แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
ครั้งที่ ๑๖๖๖
สาระสำคัญ
ประโยชน์แท้จริงของการฟังพระธรรม
อานิสงส์ของการฟังพระธรรมมี ๕ ประการ
โลกที่ปรากฏทางตากับโลกที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา
นิมิตและอนุพยัญชนะ
บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐
ผู้ฟัง (ต่อ) จากการที่ผมได้ฟังอาจารย์ในช่วงนี้ ผมเข้าใจในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ปกติธรรมดา สติสามารถระลึกรู้ได้ว่า อย่างไหนเป็นกุศล และอกุศล จากความเข้าใจนี้ ผมพยายามติดตามฟังอาจารย์มาเรื่อยๆ จนรู้สึกตัวเองว่า สติในขั้นสติปัฏฐานคงจะไม่เกิดแน่นอน แต่สติขั้นทาน ขั้นศีล อาจจะเกิดขึ้น ที่หลงลืมสติก็มากมายเหลือคณานับ แต่บางครั้ง สมมติว่าจะยกมือไหว้ทำ ความเคารพสักครั้งหนึ่ง สติเกิดก็รู้ได้ว่า ไหว้ด้วยโทสะ หรือบางคราวไหว้ด้วยความเคารพนบน้อม จะรู้ว่าเป็นไปทางกาย วาจา ใจ ถ้าขณะนั้นสติเกิด เราจะอ่านแววตาของตัวเองได้ ผมพูดเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบ คือ แววตาคงเต็มไปด้วยความอ่อนน้อม อ่อนโยนขณะที่ทำความเคารพบุคคลผู้นั้น หรือในขณะที่โทสะเกิดขึ้น สติก็สามารถเกิดขึ้นได้ และความโกรธที่จะเป็นยาวๆ นานๆ นั้น ก็สามารถบั่นทอนขัดเกลาได้ ชั่วขณะหนึ่ง
ผมคิดว่า จากการฟังอาจารย์ตลอดมา และมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประพฤติปฏิบัติไปโดยไม่ต้องไปทำอะไรเลย ขณะที่กำลังถือสายยาง จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะทำอะไร จากการเข้าใจในขั้นการฟัง เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นไปโดยสภาพธรรมที่เราได้เคยศึกษามา
ถ้าเราจะนั่งสมาธิ ก่อนจะนั่ง เขาสอนให้เราทำอย่างนั้น พูดอย่างนี้ เรามีความเข้าใจไหม ถ้าหากเราไม่มีความเข้าใจ เราก็ไม่ทำ หลังจากที่มาฟังอาจารย์แล้ว ผมก็เริ่มประพฤติปฏิบัติ อันไหนที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุไม่มีผล สมมติว่าให้ทานแล้ว สติเกิด มีความปีติยินดี มีความพอใจว่าวันนี้ได้สร้างกุศล จิตผ่องใส คงจะได้กุศล เมื่อคิดว่าจะได้กุศล สติเกิด ก็หยุดคิดได้ทันที ลักษณะอย่างนี้ผมคิดว่า เป็นการประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่งแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องนั่งทำ หรือยืนทำ หรือเดินทำ ผมคิดอย่างนี้
สุ. ขออนุโมทนา นี่เป็นผลของการฟังพระธรรมและการเข้าใจเรื่อง การเจริญสติปัฏฐาน และไม่หวังว่าสติจะเกิดเมื่อไร สติประเภทไหน แต่เป็นผู้ที่เริ่มเห็นกิจของสติ เพราะว่ามีการระลึกได้แม้แต่ในการที่จะแสดงความเคารพ หรือ แม้ขณะที่ให้ทานและคิดถึงเรื่องผล นี่เป็นประโยชน์ของการฟัง ซึ่งจะเกื้อกูลปรุงแต่ง ให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งยากกว่าสติขั้นอื่น
ต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ และต้องอาศัยการฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ที่สติจะต้องระลึก ที่ปัญญาจะต้องรู้ เนืองๆ บ่อยๆ
ในตอนต้นของการบรรยาย ได้พูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมาก และ เมื่อเห็นว่าท่านผู้ฟังมีความเข้าใจพอสมควร ก็ได้พูดถึงเรื่องธรรมข้ออื่นๆ และขณะที่ได้พูดถึงเรื่องของโสภณสาธารณเจตสิกถึงตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็เป็นโอกาสที่จะได้กล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าหลายท่านที่ไม่ได้ฟังตอนต้น จะได้มีโอกาสพิจารณาเห็นประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานโดยถูกต้อง โดยไม่คลาดเคลื่อน เพราะถึงแม้จะกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ หรือว่าโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งคงจะต้องกล่าวถึงต่อไป แต่ก็ ขอแทรกเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป ไม่ทราบว่าจะเร็วจะช้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะอบรมเจริญมากถ้ามีโอกาส คือ ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะได้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตั้งแต่ในชาตินี้
