แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
ครั้งที่ ๑๖๖๙
สาระสำคัญ
บัญญัติต่างกับปรมัตถ์ (บัญญัติปิดบังไม่ให้รู้สภาพปรมัตถธรรม)
อยู่คนเดียว
ปัญญาเจริญขึ้นโดยรู้ความเป็นอนัตตา (ไม่มีโลภมากั้น)
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๐
สุ. แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาทุกวันๆ ที่ยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่างๆ บุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังพูด กำลังร้องเพลง กำลังเคลื่อนไหว กำลังทำกิจ การงานต่างๆ ให้ทราบว่า ทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งนั้น
ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติปัฏฐานจะไม่ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ทางตาว่า เพียงชั่วขณะเดียว เมื่อขณะจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นดับ ก็มีการคิดจำสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อกี้ และก็มีรูปใหม่ปรากฏกระทบกับจักขุปสาท มีการทรงจำรูปใหม่ พร้อมทั้งคิดถึงลักษณะอาการของรูปใหม่โดยสัณฐาน ทำให้ปรากฏว่า รูปนั้นต่อกันเป็นคนกำลังเดิน หรือว่ากำลังทำกิจการงาน หรือว่ากำลังพูด หรือว่ากำลังร้องเพลง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของการคิดนึกที่เป็นบัญญัติทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ตราบใดที่มีนกร้อง นั่นคือบัญญัติ ตราบใดที่มีคนพูด ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ดังนั้น ขณะที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมจะสั้นสักแค่ไหน จะเร็วสักแค่ไหนที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีนก ไม่มีวัตถุใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏ
และเคยคิดอย่างนี้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม หรือว่าร้องเพลงได้ไหม หรือทำกิจการงานต่างๆ ได้ไหม ในเมื่อเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นคือสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา
ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ แยกสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารออกไป เวลาที่กระทบสัมผัสก็อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่เมื่อทั้ง ๖ ทวารรวมกัน ก็ทำให้มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็วว่า มีคนจริงๆ ที่กำลังพูด แต่แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครเลยนอกจากคนเดียว ตัวคนเดียวจริงๆ
คำว่า ตัวคนเดียว นี่ก็ยังมาก เพราะยังเป็นตัว แต่ถ้าลดจำนวนลง จากคนมากมายที่เคยอยู่ร่วมบ้าน ร่วมสถานที่ ร่วมแผ่นดิน ร่วมโลก มาเป็น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็อยู่คนเดียวจริงๆ คือ ในขณะที่เห็นไม่มีคน แต่เป็นจิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และคิดนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา
ถ้ากำลังพูด ก็คือพูดคนเดียว เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งก็เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น คิดก็คิดคนเดียว ทำอะไรก็ทำคนเดียวทั้งนั้น เพราะว่า จิตเกิดขึ้น เห็น รู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับโลกของความเพ้อฝัน คือ ความคิดทุกขณะที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นโลกต่างๆ เหมือนกับความเพ้อฝัน เหมือนกับอยู่ในกระจกเงา ซึ่งมองดูแล้วเหมือนกับว่ามีสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ความจริงแล้วอยู่คนเดียว ส่วนที่จะปรากฏเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ก็เหมือนกับความคิดนึก
รูปในโทรทัศน์ พูดได้ไหม ย่อลงไป ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ย่อจากใหญ่ให้เป็นเล็กลงไปที่โทรทัศน์ รูปที่ปรากฏที่โทรทัศน์พูดได้ไหม ทุกคนรู้ว่าเป็นรูป กระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง และมีสีสันต่างๆ และมีเสียง แต่ตัวรูปที่ปรากฏ ทางตานั้นพูดได้หรือเปล่า รูปในโทรทัศน์พูดไม่ได้ฉันใด รูปนอกโทรทัศน์คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็พูดไม่ได้ฉันนั้น
