แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
ครั้งที่ ๑๖๒๖
สาระสำคัญ
ไปหาอะไรในพระเชตวัน
ไปหาผ้าเช็ดธุลี (คุณธรรมของท่านพระสารีบุตร)
เมตตาพรหมวิหาร คือ อโทสเจตสิก
การปฏิบัติธรรม โดยการพิจารณาธรรม
รำลึกถึงผ้าเช็ดธุลีในอดีต
การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๐
อยากเจริญเมตตาไหม หรืออยากจะท่อง วันหนึ่งท่องมากแต่ไม่เมตตาเลย หรือไม่ต้องท่อง แต่คิดถึงใครก็คิดถึงด้วยจิตที่เมตตา และคิดแต่ประโยชน์ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น และเวลาที่พบกันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทาย มีปฏิสันถาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยากไหม หรือไม่ยากเลยง่ายมาก นี่ก็แล้วแต่จิตใจของแต่ละบุคคล แต่พระธรรมเริ่มจะส่องเป็นกระจกอย่างดีที่จะให้เห็นทุกซอกมุมของจิตใจของตนเองว่า เป็นบุคคลประเภทใด แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วย
ถ้าเป็นผู้ที่ริษยาคนอื่น ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วน่ารังเกียจ อนุโมทนาหรือมีมุทิตาจิตทันที นี่คือโยนิโสมนสิการ คือ ผู้ฉลาด ถ้ามีมานะ ความสำคัญตน ในขณะนั้นไม่ใช่ความเป็นเพื่อนเลย เพราะความเป็นมิตรเป็นสหายต้องเป็นผู้ที่เสมอกัน เข้ากันได้ แต่ถ้ามีความสำคัญว่า ดีกว่า สูงกว่า เก่งกว่า ขณะนั้นความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน ก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้ามีเมตตา จะทำให้กุศลจิตอีกหลายประการเกิดได้ แต่ ข้อสำคัญ คือ ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ และจะเห็นคุณของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่อาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ซึ่งเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท ตั้งแต่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต จนถึงขั้นอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็จะต้องเป็น ผู้ที่ตรงขึ้นๆ อีก เพราะถ้าคดนิดเดียว เขวนิดเดียว ก็พลาดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
สำหรับพรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม คือ ผู้ประเสริฐ เป็นความจริงอย่างยิ่ง ถ้าคิดถึงใครที่ไม่โกรธเลย ไม่ว่าใครจะกล่าวร้ายหรือใช้คำที่ ไม่เหมาะสม หรือมีกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมประการใดก็ตาม แต่บุคคลผู้นั้นก็เสมือนผ้าเช็ดธุลีได้ นี่เป็นผู้ประเสริฐ เป็นธรรมของผู้ประเสริฐ
การไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียคราวนี้ ในขณะที่จะเข้าไปสู่ พระวิหารเชตวัน ดิฉันมีความรู้สึกว่า น่าจะให้ทุกๆ ท่านได้คิดถึงธรรม เพราะฉะนั้น ก็ตั้งเป็นปริศนาธรรมขึ้นว่า ไปหาอะไรในพระเชตวัน เพราะว่าทุกคนกำลังเข้าสู่ พระวิหารเชตวัน ไปทำไม ไปหาอะไร พระวิหารเชตวันมีอะไรที่แต่ละบุคคลต้องการ ที่จะไปหาสิ่งนั้น แต่สิ่งที่อยู่ในใจของดิฉัน คือ ไปหาผ้าเช็ดธุลี ซึ่งเป็นคุณธรรมของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านเปรียบตัวของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่นอบน้อมอย่างยิ่ง ท่านเป็นอัครสาวก เป็นผู้เลิศทางฝ่ายปัญญา แต่ขอให้ดูสภาพของปัญญาว่า ยิ่งเป็น