แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599


    ครั้งที่ ๑๕๙๙


    สาระสำคัญ

    ขุ.จู.กัปปมาณวกปัญหานิทเทศ - ทุกขณะที่เป็นสังสารวัฏฏ์

    อถ.อง.ทุก.ทุติยปัณณาสก์ - วจีสังสาร

    พระไตรปิฎกกล่าวถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้

    อถ.พระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังคนิทเทส - เป็นอริยสัจจ์ แต่ไม่ใช่ทุกข์ก็มี (นิโรธ)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๒๙


    . พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย คือ ตากระทบรูป ทำให้เกิดจักขุวิญญาณ จะใช่ปฏิจจสมุปบาทหรือเปล่า

    สุ. ไปอีกเรื่องหนึ่งแล้ว

    . เพราะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในโลกนี้ วิญญาณจึงเกิดขึ้น ใช่ไหมเพราะมีเหตุปัจจัย ๒ อย่าง ถ้าหากรูปนาม ๒ อย่างนี้ดับ วิญญาณดับไหม

    สุ. ถ้าหมดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด จะเกิดต่อไปได้ไหม

    . ก็ไม่เกิด เหมือนเทียบที่ดับ

    ผู้ฟัง พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่างล้ำลึกและละเอียดมาก เมื่อกี้ผมได้ยินอาจารย์พูดว่า ให้เพื่อหวังความสนิทสนมและความคุ้นเคยเท่านั้น ก็เป็นอกุศลแล้ว แต่การกระทำต่างๆ ไม่เฉพาะการให้ ก็มีความหวังทั้งนั้น

    สุ. แล้วแต่บุคคล บางท่านเป็นกุศลจิตที่ไม่หวังอะไรเป็นการตอบแทน แม้นิดหน่อย แม้แต่ความสนิทสนมคุ้นเคยหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่ได้หวังเลย

    ผู้ฟัง ถ้าหวังแค่ความสนิทสนมคุ้นเคย เป็นอกุศลที่บาง

    สุ. ใครจะรู้ ยังมีความเป็นตัวตน ยังมีความเป็นเราอยู่เต็มที่ทีเดียว

    . อย่างผมออกมาถามธรรม ได้เหตุได้ปัจจัยก็มีคำถาม บางวันไม่ได้เหตุไม่ได้ปัจจัย ตั้งใจจะถามเท่าไรก็ถามไม่ออก อย่างวันนี้ได้เหตุได้ปัจจัยในการถาม ซึ่งก็หวังให้ได้ความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้เกื้อกูลท่านผู้อื่นด้วย ก็เป็นความหวังเหมือนกัน อย่างนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    สุ. หวังอะไร

    . หวังให้คนอื่นเข้าใจธรรม และตัวเองด้วยให้เข้าใจเพิ่มขึ้น

    สุ. เพื่อละความเป็นตัวตน เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องละความเป็นตัวตน

    . ต้องละ ต้องวาง

    สุ. เรื่องความละเอียดของธรรม ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส กัปปมาณวกปัญหานิทเทศ ข้อ ๓๖๗ มีข้อความว่า

    สังสาร คือ การมา การไป ทั้งการมาและการไป กาลมรณะ คติ ภพแต่ภพ จุติ อุปบัติ ความบังเกิด ความแตก ชาติ ชรา และมรณะ ท่านกล่าวว่า สระ ในอุเทศว่า มชฺเฌ สรสฺมึ ติฏฐตํ ดังนี้

    นี่คือทุกขณะที่เป็นสังสารวัฏฏ์ จากภพหนึ่งชาติหนึ่งซึ่งไม่มีใครทราบว่า ชาติต่อไปจะเกิดที่ไหน และจะต้องวนเวียนไปในสังสารอะไรบ้าง แม้ในขณะนี้ ก็เป็นสังสาร

