แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686


    ครั้งที่ ๑๖๘๖


    สาระสำคัญ

    อรรถกถา ม. ม. กีฏาคีรีสูตร - อธิบายการปฏิบัติตามลำดับ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๐


    ถ. ตึงมี แต่ไม่เคยปรากฏ คือ ไม่เคยระลึก

    สุ. ถ้ากล่าวว่า มี จะไม่เคยปรากฏได้อย่างไร สิ่งที่มีต้องปรากฏ

    . อย่างเวลาโหนบาร์เดี่ยว ก็ตึงเป๊ะเลย แต่ไม่เคยระลึก

    สุ. ก็ไม่ระลึก เหมือนขณะนี้เห็น จะกล่าวว่าไม่มีเห็นก็ไม่ได้ มีเห็น แต่ไม่ได้ระลึก ฉันใด เวลาตึงปรากฏ ก็ไม่ได้ระลึกฉันนั้น ไม่ใช่ว่าไม่มีตึง หรือไม่รู้จักตึง ก่อนเจริญสติปัฏฐานก็รู้จักว่าตึงเป็นอย่างไร ตรงไหนปวด ตรงไหนเมื่อย ตรงไหนตึงก็รู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็ไม่ได้แปลกไปจากนั้นเลย เพียงแต่ระลึกรู้ตรงลักษณะนั้น รู้ว่าเป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม

    . ถ้ายังไม่ระลึกทางใด ก็ถือว่ายังไม่ทั่ว ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน

    ถ. เมื่อไม่ทั่ว ญาณก็คงไม่เกิด

    สุ. อย่าไปคิดถึงวิปัสสนาญาณดีที่สุด

    ถ. ผมไม่ได้คิดถึง แต่ผู้ที่สงสัยเขาคิดถึงมาก เขาฝากผมมาถาม

    สุ. ถามถึง ก็แปลว่าคิดถึง และอาจจะกังวลถึงด้วย แต่ตามความเป็นจริงยิ่งละความกังวลมากเท่าไร ละความต้องการมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นปกติ และสติก็ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพื่อคลายความไม่รู้ อย่าลืม ปัญญา คือ การคลายความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย

    เป็นชีวิตของทุกท่านที่จะต้องพิจารณา เพราะว่าจิตทุกขณะในขณะนี้ดับไป เหมือนเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ไม่เหลือเลยฉันใด จิตเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เหลือเลยฉันนั้น และการเกิดดับสืบต่อของจิตก็ต้องเป็นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด จากนาทีเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าพูดอย่างนี้ทุกท่านก็เห็นด้วย ใช่ไหม และต่อไปอีกจนถึงไม่หยุดเลย แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าก็ต้องเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ในเมื่อขณะนี้ยังเป็น อย่างนี้ และมีปัจจัยที่นามธรรมและรูปธรรมจะเกิดดับสืบต่อไปอย่างนี้โดยไม่หยุด เหมือนที่เคยผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็กำลังผ่านไปสู่แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า ขอให้คิดถึง การสะสมอบรมปัญญาในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่ให้เห็น ความจริงว่า ถ้าปัญญายังไม่อบรมเจริญ แสนโกฏิกัปป์ก่อนเป็นอย่างไรไม่สามารถรู้ได้ แต่สามารถรู้ได้ในชาตินี้ โดยเฉพาะในวันนี้ สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของ สภาพธรรม ปัญญาน้อมศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในวันนี้มากน้อยอย่างไร พรุ่งนี้และต่อๆ ไป ก็แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะสะสมปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ให้พิจารณาเห็นความจริงว่า การอบรมเจริญปัญญาจาก ภพหนึ่งชาติหนึ่งสู่อีกภพหนึ่งชาติหนึ่ง จากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ไปสู่ความเป็น อีกบุคคลหนึ่ง ในชาตินี้แต่ละท่านจะเป็นใครก็ตาม จะสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ กุลสมบัติ ก็ต้องจากสภาพนี้ อาจจะไปสู่ความทุกข์ยากเดือดร้อน หรือชาตินี้กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน ก็จะสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ไปสู่สภาพที่พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือกุลสมบัติก็ตาม แต่ทุกอย่าง ก็ไม่เที่ยง เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ที่ใครเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ฉันใด ชาติต่อไปซึ่งจะมาถึงโดยไม่นาน ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านคำนึงถึงประโยชน์ของขณะจิต แม้เพียงชั่วขณะเดียวที่สติระลึกและศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าพิจารณาเพียงชั่วขณะจิตเดียวๆ จะได้รับประโยชน์มาก เพราะว่าไม่กังวลถึง ขณะอื่น เช่น ขณะที่หลงลืมสติและกลุ้มใจเดือดร้อน แม้ว่าจะหลงลืมสติและเป็น ชั่วขณะที่ผ่านไป ถ้าขณะนี้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ปัญญาจะต้องสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่ว่าจะข้ามขั้นได้

    อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค กีฏาคิริสูตร อธิบายการปฏิบัติตามลำดับ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผลเป็นครั้งแรกเท่านั้น ดุจกบกระโดดไป ฉะนั้น

    เพราะบางคนคิดว่า จากการเป็นปุถุชนสามารถเป็นถึงพระอรหันต์ได้ บางท่านก็กล่าวถึงบางบุคคลว่าเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ได้กล่าวถึงการอบรม เจริญปัญญาไปตามลำดับจนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี และจึงจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    บางท่านก็เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคขณะที่ทรงตรัสรู้นั้นเป็นพระอรหันต์ทันที แต่ความจริงไม่ใช่ ปัญญาของพระองค์เองก็ต้องเกิดตามลำดับจากพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า อนุปุพฺพสิกฺขา แปลว่า ด้วยการศึกษาโดยลำดับ

    ทุกท่านที่กำลังฟังพระธรรมจะเห็นได้ว่าเป็นความจริงอย่างนั้น

    บทว่า สทฺธาชาโต คือ มีศรัทธาเกิดแล้ว ด้วยศรัทธาอันเป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จ

    แม้แต่การฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การที่สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย ชั่วขณะนั้นศรัทธาก็เกิดแล้ว ด้วยศรัทธาอันเป็นที่ตั้งของความสำเร็จ ซึ่งวันหนึ่งปัญญาจะเพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดขึ้น

    บทว่า อุปสงฺกมิ คือ ย่อมเข้าไปหาครู

    หมายความถึงเพื่อฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงไปดู หรือไปพูดคุย แต่การไปหานั้นเพื่อฟังพระธรรม

    บทว่า ปยิรุปาสติ คือ ย่อมนั่งในสำนักครู

    คือ ศึกษาติดต่อกัน ไม่ใช่เว้นไปนานๆ ความเข้าใจก็ต้องมาตั้งต้นกัน ใหม่อีก หรือเวลามาฟังต่ออีกก็คงจะไม่เข้าใจได้ชัดเจน

    บทว่า ธาเรติ คือ ทรงไว้ ทำให้คล่องแคล่ว

    เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ฟังและพิจารณาแล้วเข้าใจ ขณะนั้นจะไม่ลืม และย่อมทำให้ระลึกได้โดยรวดเร็ว

    บทว่า ฉนฺโท ชายติ คือ ฉันทะย่อมเกิด คือ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ

    ในที่นี้หมายความถึงเพื่ออบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรม

    บทว่า อุสฺสหติ ย่อมอุตสาหะ คือ มีความเพียร

    ทุกคนรู้ว่า การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นไม่เร็วเลย เวลาที่ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ชั่วขณะเดียวและดับไป ยังไม่ทันที่จะรู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสติแล้วก็รู้ว่า ในขณะนั้นหน้าที่ คือ เพียรที่จะสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    บทว่า ตุเลติ ย่อมไตร่ตรอง คือ พิจารณาสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    บทว่า ตุลยิตฺวา ปทหติ คือ เมื่อไตร่ตรองแล้วย่อมตั้งความเพียรในมรรค ด้วยการอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

    บทว่า ปหิตฺตโต คือ มีตนส่งไปแล้วสู่อารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    บทว่า กาเยน เจว ปรมสจฺจํ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพานสัจจะด้วยนามกาย คือ ด้วยมรรคมีองค์ ๘

    บทว่า ปญฺญาย จ คือ ย่อมแทงตลอด ย่อมเห็นด้วยมรรคปัญญา อันสัมปยุตต์ด้วยนามกาย

    เพราะว่าในขณะนั้นปัญญาต้องเกิดพร้อมด้วยจิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิด ร่วมด้วย

    แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามลำดับ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ใจร้อน และต้องรู้ว่า การฟังจะต้องฟังโดยติดต่อ และการระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏต้องประกอบด้วยความเพียร

    นี่เป็นเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด เกื้อกูล ทุกประการ

