แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695


    ครั้งที่ ๑๖๙๕


    สาระสำคัญ

    มานะ - ความสำคัญตน

    ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา

    โลภเป็นเพียงสภาพธรรม

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ปุคคลาทิฏฐาน คือ สมมติบัญญัติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๐


    . ที่อาจารย์บอกว่า การอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าเราจะกระทำ ก็ย่อมได้ แต่ผมว่าลำบาก คือ ถ้าเป็นผู้บังคับบัญชาคน ไม่ให้เป็นตนขึ้นมาไม่ได้เด็ดขาด หรือภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นบุตรภรรยาหรือบริวารภายในบ้าน เราจะทำไม่เป็นตนไม่ได้

    สุ. เรากำลังจะข้ามขั้น เรายังไม่ได้ไปตามลำดับขั้นเลย ถ้าเราจะไม่ข้ามขั้น คือ เราต้องรู้จักตัวเราเองก่อน เคยมีมานะกับผู้ใต้บังคับบัญชาไหม

    . มี มีมากๆ ด้วย

    สุ. ผิดหรือถูก

    . ถูก

    สุ. มีมานะถูกหรือ

    . ไม่มีมานะไม่ได้ ถ้าไม่ถือตัว ยุ่งเลยบ้านเมือง

    สุ. มิได้ มานะหมายถึงขณะที่สำคัญตน เรื่องหน้าที่เป็นเรื่องหนึ่ง หน้าที่ของมารดาบิดา หน้าที่ของนายผู้บังคับบัญชาไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่มีมานะได้ แม้ว่าจะกระทำหน้าที่เหล่านั้น ไม่ใช่ว่าต้องมีมานะจึงจะกระทำได้ นี่แสดงว่าเรายังเข้าใจสภาพธรรมสับสน

    . เหมือนกับเล่นละคร

    สุ. ไม่ใช่

    . เวลาปฏิบัติหน้าที่ อย่างอยู่หน้าแถว ไม่มีมานะไม่ได้ ต้องมีมานะ

    สุ. อยู่หน้าแถวแล้ว ทำไมต้องมีมานะ

    . ต้องถือตัวว่า เราเป็นนายเขา

    สุ. อยู่หน้าแถว แต่ไม่มีมานะได้ ท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ไหนเวลาที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่ไหน ในรูปที่เราเห็นตามวัดต่างๆ ในพระอุโบสถ เวลาที่มีพระพุทธรูป ท่านพระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ที่ไหน

    . ผมไม่ทราบ

    สุ. อยู่ซ้ายขวา ใช่ไหม นั่นคือที่ที่ท่านควรจะอยู่โดยฐานะของ พระอัครสาวก แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะมีมานะหรือเปล่า

    . คงไม่มี

    สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น แม้จะอยู่ที่นั่นไม่มีมานะก็ได้ ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องมี

    . ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว

    สุ. เป็นเรื่องที่ละเอียด อย่างที่กำลังพูดถึงตามลำดับว่า เรามีความยึดถือในชีวิตประจำวันของเรา ในความเป็นตัวตนด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหา ด้วยมานะ ถ้าเรายังไม่รู้ก็สับสน และเราก็ไม่รู้จะละอะไร เมื่อไร อย่างไร แม้แต่การทำหน้าที่ของเรา เราก็ไม่รู้ว่า สามารถกระทำหน้าที่ได้ด้วยความไม่มีมานะ ไม่จำเป็นต้องมีมานะ ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้มีมานะในขณะที่ทำ

    . ไม่มีในจิต ใช่ไหม

    สุ. ต้องเข้าใจลักษณะของมานะก่อน มานะเป็นความสำคัญตน ถ้า ไม่พิจารณาชีวิตประจำวันก็จะคิดว่าอยู่ในตำรา ใช่ไหม คิดดู วันหนึ่งๆ ที่เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ มีมานะเมื่อไรบ้าง ถ้ายังไม่รู้ก็หมายความว่า ไม่สามารถเห็นโทษของมานะได้เลย ยังไม่รู้จักมานะ เพียงแต่รู้จักชื่อมานะ แต่ไม่รู้ลักษณะมานะ

    มานะเป็นความสำคัญตน กล่าวคือ ทิฏฐิ เป็นความเห็นผิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ส่วนตัณหา พอใจรักใคร่ในสิ่งที่ยึดว่าเป็นตน แต่สำหรับมานะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง อีกลักษณะหนึ่ง คือ ตนนี่สำคัญ

