แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
ครั้งที่ ๑๖๓๕
สาระสำคัญ
การเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน (สติระลึกและปัญญาพิจารณา)
ชีวิตทุก ขณะเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม
สังขารุเปกขาคือ ปัญญาเจตสิก
ปัญญา รู้ได้เพราะสติเกิด
ม.มู.มูลปริยายสูตร - มูลของธรรมทั้งปวง
ขุ.ปฏิ.ญาณกถา - สังขารุเปกขา ๑๐ เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนา
ความอดทนเป็นตบะ อย่างยิ่ง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๐
ในขณะนี้ด้วยการศึกษาทราบว่า เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมทั้งนั้นทุกขณะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย แม้เพียงฟังแค่นี้ ถ้ามีความเข้าใจโดยถูกต้อง สติก็เริ่มระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แต่ถ้าเพียงฟังเล็กน้อย และยังไม่เข้าใจจริงๆ สติก็ยังไม่เกิด
ถ้าทราบว่า ชีวิตทุกขณะ เดี๋ยวนี้เอง เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมทั้งนั้น ทุกอย่าง ซึ่งก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าที่กล่าวอย่างนี้ ผิดหรือถูก ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถูก ใช่ไหม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่รู้ว่าเป็นรูปธรรม ที่กล่าวอย่างนี้ถูกหรือผิด ถูก
เพราะฉะนั้น ปัญญา คือ การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเมื่อสักครู่นี้กล่าวว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้นนั่นเอง ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย
กำลังเห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม ในขณะที่ทุกคนกำลังเห็น เพียงเท่านี้เอง พิจารณาอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ เพราะกล่าวแล้วว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ทุกขณะเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ปัญญา คือ ต้องรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เอง ถูกหรือผิด ปัญญาต้องรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เอง
นี่คือการเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน สิ่งที่สติจะระลึกและปัญญาจะพิจารณา จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม ขณะนี้เป็นรูปธรรม แต่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ผู้รู้กล่าวว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ผู้ไม่รู้ได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ ดังนั้น ที่ผู้ไม่รู้จะเป็นผู้รู้ได้ ก็ด้วยการที่ สติเกิดขณะที่เห็น เป็นปกติธรรมดา ขณะที่สติไม่เกิดก็เพียงเห็น แต่ขณะที่สติเกิดก็คือเมื่อเห็น คือ ในขณะนี้ และระลึกศึกษา น้อมที่จะรู้ว่า ในขณะที่เห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของจริง ยังไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย เพราะว่าสภาพนี้เพียงปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นจึงปรากฏ
แค่นี้เอง ที่สติจะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพรู้ ที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า สติไม่ค่อยเกิด ก็เป็นเพราะยังไม่ระลึกจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย แต่รู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง
สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะทำให้กิเลสเกิดมากๆ ทุกขณะก็ได้ หรือจะทำให้ปัญญาเกิดมากๆ จนกระทั่งดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราเห็น และ สิ่งที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จนกระทั่งสามารถเพิ่มความรู้ขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของการเห็นซึ่งมีบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่แต่ละท่านควรจะพิจารณาว่า จะให้กิเลสเกิดมาก หรือจะให้ปัญญาเกิดมากในขณะที่กำลังเห็น
ในขณะที่กำลังได้ยิน ก็เช่นเดียวกัน ในขณะนี้เองที่กำลังได้ยิน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถูกหรือผิด
ถ้าถูก คือ ได้ยินเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม เสียงเป็นรูปธรรม แต่เพราะ ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม จึงเป็นเราได้ยิน
