แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
ครั้งที่ ๑๕๗๗
สาระสำคัญ
น้ำหนึ่งใจเดียว - หิริโอตตัปปะเกิดในการที่จะไม่แบ่งพวก
ไม่ฟังธรรมแล้วจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
ชีวิตทุกๆ ขณะตามปกติตามความเป็นจริง
“น้ำหนึ่งใจเดียวกัน”
ส.นิ. โอวาทสูตรที่ ๑ - หิริโอตตัปปะ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙
ถ. เมื่อกลางเดือนหรือต้นเดือนนี้ผมได้ไปงานเผาศพ ผมก็ไปจ้องเวลา เผาจริงว่า ทำไมศพนี้ไม่ร้อง ขณะที่ศพไหม้ แสดงว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรม ปัญญาชั้นเลิศ ร่างนี้ไม่ใช่ของตนจริงๆ มิฉะนั้นแล้วศพนี้จะต้องร้องโวยวาย ทำไมเขานอนเฉย ช่วงนั้นก็นึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง ขณะนั้นคติที่แน่นอนของวิญญาณนั้นอยู่ที่ไหน และที่อาจารย์กล่าวว่า เมื่อเป็นผู้มีปัญญา ก็คือเป็นผู้มีน้ำหนึ่งใจเดียว ผมไม่เข้าใจ น้ำหนึ่งใจเดียว
สุ. คือ ผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมแล้ว กุศลจิตย่อมเกิด มีหิริโอตตัปปะเกิด ในการที่จะไม่แบ่งพวก
ถ. ทรงความมีปัญญา สภาวะนี้เป็นไฉน
สุ. รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างทุกท่าน ก็เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูป ขั้นการฟังไม่ยากที่จะเข้าใจใช่ไหม
ถ. ที่จะหยั่งให้ลึก ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร
สุ. ทางตาเห็นจึงได้มีโลกนี้ รู้ความจริงว่า ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ต้องถอนอุปาทาน
สุ. ด้วยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความเกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่ถอนเอง
ถ. คือ รู้ตามความเป็นจริง ขั้นนี้ผมยังไม่รู้ ท่านผู้รู้มีคติแน่นอน เป็นอย่างไร
สุ. เจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ท่านก็รู้ได้ เพราะฉะนั้น ทุกๆ ท่าน จากความไม่รู้ และเพิ่มความรู้ ความเข้าใจขึ้น และอบรมต่อไป โดยการพิจารณาศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะว่า กำลังนอนหลับ พิจารณาไม่ได้ ไม่ได้เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ถึงแม้ว่ามีจิตก็ไม่รู้ว่า จิตอะไร อยู่ที่ไหน แต่ทันทีที่ตื่นขึ้นเห็น รู้ได้ว่าขณะที่กำลังเห็นเป็นจิต ไม่ใช่เรา และเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เกิดร่วมกันและดับพร้อมกัน สภาพรู้มี จึงเห็น
ถ. ในขณะนั้นตื่น และในขณะที่หลับ ผู้ที่หลับมีกำลังเป็นไฉน
สุ. ผู้ที่หลับจะมีกำลังอะไร ไม่มีการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าการเจริญปัญญาต้องเป็นขณะที่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
กำลังหลับ เจริญปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ตื่นก็เป็นอนุสสติเตือน ให้ระลึกว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้จะต้องรู้ความจริง ไม่ใช่ไปถ่ายถอนความเป็นตัวตนด้วยความไม่รู้อะไรเลย
ถ. ผมกลัวขั้นนี้เหมือนกัน
สุ. ก็ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า เข้าใจอะไร และยังไม่ได้อบรมเจริญขั้นไหนต่อไป
ถ. พูดถึงเสียง อาจารย์บอกว่า ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นเสียงแหลม หรือเสียงสูง เสียงต่ำ ขอถามไปถึงทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาก็ไม่ต้องคำนึงว่า หนา บาง กว้าง ยาวด้วย ใช่ไหม
สุ. ทุกอย่าง
ถ. ลิ้นก็ไม่ต้องคำนึงว่า เผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม มัน อะไรก็ไม่ต้องไปคำนึงถึง
สุ. เวลานี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ไม่ต้องคิดอะไรเลย เพียงแต่น้อมไปที่จะรู้ว่า สภาพนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ถ้าโดยการศึกษาก็คือ เมื่อกระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏได้ ถ้ากระทบกับกายปสาทก็ไม่ปรากฏ กระทบกับโสตปสาทก็ไม่ปรากฏ ต่อเมื่อใดสภาพนี้กระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏได้ ก็เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเองซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นรูปธรรม
การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งบางคนก็รู้สึกว่า อยากจะปฏิบัติเท่านั้น เพียงแต่อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว จะไม่ฟังพระธรรม เพราะคิดว่าเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการฟังพระธรรมนั้นไม่สำคัญ แต่ถ้าท่านผู้ใดคิดอย่างนี้ ผู้นั้น จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะเมื่อไม่ฟังพระธรรมก็ย่อมไม่เข้าใจพระธรรม เพราะว่าในขณะนี้คือพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็เป็นธรรมทั้งหมด
ถ้าไม่ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของธรรม จะไม่มีความเข้าใจใดๆ พอที่สติจะเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะปฏิบัติโดยไม่ฟังพระธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
และสำหรับการฟังพระธรรม จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องแล้ว การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติ
