แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
ครั้งที่ ๑๖๘๒
สาระสำคัญ
ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ จะเป็นของใคร
สติเป็นสภาพที่กั้นกระแสของอกุศล
หลงลืมสติกับ สติเริ่มระลึก
ศึกษา หรือ สิกขา
ที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุร๊
วันอังคารที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐
ถ. หมายถึงว่า หนทางหรือจุดหมายปลายทางที่สติจะเข้ามาทำงาน คือ สติจะทำให้เกิดปัญญาขั้นสูงขึ้นๆ จนละอาสวะ
สุ. สติระลึก ระลึกได้ที่จะรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างแข็งนี้ เมื่อกี้สติเกิดหรือเปล่า แข็งอยู่ตลอดเวลา ใช่ไหม สติมีหน้าที่เพียงระลึกตรงลักษณะ ที่กำลังปรากฏ นั่นคือลักษณะของสติที่อาศัยการฟังว่า ถ้าแข็งปรากฏและสติไม่เกิด ไม่ระลึก ก็ไม่สามารถแยกสภาพที่รู้แข็งออกจากแข็งได้
เพียงแต่นึกว่า มีสภาพรู้ และลักษณะของแข็งไม่ใช่สภาพรู้ นั่นเพียงนึก แต่เวลานี้แข็งจริงๆ รู้แข็งมีจริงๆ ทำไมไม่สังเกตจนกระทั่งรู้ว่าเป็นสภาพรู้เท่านั้น และแข็งก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ถ้ายังไม่สังเกต ก็ฟังต่อไป จนกว่าเมื่อไรสติเกิด ก็ระลึกสังเกตไปอีกเรื่อยๆ นี่หนึ่งทาง และทางใจที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นสภาพรู้ หรือสภาพคิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา เพราะว่าแต่ละคนแลกความคิดกันไม่ได้ และสภาพคิดนั้นก็ดับ จะคิดได้อย่างไรอยู่เรื่อยๆ โดยไม่ดับเลย ใช่ไหม คิดขึ้นมา คำหนึ่งก็ดับแล้ว และก็มีเห็นคั่น เห็นก็ต้องดับ เห็นเป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่งก็ดับ
เพราะฉะนั้น มีนามธรรม มีรูปธรรมมาก ซึ่งอวิชชาไม่รู้เลยสักอย่างเดียว สติจึงเริ่มระลึกได้ที่จะสังเกต รู้ตรงลักษณะนั้นๆ คือ จะพูดเรื่องนามธรรมก็ไม่เคยผ่านไปเลย ทางตาเห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ทางหูได้ยินเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ระลึกตรงลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็ค่อยๆ สังเกต ศึกษา พิจารณา จนกว่าจะรู้ว่า สภาพรู้ ธาตุรู้เป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งเกิดและดับ จะเป็นเราได้อย่างไร ได้ยินเมื่อกี้ดับแล้ว เราอยู่ที่ไหน ทุกอย่างที่เกิดและดับจะเป็นของใครไม่ได้เลย ดับไปแล้ว ไม่มีแล้ว ยังจะเป็นของใครได้
ในขณะนี้สภาพธรรมทุกอย่างทั้งนามธรรมและรูปธรรมกำลังเกิดดับ แต่เมื่อไม่รู้ และไม่มีวันจะรู้ด้วย ถ้าสติไม่ระลึกตรงลักษณะนั้น ก็ยังคงเป็นความคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรมอยู่
ถ. หนูเคยได้ยินว่า ควรจะมีการฝึกสมาธิเบื้องต้นก่อนเพื่อเป็นบาท เป็นพื้นฐานของปัญญาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง กรณีนี้จะใช้สมาธิตอนไหน และสมาธิจะมีส่วนเป็นปัจจัยให้เกิดสติได้ไหม
สุ. เรื่องใช้ เรื่องทำ ไม่ใช่เรื่องรู้ ถูกไหม แต่การเจริญปัญญาเพื่อละ ความไม่รู้ ต้องมีความรู้จากการฟัง และเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งขณะที่สติเกิดระลึกได้ การศึกษา สังเกต พิจารณา เป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง นี่เป็นการสะสมการอบรมเจริญความรู้ ไม่ใช่เรื่องทำ
อัลลัน ที่ว่าไม่มีตัวตน เพราะว่ามีสภาพธรรมต่างๆ เกิดขึ้นและดับไป ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน ถ้าชอบใช้คำว่า ใช้ ต้องถามตัวเองว่า สภาพใช้เป็นอย่างไร เพราะว่าเป็นตัวตนไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องเป็นสภาพธรรมสภาพหนึ่งสภาพใด ที่มีลักษณะใช้ และมีหรือเปล่า มีสภาพธรรมที่มีลักษณะใช้หรือเปล่า หรือมีแต่ สภาพธรรมที่เป็นสติที่มีลักษณะระลึกรู้ มีปัญญาที่มีหน้าที่รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ มีสภาพธรรมต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตนๆ ฉะนั้น หาไม่พบเลย สภาพธรรมที่มีลักษณะใช้ หรือว่าลักษณะทำ
