แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
ครั้งที่ ๑๖๔๗
สาระสำคัญ
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด
การศึกษาต้องตามลำดับขั้น (ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ)
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้
ควรรังเกียจอกุศลของตนเอง (เราเท่านั้นที่จะขัดเกลาอกุศลของเราได้)
อย่าประมาทพระธรรมว่าง่าย
สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย
เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐
สุ. คุณทองศรีเห็นไหม
ท. เห็น
สุ. เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า
ท. ตอบไม่ได้
สุ. ก็เมื่อกี้บอกแล้ว ทุกอย่างหมดไม่เว้นเลย ยืนคำแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ตกลงเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า
ท. เป็น
สุ. เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพียงแต่ว่าเรายังไม่รู้จักเลย เราเพียงแต่ยอมรับตามที่เราได้ยินได้ฟังมาว่า ทุกอย่างต้องเป็นธรรม เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็ต้องเป็นธรรมด้วย แต่เห็นจะเป็นธรรมได้อย่างไร เป็นธรรมชนิดไหน เราต้องเข้าใจมากกว่านั้นอีก นี่คือการเริ่มมีพระธรรมเป็นสรณะ เพราะว่าทรงแสดงเรื่องของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึก ความสุข ความทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งก่อนนี้เราไม่เคยคิดเลยว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ เราคิดรวมว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่เว้นเลย คือ คำไหนที่ทรงแสดงไว้แล้วไม่เปลี่ยน ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่เว้นเลย แม้แต่เรื่องการเห็นซึ่งกำลังเห็น ในขณะนี้ ก็แสดงไว้โดยละเอียดที่สุดว่าเป็นธรรมอย่างไรจึงไม่ใช่เราและไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมอย่างหนึ่ง
ยังไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร รู้แต่ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ใช่ไหม การได้ยิน คุณทองศรีได้ยินไหม
ท. ได้ยิน และได้ยินเป็นธรรม
สุ. ขยายความอีกสักนิดว่า เพราะอะไรจึงว่าเป็นธรรม
ท. เป็นสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ
สุ. เพราะฉะนั้น คำนี้ส่องถึงความจริงขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง คือ เป็นความจริง ที่ว่าเพราะอะไรได้ยินเป็นธรรม คุณทองศรีก็ตอบว่า เพราะเป็นความจริงชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น สภาพธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง โดยสภาพนั้น ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ห้าม ไม่ให้ได้ยินได้ไหม เวลาได้ยินเกิดขึ้นจะบอกว่า อย่าได้ยิน ได้ไหม
ท. คงไม่ได้
สุ. และให้ได้ยินไปเห็นได้ไหม อย่าทำหน้าที่ได้ยิน ไปเห็นเสีย ได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่คือลักษณะของจริงแต่ละอย่างๆ ซึ่งเป็นธรรมแต่ละชนิด
คืนนี้คุณทองศรีจะไม่มีตัวตน เพราะว่าเป็นธรรมหมดทุกอย่าง ใช่ไหม
เวลานอนก็คิดขึ้นมาได้แล้วว่า เห็นต้องเป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม คิดนึกก็เป็นธรรม สุขก็เป็นธรรม โกรธก็เป็นธรรม ชอบก็เป็นธรรม เป็นธรรมไปทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งสภาพธรรมใดก็ตามที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้ ที่รู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นใช่ไหม คุณทองศรีจึงได้กล่าวว่ามีจริง
อย่างเช่น ได้ยิน ถ้าไม่มีการได้ยินเกิดขึ้นเลย จะบอกว่าได้ยินมีจริงได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง เกิดขึ้น จึงปรากฏให้รู้ว่ามี
อย่างเสียงเป็นธรรมหรือเปล่า
ท. เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ สามารถสัมผัสได้
สุ. ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางอื่น ฉะนั้น เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ ถ้าเสียงไม่เกิด จะได้ยินได้ไหม
ท. ก็คงไม่ได้
สุ. ฉะนั้น ทุกอย่างที่ปรากฏ ต้องเกิดขึ้นจึงปรากฏ นี่คือ สัพเพ สังขารา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง แต่ที่จะไม่เที่ยงได้ ต้องเกิดก่อน และจึงดับ จึงกล่าวว่า ไม่เที่ยง
ก็โยงเข้ามาหาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง ซึ่งไม่เว้น อะไรเลยสักอย่างเดียว และมีความลึกซึ้ง มีความละเอียดที่จะทำให้คนที่ศึกษาเข้าใจชัดขึ้น จนกระทั่งสามารถค่อยๆ คลายความยึดถือสภาพธรรม และสามารถ เจริญปัญญาเป็นลำดับขั้นได้ แต่ไม่ใช่ว่าโดยคุณทองศรีไม่ทราบอะไรเลย มานั่งเฉยๆ ประเดี๋ยวกิเลสจะหมด เป็นไปไม่ได้เลย ใช่ไหม
การศึกษาต้องตามลำดับขั้น การฟังก็ต้องตามลำดับขั้น การที่จะมีฉันทะ วิริยะที่จะอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องตามลำดับขั้น
ถ. ขณะที่เราเจริญสติ ระลึกรู้นามรูป ปัญญาจะต้องพิจารณาทีละอย่าง ใช่ไหมว่า ขณะที่สีปรากฏ ที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงแต่รูป ...
