แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573


    ครั้งที่ ๑๕๗๓


    สาระสำคัญ

    หิริโอตัปปะละอาย รังเกียจ กลัวอวิชชา

    บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (วิปัสสนา-ภาวนา ทิฏฐุชุกรรม)

    เรื่องของศีล (เห็นโทษของอกุศล)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


    บุญญกิริยาวัตถุประการที่ ๙ คือ วิปัสสนาภาวนา

    จะเกิดขึ้นเมื่อหิริโอตตัปปะ ละอาย รังเกียจ กลัวอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ น่ากลัวไหม ตั้งแต่เกิดมาไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจนตาย ถ้าไม่ฟังพระธรรม ยังพอใจที่จะไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังมีความเห็น ที่ตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่เปลี่ยน แต่ความคิดเปลี่ยน แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง และความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ก็เป็นเพียงความคิด เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ้าเห็นโทษของอวิชชา จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้วิชชาเกิด เพราะว่าละอาย รังเกียจ และเห็นโทษของอวิชชาว่า เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมทั้งหมด ทั้งโลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมใดๆ ก็ตามที่จะเกิดมีได้ เพราะมีอวิชชา

    บุญญกิริยาประการที่ ๑๐ คือ ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง คือ การเป็นผู้ตรง

    ยากไหมการที่จะเป็นผู้ตรง ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะ เป็นผู้เอียง ไม่ใช่เป็นผู้ตรง โดยมากมักจะพยายามหาทางที่จะไม่โกรธ ใช่ไหม ไม่มีใครชอบความโกรธเลย ในวันหนึ่งๆ เวลาที่โกรธเกิดขึ้น บางคนอาจจะไม่สบาย ความดันสูง เป็นไข้ มีอันตรายหลายอย่างที่เกิดจากความโกรธ เดินไปอาจจะหกล้ม ตกบันได ทำอะไร ก็ได้ด้วยความโกรธ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ชอบความโกรธ แต่เห็นโทษภัย มีหิริโอตตัปปะกลัวอกุศลที่เป็นความโกรธ หรือเพียงแต่ไม่ชอบ ไม่อยากมีความโกรธ นี่เป็น สิ่งที่จะต้องพิจารณา นอกจากนั้นยังไม่คิดถึงความโลภหรือความติด เพียงแต่ ไม่ต้องการความโกรธเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่จะต้องตรงจริงๆ คือ ธรรมประเภทใด เป็นอกุศล ก็ต้องเห็นธรรมประเภทนั้นว่าเป็นอกุศลด้วย ไม่ใช่เห็นแต่โทสะเป็นอกุศล แต่ไม่เห็นว่าโลภะเป็นอกุศล

    บางคนเห็นโทษของผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เห็นความดีของผู้ไม่เป็นที่รักเลย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ตรง แม้ผู้ไม่เป็นที่รัก ก็ย่อมมีทั้งความดีและความไม่ดี เพราะทุกคนต้องมีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น แม้ผู้ไม่เป็นที่รักก็ต้องมีบางกาลที่เป็นกุศลด้วย แต่คนส่วนมากจะเห็นโทษของผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เห็นความดีของผู้ไม่เป็นที่รัก นอกจากนั้นยังต้องตรงต่อตัวเองและคนซึ่งเป็นที่รักด้วย

    ถ้าพิจารณาในชีวิตประจำวัน ถ้ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่เป็นที่รัก การที่จะพิจารณาว่ามีหิริโอตตัปปะในบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักหรือไม่ ก็คือพิจารณาว่า เห็นแต่ โทษของบุคคลนั้นหรือเปล่า ถ้าขณะใดเห็นแต่โทษของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักก็แสดงว่า ขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะพอที่จะเห็นความดีของบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก

    สำหรับบุคคลซึ่งเป็นที่รัก เห็นแต่ความดีของคนซึ่งเป็นที่รัก หรือเห็นแม้ ความไม่ดีของคนซึ่งเป็นที่รักด้วย นี่คือหิริโอตตัปปะ คือ ความเป็นผู้ตรง แม้บุคคลซึ่งเป็นที่รักก็ต้องพิจารณาเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นด้วย เพื่อที่จะเกื้อกูล มิฉะนั้นก็คิดว่า ผู้เป็นที่รักนี้ดีมาก ไม่มีอะไรที่จะเกื้อกูลกันอีกต่อไปแล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ตรง แม้แต่คนซึ่งเป็นที่รักก็ต้องมีสิ่งที่ไม่ดี และถ้าเป็นโอกาสที่จะเกื้อกูล เมื่อเห็นความไม่ดีของบุคคลนั้นแล้ว ย่อมจะคอยวาระที่จะเกื้อกูลเมื่อถึงกาลที่สมควร ดีกว่าที่จะไม่เห็นความไม่ดีของบุคคลซึ่งเป็นที่รักเลย เห็นแต่ความดีของบุคคลซึ่งเป็นที่รักเท่านั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ตรง

    เพราะฉะนั้น สำหรับทิฏฐุชุกรรม ก็เป็นกุศลธรรมซึ่งเป็นการกระทำความเห็น ให้ตรง ทำให้เป็นผู้ตรงด้วยหิริโอตตัปปะ และข้อสำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมพิจารณาตนเองด้วย เพราะมักจะพิจารณาคนอื่น เช่น คนซึ่งไม่เป็นที่รักบ้าง หรืออาจจะพิจารณาคนซึ่งเป็นที่รักบ้าง แต่ตนเองมีอกุศลอะไรบ้างอาจจะยังไม่ได้พิจารณา หรือโทษของตนเอง มีหรือไม่มี หรือว่าไม่เห็นเท่านั้นเอง ย่อมมีแต่ไม่เห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย

    ถ. ถ้าถือศีล ๘ แล้วจิตไม่สงบ ไม่เป็นกุศล ก็คงไม่ได้บุญ ธรรมดาปกติ จะถือศีล ๘ เป็นประจำ ถ้าถือศีล ๘ เวลาไปทำงานเกิดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งทำให้เกิดโทสะได้บ่อยๆ จึงสรุปจากวันนั้นว่า เราไม่ควรถือศีล ๘ เพราะถ้าเกิดโทสะ ก็เป็นอกุศล ไม่ทราบว่า สรุปอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า

    สุ. เรื่องของศีลเป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาของผู้ที่เห็นโทษ ของกิเลส ข้อสำคัญที่สุด คือ กุศลทุกประเภทจะเกิดเมื่อมีหิริโอตตัปปะ มีศรัทธา ที่เห็นประโยชน์ของธรรมที่เป็นกุศล และละอายรังเกียจกลัวอกุศลจึงได้รักษาศีลด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่ศีลข้อที่ ๑ ที่รักษา หมายความว่าต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล จึงได้รักษาศีลข้อที่ ๑ แม้ศีลข้อที่ ๒ ศีลข้อที่ ๓ ศีลข้อที่ ๔ ศีลข้อที่ ๕ ก็โดย นัยเดียวกัน ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และมีกุศลศรัทธา จึงสามารถรักษาได้

    ถ้ายิ่งเพิ่มเป็นศีล ๘ ก็ยิ่งเป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่เห็นโทษ ของอกุศลและต้องการให้กุศลจิตเกิดมากกว่าศีลเพียง ๕ ข้อ เพราะว่าสำหรับศีล ๕ เป็นการไม่เบียดเบียนตนและคนอื่น แต่สำหรับศีลอีก ๓ ข้อซึ่งเป็นศีล ๘ จะเห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เกี่ยวกับตนเองทั้งนั้น ตั้งแต่ไม่ประดับตกแต่ง ไม่นอนที่นอนสูง หรือที่นอนที่สวยงาม แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องเฉพาะตนมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น และถ้าอยากจะรักษามากกว่านั้นก็ได้ โดยการศึกษาพระวินัยบัญญัติ และเห็นว่า สิ่งใดที่ดีเป็นประโยชน์เรื่องของกายวาจา ก็ประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อห้ามว่า สำหรับคฤหัสถ์จะกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ในเมื่อเพศบรรพชิตควรที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรและไม่เป็นที่ติเตียน แต่เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส ผู้ใด ที่ศึกษาและสามารถประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น แม้เป็นคฤหัสถ์ก็ย่อมได้

