แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
ครั้งที่ ๑๕๙๔
สาระสำคัญ
ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ
องฺ.จตุกฺก. โยธาชีววรรค - เห็นประโยชน์ของกุศล และโทษของอกุศล
อรรถสาลินีนิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสแห่งทิฏฐิวิสุทธิ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๙
ถ. เกื้อกูลตนเองและเกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูลโลก เป็นโลภะหรือเปล่า
สุ. กุศลจิตต้องแยกออกจากอกุศลจิต ถ้าขณะใดที่เห็นแก่ตัว ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่การเกื้อกูลตนเอง ไม่ใช่การเกื้อกูลบุคคลอื่น
ต้องแยกกุศลจิตกับอกุศลจิต ต้องแยกอโลภเจตสิกกับโลภเจตสิก ถ้าโลภเจตสิกก็เป็นสภาพที่ติดข้อง มีความเห็นแก่ตัว ไม่บริจาค ไม่สละ ไม่กระทำ สิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น แต่ในขณะที่เป็นอโลภเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดี ขณะนั้นเกื้อกูลตนเอง ไม่ทำตนเองให้เดือดร้อนในขณะที่คิดที่จะเกื้อกูลคนอื่น และไม่ทำคนอื่นให้เดือดร้อนด้วย
ถ. โยนิโสมนสิการกับปัญญา มีลักษณะหรือสภาพธรรมอย่างเดียวกันไหม
สุ. มนสิการที่เป็นโยนิโสมนสิการที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ตามข้อความ ในอรรถกถาแสดงว่า หมายถึงมนสิการเจตสิก อารัมมณมนสิการ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ
และกุศลจิตมีถึง ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวง ๔ ดวงเกิดร่วมกับปัญญา อีก ๔ ดวงไม่เกิดร่วมกับปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่มหากุศลญาณวิปปยุตต์เกิด ขณะนั้น เป็นกุศล ก็เป็นโยนิโสมนสิการ จึงเป็นกุศล
ถ. ถ้าฟังธรรมแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็โยนิโสมนสิการแล้ว ถ้าไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจธรรมนั้น จะโยนิโสได้หรือ ลักษณะสภาพธรรมนั้นจะเกิดได้หรือ
สุ. ไม่ใช่โยนิโสได้ ไม่มีใครโยนิโสได้ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ว่าจะไปโยนิโสได้
ถ. เข้าใจแล้วว่าโยนิโสไม่มีใครสามารถกระทำได้ แต่ลักษณะที่เข้าใจในการฟังธรรม หรือทำอะไรที่เป็นกุศล จากการสะสมมาได้กระทำในสิ่งที่เป็นกุศล ขณะนั้นไม่ถือว่ามีปัญญาที่จะทำในสิ่งที่เป็นกุศลหรือ
สุ. ปัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง รู้ในเหตุในผล แต่มหากุศลมี ๘ ดวง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ...
ถ. อย่างที่ถามว่า กรณีผู้ที่ไม่ได้สนใจหรือศึกษาพระธรรม ขณะที่ทำทานถูกต้อง หรือฟังธรรมแล้วเข้าใจ จะถือว่าผู้นั้นมีโยนิโสมนสิการไหม
สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะถามเรื่องจิตของคนอื่น ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย แม้แต่จิตของตนเองจะบอกได้ไหมว่ากุศลจิตหรืออกุศลจิต ถ้าเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ต่างกันแล้วใช่ไหม มหากุศลญาณสัมปยุตต์ประกอบด้วยปัญญา ความเข้าใจในเหตุในผลของสภาพธรรม นี่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ แต่ถึงแม้ว่า จะไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ก็มี
ท่านที่มาฟังพระธรรม แต่ไม่ได้ฟังด้วยความเคารพ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจจริงๆ แต่เพราะว่ามีศรัทธาที่จะมาฟัง และยังมีการฟัง แต่ถ้าฟังด้วยความเคารพก็หมายความว่ามีการตั้งใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า มหากุศลญาณวิปปยุตต์ต่างกับ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ และในระหว่างที่เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์นั้นเอง ก็อาจจะมีอกุศลจิตเกิดแทรกอีก เช่น เวลาได้ยินเสียงบางเสียง ขณะนั้นอาจจะไม่รู้ว่า จิตเป็นอกุศลตามอารมณ์นั้นไปแล้วในขณะที่เสียงนั้นปรากฏ