ใครก็ตามที่เคยตั้งใจ เคยคิด เคยอยากจะปฏิบัติ จะต้องฟังพระธรรมจนกระทั่งเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่คิดเลยว่าต้องปฏิบัติ เพราะต้องแล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เมื่อไร ซึ่งขณะนั้นสติก็ปฏิบัติกิจ ของสติ ถ้าอยากจะปฏิบัติ หรือคิดว่าจะปฏิบัติ ต้องฟังพระธรรมจนไม่คิดที่จะปฏิบัติ เพราะถ้าคิดก็ยังเป็นตัวตน ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่คิดนั้นเป็นนามธรรมที่คิด และถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่สามารถถ่ายถอนความเป็นตัวเราในขณะที่กำลังคิดได้ แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อนั้นก็ไม่ต้องคิดที่จะปฏิบัติ แล้วแต่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใดก็ระลึก ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างไปเรื่อยๆ
ทุกท่านก็เป็นอย่างนี้ ใช่ไหม คือ แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกลักษณะของ สภาพธรรมไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติ
และสำหรับการดับกิเลสโดยรู้แจ้งอริยสัจธรรม ประจักษ์ลักษณะของ พระนิพพาน ก็เป็นเรื่องที่ไกลมาก ซึ่งทุกคนก็คงจะศึกษาและเข้าใจได้ว่า ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะไม่มีหนทางที่จะประจักษ์ลักษณะของ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทโดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกล แต่คำนึงถึงเรื่องใกล้ๆ คือ ชีวิตทุกๆ ขณะตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวันว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพียงไร ก็จะทำให้สามารถละคลายอกุศลได้ จนกระทั่งถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
แต่ถ้าในชีวิตประจำวันไม่เคยสนใจว่า เป็นกุศลมากน้อยเท่าไร เป็นอกุศลมากน้อยเท่าไร ย่อมไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้ และเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดก็อาจจะคิดว่า รู้จักตัวเองพอสมควร แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม จะทำให้เข้าใจขึ้นว่า ที่เข้าใจว่ารู้จักตัวเองนั้น รู้จักมากหรือรู้จักน้อยแค่ไหน
แม้แต่คำว่า น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อความในพระไตรปิฎก ก็น่าจะพิจารณาว่า หมายความถึงขณะไหน สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมและน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม เพื่อขจัดกิเลส ขัดเกลากิเลส เพื่อไปสู่ทางเดียวกัน คือ รู้แจ้งอริยสัจธรรม นั่นคือผู้ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะมีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน คือ ฟังพระธรรมเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อไปสู่ทางที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ใช่น้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะนำไปสู่คติต่างๆ ซึ่งไม่นำไปสู่ พระนิพพาน
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งฟังพระธรรมจะพิจารณาได้ว่า จิตใจของท่านเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือยัง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่น้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะถึงพระนิพพานไหม ยังมีกิเลสอยู่ และไม่รู้ และไม่ขัดเกลาด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและพิจารณาธรรมแม้เพียง ข้อธรรมบางประการซึ่งอาจจะคิดว่าเล็กน้อย แม้แต่ข้อธรรมเพียงคำว่า เป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ก็ทำให้ระลึกได้ว่า ในขณะนี้ท่านเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับใครบ้าง หรือสำหรับบางบุคคลยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ได้ ถ้ายังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ได้ เป็นความผิดของใคร เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์
เป็นความผิดของคนอื่น หรือเป็นความผิดของท่านเอง เพราะในขณะที่กำลัง ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับคนอื่น ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นแต่เพียงจิตที่คิด คิดถึงคนอื่น ซึ่งความจริงคนอื่นก็ไม่มี ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ในความทรงจำเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคล ทำให้ความรู้สึก ในขณะนั้นไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับบางบุคคล
ถ้าระลึกได้อย่างนี้ เห็นกิเลสของตนเอง รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และรู้ด้วยว่าอกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้นก็เพราะคิด คิดเอง คนอื่นอาจจะไม่ได้มุ่งหมายหรือ ตั้งใจอย่างนั้นเลย แต่ความคิดของท่านเองทำให้เกิดอกุศล และไม่เป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกับคนอื่น เพราะฉะนั้น สาเหตุทั้งหมดอยู่ที่อกุศลของตนเอง
ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ ก็เป็นอกุศลที่ผ่านไป โดยไม่สามารถรู้ได้ว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นอหิริกะและอโนตตัปปะ คือ ไม่ละอาย ไม่รังเกียจที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับตนตามความเป็นจริง
ข้อความในพระไตรปิฎก แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์พุทธบริษัทเป็นอันมาก แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องทรงโอวาทแก่ภิกษุผู้ไม่มีหิริโอตตัปปะ ซึ่งใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุต มีข้อความที่แสดงให้เห็นถึงหิริโอตตัปปะหลายพระสูตร เช่น โอวาทสูตรที่ ๑ ข้อ ๔๘๓
