แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
ครั้งที่ ๑๖๑๖
สาระสำคัญ
“โมฆบุรุษ” - ผู้ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม
มงคลสูตร -อโทสเจตสิก (ความอดทน)
ความเป็นผู้ว่าง่าย (ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เชื่อง่าย)
มังคลทีปนี - ลักษณะของขันติ คือ ความอดทน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐
ในพระไตรปิฎกมีคำว่า โมฆบุรุษ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุที่ไม่ได้ น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมว่า โมฆบุรุษ เพราะฉะนั้น โมฆบุรุษในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ๒,๕๐๐ กว่าปี ถ้าบุคคลนั้นยังเป็น โมฆบุรุษต่อไปอีก คือ ไม่ปฏิบัติธรรม เพียงแต่ฟังธรรม ๒,๕๐๐ กว่าปีความเป็น โมฆบุรุษนั้น ก็ยังคงเป็นโมฆบุรุษต่อไปอีก
และขณะนี้ ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม แต่ยังมีความโกรธมาก ยังมีความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจมาก และไม่คิดที่จะละคลายความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจนั้น ผู้นั้นก็เป็นโมฆบุรุษด้วย ตั้งแต่ในชาตินี้ และในชาติต่อๆ ไปก็จะเพิ่มความเป็น โมฆบุรุษต่อๆ ไปอีก จนกระทั่งถึงในชาติที่มีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจาก พระผู้มีพระภาค ก็จะยังคงเป็นโมฆบุรุษต่อไป
ช่วยได้ไหม
ก็อยู่ที่แต่ละคนที่จะตัดสินพิจารณา อโยนิโสมนสิการ หรือโยนิโสมนสิการว่า จะเป็นโมฆบุรุษ หรือจะเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม
สำหรับในเรื่องของโทสะและอโทสะ ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านอยาก จะเจริญธรรมฝ่ายไหน ไม่ใช่เพียงแต่ฟังชื่อโทสะและอโทสะ แต่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ท่านอยากจะเจริญธรรมฝ่ายไหน ฝ่ายโทสะ หรือฝ่ายอโทสะ ถ้าฝ่ายโทสะก็ยังผูกโกรธ ยังไม่ให้อภัย หรือยังพยาบาท เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาแม้ในขณะที่ได้ ฟังพระธรรมว่า ธรรมฝ่ายไหนชนะ โทสะ หรืออโทสะ เพื่อความเป็นโมฆบุรุษหรือ เพื่อความเป็นบัณฑิต
แม้ว่าจะได้ฟังอย่างนี้ จิตใจของแต่ละท่านก็ต้องต่างกันอีก ซึ่งเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ทุกท่านก็เห็นประโยชน์ที่จะพิจารณาตนเองว่า การฟังพระธรรมนั้น เพื่อให้เห็นโทษของอกุศล และเพื่อให้เห็นประโยชน์ของกุศลต่อไปอีกเรื่อยๆ ต่อไปอีกๆ จนกว่าจะเป็นผู้ว่าง่าย และได้รับประโยชน์โดยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ซึ่งไม่มีผู้อื่นสามารถจะเกื้อกูลได้เลย นอกจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการฟังพระธรรม ก็ไม่มีทางที่จะเกื้อกูลได้เลย
แม้ว่าในขณะนี้พระธรรมยังไม่สามารถเกื้อกูลได้ แต่ถ้าฟังพระธรรมต่อไป และพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลธรรมละเอียดขึ้น จิตใจจะอ่อนโยนลง และโยนิโสมนสิการก็ควรที่จะเกิดได้
สำหรับในวันนี้ เป็นเรื่องของอโทสเจตสิกต่อจากคราวก่อน ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความใน มงคลสูตร มงคลคาถาที่ ๘ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๔ ข้อ คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่างมีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด
