แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659


    ครั้งที่ ๑๖๕๙


    สาระสำคัญ

    รสมีลักษณะของจริงอย่างนั้น (ไม่ไปใส่ชื่อ ไม่ไปคิดนึกเรื่องราว)

    จับสีได้ไหม

    ไปหาอะไรในเชตวัน (ไปเพื่อหาพระธรรม หาความเข้าใจ)

    เก็บไว้หทัย

    สัจจญาณ (ปัญญาที่เข้าใจความจริงว่า ความจริงคืออะไร)

    เหตุมีแล้ว ผลต้องมี


    สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


    . อย่างนี้เองที่อาจารย์ว่า เวลารู้ว่าเป็นรสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน ลักษณะของรสนั้นต้องปรากฏตามลักษณะของเขา ไม่ใช่รู้แต่รสเฉยๆ ไม่รู้ว่าเปรี้ยว ว่าเค็ม ว่าหวาน เพราะในขณะที่รู้นั้นสัญญาก็เกิดพร้อมอยู่แล้ว สัญญาต้องจำว่าลักษณะอย่างนี้เป็นรสเค็ม รสหวาน แต่เราไม่ต้องไปใส่ชื่อ ไม่ไปคิดนึกเรื่องของชื่อเท่านั้นเอง แต่ลักษณะจริงๆ ต้องปรากฏ ไม่อย่างนั้นทางมโนทวารจะรู้ตามได้อย่างไร

    สุ. ชิวหาวิญญาณเป็นสภาพที่เกิดขึ้นลิ้มคือรู้รสนั้น เพราะฉะนั้น รสนั้น มีลักษณะของจริงอย่างนั้น เปลี่ยนรสนั้นไม่ได้ รสเกลือก็เป็นรสหนึ่ง รสน้ำตาลก็ เป็นรสหนึ่ง เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่างไม่มีรส และทางมโนทวารไปจำไว้ ไม่ใช่ แต่รสเค็มจะรู้ได้โดยกระทบกับชิวหาปสาทและจิตเกิดขึ้นจึงได้รู้รสเค็มนั้น เพราะว่า รสเค็มนั้นกระทบกับลิ้น ส่วนรสหวาน รสหวานก็กระทบกับชิวหาปสาทซึ่งเป็นรูปที่ลิ้นที่สามารถรับกระทบกับรส และชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรสก็เกิดขึ้นรู้หวาน

    ผู้ฟัง ลิ้มเองขณะนั้นไม่ได้คิด

    . ที่อาจารย์พูดเป็นประโยชน์จริงๆ สำหรับขั้นต้นที่จะเริ่มเข้าใจธรรม ถ้าเข้าใจว่าธรรมคืออะไร จะเป็นบันไดที่จะให้เราเข้าใจต่อๆ ไปได้อย่างดี ผมคิดว่าคุณทองศรีคงจะเข้าใจแล้วว่าธรรมคืออะไร

    . ดิฉันไม่แน่ใจ จึงยังไม่อยากออกความเห็น คิดว่าอยากฟังมากกว่า

    สุ. เพราะฉะนั้น ถามง่ายๆ ให้คิดว่า คุณทองศรีจับสีได้ไหม

    . ไม่ได้

    สุ. เพราะอะไร

    . เพราะไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่จะจับได้

    สุ. เวลาจับ คุณทองศรีจับอะไร

    . ก็จับได้หลายทาง ตั้งแต่ตาก็จับ คือ มองดู

    สุ. ไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่หมายความว่า อย่างดิฉันจับถ้วยแก้ว หรือจับโต๊ะ จับรองเท้า จับได้ สัมผัสได้ กระทบได้ แต่สีเป็นสิ่งที่เราจับได้ไหม

    . ไม่ได้ เพราะไม่มีตัวตนให้เราจับ หรือไม่มีสิ่งที่แสดงออกมาให้เราจับได้

    สุ. ถ้าอย่างนั้นเวลาที่เราจับ เราจับอะไร

    . เมื่อกี้จับผ้า จับโต๊ะ

    สุ. ถ้าคุณทองศรีหลับตาและจับ นี่อะไร

    . มือคุณประวิทย์

    สุ. หลับตาแล้วยังรู้อีกหรืออีกหรือ ทำไมทราบว่าเป็นมือคุณประวิทย์ ลองจับใหม่ ตอนนี้มือใคร

    . ไม่ทราบว่ามือใคร

    สุ. เมื่อกี้ทำไมรู้ว่าเป็นมือคุณประวิทย์

    . เมื่อกี้รู้ เพราะมีนาฬิการู้ว่ามือคุณประวิทย์

    สุ. ที่จริงแล้วสิ่งที่จะจับได้ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ความจริงแท้ๆ โดยที่เรายังไม่เรียกชื่อสิ่งนั้น ยังไม่เรียกว่าคุณแอ๊ว คุณประวิทย์ หรือว่าเทป หรือว่าผ้า หรือว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็เป็นสภาพธรรมของจริงอย่างหนึ่งซึ่งไม่เปลี่ยน กระทบเมื่อไร เมื่อนั้นจะปรากฏลักษณะที่เพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว มีเท่านี้เอง

    นี่ทางกาย โลกหนึ่งแล้ว นี่คือปรมัตถธรรม ธรรมที่ไม่ต้องใช้ชื่อ แต่เรามาสมมติเรียกกัน อย่างคุณแอ๊ว มีอะไรบ้าง เรามาวิจัยดูตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบสัมผัสไปเรื่อยๆ อ่อนหรือแข็งเท่านั้นเอง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะที่ใคร ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และในตัวคุณแอ๊วก็ยังมีอากาศธาตุ หรือในตัวทุกคน หรือแม้แต่โต๊ะ ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทุกกลุ่มปรมาณูเล็กๆ ซึ่งสามารถแตกย่อยออกมาได้อย่างละเอียดยิบที่สุด หาความเป็นโต๊ะอีกไม่ได้เลย แต่เมื่อมาประชุมรวมกันขึ้น ก็ทำให้เกิดความจำว่า ลักษณะอย่างนี้เป็นโต๊ะ ทั้งๆ ที่แข็งเท่านั้นเอง ลักษณะอย่างนี้เป็นเก้าอี้ ทั้งๆ ที่ก็อ่อนหรือแข็ง หรือนุ่ม ลักษณะอย่างนี้เป็นเทปคาสเซ็ท แต่ถ้ามาแตกย่อย และเอามาแต่เฉพาะลักษณะแท้ๆ ของเขา ก็คือ สภาพธรรมที่เปลี่ยนไม่ได้ เป็นสิ่งซึ่งมีจริงและกระทบสัมผัสได้

    เราจึงต้องมาแยกรู้ว่า ที่เราเคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งต่างๆ จริงๆ ได้ไหม หรือมีแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละธาตุซึ่งมารวมกัน และทำให้เรายึดมั่นว่าสิ่งนั้นมีจริง

    อย่างคิดว่าเทปต้องมีจริงๆ แน่ รูปร่างอย่างนี้ต้องเป็นเทปแน่ๆ เป็นอย่าง อื่นไปไม่ได้ แต่ตามความจริงแล้ว ถ้าไม่มีธาตุดินและกลุ่มของรูปซึ่งมารวมติดกัน อย่างนี้ สิ่งนี้ก็มีไม่ได้ ฉันใด ตัวคนก็เหมือนกัน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็มีไม่ได้ แต่เรามายึดถือด้วยความไม่รู้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วที่เรายึดถือ คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่คุณทองศรีต้องการ ลองกลับไปจับดูว่า ต้องการอะไร ทางกายต้องการอ่อน แข็ง เย็น ร้อน แล้วแต่ว่าจะทำให้เราสบายหรือไม่สบาย ทางตาก็พอใจในสี สีจริงๆ ที่ปรากฏ สีเท่านั้น ถ้าไม่มีความต่างของสีที่เป็นคิ้ว เป็นปาก เป็นแก้ม เป็นหน้าเป็นตา เราก็ไม่พอใจ ใช่ไหม แต่ถึงแม้ว่าจะมีคิ้ว เป็นรูปร่างอย่างนี้ เราก็ยังพอใจที่จะให้มีสีตรงนี้ ที่เราคิดว่าเป็นคิ้วให้เป็นอย่างนั้น ที่เราคิดว่าเป็นปากให้เป็นอย่างนี้ คือ เราติดในสีที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น จึงมีคำพูดที่เขาพูดกันว่า คนที่น่ารักที่สุด คือ คนที่คนตาบอดรัก เพราะเขาไม่เห็น

