แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561


    ครั้งที่ ๑๕๖๑


    สาระสำคัญ

    ตอบปัญหาธรรมที่กุรุน้อย ราชบุรี

    ไม่มีเราสักขณะเดียว

    ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ปัญญาขั้นฟังไม่สามารถดับกิเลสได้

    จังกะมะ หมายความถึงการก้าวไปตามลำดับ

    กรรมคือเจตนา


    ที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี

    วันเสาร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๙


    ถ. อย่างนี้ความรู้สึกที่ว่า เราๆ ก็เป็นอุปาทาน

    สุ. แน่นอน เป็นความเข้าใจผิด

    ถ. เป็นอุปาทาน

    ส. อุปาทานหมายความว่าอะไร

    ถ. คือ ความหลงผิดไปยึด

    สุ. ความยึดมั่นในทุกสิ่งทุกอย่าง

    ถ. อย่างเรื่องเมตตาอาจารย์อธิบายว่า เราเจริญเมตตาเป็นการดี แต่ขณะที่ให้เจริญเมตตาก็ให้ระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ใช่เราเป็นผู้เจริญเมตตา

    สุ. ไม่ใช่ให้ระลึกอยู่เสมอ แต่ต้องรู้ว่าธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตนเลย สักอย่างเดียว สัพเพ ธัมมา อนัตตา พูดตามได้ แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจตาม ค่อยๆ รู้ตาม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งตามความเป็นจริงๆ อย่างที่พูด

    ถ้าพูดว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา เป็นความจริง แต่จริงขั้นพูดตาม ถ้าสัพเพ ธัมมา อนัตตา แต่กำลังเห็นเป็นเราเห็น ไม่ตรงแล้ว ใช่ไหม กำลังได้ยิน เป็นเราได้ยิน ก็ไม่ตรงกับสัพเพ ธัมมา อนัตตาอีก

    และที่ว่าปัญญาต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะละความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เมื่อปัญญาเจริญขึ้นนั้น ก็ ไม่ได้หมายความว่ามีวิธีให้เราไปทำ

    โดยมากทุกคนจะคิดถึงวิธี ไปถึงก็ถามว่าปฏิบัติอย่างไร ไม่ได้ถามเลยว่า จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างไร ทางตากำลังเห็นจะต้องเข้าใจว่าอย่างไร จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ไม่ถาม แต่ถามว่าจะทำอย่างไร โดยที่ไม่คิดถึงความรู้เลย ใช่ไหม

    ถ. พอจะเข้าใจได้โดยหลักเหตุผลที่อาจารย์อธิบายมา แต่ตามความ เป็นจริงแล้วทำไม่ได้

    สุ. ทำไม่ได้แน่ รับรองว่าไม่มีอัตตาตัวตนที่จะทำได้ แต่ถ้าเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาอีกระดับหนึ่ง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงคิดเรื่อง ของธรรมและเอามาสอนที่จะว่าระดับความรู้ของท่านเท่ากับที่เราฟังแล้วเข้าใจ แต่ต้องเป็นการประจักษ์แจ้งแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ในขณะนี้ ซึ่งนั่นเป็นปัญญาที่ได้อบรมแล้ว และได้ทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้ถึงขั้นนั้น ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์แจ้งเป็นพระอริยสาวกก็มีเป็นจำนวนมาก

    เพราะฉะนั้น ระดับขั้นของปัญญามีต่างขั้น เพียงขั้นการฟังละกิเลสไม่ได้เลย แต่ปัญญาที่จะดับกิเลส ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ต้องถึงขั้นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ซึ่งขณะนี้สภาพธรรมก็กำลังเกิดดับ แต่อวิชชาไม่สามารถประจักษ์แจ้งความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ เพราะว่าอวิชชาเป็นสภาพไม่รู้ มีกิจปิดบังลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ให้เห็นตามความเป็นจริง ทางตาต้องดับ ทางหูจึงจะได้ยิน แม้เข้าใจอย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่อวิชชาจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและ ดับไปได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน ๔ มัชฌิมาปฏิปทาที่จะทำให้สามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมในขณะนี้นอกจาก จะไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลแล้ว ยังเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วด้วย

    ถ. พระพุทธพจน์ที่ว่า อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ขอให้อาจารย์อธิบาย รู้สึกว่าจะขัดแย้งกัน