คงจะไม่มีใครไม่เห็นด้วย และมงคลทั้ง ๔ นี้ก็เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑
มีความอดทนเพิ่มขึ้นไหม และอดทนในเรื่องใดบ้าง และยังไม่สามารถอดทน ในเรื่องใดบ้าง ซึ่งแต่ละท่านก็อาจจะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่า เรื่องอากาศ ท่านอดทนได้เพิ่มขึ้น เรื่องความยากลำบากต่างๆ ความหิวกระหาย ท่านก็อดทน ได้มากขึ้น หรือในเรื่องความไม่สะดวก ในเรื่องความไม่เรียบร้อย ในเรื่องอุปสรรค ต่างๆ ท่านอาจจะอดทนได้มากขึ้น แต่ยังมีอะไรอีกที่ท่านไม่สามารถที่จะอดทนได้ นั่นก็ต้องเป็นแต่ละบุคคลที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
ถ. คาถาที่ ๘ ในมงคลสูตรนี้ มีคำว่า เป็นผู้ว่าง่าย การเป็นผู้ว่าง่ายในที่นี้กับการที่พระผู้มีพระภาคสอนไว้ในเกสปุตตสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าปลงใจเชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์แล้ว อาจารย์ช่วยอธิบายว่า อันหนึ่งก็สอนให้ว่าง่าย อันหนึ่งก็ สอนว่าอย่าเพิ่งเชื่อ
สุ. ความเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นผู้เชื่อง่าย ไม่เหมือนกัน ความเป็นผู้ว่าง่าย หมายความว่าแม้ว่าพระธรรมได้ทรงแสดงให้ละกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศล เช่น โทสะ แต่ผู้นั้นก็ยังคงพอใจที่จะโกรธต่อไป ที่จะผูกโกรธต่อไป ที่จะ ไม่อภัยต่อไป ที่จะไม่เป็นผู้ที่ละอกุศล นั่นคือผู้ว่ายาก เพราะฉะนั้น ผู้ว่าง่ายไม่ใช่ ผู้เชื่อง่าย
ในเรื่องของความเชื่อ ในเรื่องของความเห็น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาความถูกต้อง ความผิดและความถูกว่า สิ่งใดผิดก็ผิด สิ่งใดถูกก็ถูก อย่างอกุศล ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม นี่ถูกขั้นหนึ่ง แต่ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่ดีไม่งาม แต่ยังอยากจะมีหรือยังคง มีต่อไป นี่ผิด นี่คือผู้ว่ายาก
ถ. สิ่งที่เป็นกุศลมีผู้บอกว่า อย่างสิ่งนี้เป็นกุศลแล้ว แต่บางอย่างก็เฉียดๆ กันอยู่ ถ้าเราเป็นผู้ว่าง่ายก็เชื่อเขาไปก่อน
สุ. อย่างโทสะ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ. ถ้าชัดๆ อย่างนี้ ไม่มีปัญหา
สุ. ชัดๆ อย่างนี้ และละอกุศลได้ไหม
ถ. บางอย่างก่ำกึ่ง
สุ. แม้สิ่งที่เห็นชัดๆ ว่า เป็นสิ่งที่ควรละ บางท่านยังไม่ยอมละ นี่คือ ผู้ที่ว่ายาก
ถ. ถ้างั้นอย่าไปคิดมากเลย
สุ. เรื่องของตัวเอง เรื่องของแต่ละท่าน แล้วแต่โยนิโสมนสิการจริงๆ
ถ. ผมเองเป็นผู้ว่ายาก เพราะทั้งๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยบ้าง เวลาประสบอารมณ์ที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี จะหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นทุกครั้งไป ที่จะระงับยับยั้งหรือมีสติระลึกรู้ทันในขณะที่พอใจ ในขณะที่ไม่พอใจ น้อยที่สุด เพราะฉะนั้น โมฆบุรุษคงจะหนีไม่พ้นแน่ๆ จะมีวิธีอย่างไรที่จะพ้นคำว่า โมฆบุรุษ คำว่า โมฆบุรุษ กับการให้พ้นจากโมฆบุรุษ ห่างกันแค่ไหน
