แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579


    ครั้งที่ ๑๕๗๙


    สาระสำคัญ

    ผู้ที่หิริโอตตัปปะเกิด (ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส)

    ส.สคา.อรหันต-วรรคที่ ๑ พหุธิติสูตร - น้อมปฏิบัติธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    แต่สำหรับผู้ที่หิริโอตตัปปะเกิด ท่านพระมหากัสสปะกล่าวว่า

    ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า อกุศลที่ยังไม่เกิดเมื่อเกิดขึ้นย่อมเสียประโยชน์ อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อยังละไม่ได้ย่อมเสียประโยชน์ กุศลที่ยังไม่เกิดเมื่อไม่เกิดย่อมเสียประโยชน์ กุศลที่เกิดขึ้นเมื่อดับแล้ว ไม่เกิดอีกเพราะเสื่อมย่อมเสียประโยชน์

    เหมือนกันทุกประการกับผู้ที่อหิริกะ อโนตตัปปะเกิด รู้ทั้ง ๒ ท่าน แต่ท่านหนึ่ง ทั้งๆ ที่รู้ อหิริกะ อโนตตัปปะก็เกิด อีกท่านหนึ่ง รู้ แต่หิริโอตตัปปะเกิด เพราะฉะนั้น พระธรรมสำหรับแต่ละบุคคลที่จะพิจารณาตนเองจริงๆ

    บางท่านอาจจะเห็นท่านผู้อื่นมีหิริโอตตัปปะที่น่าชื่นชม ซึ่งท่านยังทำไม่ได้ แต่ก็ขวนขวายเพียรเพิ่มขึ้นที่จะกระทำ ซึ่งวันหนึ่งย่อมจะเป็นไปได้ แทนที่จะประมาท และไม่สนใจเรื่องของหิริและโอตตัปปะเลย

    ถ. ทั้งๆ ที่รู้แล้วยังทำ ชื่อว่าไม่มีความเพียร ไม่สะดุ้งกลัว แต่คนที่ทำโดยความไม่รู้ จะชื่อว่าไม่มีความเพียร ไม่สะดุ้งกลัวไหม

    สุ. แน่นอน ผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานไม่สามารถรู้เลยว่า วันนี้มีอกุศลกี่ครั้งมากไหม หรือผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้พิจารณาพระธรรมเลยก็ไม่รู้ ใช่ไหม ก็เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ และสำหรับผู้ที่รู้ก็ยังเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะได้ ทั้งๆ รู้

    ถ. ผู้รู้ ไม่มีความเพียรก็ต้องกลัว แต่ผู้ไม่รู้ เขาไม่รู้นี่

    สุ. ไม่รู้ก็ทำไปสบายมาก ทำต่อไป ใช่ไหม ถ้าไม่รู้ จะเลิกไหม

    สำหรับผู้ที่สะสมปัญญาที่จะเกิดหิริโดยง่าย ขอกล่าวถึงข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุต อรหันตวรรคที่ ๑ พหุธิติสูตรที่ ๑๐ ข้อ ๖๖๗ - ข้อ ๖๗๐ ซึ่งทุกท่านคงจะอยากเป็นอย่างนี้ แต่ชาติไหนจะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องสะสมไปอีกจนกว่าจะถึงชาตินั้น ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์จริงๆ

    ข้อความในพระสูตรมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในชัฏป่าแห่งหนึ่งในโกศลชนบท ก็โดยสมัยนั้นแล โคงาน ๑๔ ตัวของพราหมณ์ภารทวาชโคตรคนหนึ่งหายไป

    ครั้งนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรเที่ยวแสวงหาโคงานเหล่านั้นอยู่ เข้าไปถึงชัฏป่านั้น ครั้นแล้วได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในชัฏป่านั้น ทรงนั่งสมาธิ ตั้งพระกายตรง ทรงดำรงพระสติเฉพาะพระพักตร์ ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

    โคงาน ๑๔ ตัวของพระสมณะนี้ไม่มีแน่ แต่ของเราหายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข งาทั้งหลายอันเลวใบหนึ่งและสองใบ ในไร่ของพระสมณะนี้ไม่มีเป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข หนูทั้งหลายในฉางเปล่า ย่อมไม่รบกวนแก่พระสมณะนี้ด้วยการยกหูหางขึ้น แล้วกระโดดโลดเต้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้น พระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข

    เครื่องลาดของพระสมณะนี้ใช้ตั้งเจ็ดเดือนไม่ดาดาษแล้วด้วยสัตว์ทั้งหลายที่ บังเกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข หญิงหม้าย บุตรธิดา มีบุตรคนหนึ่งและสองคนของพระสมณะนี้ย่อมไม่มีแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้ จึงเป็นผู้มีความสุข แมลงซึ่งมีตัวอันลายไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้า ย่อมไม่ไต่ตอมพระสมณะนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข ในเวลาใกล้รุ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมไม่ทวงพระสมณะนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดังนี้เป็นแน่ เพราะเหตุนั้นพระสมณะนี้จึงเป็นผู้มีความสุข ฯ

    นี่เป็นชีวิตประจำวันของใครบ้างหรือเปล่า อาจจะไม่มีโคงาน ๑๔ ตัวที่หายไป ๖๐ วัน และกลุ้มใจเหมือนอย่างพราหมณ์คนนี้ และไม่ใช่ผู้ที่ปลูกผักปลูกงาที่มีใบเลว ๑ ใบหรือ ๒ ใบในไร่ และไม่มีฉางข้าวที่หนูชูหางกระโดดโลดเต้น แต่มีบ้างไหมที่แมลงซึ่งมีตัวอันลายไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้า หรือไม่ต้องหลับก็ได้ เพียงเท่านี้ ก็คิดถึงความสุขที่ต่างกันของผู้ที่มีกิเลสกับผู้ที่ไม่มีกิเลส ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียด

    พระผู้มีพระภาคได้ภาษิตพระคาถาตอบว่า

    ดูกร พราหมณ์ โคงาน ๑๔ ตัวของเราไม่มีเลย แต่ของท่านหายไปได้ ๖๐ วันเข้าวันนี้ ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกร พราหมณ์ งาทั้งหลายอันเลวมีใบหนึ่งและสองใบในไร่ของเราไม่มีเลย ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกร พราหมณ์ หนูทั้งหลายในฉางเปล่าย่อม ไม่รบกวนเราเลยด้วยการยกหูหางขึ้นแล้วกระโดดโลดเต้น ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข

    ดูกร พราหมณ์ เครื่องลาดของเราใช้ตั้งเจ็ดเดือนไม่ดาดาษเลยด้วย สัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข ดูกร พราหมณ์ หญิงหม้าย บุตรธิดา มีบุตรคนหนึ่งและสองคนของเราไม่มีเลย ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้มีความสุข แมลงซึ่งมีตัวอันลายไต่ตอมบุคคลผู้หลับด้วยเท้าย่อมไม่ไต่ตอมเราเลย ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็น ผู้มีความสุข ดูกร พราหมณ์ ในเวลาใกล้รุ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมไม่ทวงเราเลยว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้ ดูกร พราหมณ์ เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็น ผู้มีความสุข ฯ

    ท่านผู้ฟังเป็นอย่างไหนจึงจะเป็นผู้มีความสุข มีโค มีฉาง มีไร่ มีนา หรือว่า ไม่มีเลยจึงจะมีความสุข แล้วแต่กิเลส ฝืนกิเลสไม่ได้ ใช่ไหม ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ต้องมีนา ต้องมีโค ต้องมีฉางข้าว จึงจะมีความสุข ถ้าไม่มีจะสุขได้อย่างไร เพราะฉะนั้น แล้วแต่กิเลสจริงๆ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยาย เป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คน หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระสมณโคดมผู้เจริญ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ

    สำหรับผู้ที่สะสมอัธยาศัยมาเป็นบรรพชิต ก็ประพฤติปฏิบัติการอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต แต่แม้คฤหัสถ์ไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นบรรพชิต แต่ก็น้อมรับ อนุศาสนีโดยเคารพ คือ ประพฤติปฏิบัติตาม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เพียงฟังและเข้าใจ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม

    พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของ พระผู้มีพระภาค ก็ท่านพระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่ง คุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบมีความต้องการ ด้วยปัญญาเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้ เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาชะ ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล

    จบ อรหันตวรรคที่ ๑

    จะคิดไหมว่า คนหนึ่งซึ่งมีโคหายไป ๑๔ ตัว มีไร่ มีนา มีฉางข้าว จะเป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญา ความเพียร หิริโอตตัปปะมาแล้ว พร้อมที่จะบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์ในชาตินั้น ถ้าท่านผู้ใดเห็นท่านที่มีไร่ มีนา จะทราบไหมว่าท่านผู้นั้นอาจจะสะสมปัญญามาแล้ว จะถึงขั้นไหนก็ไม่แน่ แล้วแต่โอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม และมีเหตุปัจจัยที่จะให้ปัญญาเจริญในชาตินั้น ถ้าเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยัง ไม่ปรินิพพาน เป็นกาลสมบัติ เพราะฉะนั้น ประมาทไม่ได้เลยว่า ใคร อาชีพไหน มีความทุกข์อย่างไร ยังมีโลภะ โทสะ โมหะอยู่ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม การสะสมโสภณธรรมทั้งหลายที่พร้อมจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เป็นปัจจัยทำให้เมื่อได้ฟัง พระธรรมแล้วก็น้อมปฏิบัติธรรมได้ทันที จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ทุกคนตรงต่อตัวเอง ยังไม่ต้องคิดถึงพราหมณ์ผู้นี้ แต่คิดถึงความเข้าใจธรรมในวันหนึ่งๆ และสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ และปัญญาซึ่งเกิดเพราะการพิจารณาสังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใน วันหนึ่งๆ จนกว่าจะถึงชาติหนึ่งซึ่งจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ท่านจะไม่ทราบเลยว่า ในชาตินั้นท่านจะเป็นใคร จะเป็นผู้มีไร่ มีนา หรือจะเป็นคนทำอาหารอยู่ในห้องครัว และได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามี แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ เหตุต้องตรงกับผล ถ้าขณะนี้ไม่รู้ว่าสัจธรรมคืออะไร ก็ไม่สามารถอบรมเจริญหนทางที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง ฟังสูตรนี้แล้ว ต้องเข้าใจอย่างแน่นอนว่า พราหมณ์ภารทวาชโคตรต้องเจริญสติปัฏฐานมาเต็มเปี่ยมแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย พูดแต่หิริโอตตัปปะ มีทุกข์เพราะโค มีทุกข์เพราะบุตร มีทุกข์เพราะไร่ มีทุกข์เพราะฉางข้าว ก็ได้บรรลุแล้ว

    สุ. ยัง ท่านต้องบรรพชาอุปสมบทก่อน ไม่ใช่บรรลุทันที

    ผู้ฟัง ตอนที่ฟังได้เพียงถึงพระรัตนตรัยเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้พูดละเอียดถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    สุ. ทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา

    ถ. วันนี้ฟังเรื่องหิริโอตตัปปะรู้สึกว่า ตัวเองมีอกุศลเกิดขึ้นมากมาย และหวนระลึกไปถึงปีเศษๆ ที่อาจารย์แสดงธรรมเรื่องลักษณะของโทสะ ผมก็อัดเทปไว้ กลับไปบ้านก็เปิดฟังอีกหลายครั้ง ก็เกิดความซาบซึ้ง อัดต่ออีก ๔ – ๕ ชุด ส่งต่อให้เพื่อนๆ ที่สนใจในธรรมด้วยกัน โดยคิดว่า ถ้าเขาได้ฟังแล้ว เขาคงจะสงสัยแน่ๆ ในลักษณะของโทสะนั้น เพราะอาจารย์พูดภาษาบาลีมาก และอธิบายลักษณะของโทสะทั่วๆ ไปก็มาก ก็รอว่าเมื่อไรเขาจะถามเรา แต่ก็เงียบหายไป ผมก็นำเอาเทป ม้วนนั้นกลับมานั่งฟังใหม่อีกครั้งหนึ่ง และพิจารณาว่า ลักษณะของโทสะนั้นมีภาษาบาลีอยู่มาก เราสมควรที่จะตัดต่อเทปไหม

    สุ. แล้วแต่ ไม่เป็นไรเลยเรื่องภาษา ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ถ. ผมก็ตัดต่อแล้วเป็นชุด แต่ก็ไม่กล้าส่งเทปนั้นไปให้ใครฟัง

    สุ. ขอประทานโทษ สำหรับผู้ที่ไม่ชินหูในภาษาบาลีและไม่รู้คำแปล ฟังไว้ก่อนดีกว่าตัดไหม ให้ชินๆ ไว้ และค่อยๆ หาความหมายของพยัญชนะนั้น แสดงถึงความสนใจที่จะรู้ลักษณะต่างๆ ที่เป็นความละเอียดของโทสะ เพราะถ้าตัดออกไปเลยก็ยังคงไม่ชินหูอยู่

    ถ. ผมได้ฟังอาจารย์ และเข้าใจในเรื่องการแสดงธรรมว่า ถ้าเราฟังแล้ว ยังไม่เข้าใจ ก็ให้ฟังต่อไป จนกว่าสติในขั้นการฟังจะเกิดขึ้นและมีความเข้าใจ ผมก็ คิดว่าอย่างนั้น ต่อมาผมได้ทราบว่า มีผู้แสดงธรรมพูดเป็นทำนองว่า สูงเกินไป และ พยายามนำธรรมนั้นมาพูดง่ายๆ โดยไม่นึกถึงว่า ถ้าไม่เข้าใจ ก็น่าจะแนะนำให้ ฟังธรรมต่อๆ ไปให้เข้าใจ วันนี้อาจารย์คุยในเรื่องนี้ ก็รู้สึกตัวว่า อกุศลจิตเกิดขึ้น ลักษณะอย่างนี้ เราควรจะช่วยเหลือบุคคลผู้นั้นอย่างไร

