แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620
ครั้งที่ ๑๖๒๐
สาระสำคัญ
พึงเป็นผู้ว่าง่ายโดยแท้
องฺ.ปญฺจก.จตุตถปัณณาสก์ - ความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
สัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๒ - การรักษาพระศาสนาการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐
ท่านผู้ฟังที่เป็นห่วงความเสื่อมสูญของพระสัทธรรม ควรที่จะพิจารณาตั้งแต่ ในขั้นของการฟังธรรมและการเป็นผู้ว่าง่าย เพราะการที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่ฟังพระธรรมหรือไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะธำรงพระศาสนา แต่แม้กระนั้นในขณะที่ฟังพระธรรม จะดำรงพระสัทธรรมไว้ได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ข้อ ๑๕๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ฟังธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ ไม่ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ
ต้องเป็นผู้ว่าง่ายด้วยหรือเปล่า ที่จะเป็นผู้รักษาพระสัทธรรม เพราะว่าข้อความต่อไปโดยนัยตรงกันข้าม คือ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมฟังธรรมโดยเคารพ ๑ เล่าเรียนธรรมโดยเคารพ ๑ ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๑ ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้โดยเคารพ ๑ รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ
ไม่มีเรื่องการนุ่งขาวห่มขาว หรือให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่ใช่การพิจารณาพระธรรมจนกระทั่งเข้าใจถูกต้อง
ถ. ขออาจารย์อธิบายคำว่า โดยเคารพ ทั้ง ๕ ประการนี้
สุ. โดยการพิจารณาความถูกต้อง ไม่ถือความเห็นของตนเอง หรือไม่คิดว่า เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ สัทธรรมนิยามสูตรที่ ๓ ข้อ ๑๕๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม
ขณะที่ฟัง แล้วแต่โยนิโสมนสิการ เพราะว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่การพิจารณาโดยถูกต้อง โดยสมควรแก่เหตุผล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาถูกต้อง ก็เห็นความถูกในกุศลธรรม แต่ถ้าในขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ ก็เป็นผู้ ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม ๑ เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำมีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑ เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบใน ผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง ๑ เป็นผู้มีปัญญาทรามโง่เง่า ๑ เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกต้องในกุศลธรรม ฯ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม
ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมไม่เป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม ๑ เป็นผู้อันความลบหลู่ไม่ครอบงำไม่มีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑ เป็นผู้ไม่แสวงโทษ ไม่มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม ไม่มีจิตกระด้าง ๑ เป็นผู้มีปัญญาไม่โง่เง่า ๑ ไม่เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม ฯ
ถ. ลักษณะของการฟังธรรมโดยเคารพ ควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร
สุ. ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจ เมื่อฟังแล้วเข้าใจ ชื่อว่าเคารพในธรรม แต่ถ้า ไม่ตั้งใจฟัง และไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจ เพียงแต่ฟัง อย่างนั้นไม่ชื่อว่าฟังโดยเคารพ เพราะไม่รู้จุดประสงค์ว่า การฟังธรรมนั้นเพื่อให้เข้าใจ
ถ. ผมได้สนทนาธรรมกับผู้ที่สนใจในธรรม เขาถามว่า ถ้าฟังเทปอาจารย์และนอนฟัง อย่างนี้เคารพไหม ถ้านั่งฟัง จะนั่งอย่างไร จะเดินอย่างไร ผมตอบไม่ได้
สุ. ถ้านั่งฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่นอนฟังแล้วเข้าใจ ประโยชน์อยู่ที่ไหน ข้อสำคัญคือความเข้าใจ ในการฟังพระธรรมแต่ละครั้งต้องรู้จุดประสงค์จริงๆ ว่า เพื่อเข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง ทำไมต้องเข้าใจ ก็เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติตาม โดยถูกต้อง ไม่ผิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็แล้วแต่ว่า ทำอย่างไรจะเข้าใจพระธรรม ถ้านอนฟังไม่เข้าใจ นั่งฟังจึงจะเข้าใจ ก็นั่ง ถ้านั่งฟัง ไม่เข้าใจ ยืนฟังเข้าใจ ก็ยืน อย่างไรก็ได้