    แต่สำหรับคฤหัสถ์ไม่มีใครบังคับ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ศรัทธาที่จะเกิดขึ้นว่า สามารถจะรักษาได้มากน้อยเท่าไร และอาจจะไม่สามารถรักษาได้ตลอดทุกวันๆ เหมือนอย่างเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็มีการล่วงศีลบ้าง ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกตัวเองว่า ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ และไม่ได้มุ่งมั่นที่จะต้องรักษาให้ถึงศีล ๘ โดยตลอดอย่างพวกที่ เป็นอุบาสิกาที่รักษาศีล ๘ ที่เราเรียกว่า ชี เพราะฉะนั้น ก็เป็นของธรรมดาตามความเป็นจริงว่า เมื่อมีโอกาสที่จะรักษาได้ ก็รักษา เมื่อไม่ใช่โอกาสที่จะรักษาศีลข้อหนึ่ง ข้อใด เช่น ไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ก็จะเห็นได้ว่า บางครั้งชีวิตของคฤหัสถ์ก็ไม่ได้รักษาได้ทุกวัน

    ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องคิด คือ จะรักษาศีลทำไม

    ไม่ใช่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผล แม้แต่การรักษาศีล ที่จะต้องเป็น ๕ หรือจะต้องเป็น ๘ หรือจะต้องเป็น ๑๐ ก็ตามแต่ ควรที่จะรู้จักตัวเองว่า รักษาศีลทำไม

    ถ. ที่รักษาศีล ๘ เพราะเคยได้ฟังพระสูตร จำชื่อไม่ได้ ที่ว่าคนใช้ของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่กลับมาบ้าน ไม่มีการทำอาหารเย็น และถามกันได้ความว่าคนอื่นถืออุโบสถศีลกันหมด จึงถืออุโบสถศีลบ้าง แต่เนื่องจากเหนื่อยมาก ทำกาละไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์ คือ อยากได้บุญที่ถือศีล

    สุ. หมายความว่ารักษาศีล ๘ เพราะอยากจะได้บุญ และรู้ว่าศีล ๘ ต้อง ได้บุญมากกว่าศีล ๕ เพราะว่าเพิ่มขึ้นมาอีก ๓ ข้อ ใช่ไหม

    แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมจะทราบว่า บุญคือกุศลจิต ซึ่งเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง ในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง ซึ่งในวันหนึ่งๆ สามารถที่จะกระทำกุศลเหล่านี้ได้เป็นประจำตามสมควรแก่เพศ

    ถ้ามีศรัทธาที่จะรักษาศีล ๘ ได้ ก็น่าอนุโมทนามาก แต่ในขณะเดียวกันจะต้องทราบด้วยว่า รักษาศีลเพราะเห็นโทษของอกุศล อย่าเพียงแต่รักษาเพราะอยาก ได้บุญ จึงรักษาเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และต้องขัดเกลาด้วย

    สำหรับผู้ที่รักษาศีล ๘ ไม่ใช่ว่าเพียงปฏิบัติตามศีล ๘ ข้อ แต่จิตใจก็วุ่นวาย กระสับกระส่าย ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่ได้ผลเต็มที่

    เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าสามารถรักษาศีล ๘ ได้ ด้วยความสบายใจ ด้วยความศรัทธา ด้วยความมั่นคง ก็ดี หรือเฉพาะบางวันรักษาได้ ก็ดี อย่างวันอุโบสถ ส่วนใหญ่ผู้มีศรัทธาก็รักษาศีล ๘ เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เฉพาะตนๆ จริงๆ

    เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทที่มีศรัทธาในพุทธศาสนาจึงมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต และคฤหัสถ์ก็มีทั้งที่ครองเรือน และไม่ครองเรือน ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มี การจำกัด

    ต้องเข้าใจจุดประสงค์และรู้ว่า ขณะใดที่จิตปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นจึงเป็นกุศล แม้แต่การที่จะรักษาศีล ก็ต้องรู้ว่ารักษาเพื่ออะไร ถ้าเพื่อผล หรืออานิสงส์ของศีล ก็ยังไม่บริสุทธิ์ เพราะว่ายังหวังผลที่เป็นสุข ไม่ใช่เพื่อการขัดเกลากิเลส

    ถ. เรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีสูตรหนึ่ง คือ กุมารลิจฉวีสูตร ไม่ทราบว่าจำชื่อผิดหรือไม่ ที่มี ๕ ข้อ ให้เคารพนับถือบูชามารดาบิดาเป็นต้น ที่สงสัยคือ เทวดาผู้ทำพลีกรรมแล้ว เป็นอย่างไร

    สุ. เมื่อกระทำบุญแล้ว ก็อุทิศส่วนกุศลให้

    ถ. ให้เทวดา โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ

    สุ. ก็ทั่วๆ ไป

    ถ. การทำพลีกรรมกับเทวดา ไม่จำเป็นจะต้องสร้างศาลพระภูมิ หรืออะไรอย่างนี้ ใช่ไหม

    สุ. ข้อความในอรรถกถาจะกล่าวถึงเรื่องข้าว เรื่องน้ำ แต่ก็ควรที่จะได้เข้าใจด้วยว่า เทวดาไม่ได้บริโภคข้าวน้ำอย่างเรา ต้องเป็นอาหารของเทวดา จะเอาข้าว เอาน้ำไปให้เทวดา เทวดาไม่บริโภคแน่ เพราะฉะนั้น อะไรที่เทวดาจะรับได้ ก็คือ บุญกุศลที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำและอุทิศส่วนกุศลให้เทวดาอนุโมทนา และ กุศลที่อนุโมทนานั่นเองจะเป็นเหตุให้ได้กุศลวิบากตามภพภูมินั้นๆ ไม่ใช่เป็นข้าว เป็นน้ำ แม้ว่าข้อความในอรรถกถาจะกล่าวว่าข้าวน้ำก็ตาม แต่ควรพิจารณาให้ถูกต้องด้วยว่า เทวดาไม่บริโภคข้าวน้ำนั้น

    ถ. คราวที่แล้วบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่อาจารย์แสดง ไม่มีข้อการแสดงธรรม ไม่ทราบว่า การแสดงธรรมเป็นทางให้เกิดกุศลหรือเปล่า

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลแน่นอน ต้องขอขอบพระคุณที่ได้กล่าวถึงเรื่อง การแสดงธรรม ซึ่งในคราวก่อนคงจะขาดไป

    ถ. หลังจากฟังแล้วก็ไปคุยกันกับเพื่อน เขาสงสัยว่า ทำไมการทำกุศลต้องประกอบด้วยหิริโอตตัปปะด้วย เพราะมองไม่เห็นเลย อย่างในการฟังธรรมเราจะมีหิริโอตตัปปะตอนไหน

    สุ. ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะจะฟังพระธรรมไหม คิดในมุมกลับ ทำไมฟัง ก็เพื่อเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ได้ถ้าไม่ฟังพระธรรมในขณะที่เห็นอันตรายของความไม่รู้ ต้องการที่จะพ้นจากความไม่รู้ ต้องการเจริญความรู้ขึ้น ขณะนั้นต้องมีหิริโอตตัปปะที่เห็นภัย เห็นโทษ และก็กลัว ละอายในอกุศล คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ต้องมานึกละอาย แต่ ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกซึ่งเป็นโสภณสาธารณะเกิดกับโสภณจิตทุกดวง ต้องมีศรัทธา ต้องมีหิริโอตตัปปะ

