แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680


    ครั้งที่ ๑๖๘๐


    สาระสำคัญ

    ความเป็นผู้ตรง (กุศลทั้งหลายย่อมเป็นประโยชน์กว่าอกุศล)

    อถ.ม.ม.เวขณสสูตร

    อถ.ม.ม.มาคัณฑิยสูตร - ความเห็นผิดต่างๆ ละเอียดมาก

    ทุกข์ที่เกิดจากการเห็น

    สนทนาธรรมที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี (๓๐ พ.ค๒๕๓๐) - เจริญสติปัฏฐานเพื่อละความไม่รู้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๐


    ถ้าจะดูตัวอย่างบุคคลในครั้งก่อนการตรัสรู้ จนถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ จะเห็นได้ว่า ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ก็มีปัญญาที่สะสมมาด้วย และเมื่อถึงโอกาสที่ปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ย่อมสามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนจะคิดถึงประโยชน์ของการเกิดมามีชีวิต เป็นมนุษย์ในขณะนี้ ทุกคนย่อมมีทางเดินของชีวิตซึ่งจะมี ๒ ทาง คือ ทางหนึ่งเลือก ที่จะหมุนเข้าให้จมลึกอยู่ในปลักของสังสารวัฏฏ์ต่อไป หรืออีกทางหนึ่ง คือ เลือกที่จะหมุนออกจากเกลียวของสังสารวัฏฏ์ไปทีละเล็กทีละน้อย

    ธรรมต้องพิจารณาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะในเรื่องของโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ โดยพิจารณาตนเองว่า การที่ยังมีความยึดมั่นผูกพันในบุคคล ควรที่จะ คลายเกลียวออก หรือหมุนเกลียวเข้าไปอีก เพราะว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่งทุกคนต้อง มีความผูกพัน มีความยึดมั่นในบุคคลต่างๆ โดยฐานะต่างๆ ซึ่งควรจะได้พิจารณาว่า จะละคลาย หรือจะยึดมั่นให้มากขึ้น

    แม้ในเรื่องของโทสะ ความโกรธ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านผู้ใดยังคงมีความโกรธในบุคคลใด ขณะนั้นเป็นอกุศล จะคลายเกลียวออก คือ ละคลายความโกรธและ ให้อภัย หรือจะหมุนเกลียวของโทสะให้เพิ่มขึ้น มากขึ้นไปอีก

    วันหนึ่งๆ ถ้าจะหาเรื่องที่จะโกรธ ไม่ยากเลย เช่นเดียวกับการที่จะหาวัตถุ ซึ่งเป็นที่พอใจก็ไม่ยาก ได้ยินอะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธได้ แต่ถ้าพิจารณาหาเหตุผลว่า ผู้นั้นอาจพูดไปด้วยความไม่รู้ ด้วยการฟังที่ผิวเผิน หรือด้วยความเข้าใจผิด ขณะนั้นจิตใจก็จะสบาย ไม่เดือดร้อน หมดเรื่อง จบเรื่องทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น ทุกๆ ขณะในชีวิต เป็นขณะที่ควรจะได้พิจารณาถึงประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า กุศลทั้งหลายย่อมเป็นประโยชน์กว่าอกุศล ซึ่งการเป็น ผู้ตรงนั้น ก็เป็นลักษณะของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    สำหรับโมหะ ขณะที่มีโมหะ คือ ขณะที่เห็นก็ไม่รู้สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นซึ่งก็คือในขณะนี้เอง หรือแม้ในขณะที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ก็ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังได้ยินและเสียงที่ปรากฏ ฉะนั้น จะคลายเกลียวของโมหะ โดยการอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือพอใจที่จะหมุนเกลียวของโมหะให้มากขึ้นอีก โดยละเลยการระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    นี่คือเส้นทางชีวิต ที่ทุกคนควรจะได้พิจารณาเลือกเดินต่อไปทุกๆ ขณะ แม้ในขณะนี้เอง

    อรรถกา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค เวขณสสูตร มีข้อความว่า

    คนบางคนแม้ครองเรือน ก็เป็นผู้หนักในกาม น้อมไปในกาม บางคน เป็นผู้หนักในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    ทุกท่านมีชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อเป็นผู้ครองเรือน ก็เป็นผู้ครองเรือน ซึ่งพิจารณาเลือกได้อีกเหมือนกันว่า ทั้งๆ ที่ครองเรือนอยู่ จะเป็นผู้ที่หนักในกาม น้อมไปในกาม หรือจะเป็นผู้ที่หนักไปในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง บางคนเป็นบรรพชิต เป็นผู้หนักในกาม น้อมไปในกาม บางคน เป็นผู้หนักในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    พระธรรมทำให้ระลึกได้ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด แม้ในเพศบรรพชิตซึ่งเป็นผู้ที่ ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็พอที่จะระลึกได้ทุกขณะว่า ในเพศบรรพชิตนั้น กำลังเป็นผู้ที่หนักในกาม หรือหนักในเนกขัมมะ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมด เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่อัธยาศัยของผู้ฟัง ที่จะได้พิจารณาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