ถ้าเข้าใจว่าสภาพธรรมมีหน้าที่ใช้หรือมีหน้าที่ทำนั้น ไม่มี อาจจะช่วยให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏแทนที่จะเข้าใจว่ามีตัวตนที่จะใช้สติ หรือที่จะไปปฏิบัติ หรือที่จะไปทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด
สุ. การฟังธรรมมากๆ จะทำให้พิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องฟังเรื่อยๆ มากๆ บ่อยๆ คิดแล้วคิดอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ
ถ. สรุปแล้วสมาธิที่เรียนถามไปเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น อนัตตาอีก เกิดขึ้นเอง เราไม่ควรจะไปใส่ใจ ถ้าเราอยากจะทราบคำว่า สมาธิ ก็ ควรจะระลึกสภาพสมาธินั้นที่เกิดขึ้นขณะไหนๆ ใช่ไหม
สุ. ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสคิดตามไปเลยว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยังคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนี้เป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แม้แต่ความคิดก็เป็นเราคิด ถูกไหม ความเพียรก็เป็น เราเพียร
ความจริงแล้วทุกอย่างเป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าปัญญาไม่เกิดไม่มีทางรู้ได้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่เป็น สภาพธรรมแต่ละอย่าง และที่มีความคิดว่าจะใช้ ก็เพราะคิดว่าเป็นของเรา
ถ. สมมติว่าเราได้ฟังอะไร ฟังไปมากๆ แล้ว เราจำเป็นต้อง โยนิโสมนสิการเพื่อจะนำเอาสิ่งที่ได้ฟังเหล่านั้นมาคิดโดยแยบคายเป็นประโยชน์กับตัวเอง ในขณะนั้นก็หมายความว่าเตือนตน
สุ. จากคำแนะนำของคุณอัลลันเมื่อกี้ จะใช้โยนิโสมนสิการใช่ไหม เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการอยู่ที่ไหนที่จะใช้
ถ. เกิดขึ้นที่จิต
สุ. เพราะฉะนั้น ก็มีแต่คำพูดลอยๆ แม้แต่คำว่า ใช้โยนิโสมนสิการ ก็เป็นคำพูดที่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจะรู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิดไม่ใช่เรา แต่เป็นการพิจารณาโดยแยบคายของ สภาพธรรมนั้นจึงเป็นกุศล ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นการพิจารณาไม่ถูกต้อง ไม่แยบคาย จิตจึงเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่ว่ามีมนสิการ และจะใช้โยนิโสมนสิการ คือ พูดถึงสิ่งที่ไม่มี และเข้าใจว่ามี อย่างโยนิโสมนสิการอยู่ที่ไหน ถ้าจะใช้ ขณะนี้มี หรือเปล่า แต่ขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ ไม่ใช่เรา มนสิการนั้นเป็นโยนิโสจึงเข้าใจ ไม่มีเราที่จะต้องไปใช้ หรือไปทำ
ขณะใดที่เกิดโกรธ เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ต้องไปหาโยนิโสมา ไม่มี ขณะนั้น ที่กำลังโกรธเพราะอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่เราไปใช้อโยนิโส หรือเวลาที่กุศลจิตเกิด ก็ไม่ใช่เราไปใช้โยนิโส แต่สภาพมนสิการ คือ สภาพที่พิจารณาลักษณะของธรรมมีจริง และขณะนั้นพิจารณาถูกต้องแยบคายจึงเป็นกุศล หรือเพราะว่าพิจารณาไม่ถูกต้อง ไม่แยบคาย จึงเป็นอกุศล
ขณะที่อกุศลจิตเกิด ใช้อโยนิโสหรือเปล่า หรือเป็นอโยนิโส จึงโกรธ
ในขณะที่กำลังเข้าใจ ใช้โยนิโสหรือเปล่า หรือเป็นโยนิโส จึงเข้าใจ
เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมแบบเผินๆ ไม่ได้ทำให้เข้าใจลักษณะของ สิ่งที่ปรากฏ แต่ทำให้เข้าใจผิด เหมือนกับใช้สมาธิ หรือใช้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ ถ้าปัญญาเกิดจะรู้ว่า สมาธิมีลักษณะอย่างไร นั่นคือปัญญาที่รู้ มนสิการมีลักษณะอย่างไร นั่นคือปัญญาที่รู้ แต่ถ้าไม่รู้ ทุกอย่างผิดหมด แม้แต่ความคิดที่จะใช้ ไม่มี ก็จะใช้ นี่ผิดแล้ว
พระธรรมทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน นี่คือ หลักที่จะต้องรู้ ยิ่งรู้ความจริงว่าไม่ใช่ตัวตน เราก็จะไม่ไปคิดหาหนทางอื่น แต่รู้ สิ่งที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ความคิดในขณะนั้นก็เกิดขึ้นและดับไป กำลัง คิดหาทางก็เป็นชั่วขณะที่คิดและดับไป ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ชั่วขณะจิตเดียวที่ เร็วมากที่จะต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง
ขณะที่กำลังหาทางก็เป็นตัวตนเต็มที่ ไม่ได้สังเกตพิจารณารู้ว่า ลักษณะคิดไม่ใช่เห็น และความคิดต้องดับแน่นอน ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่รู้ว่าดับไปทุกขณะที่คิด
บางคนก็สุขทุกข์มากมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หรือเมื่ออาทิตย์ก่อน ลืมว่าเมื่อวานนี้ก็จบไปกับเมื่อวานนี้ และขณะนี้ก็จบไปกับขณะนี้ สติเป็นสภาพที่กั้น กระแสของอกุศลจริงๆ ขณะที่เกิดและรู้ความจริงว่า ทุกขณะเพียงเกิดขึ้นและ ดับไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สติระลึกหรือยัง เท่านั้นเอง
ไม่ต้องคิด ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องหาวิธีอื่น สติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏหรือยัง ถ้ายัง เวลาที่สติเกิดเป็นอย่างไร นี่คือเริ่มที่จะอบรม ค่อยๆ พิจารณาไปทีละเล็ก ทีละน้อย จะทำอะไรมากกว่านี้ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าอวิชชาที่สะสมมาปิดบังไว้มาก เพียงชั่วขณะที่สติระลึกได้ นี่ก็เป็นบุญแล้ว
ถ. แข็ง รู้ว่าแข็งเป็นแข็ง
สุ. แข็งนี่ต้องรู้แน่ ใช่ไหม ถามใครใครก็ต้องรู้ว่าแข็ง เป็นปัญญาหรือยัง
ถ. ไม่ได้เตรียมไว้ก่อนหรือ
สุ. เรื่องเตรียมนี่เลิกไปได้เลย ไม่มีการเตรียมเลย นอกจากมีการคิด ใช่ไหม อย่างเห็นนี่ต้องเตรียมไหม ได้ยินก็ไม่ต้องเตรียม รู้แข็งต้องเตรียมไหม ทุกอย่างไม่ต้องเตรียม รู้แข็ง รู้ว่าแข็ง หรือรู้ลักษณะที่แข็ง เป็นปัญญาหรือยัง
ถ. เป็นแล้ว
สุ. ไม่ใช่ จุดที่จะต้องรู้คือตอนนี้ ถ้าคิดว่าเป็นปัญญา ทุกขณะที่รู้แข็ง ก็เป็นปัญญาหมด รู้ทีหนึ่งว่าแข็งก็เป็นปัญญา รู้อีกทีว่าแข็งก็เป็นปัญญา ก็เป็นปัญญาไปหมด เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นสภาพรู้แข็งเท่านั้น เป็นนามธรรม
ถ. ขั้นต้นให้พิจารณาแค่นี้ก่อน ใช่ไหม
สุ. มิได้ หมายความว่าขณะนี้มีสภาพรู้แข็ง ใช่ไหม แข็งก็มี ใช่ไหม ยังไม่ใช่ปัญญา ใช่ไหม เป็นแต่เพียงอาการรู้แข็งเท่านั้น ยังไม่ใช่ปัญญา รู้ธรรมดาๆ อย่างนี้ไม่ใช่ปัญญา แต่ขณะใดที่ระลึกรู้ตรงแข็ง ใส่ใจ ไม่ทิ้งไป เริ่มสังเกต ขณะนั้นคือสติระลึกตรงนั้น เพราะถ้าแข็งเฉยๆ ก็ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่มีการสังเกต ไม่มีการพิจารณาเลย นั่นคือไม่มีสติ
ถ. และจะพิจารณาต่อ
สุ. ขอประทานโทษ ให้เข้าใจความต่างกันของขณะที่รู้แข็งและสติไม่เกิด กับรู้แข็งและสติเกิดก่อนว่า รู้แข็งเป็นธรรมดาๆ ของชีวิต เป็นปกติไหมรู้แข็ง เป็นปกติ เป็นปัญญาหรือยัง ยังไม่เป็นปัญญา เป็นเพียงสภาพรู้แข็ง
เวลาที่เป็นปัญญา ซึ่งจะต้องเกิดยากมาก ปัญญานี่ไม่ใช่ระลึกปุ๊บก็รู้ทันที แต่ต้องอาศัยการระลึกก่อน ที่เรากระทบแข็งอยู่ตลอดเวลาบางขณะสติเกิด บางขณะสติไม่เกิด ก็เป็นการเพิ่มความรู้ลักษณะของขณะใดที่มีสติ กับขณะใดที่หลงลืมสติ นี่คือขั้นต้นที่สุด แข็งทั้งวันแต่หลงลืมสติ กับแข็งและสติเริ่มระลึก
ระลึก หมายความว่ารู้ตรงสภาพที่มีแข็งปรากฏ ซึ่งธรรมดาก็แข็งนี่แหละ แต่สติไม่ระลึก และเวลาสติเกิดก็ระลึกลักษณะที่ปรากฏ ลักษณะแข็งมีจริง เพียงแข็งไม่ได้เป็นอะไรเลย ให้ทราบว่าเพียงแข็ง ไม่ได้เป็นอะไรเลย ที่เคยเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคน เป็นแขน เป็นนิ้ว เป็นอะไร ความจริงเป็นแข็งเท่านั้น
นี่คือสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นต้องมีสภาพรู้ แข็งจึงได้ปรากฏ นี่คือ การเริ่มของปัญญา ต้องมีสภาพรู้ แข็งจึงปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพรู้ ในขณะนั้นกำลังรู้แข็ง เป็นลักษณะรู้ เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เพราะว่าทันทีที่ ได้ยินจะรู้แข็งไม่ได้ จะต้องเป็นสภาพที่รู้เสียง
นี่คือสิ่งที่มีจริงๆ และสติปัฏฐานคือค่อยๆ ระลึกศึกษาไปเรื่อยๆ ตามปกติ เพียงแต่ขั้นต้นจะต้องรู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ เท่านี้ก่อน และเวลาที่มีสติแล้ว จะต้องพิจารณา