    . ผมไม่ได้กังวลเรื่องวิปัสสนาญาณ ไม่ได้หวังผลในการปฏิบัติ แต่เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การอบรมเจริญปัญญาเจริญต่อไป คือ เมื่อคราวที่แล้วผมได้ถามเรื่องรูปารมณ์ว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารเหมือนกันไหม ในกรณีที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์เหมือนกัน ซึ่งอาจารย์ได้ตอบว่าเหมือนกัน แต่ผมยังไม่เข้าใจว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะ เมื่อปรากฏแล้วก็ดับไป ขณะต่อไปมโนทวารก็รำพึงถึงรูปนั้นเป็นอารมณ์อีก ตามการศึกษารู้ว่าเป็นรูปารมณ์เหมือนกัน แต่สงสัยว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทาง ปัญจทวาร เป็นรูปธรรมที่ปรากฏกับจิต ขณะนั้นรูปยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป แต่ขณะที่ปรากฏทางมโนทวารนั้น รูปไม่มีเหลืออยู่แล้ว จะมีอะไรต่างกันให้รู้ไหม

    และถ้าเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ปัญญาที่เกิดพร้อมสตินั้นสามารถแยกขาดได้ว่า ขณะใดเป็น มโนทวาร และขณะใดเป็นปัญจทวาร และมโนทวารก็จะปรากฏโดยความเป็น มโนทวารต่างกับปัญจทวาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อปัญญาและสติเจริญถึงขั้นแล้ว ก็สามารถระลึกรู้แยกความต่างของปัญจทวารและทางมโนทวารได้ แต่ปัจจุบันนี้ ซึ่งสติเกิดเล็กๆ น้อยๆ และปัญญายังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ผมขอเรียนถามว่า เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพื่อให้ปัญญาอบรมเจริญขึ้นจนถึงวิปัสสนาญาณได้สักวันหนึ่งข้างหน้า การที่สติเริ่มระลึกบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางทวาร ต่างๆ นั้น จะมีนิมิต จะมีเครื่องหมายอะไรหรือไม่ ที่เมื่อสติระลึกแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้นขณะนั้นมีโอกาสที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น จนเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เห็นความต่างของมโนทวารและปัญจทวารได้

    สุ. ข้อแรกที่ถามเรื่องของรูปารมณ์ ใช่ไหม รูปารมณ์ที่ปรากฏทาง จักขุทวารดับไปแล้ว เป็นสภาวรูป เป็นรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะ ดับไป และเมื่อ มโนทวารวิถีจิตรับรู้ต่อ ไม่น่าที่จะเหมือนกันหรืออย่างไรที่ถาม

    . ผมสงสัยว่า ขณะที่รูปยังคงมีอายุอยู่ ขณะที่จิตกำลังรู้รูปนั้น กับรูปที่ ดับไปหมดแล้วและจิตทางมโนทวารก็รู้รูปนั้น น่าจะมีอะไรต่างกันบ้างที่จะให้สติระลึกเพื่อจะได้รู้ชัดว่า รูปารมณ์ขณะนั้นดับไปแล้ว

    สุ. ถ้าจะนึกถึงรูปๆ หนึ่ง นึกได้ไหม รูปอะไรก็ได้

    . ก็เป็นเพียงนึกคิด

    สุ. เดี๋ยวนี้ พอที่จะนึกถึงได้ไหม

    . ได้

    สุ. นึกถึงได้ ขณะที่ห่างไกลกันมากยังนึกได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เกิด สืบต่อทันทีอย่างเร็ว สิ่งที่ทางปัญจทวารวิถีรับรู้จะกระทบกับภวังค์ มโนทวารวิถีจิตรำพึงถึง และสามารถรับต่อได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีใครสามารถแยกออกได้เลย เมื่อไม่มีใครสามารถแยกปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อได้ เพราะฉะนั้น สภาพของรูปารมณ์ที่ทางจักขุทวารวิถีรู้จึงปรากฏทางมโนทวารสืบต่อ แต่ ไม่ได้หมายความว่าเหมือนการคิดนึกอย่างขณะเดี๋ยวนี้ ซึ่งแม้ในขณะนี้จะนึกถึง รูปอะไรก็ยังนึกได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สืบต่อจากทางจักขุทวารวิถี เพราะว่าไม่ได้เห็นสิ่งนั้น แต่สัญญา ความจำ ก็ยังจำไว้พอที่จะนึกถึงได้ ฉันใด เมื่อมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อจากจักขุทวารวิถี หรือวิถีจิตอื่นทางปัญจทวารก็ฉันนั้น เพราะว่าสืบต่อกันอย่างเร็วมาก รับรู้ต่อทันที จะไปมีลักษณะที่ต่างจากอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารไม่ได้