    สำหรับความเห็นผิดต่างๆ มีละเอียดมาก และจะเห็นได้ว่า ในสมัยก่อน กับในสมัยนี้ ก็ไม่ได้ต่างกันเลย เช่น ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ข้อความใน อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มาคัณฑิยสูตร มีว่า

    มาคัณฑิยปริพาชก ทั้งๆ ที่มีญาณแก่กล้าดุจเมล็ดพืชที่มีปากอ้าแล้ว

    นี่คือคำเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่า เมล็ดพืชที่มีปากอ้าพร้อมที่จะเจริญเติบโต คือ ผู้ที่มีญาณแก่กล้าแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ก็มีความเห็นว่า

    ควรทำให้ความเจริญปรากฏในทวาร ๖ คือ ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น รูปที่ เห็นแล้วควรผ่านไป ควรฟังเสียงที่ไม่เคยฟัง เสียงที่ฟังแล้วควรผ่านไป ควรดมกลิ่นที่ไม่เคยดม กลิ่นที่ดมแล้วควรผ่านไป ควรลิ้มรสที่ไม่เคยลิ้ม รสที่ลิ้มแล้วควรผ่านไป ควรสัมผัสโผฏฐัพพะที่ไม่เคยสัมผัส โผฏฐัพพะที่สัมผัสแล้วควรผ่านไป ควรรู้ ธัมมารมณ์ที่ไม่ควรรู้ ธัมมารมณ์ที่รู้แล้วควรผ่านไป

    เป็นความวิจิตรของจิตที่จะมีความคิดต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ของคนทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยของมาคัณฑิยปริพาชกก็มีความเห็นอย่างนั้น และแม้ใน สมัยนี้เอง ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่เคยหยุดความพอใจเลย เช่น ถ้ามีความคิดว่า ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น ก็จะมีการคิดสร้างสรรค์รูปมากมาย หลายอย่าง ทั้งในเรื่องของเครื่องประดับร่างกาย หรือเครื่องประดับบ้าน หรือ ทางวิชาการต่างๆ ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ขณะนั้นก็เข้าใจว่าได้ทำความเจริญให้ปรากฏในทวาร ๖

    ความคิดของคนสมัยโน้น กับคนสมัยนี้ ไม่ได้ต่างกันเลยในเรื่องความเห็นผิด ถ้ามีใครเห็นว่า ควรจะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ทั้งธัมมารมณ์ นั่นคือความคิดในเรื่องของโลก แต่ไม่ได้รู้ความจริงว่า ความเจริญแท้ๆ คือ การเจริญปัญญา

    พระผู้มีพระภาคทรงละพระคันธกุฎีเช่นกับเทวสถาน เสด็จไปประทับบน เครื่องลาดอันทำด้วยหญ้าที่โรงบูชาไฟ ๒ – ๓ วัน เพื่ออนุเคราะห์มาคัณฑิยพราหมณ์ เพราะพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้อื่น และเมื่อมาคันฑิยพราหมณ์ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้มาคัณฑิยพราหมณ์เห็นโทษ คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ในขณะที่สติไม่ได้ระลึก ไม่ได้สำรวมระวัง ก็ย่อมจะมีความเดือดร้อนไปตามอารมณ์ที่ปรากฏด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

    นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง ให้เห็นความต่างกันระหว่างความคิดของผู้ที่เข้าใจว่า การทำให้ความเจริญปรากฏทางทวารทั้ง ๖ นั้น ต้องทำสิ่งใหม่ๆ คือ เห็นรูปที่ไม่เคยเห็น ได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยิน แต่ความเจริญจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม จะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์ และเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ไม่คลาดเคลื่อน และ ไม่คล้อยตามในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะถ้าไม่พิจารณา ไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ การเชื่อในมงคลตื่นข่าวต่างๆ ที่ไม่ใช่เหตุผล ก็เป็นทางทำให้ค่อยๆ ไกลออกไปจากข้อปฏิบัติที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกที่จะทำให้ปัญญาเจริญ และข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ เช่น การเห็นอะไรจะเป็นมงคล

    เคยคิดไหม การเห็นอะไรจะเป็นมงคล บางคนเข้าใจว่า เห็นบางบุคคล เป็นมงคล เช่น เห็นภิกษุบางรูปที่เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ มีหลายท่านที่กล่าวว่า ควรจะเห็นพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้จะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะว่าท่านผู้นั้นเป็นพระอรหันต์