ต้องแยกออกจริงๆ ว่า ทุกคนอยู่คนเดียว และกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็มีคำพูด ก็ยังคงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้พูดกับใคร นอกจากมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น นี่คือความหมายของการ อยู่คนเดียวจริงๆ
ถ้าย่อสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเราคนเดียว ก็จะเหลือเพียงขณะจิตเดียว ทางตาจะไม่ปนกับทางหู เพราะจะมีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อรวมกับทางหูที่ได้ยินและมีเสียงปรากฏ ก็กลายเป็นคนหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเคลื่อนไหว เป็นเสียงที่พูดออกมา แต่ความจริงไม่ใช่ ทางไหนก็ต้องทางนั้น คือ ทางตา ก็เพียงปรากฏ ไม่ได้พูดอะไร และเสียงทางหูก็ปรากฏ แต่สภาพของจิตที่กำลังคิด รวดเร็วมาก ทันทีที่วิตกวิจารคิดถึงคำใด เสียงก็เปล่งออกมาทันที เพราะว่าวิตก วิจารซึ่งเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตในขณะนั้น เป็นปัจจัยให้เกิดวจีวิญญัติ คือ รูป ที่กระทบที่ฐานของเสียงทำให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้นตามวิตกวิจารนั้นๆ
นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนที่พูด สติสามารถระลึกรู้ได้ว่า ทำไมเสียงนี้ จึงปรากฏรวดเร็วตามที่จิตคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะระลึกลักษณะสภาพของความคิด หรือจะระลึกลักษณะสภาพของเสียงที่กระทบหู หรือจะระลึกถึงลักษณะอาการเคลื่อนไหวของรูปที่ฐานที่ทำให้เกิดเสียง จนกว่าจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นบัญญัติ และขณะไหนเป็นปรมัตถ์
เมื่อรู้ว่าเป็นบัญญัติ ก็รู้ว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เพราะว่าเป็นเพียงความคิดทั้งหมด และสภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งปรากฏทีละทวารและดับไป ไม่ต่อกัน
ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ จะรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจบไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละขณะ เรื่องเมื่อวานนี้จบแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะย้อนกลับไปเป็นสุข เป็นทุกข์ ห่วงใย ขุ่นเคือง เศร้าหมอง กับเรื่องที่ ผ่านไปแล้ว เพราะว่าเป็นแต่เพียงการคิดย้อนไป และสร้างความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ด้วยความคิดนั้นๆ เท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไปเลย แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เป็นเฉพาะของเหตุการณ์ในวันนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์พรุ่งนี้ สิ่งใดที่เกิดวันนี้ก็จบวันนี้ หรือสิ่งใดที่เกิดขณะนี้ ก็ดับขณะนี้
เพราะฉะนั้น เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เมื่อไม่เพลิดเพลินไปเป็นสุขเป็นทุกข์ ไปกับบัญญัติ เรื่องราวต่างๆ สติก็จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นคำๆ แต่ศึกษา สังเกต พิจารณาที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ จนกว่าปัญญาจะ ประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ที่จะแยกขาดลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรม ปรากฏโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ต้องรู้ความต่างกันของบัญญัติกับปรมัตถ์ และต้องรู้ว่า บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน
ถ. อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่พูด ไม่ร้องเพลง ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางหูก็ไม่ร้องเพลงเหมือนกัน ใช่ไหม
สุ. เป็นเสียงที่ปรากฏ และดับไปเท่านั้นเอง
ถ. เพราะคนจะเข้าใจผิดว่า เสียงกำลังร้องเพลง เสียงเมื่อกี้เปรียบเทียบกับตา ก็ชัดหน่อย แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับทางหูจะนึกว่ามีร้องเพลง ฉะนั้น ทางหู ก็ไม่มีร้องเพลงเหมือนกัน
สุ. มีเสียงที่เกิดปรากฏและดับไป เสียงนั้นเป็นคนหรือเปล่า เป็นนก หรือเปล่า เป็นไก่หรือเปล่า ก็เป็นเพียงเสียง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะกระทบกับโสตปสาทและดับ ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมากจึงไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่มี สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะพึงยึดถือได้ว่าเป็นของเรา หรือเป็นเรา หรือเป็นตัวตนของเรา สิ่งที่เกิดและดับไป เกิดและดับไป เกิดและดับไปอยู่เรื่อยๆ จะเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าบัญญัติคืออะไร บัญญัติก็ปิดบังไม่ให้รู้สภาพ ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง
ถ. โดยสภาวธรรม บัญญัติเป็นทุกข์หรือเปล่า
สุ. เป็นไม่ได้ เพราะว่าทุกข์หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ จึงเป็นทุกข์
ถ. ต้องมีสภาวะทั้ง ๓ คือ ไตรลักษณ์
สุ. แน่นอน
ถ. และอสภาวรูป เช่น วิการรูป พิจารณาได้ไหม
สุ. หมายความว่า รูปนั้นไม่มีสภาวะต่างหากเฉพาะ แต่เป็นอาการของรูปที่มีสภาวะ และเป็นปรมัตถธรรมเพราะว่ามีจริง
ถ. อาศัยมหาภูตรูปเกิด ขณะที่มหาภูตรูปเกิดดับ อสภาวรูปก็เกิดดับ ตามมหาภูตรูป ถ้าสติเกิดระลึกที่อสภาวรูป จะประจักษ์การเกิดดับด้วยหรือเปล่า
สุ. ต้องประจักษ์การเกิดดับของสภาวรูปพร้อมกับวิการรูป เพราะไม่มี วิการรูปที่แยกลักษณะออกไปต่างหาก
ถ. ประจักษ์การเกิดดับของสภาวรูปพร้อมกับวิการรูป หมายถึงอย่างไร
สุ. วิการรูปมี ๓ ไม่ใช่เป็นรูปที่มีลักษณะแยกออกไปต่างหากจากสภาวรูป คือ มหาภูตรูปเลย ขณะที่มีการกระทบสัมผัสทางกาย มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏ ขณะนั้นกายวิญญาณรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง แต่ถ้าอ่อนหรือแข็งเป็นสภาพที่เบาหรือควรแก่การงาน ขณะนั้นแม้จะกระทบกับกายปสาท แต่มโนทวารวิถีสามารถ รู้ในความอ่อนหรือความเบาของรูปนั้นได้
ถ. เดินๆ และยกขา มีความเบาทำให้สามารถยกขาขึ้นได้ ขณะนั้น วิการรูปปรากฏหรือเปล่า
สุ. วิการรูปโดยชื่อ หรือโดยสภาวะ
ถ. โดยสภาวะ
สุ. โดยสภาวะ ถ้าปรากฏ ก็ปรากฏทางมโนทวาร
ถ. เช่น ยกของหนักๆ เวลาวางมีความเบาเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นลักษณะสภาวะหรือเปล่า
สุ. สิ่งนั้นมีจริงหรือเปล่า ถ้ามีจริงต้องเป็นสภาวรูป
ถ. ถ้ามีจริงเป็นสภาวรูป ก็ไม่ใช่วิการรูป ไม่ใช่อสภาวรูป
สุ. ที่จริงแล้วการอบรมเจริญปัญญา ไม่น่าจะเอาชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ข้อสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความสงสัย คือ เมื่อลักษณะของสภาพธรรมปรากฏแล้ว นึกถึงชื่อ แทนที่จะสังเกตลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ถ. เป็นลักษณะที่กำลังเกิดขึ้น
สุ. กำลังปรากฏ ถ้าโดยชื่อแล้วไม่มีทางที่จะหายสงสัยได้เลย แต่ในขณะที่ไม่ได้นึกถึงชื่อ ปัญญาทางมโนทวารสามารถรู้ความต่างกันของลักษณะของมหาภูตรูปที่ไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย กับมหาภูตรูปที่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องของชื่อทั้งหมดเลย เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพนั้นแปลกหรือต่างจากมหาภูตรูปที่เคยปรากฏ
ถ้าเป็นธาตุดินที่อ่อนหรือแข็งซึ่งไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย เช่น เวลาที่กระทบสัมผัสผม หรือกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง อย่างหนุนหมอนหรืออะไรก็ได้ และสติระลึกลักษณะของสภาพที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่นึกถึงชื่อ ลักษณะของมหาภูตรูปที่ปรากฏนั้นอย่างหนึ่ง และเวลาที่สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมเนืองๆ บ่อยๆ ปัญญาเพิ่มขึ้น เวลาที่มหาภูตรูปที่มีลักษณะที่เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงานปรากฏ ปัญญาก็สามารถรู้ในลักษณะที่ต่างกันของมหาภูตรูปซึ่งไม่มีลักษณะที่เบา หรืออ่อน หรือควรแก่การงานปรากฏ
แต่ไม่ใช่หมายความว่า ไปจงใจ หรือไปตั้งใจ หรือคิดว่านี่เป็นอะไร โดยการศึกษาทราบว่า ร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นมหาภูตรูป ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และเมื่อมีการเคลื่อนไหวก็เป็นเพราะจิตตชวาโยธาตุ โดยพยัญชนะทราบว่าเป็นธาตุลมที่มีลักษณะที่ไหว เพราะว่าธาตุดินไหวไม่ได้ ธาตุไฟไหวไม่ได้ ธาตุน้ำไหวไม่ได้ เฉพาะธาตุลมเท่านั้นที่ไหวได้ เพราะฉะนั้น เมื่อธาตุลมหลายๆ กลาปซึ่งเกิดเพราะจิตต้องการที่จะไหว ทำให้ธาตุลมที่เกิดขึ้นเพราะจิตหลายๆ กลาปนั้นไหวไป ขณะนั้นไม่จำเป็นต้องคิดว่า นี่เป็นวาโยธาตุ หรือว่านี่เป็นวิการรูปเลย แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะรู้ลักษณะของสภาวรูปหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ส่วนรูปที่พิเศษต่างหากออกไปจากนั้นซึ่งปัญญาสามารถจะรู้ได้ ทางมโนทวารในขณะใด ปัญญานั้นก็รู้ความต่างกันของมหาภูตรูปซึ่งเคยเป็นอารมณ์โดยไม่มีวิการรูปเกิดร่วมด้วย กับมหาภูตรูปซึ่งมีวิการรูปเกิดร่วมด้วย โดยไม่ต้องไปตามตำราว่า ตอนนี้กำลังเดินก็ต้องมีวิการรูป เพราะฉะนั้น ที่กำลังไหวไปต้องเป็นวิการรูป โดยที่เป็นเพียงชื่อ ไม่ใช่เป็นการที่สติระลึก