    นอกจากนั้น ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๐๘ มีคำว่า

    วจีสังสาร วาจาอันท่องเที่ยวไป

    เป็นอย่างนี้บ้างไหม วจีสังสาร

    วาจาอันท่องเที่ยวไป อยู่ด้วยสามารถการด่า และการด่าตอบกันและกัน ในบุคคลทั้งสองฝ่าย

    ถ้าจะศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ต้องเข้าใจความหมาย และสิ่งที่สำคัญ กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันด้วย

    การไป การมา ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการไปการมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางการคิดนึก คิดนึกเรื่องนั้นไป คิดนึกเรื่องนี้มา ก็เป็นสังสาร วนเวียนท่องเที่ยวไปทั้งนั้น หรือแม้แต่วาจาก็ยังเป็นวจีสังสารได้ เพราะว่า โดยนัยนี้ ชื่อว่าวจีสังสาร คือ การท่องเที่ยวไปของวาจา

    นอกจากจะท่องเที่ยวไปของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจ ก็ยังมีวจีสังสาร การท่องเที่ยวไปของวาจาด้วย

    ผู้ฟัง ผมได้ไปศึกษากับอาจารย์บางท่าน ท่านบอกว่า อย่าไปศึกษาให้มาก ถ้าศึกษามาก ใจหรือจิตของเราจะไปคอยอยู่ ผมก็เชื่อ ถ้าศึกษามากใจเราจะนึกไปล่วงหน้า ...

    สุ. ­ขอประทานโทษ ขอขัดนิดหนึ่งว่า จุดประสงค์ของท่านที่ศึกษามากนี้เพื่ออะไร ถ้าเพื่อเข้าใจมาก เข้าใจในอรรถ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ก็ ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นการศึกษาโดยจำ โดยที่ไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ตอนนั้นผมยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร ก็เชื่อ แต่อย่างไรก็ตาม ผมได้อ่านหนังสือบ้าง เข้าใจคำว่า สภาพของปีติจะต้องมีขนลุก ขนพอง น้ำตาไหล หรือ ตัวลอย หลังจากนั้น สมัยที่ผมยังนั่งสมาธิอยู่ รู้สึกจะเป็นจริงอย่างที่เขาแนะนำว่า เดี๋ยวปีติคงจะเกิด และก็เกิดขนลุก ขนพอง น้ำตาไหล แต่ยังไม่มีตัวลอย จนกระทั่งผมมาพบอาจารย์สุจินต์ อาจารย์แนะนำว่าศึกษาเพื่อให้จำได้และเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งกำลังปรากฏอยู่ทุกขณะ และถ้าเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ แล้ว สัญญา ความจำ ที่แม่นยำ เมื่อสภาพนั้นปรากฏขึ้นมา สติจะระลึกรู้ศึกษาว่า ขณะที่เกิดนั้นลักษณะ ที่เกิดนั้นเป็นอย่างไร

    ผมว่าที่อาจารย์แนะนำถูกต้องดีมาก แต่จากการฟังวันนี้ พูดเรื่องการศึกษา ซึ่งมิตรสหายทางธรรมของผมหลายคนกำลังเรียนพระอภิธรรมอยู่ อาจจะเสียกำลังใจว่า ได้ไปเรียนมาแล้ว ท่องจำได้ ซึ่งผมก็ขออนุโมทนาที่เขาสามารถมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม ส่วนตัวผมเองถ้าจะคุยกันเรื่องบาลี ผมจะเบื่อหน่าย ไม่อยากฟัง ชอบแต่ฟังเทปของอาจารย์มากๆ เท่านั้นเอง แต่ผมก็คิดว่า ถ้าได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ แล้ว ขอให้ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และมีความทรงจำแม่นยำ ก็น่าจะเป็นเกื้อกูลสติให้เกิดขึ้นได้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏ

    สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ เพื่อความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่าละเลยที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม จุดประสงค์เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงสภาพธรรมไว้โดยละเอียด

