แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
ครั้งที่ ๑๖๑๒
สาระสำคัญ
ขณะที่เป็นกรรม และขณะที่เป็นผลของกรรม
แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พิจารณาในเหตุผล ในสาระของธรรม
สนทนาธรรมที่พุทธสมาคม จังหวัดแพร่
วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๐
ถ. การทำบุญเองย่อมได้สุขเอง การทำบาปเองย่อมได้ทุกข์เอง ตามหลักธรรมว่าอย่างนั้น ทั้ง ๒ อย่างนี้เห็นได้ง่าย ไม่ยาก เราจะสังเกตเห็นประชาชนทุกวันนี้ ทำบาปเองได้ทุกข์เอง ทำบุญเองได้สุขเอง พอเห็นได้ แต่พ่อทำบาป ทำไมบาปจึงไปตกแก่ลูก เช่น พ่อลอกทองคำ ... พระธาตุ (ได้ยินไม่ชัด) เอาไปขาย ทำไมลูกเกิดมาจึงไม่มีหนังหุ่มห่อร่างกาย หรือพ่อแพ้คดีความคนจน โมโห จึงจับอีแร้งไปปล่อยใส่กระท่อมคนจนในเวลาดึก คนก็แตกตื่นกันทั้งหมด ประมาณสัก ๑๐๐ ปีมาแล้ว และลูกของผู้ทำ เกิดมาแขนล่างกับแขนบนติดกันเป็นพืดเลยทั้งสองข้าง ขากับน่องก็ติดกันเป็นพืด ยืนไม่ได้ ต้องนั่งถูทรมานอยู่ เห็นมากับตา
อีกเรื่องหนึ่ง พ่อไปหาปลา จะเอามาทำอาหารกินกลางวัน หิวเต็มทีแล้ว ได้ปลามาก็วางไว้บนเขียง ตนเองลงไปเอาฟืนใต้ถุนเรือน และไปขุดข่ามาเพื่อจะ ปรุงอาหาร เมื่อขึ้นมาปลาหายไปแล้ว เห็นแมวกินอยู่ที่มุมกองไฟ ก็จับแมวมาวางบนเขียงหมายจะฟันหัวแมวให้ขาด แมวกลัวหดหัวเข้า แต่เท้าหน้าทั้ง ๒ ข้างติดอยู่กับเขียงจึงฟันลงไปขาดทั้ง ๒ ข้าง ลูกเกิดมามือกุดไปทั้ง ๒ ข้าง ผมเห็นกับตา เป็นลูกศิษย์มาเข้าโรงเรียน ทำไมจึงไปได้แก่ลูก
สุ. ก็น่าคิด และถ้าคิดเผินๆ ดูเหมือนทุกคนจะผสมกรรมของคนโน้น ปนกับของคนนี้ แต่ถ้าลูกไม่มีกรรม ลูกจะเกิดมาไหม เพราะฉะนั้น ที่ลูกเกิดมา เป็นอย่างนั้น เป็นกรรมของใคร ถ้าไม่ใช่กรรมของลูกเอง
แต่ละคนมีกรรมเป็นของตัวเองจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่า เมื่อได้กระทำกรรมไว้แล้ว ผลของกรรมจะได้รับทางไหน นี่เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา ทุกคนมีกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว และเมื่อเกิดมาก็ยังกระทำกรรมต่อไปด้วย และผลของกรรมจะได้รับทางไหนเมื่อไร ถ้าไม่สามารถรู้ขณะที่เป็นกรรม และขณะที่เป็นผลของกรรมจริงๆ จะสับสนปนกัน ของพ่อบ้าง ของลูกบ้างอยู่เรื่อยๆ แต่การที่เด็กคนนั้นจะเกิดมา หรือลูกใครก็ตามที่จะเกิดมา ถ้าไม่มีกรรมเป็นของของตัวแล้วไม่เกิดแน่ๆ
พระอรหันต์ทั้งหลายไม่เกิด เพราะฉะนั้น การที่ใครก็ตามจะเกิด ไม่ว่าจะ ในตระกูลใด มีพ่อแม่อย่างไร มีการกระทำกรรมมาอย่างไร ก็เป็นผลของกรรม ของคนนั้นเอง แต่เมื่อไม่รู้อดีตกรรมของลูกในชาติก่อนๆ ก็คิดว่า เมื่อพ่อแม่ทำ อย่างนั้น ลูกก็ได้ผลของกรรมอย่างนั้น ซึ่งความจริงแล้ว ถ้ารู้อดีตกรรมของลูกใน ชาติก่อนๆ จะรู้ได้แน่ว่า ต้องเป็นผลของกรรมของลูก
เมื่อพระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เวลาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น พระภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลถามถึงอดีตกรรมของแต่ละบุคคลในเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอดีตกรรมของแต่ละท่านในอดีต เป็นกรรมของ แต่ละบุคคลนั้น ไม่ได้ทรงแสดงเลยว่า พ่อแม่ทำกรรมอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ลูกจึง เป็นอย่างนั้น นี่ไม่มีในคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อ สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นไปและมีผู้ที่ทูลถาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอดีตกรรม ของบุคคลนั้นเอง