สุ. โมฆบุรุษ หมายความถึงผู้ที่ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตาม ส่วนผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามแต่ยังประพฤติปฏิบัติตามไม่ได้ทั้งหมด เช่น รู้ว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ ไม่ดี ก็ยอมที่จะเป็นผู้ว่าง่ายโดยพยายามที่จะละ มีความตั้งใจพยายามที่จะละ นั่นไม่ใช่โมฆบุรุษ แต่ถ้าไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความพยายามที่จะละ ยังคงพอใจที่จะให้เป็นอกุศลอย่างนั้น นั่นคือโมฆบุรุษ
ถ. อย่างนั้นก็คงพอจะพ้นได้บ้าง
สุ. ถ้าเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่โมฆบุรุษ
ถ. ผู้ที่ว่ายาก คือ ผู้ที่สอนยาก
สุ. สอนยากหรือว่ายาก ก็เหมือนกัน
ถ. โมฆบุรุษ ผมว่ายังดีกว่าพวกมิจฉาทิฏฐิ เพราะได้ฟังพระธรรมแล้ว แต่ยังไม่น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมิจฉาทิฏฐิฟังแล้วไม่เห็นด้วยเลย คือ คัดค้านกับพระธรรมเลย
สุ. แต่ก็น่าเสียดายการศึกษาหรือการฟังที่มาก แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจะเป็นเหตุให้การฟังพระธรรมในลักษณะนั้นเป็นแบบการจับงูพิษที่หาง เพราะฉะนั้น จะถูกงูนั้นกัดได้ เพราะถ้าไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม จะเกิดความสำคัญตนได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ซึ่งถ้ายิ่งเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม ก็ยิ่งต้อง เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคู่กัน
ผู้ใดก็ตามเป็นผู้ฟังมาก มีความรู้ความเข้าใจธรรม แต่ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม ธรรมที่ได้ฟังจึงไม่ได้เป็นประโยชน์ นอกจากจะทำให้เกิดอกุศลประเภทอื่น เช่น ความสำคัญตน
เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมแต่ละเรื่องละเอียดจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของความอดทน ซึ่งเป็นลักษณะของอโทสเจตสิก ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้เห็นประโยชน์จริงๆ
มังคลัตถทีปนี มีข้อความที่อธิบายลักษณะของขันติ คือ ความอดทน ว่า
ข้อ ๔๑๒
... แม้ในอรรถกถาสังคีติสูตร ท่านก็กล่าวไว้ว่า ความอดทน คือ ความอดกลั้น
แสดงว่าจะไม่มีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมทางกาย ทางวาจา ซึ่งนั่นเป็นลักษณะหนึ่งของความอดทน
ข้อความต่อไป
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า ในมาติกาที่ยกขึ้นตั้งไว้ว่าขันตินั้น ขันติ เป็นไฉน
แม้แต่เพียงคำว่า ความอดทน ก็จะต้องอธิบาย เพราะเพียงแต่คิดว่า นี่อดทนแล้ว ความจริงอาจจะไม่ใช่ความอดทนก็ได้ เพราะฉะนั้น ขันติเป็นไฉน
คือ สภาพที่อดทน สภาพที่อดกลั้น และต้องเป็นสภาพที่ไม่ดุร้าย สภาพที่ ไม่ปลูกน้ำตา สภาพที่จิตเบิกบานอันใด นี้เรากล่าวว่า ขันติ
เพราะว่าขันติต้องเป็นโสภณเจตสิก เป็นอโทสเจตสิก ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสภาพที่จิตเบิกบาน ไม่ใช่เพียง อดกลั้นไว้แต่ขุ่นข้อง แต่ขณะนั้นต้องเป็นสภาพจิตที่เบิกบานเป็นกุศลด้วย
ฎีกาสังคีติสูตร อธิบายว่า
ความอดกลั้น ชื่อว่าความอดทน คือ สภาพที่ยกกรรมชั่วและคำพูดชั่วของ ชนเหล่าอื่นไว้เหนือตน โดยไม่ทำการโกรธตอบ
สามารถที่จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม
ความไม่โกรธ ชื่อว่าความเป็นผู้ไม่ดุร้าย การไม่ให้น้ำตาเกิดในนัยน์ตาทั้งสองของชนเหล่าอื่นด้วยอำนาจเกรี้ยวกราด ชื่อว่าการไม่ปลูกน้ำตา ภาวะใจที่ไม่พยาบาท ชื่อว่าความเป็นผู้มีใจเบิกบาน
ตัวอย่างของพระเถระที่ท่านเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่า ได้พิจารณาเห็นคุณของขันติและไม่หวั่นไหว คือ ท่านพระทีฆภาณกอภัยเถระ ผู้อดทนต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่วได้ นี่เป็นตัวอย่างซึ่งท่านก็จะต้องเป็นผู้ที่กระทำได้ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่เห็นประโยชน์และค่อยๆ เป็นผู้ว่าง่าย และอบรมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเหมือนกับท่านพระทีฆภาณกอภัยเถระได้
เรื่องมีว่า
ดังได้สดับมา ท่านพระเถระแสดงปฏิปทาแห่งมหาอริยวงศ์ เพราะความเป็นปฏิปทาของภิกษุผู้มีความสันโดษในปัจจัย และมีภาวนาเป็นที่มายินดี
วงศ์ของพระอริยะ คือ ข้อปฏิบัติของท่านที่มีความสันโดษในปัจจัย และมีการอบรมเจริญภาวนาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะสันโดษในปัจจัยได้จะต้องอดทนต่อโลภะ อดทนต่อโทสะ และต้องอบรมเจริญปัญญาด้วย มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถทำให้อดทนต่อโลภะและโทสะได้
ชาวบ้านหมู่ใหญ่ทั้งหมดก็พากันมาหาท่าน และสักการะมากมายก็ได้เกิดแก่ท่านพระเถระแล้ว แต่ว่าท่านพระมหาเถระรูปหนึ่งไม่สามารถจะทนได้
เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านกล่าวและเห็นว่าท่านได้รับสักการะมากมาย
พระมหาเถระรูปนั้นจึงด่าท่านด้วยคำเป็นต้นว่า พระทีฆภาณกะย่อมทำความโกลาหลตลอดคืนยังรุ่ง ด้วยอ้างว่าเรากล่าวอริยวงศ์
เมื่อเห็นคนอื่นทำความดีแทนที่จะเกิดกุศลจิตอนุโมทนา กลับไม่อนุโมทนา และไม่เห็นอกุศลของตนเอง
ก็ท่านพระเถระทั้งสอง เมื่อไปสู่วิหารของตน ได้ไปโดยทางเดียวกันตลอดระยะทางมีประมาณ ๑ คาวุต พระมหาเถระนั้นก็ด่าท่านเรื่อยไปแม้ตลอดคาวุตทั้งสิ้น
ลำดับนั้น พระทีฆภาณกเถระยืนอยู่ตรงทางแยกจะไปสู่วิหารของพระเถระ ทั้งสอง ท่านพระทีฆภาณกเถระไหว้ท่านพระมหาเถระแล้วเรียนท่านว่า
ท่านขอรับ นั่นทางของท่าน
พระมหาเถระนั้นทำเป็นไม่ได้ยิน เดินไปเสีย
เป็นธรรมดาไหม สำหรับคนที่มีความโกรธ เพราะฉะนั้น ท่านที่เคยโกรธใคร ขอให้พิจารณาดูว่า ไม่เห็นความดีของคนที่ท่านโกรธ หรือยังเห็นในความดีของคนที่ท่านโกรธบ้าง
นี่คือความที่จะต้องเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นแล้วจะขาดมงคลข้อที่ว่า ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่เมื่อเป็นผู้ที่ขาดความอดทน ก็เป็นผู้ว่ายาก ทำให้ไม่มีการเห็นสมณะและไม่มีการสนทนาธรรม
ท่านพระทีฆภาณกอภัยเถระได้ไปถึงวิหารแล้ว พวกอันเตวาสิกของท่านก็ได้ถามท่านว่า
ท่านขอรับ ท่านไม่ได้กล่าวคำอะไรกับท่านพระมหาเถระผู้บริภาษอยู่ตลอดคาวุตทั้งสิ้นหรอกหรือ
ท่านพระทีฆภาณกอภัยเถระกล่าวว่า
ความอดทนนั่นแลเป็นภาระของเรา ความไม่อดทนหาใช่ไม่ เราไม่เห็น การพรากจากกัมมัฏฐานแม้ในชั่วขณะยกเท้าข้างหนึ่งเลย
จบเรื่องท่านพระทีฆภาณกอภัยเถระ