แต่ถ้าศึกษาในอรรถกถาจริงๆ แม้แต่การที่พระมหากัสสปะจะถามปริพาชก ซึ่งถือดอกมณฑารพไปเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่าน พระมหากัสสปะเองท่านทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ การที่ท่านกล่าวถามปริพาชก ก็เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายที่ได้ฟังในขณะนั้นได้รู้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่ว่าเมื่อมีความเศร้าโศกเสียใจประการใด จะได้ไม่ร้องไห้คร่ำครวญในสถานที่ซึ่งผู้อื่นจะกล่าวได้ว่า สาวกของพระผู้มีพระภาคมีกิริยาอาการที่ผิดแปลกจากปกติถึงอย่างนั้นๆ
และเวลาที่ท่านจะกล่าวถามปริพาชก ท่านคิดว่า ถ้าท่านจะนั่งถามถึง พระผู้มีพระภาคจะไม่เป็นการเคารพ เพราะฉะนั้น ท่านก็ประนมมือหันหน้าไปทางปริพาชกนั้น ซึ่งปริพาชกนั้นก็ได้ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับจิตของแต่ละบุคคลในขณะนั้นๆ ถ้าขณะที่อยากฟัง พระธรรม แต่เป็นเวลาที่ยังเช้ามาก เช่น ตีสีครึ่ง เป็นต้น และยังนอนอยู่ ก็นอนฟังด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจ ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครจะมีความนอบน้อมมากกว่านั้น จะตื่นแต่เช้า อาบน้ำให้เรียบร้อย แต่งตัวสะอาดเรียบร้อยแล้วฟังพระธรรม นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ให้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถ บังคับบัญชาจิตแต่ละขณะได้เลย และการกระทำของแต่ละวันก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย วาระนี้เป็นอย่างนี้ อีกวาระหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเหมือนกันทุกครั้ง แต่ข้อสำคัญ คือ การเคารพด้วยความตั้งใจฟังและพิจารณา ในเหตุผลให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
ถ้านั่งประนมมือ แต่ฟังโดยไม่ตั้งใจ อย่างนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จาก พระธรรม เพราะฉะนั้น กุศลจิตทำให้เป็นผู้ที่อ่อนโยนและเป็นผู้ที่นอบน้อม
ถ. คำว่า ฟังธรรมโดยเคารพ เรียนโดยเคารพ ทรงจำโดยเคารพ ใคร่ครวญโดยเคารพ ตลอดจนถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ได้ไตร่ตรองแล้ว คำว่าโดยเคารพ คงจะหมายความว่า ฟังแล้วเข้าใจ อย่างนั้นหรือเปล่า
สุ. คือไม่ถือความเห็นของตัวเป็นใหญ่ หมายความว่าเมื่อพิจารณาแล้ว ถ้าพระธรรมที่ทรงแสดงมีเหตุผลสมบูรณ์ถูกต้อง ก็ไม่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ว่าถูกต้องยิ่งกว่าพระธรรมที่ได้รับฟัง
ถ. คือ สามารถเปลี่ยนความเห็นของตนตามพระธรรมที่ได้ฟัง ที่มีเหตุมีผลถูกต้อง และที่ว่าใคร่ครวญโดยเคารพ หมายความว่า ฟังก็ต้องฟังที่ถูกต้อง จำก็ต้องจำที่ถูกต้อง เรียนก็ต้องเรียนที่ถูกต้อง มีเหตุมีผลแล้วก็ใคร่ครวญโดยเคารพ แต่ถ้าใคร่ครวญแล้วก็ยังไม่เข้าใจ
สุ. ก็ใคร่ครวญต่อไป
เรื่องการฟังธรรมโดยไม่เคารพอย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว ข้อความใน สัทธรรมนิยามสูตร คือ
บุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่านฟังธรรม
นั่นไม่ใช่การฟังด้วยความเคารพ
เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำ มีจิตแข่งดีฟังธรรม
นั่นก็ไม่ใช่การฟังด้วยความเคารพ
เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง
ขณะนั้นก็ไม่ใช่การฟังด้วยความเคารพ
เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เง่า หรือ
เป็นผู้มีความถือตัวว่า เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ
ทั้งหมดนั้นไม่ใช่การฟังด้วยความเคารพ
ถ. เคยเปิดฟังวิทยุรายการธรรม รู้สึกว่าท่านอธิบายตามความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ผมก็คิดว่า ไม่ฟังดีกว่า ปิดเลย อย่างนี้ถือว่าไม่เคารพได้ไหม
สุ. นั่นไม่ใช่การฟังพระธรรม นั่นเป็นการฟังบุคคลที่ไม่ได้แสดงพระธรรม แต่แสดงความคิดเห็นของตนเอง
ถ. คำว่า โดยเคารพ ในที่นี้ต้องเป็นธรรมที่ถูกต้อง
สุ. ธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ถ. มีเหตุมีผลถูกต้องตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว แต่ถ้าฟังอย่างอื่น และคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็ปิด อย่างนี้ไม่ถือว่าขาดความเคารพ
สุ. นั่นไม่ใช่ฟังพระธรรม เป็นการฟังความคิดเห็นของบุคคล
ถ. ที่ว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แค่ไหนที่เรียกว่าปฏิบัติ
สุ. ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ความเป็นผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้อดทน ตลอดไปจนกระทั่งถึงการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาตามข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูก
ถ. คือ น้อมปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้เรียนมา ที่ได้จำมา ที่ได้ใคร่ครวญแล้วนั้น
สุ. เพราะประโยชน์ของการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อการปฏิบัติตามสำคัญที่สุด และไม่ใช่แต่เฉพาะในขั้นของการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ทุกขั้น ไม่ว่า จะทรงแสดงเรื่องของความไม่โกรธ ทุกคนที่ยังโกรธอยู่คิดอย่างไร ยังจะเป็นผู้ว่ายาก คือ อยากจะโกรธต่อไปอีก หรือเป็นผู้น้อมไปที่จะไม่โกรธ เพราะว่าจะไม่โกรธทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่แม้กระนั้นพระธรรมที่ได้ฟังก็ทำให้จิตอ่อนโยน และมีศรัทธา ที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
ที่ใช้คำว่า น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เพราะว่าทุกคนจะปฏิบัติตามทันที ตรงตามที่ได้เข้าใจไม่ได้ เช่น เข้าใจว่าโลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี แต่ใครจะละ โลภะ โทสะ โมหะได้ ในเมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะละได้
เพราะฉะนั้น ทุกคนฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจในเหตุในผล อกุศลเป็นอกุศล เป็นโทษ กุศลเป็นกุศล ไม่เป็นโทษ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็น้อมไปที่จะละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยังเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ว่ายาก ไม่ว่าพระธรรมจะว่าอย่างไร แต่ใจก็ยังต้องการที่จะเป็นอกุศลต่อไปอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์จาก การฟังพระธรรม
ผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ต้องตั้งแต่ในขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ปฏิบัติธรรมในขั้นที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจจะปฏิบัติธรรมที่ทำให้ รู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้ และถ้ายังเป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่อดทน มักโกรธ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ว่าง่าย อดทน และน้อมไปที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องของการรักษาพระศาสนา เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เช่นใน สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่ เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ นี้ธรรมเป็นข้อที่ ๑
ทั้งหมดที่ได้ฟังอยู่ในพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก เพราะฉะนั้น ถ้าฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงแล้ว ไม่ว่าจะจากพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง ทุกท่าน ก็กำลังศึกษาสุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
แสดงว่าต้องศึกษาพระธรรม เป็นของที่แน่นอนที่สุดในการที่จะรักษา พระศาสนา
ใครก็ตามที่เป็นห่วงพระพุทธศาสนาว่าจะเสื่อมสูญไม่ถึงรุ่นต่อๆ ไป มีทางเดียวที่จะไม่เสื่อมสูญได้ คือ ต้องศึกษาพระธรรม ถ้าจะรักษาโดยวิธีอื่นซึ่งไม่ใช่โดยการศึกษาและเข้าใจพระธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่พระสัทธรรมจะยั่งยืนต่อไป นี่เป็นข้อที่ ๑ คือ ต้องศึกษา
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้ เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว และมีความเข้าใจ แต่ไม่เผยแพร่ ไม่แสดงพระธรรม ที่ได้ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจแล้วแก่คนอื่น นั่นก็เป็นทางที่จะทำให้พระสัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญ เป็นความจริงไหม ใครก็ตามที่เข้าใจแล้ว ฟังแล้วเฉพาะตัว และตายไป ก็หมดไป เสื่อมไป แต่ถ้าสามารถเผยแพร่สั่งสอน หรือแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วต่อๆ กันไปอีก ก็จะเป็นทางที่จะทำให้พระธรรมไม่เสื่อมสูญ นี่เป็นประการที่ ๒
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้ เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓
ถ้าท่านผู้ฟังสังเกตเห็นความละเอียดของการเป็นผู้ที่พยายามช่วยกันที่จะ สืบต่อพระสัทธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงแต่ศึกษา และไม่ใช่เพียงแต่แสดงธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ ไม่บอกธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี่เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