    สุ. หมายความว่า คนอื่นดับกิเลสของเราไม่ได้

    ถ. อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ฟังดูก็มีตัวมีตน

    สุ. ต้องเข้าใจว่า ธรรมต้องประกอบกันหมด แม้แต่คำที่ใช้ว่า เรา หรือ เขา หรือแม้แต่คำว่า ตถาคต ก็ต้องมีความหมายว่า ไม่ได้หมายความถึงขันธ์อื่น ไม่ได้หมายความถึงรูปขันธ์นามขันธ์อื่น แต่หมายความถึงรูปขันธ์นี้ นามขันธ์นี้ จึงใช้คำนี้เพื่อให้เข้าใจ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของภาษาที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่สมมติก็ไม่เข้าใจ

    แม้แต่ในที่นี้ มีเห็นเหมือนกัน มีจักขุปสาทรูปเหมือนกัน มีหูเหมือนกัน มีได้ยินเหมือนกัน จึงต้องตั้งชื่อเพื่อจะได้เรียกถูกว่าหมายความถึงใคร ทางโน้นก็มี จักขุปสาท ทางนี้ก็มีจักขุวิญญาณ ทางโน้นก็มีโสตวิญญาณ ก็มีเพียงการได้ยินบ้าง การเห็นบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การคิดนึกบ้างเท่านั้น แต่เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงขันธ์ไหน จึงต้องตั้งชื่อ เพื่อที่จะเรียกได้ถูก

    ถ. อย่างนี้คำว่า อัตตา ก็เป็นคำที่สมมติขึ้นมา

    สุ. ทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งแสดงว่า คนอื่นดับกิเลสให้ไม่ได้ แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ดับกิเลสให้ใครไม่ได้ นอกจาก คนนั้นเองจะต้องอบรมเจริญปัญญาของตัวเอง

    ถ. ที่พระพุทธเจ้าให้ภิกษุเดินจงกรม และทำสถานที่จงกรม อยากรู้ว่า การเดินจงกรมนี้เพื่ออะไร ฟังในเทป อาจารย์ไม่ค่อยพูดถึงเลยในเรื่องเดินจงกรม

    สุ. จังกะมะ หมายความถึงการก้าวไปตามลำดับ ซึ่งได้แก่เดินผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าภิกษุท่านไม่มีกิจอย่างคฤหัสถ์

    ถ. ขอโทษ อาจารย์เคยเดินจงกรมบ้างหรือเปล่า

    สุ. หมายความว่าอย่างไร เดินจงกรม ในเมื่อการจงกรมหมายถึงการ ก้าวไปตามลำดับ ศัพท์ว่า จังกะมะ หมายความว่าการก้าวไปตามลำดับ ภาษาธรรมดาก็คือเดิน และสำหรับพระภิกษุท่านเดินผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าท่านไม่มีกิจอย่างคฤหัสถ์ จะให้ท่านนั่งอยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่อิริยาบถไม่สม่ำเสมอ

    ถ. คือ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ

    สุ. และขณะที่เป็นพระภิกษุท่านก็มีกิจของท่าน คือ เป็นผู้มีปกติเจริญ สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็คือเป็นผู้ที่เจริญ สติปัฏฐานนั่นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องมีการเดินอีกอย่างที่ท่านถามดิฉันเมื่อสักครู่นี้ว่า ดิฉันจงกรมหรือเปล่า

    ถ. เรื่องความคิดของคน คิดไปในทางกุศลก็มี คิดไปในทางอกุศลก็มี เคยได้ยินมาว่า สิ่งที่คิดทั้งหลายนี้ไม่ได้ให้เกิดวิบากในอนาคต แต่เป็นอกุศลจิต ที่เกิดขึ้นภายในจิต ผมอยากจะทราบว่า การคิดอกุศลทั้งหลายนั้น เราจะไม่ได้รับผลของกรรมนั้นบ้างหรือ

    สุ. แล้วแต่กำลังของเจตนา เพราะว่ามีมโนกรรมด้วย ถ้าคิดถึงอย่างนี้ บางคนก็จะเอาเหตุการณ์ในแต่ละวันๆ มานั่งคำนวณ มานั่งขีดเส้นว่า อันนี้ถึงขั้นกรรมหรือยัง หรืออันนี้เป็นแต่เพียงขั้นอกุศลจิต

    แต่ดิฉันคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานช่วยให้เห็นอกุศลแม้เล็กน้อยตามความ เป็นจริง เพื่อจะได้เกิดหิริโอตตัปปะ และแล้วแต่กำลังของปัญญาว่าจะละได้ หรือละไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมานั่งคำนวณคิดว่า อันนี้จะเป็นกรรมที่ให้ผล หรือเปล่า

