหฤทัยที่จะทรง แสดงธรรมเมื่อทรงตรัสรู้ ใช่ไหม
ถ. ผมอ่านเรื่องพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ท่านทะเลาะกันด้วยเรื่องเล็กน้อย พระพุทธองค์ทรงประนีประนอมให้คืนดีกัน ไม่ให้ทะเลาะกัน ก็ยังดื้อ คงจะเหมือนพวกเรานี่แหละที่ดื้อต่อคำสอน สอนเท่าไรๆ ก็ไม่ค่อยจะรู้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้น ปรากฏอยู่ อย่างเห็นนี่ ก็ยังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพเห็น อาการเห็น หรือสภาพได้ยิน อาการได้ยิน เป็นอย่างไรก็ยังไม่ประจักษ์ แสดงว่าจิตใจของมนุษย์ปุถุชนนี่ดื้อมากจริงๆ
สุ. ค่อยๆ พิจารณาว่า ตอนหลับสนิท ทั้งๆ ที่มีจิต แต่ก็ไม่มีใครเห็นอะไร หลับสนิทมีจิต ไม่ใช่คนตาย จิตต้องเกิดดับดำรงภพชาติ มีอารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะว่าไม่ใช่สีสันวัณณะของโลกนี้ซึ่งจะเห็นได้ทางตา ไม่ใช่เสียงของโลกนี้ ซึ่งจะรู้ได้ทางหู ค่อยๆ เทียบเคียงไป กำลังหลับไม่เห็น แต่ตื่นขึ้นมาเห็น ก็ต้อง เป็นสภาพรู้ ใช่ไหม
ค่อยๆ คิด นอนหลับไม่เห็น เพราะฉะนั้น ทันทีที่ลืมตาเป็นสภาพรู้แล้ว คือ เห็น ลักษณะรู้อย่างหนึ่ง คือ เห็น
ต้องพิจารณา ขณะหลับตา หลับสนิท ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ทันทีที่เห็น ต้องเป็นสภาพรู้ เท่านี้เอง
หลับสนิทไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่เมื่อได้ยินเสียง นั่นเป็นธาตุรู้ รู้อะไร รู้เสียง เสียงปรากฏให้รู้จึงรู้เสียง ในขณะนั้นไม่มีใครบันดาลให้โสตวิญญาณเกิดได้เลย ถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาท ไม่ใช่ว่ามีจิตที่คอยอยู่ก่อนและจะเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน
จิตอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม นามธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ตามชนิด ตามประเภท
ขณะที่ตื่น ใครจะรู้ได้ว่า อะไรจะปรากฏก่อนทางทวารไหน จะเป็นการรู้ ทางกาย หรือจะเป็นการได้ยินเสียง หรือจะเป็นการได้กลิ่น ไม่มีใครสามารถตระเตรียมอะไรได้เลย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่รู้ตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย และค่อยๆ พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจในลักษณะของสภาพรู้ จนกว่าสภาพรู้จะปรากฏจริงๆ
และเวลาที่สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ก็พิจารณาดูว่า จะต่างกับ โลกที่เคยปรากฏไหม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๑ ตอนที่ ๑๕๐๑ – ๑๕๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1501
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1502
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1503
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1504
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1505
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1506
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1507
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1508
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1509
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1510
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1511
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1512
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1513
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1514
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1515
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1516
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1517
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1518
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1519
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1520
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1521
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1522
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1523
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1524
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1525
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1526
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1527
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1528
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1529
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1530
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1531
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1532
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1533
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1534
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1535
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1536
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1537
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1538
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1539
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1540
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1541
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1542
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1543
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1544
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1545
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1546
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1547
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1548
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1549
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1550
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1551
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1552
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1553
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1554
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1555
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1556
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1557
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1558
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1559
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1560