แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606


    ครั้งที่ ๑๖๐๖


    สาระสำคัญ

    สภาพปรมัตถธรรมเพียงปรากฏทางตา ทางหู

    ม.ม.ฆฏิการสูตร - โลภะมีกำลังมากกว่าอโลภะ

    “อโทสเจตสิก” สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ

    ลักขณาทิจตุกะของอโทสเจตสิก

    องฺ.นวก.เวลามสูตรที่ ๑๐ - เมตตาจะทำให้รักษาศีล ๕ ได้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๐


    ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ถ้าได้ศึกษาพระธรรมจะทราบได้ว่า โลภะมีกำลังมากกว่าอโลภะ ซึ่งใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ฆฏิการสูตร มีข้อความว่า

    แม้ในปัจจุบันมีใครชวนไปไหว้พระเจดีย์ ไปฟังพระธรรม ก็จะไม่กระทำอุตสาหะ แต่ถ้าใครๆ ชวนไปดูฟ้อนรำขับร้องเป็นต้น จะรับคำด้วยการชวนเพียง ครั้งเดียวเท่านั้น

    จริงไหม หรือยังไม่มีใครชวนก็ไปเองแล้ว ที่บ้านก็สะดวก ง่ายมาก เพียงเปิดโทรทัศน์ ก็สามารถดูได้ตามใจชอบ

    ข้อความนี้เป็นตอนที่ฆฏิการะช่างหม้อชวนโชติปาลมาณพซึ่งคือ พระผู้มีพระภาคในอดีต ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ให้ไปฟังพระธรรม ให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่ากัสสปะ แต่โชติปาลมาณพไม่ไป แต่เมื่อฆฏิการะช่างหม้อชวนไปอาบน้ำ ก็ไป

    นี่คือครั้งหนึ่ง สมัยหนึ่ง ซึ่งทุกคนก็เป็นอย่างนี้ แต่การอบรมเจริญกุศล ทุกประการทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งจะมีกำลังทำให้อกุศลอ่อนกำลังลง

    โสภณสาธารณเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม มีจำนวนทั้งหมด ๑๙ ดวง จะเห็นได้ว่า ที่กุศลจิต โสภณจิต จะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ต้องอาศัยโสภณเจตสิกจำนวนมากเกิดร่วมกัน มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถสู้กำลังของอกุศลจิตได้ ในวันหนึ่งๆ

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง ขอกล่าวถึงเป็นการทบทวนโดยชื่อก่อน

    ๑. ศรัทธาเจตสิก ๒. สติเจตสิก ๓. หิริเจตสิก ๔. โอตตัปปเจตสิก ๕. อโลภเจตสิก ๖. อโทสเจตสิก ๗. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ๘. กายปัสสัทธิเจตสิก ๙. จิตตปัสสัทธิเจตสิก ๑๐. กายลหุตาเจตสิก ๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก ๑๒. กายมุทุตาเจตสิก ๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก ๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก ๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก ๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก ๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก ๑๘. กายุชุกตาเจตสิก ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก

    หลายท่านอาจจะบอกว่า ไม่รู้จักหลายเจตสิก แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะครบทั้ง ๑๙ เจตสิกที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิก เป็นจิตของทุกท่าน แต่ถ้า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ย่อมไม่มีใครสามารถพิจารณารู้ความเป็นโสภณธรรมของเจตสิกเหล่านี้เลย เพราะไม่คุ้นหู และไม่ได้สังเกต ไม่ได้พิจารณาลักษณะสภาพของโสภณเจตสิกเหล่านั้น แต่ให้ทราบว่า ถึงแม้จะยังไม่ได้กล่าวถึงครบทั้ง ๑๙ เจตสิก ที่เป็นโสภณสาธารณะ แต่ทุกขณะที่กุศลจิตเกิด แม้ในขณะนี้เอง ก็มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดทั้ง ๑๙ ดวง

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกที่จะขอกล่าวถึงต่อไป คือ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงลักษณะของโทสะ จะทำให้เข้าใจลักษณะของอโทสเจตสิกซึ่งตรงกันข้ามได้ เพราะการละคลายโทสะจะต้องรู้ว่า โทสะมีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นขณะไหน และมีอะไรเป็นอารมณ์

    ถ้าไม่รู้ธรรมที่ต้องการจะละ จะละได้อย่างไร แต่เมื่อต้องการจะละธรรมใด ที่เป็นอกุศล ก็ต้องรู้จักสภาพของอกุศลธรรมนั้นให้ละเอียดขึ้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า เป็นสภาพที่เป็นอกุศลธรรมน่ารังเกียจ