แสดงให้เห็นว่า การที่แต่ละท่านจะคิดถึงเรื่องมรรคมีองค์ ๘ การเจริญ สติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญา ที่จะเป็นไปได้โดยมุมกลับก็ต้องแสดงว่า ถ้าปัญญาเจริญขึ้น ถ้าสติปัฏฐานเจริญขึ้น ความเป็นผู้อดทนต้องเพิ่มขึ้น
ผู้ที่อดทน คือ ผู้ที่ประกอบด้วยความอดทนต่อการกระทำทางกายและวาจาของคนอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาการผิดแปลก เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็น ประหนึ่งว่าไม่ได้เห็นการกระทำและวาจานั้นๆ
จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด สบายมาก สะดวกมาก เพราะในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นอารมณ์และหมดไป
ถ้าท่านจะโกรธบุคคลใดบุคคลหนึ่งเวลาที่ได้ยินคำพูดของท่านผู้นั้น ถ้า สติปัฏฐานเกิดในขณะนั้นจะรู้ได้ว่า เสียงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น และดับไป ถ้าใจของท่านคิดถึงบุคคลที่กล่าวคำที่ท่านไม่พอใจ ขณะนั้นแท้จริงแล้วบุคคลนั้นก็ไม่มี แม้ตัวท่านก็ไม่มี เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ทั้งจิต เจตสิก รูปของท่านเอง ทั้งจิต เจตสิก รูปของผู้ที่ท่านยึดมั่นว่าเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด จิตของผู้นั้นก็ดับไปแล้วพร้อมกับเจตสิก และรูปของท่านผู้นั้นก็ดับไปแล้ว ทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้น ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นสัตว์บุคคลที่ยั่งยืน ที่จะทำให้ท่านสมควรยึดมั่นในบุคคลนั้น และก็มีความโกรธหรือผูกโกรธทุกครั้งที่ระลึกถึง บุคคลนั้นขึ้น เพราะว่าทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่มีโลกอื่นเข้ามาปะปนเลย หลังจากเห็นก็คิด หลังจากได้ยินก็คิด หลังจากได้กลิ่นก็คิด หลังจากลิ้มรสก็คิด หลังจากที่กระทบสัมผัสก็คิด เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกของความคิดของตัวเอง
ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี เป็นแต่เพียงทางหรือทวารที่จะนำเรื่องต่างๆ มาสู่ใจ และสภาพธรรมใดรับอารมณ์นั้น ตาเห็นนำเรื่องมาสู่ใจ แล้วแต่ว่า จิตที่คิดจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตของตนเอง อารมณ์ที่ปรากฏดับไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัตว์บุคคลที่เที่ยงจริงๆ ไม่มีเลย
ทุกคนมักจะคิดถึงความตายในลักษณะที่พูดกันว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ได้ อาจจะเป็นเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นจริงๆ ทำไมยังโกรธคนอื่น ซึ่งเมื่อท่านตายแล้ว หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ท่านก็จะไม่ได้พบกับ บุคคลอื่นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าแต่ละบุคคลก็เป็นเพียงจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดขึ้นและ ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ท่านจะมีแต่กิเลสของท่านเองในความคิดของตัวเองเท่านั้น ที่จะทำให้ภพต่อไปท่านยังคงเป็นผู้ที่มีความผูกโกรธ มีการไม่ให้อภัย ตามที่สะสมไว้ เพราะว่ายังไม่เห็นโทษ
เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ ถึงพระธรรมที่ละเอียด และเป็นประโยชน์กับแต่ละท่าน ซึ่งควรจะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620