แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618


    ครั้งที่ ๑๖๑๘


    สาระสำคัญ

    คนว่าง่ายหรือคนว่ายาก

    จุดประสงค์ของการศึกษา - น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม (เพื่อขัดเกลากิเลส)

    ลักษณะของผู้ว่าง่าย - ธรรมกระทำที่พึ่ง

    ม.ม. อนุมานสูตร - ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากเป็นไฉน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๐


    . ขันติเมื่อเทียบกับกุศลสาธารณเจตสิก จะตรงกับอโทสเจตสิกไหม

    สุ. เป็นลักษณะของอโทสเจตสิก

    ถ. ขันติ องค์ธรรม คือ อโทสเจตสิก แต่โสวจัสสตา ...

    สุ. ความว่าง่าย หรือความว่ายาก เป็นสังขารขันธ์ ไม่จำเป็นต้องชี้เจาะจงลงไป เรื่องของสภาพธรรมไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าเป็นเจตสิกนั้น เป็นเจตสิกนี้ แต่สภาพธรรมทั้งหลายต้องอาศัยกันเกิดขึ้นเป็นไป แล้วแต่ว่าจะมีอะไรเป็นประธาน อาจจะมีเจตนาเป็นประธาน หรืออาจจะมีอโทสะเป็นประธาน แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่ขณะจิต

    . การที่เราจะมีอโทสเจตสิก คือ มีขันติก็ดี มีโสวจัสสตาก็ดี ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม หรือยังไม่เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นธรรม ยังคิดว่า เราไม่พอใจ เราพอใจ เราโกรธ เราเกลียด อะไรอย่างนี้ ยังเป็นเราอยู่ตลอด ความเป็นผู้มีขันติก็ดี เป็นผู้ว่าง่ายก็ดี รู้สึกว่าจะห่างไกลมาก

    สุ. เป็นเรื่องยาก ธรรมทั้งหลายต้องเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจริงๆ เพราะว่าบางท่านอาจจะศึกษาปรมัตถธรรมคืออภิธรรมมาก มีความเข้าใจเรื่องจิต มีความเข้าใจเรื่องเจตสิก มีความเข้าใจเรื่องรูป แต่ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมโดยตำรา โดยการพิจารณาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ขาดจุดประสงค์ที่จะ ขัดเกลากิเลส จึงยังเป็นผู้ที่ว่ายากก็ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องพร้อมกัน ที่จะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะปรุงแต่งทั้งในเรื่องของการรู้ประโยชน์ของการฟังพระธรรมด้วย และไม่ลืมที่จะเตือนตัวเองว่า ถ้ามีความรู้มากเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องปัจจัย เรื่องทุกอย่าง แต่ถ้าไม่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม แม้เพียงในเรื่องความอดทน ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม เป็นโมฆบุรุษ

    ผู้ฟัง เรื่องขันติ ความอดทน ในชีวิตประจำวัน อาจารย์ถามว่า พร้อมหรือยังที่จะทนต่อคำพูดของผู้ที่เสมอกัน ผู้ที่เหนือกว่า หรือผู้ที่ด้อยกว่าเรา เป็นความจริง จริงๆ ผู้ที่ด้อยกว่าอย่าว่าแต่มาว่าเลย เพียงแต่พูดจาเทียบเสมอ ก็โดนตวาดแล้ว

    ต้องถามตัวเองว่า เราพร้อมหรือยัง เราพร้อมหรือยัง ผมว่าดี ถ้าเราได้ตั้งหลักไว้ก่อน ดีกว่าไม่มีคำนี้อยู่เลย เราพร้อมหรือยัง เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีขันติ และเป็นผู้ว่าง่ายด้วย ผมรู้สึกซาบซึ้งคำสอนนี้จริงๆ

    สุ. ขอให้เริ่มด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย นี่คือจุดเริ่มต้น และต่อจากนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีอาการผิดแปลกต่อการกระทำทางกายและวาจาของคนอื่น เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่เห็นวาจาและการกระทำนั้นๆ

    . ขันติต้องมีเป็นกองทัพ ใช่ไหม แต่บางครั้งก็ทนได้ บางครั้งก็ทนไม่ได้

    สุ. และคิดว่า จะพยายามทนให้มากขึ้นไหม

    . ผู้ที่มีขันติบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอจะบรรลุได้บ้างไหม

    สุ. ผู้ที่มีขันติบ้างเล็กๆ น้อยๆ ย่อมรู้ว่า กาลไหนไม่มีขันติ กาลไหนมีขันติ กาลไหนอธรรมชนะ

    . ในขณะที่กุศลเกิด ขณะนั้นอโทสะ ความไม่โกรธก็มี

    สุ. ทุกคนคงจะทราบว่า ผู้ที่ไม่โกรธ คือ พระอนาคามีบุคคล เพราะว่าท่านดับอนุสัยกิเลสคือปฏิฆานุสัยได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นแม้ พระอริยบุคคล เรื่องโกรธก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่อย่า ผูกโกรธ เรื่องไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบการกระทำหรือคำพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียด เพราะว่านั่นเป็นความลึกของกิเลสซึ่งสะสมมามากที่แสดงออก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้ลักษณะอาการของอกุศลขั้นต่างๆ นั้นปรากฏ ก็ย่อมจะ ไม่รู้จักตัวเองว่า มีอกุศลมากมายหนาแน่นแค่ไหน

    ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ที่ว่ายาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมอภัย และยังพอใจที่จะโกรธอยู่ เป็นผู้ที่ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก

    สำหรับลักษณะของผู้ว่าง่าย ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร

    ลักษณะของผู้ว่าง่าย คือ การว่ากล่าวได้ง่ายในบุคคลผู้รับโดยเบื้องขวา

    หมายความว่า รับคำว่ากล่าวด้วยความเคารพ

    ผู้ยินดีในการคล้อยตาม (ตามพระธรรมที่ได้ฟัง) เป็นไปกับด้วยความเอื้อเฟื้อนั่นมีอยู่ เหตุนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าผู้ว่าง่าย

    ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง

    สำคัญไหม ถ้ายังเป็นผู้ว่ายากอยู่ จะไม่สามารถมีธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้เลย แต่เมื่อเริ่มเป็นผู้ที่ว่าง่าย ท่านกล่าวว่า ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    บทว่า สุวโจ ความว่า ผู้ที่ผู้อื่นพึงว่ากล่าว คือ พึงพร่ำสอนได้โดยง่าย

    ถ้าสอนใครแล้ว คนนั้นไม่ยอมที่จะปฏิบัติตาม คนสอนก็เหนื่อย และในยุคนี้สมัยนี้เมื่อพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยมาจนถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งก็นับได้ว่า เป็นกึ่งพุทธกาล เพราะฉะนั้น พระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ในเหตุผลก็จะรุ่งเรืองอยู่เพียง ชั่วระยะหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ถึงกาลที่จะค่อยๆ เสื่อมไป จนกระทั่งสูญไปในที่สุด

    สำหรับในยุคนี้ซึ่งเป็นกึ่งพุทธกาล สิ่งที่น่าจะท้อใจมีอยู่ประการหนึ่ง คือ มีผู้ที่สนใจฟังและศึกษาพระธรรมมากพอสมควร แต่ผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ที่ได้ฟังนั้น ควรจะมีจำนวนเท่ากับผู้ที่สนใจศึกษาด้วย แต่นี่ไม่ใช่กาลสมัย เพราะฉะนั้น แต่ละท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องประคับประคองตนเอง ให้เป็นผู้ที่ทั้งศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย มิฉะนั้นแล้วจะมีแต่บุคคลที่สนใจในการศึกษา แต่เป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หวังว่าทุกท่านที่จะเกื้อกูลสหายธรรมคงไม่เป็นผู้ที่ท้อใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ว่ายากหรือ ว่าง่าย พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ก็เป็นสิ่งเดียวที่บุคคลทั้งหลายจะพึ่งได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า ขโม คือ ผู้อดทน ความว่า ถูกเขากล่าวด้วยคำหนัก หยาบคาย กล้าแข็ง ก็ทนได้ คือ ไม่โกรธ

    อย่างเพียงฟัง น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย วันนี้ยังไม่ได้ แต่ก็เห็นประโยชน์และรู้ว่า ผู้อดทน คือ ถูกเขากล่าวด้วยคำหนัก หยาบคาย กล้าแข็ง ก็ทนได้ คือ ไม่โกรธ

    ไม่กระทำเหมือนบุคคลบางคนผู้อันเขาสั่งสอนอยู่ ย่อมรับโดยข้างซ้าย (คือ ด้วยความไม่เคารพ) คือ ย่อมโต้เถียงหรือไม่ฟัง เดินไปเสีย

    แต่ผู้ที่ว่าง่ายจะทำตรงกันข้าม คือ

    กล่าวว่า ท่านขอรับ ขอท่านจงว่ากล่าว จงพร่ำสอนเถิด เมื่อพวกท่าน ไม่ว่ากล่าว คนอื่นใครเล่าจะว่ากล่าว ดังนี้ ชื่อว่ารับข้างขวา (คือ รับด้วยความเคารพ)

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ข้อ ๒๒๑ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะพำนักอยู่ ณ เภสกฬาวัน อันเป็นสถานที่ให้อภัยแก่เนื้อ ตำบลสุงสุมารคิระ ภัคคชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ท่านผู้มีอายุ ถ้าแม้ภิกษุปวารณาไว้ว่า ขอท่านจงว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ควรที่ท่านจะว่ากล่าวได้ แต่ว่าภิกษุนั้นเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างไม่สำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรพร่ำสอน ทั้งไม่สำคัญความคุ้นเคยอันบุคคลควรถึงในบุคคลนั้น ท่านผู้มีอายุ ก็ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากเป็นไฉน

