แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
ครั้งที่ ๑๗๐๔
สาระสำคัญ
ขุ.ปฏิ. ญาณกถา - อุทยัพพยญาณ
การอบรมเจริญปัญญา (อบรมคือ ค่อยๆ ระลึกได้ตามที่ได้ฟัง)
ปัญญาในระดับต่างๆ
จริยานานัตตญาณ (วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา)
การถวายสังฆทาน (มุ่งตรงถวายแก่พระอริยสงฆ์)
ธรรมนานัตตญาณ (ปัญญากำหนดธรรม ๙)
ขุ.ปฏิ. ญาณกถา - ธรรมมีโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๐
ถ. ถ้าเรามีอุปนิสัย อย่างชาตินี้เข้าใจ ชาติหน้ายังจะเข้าใจไหม
สุ. แล้วแต่ว่าเราจะปฏิสนธิด้วยจิตประเภทอะไร ก็ต้องสะสมสืบต่อไป ทุกภพ ทุกชาติ
ถ. สิ่งที่ปรากฏทางตา สมมติเรามองเห็นผู้หญิง เราไม่ได้คิดว่าเป็นผู้หญิง แต่เราเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาและเราก็ระลึกว่าสิ่งนั้นคือลักษณะรู้ ใช่ไหม แต่ที่เป็นผู้หญิงผู้ชาย คือ เป็นสิ่งที่เรียกชื่อต่างหาก ใช่หรือเปล่า
สุ. แม้ไม่เรียก รู้ไหม ก็รู้ได้ เพราะฉะนั้น หลังจากที่เห็นแล้วเป็นสภาพที่จำรูปร่างสัณฐาน คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา
ถ. เร็วมาก เราจับช่วงนั้นไม่ได้เลยว่า เรารู้ตอนไหน
สุ. การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ให้จับ แต่หมายความว่า อบรม คือ ค่อยๆ ระลึกได้ตามที่ได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย แต่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถปรากฏทางตา ได้เท่านั้น คือ ฟังอย่างนี้แล้วก็เกิดระลึกพร้อมสติที่จะพิจารณา
ถ. สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือเป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่งได้ไหม
สุ. จะระลึกแค่ไหน อย่างไร ไม่ใช่จะมีใครบอกว่า ต้องแค่นั้น หรือแค่นี้ แต่ให้เข้าใจว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นอย่างนี้ และยังไม่เคยรู้ว่า เป็นเพียงเท่านี้เอง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
ถ. สีกับลักษณะที่รู้สี แต่ที่เรารู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย นั่นก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งไม่ใช่หรือ
สุ. สภาพรู้
ถ. เราต้องระลึกรู้หรือเปล่าว่า สภาพรู้นั้นเป็นลักษณะรู้อีกชนิดหนึ่ง
สุ. จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแยกขาดจากกันว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม จนกว่าจะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ. อย่างนี้ก็ต้องระลึกรู้ทุกอย่าง
สุ. ทุกอย่าง จะเว้นอะไร ยาก แต่ปรากฏหรือเปล่า ทางตาปรากฏไหม
ถ. แต่ถ้าจะระลึกว่า คนนี้เป็นผู้หญิง อยากจะรู้ว่าตอนไหนเป็นผู้หญิง ระลึกรู้ว่าเป็นผู้หญิงมีอยู่ช่วงหนึ่ง แต่จับไม่ได้ว่าช่วงไหนที่เรารู้
สุ. นี่เป็นผู้หญิงหรือเปล่า ไม่ต้องบอกว่าเป็นอะไร ใช่ไหม ในใจก็รู้ว่าไม่ใช่ และเวลาเห็นรูปร่างสัณฐานอีกอย่างหนึ่งก็รู้ว่าเป็นผู้หญิง แม้จะไม่ได้นึกถึงคำว่าผู้หญิงก็ตามแต่ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมมีอายุที่สั้นเหลือเกิน สั้นมาก เพียงปรากฏแล้วดับ แต่จิตที่คิดนึกถึงเรื่องนั้น คิดมาก คิดยาว คิดนาน และจดจำไว้ ทำให้ไม่รู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งจริงๆ
ถ รู้เพียงว่าสีกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นนามธรรม ใช่ไหม
สุ. สีไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่ให้คิดเป็นคำ ศึกษาให้รู้ลักษณะของสภาพรู้ว่า สภาพรู้เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ถ. อย่างเรารู้ว่าเป็นสุนัข เรารู้ช่วงไหน งง
สุ. รู้ว่าเป็นผู้หญิงเมื่อไร รู้ว่าเป็นผู้ชายเมื่อไร รู้ว่าเป็นวัตถุสิ่งของเมื่อไร รู้ว่าเป็นสุนัขเมื่อไร ใช่ไหม หลังจากที่เห็นแล้ว
ถ. เราระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม คือ ในลักษณะที่รู้ว่าเป็นสิ่งไหนๆ แล้ว ใช่หรือเปล่า
สุ. เห็น ใช่ไหม มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่คิดไม่นึกจะรู้ไหมว่า สิ่งนั้น เป็นอะไร มีหนังสือแต่ไม่อ่าน จะเข้าใจไหมว่าหนังสือนั้นพูดถึงเรื่องอะไร
หลังจากที่เห็นแล้วก็คิดนึก เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า อยู่ในโลกของความ คิดนึกมากเหลือเกิน