ผู้มีปัญญาเท่าใด ความอ่อนน้อมถ่อมตนยิ่งมีมากเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่อวดความรู้ หรืออวดความเก่ง หรือมีกิริยาอาการที่ไม่เหมือนผ้าเช็ดธุลี แต่ยิ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาแล้วต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และสามารถที่จะไม่หวั่นไหว รับกระทบได้ทั้งสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด ไม่ว่าความไม่สะอาดนั้นจะเป็นเลือด เป็นน้ำลาย เป็นสารพัดอย่าง ผ้าเช็ดธุลีก็ไม่หวั่นไหว
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าไปหาผ้าเช็ดธุลีในพระวิหารเชตวัน ในสมัยนี้คงมีแต่การ รำลึกถึงผ้าเช็ดธุลีหลายๆ ผืน มากมายทีเดียวในพระวิหารเชตวัน ซึ่งในสมัยนี้ก็ เพียงรำลึกถึง เพราะกว่าแต่ละบุคคลจะได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถถึงความเป็น ผ้าเช็ดธุลีได้ ต้องเป็นสิ่งซึ่งอีกไกลแสนไกล
ท่านพระสารีบุตรไม่ได้เปรียบตัวของท่านเองเพียงเป็นดุจผ้าเช็ดธุลีเท่านั้น แต่ยังเปรียบตัวท่านเองเหมือนลูกคนจัณฑาลซึ่งเข้าไปสู่ที่ที่มีบุคคลมากหน้าหลายตา ก็เข้าไปด้วยความอ่อนน้อม เข้าไปด้วยความนอบน้อม และยังเปรียบตัวของท่านเองเหมือนกับโคเขาขาด ซึ่งเมื่อไม่มีเขาก็ไม่สามารถทำร้ายหรือทำลายอะไรได้ จึงต้อง เป็นผู้ที่เสงี่ยมเจียมตัว นี่คือคุณธรรมของพระอัครสาวกผู้เลิศทางฝ่ายปัญญา
เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเป็นสิ่งที่อบรมได้ เจริญได้ ค่อยๆ อบรมไป โดยเฉพาะเมื่อรำลึกถึงพระคุณของพระอรหันต์ผู้ประเสริฐในสถานที่ซึ่งมีโอกาสได้นมัสการ ก็ ขอให้เป็นผู้ที่ถึงพระธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม แล้วแต่ว่าสติปัญญากำลังความสามารถจะทำให้ประพฤติปฏิบัติตามได้แค่ไหน แต่ก็ควรจะเป็นความตั้งใจมั่นพร้อมทั้งสัจจะที่จะอบรมประพฤติปฏิบัติตามไปอย่างนั้นเรื่อยๆ
สำหรับลักษณะของเมตตาพรหมวิหาร คือ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับพยาบาท เกิดร่วมกันไม่ได้เลย ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นรู้ได้ว่าไม่เมตตาจึงโกรธ แต่ขณะใดที่เมตตา ขณะนั้นรู้ได้ว่าเป็นสภาพจิตที่ห่างไกลกับความโกรธ
ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่เป็นมิตร เวลาเห็นมิตรรู้สึกอย่างไร ดีใจที่ได้ พบกัน มีความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคย ไม่มีภัยไม่มีอันตรายอะไรเลย นั่นคือสภาพลักษณะของเมตตา ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ เพราะฉะนั้น ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่ระงับพยาบาท
สำหรับความโกรธ ซึ่งทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลต้องมี เพราะมี ปฏิฆานุสัยที่ยังไม่ได้ดับเชื้อของความโกรธจนหมดเป็นสมุจเฉท บางคนเป็น ผู้มีอัธยาศัยน่ารัก มีอัธยาศัยดี มีจิตใจงาม มีความเมตตา มีความกรุณา ทุกอย่าง เกือบจะดูเหมือนว่าไม่เห็นโกรธ แต่เมื่อไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ต้องโกรธแน่ แม้ว่าไม่มาก ความขุ่นใจ ความไม่พอใจเวลาประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งใน วันหนึ่งๆ ต้องมีมาก เช่น สถานที่ที่ไม่สะอาด เวลาเห็นแล้วยากที่ใจจะไม่เกิด ความขุ่น คือ ขณะนั้นรู้สึกไม่สบายใจ ความไม่สบายใจนั้นก็เป็นลักษณะของ โทสะชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละวันๆ ก็มีแต่เรื่อง ถ้าเป็นผู้ละเอียดจะเห็นได้ว่า ขุ่นใจนิดเดียวก็รู้สึกตัวได้แล้วว่านั่นคือความโกรธ ซึ่งยังไม่ได้ดับจึงมีปัจจัยที่จะเกิดอีก แม้ว่าจะไม่มาก ไม่ต้องถึงกับเป็นความโกรธอย่างแรงที่จะแสดงออกมาทางกาย หรือ ทางวาจา แต่ว่าจิตของใครที่มีความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น บุคคลนั้นรู้ คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้
ทันทีที่ความโกรธปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาเป็นผู้ละเอียดที่จะ ต้องรู้แล้วว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะถ้าไม่สะอาดโกรธคนที่ทำให้ไม่สะอาด หรือเปล่า บางทีเรื่องของชั้นวรรณะ ฐานะ เชื้อชาติ ก็เข้ามาอีกแล้ว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งไกลมากออกไปจนกระทั่งถึงชื่อ ถึงชาติ ถึงฐานะ ถึงอะไรต่างๆ
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า ทุกคนที่ยัง ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังต้องมีความโกรธเกิดขึ้นและดับไป ถ้าเพียงโกรธขึ้น และดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ดีไหม
เมื่อมีปัจจัยให้ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจจะเกิด ก็เกิด เกิดและก็ดับ ดับแล้วก็หมด ก็จบ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้จะไม่เป็นความคิดโกรธซึ่งไม่จบ ที่จะคิดอีกและ โกรธอีกจนกระทั่งไม่ลืม เวลาที่โกรธจนไม่ลืมสังขารขันธ์จะปรุงแต่งต่อไปอีกจนกระทั่งถึงกับเป็นความพยาบาท เป็นความขุ่นเคืองที่คิดจะประทุษร้าย หรือปองร้าย
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญเมตตา จะระงับความพยาบาทนั้นไม่ได้ ถ้าเห็น โทษภัยของความคิดร้าย ความปองร้าย ความประทุษร้าย ความพยาบาท จะเป็นผู้ที่เริ่มเจริญเมตตา แม้ในขณะนี้เอง
ทุกคนคิดว่าชีวิตยืนยาวมาก แต่ความจริงชีวิตของทุกคนดำรงอยู่เพียง ชั่วขณะจิตเดียว เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งและก็ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นและก็ดับ แต่เกิดดับอย่างรวดเร็วจนเมื่อไม่รู้ว่าเป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับ ก็เป็นเรา ซึ่งเดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ความจริง เป็นจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวจริงๆ
ถ้าขณะนี้เมตตาไม่เกิด อกุศลจิตก็เกิด และขณะต่อๆ ไปเมตตาก็ยังไม่เกิดอีก อกุศลจิตก็เกิดต่อๆ ไปอีก เพราะฉะนั้น กว่าจะเจริญเมตตาได้ ต้องลำบากมาก ถ้าไม่เจริญเมตตาตั้งแต่เดี๋ยวนี้
กุศลทุกอย่างอยู่ที่ขณะนี้เอง ถ้าจะอบรม ก็เริ่มตั้งแต่ขณะนี้
ถ. การศึกษาธรรม ถ้าศึกษาเพียงเรื่องราว จำข้อธรรมได้เฉยๆ ไม่ค่อยจะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ ถ้าเป็นการศึกษาโดยที่รู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างเช่นความโกรธเกิดขึ้นกับเรา เรารู้ว่าสภาวธรรมเกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่เราด้วย เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น หรือความเมตตาเกิดขึ้นกับเรา อโทสะ ความไม่โกรธเกิดขึ้นกับเรา เราก็รู้ในขณะนั้นว่าเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง คือ ความไม่โกรธ ไม่ใช่เรา ถ้าศึกษาอย่างนี้ พยายามทำความคุ้นเคยอย่างนี้เรื่อยๆ ผมเข้าใจว่า จะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ เพราะเป็นการรู้จัก แทนที่จะศึกษาเรื่องราว เรียนชื่อ จำชื่อได้ แต่ไม่ค่อยรู้สภาวะหรือธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา
การที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้สภาวธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว และสภาวธรรมอย่างนี้ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงสภาวธรรมอย่างหนึ่งๆ นั้นเป็นเรื่องยาก ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่า การศึกษาโดยเข้าใจสภาวะกับการจำชื่อ อย่างไหนควรจะให้เกิดก่อน
สุ. นี่เป็นการปฏิบัติธรรม โดยการพิจารณาธรรม ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ แต่เวลาที่ศึกษาปริยัติธรรม ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้น เช่น ในขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมใดหรือเจตสิกใดปรากฏ เพราะว่าโสภณสาธารณเจตสิกมีถึง ๑๙ ประเภทที่ต้องเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ ให้ระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นลักษณะของความ เป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความเกื้อกูล นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ถ้าโดยปริยัติก็เป็นเมตตา หรืออโทสเจตสิก
ประกอบกันทั้ง ๒ อย่าง ดีไหม เลือกไม่ได้ว่าจะให้อันไหนเกิดก่อน แล้วแต่ขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้นึกถึงเรื่อง หรือขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้ระลึกถึงสภาพธรรม ที่ปรากฏ
ถ. อาจารย์พูดถึงไปอินเดีย บอกว่าไปหาผ้าเช็ดธุลี และได้ไหม
สุ. ดิฉันเรียนให้ทราบแล้วว่า เป็นการรำลึกถึง เพราะในครั้งอดีต มีผ้าเช็ดธุลีนับไม่ถ้วน ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนี้ไม่เห็น แต่รำลึกถึงผ้าเช็ดธุลีในอดีต
ถ. ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ยังไม่มีใครยอมเป็นผ้าเช็ดธุลี
สุ. วันนี้ไม่ยอม หวังว่าวันหนึ่งจะยอม
ถ. ยังอยากจะเป็นผ้าไหม ใครจะมาเหยียบมาย่ำก็ยังไม่ยอม
สุ. ขอหวังว่า วันหนึ่งทุกคนจะเป็นผ้าเช็ดธุลี
ถ. บางทีเราทำตัวเป็นผ้าเช็ดธุลี เป็นโคเขาขาด ก็ยิ่งโดนเขาข่มขู่
สุ. ตัตรมัชฌัตตตา ไม่คำนึงถึงจิตของคนอื่น แต่พิจารณาจิตของตนเอง ในขณะนั้นว่า ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าพอใจก็ตาม จิตของตนเองในขณะนั้นตรงต่อกุศลที่จะไม่หวั่นไหว เพราะเรื่องของคนอื่นแก้ไขไม่ได้ แต่เรื่องของเราเอง จะต้องทำกิจอบรมเจริญกุศล
ถ. อยากได้คำแนะนำจากอาจารย์ว่า ก่อนจะเป็นผ้าเช็ดธุลี ควรเป็น ผ้าอะไร
สุ. เช็ดไปเรื่อยๆ ทุกอย่าง ทีแรกเป็นผ้าไหม และค่อยๆ เช็ดไปๆ ทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็เป็นผ้าเช็ดธุลี ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมของแคว้นกาสีหรือ ผ้าชนิดไหนก็ตาม เริ่มเช็ดธุลี และวันหนึ่งผ้านั้นจะเป็นผ้าเช็ดธุลีโดยสมบูรณ์