ข้อความมีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ... ครั้งนั้นท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไป เฝ้าแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร กัสสป เธอจงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จงกระทำธรรมีกถาแก่ภิกษุ เราหรือเธอพึงกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย เราหรือเธอพึงกระทำธรรมีกถาแก่ ภิกษุทั้งหลาย
ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้
ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพราะเหตุไร
ตอบว่า เพื่อตั้งพระเถระไว้ในฐานะของพระองค์
ถามว่า ก็ท่านพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไม่มีหรือ
ตอบว่า มี แต่พระองค์ได้ทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า พระอัครสาวกทั้งสองอยู่ ไม่นาน (เพราะพระอัครสาวกทั้งสองปรินิพพานก่อนพระองค์) ส่วนท่าน พระมหากัสสปนั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี และเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปนี้จักนั่งในถ้ำสัตตบรรณคูหาทำการรวบรวมพระธรรมวินัย ทำเวลาประมาณ ๕,๐๐๐ ปีของพระผู้มีพระภาคให้เป็นไปได้ พระผู้มีพระภาคจึงตั้งท่านไว้ ในฐานะของพระองค์ เพื่อพวกภิกษุจักสำคัญคำของท่านพระมหากัสสปด้วยดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระมหากัสสปะกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ
ในสมัยโน้นที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานยังเป็นอย่างนี้ และเมื่อปรินิพพานแล้ว ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นประโยชน์สำหรับพุทธบริษัท
ท่านกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระธรรมวินัยนี้ ข้าพระองค์ได้เห็นภิกษุชื่อภัณฑะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระอานนท์ และภิกษุชื่ออาภิชชิกะ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของ พระอนุรุทธ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ดังนี้
การศึกษาพระธรรม ประโยชน์เพื่ออะไร ถ้าเพียงเพื่อที่จะกล่าวได้มากกว่ากัน จะกล่าวได้ดีกว่ากัน จะกล่าวได้นานกว่ากัน นั่นไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสของตนเองเลย และแม้ว่าขณะนั้นจะไม่พูด เพียงแต่คิด ในขณะนั้นก็ขาดหิริโอตตัปปะ เพราะไม่ได้มุ่งประโยชน์ที่จะช่วยกันแสดงธรรมให้บุคคลอื่นเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ถึงกับกล่าวออกมาอย่างนี้ ก็แสดงว่าขณะนั้นอหิริกะ อโนตตัปปะ มีกำลังแรงสักแค่ไหนที่จะแข่งกันแม้ในการแสดงธรรม และถ้าไม่ใช่ในเรื่องของธรรม อหิริกะ อโนตตัปปะ จะเป็นอย่างไร เพราะแม้จะได้ฟังพระธรรมจากท่านพระอานนท์ หรือท่านพระอนุรุทธะ แต่อหิริกะ อโนตตัปปะก็ยังเกิดได้ถึงอย่างนี้
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ เธอจงมา เธอจงเรียกภัณฑภิกษุ สัทธิวิหาริกของอานนท์ และอาภิชชิกภิกษุ สัทธิวิหาริกของอนุรุทธ มาตามคำของเราว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถาม ภิกษุทั้งสองก็รับว่าจริงอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงไว้แล้วอย่างนี้หรือหนอ พวกเธอจึงกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะอย่างนี้ว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน
ภิกษุกราบทูลว่า
ไม่เป็นอย่างนั้นเลย พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าพวกเธอไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ดูกร โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเธอรู้อะไร เห็นอะไร บวชอยู่ในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ ย่อมกล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะไปทำไมเล่าว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าวได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นซบศีรษะใกล้พระบาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ทั้งสองผู้พาลอย่างไร ผู้หลงอย่างไร ผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ข้าพระองค์เหล่าใดบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วอย่างนี้ กล่าวล่วงเกินกันและกันด้วยสุตะว่า จงมาเถิดภิกษุ ใครจักกล่าว ได้มากกว่ากัน ใครจักกล่าวได้ดีกว่ากัน ใครจักกล่าวได้นานกว่ากัน ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับโทษโดยความเป็นโทษแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อสำรวมต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล พวกเธอมาเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม เมื่อนั้นเราขอรับโทษนั้นของเธอเหล่านั้น ก็การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนเสียตามสมควรแก่ธรรม และถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า
นี่เป็นเครื่องเตือนสำหรับหิริโอตตัปปะที่จะเกิดขึ้นพิจารณาเห็นโทษของตนเอง แต่บางท่านแม้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ คือ เป็นข้อความในพระไตรปิฎก ให้พิจารณาตนเอง เห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษตามควรแก่โทษนั้นหรือยัง แต่ ก็ยังไม่เห็น ซึ่งก็ทราบได้ว่า เพราะอหิริกะและอโนตตัปปะเกิดในขณะนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620