แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
ครั้งที่ ๑๕๘๒
สาระสำคัญ
วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง (เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง)
ภัยภายในคือ กิเลสของตนเอง
องฺ.สตฺตก.นครสูตร - ธรรมเครื่องป้องกัน ๗ ประการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๙
ท่านผู้ฟังคงไม่ได้สังเกตว่า ขณะที่เป็นกุศลมีวิริยะด้วย แต่ละท่านที่กำลัง ทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องของทานก็มีวิริยะ ในเรื่องของศีล การวิรัติทุจริต ก็มีวิริยะที่จะเว้นทุจริต และก็มีวิริยะในสุจริต หรือแม้แต่ในการฟังพระธรรม ก็ต้อง มีวิริยะด้วย เวลาอาจจะเช้าตรู่เกินไป ดึกเกินไป ก็ต้องอาศัยวิริยะที่จะฟัง หรือ การที่จะมาฟังพระธรรม แต่ละท่านก็อาจจะมีอุปสรรค ซึ่งบุคคลอื่นอาจจะไม่ทราบ อาจจะเป็นภารกิจทางบ้าน หรือชีวิตของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
เพราะฉะนั้น แม้แต่การฟังพระธรรม ก็ยังต้องอาศัยวิริยะด้วย ซึ่งไม่ควรประมาทอีกเหมือนกัน เพราะว่า การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่วิริยะในกุศลธรรมยังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดวิริยะเสื่อมหายไป โกสัชชะย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การถึงอกุศลย่อมไม่มีตลอดเวลาที่ปัญญายังตั้งมั่นอยู่ แต่เมื่อใดปัญญา เสื่อมหายไป ปัญญาทรามย่อมกลุ้มรุม เมื่อนั้นการถึงอกุศลย่อมมี
แสดงให้เห็นถึงขณะจิตที่สลับกันอย่างรวดเร็วมาก แม้แต่ปัญญา บางขณะความรู้ความเข้าใจเกิด แต่หลังจากนั้นไปแล้วหลายขณะซึ่งอกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นปัญญาหายไปไหน นึกไม่ออก เพราะว่าขณะนั้นเป็นไปในการเพลิดเพลิน ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือความขุ่นเคือง ไม่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็กั้นไม่ให้ปัญญาเกิดในขณะนั้นได้ แม้แต่การฟังพระธรรม หรือการแสวงหาความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ขณะนั้นก็หายไปหมด ขณะที่อกุศลกลุ้มรุม
เพราะฉะนั้น แต่ละท่านไม่ควรคิดแต่เพียงการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น โดยที่ ไม่เจริญกุศลอื่นๆ ด้วย เพราะขณะใดที่อกุศลเกิด เจริญขึ้น เติบโตขึ้น ครอบคลุมมิดชิด ขณะนั้นสติปัฏฐานจะมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่ประมาท ปล่อยให้อกุศลเจริญ จนทำให้สติปัฏฐานไม่สามารถเกิดได้ ดังนั้น นอกจากจะเป็น ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการด้วย เพราะว่าในขณะที่เจริญกุศลทุกประการไปเรื่อยๆ ความเข้าใจพระธรรมและความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าในขณะนั้นอกุศลธรรมไม่ได้ครอบคลุมจนมืดมิด
สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ชีวิตประจำวันแต่ละวัน จะทำให้เห็นได้ว่า นอกจากสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้างในบางขณะ และศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่สติระลึกแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการเจริญ กุศลประการอื่นๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้วเรื่องของการดับกิเลสก็เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และอีกไกลแสนไกลทีเดียว
ถ. ทำกุศลต้องมีวิริยะ ทำอกุศลก็ต้องมีวิริยะ
สุ. แต่ในทางอกุศล เพราะว่าตามความเป็นจริงวิริยเจตสิกเกิดกับจิต เกือบทุกดวง คือ เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง วิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก
