แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574


    ครั้งที่ ๑๕๗๔


    สาระสำคัญ

    องฺ.จตุกฺก.โยธาชีววรรค - หิริโอตตัปปะไม่พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แม้เรื่องจริง

    หิริโอตตัปปะขณะที่สติปัฏฐานเกิด

    รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    องฺ.สตฺตก.พลสูตร - พละ ๗ ประการ

    ระลึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูดได้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙


    สำหรับในเรื่องของศีลก็เช่นเดียวกัน พิจารณากายวาจาของตนเองได้ ในวันหนึ่งๆ ขณะที่มีความอ่อนน้อม นอบน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ขณะนั้นมีหิริ มีโอตตัปปะมากน้อยแค่ไหน สติสามารถเกิดระลึกและพิจารณาถึงความรู้สึกที่อ่อนโยนในขณะนั้นได้ หรือเพียงแต่แสดงความเคารพตามมารยาท นี่ก็เป็นสิ่งที่พิจารณาได้ ทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่นด้วยกาย ด้วยวาจา

    สงเคราะห์ด้วยวาจา ได้ไหม พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ให้กำลังใจทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ท้อถอย ขณะนั้นก็เป็นการสงเคราะห์ทางวาจาได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายหรือวาจา ก็ทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มีหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นไหม

    จากตัวอย่างในอดีต ในพระไตรปิฎก เวลาที่อ่านข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก สามารถพิจารณาถึงกุศลจิตและอกุศลจิตของบุคคลในพระไตรปิฎกได้ อย่างข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๓ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับวัสสการพราหมณ์ผู้มีความเห็นว่า เมื่อตนเองเห็นอย่างไร ได้ยินอย่างไร ได้กลิ่นอย่างไร ลิ้มรสอย่างไร สัมผัสอย่างไร คิดนึกอย่างไร ก็พูดอย่างนั้น โทษแห่งการพูดตามที่เห็น ตามที่ได้ยิน ตามที่ได้กลิ่น ตามที่ลิ้มรส ตามที่กระทบสัมผัส ตามที่คิดนึก ไม่มี นี่เป็นความเห็นของวัสสการพราหมณ์

    ซึ่งจะพิจารณาได้ถึงหิริโอตตัปปะเป็นขั้นๆ ว่า ถ้าเป็นขั้นที่พูดจริง ตรง ตามที่เห็น ตามที่ได้ยิน ตามที่ได้กลิ่น ตามที่ลิ้มรส ตามที่กระทบสัมผัส ตามที่คิดนึก บางท่านก็คิดว่าไม่มีโทษ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนว่า ไม่ควรพูดถึงทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ที่ทำให้อกุศลธรรมเจริญ และ ทำให้กุศลธรรมเสื่อม

    นี่เป็นหิริโอตตัปปะอีกขั้นหนึ่งที่จะรู้ว่า แม้เป็นเรื่องจริงที่เห็น ที่ได้ยินก็ตาม แต่สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรที่จะพูด แม้อย่างนั้นถึงแม้ว่าวัสสการพราหมณ์ จะชื่นชมแล้ว แต่เวลาที่เห็นท่านพระมหากัจจายนะลงจากภูเขา ก็ยังกล่าววาจาว่า ท่านผู้นี้มีอาการเหมือนลิง

    นี่เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ไหม เห็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ แต่เป็นสิ่งที่ควรพูดหรือไม่ควรพูด แสดงถึงความละเอียดของหิริโอตตัปปะว่า ไม่ใช่ว่าทุกอย่างที่เห็น ที่ได้ยินจะควรพูดเสมอไป

    บางคนหัวเราะกิริยาอาการของคนอื่น หรือว่าการแต่งตัวของคนอื่น หรือคำพูดของคนอื่น ดูแล้วเหมือนขำ แต่ลึกลงไปในใจ ขณะนั้นดูหมิ่นดูถูกบ้างไหม

