แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
ครั้งที่ ๑๗๐๓
สาระสำคัญ
ขุ. ขุ. อรรถกถาเมตตสูตร - พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี
ผู้ว่าง่าย และผู้ที่ว่ายาก
สมถภาวนาคืออะไร
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๐
การประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่จะขัดเกลากิเลส โดยเป็นผู้ที่เจริญกุศลและอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ละเอียดซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้มากจริงๆ เช่น ข้อความตอนหนึ่งใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อรรถกถาเมตตสูตร พรรณนาคาถาที่ ๑ มีข้อความว่า
ชื่อว่าตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่าตรงดี (สุหุชู) เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่าตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ
ละเอียดไหม มีตรงหลายอย่าง คือ ตรง เพราะทำด้วยความไม่อวดดี เหตุเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ไม่มีความคิดว่า ความเห็นที่ผิดเป็นความเห็นที่ถูก หรือ ชื่อว่าตรงดี เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่าตรง เพราะละความคดทางกาย และวาจา และ ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ
คดนี่มีตั้งแต่ทางกายคด วาจาก็คด และยังถึงใจที่คด
วาจาที่คด ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้สึกว่าเป็นทุจริต เพราะว่าคดนิดๆ ยังไม่ตรง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้อง ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ แม้แต่ใจที่จะคดโกงไม่ตรงต่อเหตุต่อผลก็ต้องละ มิฉะนั้น พระธรรมจะไม่เกื้อกูล จะไม่มีประโยชน์เลย
ข้อความต่อไปมีว่า
หรือชื่อว่าตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่าตรงดี เพราะอดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง
เวลาที่ต้องการให้คนอื่นเห็นว่ามีสิ่งที่พิเศษ ก็ขอให้คิดลึกลงไปถึงกิเลสขณะนั้นว่า ไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง
ไม่ได้มีคุณอย่างนั้นเลย แต่ทำไมต้องคิดหรือแสดงให้คนอื่นเข้าใจว่ามีคุณ อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นไม่ใช่ผู้ตรง ถ้าเป็นผู้ที่ชื่อว่าตรงดี เพราะอดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง
พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดี
กว่าจะชื่อว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และสติระลึกตรงลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็วโดยไม่บิดเบือน อกุศลขั้นไหนเกิดสติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดและดับไปอย่างรวดเร็ว
ข้อความต่อไปมีว่า
ภิกษุมิใช่พึงเป็นผู้ตรงและตรงดีอย่างเดียว ที่แท้พึงเป็นผู้ว่าง่ายอีกด้วย ก็บุคคลใดถูกท่านว่ากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราถึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้นชื่อว่า ยังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ
ส่วนผู้ใดถูกท่านโอวาท ก็กล่าวว่า ดีละ ท่านขอรับ ท่านพูดดี ขึ้นชื่อว่า โทษของตนเป็นของเห็นได้ยาก ท่านเห็นกระผมเป็นอย่างนี้ โปรดอาศัยความเอ็นดู ว่ากล่าวอีกเถิด กระผมไม่ได้รับโอวาทจากสำนักท่านเสียนาน และปฏิบัติตามที่ ท่านสอน ผู้นั้นชื่อว่าอยู่ไม่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของผู้อื่น แล้วกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย
ขอให้ดูความละเอียดของพระธรรมที่แสดงว่า คนที่ว่ายาก เวลาที่คนอื่น กล่าวโทษหรือชี้โทษของตนเองให้เห็นก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราถึงพูด เป็นอุปัชฌาย์ อาจารย์ เพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ
แสดงให้เห็นว่า เพื่อนมีตั้งแต่เพื่อนเห็นกับเพื่อนคบ ท่านที่มาฟังธรรมที่นี่ มีเพื่อนเห็นหลายคนไหม และมีเพื่อนคบกี่คน เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเกื้อกูลกัน ถ้าเป็นคนที่ว่ายากก็ไม่ยอมฟัง และยังกล่าวด้วยว่า เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ และยังเบียดเบียนผู้ที่อนุเคราะห์ด้วยการนิ่งเสีย หรือยอมรับแต่ไม่ทำอย่างนั้น รับได้ แต่ไม่ยอมทำตาม ผู้นั้นชื่อว่ายังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ
ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องว่าง่ายเท่านั้น ยังไม่พอ การที่จะเป็นคนที่เหลืออีก ๗ ชาติ และกิเลสที่มีสะสมมาในอดีตอนันตชาติแม้ในชาตินี้จะเอาไป ทิ้งไว้ที่ไหน ขอให้คิดดูตามความเป็นจริง ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการจริงๆ ซึ่งข้อความต่อไปแสดงว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ที่ว่าง่ายอย่างเดียว ควรเป็นผู้ที่ อ่อนโยนด้วย
ข้อความมีว่า
อนึ่ง เป็นผู้ว่าง่ายอย่างใด ก็พึงเป็นผู้อ่อนโยนอย่างนั้น
ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าอ่อนโยนด้วย
บทว่า มุทุ ความว่า ภิกษุถูกพวกคฤหัสถ์ใช้ในการเป็นทูตไปรับส่งข่าวเป็นต้น ก็ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น เป็นผู้แข็งกร้าวเสีย พึงเป็นผู้อ่อนโยนในวัตรปฏิบัติ และพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ทนต่อการไม่ต้องรับใช้ในกิจนั้น เหมือนทองที่ช่างตกแต่งด้วยดี
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่ เป็นผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว คือ เป็นผู้มีหน้า เบิกบาน เจรจาแต่คำที่ให้เกิดสุข ต้อนรับแขก พึงเป็นเหมือนผู้ลงสู่ท่าน้ำที่ดีโดยสะดวก มิใช่แต่เป็นผู้อ่อนโยนอย่างเดียว พึงเป็นผู้ไม่มีอติมานะดูหมิ่นเขาด้วย ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยวัตถุแห่งการดูหมิ่น มีชาติและโคตรเป็นต้น พึงมีใจเสมอด้วย เด็กจัณฑาลอยู่ เหมือนท่านพระสารีบุตรเถระฉะนั้น
พร้อมที่จะเหลืออีก ๗ ชาติไหม ต้องตรงตามความเป็นจริง ขัดเกลากิเลส พร้อมทั้งเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าคิดว่าไปนั่งและจะประจักษ์การเกิดดับ โดยที่กิเลสซึ่งมีมากมายและละเอียดในวันหนึ่งๆ ก็ไม่เคยระลึกรู้ตามความเป็นจริงเลย ขณะนี้ตัตรมัชฌัตตตาก็เพิ่งจะมาถึงอุทยัพพยญาณเท่านั้น แต่ก็ไม่ใช่ เป็นเรื่องรีบด่วน ต้องเป็นเรื่องเข้าใจถึงเหตุและผลจริงๆ
ถ้ากล่าวถึงอย่างสั้นๆ จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะว่าไม่มีพื้นฐานที่จะทำให้สามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมได้ ถ้ายังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส และไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง วิปัสสนาญาณต่อไปก็ยังไม่ถึงขั้นเบื่อหน่าย ยังอีกไกล ไม่ใช่เพียงแค่การประจักษ์ การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นก็สามารถที่จะหน่ายคลายการ ที่เคยยึดติดข้องในนามธรรมและรูปธรรมได้