ในขณะนี้ทุกคนกลัวภัยบ้าง ใช่ไหม ชีวิตไม่ใช่ปลอดภัยอยู่ทุกขณะ ถ้ากล่าวถึงส่วนรวม บ้านเมืองก็ยังต้องป้องกันภัยจากศัตรู ฉันใด ถ้ากล่าวถึงส่วนบุคคล แต่ละบุคคลก็ย่อมกลัวภัยที่จะมาถึงจากศัตรู แต่ภัยภายใน คือ กิเลสของตนเอง ซึ่งเป็นอกุศลธรรมที่พร้อมจะเกิดขึ้นเบียดเบียนทุกขณะ จะป้องกันอย่างไร เพราะว่าส่วนมากไม่คิดถึงการป้องกันภัยจากศัตรูซึ่งเป็นอกุศลธรรมของตนเอง
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต นครสูตร ข้อ ๖๔ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเครื่องป้องกันจากอกุศลซึ่งเป็นภัยอย่างยิ่ง ที่เกิดขึ้นกับแต่ละท่านได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วที่สุด เพียงขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นก็มีภัยจากอกุศลเกิดขึ้นแล้ว
ข้อความใน นครสูตร มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดปัจจันตนครของพระราชาป้องกันไว้ดี ด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการ และหาอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ในกาลนั้นเรากล่าวว่า ศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอก ทำอันตรายปัจจันตนครของพระราชานั้นไม่ได้
เครื่องป้องกัน ๗ ประการเป็นไฉน คือ ในปัจจันตนครของพระราชามี เสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับ คุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
ถ้าเปรียบใจของท่านเหมือนเมือง ซึ่งต้องมีป้อมค่ายที่จะต้องระวังศัตรู คือ อกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับเสาระเนียดที่ขุดหลุมฝังลึกไม่หวั่นไหว ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๑ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ได้แก่ ศรัทธา ที่มั่นคงเหมือนเสาระเนียด มิฉะนั้นแล้วก็เป็นบ้านเมืองที่ง่ายต่อการที่จะเข้ามาทำอันตรายได้ ใช่ไหม ไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ เลย
แต่ศรัทธาก็มีหลายขั้น เพราะบางท่านมีศรัทธาในการฟัง ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้ง ในพระธรรมที่ได้ฟัง แต่ต้องพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังซาบซึ้งในพระธรรมนั้น เป็นแต่เพียงความซาบซึ้งในพระธรรมที่ไพเราะเท่านั้น หรือว่าน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตอนที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงความไพเราะของพระธรรมและซาบซึ้งในความไพเราะนั้น เช่น ข้อความที่ว่า ฆ่าความโกรธเสียได้ จึงจะอยู่เป็นสุข
ฟังดูก็ถูกต้อง ซาบซึ้ง แต่เวลาโกรธเกิดขึ้นทันที ระลึกถึงคำที่ไพเราะนี้ไหม ที่ว่า ฆ่าความโกรธเสียได้ จึงอยู่เป็นสุข แต่อาจจะคิดว่า ต้องโกรธต่อไป ชอบ ต้องโกรธ พอใจที่จะโกรธ ต้องโกรธอีก ขณะนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่รังเกียจ ไม่กลัวในอกุศลธรรมซึ่งเป็นความโกรธในขณะนั้นเลย แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะซาบซึ้งในพระธรรมสักเท่าไรก็ตาม ยังไม่เป็นประโยชน์เท่ากับขณะที่ระลึกได้และ น้อมประพฤติปฏิบัติตามทันที
หรือแม้แต่พระธรรมที่กล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ ไกลกันยิ่งกว่าฟ้าและดิน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ว่าไกลกันแสนไกล เช่น ฟ้ากับดิน หรือว่าฝั่งข้างนี้ของมหาสมุทรกับฝั่งข้างนั้นของมหาสมุทร แต่คนที่ระลึกได้ถึง อกุศลของตนเองกับผู้ที่ได้ดับอกุศลเป็นสมุจเฉทเป็นลำดับขั้น จะเห็นความต่างกันมากของผู้ที่อกุศลเกิดอยู่ตลอด และหิริโอตตัปปะก็ยังไม่เกิด อกุศลก็มากมาย นานๆ ครั้งหนึ่งจะมีสติระลึกได้ และหิริโอตตัปปะก็เกิดบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ต้องต่างกันกับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถดับกิเลสได้เป็นสัตบุรุษ