    ถ้าเพียงแต่ศึกษา ถามตอบเฉพาะในตำราจริงๆ ไม่ได้ออกมานอกตำราเลย จะไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อย่างกำลังเห็นขณะนี้ รู้จักชื่อหมด แต่จะเป็นอายตนะภายในอย่างไร หรือสิ่งใดเป็นอายตนะภายนอก ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ แต่ต้องเข้าใจในเหตุในผลด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นอายตนะภายใน หรือแม้แต่สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ที่กายนี่เมื่อเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่เกิด ก็เป็นอายตนะ

    . สังสารนี้แปลว่า ท่องเที่ยวไป ตามที่เข้าใจกันนึกว่าจะต้องเวียนว่ายตายเกิด คือ ตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ แต่ที่อาจารย์บรรยายเมื่อกี้ อรรถและสาระ ที่แท้จริงของสังสาร คือ ขณะนี้ ใช่ไหม เช่น แม้แต่พูดก็เป็นวาจาสังสาร

    สุ. การท่องเที่ยวไปของวาจา

    . ไม่จำเป็นต้องเดินไปไหนๆ นั่งอยู่เฉยๆ ก็เป็นสังสารแล้ว

    สุ. เพราะใจไปตามเรื่องต่างๆ และเป็นปัจจัยให้เกิดวจี คือ วาจาต่างๆ

    . ถ้าอาจารย์ไม่ได้อธิบาย อ่านไปก็อย่างนั้น คือ ไม่เข้าใจอรรถ การเข้าใจอรรถในข้อความที่อ่านเป็นเรื่องที่ผมพยายามจริงๆ อย่างอ่านพระสูตรต่างๆ เวลาที่อ่านจบไปแล้วพยายามเข้าใจอรรถของเนื้อความที่อ่าน บางทีก็ไม่เข้าใจ คือ ยังติดอยู่ในบัญญัติ ในศัพท์ ที่จะน้อมไปถึงสภาวธรรมจริงๆ บางทีสติปัญญาก็ไม่เกิดเหมือนกัน

    สุ. ถ้าเข้าใจว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นชีวิตหรือเป็นโลก ก็คือจิตซึ่งเกิดดับ แต่ละขณะนั่นเอง ก็จะทำให้เข้าใจความหมายของสังสาร คือ การท่องเที่ยววนเวียนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อไปด้วย

    ถ้าคิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ที่ปรากฏเป็นโลก หรือเป็นชีวิต เป็นสัตว์บุคคลต่างๆ นี้ เพราะจิตเกิดขึ้นเพียงทีละหนึ่งขณะเท่านั้นเอง ไม่มากกว่านั้นเลย เพราะฉะนั้น หนึ่งขณะที่เกิดทางตา และวิถีจิตทั้งหมด และทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทีละขณะ เป็นสังสาร ภพนี้ก็เป็นอย่างนี้ ภพหน้าก็ไม่ต่างกัน

    . ที่ว่าจิตเกิดดับทีละขณะหนึ่ง ขันธ์ ๕ ประชุมกันครั้งหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. ขันธ์ ๕ หมายความถึงรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ เป็นรูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔

    นามขันธ์ทั้ง ๔ เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน แต่รูปซึ่งเป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปดับช้ากว่านาม

    แต่ใครจะรู้ในการเกิดดับของรูป เพราะอย่างกลิ่นก็ไม่ได้ปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเลย แต่ขณะที่ทุกคนกำลังได้กลิ่น รู้สึกถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่รวมกันอยู่ในกลิ่นนั้นได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ธาตุดินซึ่งเป็นที่ตั้งของกลิ่น ในขณะที่กลิ่นกระทบกับฆานปสาท และมีจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น ลักษณะที่ละเอียดและบางเบาของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาที่รวมกันอยู่ในที่นั้นจะแผ่วเบาสักแค่ไหน จึงทำให้ไม่รู้สึก ในลักษณะอาการที่แข็งหรืออ่อนในขณะที่กำลังได้กลิ่นเลย เพราะว่าขณะนั้นแข็ง หรืออ่อนไม่ได้กระทบกับกายปสาท