    . ไม่สำคัญตนว่า เราเป็นนายร้อย เราเป็นนายพัน แม้กระทั่งไม่สำคัญตนว่าเราเป็นนายกรัฐมนตรี

    สุ. เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนายร้อย เป็นนายพัน แต่ไม่มีมานะในขณะนั้นก็ได้ เป็นก็เป็น ทำไมต้องมีมานะ แสดงว่ายังไม่ได้พิจารณาลักษณะของมานะ ซึ่งเป็นความสำคัญตน

    ขอประทานโทษ ถ้าไปที่ไหนและไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่มีใครเอาใจใส่ รู้สึกอย่างไร นายร้อยนั่นจะรู้สึกอย่างไร นายพันนั่นจะรู้สึกอย่างไร

    . ควรจะไปผูกคอตาย

    สุ. ไม่ต้อง ผูกคอตายไม่ได้ช่วยให้สิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ ต้องเจริญปัญญา แต่ให้รู้ลักษณะของมานะก่อน

    . ถ้าไม่ได้รับการต้อนรับ ก็หมายความว่า ในที่นั้นเขาไม่ต้อนรับ เราก็ ไม่ควรไป หรือควรถอยออก ก็หมดเรื่อง

    สุ. นั่นคือมานะ

    . เป็นมานะแล้วหรือ ไม่รู้เรื่องเลย

    สุ. ผู้ที่ละมานะได้ เป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันละสักกายทิฏฐิ ละมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดทั้งหมด แต่ยังละตัณหาและมานะไม่ได้

    . พระอนาคามีละมานะไม่ได้ตรงไหน

    สุ. ท่านยังมีความรู้สึกว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านเป็นพระอนาคามี

    . นี่คือความสำคัญตนของพระอนาคามี

    สุ. ความสำคัญตน ตนนี่สำคัญ รู้สึกว่าเราสำคัญเมื่อไร เมื่อนั้นรู้จักมานะ ที่ไหนก็ตาม เวลาไหนก็ตาม อย่างบางท่านอาจจะมีเกียรติยศมาก มานะจะโตเร็ว จะโตมากด้วยตามเกียรติยศ ท่านที่มีทรัพย์สินเงินทองมาก มานะก็โตตามทรัพย์สินเงินทองนั้น ท่านที่มีวิชาความรู้มาก มานะก็โตตามเหมือนกัน ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีอะไรจะละคลายกิเลสได้เลย กิเลสไม่ได้อยู่ในหนังสือ กิเลสอยู่ที่การสะสมมา ตราบใดที่ยังไม่ได้ละ ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิด

    การศึกษาพระธรรม เพื่อรู้จักสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่สภาพนั้น มีจริงๆ เกิดขึ้นและดับไป

    . เรื่องตัวตน ผมพอจะทราบแล้ว ขอถามอีกนิดหนึ่ง ฟังจากเทปวิทยุ ที่ว่า ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณากายในกาย

    สุ. ยังไม่เคยพิจารณาเลย ใช่ไหม

    . ไม่เข้าใจ พิจารณาไม่ถูก

    สุ. ขอถามสักนิด อยากปฏิบัติไหม

    . อยาก

    สุ. ผิดหรือถูก

    . ถูก

    สุ. ปฏิบัติอะไร อยากปฏิบัติ หรืออยากเข้าใจ

    . อยากเข้าใจวิธีปฏิบัติ

    สุ. ขอประทานโทษ ต้องขอขอบพระคุณอย่างมากที่เป็นตัวแทนของ ท่านผู้ฟังอีกหลายท่านซึ่งยังสับสนมากในเรื่องของการจะปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ควรทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของการอยาก ขอเปลี่ยนทัศนะความเห็น

    . ถ้าถามว่าอยากปฏิบัติไหม ก็พาซื่อว่าอยาก ถ้าถามว่า พอใจปฏิบัติไหม ก็พาซื่อว่าพอใจ

    สุ. ก็เป็นวิสัยของปุถุชน เป็นของธรรมดา เพราะฉะนั้น ต้องชี้กลับจากผิดเป็นถูก คือ ถ้ายังไม่เข้าใจก็ปฏิบัติไม่ได้ ที่ถามวันนี้ ขออนุโมทนาที่ว่าต้องเข้าใจก่อนตั้งแต่ขั้นต้นว่าจะปฏิบัติอะไร

    . ก็ปฏิบัติในมหาสติปัฏฐาน

    สุ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นกายในกาย จะปฏิบัติอันนี้ใช่ไหม