    ถ. ก็ยังไม่เห็นอยู่ดีว่า ทำไมต้องประกอบด้วยหิริโอตตัปปะ

    สุ. ยากที่จะเห็น เพราะแม้แต่จักขุวิญญาณขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง ไม่มีทางที่จะเห็นได้ ใช่ไหม ขณะนี้ที่กำลังเห็น ปริยัติแสดงว่ามีเจตสิกเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ ๗ ดวง ก็ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้น ยิ่งมากกว่านั้น คือ เวลาที่เป็นกุศลจิต เจตสิกก็มากกว่านั้นอีกใช่ไหม ก็ไม่เห็น เพราะว่าเป็นไปชั่วขณะจิตเดียว แต่ให้ทราบว่า จิตที่เป็นอกุศลต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นอกุศล และจิตที่เป็นกุศลก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นกุศล

    ทุกคนอยากจะมีกุศลจิตมากๆ แต่ไม่สามารถจะเป็นไปได้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ขณะนั้นมีอหิริกะ อโนตตัปปะ การไม่ละอายต่อการไม่รู้ลักษณะของธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ทุกอย่าง ไม่มีความรู้เรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริงเลยในขณะใดที่เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด จะเห็นได้ว่า ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ต้องมีโสภณเจตสิกเกิด และโสภณเจตสิกที่เป็นหิริโอตตัปปะก็ต้องเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น เพราะละอาย เป็นสภาพธรรมชาติที่ละอายรังเกียจการที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงฟังพระธรรม แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่ว่า กระดากอาย หรือต้องมานั่งคิด อย่างนั้น แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ สภาพธรรมที่เกิดดับตามปกติในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ทุกๆ ขณะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย มีจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดร่วมกับเจตสิกประเภทต่างๆ ตลอดมาโดยไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาพระธรรม ในขณะนั้นแสดงว่า ต้องมีความละอายที่จะไม่รู้ จึงได้ฟัง เพื่อจะได้เข้าใจขึ้น

    และสำหรับหิริโอตตัปปะ ถ้าพิจารณาบุญญกิริยาวัตถุในชีวิตประจำวันของ แต่ละท่าน จะทำให้เห็นว่า มีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดมาก หรือมีสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมเกิดมาก ในวันหนึ่งๆ ที่เป็นอกุศลขณะใด ขณะนั้นต้องเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ แต่อกุศลจิตแม้ว่าจะเล็กน้อยสักเพียงใด หรือจะถึงขั้นเป็นกายทุจริต วจีทุจริต ก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สำหรับทุกท่าน การศึกษาธรรมจะทำให้เริ่มรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเจตสิกทั้งหมดอยู่ในหนังสือ หรือจิตทั้งหมด ทุกประเภทอยู่ในหนังสือ แต่ในขณะนี้เอง และในทุกๆ ขณะที่สามารถระลึกและสังเกตพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น เช่น ในเรื่องของทาน ขณะใดที่มีการให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน มีหิริ มีโอตตัปปะ ละอายต่อการที่จะเป็นผู้ตระหนี่ นอกจากนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะรู้จักตนเองเพิ่มขึ้น โดยดูจากทานที่เป็นไปในขณะนั้นว่า เป็นกุศลที่ประณีตหรือไม่ประณีต เป็นทานที่ให้ด้วยความเคารพ หรือว่าเพียงแต่ให้ นี่เป็นความละเอียดของกุศลจิตแต่ละครั้ง

    บางท่านอาจจะให้อาหารเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น แต่เป็นอาหารที่อร่อย หรือไม่อร่อย เป็นอาหารที่ดี หรือไม่ดี เพราะฉะนั้น ก็พอที่จะพิจารณาลักษณะของหิริและโอตตัปปะในขณะนั้นได้ว่า มีกำลัง มีความละเอียด มีความประณีตเพิ่มขึ้นไหม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564