แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
ครั้งที่ ๑๕๖๔
สาระสำคัญ
ทางเกิดของสติ ๑๗
ความทรงจำว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า
อรรถของอนัตตา
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙
ดิฉันได้รับความกรุณาจากท่านผู้ฟังที่มีความรู้ในทางภาษาบาลี คือ อาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้แปลอรรถกถาของพระไตรปิฎก ท่านได้กรุณาตรวจสอบพยัญชนะในเรื่องของอาการของสติ ๑๗ อย่าง และได้กรุณาให้คำแปล ไว้ด้วย ก็ขอเรียนให้ท่านผู้ฟังได้ทราบ ซึ่งทางเกิดของสติ ๑๗ อย่าง คือ
๑. อภิชานโตสติ สติเกิดทางความรู้ยิ่ง (จำแม่นยำ)
๒. กุฎุมพิกายสติ สติเกิดทางเก็บรวบรวมไว้ (ต้องจดบันทึกจึงจำได้)
๓. โอฬาริกวิญญาณโตสติ สติเกิดทางวิญญาณที่ใหญ่ (มีความรู้ของกษัตริย์ เป็นต้น)
๔. หิตวิญญาณโตสติ สติเกิดทางวิญญาณที่มีสิ่งเกื้อกูล (ไม่ลืมความหลัง)
๕. อหิตวิญญาณโตสติ สติเกิดทางวิญญาณที่ไม่มีสิ่งเกื้อกูล (นึกถึงทุกข์ได้)
๖. สภาคนิมิตตโตสติ สติเกิดทางสภาคนิมิต (นึกถึงอารมณ์ที่เห็นสิ่งอื่นคล้ายกันได้)
๗. วิสภาคนิมิตตโตสติ สติเกิดทางวิสภาวนิมิต (นึกถึงอารมณ์ที่เคยถูกต้องมาแล้วได้)
๘. กถาภิญญาณโตสติ สติเกิดทางได้รับบอกเล่า (นึกได้เมื่อผู้อื่นบอก)
๙. ลักขณโตสติ สติเกิดทางเครื่องหมาย (นึกได้เมื่อเห็นเครื่องหมาย)
๑๐. สรณโตสติ สติเกิดทางถูกเตือน (นึกได้เพราะคนอื่นบอกให้คิด)
๑๑. มุทธโตสติ สติเกิดทางหัวข้อ (นึกได้เมื่อเห็นหัวข้อ)
๑๒. คณนาโตสติ สติเกิดทางคำนวณ (นึกได้เมื่อต้องนับ)
๑๓. ธารณโตสติ สติเกิดทางทรงจำไว้
๑๔. ภาวนาโตสติ สติเกิดทางภาวนา
๑๕. โปตถกนิพันธนโตสติ สติเกิดทางดูตำรา (นึกได้เมื่อเปิดตำรา)
๑๖. อุปนิกเขปนโตสติ สติเกิดทางการที่เขาเก็บไว้ (นึกได้ต่อเมื่อเห็นของตั้งอยู่)
๑๗. อนุภูตโตสติ สติเกิดทางเคยชิน (นึกถึงสิ่งที่เคยกระทบมาแล้ว)
นี่เป็นข้อความจากมิลินทปัญหา และท่านได้ตรวจสอบกับที่อื่นด้วย
สติเกิดด้วยอาการ ๑๗ คือ
(๑) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกอันยิ่งใหญ่
(๒) สติเกิดขึ้นเพราะทรัพย์
(๓) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกอันโอฬาร
(๔) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกถึงความสุขที่เคยประสบมาแล้ว
(๕) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกถึงความทุกข์ที่เคยประสบมาแล้ว
(๖) สติเกิดขึ้นเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับของตน
(๗) สติเกิดขึ้นเพราะนิมิต คือ เหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามกับของตน
(๘) สติเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกนึกตามถ้อยคำของคนอื่น
(๙) สติเกิดขึ้นเพราะเครื่องหมาย (ถือจำเครื่องหมายที่ตนทำไว้ได้)
(๑๐) สติเกิดขึ้นเพราะความระลึกได้
(๑๑) สติเกิดขึ้นเพราะการจำได้
(๑๒) สติเกิดขึ้นเพราะการนับ
(๑๓) สติเกิดขึ้นเพราะการทรงจำไว้
(๑๔) สติเกิดขึ้นเพราะการอบรม (สั่งสม)
(๑๕) สติเกิดขึ้นเพราะการบันทึกไว้ในสมุด
(๑๖) สติเกิดขึ้นเพราะทรัพย์ที่เก็บไว้
(๑๗) สติเกิดขึ้นเพราะการนึกถึงสิ่งที่เคยรู้จักหรือเห็นมาแล้ว
สำหรับเรื่องของพยัญชนะกับอรรถทั้งหลาย ท่านผู้ฟังกรุณาตรวจสอบเทียบเคียง ข้อความใดซึ่งเป็นส่วนที่ถูกต้องตรงกับอรรถกถาและพระไตรปิฎก ก็ขอให้ถือในส่วนที่ถูกต้องนั้น และขอขอบพระคุณอาจารย์สมพร ศรีวราทิตย์
