แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
ครั้งที่ ๑๖๙๗
สาระสำคัญ
จุดประสงค์ของของการฟังธรรม
ความหมายของอนัตตา
ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๐
ผู้ฟัง ในฐานะที่ผมเคยสนทนากับท่านผู้ฟังผู้นี้หลายครั้งแล้ว ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น ปัญหาแรกท่านยังสับสนในเรื่องอัตตา และช่วงหลังท่านยังสับสนในเรื่องของปริจเฉทรูปกับอัชฎากาศที่อาจารย์บรรยายแล้ว
ผมไปค้นในเรื่องของอัตตา จริงๆ แล้วไม่มีอัตตาทั้งปรมัตถสัจจะและ สมมติสัจจะ ทั้งจิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ ในคัมภีร์วิภังค์แสดงไว้ว่า นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา ซึ่งแสดงว่า ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอัตตาได้ แต่ที่เป็นอัตตาเพราะเราเห็นผิดเท่านั้นเอง
ในเรื่องปริจเฉทรูป ท่านผู้ฟังท่านนี้ก็สับสนว่า ปริจเฉทรูปเป็นอสังขตะ แต่ในคัมภีร์กถาวัตถุข้อที่เกี่ยวกับอากาศ ผมเปิดดูแล้ว กถาวัตถุภาค ๒ ฉบับของมหามกุฏในอรรถกถาแสดงว่า ปริจเฉทรูปเป็นสังขตะ และอากาศที่เหลือที่เป็น ช่องว่างนั้นเป็นบัญญัติ ซึ่งบัญญัติก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย สรุปแล้วไม่มีอะไรเป็นอัตตา นอกจากเห็นผิดว่าเป็นอัตตาเท่านั้นเอง
สุ. ขอให้ทุกท่านได้ศึกษาต่อๆ ไปอีก ถ้ายังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร หรือถ้ายังสงสัยก็ไม่เป็นไรอีก ศึกษาต่อไปอีก ค้นคว้าต่อไปอีก และมีหลักฐานที่จะแสดง เกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นในกถาวัตถุปกรณ์ หรือในธรรมสังคณี หรือว่าในคัมภีร์อื่น ก็ควรที่จะยกมากล่าว และชี้แจ้งให้เห็นเลยว่า อยู่ในข้อไหน
ถ. ขอประทานโทษที่ต้องรบกวนเวลาของผู้มีเกียรติ ไม่ทราบว่าผมพูด ไม่ชัดเจน หรือว่าฟังไม่ชัดเจน คือ ผมไม่ได้บอกว่ามีอัตตา เพียงแต่เราพูดว่า การเกิดดับเป็นการอธิบายอนัตตาแล้วนั้น มันมีช่องว่างช่องโหว่ว่า จริงแท้แค่ไหน ทุกอย่างเป็นอนัตตาแน่นอน แต่เราจะใช้คำพูดใดที่รัดกุมกว่านี้แทนเพียงคำว่า เกิดดับ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นอัตตา ผมเพียงสงสัยคำว่า อนัตตา อธิบายด้วยการ เกิดดับนี่อธิบายอนัตตาได้จริงๆ ไหม ... การเกิดดับเป็นเรื่องอนิจจา ส่วนเป็นอนัตตาเพราะไร้แก่น ไม่มีตัวตนจริงๆ จึงเป็นอนัตตา
เห็นการเกิดดับอย่างนี้อาจจะเข้าใจว่าเป็นอัตตาก็ได้ เบื้องหลังการเกิดดับนั้น ต้องอาศัยปัจจัยจึงเกิดดับ จึงเป็นอนัตตา ไม่มีตัวที่แท้จริง คือ ไร้แก่นสารนั่นเอง ผมยังยืนยันว่าเป็นอนัตตา แต่ที่จะเข้าใจว่าอนัตตานั้นไร้แก่น หรือเป็นสุญญตา ไม่ใช่สาระนั้น ไม่ใช่อธิบายด้วยการเกิดดับอย่างเดียว
สุ. ขอประทานโทษ ขอทราบว่า อะไรไม่มีแก่น อะไรไม่เป็นแก่นสารขณะนี้ เพราะกล่าวแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และธรรมก็พิสูจน์ได้ ธรรมของ พระผู้มีพระภาคทุกประการ ทุกพุทธพจน์พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าธรรมที่ เป็นอนัตตาไม่มีแก่นสาร ขอเรียนถามว่า ธรรมอะไรไม่มีแก่นสาร หรืออะไรไม่เป็น แก่นสาร เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ธรรมอะไรไม่มีแก่นสาร
ถ. รูปนามไม่มีแก่นสาร
สุ. รูปนามเกิดและดับจึงไม่มีแก่นสาร ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีแก่นสาร แต่เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดและดับจึงไม่มีแก่นสาร ฉะนั้น จึงมีไตรลักษณะ ไม่ใช่เพียงลักษณะเดียว ใช่ไหม
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะทั้ง ๓ หรือไตรลักษณะของสังขารธรรม ไม่ใช่สังขารธรรมซึ่งเกิดดับจะไม่เป็นอนัตตา แต่สภาพซึ่งเกิดขึ้นและดับไปที่ไม่เที่ยง นั่นเป็นทุกข์ นั่นเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ถ้าจะแสวงหาธรรมที่ไม่มีแก่นสาร หรือจะ รู้ว่าธรรมขณะไหนไม่เป็นแก่นสารจริงๆ จะไม่พ้นจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป จนกว่าจะประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ ซึ่งไม่ใช่เพียงลักษณะเดียว แต่ต้องทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดเลยที่จะ เห็นความไม่เป็นแก่นสารหรือไม่มีแก่นสารของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าสภาพธรรมในขณะนี้ไม่เกิดดับ
