แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
ครั้งที่ ๑๖๑๙
สาระสำคัญ
ธรรมที่ทำให้คนว่ายาก - เหตุ ๑๖ ประการ
ลักษณะของผู้ว่ายาก
เห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ
ความเป็นผู้ว่าง่าย (เรื่องของอโทสเจตสิกเป็นทั้งความอดทน)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๐
๑๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนลบหลู่ตีเสมอ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนลบหลู่ ตีเสมอ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
๑๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่ แม้ข้อที่ภิกษุ เป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
๑๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคน โอ้อวด เจ้ามายา นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
๑๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
๑๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
ท่านผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก
ถ้าเกิดว่ายากขึ้นมาจะไม่ใช่เพราะเหตุ ๑๖ ประการนี้ได้ไหม และนั่นจะเรียกว่าเข้าข้างตัวเองได้ไหม ทั้งๆ ที่ว่ายาก ก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด ใน ๑๖ เหตุนี้
เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ว่าง่าย ต้องเป็นผู้ที่ตรง และพิจารณาในเหตุในผล จริงๆ นี่คือผู้ที่แม้ว่าจะปวารณาให้คนอื่นว่ากล่าว แต่ตามความเป็นจริงกลับเป็นผู้ที่ ว่ายาก แต่สำหรับผู้ที่ว่าง่าย แม้ว่าจะไม่ปวารณาก็ เป็นผู้ที่อดทนรับคำพร่ำสอน โดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างสำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าวได้ ควรพร่ำสอนได้ ทั้งสำคัญว่า ควรถึงความคุ้นเคยในบุคคลนั้นได้
และเมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย ๑๖ ประการ ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ๑๖ ประการแล้ว ท่านได้กล่าวต่อไปว่า
ท่านผู้มีอายุในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น ภิกษุพึงเทียบเคียงตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า บุคคลที่มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก
นี่คือ อนุมานสูตร สูตรที่เทียบเคียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองและ เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ในเมื่อไม่พอใจในความปรารถนาลามกของบุคคลอื่น ถ้าตนเองมีความปรารถนาลามกอย่างนั้น ก็ต้องไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นด้วย เมื่อรู้อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก แสดงว่าไม่ใช่เห็นแต่อกุศลของคนอื่น แต่ต้องพิจารณาถึงจิตของตนเองด้วย
ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า
ถึงบุคคลที่ยกตนข่มผู้อื่น ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ถึงบุคคลที่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า จักไม่เป็นคน มักโกรธ ไม่ให้ความโกรธครอบงำ
สำหรับประการต่อไปอีก ๑๓ ประการ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ตลอดไปจนถึง
บุคคลที่เป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น นี้ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น
ถึงบุคคลที่ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก ก็หาได้เป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่าย ดังนี้
ไม่ควรที่จะให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะเหนื่อยเปล่าอีกเหมือนกัน ถ้ายังคงเป็นผู้ที่ว่ายากอีกต่อไป
ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า
ในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคน มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ หากพิจารณา รู้อยู่อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย
ทุกคนรู้ ใช่ไหม ยังมีอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ควรพยายามที่จะละอกุศลธรรม อันชั่วช้านั้นเสีย
หากพิจารณารู้อยู่อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่คนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
ก็ยังไม่จบ จนกว่าจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์
ตอนสุดท้ายท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า
หากภิกษุพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านี้ทั้งหมดที่ยังละไม่ได้ในตน ภิกษุนั้นก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านั้นเสียทั้งหมด หากพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดเหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย
ท่านผู้มีอายุ อุปมาเหมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นกำดัด ชอบโอ่อ่า ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงา หรือในภาชนะน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินบน ใบหน้านั้น ย่อมพยายามที่จะให้ธุลีหรือมลทินนั้นหายไป หากไม่เห็นธุลีหรือมลทิน บนใบหน้า ก็จะรู้สึกพอใจว่า ช่างเป็นลาภของเรา ใบหน้าของเราบริสุทธิ์สะอาด ดังนี้ ฉันใด แม้ภิกษุหากพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านี้ทั้งหมด ที่ยังละไม่ได้ในตน ภิกษุนั้นก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสียทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนใน กุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น นั่นแล
นี่คือความเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเห็นว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลธรรมอยู่ ก็ต้องเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะละอกุศลธรรมนั้น
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวภาษิตดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วแล
จบ อนุมานสูตรที่ ๕
ใครชื่นชมบ้าง ข้อความอย่างเดียวกัน และที่ควรจะได้พิจารณาต่อไป คือ จะเพียงชื่นชมเท่านั้นหรือ หรือว่า ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้น เสียทั้งหมด
นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่จะเข้าใจคำว่า โยนิโสมนสิการ หรือ อโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่รู้จักเพียงคำจำกัดความ แต่รู้จักสภาพลักษณะที่เป็นการพิจารณาในเหตุผลที่ถูกต้อง แยบคาย ตามความเป็นจริง
ข้อความตอนท้ายของ อรรถกถาอนุมานสูตร มีว่า
ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า
ภิกษุพึงพิจารณาเรื่องการเป็นผู้ว่าง่าย ที่เพียรละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ คือ การเป็นผู้ว่ายาก เป็นต้น วันละ ๓ ครั้ง เช้า หลังอาหารกลางวัน และเย็น เมื่อไม่อาจที่จะพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจ ที่จะถึงวันละ ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้งที่เหลือ (คือ ในตอนเย็นที่ว่าง) การไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร ดังนี้
คือ เมื่อฟังแล้วก็มีผู้เตือนต่อว่า ควรพิจารณาวันละ ๓ ครั้ง ถ้าวันละ ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้าธุระมากนัก วันละครั้งหนึ่งก็ยังดี
อรรถกถาอนุมานสูตร แสดงลักษณะของผู้ว่ายาก ที่จะทำให้รู้สึกตัวว่า เป็นผู้ว่ายากหรือไม่นั้น ข้อความตอนหนึ่งมีว่า
เมื่อมีผู้กล่าวเตือน ผู้ว่ายากก็จะพูดว่า พวกท่านว่ากล่าวผมเพราะเหตุใด
เหมือนกับว่าทำไมต้องมากล่าวเตือน
ผมย่อมรู้สิ่งที่ควรและไม่ควร ที่มีโทษและไม่มีโทษ เป็นประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ของตนได้
แสดงว่าไม่พร้อมที่จะให้คนอื่นเตือน หรือไม่เห็นว่าตนเองนั้นสมควรที่ผู้อื่น จะเตือน เพราะว่าเป็นผู้ที่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์
และสำหรับเรื่องของความว่าง่าย มีความละเอียดอีกที่จะต้องพิจารณาว่า ว่าง่ายเพราะเหตุใด เนื่องจากว่าที่ว่าง่ายนั้น ยังต้องต่างกันเป็น ๒ จำพวก คือ