เพราะแม้แต่ความเห็น ยังไม่ต้องถึงการดับมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคลดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล มีความยึดมั่นในความเห็นของตนเองว่าถูกต้อง และไม่ยอมที่จะทิ้งความเห็น ความยึดมั่นในความเห็นของตนซึ่งไม่ถูกต้อง ยังไม่ต้องเป็นเรื่องของการละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่ถูก ก็ยังไม่สามารถเกิดหิริโอตตัปปะที่จะละทิ้งไป และจะละความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้อย่างไร
นี่เป็นความละเอียดของการที่จะต้องพิจารณาตนเอง เพื่อให้เห็นความต่างกันของธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ
ข้อความต่อไปมีว่า
อีกประการหนึ่ง มีคูขุดลึกและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
ถ้าคิดถึงจิตใจ ทุกขณะซึ่งพร้อมที่จะถูกศัตรูเบียดเบียน ถ้าไม่มีเครื่องป้องกันจะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมก็ยังคงเกิดบ่อยๆ ต่อไป เพราะไม่ใช่เพียงแต่มีศรัทธาที่ เหมือนเสาระเนียด ยังต้องมีเครื่องป้องกันอย่างอื่นที่มั่นคงเข้มแข็งอีก เช่น มีคูขุดลึกและกว้าง เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๒ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า หิริ สภาพธรรมที่ละอาย ต่ออกุศลเป็นคูที่ขุดลึกและกว้าง ทำให้ศัตรูเข้ามาได้ยากขึ้นอีก ใช่ไหม เพราะนอกจากเสาระเนียดแล้ว ยังมีคูที่ขุดลึกและกว้างด้วย
อีกประการหนึ่ง มีทางเดินตามคูโดยรอบ ทั้งสูงและกว้าง นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
ซึ่งโอตตัปปะ เป็นสภาพธรรมที่กลัวอกุศลธรรม เป็น ทางเดินตามคูโดยรอบ ทั้งสูงและกว้าง เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๓
อีกประการหนึ่ง มีการสะสมอาวุธไว้มาก ทั้งที่เป็นอาวุธแหลมยาวและ อาวุธคม นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๔ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ซึ่งข้อนี้ พหูสูต การฟัง การสะสมความเข้าใจในธรรม ในการแทงตลอด อรรถและพยัญชนะด้วยดี เป็นอาวุธแหลมยาวและอาวุธคม ที่เป็นเครื่องป้องกัน นครประการที่ ๔ ถ้าไม่มีอาวุธเลยก็ยากที่จะป้องกันอันตราย
อีกประการหนึ่ง ตั้งกองทัพไว้มาก คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอน เหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ฯ
เครื่องป้องกันนี้ต้องมากสำหรับประเทศชาติบ้านเมือง ฉันใด สำหรับจิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เป็นทหาร ท่านก็คงรู้ประโยชน์ของกองทัพ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู กองถือธง ซึ่งก็สำคัญด้วย ถ้าไม่มี กองทัพก็ระส่ำระสาย กองจัดกระบวนทัพ กองสัมภาระ กองเสนาธิการ กองตะลุมบอนเหมือนช้างที่วิ่งเข้าสู่สงคราม กองทหารหาญ กองทหารโลหะ กองเกราะหนัง กองทหารทาส นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๕
ลองทายว่าได้แก่อะไร ทหารที่ต้องรบ ต้องต่อสู้กับข้าศึกศัตรู ก็คือ ความเพียร การที่จะไม่ล้มตามอกุศลไปง่ายๆ เพราะเวลาที่อกุศลธรรมเกิด ชักชวน มีความเพียรที่จะต่อต้านมากแค่ไหน หรือไม่มีกำลังเลย อ่อนแอ แล้วแต่ว่าอกุศล จะเกิดเมื่อไรก็ตามไปทันทีเมื่อนั้น แต่การที่จะไม่ให้อกุศลเกิด ก็จะต้องสะสมเครื่องป้องกันทุกอย่าง
