แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580


    ครั้งที่ ๑๕๘๐


    สาระสำคัญ

    การบรรยายธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ (เป็นเพียงการเริ่มต้น เป็นการบุกเบิกเป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา)

    ส.ส.สานุสูตร - ปัจจัยที่เกื้อกูลให้หิริโอตตัปปะเกิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    ผู้ฟัง เรื่องที่มีการตัดต่อเทปของท่านอาจารย์ เท่าที่ผมมีประสบการณ์ ในการศึกษาธรรมมาบ้างเล็กน้อย และเท่าที่ศึกษามา กว่าจะได้พบแนวทางที่ถูกต้อง ก็เสียเวลามาก ผมมีความคิดเห็นว่า การตัดศัพท์บาลีออกจากเทปท่านอาจารย์ ผมเห็นว่าไม่สมควร เพราะเราจะเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ภาษาไทยในหนังสือพิมพ์ แต่ละปีๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ธรรมเป็นของจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงไว้ด้วยภาษาบาลี เป็นภาษาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีมากที่ได้รับอารยธรรมทางด้านภาษา คือ ภาษาไทยมีภาษาบาลีปนอยู่ด้วยมาก ทำให้ภาษาบาลีและภาษาไทยเข้ากันได้พอสมควร ทำให้ธรรมยังคงอยู่ได้ อย่างประเทศจีนจะเห็นชัด เป็นมหายาน จึงเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะไม่คงภาษาเดิมไว้ เขานำภาษาบาลีมาเปลี่ยนแปลงเป็นภาษาของเขา และแต่ละปีภาษาก็ตีความกัน ต่างออกไป อรรถก็เคลื่อนไปมาก เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมซึ่งมีจุดประสงค์ว่า เข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่พระสูตรที่ทรงอธิบาย ถ้าพระสูตรยังคงเป็นภาษาดั้งเดิมอยู่ การศึกษาเพื่อที่จะเข้าถึงอรรถก็ยังพอมีหวัง แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นภาษาที่ง่าย เช่น เลิกใช้ภาษาบาลี เปลี่ยนเป็นภาษาไทยจะได้จะเข้าใจง่าย ต่อมาอีกยุคหนึ่ง ภาษานั้นก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความหมาย ไม่เหมือนกับที่เราใช้ภาษาบาลีที่เหมือนภาษา ที่ตายแล้ว อย่างไรก็ยังคงอรรถไว้ได้

    สุ. นี่เป็นเหตุหนึ่งซึ่งดิฉันได้เคยเรียนให้ทราบแล้วว่า การบรรยายธรรมของดิฉันเป็นเพียงการเริ่มต้น เป็นแนวทาง เป็นการบุกเบิกสำหรับรุ่นต่อๆ ไปที่จะศึกษาพระธรรมให้แตกฉาน กว้างขวาง ลึกซึ้งขึ้นอีก เพราะถ้าไม่มีการปูแนวทางเอาไว้ให้สะดวกสำหรับรุ่นหลังที่จะมาศึกษาต่อ ก็คงต้องเริ่มต้นคลำหนทางกันใหม่

    เพราะฉะนั้น ข้อความในพระสูตรก็ตาม หรือที่ยกจากพระไตรปิฎกโดยตรง หรืออรรถกถา แม้ว่าจะมีบางคำซึ่งอาจจะทำให้คนที่ไม่ชิน เข้าใจได้ไม่ชัดเจน หรืออาจจะเป็นคำที่ทำให้ต้องคิด และพิจารณาในอรรถในเนื้อความนั้นจึงจะเข้าใจได้ แต่นั่นก็ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในพระธรรม และไม่ทอดทิ้งแม้คำที่ยัง ไม่เข้าใจ เพราะว่าเห็นประโยชน์ รักษาไว้ เพื่อในกาลข้างหน้าจะได้ศึกษาและพยายามหาความเข้าใจให้แจ่มแจ้งขึ้น