สุ. ไม่ใช่ไปเรียกว่ารูป แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ถ. เป็นสภาพที่ไม่รู้ ปรากฏทางตา อีกขณะหนึ่งปัญญาก็พิจารณาว่า การเห็นนั้นก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง
สุ. ไม่ใช้ชื่ออีกเหมือนกัน เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้
ถ. ปัญญาที่พิจารณารู้ จะต้องรู้ทีละอย่าง ทีละนาม ทีละรูป ใช่ไหม ไม่ใช่ว่ารู้พร้อมๆ กัน
สุ. ถูกต้อง จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งจะต้องรู้สิ่งเดียวเท่านั้น รู้หลายๆ สิ่ง พร้อมกันไม่ได้
ถ. เวทนาใดๆ จะเกิด สัญญาจะเกิด และสติระลึกรู้นั้น ก็ให้รู้ว่า ...
สุ. ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ชัด ที่รู้ชัด คือ ไม่มีเรา เมื่อไรรู้ชัด คือ เมื่อนั้นไม่มีเราที่กำลังรู้
ถ. ไม่จำกัดว่า จะเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
สุ. ที่เกิดขึ้น
ถ. ต้องรู้ให้หมด
สุ. สติสามารถที่จะระลึกได้
ถ. ขณะที่ปัญญารู้ ก็รู้ว่า ...
สุ. ปริยัติทั้งหมดที่เรียน เพื่อแสดงความละเอียดของสภาพธรรมที่ ไม่สมควรจะยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนนั้นอบรมเจริญปัญญา จนรู้อย่างนั้น แต่เป็นแนวทางให้เข้าใจละเอียดขึ้น และสติปัฏฐานก็ค่อยๆ อบรมเจริญ และเมื่อปรากฏสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่ผิดจากที่เคยศึกษา แสดงให้เห็นว่านั่นถูกและตรง คือ ปริยัติอย่างไร ปฏิบัติก็อย่างนั้น ปฏิเวธก็อย่างนั้น เพราะฉะนั้น จะไม่มีปริยัติไม่ได้
ผู้ฟัง แบบที่ไปนั่งหลับตา เจริญสมถะ จิตสงบและปัญญาจะเกิดเอง คงจะไม่มีโอกาสเป็นไปได้
สุ. เหตุไม่สมควรกับผล
ผู้ฟัง คือ ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้
สุ. ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าปัญญาคืออะไร และปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง ที่สอนๆ กันอยู่ทั่วไปว่า ไม่ต้องอ่านตำรา ไม่ต้องศึกษา นั่งไป ทำไป สมาธิเกิดและปัญญาจะรู้เอง
สุ. และจะรู้อะไร คำถามคือจะรู้อะไร ข้อสำคัญที่สุดต้องรู้ก่อนว่า ปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง การที่จะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง จะต้องรู้ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ว่า เป็นแต่สภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปนั่งหลับตานึกเอาว่า นั่นไม่ใช่เรา หรือตับไตไส้พุงไม่ใช่เราทั้งนั้น นั้นเป็นการนึกคิด อย่างนี้ก็ไม่ใช่หนทางดับกิเลส
ถ. ผู้ที่เริ่มสนใจ ผมเชื่อว่า ถ้าฟังและพิจารณาจะมีประโยชน์มาก เพราะจากการที่คุณทองศรีบอกว่า รู้นามรู้รูปก็ดี ธรรมชาติก็ดี ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่า นามรูปนั้นรู้ได้ด้วยวิธีไหน รู้ได้อย่างไร เพราะคำว่า นามรูป แม้จะพูดง่ายๆ แต่เป็นสิ่งที่ยากที่สุด ยากจริงๆ เพราะขณะที่เห็นจะเป็นนามเป็นรูปได้อย่างไร ไม่ใช่เพียง พูดตาม แต่ลักษณะของนามและรูปต้องมีจริงๆ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต่อไปสู่ธรรม มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ ไม่ทราบว่า ผมพูดผิดหรือถูก
สุ. มีของจริงที่ยังไม่รู้ ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ ของจริง ซึ่งมีจริงๆ
ถ. ทำอย่างไรจะมีโอกาสขัดเกลาให้ตัวเองเป็นผ้าเช็ดเท้าได้ โอกาสที่ตัวเองจะคิดว่าเป็นผ้าเช็ดเท้าแทบไม่มี เพราะส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองดีกว่าผ้าเช็ดเท้า แต่ความจริงคำว่าผ้าเช็ดเท้าที่อาจารย์พูดว่า ต้องทำตัวเองให้เหมือนผ้าเช็ดเท้า หมายความว่าผ้าเช็ดเท้าสามารถรับได้ทุกอย่าง ไม่ว่าเรื่องดีเรื่องร้าย แต่ส่วนใหญ่ ผ้าเช็ดเท้าไม่ใช่เรื่องดี เป็นเรื่องเลวๆ ที่เขาต้องเช็ดออก เพราะถ้าดีก็คงไม่เช็ด เราจะมีวิธีอย่างไรให้มีโอกาสเป็นผ้าเช็ดเท้าได้