    ถ. คิดว่า ในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต เมื่อมีอกุศลมากกว่าคงจะไม่พ้นนรกแน่ๆ มองเห็นรำไรๆ อยู่แล้ว เพราะในวันหนึ่งๆ จิตของเรา ก็ไม่ได้เป็นกุศลมากมายอะไรนัก เพียงแต่เกิดขึ้นวันละเล็กละน้อย นอกนั้น เป็นอกุศลจิตหมด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็นึกถึงนรก มองเห็นอยู่แล้ว ไม่มีทางใดเลย แต่เมื่อมาคำนึงถึงว่า อกุศลจิตที่เพียงแต่คิดขึ้นมานั้นไม่ทำให้เกิดวิบาก เลยคิดว่า นี่คงรอดนรกได้

    สุ. กรรมอะไรทำให้มาเกิดในมนุษย์โลกนี้ ทุกคนผ่านนรกมาแล้ว ใช่ไหม มาเกิดในภูมิมนุษย์ต้องด้วยผลของกุศลกรรม ฉันใด กุศลกรรมชาตินี้ก็มีโอกาสที่จะ ทำให้วิบากเกิดขึ้นในสุคติภูมิ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ชาติก่อนยังรอดมาได้ มาเกิด ในโลกนี้ได้อย่างไร ใช่ไหม เพราะฉะนั้น กุศลกรรมที่ทำไว้ก็พาต่อไปที่จะให้เกิดใน สุคติภูมิ แต่ต้องไม่ประมาท คือ ไม่ทำอกุศลกรรมบถ

    ถ. เราเป็นผู้สร้างอกุศลกรรม มีวิบากกรรม และต้องไปรับวิบากของอกุศลกรรม เรียนถามว่า ใครเป็นผู้สร้าง ใครเป็นผู้รับ

    สุ. เจตนาเป็นตัวกรรม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ

    ถ. เจตนาเป็นผู้รับวิบากกรรม

    สุ. มิได้ เจตนาเป็นกรรม วิบากหมายความถึงผลของกรรม

    ถ. แล้วใครเป็นผู้รับวิบาก

    สุ. ตัววิบากเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม

    ถ. ใครเป็นผู้รับผล

    สุ. วิบาก ไม่มีตัวอีกต่างหาก

    ถ. มีใครเป็นผู้ทำหรือเปล่า

    สุ. กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล เจตนา คือ กรรม เป็นเหตุ วิบากเป็นผล อยากรู้จักวิบากไหมวันนี้ กำลังเห็นนี่เป็นวิบาก กำลังได้ยินเป็นวิบาก ตัวหรือเปล่า ใครหรือเปล่า

    ถ. เป็นอันที่สะสม

    สุ. มิได้ กำลังเห็นนี้เป็นตัว เป็นใครหรือเปล่า ได้ยินในขณะนี้เป็นวิบาก เป็นตัว เป็นใครหรือเปล่า ในเมื่อวิบากเกิดขึ้นและดับไปแล้ว เป็นใครที่ไหน เกิดขึ้นและก็ดับไปอีก เป็นใครที่ไหน นี่คือวิบาก

    ถ. และมีการส่งผลไป

    สุ. วิบากเป็นผลของกรรม กรรมเป็นเหตุ วิบากเป็นผล

    ถ. สมมติว่าเราสะสมทรัพย์สมบัติไว้ ก็เหมือนเราสะสมกรรมไว้ เปรียบเทียบอย่างนี้ได้ไหม และเราก็มีการส่งผลไป เช่น ส่งไปให้ทายาท

    สุ. นี่มีตัว

    ถ. ผมก็ยังมีความรู้สึกว่า จะต้องมีการให้และต้องมีการรับ

    สุ. ตอนเกิดมา ใครส่งมาเกิด

    ถ. ไม่ทราบ

    สุ. กรรม ถ้าไม่มีกรรมก็ไม่ต้องเกิด จะเห็นได้ว่า แม้แต่ตอนเกิดก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน ใช่ไหม แต่ให้ทราบว่า ขณะที่เกิด กรรมเป็นเหตุทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่ง เป็นวิบากเกิดขึ้น และเกิดมาแล้ว ใครส่งมาให้นั่งขณะนี้ ต้องมีตัวคนส่งไหม หรือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันตามเหตุตามปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่หมดกรรม ก็ต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีการเกิดหลังจากที่ ตายแล้วอีก ซึ่งเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครส่ง เป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งนั้น