ถ. ในขณะที่ฟังพระธรรมหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาพระธรรม จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้สติสามารถเกิดขึ้นบ้างบางครั้งบางคราว ไม่ได้หมายความว่าเกิดติดต่อเรื่อยๆ นานๆ แต่สักครั้งหนึ่ง ซึ่งจะมากกว่าปกติธรรมดา หลังจากฟังเทปธรรมแล้ว ไม่ว่าอาจารย์จะพูดเรื่องมรณานุสสติ หรือเรื่องเย็น ร้อน อ่อน แข็งต่างๆ หรือเรื่องอานาปานสติ ก็เข้าใจว่าตัวเองสติเกิด เพราะว่าผมยังเป็นปุถุชน ก็ย่อมจะมีความสงสัยเป็นธรรมดา ผมเข้าใจว่าลักษณะอย่างนี้คงจะต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ พร้อมด้วยความสงสัย จนกว่าจะมีความแน่ชัด ไม่ทราบว่าการเจริญในลักษณะที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขณะที่ฟังธรรมของอาจารย์และสติเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราว เป็นการเดินทางที่ถูกต้อง ใช่ไหม
สุ. สติปัฏฐานต้องเกิดสลับแน่นอน น้อยหรือมากต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่สติเกิด สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ
ผู้ฟัง เรื่องการฟังพระธรรม อาจารย์ก็พร่ำสอนอยู่เรื่อยว่า ให้ฟัง ผมไปอ่านในปัญจกนิบาต เรื่องอานิสงส์ของการฟังพระธรรม ก็ขอบอกไว้ ณ ทีนี้ว่า อานิสงส์ของการฟังพระธรรมมี ๕ ประการ
๑. ได้ฟังในสิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน
๒. ทำให้สิ่งที่ได้ฟังมาแล้วแจ่มแจ้งขึ้น
อย่างทุกวันนี้เราได้มาฟังอาจารย์เพิ่มขึ้น ก็แจ่มแจ้งขึ้นทุกที เมื่อกี้อาจารย์ก็บอกว่า เรานึกถึงเรื่องใหญ่ๆ ว่าเป็นวิบาก แต่เห็นทางตา ได้ยินทางหู เราไม่ค่อยได้นึกเลยว่า นั่นเป็นวิบาก นี่ก็เป็นประโยชน์อีก ทำให้ผมแจ่มแจ้งขึ้น นี่ก็เนื่องจาก การฟัง
๓. ทำให้คลายความสงสัยลงไป
๔. ทำความเห็นให้ตรง
นี่ก็ถูกอีก ทำให้เราระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริง ระลึกได้ถูกต้อง ได้ตรงขึ้น
๕. ทำให้จิตใจของผู้ฟังผ่องใส
เพราะฉะนั้น ฟังไปเถอะ อานิสงส์ ๕ ประการนี้ ได้แน่นอน
สุ. ขออนุโมทนา เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ รู้ยากว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงควรที่จะสังเกต ศึกษา แม้แต่เพียงเริ่มต้น อย่างเมื่อกี้ ที่มีเสียงดัง ขณะนั้นถ้าสังเกตจริงๆ จะรู้ว่า ทางตาไม่ได้ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะที่เสียงกำลังปรากฏและกำลังได้ยินเสียงนั้น และถ้าสติเกิดในขณะที่กำลังมีเสียง ปรากฏ สภาพที่รู้เสียงไม่ใช่เรา ถ้ามีความสังเกตพิจารณาในขณะนั้น แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น ก็ไม่ได้สนใจว่าเป็นใคร หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือการเริ่มสังเกต
และจะรู้ได้ว่า สิ่งที่เราเห็นทางตาว่าไม่เห็นดับไปเลย แม้ได้ฟังธรรมมา ไม่ว่านานสักกี่ปีก็ยังคงเห็นเป็นคนนั้นคนนี้อยู่เรื่อยไป ยังไม่สามารถแยกโลกที่ปรากฏทางตากับโลกที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาออกจากกันว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลยนั้น ก็เพราะว่าคิด ถ้าไม่คิด เพียงไม่คิดเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง แต่เมื่อเกิดคิดขึ้นจะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ และการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วทำให้เห็นเป็นคนกำลังพูด พัดลม กำลังหมุน แต่คิดดู สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับในขณะที่เสียงปรากฏ ถ้าไม่เห็นอีก จะมีการเคลื่อนไหวของรูปที่เห็นเมื่อกี้ได้ไหม