ถ. จากคราวที่แล้วที่อาจารย์ตอบจดหมายของพุทธสาวกเกี่ยวกับ เรื่องปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ดิฉันเพิ่งมาเรียนเรื่องปฏิบัติธรรม ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง เท่าที่ฟังดูเหมือนอาจารย์ปฏิเสธสมถกัมมัฏฐานใช่ไหม เท่าที่ได้ยินมาการปฏิบัติ สมถกัมมัฏฐานเป็นการฝึกให้จิตมีสมาธิและมีสติ เมื่อมีสติ ปัญญาจะต้องเกิด ถ้าเราไม่รู้ปริยัติเลย แต่มีสติกล้าแข็งแล้ว ปัญญาจะเกิดได้หรือไม่ มีพระภิกษุท่านหนึ่ง เรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับการปฏิบัติว่า ปฏิบัติแล้วเกิดนิมิตต่างๆ แต่เท่าที่ฟัง อาจารย์ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นเลย
สุ. นิมิตที่ว่านั้นคืออะไร มีตัวอย่างไหม
ถ. จำไม่ค่อยได้แล้ว
สุ. ก่อนอื่นต้องทราบว่า สมถภาวนาคืออะไร ก่อนที่จะทราบว่า ผิดหรือถูก ควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมหรือไม่ ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องสมถภาวนาเพียงแต่ได้ยินชื่อ และมีคนบอกว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้กำลังปฏิบัติสมถภาวนา เราจะทราบได้อย่างไรว่า นั่นเป็นการปฏิบัติสมถภาวนาจริงๆ หรือเปล่า ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจอะไรเลย
การที่จะวินิจฉัยสิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรที่จะได้ศึกษาสิ่งนั้นก่อน เช่น สมถะ หมายถึงความสงบจากกิเลสอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องดีแน่ ใช่ไหม สมถะ คือ ขณะที่เป็นกุศลจิต แต่กุศลจิตที่เป็นไปในทาน หรือในศีล หรือชั่วครั้งชั่วคราวในชีวิตประจำวัน เล็กน้อยมากจนกระทั่งแม้ขณะที่ให้ทานก็ไม่ได้สังเกตว่า จิตที่เป็นกุศลต่างกับจิตขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร เพราะว่าบางทีขณะที่กำลังกระทำทานกุศล ก็มีอกุศลจิตเกิดแทรกอย่างรวดเร็ว ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะจริงๆ จึงสามารถรู้ได้ว่า จิตขณะไหนเป็นอกุศลประเภทไหนเกิดขึ้น และจิตขณะไหนเป็นกุศล นี่เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา คือ ให้กุศลจิตที่สงบจากอกุศลตั้งมั่นคง จึงสงบขึ้นๆ
ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของจิตและไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ในขณะนั้น เมื่อไม่ใช่ปัญญา เจริญสมถภาวนาไม่ได้ ต้องเข้าใจด้วยว่า ถ้าเป็นสมถภาวนาจริงๆ เป็นกุศลที่สูงกว่าขั้นทาน ขั้นศีล แต่แม้กระนั้นก็ดับกิเลสไม่ได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งการที่สติสัมปชัญญะจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และศึกษาในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นจะเป็นกุศลที่ทำให้สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลขั้นไหน ซึ่ง ที่จริงแล้วควรเจริญกุศลทุกประการทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งความสงบของจิตควบคู่กับการเจริญสติปัฏฐานด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌาน ซึ่งยากมากที่จะบรรลุถึงได้ และในระหว่างนั้นก็ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งจะทำให้สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ก่อนอื่นใครก็ตามที่บอกว่า กำลังปฏิบัติ ถ้าใช้คำว่า สมถะ ก็ควรที่จะถามว่า สมถะคืออะไร ถ้าบุคคลนั้นที่กำลังปฏิบัติอยู่ไม่สามารถตอบได้อย่างถูกต้อง เขาก็ไม่ได้กำลังปฏิบัติสมถภาวนา และอย่างนั้นจะส่งเสริมไหม เพราะว่าสมาธิ มี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ มรรคมีองค์ ๘ ก็มี ๒ อย่าง คือ มิจฉามรรคกับสัมมามรรค เพราะฉะนั้น จะสนับสนุนหรือส่งเสริมมรรคประเภทไหน