    แต่ว่ามงคลจริงๆ ไม่ใช่การเห็นอย่างนั้น ต้องเป็นการเห็นพระรัตนตรัย ด้วยการเข้าใจพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ไปด้วยความตื่นเต้นว่าจะได้เห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่การเห็นที่ถูกต้อง คือ การเห็นด้วยความเข้าใจพระธรรม คำสอน เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาสามารถเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน เช่น ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยว่า เห็นในขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้

    เพียงเท่านี้ ถ้าจะพิจารณาด้วยความซาบซึ้งในอรรถจริงๆ ที่จะไม่ละเลย พร้อมกับสติที่ระลึกได้ที่จะพิจารณาลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยคิดว่า มีประโยชน์มาก่อน ไม่เคยรู้ว่าเห็นในขณะนี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีโอกาสได้ฟังเรื่องของปัจจัย มีโอกาสได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรม ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะนั้นย่อมเห็นพระคุณของพระธรรม ที่ทำให้สามารถรู้ความจริงในชีวิต ซึ่งหลายๆ ชาติก่อนนั้นอาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย แต่ชาติใดก็ตามที่มีโอกาสได้ฟังและได้พิจารณาเห็นประโยชน์ก็จะรู้ว่า เป็นสิ่งที่ ไม่มีโอกาสจะได้ยิน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญในอดีตมาแล้ว

    เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะสั้นๆ และก็พูดถึง เช่น เห็น เดี๋ยวก็พูดถึงได้ยิน เดี๋ยวก็พูดถึงคิดนึก แต่ให้เห็นประโยชน์ของการที่สติจะระลึกศึกษา จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ

    สนทนาธรรมที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี

    วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๐

    . ผมฟังเทปอาจารย์มาครั้งที่ ๘ หรือ ๙ และค่อยๆ เข้าใจทีละน้อยๆ เราก็คุยกันเฉพาะในวงว่า เมื่อยังไม่ปลอดโปร่งนัก ก็หาวิธีที่นอกแบบไปนิดหน่อย เพราะเคยเป็นครูมาก่อน เคยสอนเด็ก ก็หาวิธี ว่าจะเป็นไปได้ไหม ตอนนั้นผม ยังไม่เข้าใจลึกซึ้งในสัจจธรรมของสติ ก็เข้าใจตามธรรมดาที่เคยเป็นครูสอนเด็ก เมื่อ มาเรียนของอาจารย์ มันไม่ใช่ สติตัวนี้ต้องเป็นไปตามครรลอง คือ ต้องมีปัญญา ควบไปด้วยพร้อมกัน ที่ผมเล่ามานี่ เนื่องจากติดนิสัยครู ผมก็เลยคิดมากว่า เมื่อสติยังไม่เกิด เพราะสติเป็นโสภณเจตสิก จะไม่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล จะเกิดเฉพาะกับกุศลเท่านั้น ซึ่งพวกผมก็เจริญกุศลน้อย โอกาสที่สติจะเกิดคงไม่ค่อยมี มีแต่หลงลืม ด้วยวัยขนาดนี้ก็คิดมากหน่อย เพราะเหลืออีกไม่กี่วัน คนละ ๖๐ - ๗๐ แล้ว ก็คิดว่า จะมีวิธีอะไรที่ง่ายกว่านี้ เมื่อมาคุยกันก็ได้หลักการในทางโลกว่า ถ้าเราพิจารณาหาทาง เช่น สมมติว่าสติเป็นเครื่องเฮลิคอปเตอร์กำลังบินอยู่ข้างบน ยังไม่มีที่ลง เขาก็ต้องหาที่ลง เราก็เตรียมที่ลงให้เขา คิดว่าเมื่อจะเจริญสติ ต้องมีฐาน เป็นสติปัฏฐาน เช่น ขันธ์ ๕ เมื่อเราฝึกลุ่มๆ ดอนๆ ไป ต่อไปเกิดความชำนาญ สติเกิดขึ้นก็มีที่ลง

    ที่พูดอย่างนี้ เพราะว่าโอกาสที่จะใช้ปัญญาชี้ชัดลงไปว่า ตอนนี้สติเกิดแล้วหนอ ยังไม่มีสักครั้งหนึ่ง จึงขอสารภาพว่า อยากจะก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง ก็เลย เหยียบพลาด ขอให้อาจารย์วิจารณ์หน่อย