เพราะฉะนั้น ถามเรื่องจิตของคนอื่น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่า ขณะนี้จิตของผู้นั้นเป็นโยนิโสมนสิการ หรือว่าเป็นอโยนิโสมนสิการ
ผู้ที่จะรู้ได้ คือ ตนเอง เพราะจะเห็นการเกิดดับของจิตที่สลับและสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก จากกุศลเป็นอกุศลอย่างรวดเร็ว ในขณะที่กำลังฟัง มหากุศลญาณสัมปยุตต์บ้าง มหากุศลญาณวิปปยุตต์บ้าง อกุศลจิตเกิดแทรกคั่นบ้าง แต่จะให้ตอบจิตของคนอื่น เป็นไปไม่ได้
ตามหลักที่ถูกต้อง คือ ขณะใดที่เป็นกุศล แต่ขณะนั้นทำไมจึงเป็นกุศล ในเมื่อทั้งวันเป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุใดจึงเป็นกุศลเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ใช่ เพราะโยนิโสมนสิการ
พยายามจะเค้น จะจับตัวโยนิโสมนสิการว่า เมื่อไร อย่างไร ขณะไหน แต่ ให้ทราบว่า ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ และกุศลมี ๘ ดวง เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ดวง ไม่เกิดร่วมกับปัญญา ๔ ดวง ถ้าโยนิโสมนสิการเป็น ปัญญาเจตสิก จะมีมหากุศลญาณวิปปยุตต์ได้ไหม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า บุคคลขวนขวายให้ตนเองเดือดร้อน เพราะว่า เราจะใส่เสื้อผ้าใหม่ในวันรุ่งขึ้นจึงทำการเย็บปักถักร้อย อย่างนี้ย่อมทำตนให้เดือดร้อน แต่ตามพุทธประสงค์ที่ว่า ไม่พึงตามเห็นว่าเป็นตัวตนของเรา กับคำว่า กระทำตนให้เดือดร้อน ตนทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า
สุ. ถ้าไม่มีนาม ไม่มีรูป จะมีการยึดถือว่าเป็นตัวตนไหม
ถ. ก็ไม่มี
สุ. เพราะฉะนั้น โดยปรมัตถธรรมไม่มีตัวตน แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ก็ยังยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ใช่ไหม
ถ. ตัวตนของเรา หรือว่าเป็นตัวตนของจิต หรือว่าเป็นตัวตนของรูปกันแน่
สุ. เวลาที่จิตเห็น ใครเห็น
ถ. อาจารย์บอกไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเห็น
สุ. ขณะนี้ที่กำลังเห็น ใครเห็น
ถ. ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล
สุ. ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และประจักษ์แจ้ง หรือว่าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ก็ยังเป็นเรานั่นเองกำลังเห็น
ถ. ข้อความที่ว่า พึงตามเห็นจักขุที่กำลังปรากฏอยู่ว่าเป็นของเรา หรือพึงเห็นว่าจักขุที่ปรากฏว่าเป็นตัวตนของเรา เรื่องนี้ยังไงกันแน่
สุ. ถ้าปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพนามของธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับตามความเป็นจริง ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันว่าเป็นตัวตน หรือเป็นเรา เมื่อมีเราก็มีคนอื่น แต่ผู้ที่รู้แจ้งในลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมรู้ว่า มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นที่ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่แม้กระนั้นก็ยังต้องใช้คำบัญญัติเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงนามขันธ์ใด รูปขันธ์ใด
ที่นั่งอยู่ที่นี่ นามขันธ์และรูปขันธ์ทั้งนั้น และจะพูดกับนามขันธ์ไหน ถาม นามขันธ์ไหน ตอบนามขันธ์ไหน ถ้าไม่มีชื่อสำหรับที่จะเรียกให้เข้าใจ
ถ. ตนทั้งสองอย่างที่ถามไปแล้วนั้น ไม่ใช่ตนตามพุทธประสงค์ใช่ไหม ที่พระองค์ทรงตรัสเทศนาว่า ควรแลหรือที่จะตามเห็นว่าเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา คือ เข้าไปถือมั่นว่าเป็นตัวตนของเรา
สุ. โดยปรมัตถธรรมแล้วไม่มีตัวตน
ถ. ถูก ปรมัตถธรรมจะชื่อว่ายินดีในกายก็ไม่มีเหมือนกัน แต่คำว่า ไม่มีตัวตน หยุดไว้ก่อน เพราะไม่ประจักษ์แจ้งธรรมตามความเป็นจริง ตัวตนของเรา จึงหลงเหลืออยู่ว่าเป็นของเราอยู่อย่างนี้ตลอดสิ้นกาลนาน แต่ที่ว่า จะละรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า ไม่ใช่ของเรา ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันนี้ พึงเห็นได้อย่างไร