    . ยังไม่เข้าใจ

    สุ. คนที่น่ารักที่สุด คือ คนที่คนตาบอดรัก คือ เขาไม่ได้รักสีสันวัณณะ ไม่ได้รักหน้าตาว่าคนนี้สวยหรือไม่สวย เพราะฉะนั้น คนนั้นต้องเป็นคนที่น่ารักจริงๆ ที่แม้คนตาบอดก็รัก

    . ข้อนี้ยอมรับไม่ได้ คนที่คนตาบอดรัก อาจจะไม่จำเป็นต้องน่ารักสำหรับคนอื่นก็ได้

    สุ. เป็นคนดีสำหรับเขา ดีสำหรับคนตาบอด ก็น่าจะดีสำหรับคนอื่นด้วย คือ แม้ไม่สวย คนตาบอดก็ยังรักได้

    ผู้ฟัง เมื่อคืนนี้อาจารย์สมพรพูดว่า ธรรมที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยาย มีความละเอียดมากที่สุด ถ้าไม่ได้ฟังด้วยตัวเองจะไม่รู้เลยว่า การประพฤติปฏิบัติ คืออย่างไร รู้สึกมีความเป็นห่วงมากว่า ผู้ให้ความรู้ธรรมต่อจากท่านอาจารย์ สุจินต์จะมีใครหรือเปล่า ผมก็บอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถไปแต่งตั้งใครได้ อาจารย์สมพรบอกว่า น่าเสียดาย เพราะว่าโอกาสที่จะได้ฟังธรรมอย่างละเอียดอย่างนี้ หาฟังที่ไหนไม่ได้ และที่คุณนิภัทรพูดถึงความรู้สึกออกมา ที่ตัวเองได้รับประโยชน์จนกระทั่งทำให้คนอื่นที่เขาไม่ได้อยู่ในวงการ เขาก็มองไปในแง่ว่า คุณนิภัทรยกย่องท่านอาจารย์จนกระทั่งที่อื่นผิดหมด

    สุ. วันนั้นที่ไปพระเชตวัน ที่ถามว่า ไปหาอะไรในเชตวัน พี่หงวนก็บอกว่า ที่ไปเพื่อหาพระธรรม ไปหาความเข้าใจ ซึ่งถ้าดิฉันไม่ได้อธิบายไว้พี่หงวนก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมนี้ได้เลย ดิฉันก็ต้องบอกว่า พี่หงวนต้องเก็บไว้ในหทัย คือ อย่าพูดคำนี้ เพราะว่าพูดแล้วอาจจะทำให้หลายคนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ได้ เพราะเขาอาจจะคิดว่า เป็นการยกย่องเฉพาะคนเดียว เพราะฉะนั้น มีอะไรก็เก็บไว้ในหทัย คือ เก็บไว้ในใจ ถ้าไม่สมควร

    ผู้ฟัง ทุกคนไม่เหมือนกัน อย่างความรู้สึกของผม ผมพิจารณาว่า การที่จะกล่าวยกย่อง ดูเหมือนไปดูถูกคนอื่นว่าเขาผิดหมด