คำว่า ศึกษา หรือ สิกขา ที่เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะไม่ใช่ความรู้ ขั้นตำรา ขั้นตำราตอบได้ว่าเห็นเป็นนามธรรม เห็นเป็นสภาพรู้ เพียงชื่อเท่านั้นเอง นามธรรม สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เป็นชื่อทั้งหมด แต่ไม่ได้พิจารณาลักษณะที่กำลังรู้ อาการรู้
ในขณะที่เห็นและหลงลืมสติไป คือ ไม่ได้สังเกต ไม่ได้ระลึกว่า ขณะนี้อาการรู้เป็นอย่างไร อาการรู้ไม่ใช่ไปนึกว่าเห็นเป็นนาม ไม่ใช่นึกว่าเห็นเป็นสภาพรู้ แต่กำลังสังเกตที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นลักษณะรู้ หรือเป็นอาการรู้ที่เห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่างที่จะมาชี้แจงหยิบยกยื่นให้ใครดูได้ แต่รู้ว่าลักษณะนั้นมี ขณะที่เห็น ต้องมีการเห็น สภาพเห็น ธาตุเห็น ซึ่งเป็นอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ ทางตา และสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เป็นอนัตตาก็จะต้องไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย เพราะขณะที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น คือ การคิดนึกตามรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น กว่าจะแยกโลกที่เคยติดรวมกันจนกระทั่งเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออกเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง จะต้องอาศัยสติที่ระลึกและพิจารณาไปเรื่อยๆ
ถ. มองปุ๊บ ก็เห็นเป็นอะไรๆ
สุ. ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นปัญญาหรือยัง
ถ. ยังไม่เป็น
สุ. ยังไม่เป็น นี่สำคัญที่สุด ต้องรู้ว่ายังไม่เป็น เพราะว่าสติยังไม่เกิด แต่ขณะใดที่สติเกิด คือ กำลังสังเกตว่า นี่เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เป็นอาการรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ลักษณะเห็นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ปะปนกัน จึงจะไม่มีเรา
ที่จะไม่มีตัวตนได้เป็นอนัตตา ต้องอาศัยการฟัง และสติปัฏฐานพิสูจน์สิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง คือ ระลึกลักษณะของสภาพที่เคยได้ยินได้ฟังขั้นเข้าใจ จนกว่าจะถึงขั้นประจักษ์แจ้ง
คนที่จะอบรมเจริญปัญญาโดยไม่รู้ว่า ขณะไหนมีสติ ขณะไหนหลงลืมสติ นี่เป็นไปไม่ได้เลย และจะไปใช้สมาธิ จะไปทำอะไรๆ ก็ไม่ใช่หนทางทั้งนั้น เพราะว่าไม่ใช่การอบรมเจริญความรู้ซึ่งละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ
เป็นเรื่องใจเย็นๆ เป็นเรื่องความรู้จริงๆ และเป็นเรื่องเหตุผล คือ ต้องรู้ว่า ไม่รู้อะไร และสิ่งที่กำลังปรากฏรู้หรือยัง ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษา ศึกษานี่ไม่ใช่ว่ากางตำราหรือท่อง แต่เริ่มสังเกต เริ่มพิจารณาว่า ลักษณะรู้ต่างกับสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นผู้ที่มีปกติสติระลึก ไม่ใช่การทำ
ถ้าทิ้งคำว่า ผู้ปฏิบัติ ไปได้ก็จะดี คือ ไม่ต้องวางตัวเป็นผู้ปฏิบัติและอึดอัด ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร สติจะเกิดไหม ทำไมสติไม่เกิด ก็เป็นเรื่องนึกคิดไปเรื่อยๆ แต่นี่เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดา ปกติ และสติก็เริ่มเกิด แม้จะน้อยก็ยังดีกว่าไปทำอย่างอื่น เพราะเข้าใจความจริงว่า ต้องน้อยก่อน สติจะเกิดมากๆ ย่อมไม่ได้
ถ้ายังมีใครที่สงสัยในเรื่องขณะไหนมีสติกับขณะไหนหลงลืมสติ ก็ควรจะพิจารณาให้เข้าใจ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่เราอีก ถ้าเข้าใจ คือ โยนิโสมนสิการ
เพราะฉะนั้น ธรรมดา แต่ไม่รู้ นี่จึงจะเห็นพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิ์คุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ทำไมสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แต่ พระปัญญาสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วได้
สิ่งที่กำลังเผชิญหน้า กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1621
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1622
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1623
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1624
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1625
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1626
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1627
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1631
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1633
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1634
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1635
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1636
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1637
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1638
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1639
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1640
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1641
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1642
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1643
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1644
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1645
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1646
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1647
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1649
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1650
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1651
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1652
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1653
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1654
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1655
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1656
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1657
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1658
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1659
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1660
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1661
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1662
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1663
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1664
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1666
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1667
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1668
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1669
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1670
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1671
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1672
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1674
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1675
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1676
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1677
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1678
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1679
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1680
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1681
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1682
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1683
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1684
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1685