    สุ. และช่วยเหลือตัวเราหรือเปล่า

    ถ. ตัวเองก็ทราบว่า ในขณะนั้นก็มีกุศลเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้งบางคราว และอกุศลก็เกิดขึ้น แล้วแต่อันไหนจะเกิดขึ้นมาก และก็หลงลืมสติไป แต่เมื่อมาฟังอาจารย์วันนี้ ก็เกิดความรู้สึกว่า น่าจะเรียนถามอาจารย์ว่า ลักษณะอย่างนี้ เราควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะสมควร

    สุ. ในสูตรที่กล่าวถึงที่มีข้อความว่า ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อนี้ก็น่าพิจารณา เพราะส่วนใหญ่ท่านจะเห็นความผิดของ คนอื่น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงให้เห็นความผิดของคนอื่นเลย กลับมีข้อความว่า ข้อที่ไม่มีภิกษุผู้กล่าวสอนนี้เป็นความเสื่อมโทรม กล่าวสอนใคร ถ้าไม่ใช่กล่าวสอนตนเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีใครกล่าวสอนผู้หนึ่งผู้ใด เป็นความกรุณาของผู้นั้น เป็นความเมตตาของผู้นั้น เป็นความหวังดีของผู้นั้น แต่ในเมื่อยังมีกิเลสอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่ควรคิดถึงแต่เพียงกิเลสของคนอื่น จะต้องคิดถึงกิเลสของตนเองด้วย

    และสำหรับเรื่องของการแสดงธรรม เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ไม่ว่า ในกาลสมัยไหนทั้งสิ้น เพราะว่าแต่ละท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ไม่ได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น ถ้ามีหลายท่านพยายามช่วยกัน และสามารถทำให้ใครเข้าใจธรรมได้ ก็น่าอนุโมทนาในความสามารถของท่านผู้นั้น เพราะว่าบางท่านอาจจะทำให้ท่านผู้นี้เข้าใจได้ อีกท่านหนึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้นั้นเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่สามารถทำให้ใครเข้าใจธรรมขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์

    ถ้าเพ่งเล็งถึงในแง่นี้ จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านมีความสามารถที่จะรับธรรมได้ ไม่เท่ากัน แต่ใครจะเป็นผู้ทราบดีว่าบุคคลใดควรจะรับธรรมขั้นใด ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่คุ้นเคยก็ยาก ถ้าเป็นผู้ที่คุ้นเคยก็อาจจะพอรู้ได้ว่า สำหรับบุคคลผู้นี้อย่าไปพูดเรื่อง สติปัฏฐานเลย เขายังไม่สนใจแน่ๆ แม้แต่เรื่องทาน บางท่านก็อย่าได้มาพูด เพราะว่าไม่สนใจก็มี

    ได้ฟังจากท่านผู้หนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า มีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเป็นผู้ที่ มั่งมีมาก แต่ใครอย่าบอกให้ท่านทำบุญ ไม่ได้เลย แม้แต่เวลาที่จะไปทอดกฐิน ก็นำเอาผ้าไตรไปให้ท่านอนุโมทนา แต่ไม่ได้ให้ท่านทำบุญ เพียงให้อนุโมทนา ซึ่งท่านก็รับผ้าไตรและอนุโมทนา และเมื่อบุตรหลานเอาผ้ากฐินนั้นไปทอดให้ ท่านก็ยังถามด้วยความห่วงใยว่า คณะกฐินกลับมาหรือยังๆ ใน ๒ วันที่ไป และท่านก็สิ้นชีวิต ทั้งๆ ที่เรื่องทาน ใครอย่าไปบอกให้ท่านทำ ท่านไม่ทำ แต่แม้กระนั้น กุศลจิตก็ยังเกิดเวลาที่มีผู้ให้ผ้าไตรสำหรับอนุโมทนาในกฐินนั้น

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนควรจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับพระธรรมว่า สำหรับบางท่านเรื่องสติปัฏฐานอาจจะไม่มีประโยชน์ ยังไม่ถึงกาลที่บุคคลนั้นจะสนใจ ถ้าพูดไปก็ว่างเปล่า เหนื่อยเปล่าด้วย หรือแม้แต่เรื่องทาน สำหรับผู้ที่ไม่ยินดีในทาน ยังไม่ถึงกาลที่เห็นประโยชน์ ก็ยังพูดไม่ได้เลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564