เวลาที่แสดงธรรมก็เป็นเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นบางวาระ บางโอกาส และผู้ฟังก็ กลับไปสู่บ้านเรือน ซึ่งอาทิตย์หนึ่งอาจจะมีการฟังธรรมครั้งหนึ่ง หรืออาจจะได้รับฟังทางวิทยุก็ตามแต่ แต่ถ้ามีการบอกธรรม มีการช่วยเวลาที่มีความข้องใจ หรือมีความสงสัยประการหนึ่งประการใด ก็มีการชี้แจง และบอกความละเอียด ความลึกซึ้ง ความพิสดารนั้นให้ผู้ที่เกิดความสงสัยหรือความข้องใจความไม่เข้าใจด้วย ก็ย่อมเป็นเหตุให้ธรรมนั้นแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เพียงแต่แสดงแล้วจบ แต่ยังตามบอกถึงความละเอียด ถึงความพิสดารของความลึกซึ้งของธรรมนั้นด้วย เพื่อที่จะให้เข้าใจยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดศรัทธาน้อมประพฤติปฏิบัติตามยิ่งขึ้น
ท่านที่ได้ฟังธรรมด้วยกัน ก็มีเหตุการณ์แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตต่างๆ กัน บางวาระท่านผู้หนึ่งก็มีเหตุทำให้เกิดความโกรธ ความหงุดหงิด ความเสียใจ ความน้อยใจ แต่อาศัยเพื่อนธรรมที่ได้ฟังธรรมด้วยกันปลอบโยน และบอกข้อธรรม ต่างๆ ซึ่งเกื้อกูลกับสภาพของเหตุการณ์นั้นๆ ให้ระลึกถึงธรรมที่ได้ฟัง และประพฤติปฏิบัติตาม ขณะนั้นก็ไม่ใช่เวลาของการฟังธรรม แต่เป็นเวลาของการบอก การชี้แจงธรรม การเตือนให้ระลึกถึงข้อธรรมต่างๆ นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่จะทำให้พระสัทธรรม ไม่เสื่อมสูญ เพราะว่ามีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1561
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1562
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1564
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1566
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1567
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1568
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1569
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1570
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1571
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1572
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1573
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1574
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1575
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1577
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1579
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1580
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1581
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1582
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1583
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1584
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1587
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1589
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1590
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1592
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1594
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1596
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1597
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1598
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1599
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1600
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1602
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1604
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1605
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1606
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1607
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1608
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1611
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1612
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1613
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1614
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1616
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1617
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1618
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1619
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1620