สุ. เจริญสติปัฏฐาน เพื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงแต่นึกตามและพิจารณาตามว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง
ทุกอย่างก็หมดแล้ว แต่ว่าทุกอย่างในขณะนี้ แต่ละอย่างที่กำลังไม่เที่ยง คืออะไร ต้องรู้ทีละอย่างจึงจะเป็นการประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่คิดรวมๆ ไปว่า ทุกอย่าง ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ถ้าชนทั้งโลกนี้มีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา จะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลหรือเปล่า
สุ. แน่นอน จะละคลายการยึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมลงได้เรื่อยๆ จนกว่าจะดับโลภะหมดเป็นสมุจเฉท
ถ. กายคตาสติที่เกี่ยวกับกัมมัฏฐาน ที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านบอกไว้ว่า อุคคหโกศล ๗ จะเจริญได้อย่างไร
สุ. ขณะนี้กำลังเห็น และกล่าวถึงอะไร
ถ. กล่าวถึงวิธีทำนิมิตให้เกิดขึ้น
สุ. นิมิตคืออะไร ขณะนี้กำลังเห็น มีสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏแล้ว แต่ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องการจะทำอะไร ต้องการจะรู้ หรือต้องการจะไม่รู้และไปทำอย่างอื่นให้เกิดขึ้น
ถ. คือ ทำเครื่องหมาย ทำอารมณ์ ให้ผลักดันอารมณ์
สุ. มิได้ ขณะนี้เห็น ขณะนี้ได้ยิน จะไปทำนิมิตอะไรให้เกิดขึ้น ควรจะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ หรือควรจะไปทำอย่างอื่นให้เกิดขึ้นเพื่อไม่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ถ. ผมหมายถึงการเจริญกายคตาสติ
สุ. ถ้าเดี๋ยวนี้ เจริญเดี๋ยวนี้
ถ. ถ้าเจริญเดี๋ยวนี้ พึงเจริญทางจักขุ หรือว่าเจริญระลึกถึงกาย
สุ. ทางกาย ที่กายมีการกระทบสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใดของกายไหม
ถ. มีอยู่
สุ. มี เป็นของจริงหรือเปล่า
ถ. เป็นของมีจริง
สุ. เป็นสัจธรรมหรือเปล่า
ถ. เป็นสัจธรรม
สุ. เป็นอริยสัจธรรมหรือยัง
ถ. ก็เป็น
สุ. ยัง เป็นสัจธรรม คือ เป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ แต่จะเป็นอริยสัจธรรม เมื่อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะที่กำลังรู้แข็งหรืออ่อนที่กาย แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลเพียงฟังและเข้าใจ แต่ยังไม่ประจักษ์ว่า ไม่มีอะไรเลย ขณะที่มีแต่นามธรรมที่กำลังรู้แข็ง ตัวตนไม่มี สัตว์บุคคลไม่มี มีแต่ธาตุรู้ที่กำลังรู้แข็ง ที่กำลังปรากฏ
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ไม่มีตัวตนเลย คงไม่ได้หมายถึงตัวตนของเราว่า …
สุ. จะหมายความถึงตัวตนอะไร ถ้าไม่ได้หมายถึงตัวตนของเรา ไม่ได้หมายถึงนามธรรมและรูปธรรม และจะหมายความถึงอะไร
ถ. คือ ถ้าเรายึดถือว่าตัวตน ก็หมายถึงว่า ให้รูปธรรมและนามธรรมยั่งยืน มั่นคง
สุ. ไม่ใช่
ถ. หรือไม่เห็นว่า ไม่พึงตามเห็นว่าเป็นตัวตนของเรา
สุ. ไม่ต้องทำอะไรเลย แม้ว่ารูปธรรมและนามธรรมจะเกิดขึ้นและ ดับไป ไม่เที่ยง แต่เพราะความไม่รู้จึงทำให้ยึดถือสิ่งที่เกิดดับนี้ว่าเป็นเรา และ ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปจึงเข้าใจว่าเที่ยง และเมื่อเป็นเรา และเที่ยง ก็ย่อมจะเป็นสุข เป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าเป็นสุข ไม่ใช่เห็นว่าน่าจะเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่ประจักษ์การเกิดดับ
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้จะมีอกุศลอยู่ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ก็ยากที่จะเห็นว่าเป็นอกุศลโดยละเอียด เพราะเพียงบางวาระเท่านั้นที่จะระลึกได้ว่านี่เป็นอกุศล แต่หลายวาระทีเดียวในวันหนึ่งๆ โดยการฟังรู้ว่ามีอกุศลมาก แต่ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้