    ถ. อย่างคำว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ถ้าจะเปรียบกับสภาวะของธรรมชาติ น้ำกลายเป็นไอขึ้นไป กลายเป็นเมฆ และกลายเป็นหยดน้ำฝนตกลงมาเป็นน้ำอีก เปรียบเทียบอย่างนี้ได้ไหม

    สุ. นี่คิดเอง จะเป็นตำราเป็นเล่มๆ ใครจะเขียนแบบไหนอย่างไรก็ได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ครบถ้วนในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องไปแบบอื่นอีก สิ่งที่มีอยู่ ศึกษาให้เข้าใจในเรื่องเหตุเรื่องผล

    ถ. ถ้าพูดกรรม พูดวิบาก รู้สึกว่าไม่เข้าใจ

    สุ. ไม่เข้าใจ เราก็ต้องเห็นว่า กรรมได้แก่เจตนา เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศล ก็มี มีจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่มี ... มี เมื่อกุศลมี อกุศลมี ซึ่งเป็นเหตุ ผลคือเห็น มีไหม ... มี ได้ยินมีไหม ... มี นี่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เห็น ได้ยิน คือ ผลของกรรม ไม่ใช่พระองค์ไม่ได้ทรงแสดงอะไรเลย แต่ทรงแสดงสภาพธรรมที่มี และชี้ให้เห็นว่า ขณะไหนเป็นเหตุ ขณะไหนเป็นผล

    ถ้ากุศลมี ขณะนั้นไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน คนละขณะ ทุกคนเห็นเหมือนกัน แต่ใจไม่ดีก็เกิดขึ้น หรือใจดีก็เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เห็นสิ่งเดียวกัน ก็แสดงว่า สภาพของเห็นไม่ใช่ขณะที่ดีเป็นกุศล หรือขณะที่ไม่ดีเป็นอกุศล ใช่ไหม จึงต้องแยกกันว่า เห็น ส่วนหนึ่ง และเจตนาซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศลก็อีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น เจตนาที่เป็นกุศลเกิดขึ้นและดับไป จึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเห็น การได้ยินสิ่งที่ดีต่างๆ

    ถ. พูดโดยสมมติ ตัวเจตนาเป็นเราได้ไหม คือ เราเป็นผู้เจตนา

    สุ. เจตนาดับไปแล้ว เราอยู่ที่ไหน สิ่งที่ดับไปแล้ว เกิดขึ้นมาและดับไป อย่าไปถือว่าเป็นเราเลย ไปหาที่ไหนก็ไม่มีอีกแล้ว และยังจะว่าเป็นเราได้อย่างไร ถ้าหาได้ หาเจอ จะยอมรับว่าเป็นเรา ไปหามาก่อน หาเจอไหม สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้ว ถ้าหาไม่ได้จริงๆ จะยังคิดว่าเป็นเราอยู่หรือเปล่า ทั้งๆ ที่ดับไปแล้ว เกิดขึ้นมานิดเดียวและดับไป เกิดขึ้นมาชั่วขณะเล็กน้อยและดับไป ยังจะเป็นเราได้ไหม

    ถ. ที่ว่าเราไม่มี ตัวไม่มี ฟังๆ ไปก็เข้าใจว่า ตัวเราไม่มีจริงๆ มีแต่สิ่งที่ประกอบประชุมกันขึ้นมา

    สุ. ก็นับว่าเป็นความเห็นถูกขั้นหนึ่ง

    ถ. แต่ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง ก็ยังแย้งขึ้นมาในใจ

    สุ. ถ้าเข้าใจอย่างเมื่อกี้และหมดกิเลสได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องสอนอะไรอีก

    ถ. คือ เป็นแต่เพียงความเข้าใจ

    สุ. ถ้าเข้าใจอย่างนี้และดับกิเลสได้ พระพุทธเจ้าไม่ต้องสอนอะไรอีก แต่ความเข้าใจขั้นนี้ เป็นขั้นเริ่มต้นเท่านั้นเอง ยังไม่พอที่จะดับกิเลส เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงอีกมากมายนักที่จะให้เข้าใจยิ่งกว่านั้น และอบรมปัญญาขั้น สูงกว่านี้ ที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ได้