    . จะเข้าใจอันนี้ก่อน ยังไม่ปฏิบัติหรอก

    สุ. ดีมาก ถูกต้อง จะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจปฏิบัติไม่ได้

    . แน่นอน

    สุ. ดีมาก เวลานี้มีกายไหม

    . กายนี่หมายถึงอะไร ธรรมกายที่วัดนั้นก็มี สังขารก็เป็นกายหรือเปล่า ถ้าบอกว่า กาย คือ สภาพของอาการ ๓๒ โกฏฐาส นั่นคือกาย

    สุ. เอาปัญญาของท่านผู้ฟังเอง ขณะนี้มีกายไหม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตั้งแต่เกิดมาเลย

    . ตั้งแต่เส้นผมถึงปลายเท้า และมีใจด้วย

    สุ. และทุกคนก็ไม่เคยคิด ไม่เคยรู้เลยว่ามาได้อย่างไร ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดมาจากไหน ใช่ไหม ที่จริงแล้วมีเหตุ แต่เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่เป็นไร ถ้าศึกษาต่อไปสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ไม่จำเป็นต้องย้อนไปไกลมาก แค่ขณะนี้ที่กำลังมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายึดถือว่าเป็นกาย เพราะมี รูปหลายรูปประชุมรวมกัน ถ้าแตกย่อยกระจัดกระจายออกหมด จะรวมกันเป็นกาย ได้ไหม

    . ไม่ได้

    สุ. ไม่ได้ แต่ตราบใดที่ยังรวมกันอยู่ ก็ยังคงยึดถือว่าเป็นร่างกายตราบนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะต้องฟังและพิจารณาให้เข้าใจว่า รูปร่างกายทั้งหมดกำลังทยอยกันเกิดและทยอยกันดับแต่ละกลาปหรือแต่ละกลุ่มอย่างรวดเร็ว นี่เป็นขั้นการฟังที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า เป็นจริงๆ อย่างนั้นหรือเปล่า

    อย่างการเห็น มีจักขุปสาทชั่วขณะเป็นปัจจัยให้เกิดเห็นแล้วก็ดับ การได้ยิน ก็เหมือนกัน ถ้ารูปร่างกายไม่เกิดดับอย่างละเอียดจะไม่ปรากฏเป็นความชรา ความแก่ หรือความเจ็บ ถูกไหม ถ้ายังคงที่อยู่ แต่เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก และปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ซึ่งทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมมี ๖ ทาง คือ ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑

    สั้นๆ กะทัดรัด คือ ทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมมีเพียง ๖ ทาง คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑

    ขณะนี้เห็น ถ้าจะประจักษ์แจ้งลักษณะธรรมต้องรู้ความจริงขณะที่เห็น ถูกไหมขณะที่ได้ยิน จะรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมก็ในขณะที่ได้ยิน รู้ลักษณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ต้องรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็กำลังจะใกล้ เข้ามาแล้ว

    . ยังไม่ทราบที่ว่า ภายในเป็นภายใน ที่ผมถามประเด็นตอนแรก ผมตั้งจุดว่า พิจารณากายในกาย

    สุ. สิ่งที่ได้เรียนมา อ่านมาทั้งหมด ที่สำคัญ คือ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่หยิบคำมาเฉยๆ คำว่า ภายใน และ ภายนอก ความหมายอย่างหนึ่ง คือ ธรรมทั้งหลายที่เกิดภายในตน เป็นภายใน ธรรมทั้งหลายที่เกิดภายนอกคือที่บุคคลอื่น เป็นภายนอก

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ การที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตน คือ ใครเห็น กำลังเห็น ใช่ไหม ไม่จำเป็นต้องไปเอาชื่อมาใส่ว่าภายในเป็นอย่างนี้ ภายนอก เป็นอย่างนั้น แต่เอาสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จะต้องรู้สิ่งที่มีที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรื่องบรรพยังไม่ต้องกังวลก็ได้แต่จะต้อง ...

    . อย่างผมเห็นอาจารย์ ตาเห็นรูปของอาจารย์ ผมเป็นภายใน รูป เป็นภายนอก ผมเข้าใจง่ายๆ อย่างนี้ได้ไหม

    สุ. นี่เป็นความเข้าใจทั่วๆ ไปที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงมีรูปภายใน ของตนเอง และรูปภายนอกของบุคคลอื่น แต่ปัญญาที่จะรู้นี่สิ ที่ว่าไม่มีใครเลย ไม่มีตัวตนเลย ที่จะต้องฟังจากชาตินี้ พิจารณาไป สะสมไป ประกอบกับชีวิตประจำวัน ทวนไปถึงคำถามตอนต้นถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ต่างกัน สอดคล้องกัน เพราะว่าจะต้องรู้ความจริงในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็น อยากจะเกิดปัญญาไหม