เห็น และมีการได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตเห็นที่จริงแล้วต้องไม่มี ในขณะนั้น และถ้าได้ยินอยู่ตลอดเวลาโดยไม่พิจารณา ไม่นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่เห็น จะมีการเคลื่อนไหวของรูปเมื่อกี้ที่เห็นไหม แต่เพราะเมื่อเห็นแล้ว จิต คิดนึกจำสิ่งที่เห็น และเห็นอีก และจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก และเห็นอีก และจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก จึงปรากฏว่ารูปนั้นเคลื่อนไหว อาจจะเป็นคนที่กำลังพัดเพราะว่า ร้อนมาก แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเห็นหลายขณะซึ่งสลับกับการได้ยิน ซึ่งการได้ยิน ก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น การเห็นอีกสืบต่อทำให้ปรากฏเป็นคนยืน คนพูด คนเคลื่อนไหว หรือวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนไหว แต่ให้ทราบว่า ในขณะนั้นการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเร็วสักแค่ไหน สลับกับเสียงซึ่งปรากฏทางหู หรือสลับกับแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ทุกคนต้องมีกายปสาทที่กระทบกับสิ่งที่อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ในขณะนี้ พิสูจน์ธรรมได้ ขณะที่กำลังรู้แข็ง ต้องไม่มีการเห็น นี่สำหรับผู้ที่ประจักษ์ลักษณะ ของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว แต่ผู้ที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญถึงขั้นที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังคงเห็นด้วย และรู้แข็งด้วย แต่ควรที่จะ น้อมพิจารณาถึงความจริงว่า ขณะที่แข็งปรากฏ เห็นดับแล้ว คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ทางตาซึ่งเกิดต่อทางมโนทวารวิถีก็ดับหมดแล้ว แข็งจึงปรากฏได้
เพราะฉะนั้น ถ้าใส่ใจในลักษณะที่แข็ง จะเห็นสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทางตาไหม
ก็ต้องไม่เห็น ใช่ไหม ถ้ารู้แข็งแล้วไม่เห็นอีกเลย หลับไปเลย จะไม่มี การปรากฏการเคลื่อนไหวของรูปที่ปรากฏทางตา แต่เพราะเห็นแล้วคิด และอาจจะรู้อารมณ์ทางทวารอื่น และกลับมาเห็นอีก จำได้อีก เห็นอีก จำได้อีก ทางตาจึงปรากฏเสมือนว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ และกำลังเคลื่อนไหวด้วย
นี่คือสิ่งที่จะต้องค่อยๆ สังเกต พิจารณา แม้เพียงได้ยินปรากฏ ถ้าใส่ใจ ในขณะนั้นจะรู้ว่า ไม่ได้สนใจในสีที่ปรากฏ จึงไม่ได้สังเกตรู้ว่าเป็นวัตถุ หรือเป็น บุคคลนั้นบุคคลนี้ ทั้งนิมิตและอนุพยัญชนะ
เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การที่สติเกิดเริ่มระลึกได้ เริ่มน้อมพิจารณาไป เรื่อยๆ โดยที่ว่าอาจจะมีลักษณะของสภาพธรรมอื่นเกิดแทรกคั่น และสติดับไป อย่างรวดเร็ว และก็นานมากกว่าสติจะเกิดอีก และสติก็ไม่ค่อยจะระลึกทางตา อาจจะระลึกทางกายบ้าง แต่ทางรสไม่ได้ระลึกเลยสำหรับบางท่าน ก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งแล้วแต่สังขารขันธ์ที่ได้ฟังเรื่องของธรรมจนกระทั่งเป็นสุตมยปัญญา หรือ สุตมยญาณ ก็จะรู้จริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และสติจะค่อยๆ เริ่มพิจารณาไป ทีละเล็กทีละน้อย
แต่ต้องรู้จุดประสงค์ว่า การที่ระลึกทางตาก็เพื่อแยกลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏออกจากลักษณะอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏทางกาย และต้องแยกกับลักษณะของรูปธรรมนามธรรมอื่นๆ ด้วย จึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้
ถ. เมื่อสติเกิด จะรู้ว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม
สุ. แน่นอน
ถ. และที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นสติปัฏฐานในขณะที่สติเกิดนั้น สติจะต้องระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น คือ ต้องมีสภาวธรรมปรากฏด้วย
สุ. ถูกต้อง
ถ. ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ
สุ. ไม่ได้ ทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง ระลึกได้
ถ. ผมสงสัยเรื่องของบัญญัติ มีผู้กล่าวว่า บัญญัติไม่เที่ยง จริงหรือเปล่า