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา แม้แต่กิริยาอาการหรือคำพูดของตนเอง ซึ่งขณะนั้นถ้าไม่พิจารณาก็ดูเหมือนว่าน่าหัวเราะจริงๆ ในความรู้สึก และก็อาจจะพูด อาจจะวิจารณ์ กล่าวถ้อยคำอะไรซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ดูหมิ่น แต่เป็นเรื่องที่น่าขำเท่านั้นเอง แต่ลึกลงไปกว่านั้น ในขณะนั้น อหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่รังเกียจ ไม่ละอายในอกุศลจิตในขณะนั้น

    เพราะถ้าไม่มีการนึกดูหมิ่นดูถูกบ้างแม้เล็กน้อยในใจ จะมองเห็นกิริยาอาการหรือว่าการแต่งกาย หรือคำพูดของคนอื่นในลักษณะนั้นไหม ซึ่งถ้ามองเป็นธรรม ทุกคนมีกายวาจาตามการสะสมจริงๆ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด ก็ต้องเป็นไปตามการสะสม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายวาจาที่เคยเป็น ถ้าเกิดหิริโอตตัปปะ พิจารณาละเอียดจะรู้ได้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อาจจะคิดว่าตนเองไม่ได้ดูหมิ่นใคร ไม่ได้ดูถูกใคร แต่การที่มองบุคคลอื่นในลักษณะที่น่าขำ ก็แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นต้องเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ พิจารณาตนเองทางกาย ทางวาจา และตลอดไปจนถึงทางใจ แม้เพียงความคิด อหิริกะ อโนตตัปปะที่เป็นอกุศลมาก หรือว่าหิริและโอตตัปปะมาก

    ในขณะที่ไม่ได้ให้ทาน และขณะนั้นไม่ใช่การวิรัติทุจริตซึ่งเป็นศีล จิตจะสงบจากอกุศลได้เมื่อศึกษาพระธรรม หรือแสดงธรรม คือ สนทนาธรรมกัน และพิจารณาธรรม ขณะนั้นเป็นกุศล ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้รักษาศีล อาจจะเป็นการศึกษาธรรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณาธรรม หรือบางท่านก็สนทนาธรรม และถ้าอยู่ ตามลำพัง ขณะใดที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึง ความตาย ระลึกถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลาย และจิตประกอบด้วยเมตตา เมื่อนึกถึงใครก็ตามมีจิตที่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลนั้นบ้าง หรือมีความกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ขณะนั้นก็เป็นหิริและโอตตัปปะ ซึ่งสะสมเจริญขึ้นจนสามารถ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลจิตเกิดในขณะที่กำลังคิดนึกถึงบุคคลต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่คิดถึงแต่ละคน ก็พอที่จะพิจารณาได้ถึงลักษณะของหิริและโอตตัปปะ และต้องอย่าลืมว่า ขณะที่เมตตานั้น คือ เมื่อนึกถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องด้วยทั้งไม่โกรธและไม่รัก ต้องทั้งสองอย่าง ไม่ใช่คิดถึงด้วย ความรัก ความผูกพัน ขณะนั้นจึงจะเป็นหิริโอตตัปปะ

    ขณะที่มีความคิดถึงด้วยความรัก ความผูกพัน ขณะนั้นก็ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ เพราะไม่เห็นโทษของความผูกพัน และไม่เห็นโทษของความติดข้อง จึงยังคงคิดถึงด้วยความผูกพันอยู่ ต่อเมื่อใดเห็นว่า เป็นโทษ เป็นภัย เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ความไม่สบายใจทั้งหมด เมื่อนั้นจึงจะคิดถึงด้วยความเมตตา ซึ่ง ไม่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจ

    หิริโอตตัปปะในวันหนึ่งๆ ง่ายหรือยาก มากหรือน้อยในชีวิตประจำวัน แต่นี่ ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่เกิดความสงบ เวลาที่คิดถึงบุคคลอื่น ก็คิดถึงด้วยเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง อุเบกขาบ้าง