อีกประการหนึ่ง มีทหารยามฉลาดสามารถดี ห้ามไม่ให้คนที่ไม่รู้จักเข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๖ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ทราบไหมว่าอะไร ก็คือ สติ ที่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร เหมือนทหารยามที่ฉลาดที่ป้องกันคนนอกที่ไม่รู้จักไม่ให้เข้า อนุญาตให้คนที่รู้จักเข้า เพราะฉะนั้น ธรรมใดที่เป็นกุศล เข้าได้ ใช่ไหม แต่ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็เข้ามาไม่ได้ เมื่อสติเกิด ก็เหมือนกับทหารยามที่ฉลาดสามารถดี
อีกประการหนึ่ง มีกำแพงทั้งสูงและกว้าง พร้อมด้วยป้อมก่ออิฐถือปูนดี นี้เป็นเครื่องป้องกันนครประการที่ ๗ สำหรับคุ้มภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก ปัจจันตนครมีการป้องกันดีด้วยเครื่องป้องกัน ๗ ประการนี้แล
ได้แก่ ปัญญา สำคัญมาก เพราะว่าเป็น ป้อมก่ออิฐถือปูนดี มีความแข็งแรงมั่นคงที่จะป้องกันอันตราย
นอกจากเครื่องป้องกันนคร ๗ ประการนี้แล้ว ข้อความต่อไปมีว่า
ปัจจันตนครหาอาหาร ๔ ประการได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก เป็นไฉน คือ ในปัจจันตนครของพระราชามีการสะสมหญ้า ไม้ และน้ำ ไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายในและป้องกันอันตรายภายนอก
ได้แก่ ปฐมฌาน เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังไม่ถึงปฐมฌานต้องสุข ทุกข์ ไปวันหนึ่งๆ อย่างน่าสงสารจริงๆ เพราะว่าขาดเสบียง คือ การสะสมหญ้า ไม้ และน้ำไว้มาก เพื่อความอุ่นใจ ไม่สะดุ้งกลัว เพื่ออยู่เป็นสุขแห่งชนภายใน
ถ้ามีอาหารมาก ก็ไม่ต้องกลัวภัยเท่าไร ใช่ไหม แต่ถ้าอาหารไม่มาก ก็ ต้องค่อยๆ หาไป สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ก็ทำให้ติด ไม่ใช่ทำให้สงบระงับ
จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความเดือดร้อนใจไม่ใช่มาจากโทสะ อกุศลที่เป็นความ ไม่สบายใจเท่านั้น แต่ควรที่จะเห็นแม้โลภะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความปรารถนา ในความไม่พอ ในความหวั่นไหว ตลอดไปจนกระทั่งถึงความหวั่นไหวในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ
ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ไม่หวั่นไหว ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ แต่เมื่อยังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เหมือนกับผู้ที่ไม่ได้สะสมกุศลธรรมที่เป็นมหัคคตะที่สงบจากโลภะ โทสะ จากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
เปรียบเทียบดูก็ได้ ความสุขที่เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กับ การไม่ติด ไม่ต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างไหนจะสงบและเป็นสุขจริงๆ กว่ากัน แต่ถึงอย่างนั้น หิริก็ไม่เกิด โอตตัปปะก็ไม่เกิด ตามการสะสม แต่แม้กระนั้นก็ให้เข้าใจให้ถูกว่า เรื่องของอกุศลทั้งหลาย เป็นเรื่องยากที่จะดับได้ ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นทางเดียวที่จะดับกิเลสได้ เป็นสมุจเฉท
แต่ถึงแม้ไม่อาจจะสงบจากความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ถึงขั้นฌานจิต เพียงแต่มีสมถะ คือ ความสงบจากอกุศลเล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นประโยชน์ แม้ว่าจะได้หญ้า ได้ไม้ ได้น้ำไว้ไม่มากนักในวันหนึ่งๆ ก็ยังดี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๙ ตอนที่ ๑๕๘๑ – ๑๕๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620