    สุ. ก็ไม่จำเป็นต้องยกย่อง

    ผู้ฟัง สนทนาธรรมดีกว่า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ในส่วนที่ระลึกถึงบุญคุณ

    สุ. ไว้เป็นโอกาสอื่น ส่วนตัว

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้ที่จะพูดออกมาเป็นคำพูด

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าสมควรที่จะพิจารณาธรรมในขณะนี้มากกว่า เพราะว่าเวลา มีน้อย และค่อยๆ หาเวลาปลีกตัวยกย่องต่างหาก

    สุ. ยกย่องในใจ ยกย่องลับหลัง ยกย่องที่ไหนก็ได้

    ผู้ฟัง แต่คนส่วนใหญ่ที่ถามเรา เห็นว่าเราสนใจธรรม เขาก็ถามว่าจะไป สำนักไหนดี จะไปหาอาจารย์ที่ไหนดี

    สุ. ถ้าเขาถาม เราก็บอกตอนนั้น แต่ตอนนี้เราจะสนทนาธรรมกัน เก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะว่าบางคนอยากฟังเรื่องธรรม และเขาได้ยินการยกย่อง เขาก็เลยสงสัยว่าธรรมเป็นอย่างไร ยังไม่เข้าใจอะไรเลย

    ผู้ฟัง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าเราเข้าใจธรรม

    สุ. แต่เขายังไม่พร้อม ความพร้อมของคนสำคัญที่สุด

    ผู้ฟัง เวลานี้ไม่จำเป็นต้องพูดเปรียบเทียบ เพราะว่าสิ่งที่เราควรเข้าใจ คือ หนทางการเจริญสติที่จะเข้าไปสู่คำว่า สัมมาสติ

    สุ. และอีกอย่าง ฟังดู เขาจะคิดว่าเราเปรียบ ทำให้เขาเข้าใจผิดได้ว่า ทำไมต้องมีการเปรียบ ถ้าเราพูดถึงธรรม และเขาเปรียบเอง อย่างนี้จะดีกว่า ใช่ไหม

    ผู้ฟัง พูดถึงอาจารย์หรือสำนัก ถามเขาได้ทันทีว่า สำนักนั้นเขาสอนอะไร หรือว่าอาจารย์นั้นเขาสอนอะไร เมื่อได้ยินเรื่องธรรมของที่นั่น ก็มีเรื่องธรรมที่จะ คุยกันได้ว่า เป็นธรรมจริงๆ หรือเปล่า เปลี่ยนจากเรื่องสำนักเป็นเรื่องธรรมทันที โดยถามว่า เขาสอนอะไร

    . พูดถึงคำว่าสัจจญาณ เป็นความรู้ที่หมดความสงสัยในเรื่องของการฟังให้เกิดความเข้าใจ เช่น ทางที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม หมายความว่าแม้สภาพธรรมอย่างนั้นยังไม่ปรากฏ แต่จากการฟังมีความมั่นคง คิดว่าถ้าสภาพธรรมอย่างนั้นปรากฏ ก็ต้องปรากฏที่เป็นรูป เป็นนาม จนกระทั่งไม่สงสัย ใช่ไหม

    สุ. สัจจะ แปลว่า ความจริง ญาณ แปลว่า ปัญญา เพราะฉะนั้น สัจจญาณ คือ ปัญญาที่เข้าใจความจริงว่าความจริงคืออะไร สัจจธรรมนี่คืออะไร และต้องมีกิจจญาณต่อไป เขามีตั้ง ๓ รอบ

    . และสภาพของกิจจญาณที่จะต่อจากสัจจญาณคืออะไร

    สุ. สติระลึกทันที

    . เวลาพูด แยกกันได้ แต่เวลาสภาพธรรมที่จะต่อเนื่อง ก็ต่อได้ทันทีเลย โดยไม่ต้องไปรอ

    สุ. ไม่มีใครรู้ได้ว่า สังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้สติเกิดเมื่อไร ในขณะที่กำลังฟังและเข้าใจก็ได้