ถ. อาการของสติ ๑๗ อย่างที่อาจารย์บรรยาย รู้สึกว่าแต่ละข้อจำได้ยาก สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่บางข้อ ในอาการของสติ ๑๗ อย่างนี้ คล้ายๆ กับว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับกุศล แต่ผมก็เข้าใจว่าต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับกุศลที่สติเกิด ผมสงสัยว่า อาการของสติ ๑๗ ข้อที่จะเกิดขึ้นนั้น ยังไม่จัดว่าเป็นสติปัฏฐานใช่ไหม
สุ. แล้วแต่ ถ้าเป็นภาวนาโตสติ ก็เป็นสติทางภาวนา แล้วแต่ว่าจะเป็น การอบรมจิตด้วยการเจริญสมถะ หรืออบรมปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนา มีข้อที่ ๑๔ คือ ภาวนาโตสติ สติทางภาวนา
ถ. นอกนั้นเป็นสติที่เกิดกับกุศลทั่วๆ ไป
สุ. แล้วแต่ อย่างข้อที่ ๑ อภิชานโตสติ สติเกิดทางความรู้ยิ่ง ข้อนี้แล้วแต่อรรถที่จะอธิบายความหมาย บางแห่งยกตัวอย่างเรื่องของการระลึกชาติ ซึ่งเป็นสติ ที่เป็นอภิชานโต ยิ่งจริงๆ ยิ่งกว่าผู้ที่สติระลึกได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ ในชาตินี้ แต่ ไม่สามารถระลึกถึงอดีตชาติได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของสติที่ต่างกัน
ถ. เรื่องเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่มีสติระลึกรู้ จะต้องมีสภาวธรรม คือ สิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็แล้วแต่ ต้องมีอารมณ์หรือมีสิ่งที่จะให้สติระลึกรู้ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. ถ้าหากระลึกรู้เฉยๆ โดยไม่มีสภาวธรรมอะไรเลย สมมติว่าระลึกรู้อาการของยืน อาการของเดิน อาการของนั่ง อาการของนอน สภาวธรรมคืออะไร ผมก็ไม่แน่ใจว่ามีสภาวธรรมหรือเปล่า แต่เข้าใจว่าไม่มี นอกจากจะเห็นเป็นตัวที่ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ แต่อาการที่จะปรากฏว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมนั้นไม่มี เพราะฉะนั้น สติที่ระลึกในขณะนั้นไม่จัดเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม
สุ. ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ต้องทราบว่า แต่ละท่านมีอัตตสัญญา ความทรงจำว่ามีตัวตน ตั้งแต่เกิดมา ศีรษะตลอดเท้ายึดถือว่าเป็นรูปร่างกายของเรา ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ายังมีอิริยาบถ คือ เรากำลังนั่ง หรือเรากำลังนอน เรากำลังยืน เรากำลังเดิน ก็ไม่มีทางที่จะละอัตตสัญญาไปได้เลย เพราะไม่ได้ประจักษ์ว่า รูปมีอายุที่สั้นมาก คือ รูปแต่ละกลุ่มหรือแต่ละกลาปที่ทยอยกันเกิดขึ้น จะมีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต เพราะฉะนั้น รูปใดที่เกิดก่อน มีอายุ ๑๗ ขณะก็ดับไป และรูปที่เกิดสืบต่อมาแต่ละกลุ่มแต่ละกลาปก็ทยอยกันดับไป ถ้าไม่ประจักษ์ ความจริงว่า รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ความทรงจำว่ามีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นอัตตา เป็นร่างกาย เป็นรูปร่างของเราจริงๆ ก็ยังต้องมีอยู่ เช่น ในขณะนี้ ทุกคน ยากที่จะละสัญญานี้ไปได้ใช่ไหมว่า แท้ที่จริงไม่มีเรา มีแต่เห็น
ขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ และถ้าสติระลึกที่ลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏทางตา สีสันวัณณะต่างๆ หรือระลึกลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็นในขณะนี้ ขณะนั้นจะไม่นึกถึงรูปร่างเลย แม้ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ปอดอยู่ที่ไหน หัวใจอยู่ที่ไหน กระเพาะอาหารอยู่ที่ไหน ม้ามอยู่ที่ไหน เล็บอยู่ที่ไหน ผมอยู่ที่ไหน ฟันอยู่ที่ไหน ต้องนึก ใช่ไหม เพราะอะไร เพราะว่าลักษณะของรูปนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ
และทำไมลักษณะของรูปนั้นๆ ไม่ได้ปรากฏ ก็เพราะว่ารูปนั้นๆ เกิดขึ้นและ ดับไปเลย ๑๗ ขณะนี่เร็วมาก เร็วกว่าขณะที่ทางตากำลังเห็นและหูกำลังได้ยิน เสมือนว่าพร้อมกัน ในขณะที่รู้สึกว่าเห็นด้วยและได้ยินด้วยเสมือนกับว่าพร้อมกันนี้ ก็เกิน ๑๗ ขณะแล้ว
รูปทุกรูปที่เกิด รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้จริงๆ จะถอนอัตตสัญญาว่า เรากำลังนั่ง เรากำลังนอน หรือเรากำลังยืน เรากำลังเดินไม่ได้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจะไม่ปรากฏ ถ้าไม่ได้เพิกอิริยาบถ ไตรลักษณะจะปรากฏไม่ได้เลยตามความเป็นจริง
ถ. ถ้าพูดว่า ขณะที่ยืนก็รู้อาการของยืน ขณะที่นั่งก็รู้อาการของนั่ง ขณะที่นอนก็รู้อาการที่จะนอน ขณะที่เดินก็รู้อาการที่จะเดิน เป็นเรื่องเก่าที่เคยถกเถียงกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะยุติได้แล้ว เพราะว่าอาการของยืน เดิน นั่ง นอนนั้น ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะอะไรที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ในขณะนั้น
สุ. พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ทั้ง ๓ ปิฎกต้องสอดคล้องกัน ในมหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาบถบรรพ ก็มีอิริยาบถ ๔ ซึ่งขณะที่กำลังนั่งให้รู้ใน อาการที่นั่ง หมายความถึงรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏในขณะที่กำลังนั่ง
ถ. แล้วแต่ว่ารูปอะไรจะปรากฏ
สุ. แน่นอนที่สุด ที่กำลังนั่งนี้ต้องเป็นรูป แต่ต้องมีลักษณะของรูปปรากฏ และไม่ใช่ทั่วทั้งตัว ปรากฏอย่างนั้นไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะกระทบกับกายปสาทส่วนใด เพราะว่าตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่รู้ว่ายังมีรูปอยู่ เวลานี้ มีหรือไม่มี รูปเกิดขึ้นและ ดับไปๆ เร็วมาก แต่ยังจำไว้ว่ามี เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ได้ว่ารูปมีจริงๆ นี้ ก็ต่อเมื่อกระทบสัมผัสกับกายปสาทเท่านั้น มิฉะนั้นก็ยังคงเป็นความทรงจำว่ามีรูป ถูกไหม ถ้ารูปที่กายส่วนหนึ่งส่วนใดไม่กระทบกายปสาท จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นรูป เพราะฉะนั้น เรื่องของรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าจะไม่พ้นจากมหาภูตรูป ๔ และเฉพาะมหาภูตรูป ๓ เท่านั้นที่เป็นโผฏฐัพพะ ที่กระทบกับกายปสาทแล้วปรากฏได้
ไม่ต้องไปคิดถึงปอด ตับ ม้าม หัวใจ ในเมื่อไม่ได้กระทบส่วนหนึ่งส่วนใด ให้ปรากฏเลย แต่ขณะนี้แข็งตรงหนึ่งตรงใด มีเหตุปัจจัยทำให้แข็งนั้นเกิดขึ้น เป็นอนัตตา เพราะว่าใครจะจงใจให้แข็งเกิด แข็งก็เกิดไม่ได้ ใครจะจงใจไม่ให้แข็งเกิด แข็งจะไม่เกิดตามความต้องการก็ไม่ได้ เพราะแม้แต่รูปแข็งนั้นก็เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น การที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดทั้งสิ้น ก็เพื่อให้ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งก็คือความหมายหรืออรรถของอนัตตานั่นเอง เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย
ถ. การอบรมเจริญสติให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ อย่างในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า ให้พิจารณากายเนืองๆ เวทนาเนืองๆ จิตเนืองๆ ธรรมเนืองๆ ก็เพื่อให้สติเกิด การที่จะไปเพ่งที่กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดี เพื่อจะให้สติเกิดอย่างนี้ผมว่า เป็นเรื่องเจาะจงที่จะเพ่งเพื่อให้สติเกิด แต่จากที่ได้ศึกษาเล่าเรียนที่อาจารย์บรรยายมาโดยตลอดว่า ปัจจัยที่จะให้เกิดสติได้ คือ ต้องมีการศึกษา การฟัง และทำความเข้าใจให้ถูกต้องแม่นยำ อย่างนี้แหละที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติ ไม่ใช่ว่าจะไปอบรมให้สติเกิดโดยระลึกอย่างนั้นเนืองๆ ระลึกอย่างนี้เนืองๆ โดยไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ หากยังไม่เข้าใจถูกต้องถ่องแท้จะไปอบรมให้สติเกิด ผมรู้สึกว่า จะเป็นการไปบังคับสติ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
สุ. ไม่มีใครจะไปเพ่งได้ เพราะฉะนั้น ปกติธรรมดาอย่างนี้ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
ถ. ทางกายนี่ปรากฏไม่ขาดสายเหมือนกัน
สุ. แล้วแต่ ถ้าขณะนั้นกายวิญญาณไม่เกิด รูปก็ปรากฏไม่ได้ ถ้าไม่ ขาดสาย ก็ไม่เห็น
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า ทางตาปรากฏไม่ขาดสาย
สุ. มีอยู่ตลอดเวลาที่เห็น เสียงก็ปรากฏขณะที่ได้ยิน แล้วแต่ขณะใดอารมณ์ใดปรากฏ แต่ถ้าจะใช้คำว่าไม่ขาดสายโดยไม่คิดถึงความหมายของไม่ขาดสาย ตามที่เว้นเลย ก็เป็นอันว่าไม่มีอย่างอื่นปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ขาดสาย หมายความว่า แม้ในขณะนี้ถ้าสติเกิดก็ระลึกได้ เพราะว่ามีการกระทบทางกาย ในขณะที่แข็งปรากฏ วันหนึ่งๆ กระทบแข็งกี่ครั้งตั้งแต่ตื่น
เปิดวิทยุ แข็งไหม บริหารร่างกายตามสุขลักษณะ ล้างหน้า แปรงฟัน มี การกระทบแข็งไหม เดินลงกระไดไปบริโภคอาหาร กระทบแข็งไหม ซึ่งส่วนใหญ่หลงลืมสติ แต่กายวิญญาณก็เกิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่า ถ้าระลึกได้ สติก็ระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมใดๆ ก็ตาม ทางตาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องระลึกแข็ง ขณะใดที่เห็นและระลึกศึกษาเพื่อเข้าใจให้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา ในขณะนั้นแข็งไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าจะใช้คำว่า ไม่ขาดสาย ก็คือ วิถีจิตเกิดในขณะที่ตื่นสลับกับภวังค์ ต้องมีความละเอียดลงไปถึงพระอภิธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่งด้วย แต่เวลานี้ไม่มีใครทราบใช่ไหมว่า มีภวังคจิตคั่นระหว่างเห็นกับได้ยิน ซึ่งความจริงก่อนเห็นกับได้ยินก็มีภวังคจิตคั่นแล้ว หลังจากที่ ปัญจทวารวิถีจิตดับลง ภวังคจิตต้องคั่น ก่อนที่จะรู้ว่าเห็นใคร เห็นอะไร โดยไม่ต้องพูดถึงทางโสตทวารเข้ามาเกี่ยวเลย ภวังคจิตก็คั่นแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ยัง ไม่ประจักษ์แจ้ง จึงดูเสมือนว่าสภาพธรรมปรากฏตลอดเวลา
ถ. คำว่า ไม่ขาดสาย ต้องปรากฏด้วยจึงจะเรียกว่า ไม่ขาดสาย
สุ. ขณะนี้เห็น ปรากฏการขาดสายไหม
ถ. ถ้าไม่ระลึกถือว่าขาดสาย เกิดไประลึกทางแข็ง
สุ. ถึงระลึก ขาดสายหรือยัง
ถ. มีภวังคจิต
สุ. นั่นโดยตำรา ซึ่งวันหนึ่งจะต้องถึง แต่ก่อนจะถึงต้องศึกษา แม้ว่าการเห็นยังไม่ได้ขาดสาย แต่เพราะสติเริ่มระลึกที่ลักษณะของบางนามหรือ บางรูป เช่น ในขณะที่เห็น ระลึกที่แข็ง ได้ไหม ... ได้ ขณะนั้นจะค่อยๆ ละการติด ในนิมิตอนุพยัญชนะทางตา เพราะว่าขณะนั้นกำลังระลึกแข็งที่กำลังปรากฏและศึกษาลักษณะสภาพที่แข็ง
บางท่านอาจจะศึกษาลักษณะอาการที่กำลังรู้แข็ง ไม่ใส่ใจในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ขาดตอน ยังไม่ดับ เพราะว่าเกิดสืบต่อสลับอยู่ และสติมีกำลังที่อ่อนมาก เกิดแทรกได้บางวิถี บางวาระเท่านั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๗ ตอนที่ ๑๕๖๑ – ๑๕๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620