    แต่สำหรับบางบุคคล ต้องคำนึงถึงบางบุคคลด้วย นอกจากบางกาลเทศะแล้ว ยังบางบุคคลซึ่งอาจจะไม่สนใจในพระธรรมถึงขั้นนี้ แต่ต้องการเรื่องเบาๆ ง่ายๆ ที่พอจะเข้าใจได้ เมื่อมีคำยากก็จะทิ้งความสนใจทันที เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากไป สูงไปเพราะฉะนั้น ท่านที่มีเจตนาอยากจะให้ท่านผู้นั้นมีความเข้าใจ ก็เป็นการเฉพาะตัว ส่วนตัวที่จะตัดคำยากๆ ออกได้ นี่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละท่าน ซึ่งควรพิจารณาเมื่อหวังประโยชน์แก่บุคคลอื่น ก็ทำตามอัธยาศัยของผู้นั้นได้

    ถ. ธรรมของพระผู้มีพระภาคมีมากมาย และต้องใช้ให้ถูกกาลเทศะ เมื่อ ฟังเรื่องหิริโอตตัปปะจากอาจารย์แล้ว ก็พิจารณาตัวเองว่า มีกำลังน้อยเหลือเกินสำหรับหิริโอตตัปปะ ทำบาป ทำอกุศลไป วันหนึ่งๆ คิดเรื่องอกุศล เราก็ฟังเรื่องหิริโอตตัปปะมาตั้ง ๓ – ๔ อาทิตย์แล้วก็ยังไม่มีกำลัง ยิ่งไปกว่านั้น บางท่านเจริญ สติปัฏฐานอยู่ด้วย ก็ยังไม่นำไปปฏิบัติ ไม่นำไปประพฤติ ไม่ละ

    อาจารย์บอกว่า หิริโอตตัปปะจะมีกำลัง ก็โดยการเพียรเผากิเลส ละในที่นี้ คงละกิเลสอีกเหมือนกัน ใช่ไหม คือ ต้องเจริญสติปัฏฐาน จะเอาอย่างหนึ่งอย่างใดหนักก็ไม่ได้ ต้องหนักๆ ด้วยกันทั้งนั้น ใช่ไหม

    สุ. เป็นผู้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว เพราะถ้ามุ่งเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว วันนี้ทำอะไรบ้าง อหิริกะเท่าไร อโนตตัปปะเท่าไร แม้แต่ในเรื่องมารยาท ในเรื่องปฏิสันถาร ในเรื่องความเอื้อเฟื้อ ในเรื่อง บุญญกิริยา แม้เล็กๆ น้อยๆ

    ถ. ต้องเก็บหมด

    สุ. เป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ด้วยสติ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะสภาพจิตของตนเองในขณะนั้น ก็ยังคงเป็นเรื่องของคนอื่นมากมายอยู่นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่คิดถึงคนอื่นด้วยจิตที่เป็นอกุศล จะเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะนั้นเพราะอหิริกะ อโนตตัปปะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นกุศล คิดด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา หรือด้วยอุเบกขา ไม่ต้องคอยถึงชาติหน้าที่จะอยากมีกิเลสน้อย ถ้าอยากจะมีกิเลสน้อยชาติหน้า คือ ขณะนั้นเองต้องลดคลายอกุศล ซึ่งเพียรคือ อย่างนั้น ไม่ใช่คอย แต่ค่อยๆ ระลึกได้ และรู้ว่าขณะใดเป็นอกุศลก็ละ

    ถ. ก็ควรเริ่มตั้งต้น ตำหนิตัวเองไปหนักๆ หน่อย

    สุ. ขออนุโมทนาอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่คิดจะรู้จักตัวเองและเตือนตัวเอง นี่เป็นการน้อมรับอนุศาสนีย์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อปฏิบัติด้วยความเคารพ

    อย่าลืม กัลยาณมิตร ไม่ใช่คนที่จะทำให้เราโกรธ หรือรู้สึกโกรธคนนั้นคนนี้ แต่เป็นผู้ที่ทำให้เราเกิดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในบุคคลอื่นๆ

    สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส จะเห็นได้ว่า อหิริกะ อโนตตัปปะ มีปัจจัยที่จะเกิดได้ทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และถ้า ไม่มีปัจจัยที่จะเกื้อกูลได้ หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด ต่อเมื่อใดที่มีปัจจัยที่เหมาะสม ที่เกื้อกูลได้ในขณะนั้น หิริโอตตัปปะจึงเกิดได้