    สุ. เจริญสติปัฏฐานทำไม

    . เพื่อจะรู้จักปรมัตถธรรม

    สุ. ตอบให้ตรงกว่านั้นอีกสักนิดหนึ่งได้ไหม

    . คงจะหมดทุนแล้ว

    สุ. ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ จะมีโอกาสคลาดเคลื่อนมาก เจริญสติปัฏฐานก็เพื่อ ละความไม่รู้ พอใจไหมอย่างนี้ ฟังธรรมเพื่ออะไร ก็เพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ เพื่ออยากจะได้อะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังไม่รู้ๆ และก็ทำไม่รู้ๆ ต่อไปอีก จึงยังคงไม่รู้ๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีทางจะละความไม่รู้เลย

    ถ้าไม่มั่นคงจริงๆ ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร ก็จะไปผิดหนทาง กันมาก เพราะว่ามีความต้องการ แม้แต่ต้องการสติ ก็ยังไม่ทราบว่า ต้องการสติ ไปทำไม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การฟังพระธรรมทั้งหมด รวมทั้งการที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อละความไม่รู้

    แสดงว่ามีความไม่รู้อย่างมากมายเหลือเกิน และไม่ใช่แต่ในชาตินี้ชาติเดียว ความไม่รู้เรื่องอะไร ความไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ในขณะที่กำลังได้ยิน ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าฐานของสติ มีอยู่ตลอด แต่ไม่รู้ต่างหากว่าเป็นฐาน จึงไม่ระลึกทันที แต่ไปหาทางอื่นวนเวียน ถ้าเป็นผู้ที่สติระลึกได้ว่า ความไม่รู้ อยู่ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะแม้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่อวิชชาก็ยังไม่รู้ นี่คือความต่างกันของวิชชา และอวิชชา

    ถ้าไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่ามีความไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็น ก็รู้ซะเลยว่า ในขณะนี้ มีความไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาและเห็น เพราะฉะนั้น จะรู้ก็ต่อเมื่อสติระลึกตรงขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปหาฐานลงให้สติ หรืออะไรเลย กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ น้อมพิจารณาสังเกตให้รู้ว่า ที่เราคล่องปากว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ อาการรู้ นั่นเรารู้ชื่อ รู้คำที่กล่าวถึงลักษณะของสภาพนี้ แต่ยังไม่เคยสังเกตจริงๆ ว่าอาการรู้คืออย่างนี้ ซึ่งคนตายไม่เห็นแน่ๆ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็น ต้องเป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง คือ เห็น คนตายไม่ได้ยิน ถ้ามีซากศพอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ยิน ที่กำลังได้ยินนั้นสำหรับเฉพาะคนเป็น เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งคนตายไม่มี

    ไม่ต้องไปไกลจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ในขณะนี้เลย อบรม คือ การระลึกศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    . ขอบพระคุณมาก การที่สติจะเกิดระลึกรู้นามรูป ต้องเป็นตาม เหตุปัจจัยตามที่อาจารย์ว่า แต่มีคำบรรยายของท่านอาจารย์ในเทปที่ผมเปิดฟัง ก็ฟังอยู่ตลอดเวลา แต่ยังไม่เข้าใจก็มี คือ บางครั้งอาจารย์กล่าวว่า สภาพ สภาวะ บางครั้งอาจารย์ก็กล่าวถึงเรื่องลักษณะ อีกคราวหนึ่ง มีทั้งสภาวะลักษณะ หมดเลย คือ ผมก็ตามจริงๆ พอตามแล้วไปติดที่คำว่า สภาวะตัวหนึ่ง ลักษณะตัวหนึ่ง และสภาวะลักษณะอีกตัวหนึ่ง

    สุ. และยังจะมีอาการรู้ เป็นธาตุรู้ อะไรๆ ก็ได้ทุกอย่าง จะใช้คำไหนก็ได้ ไม่ต้องติดที่คำเลย แต่ให้เข้าใจว่า มีลักษณะของจริง เห็นเป็นของจริงๆ มีลักษณะจริงๆ ใครอยากจะใช้คำว่า สภาวะ สภาพธรรม ก็ได้ จะใช้คำว่า ธรรม คำเดียวก็ได้ จะใช้คำว่า อาการรู้ ก็ได้ จะใช้ลักษณะรู้ก็ได้ จะใช้กี่คำก็ได้ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้เห็นเป็นอย่างไร เห็นคืออะไร เห็นมี ไม่สงสัยเรื่องสิ่งที่เห็น กับเห็น ใช่ไหม เพราะว่าเห็นมี แต่เห็นไม่ใช่ตัวตนนี่สิ เห็นเป็นแต่เพียงธาตุรู้ชนิดหนึ่ง อาการรู้ชนิดหนึ่ง ลักษณะรู้ชนิดหนึ่ง จะใช้กี่คำก็ตามก็ไม่หายสงสัย ถ้าสติไม่เกิด และไม่พิจารณาจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงได้กราบเรียนว่า ไม่ต้องไปอื่น เพียงให้รู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๘ ตอนที่ ๑๖๗๑ – ๑๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564