อย่างตื่นนอนขึ้นมา มีใครคิดบ้างไหมว่า เป็นอกุศลแล้ว แต่เวลาที่เกิดดีใจ ชอบใจสิ่งใดมากๆ ก็บอกว่า โลภะ เป็นความติด เป็นความพอใจ หรือเวลา ขุ่นเคืองใจมากๆ ก็บอกว่า นี่โทสะ แต่ก่อนนั้น ก่อนที่โลภะจะปรากฏลักษณะที่เห็นได้ชัด หรือโทสะจะปรากฏลักษณะที่เห็นได้ชัด ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ก็มากมายตั้งแต่ตื่นจนถึงหลับ
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด พระธรรมเปรียบเหมือน ผู้ชี้ขุมทรัพย์ที่ให้บุคคลซึ่งได้เข้าใจพระธรรมแก้ไขจิตของตนเองที่เป็นอกุศล ที่คดโกง ด้วยการเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และการที่จะตรงจริงๆ คือ ขณะที่สติเกิด จึงสามารถรู้ลักษณะของสภาพจิตได้ว่า ลักษณะที่เป็นอกุศลต่างกับขณะที่เป็นกุศล
และความแยบยลของกิเลสก็มีมากมายสำหรับผู้ที่เป็นคนพาล ซึ่งคนพาลนั้นย่อมไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนพาล แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นประโยชน์ที่จะเกื้อกูลได้
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๘ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวติเตียนผู้อื่น ผู้นั้นทั้งหมดย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้ กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อม ไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูก ครหาติเตียนไซร้ ดูกร อุปกะ ท่านนั่นแหละกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่อาจให้ กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ย่อมเป็นผู้ถูกครหาติเตียน
ดูจิตของคนที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และไม่รู้จิตของตัวเองว่าเป็นอกุศล เพราะว่าอุปกมัณฑิกาบุตรเป็นอุปัฏฐากของท่านพระเทวทัต ไปเฝ้าเพราะคิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องท่านพระเทวทัตจะตกอเวจีมหานรก ตนก็จะได้กล่าว เสียดสีว่า พระผู้มีพระภาคตรัสติเตียนผู้อื่น นี่คือความในใจของคนที่เป็นพาลและ ไม่เข้าใจในพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมตามธรรมว่า เหตุเป็นอย่างไร ผลก็เป็นอย่างนั้น เมื่อไม่เข้าใจ ก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคตรัส ติเตียนท่านพระเทวทัต แต่พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของอุปกมัณฑิกาบุตร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าวติเตียนผู้อื่นอยู่ ย่อมไม่อาจให้กุศลกรรมเกิดขึ้นได้ ฯ ซึ่งนี่คือใจของอุปกมัณฑิกาบุตร
ข้อความต่อไปมีว่า
อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอเอ่ยขึ้นเท่านั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อุปกะ เราบัญญัติแล้วว่า นี้เป็นอกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า อกุศลนี้นั้นแลควรละเสีย บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้น หาประมาณมิได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้อกุศลนี้ควรละเสีย อนึ่ง เราบัญญัติไว้แล้วว่า นี้เป็นกุศลแล บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้ อนึ่ง เราบัญญัติว่า กุศลนี้นั้นแลควรบำเพ็ญ บท พยัญชนะ ธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นหาประมาณมิได้ว่า กุศลนี้ ควรบำเพ็ญแม้เพราะเหตุนี้
ในพระไตรปิฎกทั้งหมดจะเต็มไปด้วยบท พยัญชนะ ธรรมเทศนา หาประมาณมิได้ในเรื่องของอกุศลธรรมและกุศลธรรมโดยละเอียด โดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศล และเพื่อที่จะได้เห็นประโยชน์ ของกุศล เพื่อจะได้เจริญกุศลทุกประการ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๐ ตอนที่ ๑๕๙๑ – ๑๖๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620