ในครั้งนี้ ถ้าพระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน และมีผู้ที่ไปกราบทูลถาม พระองค์ก็จะทรงแสดงอดีตกรรมของลูกที่ได้กระทำแล้ว ไม่ได้ทรงแสดงว่า เพราะพ่อทำอย่างนี้ ลูกจึงได้รับผลของกรรมอย่างนั้น และเมื่อไม่มีใครสามารถแสดงอดีตกรรมของแต่ละบุคคลในชาตินี้ได้ ทุกคนก็สับสนปนกันระหว่างกรรมของพ่อกับกรรมของลูก แต่ขอเรียนให้ทราบว่า ถ้าลูกไม่มีกรรมจริงๆ ลูกก็ไม่เกิด และถ้ากรรมของลูกไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น ผลที่จะได้รับก็ไม่เป็นไปอย่างนั้น แต่เพราะในชาติหนึ่งชาติใดในสังสารวัฏฏ์ ลูกต้องเคยกระทำกรรมเหมือนอย่างที่พ่อกระทำ ซึ่งย่อมเป็นไปได้ เพราะว่าทุกคนที่เกิดมา ถ้าเป็นเรื่องของอกุศลกรรมก็ทำคล้ายๆ กันทั้งนั้น
เรื่องการฆ่าสัตว์ จับปู จับนก จับจิ้งจก จับตุ๊กแก เด็ดขายุง หรือทำอะไร ก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องที่ทำไปคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเรื่องของการทรมานสัตว์ หรือ เรื่องของการนำทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตนด้วยกลวิธีต่างๆ เป็นเรื่องของจิตใจ ที่เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมต่างๆ ตั้งแต่ใน สมัยอดีตแสนโกฏิกัปป์มาแล้วจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และการกระทำอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะฉะนั้น เมื่อใครได้กระทำกรรมอย่างใดไว้ในอดีตชาติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
ถ้าพระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานและมีผู้กราบทูลถาม ก็คงจะทรงแสดงอดีตกรรมของลูกด้วย แต่เรื่องอดีตกรรมก็ผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถ ระลึกได้ นอกจากในชาตินี้ที่ได้กระทำกรรมแล้ว ถ้าเป็นกุศลกรรมก็จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็เป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดี แต่ต้องทราบละเอียดกว่านั้นว่า ในการรับผลของกรรมขณะไหนที่เรียกว่าดี และขณะไหนที่เรียกว่าไม่ดี ต้องแยกออกไปแต่ละทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
การที่จะได้รับผลของกรรม มีตาสำหรับเห็น จริง แต่เห็นสิ่งที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร มีหูไว้ทำไม สำหรับรับผลของกรรมอีก คือ ได้ยินเสียง และขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ดี ขณะนั้นเป็นผลของกุศลกรรม ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นผลของอกุศลกรรม ทางจมูกก็เช่นเดียวกัน ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะพิจารณาแต่ละขณะจิต หรือแต่ละทางของการรับผลของกรรมด้วย
ถ. ยังไม่กระจ่าง ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างเช่นนี้หรือไม่
สุ. ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของบุคคลนั้นๆ แต่ไม่ได้กล่าวว่า เพราะพ่อทำกรรมอย่างนี้ ลูกจึงเป็นอย่างนั้น ไม่มี มีแต่การที่ลูกเกิดมาเป็นอย่างนั้น เพราะครั้งหนึ่งในอดีตกาลเคยกระทำกรรมอะไรจึงทำให้ ไม่มีหนัง หรือไม่มีอะไรก็แล้วแต่