    . เพราะฉะนั้น กิจจญาณสามารถต่อจากสัจจญาณได้เลย

    สุ. เมื่อมีสัจจญาณแล้ว กิจจญาณจะเกิดเมื่อไรก็ได้ ตามสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง แล้วแต่ ไม่มีใครเป็นตัวตนที่จะไปบอกว่า เมื่อนั่น เมื่อนี่

    . เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ จะต้องให้สัจจญาณแน่น เหมือนเป็นกรอบ เป็นการแบ่งชั้น แบ่งระดับ

    สุ. รู้จริงๆ ว่า ปัญญาจะต้องรู้อะไร แน่ใจ เข้าใจ ไม่ไปทำอย่างอื่น เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเข้าใจว่า สัจจะ ความจริง คือ กำลังเห็นนี่จริง เกิดดับ กำลังได้ยินนี่จริง เกิดดับ และเราจะไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร นอกจากสติจะระลึก ที่เห็น ที่ได้ยิน ตามปกติ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง

    . … (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. อย่างเขาไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา และเขาล้างบาป คุณแก้วคิดว่า ถูกหรือผิด

    . คิดว่าไม่ถูก เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญเรื่องนี้ว่า อาบน้ำแล้ว จะถูกต้อง

    สุ. ถ้าเหตุเป็นอกุศล ผลก็ต้องเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเหตุเป็นกุศล ผลก็ต้องเป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นความเห็นว่า สิ่งที่ทำไปแล้วเป็นอกุศล ซึ่งจะต้องให้ผลแน่ๆ จะเอาน้ำมาล้างได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ที่ว่าผิด ผิดเพราะอย่างนี้ คือ เราสามารถอธิบายชี้แจงให้เขาฟังได้ว่า เมื่อเหตุมีแล้ว ผลต้องมี เราจะเอาน้ำไปล้างผลออกไป ทั้งๆ ที่เหตุมีอยู่ที่จะให้เกิดผล จะเป็นไปได้อย่างไร ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เราต้องกล้าหาญที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวคน ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความเห็นถูกและความเห็นผิด

    ความเห็นถูกคืออย่างไร ความเห็นผิดคืออย่างไร เอาชื่อคนออกให้หมด ถ้า เรากล้าหาญพอที่จะเข้าใจธรรม จึงจะมีปัญญาที่ช่วยตัวเราเองได้ เราไม่ใช่ไปว่า ใครเลย แต่เราพิจารณาธรรม เป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น ถ้าผิดเราก็ต้องบอกว่าผิด ถ้าผิดจะให้เราบอกว่าถูก เราก็บอกไม่ได้ ถ้าเราบอกว่าผิดเป็นถูก ก็หมายความว่า เรามีความเห็นผิดไปด้วย อะไรถูก อะไรผิด คุณแก้วอาศัยอะไร

    . พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

    สุ. และเราพิจารณาพระธรรมอีกว่า พระธรรมที่ทรงแสดงถูกหรือผิด ถ้าผิดไม่ต้องเชื่อ พระพุทธเจ้าตรัสว่า แม้ใครจะอ้างว่าได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ แต่ถ้าพิจารณาแล้วไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องเชื่อ ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็ไม่ต้องเชื่อ

    เพราะฉะนั้น ใครจะอ้างว่าอย่างไร ไม่สำคัญเลยทั้งหมด เราศึกษาพระธรรม และพิจารณาดูว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเหตุเป็นผลไหม ถ้าเป็นเหตุเป็นผล ถูกต้อง อย่างอื่นที่ตรงกันข้ามกับพระธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล ต้องผิด ถ้าเอาตัวเราตัดสิน ผิดได้ แต่ถ้าเอาพระธรรม พิจารณาแล้ว ศึกษาแล้ว จึงจะเป็นเครื่องชี้ว่า อะไรถูก อะไรผิดได้