    ถ้าเป็นความคิดนึกเราย้ายได้ เราเปลี่ยนได้ คิดอย่างนี้ สิ่งนี้ และเปลี่ยนเป็นคิดสิ่งอื่น แต่เมื่อทางปัญจทวารวิถีหนึ่งวิถีใดรับรู้อารมณ์ที่เพิ่งปรากฏและดับไป มโนทวารวิถีจิตที่รับรู้ต่อต้องเหมือนกัน เปลี่ยนไม่ได้ พอที่จะเป็นไปได้ไหม โดยเหตุผลอย่างนี้

    . เอาแค่ความรู้จากการศึกษาก่อน ยังไม่ใช่การรู้จริงๆ สมมติว่า จะรู้ความดับไปของรูป จะต้องรู้ความดับไปของรูปจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงแต่รู้ว่า รูปไม่เที่ยงเท่านั้น ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔

    สุ. ขณะที่รูปใดปรากฏ ไม่มีการที่จะพยายามกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่สภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏกับปัญญาที่กำลังแทงตลอดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาในขณะนั้นสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด และสามารถประจักษ์ลักษณะที่ดับไป แต่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ ต้องเป็นอุทยัพพยญาณ

    . ขั้นนั้นต้องรู้รูปที่ดับไปจริงๆ หรือไม่ เพราะว่ารูปปรากฏและดับไปทางปัญจทวาร และมโนทวารก็รู้ต่อ

    สุ. ทางปัญจทวารและทางมโนทวารจะรวดเร็วเหมือนกันเลย ไม่มีการแยกออก เพราะว่าวิปัสสนาญาณทั้งหมดปรากฏทางมโนทวารทั้งนั้น แทงตลอดทาง มโนทวาร แต่เนื่องจากอารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป จึงสามารถรู้ได้ว่าต้องมีปัญจทวารวิถีวิถีหนึ่งวิถีใดก่อน รูปนั้นๆ จึงจะผ่านหรือปรากฏทางมโนทวารได้

    โดยขั้นของการศึกษาทราบว่า ต้องมีปัญจทวารวิถี วิถีหนึ่งวิถีใด วาระหนึ่งวาระใด แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ทั้งหมดจะปรากฏทางมโนทวาร แต่ขณะใดที่มโนทวารปรากฏ อย่างเสียงปรากฏทางมโนทวาร ผู้นั้นจะไม่รู้หรือว่าต้องมี ปัญจทวารวิถีก่อน แต่ทางปัญจทวารวิถีก็สืบต่ออย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ปรากฏ ที่จะต้องแยก เพราะสภาพธรรมทั้งหมดที่จะปรากฏการขาดตอนเป็นแต่ละลักษณะได้ ต้องปรากฏกับทางมโนทวารวิถี

    สำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่ถามว่า จะมีนิมิตเครื่องหมาย หรือมีอะไรที่จะทำให้รู้ได้ว่าปัญญา ได้เจริญขึ้นแล้ว ที่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คำถามสุดท้ายถามอย่างนี้ หรือเปล่า

    . ไม่ได้หมายถึงการตรวจสอบว่าปัญญาเจริญแล้ว แต่หมายถึงว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รู้อะไรเลย และสติเพิ่งเกิดเล็กๆ น้อยๆ ในการที่จะเข้าใจลักษณะของปัญจทวารและมโนทวารนั้น จะมีนิมิตเครื่องหมายอะไรหรือไม่ เวลาที่สติเกิด ระลึกรู้ และปัญญาที่ยังไม่เจริญขึ้นเลย จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    สุ. หมายความถึงในขณะที่สติเริ่มระลึกรู้ ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถีเลย ไม่ใช่วิสัยที่จะไปนั่งคิด แต่การอบรมเจริญปัญญาต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะรู้ว่า นามธรรมมี เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏ

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรม ระลึกรู้เท่านี้เอง เพื่อที่จะรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เช่น ในขณะที่เห็น ยังไม่รู้ชัดก็จริง แต่เริ่มระลึกศึกษาอย่าละเลยเท่านั้นเอง และมีการพิจารณาอย่างไรที่จะทำให้รู้ชัดว่า ลักษณะรู้ อาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ นามธรรม ที่ได้ยินเป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ ไม่ใช่เสียง และไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดถึงความหมายของเสียงด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๙ ตอนที่ ๑๖๘๑ – ๑๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564