และเมื่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นเริ่มปรากฏ ก็ศึกษาโดยการรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง และภายหลังเมื่อมีปัญญาที่จะระลึกลักษณะที่ ละเอียดขึ้น หรือลักษณะที่ละเอียดขึ้นเป็นอารมณ์เมื่อไร เมื่อนั้นปัญญาจะรู้ในลักษณะที่ละเอียดที่เป็นอารมณ์นั้น แต่ไม่ใช่โดยชื่อที่จะไปแยกว่า ตอนนี้กำลังรู้ วิการรูป
ถ. นอกจากจะระลึกบ่อยๆ เนืองๆ จนเห็นความต่าง
สุ. ไม่ควรจะมีความหวังใดๆ ในการที่จะรู้ลักษณะของรูปใดหรือนามใดเลย นี่เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ทุกอย่างที่จะปรากฏ ต้องปรากฏโดยความเป็นอนัตตาล้วนๆ เพราะว่าสิ่งใดที่ยังไม่เกิด ย่อมเป็นอารมณ์ไม่ได้ จะไปคาดคะเนว่า ขณะนี้ขณะนั้นให้สิ่งนี้สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้ แต่ทุกอย่างที่เกิดมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หวัง และไม่ได้คาดคะเน และไม่ได้รอ และไม่คิดว่า จะรู้วิการรูปหรือรูปอะไร เพียงแต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏกำลังปรากฏ และเมื่อมีปัจจัย ที่เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกรู้ที่ลักษณะของสิ่งนั้น ก็ต้องศึกษา คือ สังเกต อบรมการพิจารณาที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้
การที่ปัญญาเจริญขึ้นโดยรู้ความเป็นอนัตตาอย่างนี้ จะไม่มีโลภะเข้ามากั้น หรือไม่ทำให้ข้อปฏิบัตินั้นผิดพลาดไป เพราะว่าไม่ได้มีการจดจ้อง หรืออยาก หรือต้องการ หรือบังคับ หรือปิดกั้นลักษณะของปรมัตถธรรมหนึ่งปรมัตถธรรมใด ที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน
ถ. จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏ
สุ. แน่นอนที่สุด และจะให้คนอื่นไปบอกใครอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ หรือ ถ้าใครบอกว่า เขากำลังรู้วิการรูป ก็เป็นการรู้แน่ว่าเขาคิดเป็นชื่อว่า ขณะนั้นเมื่อเดิน ก็ต้องมีวิการรูป เมื่อยกมือก็ต้องมีวิการรูป แต่ถ้าเป็นการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ต้องเริ่มจากการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละทวาร และภายหลังจะสังเกตลักษณะที่ต่างกัน มิฉะนั้นก็จะมีคำถามว่า วิการรูปต่างกับมหาภูตรูปที่เป็นวาโยธาตุอย่างไร
ถ. เพราะยังไม่ได้ปรากฏ และไม่ได้ระลึกรู้ ปัญญาก็ยังเห็นความต่างไม่ได้
สุ. จึงเข้าใจว่า กำลังรู้วิการรูป โดยชื่อที่ศึกษามาว่าในขณะที่เดินต้องมีวิการรูป
ถ. การเข้าใจธรรมโดยไม่ระลึกถึงชื่อของธรรม จะให้รู้แต่สภาวะลักษณะของธรรมอย่างเดียว เป็นเรื่องที่ลำบากจริงๆ เช่น ทางตา ขณะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มักจะคิดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาแทนที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ไปคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยมากไม่พ้นจากบัญญัติที่จะมาแทรก ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจสภาวะได้อย่างแท้จริง จะมีวิธีใดที่จะช่วยเหลือให้เราสามารถระลึกรู้สภาวะ ได้ถูกต้อง ตรงตามลักษณะของสภาวธรรมที่ปรากฏจริงๆ โดยไม่ระลึกถึงชื่อ หรือ ต้องนึกอย่างนั้น เป็นของธรรมดา
สุ. อนัตตา บังคับอะไรไม่ได้เลย ความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง และต้องคิดไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องคิด ไม่ใช่ว่าจะขาดการคิด แต่รู้ว่า ขณะใดคิดเป็นเรื่อง ขณะใดไม่ได้คิด แต่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. คิดถึงเรื่องก็ให้รู้ว่า คิด
สุ. เป็นสภาพนามธรรมที่คิด รูปคิดไม่ได้เลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๗ ตอนที่ ๑๖๖๑ – ๑๖๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685