ถ. นึกคิดก็นิดเดียว เราจะระลึกรู้ทันหรือ
สุ. คิดทีละคำสืบต่อกันเป็นเรื่องยาว ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีภวังคจิตคั่นอยู่ ทุกวาระของการคิดคำหนึ่งๆ แต่การเกิดดับสลับกันของจิตรวดเร็วมากทำให้ไม่ปรากฏว่า ในขณะนี้มีภวังคจิตคั่นอยู่
ถ. เรื่องที่หนูถามอาจารย์ อาจารย์ตอบไม่ได้หรือว่าเป็นสังฆทานหรือเปล่า
สุ. ทำไมจึงอยากให้เป็นสังฆทาน อยากได้ผลเท่านั้นเองใช่ไหม อยากได้ผลมากๆ แต่ก็ถวายแล้ว ใช่ไหม
ถ. ก็มุ่งถวายต่อสงฆ์ ที่วัดก็มีลูกศิษย์วัดคอยถวายให้ อยากจะรู้ว่า เป็นหรือเปล่า
สุ. จะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ทานได้กระทำแล้ว และมุ่งตรงถวายแก่ผู้ที่เรานอบน้อมเคารพอย่างยิ่ง โดยบุคคลท่านนั้นจะเป็นใครก็ไม่กังวลถึง ขณะนั้นก็เป็นสังฆทาน เพราะว่านอบน้อมถวายต่อผู้ที่บริสุทธิ์เป็นพระอริยเจ้า แม้ว่าบุคคลผู้รับจะไม่ใช่ แต่อย่างไรก็ตามทานชื่อว่ากระทำแล้ว ใช่ไหม จะเปลี่ยนทานให้ไม่เป็นทาน ได้ไหม ในเมื่อให้ไปแล้ว
จุดประสงค์ในใจอยากจะให้เป็นสังฆทานเหลือเกิน ใช่หรือเปล่า ถามจริงๆ เพราะว่าอานิสงส์มาก ใช่ไหม
ตอนนี้อานิสงส์จะน้อยลง เพราะว่าอยากได้ผล ตอนที่อยากได้ผลอานิสงส์ก็ต้องน้อยลงแล้ว พอใจเพราะรู้แน่ว่าจะได้ผลมาก แต่ขณะที่อยากได้ผลมาก ขณะนั้นโลภะก็เข้ามาแทรก
ก่อนที่อุทยัพพยญาณจะเกิด ขอให้ทราบว่า ปัญญาต้องอบรมเจริญมาก แค่ไหนจึงจะประจักษ์ไตรลักษณะ คือ ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของปัจจุบันธรรม ซึ่งก่อนนั้นไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ เช่น ในขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ที่เห็น เกิดขึ้นและดับไป และสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ และจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่อุทยัพพยญาณ
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๑๐๓ มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความว่า
ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน เป็นอุทยัพพยานุปัสสนาญาณอย่างไร ฯ
รูปที่เกิดแล้วเป็นปัจจุบัน ชาติแห่งรูปที่เกิดแล้วนั้นมีความเกิดเป็นลักษณะ ความเสื่อมมีความแปรปรวนเป็นลักษณะ ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ เวทนาเกิดแล้ว สัญญาเกิดแล้ว สังขารเกิดแล้ว วิญญาณเกิดแล้ว จักษุเกิดแล้ว ฯลฯ ภพเกิดแล้วเป็นปัจจุบัน ชาติแห่งภพที่ เกิดแล้วนั้นมีความเกิดเป็นลักษณะ ความเสื่อมมีความแปรปรวนเป็นลักษณะ ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ ฯ
ต้องเห็นสภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบันชัดเจนจริงๆ เพียงอย่างเดียวที่เกิด และก็ดับ ถ้าทุกคนจะลืมสภาพความเป็นตัวตนและไม่มีอะไรปรากฏ แต่มีสติสัมปชัญญะในขณะนั้น และมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป มีชาติ มีการเกิด เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งที่ปรากฏเป็นปัจจุบันนั้นดับด้วยสติสัมปชัญญะที่ประจักษ์แจ้ง ในลักษณะของสภาพธรรมที่แยกขาดจากกัน ขณะนั้นก็เป็นการประจักษ์ไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสภาพธรรม
แต่ให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะเจริญอบรมถึงขั้นนั้นได้ ปัญญาต้องพิจารณา รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน มากมายสักแค่ไหน ไม่ใช่เพียงอย่างบางท่าน ซึ่งท่านไปสู่สำนักและเข้าใจว่า เป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เป็นปัจจยปริคคหญาณแล้ว เป็นสัมมสนญาณแล้ว เป็นอุทยัพพยญาณแล้ว โดยไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ
เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปัญญาต่างๆ ไว้ ซึ่งปัญญาทั้งหมดนั้น ไม่พ้นไปจากการเจริญสติปัฏฐาน
ข้อ ๑๖๐
วัตถุนานัตตญาณ คือ การพิจารณาภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะพ้นไปจากสติปัฏฐานไม่ได้เลย เพราะว่าทุกคนมีใจ ขณะนี้ใจกำลังรู้อะไร สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นชื่อว่าพิจารณาธรรมภายใน
ข้อ ๑๖๓