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สานุสูตร ข้อ ๘๑๔ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล บุตรของอุบาสิกาคนหนึ่ง ชื่อสานุ ถูกยักษ์เข้าสิง

    ครั้งนั้นแล อุบาสิกานั้นได้ปริเวทนาการกล่าวคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

    ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอด ปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ฉันเห็นในวันนี้ ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เล่ากันว่า บุตร (คือ สานุสามเณร) เป็นบุตรคนเดียวของอุบาสิกานั้น นาง ให้บุตรนั้นบรรพชาในเวลาเป็นหนุ่ม สานุสาเณรนั้นตั้งแต่เวลาบรรพชาแล้วเป็นผู้มีศีลถึงพร้อมด้วยวัตร สามเณรได้ทำวัตรแก่อาจารย์ อุปัชฌายะและพระอาคันตุกะ เป็นต้น เดือนละแปดวัน ลุกแต่เช้า เข้าไปตั้งน้ำไว้ในโรงน้ำ กวาดโรงฟังธรรม ตามประทีป ประกาศฟังธรรมด้วยเสียงไพเราะ

    พวกภิกษุทราบกำลังของสามเณรนั้นจึงเชื้อเชิญว่า พ่อเณร จงกล่าว บทสรภัญญะเถิด สามเณรนั้นไม่นำอะไรมาอ้างว่า ลมเสียดแทงหัวใจของผม หรือโรคไอรบกวน ขึ้นธรรมาสน์กล่าวบทสรภัญญะเหมือนยังแม่น้ำคงคาในอากาศให้ ตกลงอยู่ฉะนั้น ลงมากล่าวว่า ขอส่วนบุญในสรภัญญะนี้จงมีแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้าเถิด

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีศรัทธาเวลาที่ผู้อื่นเชื้อเชิญให้ทำกิจหนึ่งกิจใดในเรื่องของการแสดงธรรม ท่านไม่มีข้ออ้างอื่นเลย เช่น สามเณรนั้นไม่อ้างว่า ลมกำลัง เสียดแทงหัวใจของผม หรือโรคไอรบกวน ท่านขึ้นธรรมาสน์กล่าวบทสรภัญญะ เมื่อลงมาแล้วก็อุทิศส่วนบุญ โดยกล่าวว่า ขอส่วนบุญในสรภัญญะนี้จงมีแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้าเถิด

    ส่วนมารดาที่มีชีวิตอยู่ไม่รู้ในส่วนบุญนั้น

    เพราะว่าขณะนั้นท่านบรรพชาอุปสมบทแล้ว

    แต่มารดาของสามเณรในอัตภาพก่อนนั้นเกิดเป็นนางยักษิณี นางมากับพวกเทวดา ฟังธรรมแล้วจึงกล่าวว่า ลูก ข้าพเจ้าขออนุโมทนาส่วนบุญอันสามเณรให้แล้ว

    ก็ธรรมดาพวกภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นที่รักของโลกพร้อมทั้งเทวโลกด้วยประการฉะนี้ เหล่าเทวดามีความละอาย มีความเคารพในสามเณรนั้น

    นี่คือหิริโอตตัปปะ

    ย่อมสำคัญสามเณรนั้นเหมือนท้าวมหาพรหมและเหมือนกองไฟ ยกนางยักษิณีนั้นขึ้นเป็นที่เคารพ ดูแล ด้วยความเคารพในสามเณร

    แต่เมื่อสามเณรนั้นถึงความเจริญ มีอินทรีย์แก่กล้า ถูกความไม่ยินดีบีบคั้น เมื่อไม่อาจจะบรรเทาความไม่ยินดีได้ จึงปล่อยให้ผมและเล็บยาวรกรุงรัง ทั้งสบงและจีวรสกปรกเหลือเกิน ไม่บอกแก่ใคร ถือบาตรและจีวรไปยังประตูเรือนของมารดา ของตน อุบาสิกาเห็นสามเณรไหว้แล้วได้กล่าวว่า

    ลูก เมื่อก่อนเจ้ามาในที่นี้กับอาจารย์อุปัชฌายะ หรือภิกษุหนุ่มและสามเณร เพราะเหตุไรในวันนี้เจ้ามาแล้วแต่ผู้เดียวเล่า