    ที่จะเข้าใจลักษณะของรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริงที่แตกย่อยออกจนกระทั่งละเอียดและเกิดดับ จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของรูปแต่ละลักษณะจนกว่า สภาพธรรมนั้นๆ จะปรากฏตามความเป็นจริงได้

    . ขันธ์ ๕ ประชุมกันครั้งหนึ่ง จิตก็เกิดดับครั้งหนึ่ง

    สุ. มิได้ นามขันธ์ทั้ง ๔ เกิดขึ้นพร้อมกัน และดับพร้อมกัน แต่รูปไม่พร้อม เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดพร้อมกับนาม จะดับทีหลัง

    . รูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    สุ. เกิดพร้อมกับนามธรรมได้ แต่ดับทีหลังนามธรรม

    . รูปยังเกิดอยู่ตราบที่มีปัจจัยอยู่

    สุ. ทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีเหตุปัจจัย

    . ตราบที่ยังประชุมกันอยู่

    สุ. ประชุมนี่ไม่ได้นานเลย อย่างรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ดับไปเร็วมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ยังไม่ดับ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทันทีที่เห็น ดับแล้ว เพราะว่ามีได้ยินคั่น คิดดู รูปทางตาและรูปทางหูซึ่งกำลังสลับกันจะเร็วสักแค่ไหน เพราะดูเหมือนกับว่าทางตานี่ไม่ได้ดับเลย ทั้งๆ ที่ขณะที่ ได้ยินรูปทางตาต้องดับก่อน ถ้ารูปทางตายังไม่ดับ ทางหูจะมีการได้ยินไม่ได้เลย

    . และทางใจ ทางมโนทวาร

    สุ. ทางใจเป็นอย่างไร สงสัยอะไร

    . จะเกิดดับพร้อมกันหรือเปล่า

    สุ. จิตทุกดวงมีอายุเท่ากัน ไม่ว่าจะในสัตว์บุคคลใด ในภพภูมิไหนทั้งสิ้น จะมีอายุเพียง ๓ อนุขณะเล็ก คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิด ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือ ขณะที่ดับ ซึ่งเป็นขณะที่สั้นมาก กล่าวได้เลยว่า ทันทีที่เกิด ทำกิจแล้วก็ดับไปเลย

    . ในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวถึงการสนทนากันระหว่าง พระเถระ ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นลูกศิษย์ องค์หนึ่งเป็นอาจารย์ ลูกศิษย์บอกว่า สติปัฏฐานเป็นมรรคเบื้องต้น อาจารย์บอกว่า สติปัฏฐานเป็นมรรคผสม ลูกศิษย์ ก็ยืนยันว่า เป็นมรรคเบื้องต้น อาจารย์ก็ยังบอกว่า เป็นมรรคผสม สุดท้ายลูกศิษย์ ก็เห็นว่า ไม่ควรโต้แย้งต่อ หลังจากนั้นอาจารย์ก็ครุ่นคิดอยู่เรื่อยว่า ที่ท่านเข้าใจว่า เป็นมรรคผสมนั้นถูกต้องหรือเปล่า ท่านก็นึกถึงข้อความในมหาสติปัฏฐาน ท่านก็ บอกว่า ที่ท่านเข้าใจว่าเป็นมรรคผสมนั้นคงจะพลาด เพราะมรรคจะตั้งอยู่ตลอดเวลา ๗ ปี ๗ เดือน คงเป็นไปไม่ได้ ที่ท่านเข้าใจว่าเป็นมรรคผสมนั้นผิดพลาด ส่วนลูกศิษย์ที่พูดกับท่านว่าเป็นมรรคเบื้องต้นนั้นถูกต้อง ผลสุดท้ายท่านก็ไปแก้ในที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมฟังธรรมได้ทราบว่า ที่ถูกต้องแล้วสติปัฏฐานเป็นมรรคเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นมรรคผสม สงสัยว่า คำว่า มรรคเบื้องต้นกับมรรคผสม หมายถึงอะไร