เพราะฉะนั้น ปัญญา คือ ขณะใดที่สติเกิด ขณะที่ได้ยินปรากฏ กำลัง ได้ยินเสียง สติระลึกสภาพที่กำลังรู้ ที่เสียงปรากฏได้ต้องมีลักษณะรู้ มีธาตุรู้ มีอาการรู้เสียงจึงปรากฏ ในขณะที่กำลังได้ยินเสียงก็น้อมที่จะรู้ว่า ขณะนั้นมีสภาพที่รู้ในขณะที่เสียงปรากฏ ไม่ใช่เรา
นี่คือเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิด โดยการเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และพิจารณาว่า ได้ยินบ่อยๆ จะให้กิเลสเกิดมากๆ หรือจะให้ปัญญาเกิด
เป็นเรื่องที่แต่ละท่านคงจะหมดความสงสัยว่า ที่ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ เพราะอะไร
ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งนั้น ทุกขณะ แต่อวิชชาไม่รู้ อวิชชา ไม่สามารถรู้ได้ และที่ปัญญาสามารถรู้ได้ก็เพราะสติเกิด ต้องมีการระลึกได้ พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องระลึก คือ ทุกขณะ เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าไม่ลืม สติก็คงจะระลึกได้ ก่อนที่จะถึงสังขารุเปกขา ๑๐ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนา ซึ่งสังขารุเปกขาเป็นปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ท่านที่ยังสงสัยเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่น่าจะมีข้อสงสัยใดๆ เลย เพราะขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะรู้ เท่านั้น สติระลึก ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติ สติเกิดไม่ได้ ไม่ใช่วิธีอื่น ต้องฟังจนกระทั่ง รู้ว่า กระทบแข็งบ่อยๆ ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ มีสภาพที่รู้แข็ง แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน
สติปัฏฐานไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่กำลังรู้แข็งและระลึกได้ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นแข็ง ไม่ใช่อะไรเลยสักอย่างเดียว เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และที่กำลังรู้แข็งก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะรู้ สภาพรู้เท่านั้น
ถ้าระลึกอย่างนี้ รู้อย่างนี้ ก็เป็นการที่สติปัฏฐานจะเจริญขึ้น
ข้อความใน อรรถกถา โคตมสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้วมีว่า
พราหมณ์บรรพชิตจำนวนมากเกิดเมาความรู้ขึ้น เพราะอาศัยพระพุทธพจน์ที่ตนเคยเรียนแล้ว ไม่ยอมไปฟังโรงธรรม ด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัส ก็ตรัสคำที่พวกเรารู้แล้วเท่านั้น ไม่ตรัสคำที่พวกเรายังไม่รู้
ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะระลึกได้ทันทีว่า ที่ทรงแสดงธรรมมาก เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น ไม่ว่าจะ ทรงแสดงโดยพระสูตร หรือพระอภิธรรม หรือแม้พระวินัย ก็เพื่อให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
แต่เพราะว่า ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เห็นที่มาที่ไปของพระธรรมเทศนาเลย คือ ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ฟังด้วยความแยบคาย เมื่อไม่เห็นก็พากันคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงเข้าพระทัยว่า ธรรมกถาของเราตถาคตย่อมนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จึงตรัสพระธรรมเทศนาที่คล่องพระโอษฐ์เท่านั้น
ฟังดูก็เหมือนเดิม ใช่ไหม เรื่องของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจ ก็เท่านั้น ดูเหมือนกับคล่องพระโอษฐ์จริงๆ ในเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เพราะการตรัสรู้ ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบดังนั้น ก็ได้ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาแล้วทรงแสดง มูลปริยายสูตร คือ มูลของธรรมทั้งปวง
เพียงเท่านี้ น่าฟังไหม รู้หรือยังเรื่องมูลของธรรมทั้งปวง แต่ต้องมีเรื่องที่จะต้องทรงแสดงมากมายทีเดียวที่จะเกื้อกูลให้ผู้นั้นได้เข้าใจจริงๆ และเป็นประโยชน์ต่อการที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายสูตร ข้อ ๑ – ข้อ ๙ มีข้อความว่า
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน ครั้นรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดินแล้ว ย่อมสำคัญธาตุดิน ย่อมสำคัญในธาตุดิน ย่อมสำคัญ โดยความเป็นธาตุดิน ย่อมสำคัญธาตุดินว่าของเรา ย่อมยินดีธาตุดิน ข้อนั้น เพราะเหตุอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้
นี่คือชีวิตประจำวันของทุกคน กระทบแข็งตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ แต่ว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน
ถูกต้องไหม ธาตุดิน คือ แข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้ว่าแข็ง ทุกคนรู้ แข็งเป็นอย่างไรก็รู้
ครั้นรู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดินแล้ว ย่อมสำคัญธาตุดิน ย่อมสำคัญใน ธาตุดิน ย่อมสำคัญโดยความเป็นธาตุดิน ย่อมสำคัญธาตุดินว่าเป็นของเรา
กระทบตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่แข็ง รู้ธาตุดินโดยความเป็นธาตุดินแล้ว ย่อมสำคัญธาตุดินโดยความเป็นธาตุดิน ย่อมสำคัญธาตุดินว่าของเรา ใช่ไหม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่เป็นร่างกาย และยังเป็นสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่างนอกร่างกาย ก็เป็นของของเราด้วย ทั้งๆ ที่เป็นเพียงธาตุดินเท่านั้น และ ย่อมยินดีธาตุดิน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เรากล่าวว่า เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้
เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่กระทบแข็ง และกิเลสไม่เพิ่มขึ้นมากมาย ก็โดยการที่สติระลึกและพิจารณารู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพแข็ง ซึ่งถ้าปัญญาเจริญขึ้น ขณะนั้นเองก็ปรากฏสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ข้อความต่อไปในมูลปริยายสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสถึงธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ตลอดไปจนถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น ยังมีใครสงสัยอีกไหมในการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติไปเรื่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นหนทางเดียว ไม่ใช่หนทางอื่น จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง
สำหรับสังขารุเปกขา ๑๐ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของวิปัสสนา ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๓๔ มีว่า
สังขารุเปกขา ๑๐ เป็นไฉน ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา ฯ
ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเครื่องประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อบรรลุโสตาปัตติมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ... เพื่อบรรลุโสตาปัตติผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุสกทาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุสกทาคามิผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุอนาคามิมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุอนาคามิผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุอรหัตตมรรค เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อบรรลุอรหัตตผลสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ … เพื่อสุญญตวิหารสมาบัติ เป็นสังขารุเปกขาญาณ ๑ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรม เครื่องประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่ออนิมิตตวิหารสมาบัติ เป็น สังขารุเปกขาญาณ ๑ สังขารุเปกขา ๑๐ เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา
ฟังเท่านี้ยังไม่สามารถเข้าใจถึงสภาพของสังขารุเปกขาได้ ใช่ไหม นอกจากจะ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานโดยถูกต้อง จนปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาเป็นปัญญา สัมมาทิฏฐิเป็นปัญญา ความเข้าใจถูกเป็นปัญญา ซึ่งจะต้องเกิดตามลำดับจริงๆ ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในขั้นของสัจจญาณว่า ทุกขอริยสัจคืออะไรที่สติจะต้องระลึกรู้จนประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป สมุทยอริยสัจคืออะไร นิโรธอริยสัจคืออะไร นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจคืออะไร ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด
เมื่อสติเกิดแล้ว ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่อดทน จะเข้าใจความหมายของคำว่า ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง คือ อดทนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏและไม่รู้เลยว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งค่อยๆ พิจารณา เมื่อระลึกแล้วต้องศึกษา ซึ่งเป็นสิกขา ๓ คือ ไตรสิกขา ได้แก่ สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ในขณะที่กำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และ เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองโดยรู้ว่า ในวันนี้หรือในวันหนึ่งๆ สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรบ้าง ทางไหน