โคจรนานัตตญาณ คือ การพิจารณาธรรมภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่พิจารณา ปัญญาเจริญไม่ได้ ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ใครจะรู้ชื่อของญาณหรือไม่รู้ชื่อของญาณก็ตาม แต่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ถ้าเป็นการพิจารณาสภาพธรรมภายในก็เป็นวัตถุนานัตตญาณ ถ้าเป็นการพิจารณาธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นโคจรนานัตตญาณ
ข้อ ๑๖๕
จริยานานัตตญาณ ได้แก่ วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา
นี่เป็นปัญญาทั้งหมด เป็นปัญญามากมายกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยต้องผ่านวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น และเริ่มเป็นพลววิปัสสนาตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ ซึ่งจะต้องพิจารณา วิญญาณจริยา คือ พิจารณาจิตที่เห็น จิตที่ได้ยินจิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งขณะนั้นยังไม่ประกอบด้วย อกุศลธรรม ขณะนี้เอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และพิจารณาจิตขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
อัญญาณจริยา คือ พิจารณาจิตที่เป็นอกุศลในขณะที่ไม่ประกอบด้วย กุศลธรรม และเป็นไปกับความไม่รู้
ญาณจริยา คือ ขณะที่ไม่มีอกุศลธรรม และเกิดร่วมกับปัญญา รวมถึง โลกุตตรจิต ๘
มากไหมปัญญา แต่ละขณะๆ ที่สะสมอบรมไป
นอกจากนั้นยังมี ภูมินานัตตญาณ คือ ปัญญาที่รู้ภูมิ ๔
ท่านผู้ฟังที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ได้ฌานจิต จะรู้เพียงภูมิเดียว คือ กามาวจรภูมิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยได้ฌานจิตที่เป็นรูปฌาน อรูปฌาน ปัญญาจะต้องพิจารณาภูมินานัตตญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความต่างกันของภูมิของจิต ซึ่งรวมทั้ง โลกุตตรภูมิด้วย จึงเป็นปัญญาที่รู้ภูมิ ๔
ข้อ ๑๗๖ ได้แสดงภูมิ ๔ อีกประการหนึ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ ฌาน ๔ อรูปาวจรสมาบัติ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ปฏิปทา ๔ สังคหวัตถุ ๔ จักร ๔ คือ สภาพธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ในขณะที่กำลังปรากฏนั้น
ภูมิเหล่านี้ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดธรรม ๔ เป็น ภูมินานัตตญาณ ฯ
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า ไม่รู้อะไรเลยก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม หรือไตรลักษณะ แต่เมื่อใดที่รู้มาก รู้ละเอียด รู้จริงๆ รู้ทั่ว ประกอบด้วยปัญญาเหล่านี้ จึงจะสามารถประจักษ์แจ้งไตรลักษณะได้
นอกจากนั้น ข้อ ๑๗๗ มีข้อความว่า
ปัญญาในการกำหนดธรรม ๙ เป็นธรรมนานัตตญาณอย่างไร พระโยคาวจรย่อมกำหนดธรรมทั้งหลายอย่างไร ย่อมกำหนดกามาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอกุศล เป็นฝ่ายอัพยากตะ ย่อมกำหนดรูปาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากตะ ย่อมกำหนดอรูปาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากตะ ย่อมกำหนดโลกุตตรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากตะ
ถ้าใครเคยทำฌานได้ถึงรูปาวจรปัญจมฌาน เวลาที่จะเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต้องระลึกรู้ความต่างกันของธรรมที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และถ้าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมด้วย
นอกจากนั้น ข้อ ๑๘๓ มีข้อความว่า
ธรรมมีโยนิโสมนนิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ
คราวก่อนได้กล่าวถึงธรรมมีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น ๙ ประการ แต่ข้อความใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ได้แสดงธรรม มีโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ
ทุกท่านที่อยากจะโยนิโสมนสิการ เพราะเพียงได้ฟังชื่อก็คิดว่าจะทำได้ ขอให้บอกเถอะว่า โยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แม้แต่มนสิการ ที่เป็นโยนิโส ก็เพราะขณะนั้นเป็นกุศล จึงเป็นโยนิโสมนสิการ
ถ้าขณะใดที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น จะบอกให้เป็นโยนิโสมนสิการสักเท่าไร ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ข้อความที่ว่า ธรรมมีโยนิโสมนนิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ ในที่นี้หมายถึงเบื้องต้นของการถึงพลววิปัสสนา ไม่ใช่เป็นเพียงกุศล ขั้นทาน ขั้นศีลเท่านั้น