ถ. แต่นิพพานก็เป็นอนัตตา
สุ. นี่กำลังจะพูดถึงวิสังขารธรรมอีกแล้ว ก็เราแยกกันแล้ว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา รวมทั้งสังขารธรรมและวิสังขารธรรม ถ้าวิสังขารธรรมก็ตรงกันข้ามกับสังขารธรรม แต่ก็เป็นอนัตตา ซึ่งไม่เกิดขึ้นและไม่ดับไป จึงเป็นสุขัง นิจจัง และอนัตตาด้วย สำหรับพระนิพพานอย่างเดียว แต่สังขารธรรมทั้งหลายที่จะเห็นว่า ไม่มีแก่นสาร ต้องต่อเมื่อประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป
ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เห็นก็ยังเป็นแก่นสาร เพราะว่าทุกคนยังอยากเห็นอยู่ ถ้าไม่มีแก่นสารจะต้องมาเห็นอะไรกันอีกไหม เลิก ไม่ต้องการ ที่จะเห็นอีกแล้ว ดับสังสารวัฏฏ์แล้ว แต่เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับจึงยังคงเป็น แก่นสารอยู่ ต่อเมื่อใดได้ประจักษ์ไตรลักษณะ เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่าไม่เป็นแก่นสาร โดยอรรถลักษณะของอนัตตา เพราะว่าเกิดขึ้นและดับไป
ธรรมไม่ใช่เรื่องลอยๆ ถ้าจะพูดถึงอนัตตาก็หาไม่เจอว่าอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่าลักษณะของอนัตตาโดยอรรถที่ว่าไม่มีแก่นสาร ก็จะต้องเป็นลักษณะของสังขารธรรมซึ่งเกิดดับ ต้องประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปถึงจะประจักษ์สภาพ ที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นแต่เพียงคำพูด พูดได้ว่าเป็นอนัตตา พูดกันมานานเหลือเกินว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเรา และบางคนก็บอกว่าให้ละการยึดถือเสีย เพราะว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็ยังละไม่ได้ ตราบใดที่ยัง ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
การฟังเรื่องของอนัตตา หรือเรื่องของสังขารธรรม จิต เจตสิก รูป ก็เพื่อ อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ พร้อมกับสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ได้ฟังได้ศึกษา จนกระทั่งปัญญาสามารถเข้าใจชัดเจน ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม ตรงตามที่ได้ศึกษา นี่คือจุดประสงค์ของของการฟัง จนกว่าวันหนึ่งจะประจักษ์ ไตรลักษณะ คือ สภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของ ทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน
ก่อนที่จะประจักษ์ไตรลักษณะได้ไม่ใช่ง่ายเลย แต่ถ้าพูดหรืออธิบายเข้าใจได้ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่การเห็นในขณะนี้ก็ยังกล่าวได้ และเข้าใจได้ว่า ต้องมีตา คือ จักขุปสาท เห็นจึงจะเกิด
ดูเป็นธรรมดาเหลือเกินที่จะเข้าใจได้ แต่ทำไมยังไม่เข้าใจลักษณะของเห็น ในขณะที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงธาตุรู้ เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นอาการรู้
แสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่เพียงสำหรับฟัง แต่เพื่อประจักษ์แจ้ง แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งบางท่านก็บอกว่า ไม่เคยเห็นว่าเป็นรูปารมณ์สักที นั่นโดยการใช้คำว่า รูปารมณ์ แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ว่าหมายความถึง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ชัดเจนอย่างนี้ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทุกคนก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่า กำลังมีรูปารมณ์ แต่ก็ไม่รู้จักรูปารมณ์ เพราะว่าเห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ จึงแยกไม่ออกว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังแปลสีสันต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ หรือเป็นวัตถุต่างๆ ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ได้ชัดเจน จริงๆ ว่า ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เกิดเป็นปริตตธรรม คือ เป็นสภาพธรรม ที่เล็กน้อยและสั้นมาก ต่อจากนั้นเป็นโลกของความคิดนึกทั้งหมด แล้วแต่ว่าใครจะ คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ อย่างไร