    ถ. คิดว่าเข้าใจนี่อาศัยสมอง โดยการคิด คำนวณ แต่ความรู้สึกลึกๆ นี่ ยังแย้ง

    สุ. เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เอาความรู้สึกลึกๆ นี้ ออกไปได้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถเอาออกไปได้เลย ทุกคนสามารถที่จะฟังเข้าใจทั้งนั้น แต่ดับความรู้สึกลึกๆ ว่ามีเรานี้ไม่ได้ จนกว่าจะอบรมปัญญาขั้นที่สามารถจะดับได้

    ถ. ก็ยังมีความรู้สึกลึกๆ อยู่

    สุ. ก็เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง หมายความว่าเข้าใจก็เข้าใจ แต่ความรู้สึกลึกๆ ก็ยังเป็นเรา จนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ก็ตรงตามความเป็นจริง

    ถ. จะต้องเป็นอย่างนี้ทุกคน

    สุ. จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน

    ถ. ยังต้องมีเราอยู่

    สุ. แน่นอน จนกว่าจะเป็นพระโสดาบัน

    ถ. รู้สึกกระจ่างขึ้นมาก ขอบพระคุณ

    ถ. ยังเห็นเป็นไมโครโฟน โต๊ะ เก้าอี้ อย่างนี้จะทำอย่างไร

    สุ. จะทำ หรือว่าจะเข้าใจ

    ถ. จะระลึกอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่จะระลึกอย่างไร จะเข้าใจ หรือจะระลึกอย่างไร ความต่างกัน มีแล้ว จะเข้าใจ หรือจะระลึกอย่างไร จะระลึกอย่างไรก็เหมือนจะทำอย่างไร แค่เปลี่ยนรูปคำถาม เปลี่ยนสำนวนเท่านั้นเอง แต่ความหมายเหมือนกัน จะระลึกอย่างไร ก็คือจะทำอย่างไร

    มีมีดอยู่เล่มหนึ่ง และด้ามมีดนั้นจะสึกไปได้ด้วยการจับ จะทำอย่างไร จะจับหรือไม่จับ

    ขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏ หนทางเดียวที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน คือระลึก สังเกต พิจารณา ศึกษา จะใช้คำอะไรก็ได้ เพียงแต่ให้รู้ว่า ในขณะนี้ เป็นนามธรรม คือ เป็นอาการรู้เท่านั้น แม้ว่ายังไม่รู้จริงๆ ว่าอาการรู้เป็นอย่างไร แต่เริ่มที่จะระลึกได้ ไม่ใช่เพียงเห็นและผ่านเลยไป เพียงอ่อนเพียงแข็งที่ปรากฏและผ่านเลยไป แต่ระลึกทันที นี่คือจับ ที่ว่าจับด้ามมีด คือ ระลึกทันที ไม่ใช่นั่งมองไปมองมา จะทำอย่างไรให้ด้ามมีดสึก

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ง่าย พุทธบริษัทต้องเป็นผู้ตรง ผู้ที่จะเป็น พระอริยบุคคลเป็นอุชุปฏิปันโน คือ ระหว่างที่ยังไม่รู้ก็ต้องไม่รู้ จะทำเป็นรู้ก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ความจริง ขณะที่ไม่รู้ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่ายังไม่รู้ และขณะที่เกิดการระลึกได้ก็รู้ว่าระลึกได้ และถึงแม้จะระลึกแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ทันที เพราะความไม่รู้นี่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ นานเท่าไรแล้ว และวันนี้ กี่วัน กี่เดือน อายุ ๘๐ ปีในโลกนี้ นับไม่ได้เลยกับแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดว่า อีกกี่โกฏิกัปป์ หรือจะอีกกี่ชาติ ตัดปัญหาไปเลย เสียเวลาจริงๆ ขณะนี้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า เท่านั้นเอง ขณะนี้กำลังได้ยิน รู้หรือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็อบรม ค่อยๆ เจริญไป ค่อยๆ สังเกตพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่า จะค่อยๆ รู้ขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไร

    มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วแต่สติที่อาศัยการฟังและเห็นประโยชน์ว่า ทางอื่นไม่มี มีหนทางนี้ทางเดียว คือ ระลึกขณะที่กำลังมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ใส่ใจที่จะพิจารณาลักษณะนั้นขณะใด ก็แสดงว่า เริ่มที่จะอบรมปัญญาขั้น ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง และตัดปัญหาไปได้เลย ใครจะมาสอนให้ ทำอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญความรู้ ความเข้าใจ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๗ ตอนที่ ๑๕๖๑ – ๑๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564