แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613


    ครั้งที่ ๑๖๑๓


    สาระสำคัญ

    ตรวจสอบคำสวดต่างๆ (หาได้ในพระไตรปิฎก)

    รักษาภาษาบาลีไว้ (ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจความหมาย)

    วิปัสสนาเป็นกุศลอย่างไร - กุศลที่จะทำให้สามารถรู้สภาพธรรม

    ไม่ติดในชื่อ - สามารถศึกษาพระธรรมพิจารณามาก ก็เข้าใจมาก


    สนทนาธรรมที่พุทธสมาคม จังหวัดแพร่

    วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๐


    . ผมเป็นชาวพุทธที่ยังไม่เข้าใจปัญหาหลายๆ ข้อ คือ ประเพณีการบวชในประเทศไทย ผมคนหนึ่งที่บวชในพระพุทธศาสนามา ๑ พรรษา ก็ยังไม่เข้าใจ คำภาษาบาลี สวดทำวัตรก็ยังไม่เข้าใจ ความหมายของหนังสือในพระพุทธศาสนา เราไม่เข้าใจลึกซึ้ง ต่อไปศาสนาของเราจะเสื่อมลงก็ได้ คือ การสวดแต่ละครั้ง บางบทมีความหมายอย่างลึกซึ้ง แต่ไม่มีการแปลให้รู้ถึงความหมาย อย่างของสถานีอะไร ผมจำไม่ได้ เขาสวดและแปลให้รู้ความหมายด้วย การฟังเทศน์อีกอย่างหนึ่ง ควรจะเทศน์ให้คนที่ฟังรู้ความหมาย แต่ตามประเพณีเก่าๆ เทศน์ยาว ทำให้คนฟังเกิดความรำคาญ ในงานศพ หรืองานประเพณีอะไรต่างๆ พวกเด็กๆ ที่อยู่ข้างนอกเขา ไม่สนใจเลย เพราะเขาไม่รู้ความหมาย ต่อไปการบวชหรือการฟังเทศน์ ผมอยากให้สวดแบบไทยจะได้ไหม

    สุ. ถ้ารักษาภาษาบาลีไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะถ้าไม่มีภาษาบาลีเลย ภายหลังก็ไม่สามารถเข้าใจว่า ที่กล่าวธรรมกันนั้นตรงตามข้อความใน ภาษาบาลีมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีการสวดหรือยังรักษาภาษาบาลีไว้ ก็เป็นการดี แต่ควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่เพียงแต่สวดโดยที่ไม่เข้าใจความหมาย

    ควรจะชักชวนกันให้เห็นประโยชน์ของพระธรรมว่า ทำให้เกิดปัญญาและเป็น สิ่งที่ควรจะได้ศึกษา เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรมและจะกล่าวว่า เข้าใจพระพุทธศาสนา ก็เป็นไปไม่ได้เลย

    . หนังสือที่พิมพ์ในภาคเหนือส่วนมากไม่มีการแปลเลย อย่างพระที่อยู่ ในวัดก็เหมือนกัน ท่านห่มผ้าเหลือง แต่ไม่รู้ความหมายเลยว่า สวดบทนั้นแปลว่า อย่างไร ผมก็บวชมาพรรษาหนึ่ง การสวดก็สวดไปตามประเพณี แต่ไม่รู้ความหมายว่าสวดอะไร เจ้าอาวาสของแต่ละวัดๆ ก็เหมือนกัน ผมได้อ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์ว่า พระสวดออกเสียงตามสาย ไม่รู้พระสวดอะไร โดนกล่าวหาว่ารบกวนชาวบ้าน สวดนี่เป็นกิจของพระตอนเช้ากับตอนเย็น แต่ชาวบ้านเขาฟังไม่รู้ความหมาย ก็มี การประท้วงกัน

    สุ. ก็ขออนุโมทนาในกุศลกรรมของพุทธสมาคม จังหวัดแพร่ ในโอกาส นี้ด้วย ที่ทำให้มีการฟังธรรมในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ คือ เป็นการสนทนาธรรม หรือตอบปัญหาธรรม มีการเข้าใจธรรมขึ้นในภาษาไทย ซึ่งก็คงจะเป็นไปได้ ถ้ามีการฟังและการสนทนากันบ่อยๆ แทนที่จะเพียงสวดและยอมรับกัน ทั่วๆ ไปว่า สวดแล้วก็ไม่เข้าใจ หรือบวชเรียนแล้วก็สวด แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง นี่แสดงให้เห็นถึงความจริงซึ่งทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราขาดเรื่องการศึกษาพระธรรม แต่ถ้าเราเริ่มสนใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้ จะทำให้มีโอกาสเข้าใจพระธรรมได้มากก่อนที่ เราจะตาย ซึ่งเมื่อตายแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษา พระธรรมไหม