ถ. เรื่องผ้าเช็ดธุลี ผมโดนมาเหมือนกัน คือ ไปเล่าเรื่องที่อาจารย์เล่า ก่อนเข้าพระเชตวัน อาจารย์ได้ตั้งปัญหาให้ทุกคนคิดว่าไปหาอะไรในพระเชตวัน และท่านอาจารย์ก็เฉลยว่าไปหาผ้าเช็ดธุลี เขาไม่เข้าใจ ผมก็เล่าให้ฟังว่า ผ้าเช็ดธุลี ใครๆ จะเช็ดก็ได้ ผ้าเช็ดธุลีรับได้ทั้งนั้น ไม่ว่าผู้ดีมีจนเช็ดได้ทั้งนั้น คุยๆ กันไป เสียงเริ่มดังขึ้น เขาก็เลยเตือนว่า ไหนว่าเป็นผ้าเช็ดธุลี ผมก็บอกว่า ผมยังไม่เป็น ผ้าเช็ดธุลี
สุ. ต้องขออนุโมทนาผู้ที่เตือน เป็นผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์จริงๆ ถ้าเขาไม่เตือน ในขณะนั้นจะรู้สึกตัวได้อย่างไรว่า ตัตรมัชฌัตตตาก็ไม่เกิด ศรัทธาก็ไม่เกิด หิริโอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อะไรก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ถ้าใครเตือน น่ากราบไหว้บุคคลนั้นที่ช่วยชี้ขุมทรัพย์ให้ เพื่อที่จะได้เป็นผ้าเช็ดธุลีได้
ถ. เขาปรารภว่า พวกที่ไปวัด ไปฟังธรรม ไม่เห็นละอะไรได้เท่าไร โกรธ ก็เหมือนกัน บางทีคนที่ไม่ไปวัดเขายังไม่ค่อยจะโกรธด้วยซ้ำไป คือ เขาเยือกเย็นดี ใครจะพูดอะไรหนักนิดเบาหน่อยยังทนได้ แต่พวกที่เข้าวัด บางทีฉุนเฉียว ดุร้าย โมโห
สุ. น่าขอบคุณเขาที่ชี้โทษให้เห็นว่า แม้จะได้ฟังพระธรรม ได้เรียนเรื่องของจิต ได้เรียนเรื่องของเจตสิก ได้เรียนเรื่องของรูป ได้เรียนเรื่องนิพพาน ปริจเฉทต่างๆ ทั้งอรรถกถา ฎีกาต่างๆ แล้ว แต่ยังเป็นผู้ที่มากด้วยอกุศล ซึ่งคนอื่นยังต้องเตือน และก็น่าขอบคุณผู้เตือน เพราะความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ความจริงประการหนึ่ง คือ ผู้ที่รู้ตัวเองว่ามีกิเลส จึงศึกษาพระธรรม นี่ต่างกับผู้ที่ดีส่วนอื่นแต่ไม่ศึกษาพระธรรม เพราะเข้าใจว่าดีแล้ว เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ละบุคคลพิจารณาได้ บางท่านมีอุปนิสัยที่สะสมมาดี เป็นทานุปนิสัย มีอุปนิสัยในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น มีสีลุปนิสัย สะสมมาในเรื่องของกายวาจาที่งามพร้อม แต่ไม่ได้สะสมปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนผู้ใดที่สะสมในทางปัญญา ต้องการที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ยังจะต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการศึกษาพระธรรมไว้ ถ้าบุคคลใดศึกษาในลักษณะของจับงูพิษที่หาง ย่อมเป็นโทษ เพราะไม่ได้ศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
นี่เป็นความต่างกันของจุดประสงค์ของผู้ศึกษาว่า ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษา เพื่อขัดเกลากิเลส ก็เริ่มจากการที่ค่อยๆ เข้าใจตัวเอง เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น และชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจ สภาพธรรมที่ตัวเองชัดเจนถูกต้อง ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส
เพราะฉะนั้น ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วการศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง และงูพิษนั้นก็จะกัด เพราะว่า เมื่อมีความรู้มากขึ้น ก็มีความสำคัญตน มีความทะนงตน แต่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยการขัดเกลากิเลส และถ้าใครเตือน ก็ควรขอบคุณบุคคลนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๓ ตอนที่ ๑๖๒๑ – ๑๖๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685