    สามเณรนั้นบอกความจริงให้ทราบว่า ท่านใคร่จะสึก อุบาสิกาเป็นคนมีศรัทธา ได้แสดงโทษในการอยู่ครองเรือนโดยประการต่างๆ เป็นการกล่าวสอนสามเณร เมื่อไม่อาจจะให้สามเณรนั้นยินยอมได้ นางก็เลยกล่าวชวนให้เข้าไปในบ้าน จะได้จัดยาคูและภัตเพื่อถวาย และทำภัตกิจเสร็จเสียก่อน คิดว่า คำพูดของตนอาจจะ ไม่เกื้อกูลต่อสามเณร สามเณรอาจจะเกิดหิริโอตตัปปะระลึกได้เอง

    เมื่อสามเณรนั่งแล้ว อุบาสิกานั้นได้จัดข้าวยาคูและของขบเคี้ยวถวาย และเตรียมที่จะจัดภัต นั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกล

    สมัยนั้น นางยักษิณีซึ่งเป็นมารดาในอดีตชาติคิดว่า สามเณรนั้นจะได้อาหารอะไร ในที่ไหนหนอแล หรือไม่ได้ ก็รู้ว่าสามเณรนั้นนั่งในเรือนของมารดา แล้วเตรียม ที่จะสึก นางยักษิณีนั้นก็คิดว่า สามเณรอย่าพึงให้ความละอายเกิดขึ้นระหว่างเทวดาของเรา

    เพราะว่าเทวดาทั้งหลายเป็นผู้มีความเคารพในสามเณร เพราะฉะนั้น สามเณรนั้นไม่ควรจะสึก

    นางยักษิณีนั้นก็สิงที่ร่างของสามเณรสานุ แล้วบิดคอให้ล้มลงที่พื้น

    สามเณรนั้นมีนัยน์ตาเหลือก น้ำลายไหล ดิ้นอยู่ที่พื้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บุตรชื่อว่าสานุของอุบาสิกาถูกยักษ์สิงแล้ว

    เมื่ออุบาสิกาเห็นอาการแปลกของบุตร ก็เข้ามาหาโดยเร็ว คร่ำครวญ แล้วได้กล่าวคาถาว่า

    ฉันได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการด้วยดี ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอด ปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับชนเหล่านั้น บัดนี้ ฉันเห็นในวันนี้ ยักษ์เล่นกับสามเณรสานุ

    ยักษ์กล่าวว่า

    ท่านได้สดับต่อพระอรหันต์ทั้งหลายว่า ชนเหล่าใดเข้าอยู่อุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ตลอดดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ ทั้งตลอดปาริหาริกปักษ์ ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่เล่นกับ ชนเหล่านั้น เป็นการชอบ ท่านพึงบอกสานุผู้ฟื้นขึ้นแล้วว่า ยักษ์สั่งคำนี้ไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันลามกทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ถ้าท่านจักกระทำกรรมอันลามกไซร้ ถึงท่านจะเหาะหนีไป ก็ไม่พ้นจากทุกข์

    เมื่อกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ปล่อยสามเณร สามเณรลืมตาเห็นมารดาซึ่งสยายผม ร้องไห้สะอึกสะอื้น โดยที่ไม่รู้ว่าตนเองได้ถูกอมนุษย์สิงแล้ว เมื่อสามเณรเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า ก่อนนี้เรานั่งบนตั่ง และมารดาก็นั่งซาวข้าวอยู่ในที่ไม่ไกล แต่เดี๋ยวนี้เรา นั่งบนพื้น ส่วนมารดาของเราร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ แม้ชาวบ้านทั้งสิ้นก็ประชุมกันแล้ว นั่นอะไรกันหนอ ทั้งที่นอนนั้นแหละกล่าวคาถาต่อไปมีข้อความว่า

    โยม ญาติ และมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่ แต่หายไป โยมยังเห็นฉันเป็นอยู่ ไฉนโยมจึงร้องไห้ถึงฉัน