    . วิปัสสนาได้บุญกุศลอย่างไร ความหมายของวิปัสสนาเป็นอย่างไร

    สุ. ก่อนที่จะถึงเรื่องของวิปัสสนา ควรตั้งต้นที่กุศล เพราะถามเรื่องกุศลว่า วิปัสสนาเป็นกุศลอย่างไร เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจความหมายของกุศล

    กุศล คือ สภาพจิตที่ดี ดีอย่างไร คือ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ถ้าพูดอย่างนี้ และยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด บางท่านก็บอกว่า ท่านไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ตามความจริง ขอเรียนให้ทราบว่า ทุกคนมีโลภะ โทสะ โมหะทุกวัน ตั้งแต่ตื่น ไม่รู้ตัวเลยว่าตื่นมาด้วยโลภะ ทันทีที่ตื่น ทำทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ การเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย การที่จะลุกขึ้น รักษา บริหารร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความต้องการ ถ้าไม่ต้องการก็คงจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตเป็นอกุศล คือ เป็นโลภะอยู่เสมอ เหมือนมือที่ท่านมองดูอาจจะรู้สึกว่า ไม่เปรอะเปื้อนอะไร แต่ถ้าล้างมือฟอกสบู่จะเห็นได้ว่า มือที่มองดูสะอาด ความจริงสกปรก เพราะว่าฝุ่นละอองค่อยๆ จับอยู่เรื่อยๆ อย่างแผ่วเบาทีละเล็กทีละน้อย ฉันใด วันหนึ่งๆ จิตใจก็เต็มไปด้วยโลภะ ความต้องการ แต่ไม่รู้สึกตัวเลย นอกจากความต้องการนั้นจะมีกำลังปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย เป็นความเดือดร้อน ที่จะต้องได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา ขณะนั้นจึงกล่าวกันว่า มีโลภะ หรือเป็นโลภะ แต่ความจริงทุกชีวิต มีอกุศลเป็นประจำ คือ ไม่โลภะ ก็โทสะ หรือโมหะ

    วันนี้มีใครสบายใจตลอดเวลาบ้าง ตั้งแต่ตื่น

    ขณะที่สบายใจ ชอบ ตื่นมาแล้วก็ยิ้ม วันนี้อากาศดี สดชื่นแจ่มใส ขณะนั้น ชอบ ก็เป็นโลภะแล้ว แต่ถ้าเห็นฝุ่นแม้แต่เพียงเล็กน้อยตามเก้าอี้ หรือตามเครื่อง แต่งบ้าน ขุ่นใจบ้างไหม นิดเดียว หรือเกิดมีสิ่งของในบ้านซึ่งผิดปกติธรรมดา แตกเสียหาย รสอาหารเค็มไปนิดหนึ่ง หวานไปหน่อยหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นอกุศล คือ โทสะ ไม่ชอบแล้ว

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ โลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นอกุศล แต่ขณะใดที่เป็นกุศล คือ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ยากหรือง่าย กับการที่จะไม่เป็นอกุศล

    สำหรับบางคน วันหนึ่งๆ อาจจะไม่มีกุศลเลย แต่สำหรับบางคน มีกุศล หลายอย่างตามอุปนิสัยที่ได้สะสมมา มีการช่วยเหลือบุคคลอื่น มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ขณะนั้นยังไม่ต้องสละวัตถุหรือให้ทานทำบุญอะไรเลย แต่จิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมตตากรุณาในบุคคลอื่น ช่วยเหลือคนอื่น แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นกุศล บางคนก็มี วาจางาม คิดถึงอกเขาอกเรา เสียงอย่างนั้นไม่เหมาะ คำอย่างนี้จะทำให้คนอื่นเสียใจก็วิรัติ ไม่กล่าวคำอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นกุศล

    เรื่องของกุศลอย่าคิดว่าเป็นแต่เรื่องของทาน การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเท่านั้น เพราะว่าในการกระทำทานครั้งหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นกุศลตลอด

    ขอให้คิดดู ถ้าจะทำบุญ จะเลี้ยงพระ ก็ต้องเตรียมไปตลาด ไปซื้อสิ่งต่างๆ ระหว่างนั้นเห็นสิ่งที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง ก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง หรือในขณะที่กำลังถวายวัตถุปัจจัย มีเสียงดังกระทบหู จะเป็นเสียงของอะไรก็ได้ สักอย่างหนึ่ง ชั่วขณะที่เสียงดังกระทบหู ขณะนั้นคงไม่รู้สึกตัวว่าไม่ชอบเสียงนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะสั้นๆ นั้น ก็มีอกุศลเกิดแทรกได้

    และวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญสติปัญญา ศึกษา พิจารณาจิตใจ ของตัวเอง จะไม่รู้เลยว่าใจของตัวเองสะอาดหรือสกปรกแค่ไหน มีกุศลมากหรือ มีอกุศลมาก เวลาที่ถามกันถึงเรื่องกุศล อย่าคิดแต่เรื่องสิ่งที่ปรากฏภายนอกให้เห็น เช่น การทำบุญให้ทานต่างๆ แต่ต้องคิดถึงจิตของตนเองด้วยว่า ในขณะนั้นเป็น กุศลมาก หรือเป็นกุศลน้อย เช่น บางคนให้ และเสียดาย อาจจะเสียดายมาก หรือเสียดายนาน ขณะนั้นอกุศลก็มากกว่ากุศลที่ให้ เพราะชั่วขณะที่ให้ ก็ให้ไป แต่หลังจากนั้นแล้วเกิดเสียดาย ซึ่งอาจจะคิดเสียดายหลายวันก็ได้ แสดงว่า ขณะนั้นหลังจากที่กุศลจิตดับไป สำเร็จไปแล้ว อกุศลจิตก็เกิดต่อ

    ที่ถามว่า วิปัสสนาเป็นกุศลอย่างไร วิปัสสนาก็เป็นกุศลอีกขั้นหนึ่งที่สูงกว่า ขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นสมถภาวนาซึ่งเป็นความสงบของจิต เพราะว่าบุคคลใดก็ตามให้ทานอย่างมากมาย ก็ยังไม่สามารถมีความสุขจริงๆ ได้โดยการไม่โกรธ เนื่องจากบางคนให้ทานมาก แต่ก็ยังโกรธ ยังหงุดหงิด ยังขุ่นเคืองใจอยู่เสมอ และขณะที่โกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เป็นทุกข์หรือเป็นสุข

    เพราะฉะนั้น ทานกุศล ไม่ได้ช่วยให้หมดความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจได้ บางคนได้ฟังพระธรรมก็เห็นจริงว่า เกิดมาไม่นานก็ต้องจากโลกนี้ไป และยังโกรธ คนนั้น โกรธคนนี้ มีประโยชน์อะไร พบกันก็ควรที่จะเกื้อกูลกัน ดีกว่าพบกันแล้ว โกรธกัน และก็ตายไปด้วยความโกรธ ขณะที่ระลึกได้อย่างนี้ ชั่วครั้งชั่วคราว ก็อาจจะไม่โกรธ แต่ก็ยังมีความเป็นตัวตน มีความเป็นเรา มีความเป็นเขา ซึ่งก็ยังไม่สามารถดับอกุศลทั้งหลายลงไปได้ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อทรงตรัสรู้ธรรมที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท คือ ไม่เกิดอีกเลย

    กิเลสทั้งหลายที่ทุกคนมี เช่น ความตระหนี่ ความหวงแหน ความโลภ ความติดข้อง ความพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความริษยา ความอาฆาตพยาบาทต่างๆ หรือแม้แต่ความหงุดหงิดรำคาญใจเมื่อนึกถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วหรือกุศลที่ยังไม่ได้ทำ ต่างๆ เหล่านี้ จะดับหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลย แต่ต้องด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น วิปัสสนาเป็นกุศลที่จะทำให้สามารถรู้สภาพธรรมตามความ เป็นจริง จนดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท และเมื่อท่านผู้หนึ่งผู้ใดบรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยบุคคล ดับกิเลสแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและบุคคลอื่น ที่กล่าวว่าจะเป็นกุศลอย่างไร ก็เป็นกุศลที่ทำให้ตนเองไม่เดือดร้อน และไม่ทำความเดือดร้อนให้บุคคลอื่นด้วย

    . พระพุทธศาสนาทำไมมี ๒ นิกาย มีมหานิกายกับธรรมยุติ เมื่อก่อนนี้เคยมีหรือไม่ และอยากจะทราบว่า ชาติหน้ามีจริงไหม

    สุ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในเวลาไม่นานเลย ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทก็มีความเห็นแตกแยกกันตลอดเรื่อยมา เป็นมหายานกับเถรวาท และมีลัทธิต่างๆ ของสำนักต่างๆ มากมาย แม้แต่แต่ละประเทศซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาก็มีความเห็นในข้อธรรมและในการปฏิบัติธรรมต่างๆ กันด้วย