เมื่อมนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อถึงความปราโมทย์ ย่อมเกิดปิติ เมื่อใจมีปิติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมได้เสวยความสุข ผู้มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริง
นี่คือการประจักษ์ลักษณะของไตรลักษณ์ได้ แต่ต้องมีโยนิโสมนสิการ เป็นเบื้องต้น คือ มนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์
และก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ ปัญญาต้องรู้ความต่างกัน ๙ ประการ คือ
ข้อ ๑๘๔
ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
ถ้าฟังอย่างนี้ดูเหมือนไม่ใช่ในขณะนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และปัญญากำลังรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะไม่สงสัยในสภาพที่เป็นธาตุรู้กับสิ่งที่ปรากฏเมื่อได้ฟังว่า ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
จะเห็นความเป็นอนัตตาได้ว่า ในขณะที่กำลังเห็น ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดกับจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะฉะนั้น ถ้ารูปธาตุ คือ รูปารมณ์ หรือ วัณณธาตุไม่ปรากฏ จักขุวิญญาณก็เกิดเห็นไม่ได้ ผัสสะก็กระทบไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียงก็รู้ว่าในขณะนี้โสตวิญญาณ สภาพที่ได้ยินเสียงต่างกับขณะที่เห็น เพราะว่า ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุ เพราะว่าเสียงมี ผัสสะกระทบเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด ด้วยเหตุนี้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิดและปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ความเป็นปัจจัย และรู้ความต่างกันของธาตุ เพียงชั่วขณะที่ไม่มีแล้วเกิดมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น สิ่งนั้นเกิดมีขึ้นเพราะความต่างแห่งผัสสะซึ่งอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีความคิดที่จะพยายาม ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น เพียงแต่ตามระลึกรู้จนเข้าใจชัดเจนจริงๆ ว่า ลักษณะของ สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่มีใครยับยั้งที่จะไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าสภาพธรรม มีเหตุปัจจัยเกิด และผัสสะก็กระทบสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ความต่างแห่งผัสสะ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้นแล้ว
ความต่างแห่งเวทนาอาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น
ถ้าอารมณ์ที่ไม่ดี ผัสสะกระทบอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ที่ไม่น่าพอใจ ความต่างแห่งเวทนาอาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ดี ผัสสะกระทบอารมณ์ที่ดี เวทนาก็เป็นโสมนัสบ้าง หรือเป็นอุเบกขาบ้าง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความต่างแห่งเวทนา (ที่เกิด) อาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น
มีใครพิจารณาเวทนาบ้างไหม ความรู้สึกในขณะนี้เอง ไม่ใช่ต้องไปหาอย่างอื่น หรือเมื่อสักครู่นี้ ประมาณบ่ายสองโมงกว่าๆ ยังไม่ถึงบ่ายสามโมง มีเวทนาอะไรเกิด ความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบใจเกิด ขณะนั้นเพราะความต่างแห่งผัสสะ
เมื่อผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เวทนาที่ไม่สบายใจก็เกิด ขณะนั้น ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ เหตุใดความไม่สบายใจนี้จึงเกิด ก็เพราะว่าผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลาย ยิ่งพิจารณายิ่งเห็นความเป็นอนัตตา จนกว่าจะละเอียดขึ้นๆ ขณะใดที่ปัญญาเกิด ปัญญาทำกิจละคลายการไม่รู้ การหลงยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แม้แต่ความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดเพราะผัสสะที่กระทบกับธาตุที่ไม่น่าพอใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๑ ตอนที่ ๑๗๐๑ – ๑๗๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751