    อุบาสิกากล่าวว่า

    ลูกเอ๋ย ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนที่ตายแล้ว หรือยังเป็นอยู่แต่หายไป แต่คนใดละกามทั้งหลายแล้วจะกลับมาในกามนี้อีก ลูกรัก ญาติและมิตรทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงคนนั้น เพราะเขาเป็นอยู่ต่อไปอีกก็เหมือนตายแล้ว แน่พ่อ เรายกท่านขึ้นจากเถ้ารึงที่ยังร้อนระอุ แล้วท่านอยากจะตกลงไปสู่เถ้ารึงอีก แน่พ่อ เรายกท่านขึ้นจากเหวแล้ว ท่านอยากจะตกลงไปสู่เหวอีก เราจะโพนทะนาแก่ใครเล่าว่า ขอท่านจงช่วยกัน ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ประดุจสิ่งของที่ขนออกแล้ว จากเรือนที่ไฟไหม้ แต่ท่านอยากจะเผามันเสียอีก

    เวลาไฟไหม้ก็พยายามเอาสมบัติทั้งหลายออกจากเรือน โดยการบรรพชาอุปสมบท เพราะเห็นโทษของกาม แต่แล้วก็กลับจะเผาของที่เอาออกมานั้นเสียอีก

    เมื่อมารดากล่าวอยู่อย่างนั้น สามเณรก็ระลึกได้ กลับได้หิริและโอตตัปปะ จึงกล่าวว่า เราไม่ต้องการเป็นคฤหัสถ์

    ครั้งนั้นมารดาของสามเณรนั้นยินดีว่า ดีละลูก ดังนี้ ถวายโภชนะอันประณีตให้ฉัน แล้วจึงถามว่า ลูก เจ้าอายุกี่ปี

    สามเณรตอบว่า แม่ ยี่สิบปีบริบูรณ์

    อุบาสิกากล่าวว่า ลูก ถ้าเช่นนั้น ขอเจ้าจงทำการอุปสมบทเถิด

    เมื่อได้ถวายผ้าจีวรแล้ว สามเณรนั้นให้ทำจีวรแล้วอุปสมบท เรียน พระพุทธพจน์อยู่ ทรงพระไตรปิฎก ยังพระพุทธพจน์นั้นให้บริบูรณ์ ในอาคตสถานแห่งศีลเป็นต้น ไม่นานบรรลุความเป็นพระอรหันต์ เป็นพระธรรมกถึกผู้ใหญ่ ดำรงอยู่ได้ ๑๒๐ ปี ให้ชมพูทวีปทั้งสิ้นสั่นสะเทือนแล้วก็ปรินิพพาน

    ยาก ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่จะเกื้อกูลให้หิริโอตตัปปะเกิด หิริโอตตัปปะก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น แต่ละท่าน ต่อไปก็คงรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เวลาที่อกุศลกำลังเกิด มีอะไรที่จะทำให้หิริโอตตัปปะเกิดได้บ้าง หรือแม้จะมีเหตุการณ์ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เกิด แต่สำหรับสานุสามเณร เมื่อท่านเห็นมารดาของท่านร้องไห้อย่างนั้น และได้ฟังเรื่องของมารดาในอดีตชาติที่กล่าวเตือนท่าน ท่านก็ระลึกได้

    ถ. ปาริหาริกปักษ์แปลว่าอะไร

    สุ. เรื่องของการรับศีลอุโบสถตลอด ๓ เดือน

    ถ. ก็เป็นเรื่องอุโบสถ ถ้ายักษ์ไม่มาเข้าสิง เพียงลำพังมารดาของ สามเณรสานุเอาไม่อยู่ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ท่านได้กล่าวหลายข้อ แต่สานุสามเณรก็ยังไม่เกิดหิริโอตตัปปะ

    ถ. ยักษ์นั้นคงได้อานิสงส์มาก

    สุ. อยู่ที่จิตที่เป็นกุศล และจิตขณะใดเป็นกุศลโสมนัส ขณะนั้นย่อม ได้ผลมาก

    มารดาในอดีตชาติของใครขณะนี้อยู่ที่ไหน กำลังเห็นท่านผู้หนึ่งผู้ใดทำอกุศลอะไรบ้าง ถ้าจะทำให้มารดาในอดีตชาติเกิดกุศล ก็ต้องทำกุศล แม้จะไม่รู้เลยว่า ท่านอยู่ที่ไหน หรือแม้แต่มารดาหรือบิดาในปัจจุบันชาติซึ่งท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ยังไม่อาจจะรู้ได้ แต่ขณะใดที่บุคคลใดทำกุศล ผู้อื่นรู้ก็สามารถอนุโมทนาได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564