    ผู้ฟัง พูดถึงความเห็นผิด คิดว่าเป็นโทษ และจะมีผลต่อไปข้างหน้าหรือเปล่า เพราะถ้ายังไม่เห็นคุณ ยังไม่เห็นโทษ แม้จะพูดว่าเห็นผิด เห็นถูก ก็เป็นการพูดเฉยๆ แต่ถ้ารู้ว่า เห็นผิดแล้วจะนำไปสู่หนทางที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย จนกระทั่ง เป็นเหมือนคนที่ไปอาบน้ำที่แม่น้ำคงคา คิดว่าเป็นการล้างบาป จนกระทั่งอาจจะมากกว่านั้นอีกก็ได้

    ความเห็นผิด เห็นถูก จะนำไปสู่ทางกาย ทางวาจาหมดเลย ถ้ายังไม่เห็นโทษ คิดว่าพระธรรมคงจะไม่มีประโยชน์สำหรับในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าอย่างนั้น ถ้าเห็นโทษ เห็นประโยชน์เมื่อไร จึงจะรู้ว่าพระธรรมมีประโยชน์มาก

    อย่างหนังสือที่คุณนีน่าเขียน คือ พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ น่าคิดมาก ทำไมต้องมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คำว่า พระพุทธศาสนา คือ การไปวัด ไปทำบุญตามประเพณี ไม่ได้มากไปกว่านั้นเลย แต่เมื่อมาฟังเรื่องแนวทางการเจริญสติปัฏฐาน กับคำพูดว่า พระพุทธศาสนากับชีวิตประจำวัน ก็แสดงว่าต้องเกี่ยวข้องกันทุกสิ่งทุกอย่างหมด

    ถ้าเข้าใจ ผมคิดว่า แม้คนมั่งมีเงินก็ตาม คนจนก็ตาม จะมีประโยชน์มากที่สุด เวลาจนก็ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนจนเกินไป เวลามี ก็ไม่ทำให้หลงระเริงเกินไป เพราะว่าเวลามีแล้วมักจะประมาท เวลาจนก็มักจะเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจที่ ไม่สามารถมีบางสิ่งบางอย่างได้อย่างคนอื่น

    ถ้าเราเข้าใจตามเหตุผลว่า เราไม่สามารถจะเปลี่ยนสภาพความมี ความจน ความสุข ความทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะที่ทำปัจจุบันนี้กำลังจะไปรับผลต่อไปข้างหน้า เป็นการสร้างเหตุอยู่เรื่อยๆ ทุกขณะเรากำลังทำเหตุเพื่อจะไปรับผลต่อไป แต่ที่เรา เกิดมาแล้ว เรารับผลแล้ว และสร้างเหตุต่ออีกๆ ผมจึงพิจารณาว่า พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างมากที่สุดเลย

    เริ่มตั้งแต่เรื่องของทาน ทานตามความหมายที่ถูกที่ตรงแล้ว ต้องเป็นการ ลดความตระหนี่ของตัวเองลงไป เพราะขณะใดที่เราให้ แสดงว่าเราไม่ตระหนี่ ซึ่งโดยปกติแล้วก็ไม่ค่อยให้ และเมื่อจะให้ ถ้าเป็นวัตถุก็ให้วัตถุระดับที่ต่ำกว่า ที่จะ ให้วัตถุระดับเสมอกันยังไม่มีเลย แม้แต่ผมเอง จะให้ของที่เราพอใจแก่คนอื่น ยังให้ไม่ได้ แต่ต่ำกว่าให้ได้ เช่น เสื้อผ้ากางเกง

    ทานจริงๆ นี่ ยากมาก ถ้ายังไม่ใช่เพื่อเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส ผมคิดว่า ยังไม่เข้าในความหมายในทางพระพุทธศาสนา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๖ ตอนที่ ๑๖๕๑ – ๑๖๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    10 ก.พ. 2566