ถ. แต่เห็นชัดๆ ว่า พ่อทำ ๒ – ๓ ปีต่อมา ลูกเกิดมามือกุดเลย
สุ. ขอประทานโทษ เมื่อพ่อกระทำกรรมนั้นแล้ว คิดว่าวันหนึ่งพ่อจะได้รับผลของกรรมนั้นไหม หรือเมื่อลูกได้รับแล้ว พ่อก็สบาย ไม่ต้องได้รับผลของกรรมนั้นอีกต่อไป
ถ. ผมเข้าใจว่า เป็นการทำให้พ่อเห็นก่อน และพ่อนั้นก็ได้รับทุกขเวทนา ยิ่งกว่าลูกเสียอีก
สุ. และลูกมีกรรมของตัวเองที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ในอดีต ลูกต้องเคยกระทำกรรมอะไรที่เป็นของตัวเอง ที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นไหม
ถ. ต้องมี
สุ. เพราะฉะนั้น ก็เป็นกรรมของลูกที่ทำให้เป็นอย่างนั้น และเป็นกรรมของพ่อที่ทำให้เห็นอย่างนั้น แต่กรรมที่พ่อกระทำ วันหนึ่งพ่อจะต้องได้รับด้วยไหม ก็ต้องได้รับแน่นอน เพราะฉะนั้น กรรมนั้นก็ยังคงเป็นของพ่อ
ถ. ทุกวันนี้ บางคนไปภาวนาที่วัดก็ถูกคนอื่นๆ ตำหนิว่า เป็นคนคร่ำครึโบราณ มัวแต่นั่งหลับหูหลับตาอยู่นั่นแหละ จะเอาอะไรกิน ไม่ทันเขาแล้ว ผมอยากทราบว่า การภาวนานั้นดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร จำเป็นไหมสำหรับชาวพุทธ
อีกข้อหนึ่ง คำสวดต่างๆ ใครเป็นผู้แต่งขึ้น ในสมัยพระพุทธเจ้ามีไหม พระอรหันต์แต่ง หรืออาจารย์ชั้นหลังๆ แต่ง สวดของอินเดีย ลังกา ไทย พม่า ญี่ปุ่น เหล่านี้ เหมือนกันหรือเปล่า
สุ. สำหรับในข้อแรกเรื่องของภาวนา การที่จะพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยที่ ไม่เข้าใจสิ่งนั้น จะไม่ทำให้หายสงสัยได้เลย แม้แต่การที่ไปวัด และบอกว่า ไปนั่ง ไปภาวนา ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายของคำนี้จริงๆ ในพระพุทธศาสนา ก็ไม่สามารถหมดความสงสัย หรือรู้ว่าการกระทำอย่างนั้นถูกหรือผิดได้
ก่อนอื่น ภาวนาหมายความถึงการอบรมให้เกิดขึ้น ให้มีขึ้น เช่น ปัญญา ทุกคนมีหรือยัง ปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีหรือยัง ถ้าปัญญาอย่างนี้ยังไม่มี ยังไม่ประจักษ์แจ้ง การอบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ให้เกิดขึ้นก็เป็นการภาวนาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งหมายความถึง เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะถ้ายัง ไม่ประจักษ์แจ้งว่า ขณะนี้เอง ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ต้องรอตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ หรือรอจนกว่าจะถึงวันตายและจะเห็นความไม่เที่ยง หรือรอจนกระทั่งร่างกายที่กำลังมีสุขภาพแข็งแรงเกิดโรคภัยต่างๆ จึงจะเห็นว่าไม่เที่ยง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ตรงกับสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะทรงตรัสรู้ว่า ทุกๆ ขณะจิต ในขณะนี้เอง สภาพธรรมกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอย่างนี้ได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นของการฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และสติเริ่มระลึกศึกษาลักษณะของสภาพนั้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในการเกิดดับ นั่นคือ ความหมายของวิปัสสนาภาวนา
แต่ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องภาวนาว่า ภาวนาคืออะไร และมีกี่อย่าง ก็จะไม่รู้ว่า ที่ทำๆ กันอย่างนั้น ถูกหรือผิด