ถ้าสามารถแยกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม ก็พอจะรู้ได้ว่า สภาพใดเป็นสภาพที่มีจริงและเกิดดับ แต่ขณะใดที่เป็นความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ดับเลย แต่จิตที่คิดเรื่องนั้นดับทุกขณะที่คิด
นี่ก็เป็นการอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ และขอเรียนให้ทราบว่า ประจักษ์แจ้งนั้นยาก ซึ่งทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณที่เห็นไม่ได้ดับ ทั้งๆ ที่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทุกท่าน ประจักษ์แจ้งว่าต้องดับ ขณะที่กำลังได้ยินก็ต้องดับ ขณะที่กำลังคิดนึกก็ต้องดับ เพราะฉะนั้น กว่าที่จะอบรมเจริญปัญญาประจักษ์ไตรลักษณะจริงๆ ให้ทราบว่า แต่ละบุคคลเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ยังไม่ต้องประจักษ์ไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งสภาพที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ และถ้ายังไม่ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ซึ่งเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต้อง ต่างกับก่อนที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะสามารถระลึกลักษณะของนามธรรมต่างๆ ที่เกิดเพราะปัจจัยต่างๆ
เช่น ทางตาจะต้องรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นและมีการได้ยิน สภาพธรรม ๒ อย่างเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างกัน ขั้นศึกษาก็เข้าใจอีก แต่ขั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้ต้องเป็น ขั้นที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นจนกระทั่งถึง สัมมสนญาณ สามารถประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากเป็นการประจักษ์การสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถ ละคลายการที่ยังคงยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาญาณ ทั้ง ๓ นั้น จึงเป็นตรุณวิปัสสนา
ที่กล่าวถึงบ่อยๆ ก็เพียงเพื่อให้ได้ฟังและได้เข้าใจว่า การอบรมเจริญปัญญา ก็อบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามความเป็นจริง โดยที่ ไม่เข้าใจผิด และต้องไม่ละเลยการอบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน ซึ่งลักษณะของโสภณธรรมทั้งหมดก็จะต้องเจริญขึ้นด้วย
เช่น เรื่องอคติ ความลำเอียง เคยพิจารณาบ้างไหม นอกจากโลภะ โทสะ ก็ยังสามารถพิจารณาสภาพลักษณะของจิตได้ว่า เป็นผู้ที่ลำเอียง คือ มีอคติ ด้วยโลภะบ้างไหม ด้วยโทสะบ้างไหม ด้วยโมหะบ้างไหม หรือด้วยความกลัวบ้างไหม บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตเลยว่า เมื่อเริ่มที่จะรู้จักใครสักคนหนึ่งก็เริ่มแยกพวกแล้ว มีไหม นี่พวกใคร ชีวิตประจำวัน แต่พิจารณาดูถึงความละเอียด บางทีอาจจะ ไม่ต้องถึงกับความเป็นพรรคการเมือง หรือเป็นพวกพ้อง เพียงแต่เมื่อเริ่มรู้จักใคร ก็อาจจะคิดว่า คนนี้เป็นพวกเขา หรือเป็นพวกเรา นี่เป็นลักษณะของอคติหรือเปล่า หรือบุคคลนี้ควรที่จะคบหาสมาคมไหมเพราะว่าเป็นอย่างนั้นๆ ตามที่รู้จักบุคคลนั้นอย่างนั้นๆ
นี่เริ่มมีอคติหรือยัง เขาเป็นใคร สมมติว่าไม่ได้ฟังจากบุคคลอื่น จิตใจ ในขณะนั้นจะหวั่นไหวเพราะโลภะ หรือเพราะโทสะ เพราะโมหะ หรือเพราะความกลัวหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่ตรง ทุกคนก็มีกุศลและมีอกุศล และ ถ้าสามารถจะเกื้อกูลบุคคลใดได้ การคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น ไม่เป็นโทษ ไม่เป็น ภัยอันตราย ก็คบหาสมาคมได้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลกันได้ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ไม่มีวิจารณญาณของตัวเอง เป็นผู้ที่เอนเอียงไปตามความคิดของบุคคลอื่น