ถ้าว่าง่ายเพราะเหตุแห่งลาภสักการะ หรือเพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หาเป็นผู้ว่าง่ายไม่ คือ ถ้ามีสิ่งที่จะได้รับตอบแทนก็ว่าง่าย ทำตามทุกอย่าง อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย แต่ผู้ใดสักการะจำเพาะพระธรรมอยู่ ทำความเคารพพระธรรมอยู่ นอบน้อมพระธรรมอยู่ ย่อมเป็นผู้ว่าง่าย ย่อมถึงความเป็นผู้ว่าง่าย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ว่าง่าย ดังเช่นท่านพระราธเถระผู้บวชในสำนักของท่าน พระสารีบุตรเถระ
ท่านพระราธะอุปสมบทเมื่อแก่ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้อุปสมบทเมื่อแก่ ท่านก็เป็น ผู้ที่ว่าง่ายอย่างยิ่ง ขอให้คิดดูสำหรับผู้ที่มีวัยสูงแล้ว แต่ยังเป็นผู้ที่ว่าง่าย ไม่ว่า ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของท่านจะโอวาท จะพร่ำสอนอย่างไร เช่น สอนว่า สิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ ท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติรับคำพร่ำสอนของท่าน พระสารีบุตรด้วยความเคารพ และผลของการเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย คือ เมื่อ ท่านอุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
นี่คือประโยชน์ของผู้ที่รับฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ทำให้ท่านพระราธะ จากผู้ที่เป็นปุถุชน เมื่อได้รับฟังโอวาทและคำพร่ำสอนของท่านพระสารีบุตรผู้เป็น พระอรหันต์ และท่านรับฟังและประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเคารพ จนในที่สุด สามารถที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเช่นเดียวกับท่านพระสารีบุตร
นี่เป็นผลของการเป็นผู้ที่ว่าง่าย เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ปลาบปลื้มใจในการที่มีผู้รับคำพร่ำสอนด้วยความเคารพ และน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งสามารถดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้
ท่านพระสารีบุตรพาท่านพระราธะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
สารีบุตร อันเตวาสิกของเธอว่าง่ายแลหรือ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
พระเจ้าข้า เธอเป็นผู้ว่าง่ายเหลือเกิน เมื่อข้าพระองค์กล่าวโทษอะไรๆ อยู่ ไม่เคยโกรธเลย
พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงทำท่านพระราธเถระนั้นให้เป็นตัวอย่างแล้วตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย จึงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ แม้อันเขาแสดง โทษกล่าวสอนอยู่ ก็ไม่พึงโกรธ
เมื่อจะตรัสสอนโดยปริยายแม้อื่นอีก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ก็ผู้ให้โอวาท ภิกษุควรเห็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ และควรปวารณา เสียทีเดียวว่า ท่านขอรับ ท่านตั้งอยู่ในตำแหน่งอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของผมกล่าวสอนอยู่ นับว่าทำกรรมใหญ่แล้ว ขอท่านพึงกล่าวสอนผมแม้อีก ดังนี้
นี่เป็นผู้ที่มองเห็นประโยชน์ของผู้ที่ชี้โทษของตนเองให้ได้เห็นและได้เข้าใจ ซึ่ง ผู้ที่ฉลาดย่อมเป็นผู้ค้นหากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะได้อนุโมทนา และค้นหาโทษของตนเองเพื่อที่จะได้ขัดเกลา แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็ค้นหากุศลของตนเอง และค้นหาโทษของคนอื่น ซึ่งขณะที่ค้นหาโทษของคนอื่น อกุศลจิตก็เกิด ขณะที่ค้นหากุศลของตนเอง ก็อาจจะเกิดความทะนงตนหรือความสำคัญตนก็ได้
เพราะฉะนั้น โดยนัยกลับกัน ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ ย่อมค้นหาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่รู้ดี และ ในขณะเดียวกัน ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะว่าอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น และเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ จะได้ขัดเกลา ละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ก็เพื่อให้โอวาท ภิกษุควรเห็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้นั้น อธิบายว่า เหมือนคนเข็ญใจ