    อีกขั้นหนึ่ง คือ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นหิริโอตตัปปะในขั้นของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    แต่ถ้าใครยังไม่เห็นกำลังของอหิริกะและอโนตตัปปะว่ามีมาก คนนั้นก็คงคิดว่า ไม่ได้ทำความเดือดร้อนอะไรให้ใครเลย มีชีวิตวันหนึ่งๆ เป็นสุขสบายดี จึงไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพื่อศึกษาให้ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น วิริยารัมภกถาที่จะให้เกิดความเพียร ที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม คือ ชี้แจงให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นกำลังของอกุศล ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่า ตลอดทั้งวัน และตลอดทั้งคืนด้วย ติดตามไปถึงความฝัน กลางวัน ก็เต็มไปด้วยอกุศลแล้วขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ส่วนทางใจ นอนหลับไปแล้ว อหิริกะและอโนตตัปปะก็ยังติดตามไปถึงความฝันด้วย

    มีใครไม่ฝันบ้างไหม

    พระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ฝัน เพราะยังมี อหิริกะและอโนตตัปปะ เวลาฝันก็เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง ใช่ไหม มีใครบ้างฝันเป็นกุศลได้ทุกคืนๆ ซึ่งคืนหนึ่งก็ฝันหลายเรื่อง ถ้าตื่นขึ้นมา หลับไปอีก ก็ฝันอีก บางทีเป็นคนละเรื่อง บางทีก็เรื่องต่อกัน เพราะฉะนั้น คืนหนึ่งฝันหลายเรื่อง และในฝัน เรื่องหนึ่งๆ เป็นกุศลกี่ครั้ง หรือว่าฝันด้วยอกุศลทั้งนั้น ตื่นเต้น สนุกสนาน เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ถึงสิ่งที่เคยเห็นมาแล้วบ้าง หรือเคยลิ้มรสมาแล้ว ต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อหิริกะและอโนตตัปปะ นอกจากจะมีมากมายในกลางวันแล้วยังติดตามไปจนถึงกลางคืน แม้ในขณะที่กำลังพักผ่อน หลับนอนด้วย

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งอยากปฏิบัติมาก ซึ่งก็คงไม่ใช่ท่านผู้ฟังท่านนี้ท่านเดียว คงจะมีอีกหลายท่านที่อยากจะข้ามธรรมทั้งหมดเพื่อปฏิบัติเสียที รู้สึกว่ามีความตั้งใจรีบร้อนที่จะปฏิบัติ แต่ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จะมีประโยชน์ไหม ท่านที่อยากจะปฏิบัติธรรม ขอให้พิจารณา ถ้าการปฏิบัตินั้น ไม่ได้ทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จะมีประโยชน์ไหม

    ไม่รู้ว่าอกุศลเกิดในขณะไหนบ้าง กุศลเกิดในขณะไหนบ้าง วันหนึ่งมีกุศลมากหรือมีอกุศลมาก ถ้าไม่รู้อย่างนี้และอยากจะปฏิบัติทันที โดยไม่รู้อะไรทั้งหมด ในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เท่ากับว่า ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อรู้จักตัวเอง เพราะฉะนั้น จะมีประโยชน์อะไร

    แต่ถ้าได้ฟังพระธรรม และการปฏิบัติ คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่เคยรู้ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา และเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงขึ้น นั่นย่อมเป็นประโยชน์ เพราะว่าเมื่อเห็นอกุศลตามความเป็นจริง ย่อมเกิดความละอาย ความรังเกียจ และอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะละคลายอกุศล จนสามารถดับได้เป็นสมุจเฉท

    เห็นกำลังของอหิริกะและอโนตตัปปะไหมว่า วันหนึ่งๆ มีมากแค่ไหน และ ทุกวันก็เป็นอย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น การที่อหิริกะและอโนตตัปปะจะ ลดกำลังลงได้ ก็ต่อเมื่อหิริและโอตตัปปะมีกำลังขึ้น

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต พลสูตรที่ ๒ ข้อ ๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ

    เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง แต่ขณะนี้มีหรือยัง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพื่อให้น้อมมาพิจารณาตนเองว่า ธรรมที่เป็นพละที่มีกำลัง มี ๗ คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ แต่สำหรับแต่ละบุคคล ศรัทธามีกำลังหรือยัง วิริยะ หิริ โอตตัปปะ สติ สมาธิ มีกำลังหรือยัง นี่คือการรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมธรรมเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้นจนกระทั่งมั่นคงมีกำลังขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ศรัทธาพละเป็นไฉน

    ทุกคนมีศรัทธา แต่ศรัทธาของท่านเป็นศรัทธาพละหรือยัง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อ พระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่า ศรัทธาพละ ฯ

    บางท่านอาจจะบอกว่า ท่านมีศรัทธาเชื่อมั่นคงในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านกราบนมัสการทั้งเช้าทั้งเย็น บางท่านอาจจะทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น แต่ศรัทธาที่จะมั่นคงขึ้นก็ต่อเมื่อได้เข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้น ถ้ายังไม่เข้าใจ พระธรรม ก็จะไม่เห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา

    สำหรับท่านผู้ฟังที่ศึกษาพระธรรม ท่านจะเห็นได้ว่า ท่านเพิ่มศรัทธาใน พระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นเมื่อได้เข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น แต่ศรัทธานี้จะเพิ่มขึ้นอีก เมื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิริยพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่า วิริยพละ ฯ

    ที่จะเป็นวิริยพละได้ ก็ต่อเมื่อเป็นสัมมัปปธาน ๔ ซึ่งเป็นในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นสติปัฏฐาน จึงเป็นวิริยพละ ไม่ใช่ ให้เพียรทำอย่างอื่น แต่วิริยพละต้องเป็นไปในการเจริญมรรคมีองค์ ๘

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็หิริพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความละอาย คือ ละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย นี้เรียกว่า หิริพละ

    เป็นธรรมที่มีกำลังเพิ่มขึ้นได้ถ้ารู้ลักษณะของหิริ ถ้าเกิดการรู้ว่าขณะนี้ เป็นอกุศล และมีอหิริกะ ไม่ละอาย ขณะนั้นจะเป็นปัจจัยทำให้หิริเกิดขึ้น ละอายที่ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตละเอียดจะทำให้เห็นว่า หิริในวันหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นไหม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็โอตตัปปพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว คือ สะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้องอกุศลธรรม อันลามกทั้งหลาย นี้เรียกว่า โอตตัปปพละ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สติพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ย่อมระลึกนึกถึงแม้สิ่งที่ทำคำที่พูดไว้นานๆ ได้ นี้เรียกว่า สติพละ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมาธิพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน นี้เรียกว่า สมาธิพละ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปัญญาพละเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่าปัญญาพละ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล ศรัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละเป็นที่ ๗ ภิกษุผู้มีพละด้วยพละ ๗ ประการนี้เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิต คือ ความดับของภิกษุนั้น ย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีปฉะนั้น

    จบ สูตรที่ ๔

    ถ. สติพละหมายความว่าอย่างไรที่ว่า ระลึกถึงสิ่งที่ทำคำที่พูดได้

    สุ. แม้สิ่งที่ทำคำที่พูดได้ ไม่ใช่หมายความถึงเฉพาะการระลึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แต่ระลึกได้แม้สิ่งที่ทำคำที่พูดด้วย

    ถ. หมายความว่า มีสติระลึกด้วย และยังสามารถจำ ไม่หลงลืมเรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวที่เคยพูดหรืออะไรต่างๆ

    สุ. เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวถึงอาการ ๑๗ ของสติ ซึ่งเป็นไปในกุศลธรรม เพราะว่าบางคนหลงลืมแม้ที่จะกระทำกุศล แต่ถ้าเป็นพละ จริงๆ ต้องเป็นการเจริญสติปัฏฐาน และสติ ๑๗ ประการนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้นด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564