ก็ต้องเป็นสัมมามรรคที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ไม่ควรที่จะส่งเสริมอกุศล
ผู้ฟัง ดิฉันชอบเจริญกุศล ตั้งแต่ดิฉันอายุ ๑๔ ดิฉันไปปฏิบัติสมถะ และก็เบื่อ คือ เขาบอกว่าจะเห็นนิมิตต่างๆ ดิฉันก็ไม่เห็น หลับตาไปก็อยู่เฉยๆ เบื่อก็เลิก และปฏิบัติอีก จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๐ คืนวันหนึ่งดิฉันมีทุกข์มาก เปิดวิทยุก็ได้ยินเสียงอาจารย์ ฟังไปฟังมา คือ อยากจะรู้วิปัสสนาคืออะไร ฟังผู้ใหญ่เขาพูดกัน สมถะ วิปัสสนา แต่ไปทีไรก็เจอสมถะ ไม่รู้จักวิปัสสนาคืออะไร เราไม่ได้เรียนอะไร จบ ป.๔ เมื่อฟังอาจารย์ รู้สึกว่าถูกกับใจของเรา เช่น บางครั้งเราไม่ได้ไปวัด ศีลเราด่างพร้อย เราไปเจอของแล้วอยากได้ เกิดสะดุ้งขึ้นมาในใจว่า เราผิดศีลอทินนาทานเสียแล้ว คือว่าเจริญวิปัสสนาแล้วมีความรู้ รู้โดยธรรมชาติของมันเองว่าตัวเราทำอะไร เหมือนเรามีบ้านอยู่หนึ่งหลัง เราต้องกวาดบ้านให้สะอาดทุกซอกทุกมุม อย่างสมถะหลับตาภาวนา ลมเข้า ลมออก ลมสั้น ลมยาว และพุทโธ ดิฉันก็เจริญ ก็ไม่เห็น มีอะไร มาปฏิบัติอย่างอาจารย์ คือ เราทำอะไรชีวิตประจำวันเรารู้ บางครั้งเราคิดว่าตัวเราดีแล้ว แต่ความจริงไม่ดี เราอายุปูนนี้แล้ว แก่แล้ว ปากเราว่าคนนี้ดี แต่ในใจของเราไม่ดี ตรงหรือไม่ตรง ตรงมาก ตรงน้อย อย่างที่อาจารย์ว่า คือ เป็นชีวิตประจำวัน
ดิฉันปฏิบัติแล้วรู้สึกมีความรัก มีความชอบ อะไรจะมา อะไรจะไป เราก็รู้ อย่างเราไปเจริญสมถะ เราไม่รู้อะไรเลย อย่างที่คุณเมื่อกี้ว่า ลุย ดิฉันก็ลุยมาแล้ว ลุยกับหมู่เยอะๆ ไม่ดี เราต้องลุยคนเดียวจะได้กุศลมากๆ และเราต้องกินเจ ๑๐ กว่าวัน ไม่ได้อะไร ได้แต่โทสะกลับมา ไปที่เขา มีพระอยู่รูปหนึ่ง และมีพระไปจากกรุงเทพไปจำพรรษา มีแม่ชี ๒ คน คนหนึ่งสาว อีกคนแก่ เราไปถึงก็ตั้งใจว่า จะทำสมถะ เมื่อไปถึงพระท่านใช้ให้ดายหญ้า โทสะก็เกิด ไม่ได้บุญ เงินก็เสีย นี่เรื่องจริง ดิฉันไม่รู้อะไร แต่ดิฉันมาเรียนกับอาจารย์ พ.ศ. ๒๐ ดิฉันรู้อะไรขึ้นมาหลายๆ อย่าง เราอิจฉาเขาเราก็รู้ บางทีปากเราพูดดี แต่ใจไม่ตรงเสียแล้ว เราก็คิดว่า บุญนะชาตินี้ที่เกิดมาพบอาจารย์
คุณพุทธสาวก คุณลองไปฟัง และลองสังเกตจิตของคุณ จะรู้ตัวว่า เราไม่ดี สักอย่างเดียว
วันหนึ่งดิฉันไปถือศีล โรงพักก็อยู่ใกล้ๆ ปากซอยที่ดิฉันถือศีล เขาเก็บเอารถที่ชนกันมากองไว้ วันหนึ่งไม่ได้รับศีล ผ่านมาเห็นยางรถจักรยานอยู่ ๑ เส้น เกิดอยากได้ แต่สติเกิดรู้ว่าอย่างนี้อทินนาทาน ก็นึกถึงเรื่องพระเตมีย์ที่ว่า มีทรัพย์สมบัติมากมาย ท่านก็ทิ้งหมด เราก็รู้ คือ จิตของเราปฏิวัติขึ้นมา ดิฉันจึงชอบคำว่าวิปัสสนา และ สมความตั้งใจที่ดิฉันค้นหามาตั้งแต่อายุ ๑๔ เมื่อมาฟังอาจารย์ เดี๋ยวนี้สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ อะไรมากระทบเราก็รู้ แต่ก่อนดิฉันคิดจะฆ่าตัวตาย ทีนี้เรารู้แล้วว่า จะคิดทั้งวันไม่ได้เรื่องฆ่าตัวตาย เดี๋ยวก็มีสิ่งอื่นเข้ามา ดิฉันจึงคิดว่า วิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เราจะไปทำกัมมัฏฐาน บุญของเรายังไม่ถึง คือ บ้านของเรายังไม่สะอาด เราจะไปทำอย่างนั้น ได้อย่างไร ทุกซอกทุกมุมมีแต่ขยะทั้งนั้นเลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๑ ตอนที่ ๑๗๐๑ – ๑๗๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751