สุ. พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีมากในพระไตรปิฎก และตามระดับความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะค่อยๆ พิจารณาเห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศล จนกระทั่งถึงระดับขั้นที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น กว่าจะดับกิเลสได้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งยากจริงๆ ที่จะรู้ได้ในลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งทุกคนก็ได้ยินบ่อยๆ ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นและดับไป ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องการคิดนึก ยากที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมเป็นลำดับขั้น โดยไม่ใจร้อน เพราะจะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อยังเป็นปุถุชน หมายความว่าเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสมาก เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องรู้ตัวเองว่ามีกิเลสมาก จึงเริ่มรังเกียจกิเลสที่มี เป็นประเภทๆ
ถ้ายังไม่เห็นว่ากิเลสที่มีเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็จะพอกพูนและแสวงหากิเลสนั้นๆ เพิ่มขึ้น และอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่น มานะ ความสำคัญตน ก็อาจจะคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ทุกคนจะต้องมี ต้องเป็นคนสำคัญ ต้องเป็นคนที่ทุกคนสนใจ แต่ ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าทุกคนลดความสำคัญตนลง แม้โดยที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเจริญกุศลได้มาก เวลาที่คิดถึงคนอื่น เมื่อเห็นความไม่ดีของคนอื่น ก็คิดว่าแม้เราเองก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีแต่เขา เราก็มี ในเมื่อเราก็มีด้วย ทำไมรังเกียจแต่อกุศลของคนอื่น ไม่รังเกียจอกุศลของเรา ซึ่งการรังเกียจอกุศลของคนอื่น ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับเราเลย แต่การที่ย้อนกลับมาว่า อกุศลที่คนอื่นมีนั้น เราก็มี และเราผู้เดียวเท่านั้นที่จะเพียรขัดเกลาอกุศลของเราได้ เราไม่สามารถไปขัดเกลาอกุศลของคนอื่นได้เลย
การระลึกอย่างนี้ จะทำให้เพิ่มความสังวร ระวัง และเจริญกุศลขึ้นได้ พร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการที่ปัญญาสามารถจะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ถ. ส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะรู้ว่าตัวเองมีอกุศลหรือมีกิเลส คิดว่าตัวเองไม่ค่อยจะมีอะไร นั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ กิเลสก็ไม่ค่อยจะมีมากมายอะไร ถ้าหากคิดอย่างนี้โอกาสที่จะเป็นผ้าเช็ดเท้าคงจะยาก ฉะนั้น ก่อนที่เราจะเป็นผ้าเช็ดเท้าได้ เราต้องรู้ว่าตัวเรามีความไม่ดี คือ กิเลส มากมายแค่ไหน และวิธีการที่ทำให้เรารู้ว่าตัวเราไม่ดีหรือมีกิเลส ก็เป็นสิ่งที่ยาก ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำด้วย
สุ. ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยว่า กิเลสเกิดเมื่อไร และกิเลสมีความละเอียด มีความหยาบ มากน้อยแค่ไหน
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ไม่สามารถ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยข้อความสั้นๆ ได้ศึกษาให้เข้าใจเรื่องของตัวเองละเอียดขึ้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสัจธรรม เป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ แม้แต่กิเลสของตนเองก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเหมือนๆ กัน เช่น ความพอใจยินดีที่เป็นโลภะ จะบอกว่าเป็นของเราคนเดียวได้ไหม ในเมื่อเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อไร ก็ทำให้ มีความติดข้อง พอใจ ปรารถนาในสิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนๆ กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะ เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ชาติศาสนาใดๆ โลภะก็คือโลภะเหมือนกัน โทสะก็คือโทสะเหมือนกัน โมหะก็คือโมหะเหมือนกัน จึงควรเข้าใจพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
และการที่จะสามารถเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมจริงๆ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป เพียงฟังนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เพียงพอที่จะไปต่อต้านกับอกุศลซึ่งพอกพูนหนาแน่นสะสมมาที่เพียงเห็นก็เกิดโลภะบ้างหรือโทสะบ้าง ได้ยินเสียงที่พอใจก็ต้องเกิดโลภะ ถ้าเป็นเสียงที่ไม่พอใจก็ต้องเกิดโทสะ
ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องถูกกิเลสครอบงำ จนกว่าจะมีปัญญา ความเข้าใจ ในลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ถ้าค่อยๆ ศึกษาถึงปัจจัยและสภาพธรรมที่เกิดขึ้น จะทำให้ค่อยๆ ระลึกได้ ในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง หรือโกรธบ้าง หรือรักบ้าง หรือริษยาบ้าง หรือสำคัญตนบ้าง แล้วแต่ว่าสภาพของอกุศลชนิดไหนมีปัจจัยจะเกิดขึ้นขณะไหน สติก็สามารถระลึกได้และเห็นโทษ รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ตามการสะสมมากน้อยต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้น การรู้จักตัวเองว่ามีอกุศลประเภทใดมากน้อยเท่าไร ย่อมดีกว่าการเป็นผู้ฉลาดที่จะรู้จักอกุศลของคนอื่น และในขณะที่กำลังรู้จักอกุศลของคนอื่น ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาจิตด้วยว่า ขณะนั้นเกิดเมตตาหรือเกิดอกุศล ในขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น ถ้าเป็นผู้ที่ขาดทุนก็คือว่า เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้วตนเองเกิดอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือว่า เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้วก็เกิดเมตตา เพราะว่าแม้ตนเองก็มีอกุศลอย่างนั้นเหมือนกัน
ผู้ฟัง ทุกท่านคงจะเห็นแล้วว่า การพยายามตั้งใจฟังบ่อยๆ ติดตามสม่ำเสมอในเรื่องธรรม ข้อปฏิบัตินี้เป็นความสำคัญแค่ไหน โดยจะเห็นได้ว่า ที่พระเชตวันนี้ พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ๒๕ พรรษา ตลอด ๒๕ พรรษา ถ้านับ เป็นวัน ก็ไม่สามารถจะคิดได้ในขณะนี้ว่ากี่วัน กี่ชั่วโมง แต่ตลอดเวลา ๒๕ ปี พระพุทธองค์ท่านเทศน์อยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่างเลย ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหน พระพุทธองค์ตรัสสอนทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนถึงเทวดา ไม่ทรงมีเวลาได้พักผ่อน
การที่พระพุทธองค์ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อพระสาวก เพื่อพุทธบริษัท เพื่อให้ได้ฟังธรรม เพื่อจะได้เข้าใจธรรม เพราะตราบใดที่ยังไม่เข้าใจธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะมีไม่ได้ หรือประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะไม่ถูก
เรื่องฟังธรรมเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งที่ทุกคนจะต้องตั้งใจ จะต้องสนใจ อย่างที่อาจารย์ได้บอกไว้แล้ว
พูดด้วยใจจริงๆ ผมก็ศึกษาเล่าเรียนบวชมาแล้ว แต่ไม่มีใครชี้ว่า อย่างนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นต้องเป็นอย่างนั้น คือ การปฏิบัติส่วนใหญ่ต้องไปหาครูอาจารย์ ที่อื่น ส่วนที่เรียนมาแล้วจะเป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติไม่มีใครชี้บอก ไม่มีใครชี้แนะ ผมมาพบท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้ที่สามารถชี้แนวทางว่า การประพฤติปฏิบัติจะต้องมีความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ เมื่อความเข้าใจมีแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการปฏิบัติโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้น เราอย่าละเลยโอกาสที่จะฟัง การฟังนี่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ผมขอให้อาจารย์แสดงวิธีการที่จะฟังธรรม โดยให้เข้าใจธรรม
สุ. ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าประมาทพระธรรมว่าง่าย เพราะถ้าอ่านใน พระสูตรบางสูตร หรือฟังเรื่องของสภาพธรรม จะรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีอะไร เช่น ถ้าพูดถึงโลภะ ทุกคนเข้าใจได้ทันที พูดถึงโทสะ ทุกคนก็เข้าใจได้ พูดถึงโมหะ ทุกคนก็เข้าใจได้ และถ้าเพียงบอกว่า ให้ละโลภะเสีย ให้ละโทสะเสีย ให้ละโมหะเสีย ถ้าเป็นเพียงคำพูดเท่านี้ ไม่มีใครสามารถที่จะกระทำได้เลย นี่เป็นความจริง
ต้องเป็นผู้ที่ตรงและรู้ว่า สภาพธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งดูเหมือนง่ายเพราะทุกคนมี สามารถที่จะรู้ได้พิสูจน์ได้นั้น เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งที่พระผู้มีพระภาคต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๕ ตอนที่ ๑๖๔๑ – ๑๖๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685