    ก่อนอื่นจะต้องทราบว่า โทสะ ไม่ใช่ในขณะที่โกรธหรือไม่พอใจเท่านั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า โทสะ ทุกคนจะคิดถึงความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ หรือความโกรธ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่รู้สึกไม่สบายใจ เป็นโทมนัสเวทนา เวทนาความรู้สึก ทุ โทมนัส ไม่ดี ไม่สบายใจ ขณะนั้นต้องมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้น ลักษณะอาการของโทสเจตสิก ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่รู้สึก ขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจเท่านั้น แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่กลัว ในขณะที่ตกใจ ในขณะที่กังวลใจ ในขณะที่โศกเศร้า ในขณะที่เสียใจ เดือดร้อนใจ น้อยใจ เบื่อ ท้อถอย หงุดหงิด รำคาญ กลุ้มใจ วิตกกังวล หดหู่ หรือแม้แต่คิดมาก ขณะนั้นพิจารณาดูว่า ความรู้สึกดี หรือไม่ดี เพราะส่วนใหญ่จะบอกว่า เป็นทุกข์เพราะ คิดมากเกินไป แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่คิดในขณะนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจ ไม่สบาย ซึ่งนั่นก็เป็นลักษณะของโทสะ

    สรุปได้ว่า ขณะใดที่รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา หรือได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจทางหู ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ลิ้มรสที่ไม่น่าพอใจ กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทุกขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    และไม่จำเป็นที่จะต้องโกรธ หรือไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจเฉพาะในสัตว์ ในบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดๆ ก็ตาม ถ้าในวันหนึ่งๆ เป็นผู้ที่ละเอียดจะสังเกตลักษณะของความไม่พอใจแม้เพียงเล็กน้อยได้ เช่น ทุกคนต้องบริโภคอาหาร เป็นประจำ ขณะที่เห็นผักหรือเห็นผลไม้เสีย ขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นอกุศลจิตไหม ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เพียงแต่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผักหรือผลไม้ ที่ไม่น่ารับประทานเท่านั้น ความรู้สึกเป็นอย่างไร จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทไหน ก็ต้องเป็นโทสมูลจิต มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ถ้าเป็นอย่างนี้ คิดดู จะดับโทสะ ดับง่ายหรือดับยาก เพียงทันทีที่เห็นสิ่งที่ ไม่น่าพอใจ แม้แต่ผลไม้เสียนิดเดียว โทสเจตสิกก็เกิดกับอกุศลจิตนั้น ทำให้เป็น โทสมูลจิต เวลาได้ยินเสียงดัง อาจจะเป็นเสียงเพลงก็ได้ แต่ดังไป ขณะนั้น เป็นอย่างไร โทสมูลจิตเกิดแล้ว ขณะที่ได้กลิ่น ซึ่งช่วยไม่ได้เลย เวลาที่ผ่านบางแห่ง บางสถานที่ จะมีกลิ่นขยะ หรือกลิ่นน้ำเน่า กลิ่นสิ่งปฏิกูล ขณะนั้นก็เป็นโทสมูลจิต

    บริโภคอาหารทุกวัน เปรี้ยวไปหน่อย เค็มไปนิด หวานจัดไปหน่อย หรือ เผ็ดไป ขณะนั้นโทสมูลจิตก็เกิดแล้ว

    หรือขณะที่มีชีวิตอยู่ทุกวัน ทุกคนก็อยู่ภายใต้ลมฟ้าอากาศ ถูกแดด เป็นอย่างไร ร้อน ไม่พอใจแล้ว หรือว่าพายุ ฝนต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ มีปัจจัยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจริงๆ ถ้าไม่สังเกต จะคิดว่า เป็นแต่เพียงในขณะที่โกรธเคืองขุ่นข้องใจกับสัตว์บุคคลต่างๆ เท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้ลักษณะของโทสะจริงๆ ว่า แม้ในอารมณ์ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โทสะก็เกิดขึ้นได้

    สำหรับอโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะฉะนั้น เป็นขณะที่ไม่เดือดร้อน ไม่กังวลใจ เป็นต้น ซึ่งทุกคนก็ปรารถนาที่จะเป็นอย่างนี้ คือ ปรารถนาที่จะไม่มีโทสะ แต่ต้องระวังว่า ถ้าไม่มีโทสะแล้ว ต้องไม่ให้มีโลภะด้วย อย่าพอใจว่า เมื่อไม่มีโทสะแล้ว มีโลภะไม่เป็นไร นี่เป็นสิ่งที่ควรสังเกตว่า โทสะเป็นอกุศล ฉันใด โลภะก็เป็นอกุศล ฉันนั้น และโทสะยังแสดงตัวปรากฏให้ เห็นง่าย แต่โลภะยากที่จะเห็นได้ เพราะทุกคนต้องการโลภะ ซึ่งไม่มีวันพอ

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทราบลักษณะของอกุศลธรรม ก็ควรที่จะรู้ธรรมที่เป็น ฝ่ายตรงกันข้ามด้วย สำหรับลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะ ๔ ของอโทสเจตสิก คือ

    อจัณฑิกกลักขโณ มีความไม่ดุร้ายเป็นลักษณะ

    ถ้าจะเปรียบลักษณะของอโทสะ ก็เหมือนกับมิตรที่คอยช่วยเหลือ เพราะเวลาโกรธไม่ช่วย ใช่ไหม แต่เวลาไม่โกรธจึงจะช่วย เพราะฉะนั้น ลักษณะของอโทสะ เป็นสภาพที่ไม่แค้นเคือง เปรียบเหมือนมิตรที่คอยช่วยเหลือ

    อาฆาตวินิยรโส มีการกำจัดความอาฆาตเป็นกิจ หรือ

    ปริฬาหวินิยรโส มีการกำจัดความเร่าร้อนเป็นกิจ เปรียบเหมือนจันทน์หอม ฉะนั้น

    นี่แสดงทั้งเวลาที่เป็นไปในสัตว์ ในบุคคล และเวลาที่ไม่เป็นไปกับสัตว์บุคคล เช่น มีการกำจัดความเร่าร้อนเป็นกิจ เปรียบเหมือนจันทน์หอม ฉะนั้น

    โสมภาวปัจจุปัฏฐาโน มีภาวะร่มเย็นเป็นอาการปรากฏ เปรียบเสมือนพระจันทร์เพ็ญ ฉะนั้น

    โยนิโสมนสิการปทัฏฐาโน มีการทำไว้ในใจในอารมณ์โดยแยบคายเป็นเหตุใกล้

    ถ. มีการกำจัดความอาฆาตเป็นกิจ แสดงว่าปุถุชนเราทุกคนมีความอาฆาตอยู่แล้วทุกคน ใช่ไหม

    สุ. หรือมีการกำจัดความเร่าร้อนเป็นกิจ

    ถ. แสดงว่าทุกคนมีแล้ว

    สุ. มีจริงๆ หรือเปล่า

    ถ. มี แต่ว่าของใครมาก ของใครน้อย ไม่เท่ากัน

    สุ. ต้องเป็นผู้ละเอียดจึงจะรู้ว่า มีความไม่พอใจในอะไรบ้าง นอกจาก ในสัตว์บุคคลแล้ว ก็ยังในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย กระทบสิ่งที่ร้อน โทสมูลจิตเกิดแล้ว ใช่ไหม ไม่ชอบ ตกใจ กลัว เร็วถึงอย่างนั้น

    ถ. และต้องเป็นผู้ดุร้ายด้วย

    สุ. ลักษณะนั้นหยาบกระด้าง จะอ่อนโยนได้ไหมในขณะนั้น ที่กำลังตกใจ

    ถ. ดุแบบอ่อนโยนมีไหม เป็นคนดุแบบนิ่มๆ

    สุ. จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ลักษณะสภาพของความหยาบกระด้าง เป็นลักษณะของโทสะ และลักษณะที่ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง จะใช้คำว่า อ่อนโยนก็ได้ ก็เป็นลักษณะของอโทสะ

    เพราะฉะนั้น เป็นสภาพที่ต่างกัน โทสะหยาบกระด้าง แต่อโทสะไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง ใจของเราเองพิจารณาได้ ขณะที่อยากจะช่วยใคร ต้องการให้เขาเป็นสุข มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาก็ทำในขณะนั้น จิตในขณะนั้นอ่อนโยน ตรงกันข้ามกับขณะที่กำลังโกรธ กำลังขุ่นเคือง ขณะนั้นลักษณะของใจจะหยาบจริงๆ กระด้างจริงๆ มีลักษณะเหมือนกับความแข็ง ความดุร้าย