    เพราะฉะนั้น สำหรับเมืองไทยซึ่งมีมหานิกายกับธรรมยุติ ก็เป็นเรื่องของวัตร ข้อปฏิบัติ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องชื่อไม่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นธรรมยุติ หรือมหานิกาย หรือเถรวาท หรือมหายาน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ติดในชื่อก็จะรู้ว่า การที่แต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคลมีความคิดความเห็นต่างๆ กันนั้น เป็นของธรรมดา ไม่ใช่เป็นของใหม่ ที่จะให้คนเรามีจิตใจเหมือนกัน มีความคิดความเข้าใจอย่างเดียวกัน เป็นสิ่งที่เป็น ไปไม่ได้เลย แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างๆ กันไป ถ้าพระองค์สามารถกระทำให้ทุกคนมีความเห็นถูกทั้งหมด พระองค์ย่อมทรงกระทำ แต่เนื่องจากธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเห็นที่ต่างกัน มีข้อปฏิบัติที่ต่างกัน

    แต่ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะศึกษาและพิจารณาธรรม เพื่ออบรมเจริญปัญญาของตนเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำ ใช้ชื่อ ไม่ว่าจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกาย ก็สามารถจะศึกษาพระธรรมได้ ถ้าศึกษามาก พิจารณามาก ก็เข้าใจมาก

    เรื่องบุคคลทั้งหลาย มีอัธยาศัยต่างๆ กัน เกินความสามารถของคนอื่นที่จะปรับให้เหมือนกันได้จริงๆ

    . เดี๋ยวนี้ชาวบ้าน ผมฟังๆ ดู คือ ไปทำโยเร ลัทธินี้เป็นแขนงหนึ่งของพระพุทธศาสนาหรือเปล่า

    สุ. ก็กล่าวว่าอย่างนั้น

    . เราควรจะต่อต้านอย่างไรดี

    สุ. ต่อต้านใคร ต่อต้านโยเร โยเรอย่างเดียว หรือว่าอย่างอื่นอีกมากมาย ทำไมโยเรอย่างเดียว ก็มีอีกมาก ไม่ใช่แต่เฉพาะโยเร และการที่จะต่อต้านได้ มีหนทางเดียว คือ อบรมเจริญความเห็นถูกของแต่ละท่าน ถ้าแต่ละท่านยังไม่ได้อบรมเจริญความเห็นถูก ก็ต้องมีความเห็นผิด แล้วแต่ว่าจะเกิดมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

    . ผมเคยเจริญวิปัสสนามานาน โดยใช้อารมณ์ของรูปนาม เพราะมี คำกล่าวว่า คนที่รู้จักรูปนามมีอายุเพียงวันเดียวดีกว่าผู้ที่ไม่รู้จักรูปนามอายุ ๑๐๐ ปี ผมก็หัดเจริญภาวนาทุกวันๆ มานานแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่ารูปนามคืออะไร และรูปนามนั้น มีประโยชน์อะไรบ้างในชีวิต

    สุ. แล้วเจริญทำไมตั้งนาน

    . ก็นั่งๆ ภาวนา นั่งเจริญภาวนายุบหนอ พองหนอๆ ไม่เห็นอะไรเลย

    สุ. ก็ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น อย่าทำอะไรจนกว่าจะเข้าใจ ถ้าเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นจะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นได้ แต่ถ้าปัญญาขั้นต้น คือ ความเข้าใจ ไม่มี ถึงแม้ว่าจะทำนานสักเท่าไรจนตลอดชีวิต ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าทำอะไรโดยไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจก่อน ถ้าไม่เข้าใจรูป ไม่เข้าใจนาม ไม่ชื่อว่าเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า เจริญวิปัสสนาแล้ว ไม่รู้จักนามธรรมรูปธรรม นั่นก็ไม่ใช่วิปัสสนาแน่ที่เจริญ

    . จะต้องเจริญอยู่นานสักเท่าไร

    สุ. ไม่ใช่เจริญอยู่นานสักเท่าไร แต่ต้องเข้าใจ แม้แต่คำว่า รูป หรือคำว่า นาม ต้องเข้าใจ ขณะนี้รูปนามอยู่ที่ไหน ถ้าไม่เข้าใจก็เจริญปัญญาไม่ได้ จะต้องรู้จักรูปธรรมนามธรรมเพิ่มขึ้น เพราะถ้ากล่าวว่าเป็นรูปธรรมหมายความว่าไม่ใช่เรา ถ้ากล่าวว่านามธรรมก็หมายความว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรมจึงไม่ใช่เรา เพราะเป็นรูปธรรมจึงไม่ใช่เรา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564