คนครึ คือ คนที่ไม่รู้ แต่ถ้าคนรู้ เป็นคนที่ไม่ครึ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะ กี่กัปมาแล้วก็ตาม ในสมัยก่อนจนกระทั่งถึงสมัยนี้ หรือถึงสมัยต่อไป ถ้าจะหา คำนิยามของคำว่า ครึ ครึก็คือคนที่ไม่รู้ความจริง แต่ถ้าคนที่มีปัญญาและรู้ จะกล่าวว่า ครึ ได้ไหม
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าครึหรือเปล่า พระอรหันตสาวก ครึหรือเปล่า พุทธบริษัทที่อบรมเจริญปัญญาครึหรือเปล่า แต่คนที่ไม่รู้ต่างหาก ที่เป็นคนครึ
เพราะฉะนั้น เรื่องครึ ไม่ครึ คงจะตัดไปได้ เพราะว่าไม่มีความสำคัญอะไร ที่สำคัญ คือ พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนเรื่องของปัญญา เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งทุกคนเกิดมา ด้วยความไม่รู้ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ทุกคนก็ยังคงไม่รู้ แม้ว่าเห็นก็ไม่รู้ ได้ยินก็ไม่รู้ ได้กลิ่น คิดนึก สุขทุกข์ในวันหนึ่งๆ เหมือนกันทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยความไม่รู้
เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ธรรมของพระองค์เพื่อความรู้ เพื่อปัญญาที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้จักตัวเองละเอียดขึ้น รู้จักโลก รู้จักความจริงของทุกขณะจิต เพราะฉะนั้น ภาวนาที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ที่เป็นไปตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นการอบรมเจริญปัญญาตามปกติ ตามความเป็นจริง
ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วจะวินิจฉัยด้วยตนเองได้ว่า ใครก็ตาม จะทำอะไรก็ตาม ถูกหรือผิดอย่างไร ก็ต้องถามผู้ที่ไปนั่งว่า นั่งทำอะไร นั่งแล้วรู้อะไร เห็นอะไร ตรงหรือไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมจะช่วยให้ผู้นั้นไม่ครึ และสามารถเข้าใจ ในเหตุในผลได้ถูกต้องตามความเป็นจริง
สำหรับเรื่องสวด ที่ใช้คำว่า สวด เป็นภาษาบาลี เพราะว่าภาษาไทย ไม่มีใครใช้คำว่า สวด
ภาษาบาลีน้อยคนที่จะเข้าใจความหมาย นอกจากผู้ที่ได้ศึกษาเป็นขั้นเปรียญต่างๆ ที่มีความรู้พอที่จะเข้าใจในไวยากรณ์ และในความหมายของคำนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังสวด และสวดยาว จะเข้าใจมากน้อยสักแค่ไหน แม้แต่ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
อิติปิโสคืออะไร สวดอยู่เสมอ คำแปล คือ แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้ายังไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ คือเหตุไหน ก็ไม่ทราบ
ก็คือเหตุที่ได้ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงในเรื่องของสภาพธรรม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องของกรรม เรื่องของผลของกรรม เรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่พิสูจน์ได้ ทุกๆ ขณะ
เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดได้ฟังพระธรรมและเข้าใจ และสติสามารถระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกอย่าง จึงเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงอรรถในคำว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าไม่ใช่ให้คนหนึ่งคนใดต้องไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ลำบาก ขณะนี้มีสภาพธรรมอยู่แล้ว กำลังปรากฏ ล้วน เป็นธรรมทั้งหมด ที่กล่าวว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรม กำลังเห็นก็ต้องเป็นธรรม กำลังได้ยินก็ต้องเป็นธรรม กำลังคิดนึกก็ต้องเป็นธรรม กำลังพอใจ ไม่พอใจ ก็ต้องเป็นธรรม เมื่อเข้าใจในธรรมยิ่งขึ้น ก็จะรู้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือเหตุไหน
คำสวดทั้งหลาย จะเพิ่มความหมาย ความซาบซึ้งในอรรถขึ้น ก็ต่อเมื่อได้เข้าใจในความหมายนั้นๆ ด้วย ถ้าไม่รู้ภาษาบาลีก็ยากที่จะรู้ว่า ที่สวดนั้น คำไหน ขาดตกบกพร่องทางอักขระ ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปไหม แม้แต่การออกเสียง ซึ่งดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันไม่มีความรู้ในทางบาลีเลย พยายามที่จะศึกษา ภาษาบาลีหลายครั้ง แต่ภาษาบาลีก็ยากเหลือเกินสำหรับดิฉัน ตั้งต้นแล้วก็เลิกอีก ตั้งต้นอีกก็เลิกอีก เพราะว่าต้องท่องมาก สำหรับดิฉันเองถ้าจะให้ท่องและเพียงจำ ไม่กี่วันก็ลืม แต่ถ้าได้พิจารณาในเหตุผล ในสาระของธรรมแล้ว ดิฉันจะไม่ลืม และ มีความพากเพียรขวนขวายที่จะอ่าน ที่จะค้นคว้า ที่จะศึกษาต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น สำหรับภาษาบาลี ไม่มีความรู้เลย
ในการบรรยายธรรมในปีแรกๆ ขอเรียนให้ทราบว่า พูดภาษาบาลีผิดๆ เช่น คำว่า สัตบุรุษ ดิฉันออกเสียงเป็น สัด - ตะ - บุรุษ เพียงแค่นี้ความหมายผิดแล้ว สัตตะ แปลว่า เจ็ด แต่ สัต - บุรุษ แม้ว่าเสียงไม่เพราะ แต่มาจากคำว่า สัทธรรม คือ ความจริง พระสัทธรรม ธรรมของผู้สงบ สัทธรรมมาจากคำว่า ส คือ สันติ สงบ คือ พระนิพพาน กับธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสัตบุรุษ ถ้า ออกเสียงว่า สัด - ตะ - บุรุษ ก็เป็น ๗ ไม่ใช่เป็นสัทธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องของการสวด ควรจะเป็นเรื่องของผู้ที่รู้ความหมาย แต่ สำหรับพุทธศาสนิกชนก็สวดมนต์กันมากโดยไม่ได้เข้าใจความหมายจริงๆ ซึ่งนั่นเป็นการดีขั้นต้นของขนบธรรมเนียมที่จะทำให้ไม่ละเลยการที่วันหนึ่งข้างหน้าจะเกิด สะกิดใจระลึกได้ว่า เราควรจะได้เข้าใจในสิ่งที่เราสวด หรือในสิ่งที่เรากล่าวด้วย
ถ้าเราสวดยาวมาก ก็ควรจะเข้าใจทั้งหมดที่สวด แต่ถ้าสวดไม่กี่คำ ก็ควรจะเข้าใจในคำที่สวดด้วย สำหรับดิฉันเองสวดน้อยมาก สวดสั้นๆ แต่พยายามเข้าใจ ในอรรถของสิ่งที่สวด ไม่ได้สวดยาว
และที่ว่าการสวดนั้นใครเป็นผู้แต่ง ถ้าเป็นภาษาบาลีจากพระไตรปิฎก ทุกท่านย้อนกลับไปได้ แม้แต่คำกรวดน้ำที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็มาจากสมัยที่พระผู้มีพระภาค เสด็จไปเมืองราชคฤห์ และพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้า ได้ฟังธรรม และได้ถวายทาน และพวกเปรตซึ่งเคยเป็นญาติในอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสารก็ได้มาคอยรับส่วนบุญ แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ พวกเปรตก็กลับไป วันรุ่งขึ้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ก็ทรงถวายภัตตาหารอีกครั้งหนึ่ง และได้อุทิศส่วนกุศล ซึ่งคำนั้นก็ยังคงใช้ตลอดสืบมาจนถึง ในครั้งนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าจะตรวจสอบคำสวดต่างๆ ก็ย้อนกลับไปหาได้ในพระไตรปิฎก นอกจากจะมีพระอาจารย์รุ่นหลังซึ่งอาจจะคิดประดิษฐ์คำภาษาบาลี คือ รจนา เรียบเรียงตามความสามารถของท่าน นั่นก็คงจะสอบได้เช่นกันว่า เป็นของ พระอาจารย์สมัยไหน หรือว่ามาจากพระไตรปิฎก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620