    สุ. ก็น่าสงสัย จริงๆ แล้วก็ไม่ได้กล่าวไว้ ใช่ไหม

    . ไม่ได้กล่าวไว้

    สุ. แต่ถ้าจะวินิจฉัย มรรคมี ๒ อย่าง คือ โลกียะและโลกุตตระ

    . เพราะฉะนั้น ใจความตลอดทั้งสูตรในมหาสติปัฏฐาน ไม่มีคำว่า โลกุตตระ อย่างคำว่า จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น ก็ไม่ใช่โลกุตตระ

    สุ. ไม่ใช่ เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ว่า สภาพธรรมใดเป็นทุกขอริยสัจ ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา พระวิภังคปกรณ์ มีข้อความเรื่องของอริยสัจ ๔ ใน สัจจวิภังคนิทเทส ซึ่งข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงอริยสัจ ๔ วินิจฉัยโดยจตุกะ มีว่า

    ก็ในสัจจะทั้ง ๔ นี้ ธรรมชาติที่เป็นทุกข์ แต่ไม่ใช่อริยสัจก็มี

    เป็นอริยสัจ แต่ไม่ใช่ทุกข์ก็มี

    เป็นทั้งทุกข์ เป็นทั้งอริยสัจก็มี

    ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่อริยสัจก็มี

    นี่เป็นเรื่องที่อรรถกถาจะทำให้เข้าใจละเอียดขึ้นในเรื่องของการปฏิบัติ เพราะว่าธรรมที่เป็นทุกข์แต่ไม่ใช่อริยสัจ ได้แก่ โลกุตตรจิต เพราะไม่เที่ยง โดยพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ดังนี้ แต่ไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่ทุกขอริยสัจ เพราะว่าไม่มีใครกำหนดรู้โลกุตตรจิตโดยความเป็นทุกข์

    . ไม่เที่ยงเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกข์

    สุ. แน่นอน ไม่ใช่ว่าเวลานี้มีโลกุตตรจิตที่ทุกคนจะระลึกและเห็นความ ดับไปของโลกุตตระ สำหรับธรรมที่เป็นอริยสัจแต่ไม่ใช่ทุกข์ ทุกคนก็คิดได้ใช่ไหมว่า ได้แก่อะไร

    . ขณะที่สติปัฏฐานเกิดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต่างกับ นามรูปปริจเฉทญาณอย่างไร

    สุ. ขณะนี้ไม่ต้องไปแสวงหานามธรรมและรูปธรรมที่ไหนเลย นี่แน่นอนที่สุด สำหรับผู้ที่เข้าใจสภาพธรรม ขณะนี้ต้องมีนามธรรมและรูปธรรม และต้องมีนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

    อย่างทางตา ขณะนี้เป็นรูปที่กำลังปรากฏ และสภาพที่รู้หรือเห็นสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะรู้ อาการรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น อาการปรากฏ ของนามธรรม ก็คือเป็นสภาพรู้หรือเป็นธาตุรู้ซึ่งกำลังเห็น เวลานอนหลับไม่เห็น แต่ขณะนี้ตื่นขึ้นเห็น สภาพเห็นนี้เป็นอะไร ก็เป็นธรรม เป็นของจริงอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนี้ ไม่ใช่การรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของรูปที่กำลังปรากฏทางตาและนามที่กำลังเห็นหรือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม

    . ใช่

    สุ. เพราะว่าโดยปกติก่อนที่สติจะระลึกที่สภาพที่ปรากฏทางตา เห็น เป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ละเลยปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่เพียงปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท นี่คือของจริงที่สุดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาจะต้องเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่กระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ถ้าไม่ใช่มีการคิดนึกต่อจากนั้น จะเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๐ ตอนที่ ๑๕๙๑ – ๑๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564