    ถ. ความดุร้าย ความเร่าร้อน ถ้ามีอโทสะ ก็เหมือนกับมีความร่มเย็น เป็นเหตุใกล้ ใช่ไหม

    สุ. ลักษณะอาการที่ปรากฏ มีภาวะร่มเย็น เปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ

    ถ. พิจารณาโทสะในลักขณาทิจตุกะนี้แล้ว เปรียบเทียบกับตัวเอง ในชีวิตประจำวัน น่ากลัวสั่งสมไว้มาก

    สุ. เป็นของธรรมดา อกุศลต้องมากกว่ากุศล ไม่ว่าจะโลภะ หรือโทสะ ก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ที่อโทสะเป็นโสภณสาธารณเจตสิก หมายความว่า ต้องเกิดกับกุศลจิต ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขาดอโทสเจตสิกไม่ได้ ถ้าอโทสเจตสิกไม่เกิด จิตไม่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น วิธีที่จะรู้ว่าขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็โดยการสังเกตลักษณะที่เป็นโทสะหรืออโทสะ ถ้าขณะนั้นจิตหยาบกระด้าง ดุร้าย ไม่ร่มเย็น ขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสะ แต่ขณะใดที่จิตอ่อนโยน ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง ขณะนั้นเป็นอโทสะ และถ้าไม่เป็นอโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่กุศล

    ท่านที่ถามว่า นั่นเป็นกุศลไหม นี่เป็นกุศลไหม ทำอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรือเปล่า ไม่ต้องถามคนอื่นเลย พิจารณาจิต ถ้าจิตขณะนั้น ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง เป็นจิตที่อ่อนโยน ก็เป็นกุศล แต่แม้ในขณะที่กำลังทำกุศลต่างๆ และเกิดความหยาบกระด้างของจิตขึ้น ความดุร้าย ความผูกโกรธ ความ ขุ่นเคือง ขณะนั้นไม่ต้องถามใคร ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลและอกุศลเป็นเรื่องจิตที่จะพิจารณารู้ได้ว่า จิตขณะใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยที่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย และถ้าไม่มี อโทสเจตสิกเกิด กุศลจิตเกิดไม่ได้ และในขณะที่มีอโลภเจตสิก ต้องมีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยพร้อมกับโสภณสาธารณะอื่นๆ เช่น ต้องมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ และโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมกัน

    และเรื่องของกุศล ไม่ควรจะคิดแต่เรื่องของทาน หรือวัตถุทานการให้เท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าจะให้ทานไปสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ยังโกรธ หรือยังมีความไม่สบายใจได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องพิจารณาถึงอโทสเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกด้วย

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตรที่ ๑๐ ข้อ ๒๒๔ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี สมัยที่พระองค์เป็นเวลามพราหมณ์ ในครั้งนั้นไม่มีพระอริยบุคคลที่จะถวายทานได้ แต่กุศลไม่ใช่มีแต่ทานเท่านั้น ไม่ว่าในกาลสมัยใด ไม่ว่าในกาลที่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย หรือในสมัยที่แม้ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าแล้ว กุศลก็ไม่ควรที่จะเป็นไปเพียงในขั้นของทานอย่างเดียว

    ข้อความใน เวลามสูตร มีว่า

    การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงกุศลที่มีกำลังเพิ่มขึ้น เช่น เมตตา แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท

    ขณะที่ตั้งใจสมาทานศีลซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะทุกคนที่มีพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ย่อมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามแม้ศีล ๕ ข้อเท่าที่จะกระทำได้ เมื่อมีความเลื่อมใสที่จะสมาทานรักษาสิกขาบท คือ ศีล ๕ ในขณะนั้นต้องรู้ว่า การที่จะไม่ล่วงศีลได้ เพราะไม่โกรธหรือไม่มีโทสะ ถ้าปราศจากเมตตา เกิดโทสะขึ้นขณะใด จะล่วงสิกขาบทข้อหนึ่งข้อใดใน ๕ ข้อได้ แต่ขณะใดที่เมตตาเกิด จะไม่ล่วงศีล

    การที่บุคคลสมาทานสิกขาบท แสดงว่ามีเจตนาที่จะไม่ล่วงศีล แต่ที่จะ ไม่ล่วงศีลได้ต้องเพราะเมตตา ขาดเมตตาขณะใด ขณะนั้นล่วงศีล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจริงๆ ที่จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้ คือ เมตตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๑ ตอนที่ ๑๖๐๑ – ๑๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564