ซึ่งสิ่งที่คนเข็ญใจต้องการที่สุด คือ ทรัพย์ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าผู้ใดจะ ว่ากล่าวสั่งสอน หรือถึงแม้ว่าจะถูกเฆี่ยนตี แต่ก็ให้ทรัพย์ โดยบอกขุมทรัพย์ให้ ผู้นั้น ก็ดีใจที่ได้ทรัพย์ และจะไม่โกรธผู้ที่ว่ากล่าวเฆี่ยนตีแต่บอกขุมทรัพย์ให้ ฉันใด
เมื่อบุคคลเห็นปานนั้น เห็นโทษอันไม่สมควรหรือความพลั้งพลาดแล้วบอกอยู่ ภิกษุไม่ควรทำความโกรธ ควรยินดีโดยแท้
นี่เป็นเรื่องของอโทสเจตสิกจริงๆ ซึ่งเป็นทั้งความอดทน เป็นทั้งความเป็นผู้ ว่าง่าย ซึ่งทำให้เป็นมงคลอันสูงสุด เพราะว่าเป็นเหตุให้กระทำกุศลยิ่งๆ ขึ้น
ถ้าเป็นผู้ที่ว่ายากหรือสอนยาก ย่อมจะไม่รับฟังคำสอน มีความขัดเคือง เมื่อโกรธแล้วก็ย่อมห่างเหินไป หรืออาจจะจากไปตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้ ละคลายกิเลส เพราะไม่ยอมที่จะรู้จักอกุศลของตนเอง และไม่เห็นความหวังดีของผู้ที่กล่าวสอนหรือพร่ำสอน
ใน อนุมานสูตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุนั้นเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เป็นผู้ ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อนพรหมจรรย์ต่างไม่สำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรพร่ำสอน ทั้งไม่สำคัญความคุ้นเคย (คือ ความสนิทสนม) ความไว้ใจในบุคคลนั้นได้
อะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธ ก็คงจะสนิทสนมคุ้นเคยกันได้ยาก เพราะไม่ทราบว่าจะพูดอย่างไร จะทำอย่างไร บุคคลผู้ขี้โกรธนั้นจึงจะไม่โกรธได้
นี่เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนที่มีเพื่อนคงจะพิจารณาได้ว่า ได้ทำให้เพื่อนโกรธโดย ไม่ตั้งใจเพราะไม่รู้จักอัธยาศัยวันหนึ่งๆ บ่อยไหม หรือเป็นคนที่โกรธคนอื่นง่ายๆ ก็พิจารณาได้ว่า จะสนิทสนมคุ้นเคยกับใครก็คงจะลำบาก หรือเป็นไปได้ไม่นาน เพราะเดี๋ยวก็โกรธๆ ทำให้คนอื่นไม่สนใจที่จะสนิทสนมคุ้นเคยด้วย เพราะถ้าคุ้นเคยกับคนว่ายาก ก็มีแต่จะทำให้คนว่ายากนั้นโกรธขึ้นๆ มากมายหลายเรื่อง ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ไม่เห็นความหวังดีต่อกัน ก็ย่อมไม่คุ้นเคยกัน ไม่วางใจกัน และไม่สนิทสนมกันเป็นธรรมดา
บางท่านอาจจะเห็นว่า เรื่องของความว่าง่ายเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ ความจริงแล้วขอให้ระลึกถึงความเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะว่าจะทำให้เป็นผู้ที่มี ธรรมเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ว่าง่าย
ข้อความตอนท้ายของ มงคลคาถา ข้อ ๔๔๘ มีว่า
เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อระลึกถึงสุคโตวาทนี้ พึงเป็นผู้ว่าง่ายเถิด ไม่พึงเป็นผู้ว่ายาก
สุคโตวาท คือ โอวาทของพระสุคต คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ระลึกถึงว่า การเป็นผู้ว่าง่ายเป็นคำสอน เป็นพระธรรม ที่พร่ำสอนของพระผู้มีพระภาคว่า พึงเป็นผู้ว่าง่ายเถิด ไม่พึงเป็นผู้ว่ายาก
อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้มุ่งความตั้งมั่นแห่งพระศาสนา ก็พึงเป็นผู้ว่าง่ายโดยแท้ ... ส่วนความเป็นผู้ว่ายาก ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญ
หลายท่านเป็นห่วงเป็นกังวลเหลือเกินในการที่พระพุทธศาสนาจะค่อยๆ ลบเลือนเสื่อมสูญไป แต่ใครเป็นผู้ทำให้พระพุทธศาสนาลบเลือนเสื่อมสูญ ก็ต้องเป็น เพราะผู้ที่ว่ายาก ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ขัดเกลากิเลส เป็นผู้ที่ไม่สามารถรู้แจ้งพระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น ศาสนาก็ย่อมจะเสื่อมสูญเมื่อไม่มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งสามารถที่จะธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620