    . อยาก เอาอีกแล้วผม

    สุ. ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นฉันทะก็ได้ ถ้าเป็นไปในกุศล เพราะถ้ารู้แล้วละ นั่นไม่ใช่โลภะ แต่เป็นกุศล ถ้าขณะใดที่ไม่อยากรู้นี่สิ เพราะบางคนไม่ได้เห็นประโยชน์ของปัญญาเลย ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องฟังธรรม ทำไมต้องเข้าใจเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีประโยชน์อะไร ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ของธรรมดาๆ นั่นคือผู้ที่ไม่ได้เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น เขาต้องการเห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ เพลิดเพลินสนุกสนาน นั่นคือโลภะ แต่เวลาที่ต้องการจะเข้าใจธรรมเป็นฉันทะ เพราะว่าเป็นการเข้าใจเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติด

    . ถ้าอยากไปสวรรค์ อยากไปนิพพาน ก็ไม่ใช่อยาก ใช่ไหม

    สุ. อยากไปสวรรค์ นั่นอยากแน่ๆ

    . ที่ไปทำบุญ อยากไปสวรรค์ รักษาศีล เจริญภาวนา นี่ฉันทะหรืออยาก

    สุ. อยากไปสวรรค์ เพราะอะไร ต้องพิจารณา ทำเพื่ออะไร

    . ก็ทำอยากจะไปสวรรค์

    สุ. ก็เป็นโลภะ ขณะที่อยากไปสวรรค์ โลภะแน่นอน

    . เราก็หนีโลภะไม่พ้นเลย

    สุ. ไม่ต้องหนี แต่รู้ ที่ว่าไม่ต้องหนีเพราะว่าไม่มีทางหนี ตั้งแต่เช้ามา หนีโลภะไปไหนกันบ้าง

    . หนีมาวัดมหาธาตุ และมาที่นี่

    สุ. ชั่วคราว

    . ๒ อาทิตย์แล้ว

    สุ. กี่ชั่วโมง

    . ประมาณ ๘ ชั่วโมง

    สุ. และที่เหลือ

    . ที่เหลือก็กลับไปทำธุรกิจ กินข้าว เข้าห้องน้ำ นอน

    สุ. ชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนไม่พ้นจากโลภะ แต่สามารถเข้าใจโลภะขึ้นว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    นี่คือปัญญา ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ปัญญาต้องรู้สภาพธรรมตามความ เป็นจริง โลภะคืออะไร โลภะก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่ตัวตน สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมไม่ได้อีกเหมือนกัน ก็เป็นคาถาอีก

    . อะไรก็ไม่ใช่ตัวตนหมดก็แล้วกัน ทั้งโลก

    สุ. ทุกอย่าง ถ้ายังไม่เห็นด้วย ก็ลองหาตัวตนว่ามีไหม

    . มี เมื่อวานนี้ตำรวจจับผู้ชายไปหนึ่งคน ข้อหาไปจับตัวตนของผู้หญิงเข้า เป็นแม่ชี บอกว่าจับไม่ได้ ผู้ชายโมโหก็ลองจับแขนดู จึงไปแจ้งความ ก็เขาบอกว่า ไม่มีตัวตน ก็เลยลองจับดู ก็ไปเอะอะเขา ไปแจ้งความจับเขา ก็จะลองดูตัวตนของเธอว่ามีไหม เป็นแม่ชีที่วัดปากน้ำ ปรากฏว่ามีตัวตน

    สุ. เข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกที่ว่ามีตัวตน ทุกคนพูดได้ แต่เข้าใจผิดหรือ เข้าใจถูก โลภะมี โทสะมี เห็นมี ได้ยินมี รูปแต่ละลักษณะมี แต่ละสิ่งแต่ละอย่างล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยปรมัตถสัจจะ ความจริงแท้ จะเอาความจริงอย่างไหน สมมติสัจจะ

    . ก็พระพุทธเจ้าบอกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็มีตนอยู่

    สุ. เพราะฉะนั้น นั่งก็รู้ว่าเรานั่ง ก็เลยเป็นตนหรือ ก็เลยไม่มีปัญญาที่จะ รู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นหนึ่ง คือ ไม่เป็นสอง เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะที่ใช้คำว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง โดยสมมติสัจจะหรือว่าโดยปรมัตถสัจจะ ต้องแยก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 95
    28 ธ.ค. 2564