ทางตา อาจจะไม่ได้ระลึก ทางหู ระลึกหรือเปล่า ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเมื่อสติเกิดก็เป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะนั้นกำลังระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมทางใด และต้องพิจารณาเพื่อจะได้รู้ขึ้นในลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม ตลอดชีวิตนี้ เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นผู้ที่มีปกติ เจริญสติปัฏฐานจริงๆ โดยไม่หวังผล เพราะผลทั้งหลายต้องมาจากเหตุ
ถ้าสติไม่ระลึก และคิดว่า เมื่อไรจะเป็นพระโสดาบัน ได้ไหม สติระลึกนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรม ความรู้ก็ยังไม่เพิ่มขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ต่างกัน และคิดว่า เมื่อไรจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ได้ไหม เหตุไม่สมควรแก่ผลเลย เพราะฉะนั้น จะหวังรอสักเท่าไร หรือจะเพียรทำอย่างอื่น ก็ยิ่งจะทำให้คลาดเคลื่อนไปจากข้อปฏิบัติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เหตุต้องถูก ต้องตรง ผลที่ถูกต้องจึงจะเกิดได้
ถ. แม้อาจารย์กล่าวอย่างนี้ คือ ให้เจริญสติ กลับไปบ้านมีสัญญาจำได้ว่า อาจารย์ให้เจริญสติ บางทีก็ไม่อยากจะเจริญ คือ ปล่อยไปเลย
สุ. นี่มีตัวตนที่จะเจริญ กลับไปบ้านจะเจริญ และบางวันก็จะปล่อย นั่นไม่ใช่สัมมาสติ สัมมาสติ คือ ปกติอย่างนี้ รู้ว่าตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม รู้จริงๆ อย่างนี้หรือยัง เชื่อหรือยังว่าเป็นอย่างนี้
ถ. ต้องเพียรเจริญ
สุ. มิได้ ขอสอบถามความเข้าใจว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล นอกจากนามธรรมและรูปธรรม เข้าใจอย่างนี้จริงๆ หรือยัง ขั้นเข้าใจ ขั้นสัจจญาณ
ท่านผู้ฟังตอบว่า เข้าใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ตรงกับที่กล่าวใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าจะรู้ ก็คือสติเกิด ไม่ใช่เราจะทำ หรือเราจะปล่อย ถูกต้องใช่ไหม
ถ. ถ้าเกิด ก็ระลึกได้ทันทีเลย ใช่ไหม
สุ. ก็ขณะนี้เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมแล้ว เป็นนามธรรมและรูปธรรมตลอดชีวิต ไม่ว่าจะขณะยิ้ม ขณะหัวเราะ ขณะโกรธ ขณะเสียใจ ขณะเป็นโรคภัย ไข้เจ็บ ขณะมีข่าวดีข่าวร้าย ทุกอย่าง ตลอดชีวิตไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรม และรูปธรรม ต้องมีความมั่นใจและเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เพื่อที่สติจะเกิดขณะไหนก็ได้ เพราะแม้ขณะนี้ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรม ผู้ที่รู้ก็รู้ว่า กำลังเห็นเป็นนามธรรม และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธรรม แต่ผู้ที่ไม่รู้ แม้ว่าเห็นเป็นนามธรรม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราจะทำ กลับไปบ้านจะทำ และก็เกิดท้อถอย เบื่อหน่าย และก็เลิกจะไม่ทำ หรืออะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ แม้แต่ในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ ขณะใดที่ระลึก รู้ว่ามีนามธรรมและรูปธรรมตลอด ไม่ขาดเลย ในขณะเห็นเป็นนามธรรม ไม่รู้ก็ระลึกศึกษาเพื่อจะรู้ นี่คือการเจริญมรรค มีองค์ ๘
ถ. แต่ถ้าไม่ยอมระลึก
สุ. เพราะอะไรจึงไม่ยอม มียอมมีไม่ยอมด้วยหรือ ถ้ามียอมมีไม่ยอม ก็มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน ยังไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
ขอให้มีสัจจญาณที่มั่นคงว่า แม้แต่ในขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรม ชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กำลังคิด ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น กว่าจะ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ ปัญญาต้องเจริญตามปกติ จนแม้คิดอย่างนั้นก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ สภาพเห็น ซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ได้ยิน ซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนทั่วจริงๆ และเลิกคิดที่จะไม่ยอมทำ หรือกลับบ้านจะทำ และเกิดเบื่อขึ้นมาก็จะไม่ทำ เพราะถ้า คิดอย่างนั้นขณะใด ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน
ถ. ต้องอดทนมากๆ เลย อดทนที่จะระลึกรู้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๔ ตอนที่ ๑๖๓๑ – ๑๖๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685