    การที่จะรู้สึกตัวว่าเป็นคนว่ายาก ต้องรู้ถึงเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก จึงจะแก้เหตุที่ทำให้เป็นว่ายากได้ เพราะแม้จะเป็นคนว่ายากก็ต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่เป็นคนว่ายากเลย และเมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ก็ไม่สามารถแก้เหตุ ที่ทำให้เป็นคนว่ายากได้

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ก็ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากเป็นไฉน ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้

    ๑. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก นี้ก็เป็นธรรม ที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ความปรารถนาชั่ว ความปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สักการะ บางคนแม้แต่เพียงคำชมก็ปรารถนา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เป็นผู้ที่ว่ายากได้

    ๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ถ้าเห็นว่าคนอื่นเลวมาก ชั่วมาก หรืออะไรอย่างนี้ ขอให้พิจารณาดูว่า เป็นความเห็นที่ตรงทั้งหมด ถูกทั้งหมด หรือว่าไม่ตรง ไม่ถูก แต่เป็นความคิดเห็นของตนเอง เพราะว่าบางคนพิจารณาคน ได้ยินชื่อบุคคลนั้นก็รู้สึกว่าจะเป็นคนที่มี อกุศลทั้งหมด หรือได้ยินชื่อบุคคลนี้ก็คิดว่า ต้องเป็นผู้ที่มีกุศลทั้งหมด แต่ความจริง ไม่ว่าใคร นอกจากพระอรหันต์ มีทั้งกุศลและอกุศล แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังมีอกุศล ด้วยเหตุนี้สังฆรัตนะจึงหมายความถึง โลกุตตรบุคคล คือ โลกุตตรกุศลจิต ๔ และโลกุตตรผลจิต ๔

    ถ้าเป็นพระโสดาบันก็ยังมีกิเลส และกิเลสของพระโสดาบันก็ไม่เปลี่ยน พระโสดาบันซึ่งโกรธ ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ตรงในการพิจารณาเหตุการณ์ ในการพิจารณาสภาพธรรม แต่ไม่ใช่พิจารณาบุคคล มิฉะนั้นจะทำให้เป็นผู้ที่ยกตนข่มผู้อื่น โดยการที่เห็นแต่อกุศลของ คนอื่น ลืมอกุศลของตนเอง และถ้าจะเป็นประโยชน์จริงๆ ขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น ควรคิดว่าเราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า ถ้าเราเป็นก็หมายความว่ามีสิ่งที่จะต้อง ละคลายให้เบาบางลง

    ๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธอันความโกรธครอบงำแล้ว นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคน ว่ายาก

    ๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    โกรธและยังไม่ลืม เพราะฉะนั้น เมื่อผูกโกรธอีกก็แสดงให้เห็นว่า ยังเป็นคน ว่ายาก ที่ยังไม่เห็นโทษของความโกรธ

    ๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    มีท่านผู้หนึ่งท่านเป็นผู้ที่อ่อนน้อมมาก ท่านเรียกบุคคลอื่นด้วยความเคารพ บางครั้งท่านก็ใช้คำว่า ท่าน แต่ผู้ที่ได้ฟังก็โกรธ ซึ่งไม่น่าจะโกรธเลย ตรงกับข้อ ๕. ที่ว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ เวลาที่คนอื่นเรียกว่า ท่าน ทำไมต้องโกรธด้วย ก็เพราะระแวงจัดคิดว่าเป็นการประชด หรือคิดว่าเป็นอะไรก็ตามแต่ด้วยอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น แม้คำพูดดี แต่ถ้าคนฟังฟังด้วยความระแวงและเข้าใจผิด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต เป็นผู้ว่ายาก เพราะถ้าเป็นผู้ว่าง่าย ก็พร้อมจะเห็นกุศลของคนอื่น เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้เรียก และอนุโมทนา ไม่ใช่เห็นว่า ไม่สมควรจะเรียกอย่างนั้นด้วยความระแวง

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตที่ต่างกัน ซึ่งควรจะได้พิจารณา

    ๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคน ว่ายาก

    ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของโทสะทั้งนั้นที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เพราะในขณะนั้น เป็นจิตที่หยาบกระด้าง

    ๗. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้องกลับโต้เถียงโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    โต้เถียงได้ไหม หรือว่าอดทน ชี้แจง แสดงเหตุผล นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

    ๘. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้องกลับรุกรานโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๙. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้องกลับปรักปรำโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    เวลาที่มีคดี จะเห็นได้ว่า กระทำความเป็นผู้ว่ายากอย่างนี้หรือเปล่า แทนที่จะอธิบาย ถ้ามีการเข้าใจผิดเกิดขึ้นก็พยายามให้เป็นการเข้าใจถูก แต่กลับโต้เถียง กลับรุกราน หรือกลับปรักปรำ นี่เป็นลักษณะของผู้ว่ายาก

    ๑๐. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมา กลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟัง ให้ปรากฏ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้องกลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องแสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๑. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบใน ความประพฤติ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้องไม่พอใจตอบในความประพฤติ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้คนว่ายาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564