สุ. ก่อนอื่นที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้ ต้องเข้าใจว่าบัญญัติคืออะไร การที่จะพูดถึงธรรมข้อหนึ่งข้อใด ต้องชัดเจนว่าหมายความถึงอะไร อย่างถ้าใช้คำว่า ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ แล้วแต่ว่า จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ไม่ใช้คำใดๆ ก็ตาม ลักษณะนั้นมีจริง เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อเป็นภาษาต่างๆ เห็นก็มี ปรมัตถธรรมที่มี มีเพียง ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมจะทำให้เข้าใจบัญญัติว่า บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม และรู้ว่า ที่ใช้คำว่า บัญญัติ ต้องไม่ใช่ปรมัตถธรรม ต้องไม่ใช่จิต ต้องไม่ใช่เจตสิก ต้องไม่ใช่รูป
สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สังขารธรรม ไม่เกิด และจะดับได้ไหม
ถ. ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ดับแน่ๆ
สุ. ต้องเข้าใจความหมายของบัญญัติก่อน
ถ. และบัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม
สุ. ไม่ได้ เพราะว่าสติปัฏฐานต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ เกิดปรากฏและดับ จึงจะประจักษ์ว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพื่อวิปัสสนาญาณจะสมบูรณ์ถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับขั้น ตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งประจักษ์แจ้งในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่บัญญัติ
และสำหรับผู้ที่คิดว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ขอให้แสดง วิธีเจริญสติโดยการระลึกรู้บัญญัติว่า ระลึกได้อย่างไร
ถ. เขาอ้างว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวถึงอาการ ๓๒ ว่า ให้พิจารณาอาการ ๓๒ และเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความละคลาย ขณะนั้นกล่าวว่า เป็นสติปัฏฐาน
สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรมไว้เพื่ออะไร
ถ. เพื่อให้เข้าใจสภาวะตามความเป็นจริง
สุ. เพราะฉะนั้น ส่วนที่เคยยึดถือว่ากาย ทรงแสดงว่าได้แก่ปรมัตถ์อะไร มิฉะนั้นแล้วจะต้องไม่มีปรมัตถธรรมเป็นเครื่องยืนยัน ใช่ไหม ส่วนที่เคยยึดถือว่า กาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
ถ. ได้แก่ รูปปรมัตถ์
สุ. ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ได้แก่ธาตุอะไร
ถ. ดิน น้ำ ไฟ ลม
สุ. นี่ทรงแสดงไว้หรือเปล่า
ถ. ทรงแสดงไว้
สุ. เมื่อทรงแสดงไว้แล้ว ทำไมไม่ประกอบกันว่า แม้ใช้คำว่า ลมหายใจ หรืออิริยาปถบรรพ หรือการพิจารณาส่วนต่างๆ ของกายก็ดี ถ้าเป็นสติปัฏฐาน จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
ถ. ถ้าอย่างนั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่าด้วยอาการ ๓๒ ที่ให้พิจารณา นี่มีประโยชน์อย่างไร
สุ. สติปัฏฐานทั้งหมด เพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม โดยตลอด จะเห็นได้ว่า รวบรวมธรรมทุกขั้น ทุกประเภท ทุกระดับ แม้แต่เรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นฌานจิตก็เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่ฌานจิตก็เป็นสติปัฏฐาน
สำหรับผู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าจะยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตาม ทั้งหมดที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย สติระลึก รู้ลักษณะของสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเพื่อจะรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าจะเอาผม ขน เล็บ ฟัน หนังมาเป็นการเจริญสติปัฏฐาน จะทำอย่างไร
ถ. ก็ให้พิจารณาผมโดยที่ตั้ง สัณฐาน สี กลิ่น ว่าเป็นของไม่งาม ทั้งหมดนี่เป็นบัญญัติ เมื่อพิจารณาแล้วเกิดความเบื่อหน่ายจริง แต่ไม่ทราบว่า เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
สุ. ถ้าเป็นสติปัฏฐานขณะใด ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องเป็นปรมัตถธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๗ ตอนที่ ๑๖๖๑ – ๑๖๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685