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีตัตรมัชฌัตตตาและ ปัญญาเจตสิกที่จะพิจารณาให้รู้สภาพของจิต ขณะนั้นจะรู้ไหมว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมชนิดไหน ประเภทไหน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมก็เป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวเป็นตน และจะไม่ถึงการประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรง และเป็นผู้ที่เจริญกุศล เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง
เมื่อกุศลเจริญขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น ทั่วขึ้นทั้ง ๖ ทวาร จึงจะเห็นว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทวารเล็กน้อยจริงๆ แต่ถ้าไม่ทั่ว เช่น ทางตาสติไม่เคยระลึก นานมากใช่ไหม ทางตา จะปรากฏว่าดับไม่ได้ เพราะยังไม่เคยพิจารณาว่า ลักษณะสภาพของนามธรรมที่เห็น ไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยิน ต่อเมื่อใดสามารถพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ตลอดได้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร จึงจะรู้ว่า แท้ที่จริงแต่ละขณะในชีวิตไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่างเท่านั้น
และวันหนึ่งๆ สติปัญญาจะน้อมระลึกพิจารณาอย่างนี้สักกี่ครั้งที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเหลือเลยที่จะเป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขณะที่ได้ยิน เห็นก็ไม่มี คิดนึกก็ไม่มี ขณะที่คิดนึก ชั่วขณะที่คิด เห็นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี ชั่วขณะที่เห็น คิดนึกก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี เพราะฉะนั้น นามธรรมทั้งหมดย่อมจะปรากฏเพียงทีละอย่าง และแม้แต่รูปธรรมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็จะ ไม่เหลืออะไรที่จะทำให้เป็นที่ตั้ง ที่ยึดถือ ที่สำคัญตนว่า เป็นเราด้วยทิฏฐิ หรือเป็นเราด้วยตัณหา หรือเป็นเราด้วยมานะอีกต่อไป เพราะว่าเพียงแข็ง ลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งทางกาย ขณะนั้นเหลือเพียงเท่านั้น เห็นไม่มี ได้ยินไม่มี คิดนึกไม่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด หัวใจ ไม่มี มีแต่แข็งอย่างเดียวเท่านั้น ต้องไม่เหลือจริงๆ ก่อนที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงตีรณปริญญาที่เป็น อุทยัพพยญาณ ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เป็นสิ่งซึ่งรู้ได้ไม่ง่าย แต่ก็รู้ได้ในวันหนึ่งแน่นอน ในเมื่อทุกท่านเริ่มสนใจที่จะศึกษาปรมัตถธรรม เริ่มที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เริ่มที่จะฟังต่อไป พิจารณาต่อไป เพื่อจะได้รู้ว่า ไม่มีอะไรเหลือในแต่ละขณะ มิฉะนั้นแล้วก็ยังรวมกันเป็นเราที่มีความสำคัญด้วยมานะ หรือมี ความพอใจด้วยตัณหา หรือมีความเห็นผิดด้วยทิฏฐิว่า ยังมีความเป็นตัวตนอยู่
เวลาที่รู้สึกว่า ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ จะน้อยกว่าเวลาที่สูญเสียทรัพย์สมบัติ สูญเสียแขน สูญเสียตา สูญเสียขา สูญเสียอวัยวะอะไรๆ ไหม เพราะว่าวันหนึ่งๆ ถ้าทุกท่านจะคิดถึงเรื่องความสูญเสีย ดูเหมือนท่านสูญเสียใหญ่ อาจจะสูญเสียสมบัติมหาศาล แต่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจยังอยู่ หรือถ้าเสียแขน ขายังอยู่ ตายังอยู่ แต่เวลาที่สูญเสียหมดสิ้นทุกอย่าง เหลือแต่เพียงลักษณะของปรมัตถธรรมเพียงอย่างเดียวเฉพาะที่กำลังปรากฏ เป็นการสูญเสียที่มากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสูญเสียหรือเปล่า ทำให้รู้สึกเสมือนว่าว้าเหว่ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาจะต้องคิดว่า น่าใจหาย น่าว้าเหว่ที่ไม่เหลืออะไรเลย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหลือ น่าว้าเหว่ แต่ถ้าเป็นปัญญา ตรงกันข้าม ปัญญาจะไม่ว้าเหว่เลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๐ ตอนที่ ๑๖๙๑ – ๑๗๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751