แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
ครั้งที่ ๑๗๑๐
สาระสำคัญ
สิ่งที่ปรากฏทางตา
จดหมายจากคุณธัญญาพร แสงเอี่ยม
จดหมายจากพระคุณเจ้าพระใบฎีกาคำต้น อนังคโน
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๐
ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณที่สูงๆ ขึ้นไป ผมฟังแล้วไม่รู้สึกประทับใจ เพราะว่า อยู่ห่างไกลมาก ไม่ทราบว่าจะถึงหรือไม่ถึง ไม่ทราบว่าชาติไหนจึงจะถึง อย่าง นามรูปปริจเฉทญาณแค่นี้ก็ยังไม่เข้าใจดี คือ พอจะรู้บ้างว่านามอย่างไร รูปอย่างไรในขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง คิดนึก ก็พอที่จะรู้บ้าง แต่ไม่มั่นคงอะไร รู้สึกว่า แค่ขั้นต้นคือนามรูปปริจเฉทญาณก็เป็นปัญหาที่จะต้องศึกษา ที่จะต้องอบรม ต้องฝึกฝนไปอีกมาก และที่เข้าใจอยู่ก็ยัง ไม่มั่นใจตัวเองว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
อย่างทางตาก็เป็นปัญหาที่ข้องใจอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ว่า เห็นนั้น จริงๆ คืออะไรแน่ ก็ยังไม่สามารถตัดสินลงไปได้เด็ดขาด ซึ่งอาจารย์เคยยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเข้ามาในสภามหามกุฏ ฯ ก็เห็นทุกอย่างที่โต๊ะหมู่บูชา ขณะแรกที่เห็นเรายังไม่รู้หรอกว่านั่นคือพระพุทธรูป นั่นคือพระสาวก นั่นคือแจกัน รู้ว่าเห็น รู้ว่าปรากฏ แต่ยังไม่ได้จำแนกชื่อต่างๆ ออกไป การเห็นลักษณะที่ยังไม่ได้จำแนกชื่อ เห็น ปรากฏ แต่ไม่ได้เรียกชื่อ หรือไม่ได้ตั้งชื่อ ไม่ได้นึกถึงชื่อขึ้นมา อย่างนี้ถือว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า
สุ. นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความลึกของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาอย่างนี้ว่า ถ้าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่ๆ และมีเสียงด้วย ลองทิ้งความยึดถือความทรงจำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นใครหรือ เป็นอะไร คือ ไม่ใส่ใจ ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย และใส่ใจในเสียงที่กำลังปรากฏ เมื่อเสียงนั้นหมด มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ละความยึดถือ ขอให้ระลึกถึงคำว่า ละความยึดถือ เพราะเคยยึดถือว่าเป็นคน และเป็นคนนี้ที่เรารู้จักด้วย นี่คือ ความยึดถือ
เพราะฉะนั้น ถ้าละความยึดถือว่าเป็นคนนี้ที่เรารู้จัก ไม่สนใจว่าเป็นคนนี้ ที่เรารู้จัก แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง การเห็น อย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่าง เขามีรูปร่างลักษณะอย่างไร ใส่เสื้อผ้าสีอะไร สูงต่ำดำขาวอย่างไร ขณะนั้นก็เห็นทันทีเลย
สุ. เพราะเคยชินกับการยึดถืออย่างมั่นคงเหนียวแน่นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น การที่จะละคลาย ก็คือ โดยการละความยึดถืออันนั้นว่าไม่ใช่คนนั้นที่ เรารู้จัก เพียงแต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วขณะที่รู้อย่างนี้และได้ยินเสียง ขณะนั้น ไม่นึกถึงคนนี้ที่เรารู้จักแล้วทั้งๆ ที่กำลังเห็น และเวลาที่เสียงปรากฏและสติระลึกที่เสียง การที่จะมาทรงจำยึดถือว่านี่เป็นคนที่เรารู้จักก็ไม่มี ก็เพียงแต่ผ่านไป เห็นก็เห็น เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงดับและกลับเห็นอีก ก็เพิ่มความรู้ว่าไม่ใช่คนที่เรารู้จักมั่นคงเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น
นี่จึงจะค่อยๆ ถ่ายถอนการที่เคยยึดถือคนที่เรารู้จักไว้มั่นคงในขณะที่เห็น โดยการเพิ่มความรู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา
และสำหรับวิปัสสนาญาณต่างๆ เป็นจริงอย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าว คือ ไม่มีความซาบซึ้งประทับใจ ซึ่งในพระไตรปิฎกเป็นข้อความที่สั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิปัสสนาญาณต่างๆ เพราะว่าเป็นปัจจัตตัง เป็นปัญญาที่รู้เฉพาะตัว เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ ก็ฟังดูเสมือนว่าเป็นสิ่งที่กล่าวซ้ำไปซ้ำมาโดย ไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ดูเหมือนเป็น ปกติธรรมดา จนกว่าการประจักษ์แจ้งจะเกิดก็รู้ว่า การประจักษ์แจ้งก็ประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งอวิชชาไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้น ก็ไม่สามารถซาบซึ้งในปัญญา ที่สมบูรณ์คมกล้าที่แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
สำหรับวันนี้มีจดหมายที่เขียนถึงคุณธงชัยจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นความคิดเห็นหรือความสนใจของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ก็ไม่มีเรื่องอะไรมาก แต่ก็ขอเรียนให้ทราบ โดยจะอ่านให้ฟัง
โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา
อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
๓ สิงหาคม ๒๕๓๐
เรียน ท่านผู้จัดรายการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ที่เขียนมานี้จะเขียนถึงความรู้สึกของตนเองว่า เป็นที่น่าแปลกว่า รายการนี้ มีมา ๒๐ กว่าปีแล้ว แต่ดิฉันเพิ่งจะเปิดเจอเมื่อไม่นานมานี่เอง แต่เหตุประการหนึ่งคือ เพิ่งจะซื้อวิทยุเทปเป็นของตนเองได้ราวๆ ๒ เดือนมานี้เอง คงจะมีอานิสงส์ของตัวเองอยู่บ้างจึงได้เปิดเจอรายการนี้โดยบังเอิญ ตอนนี้ก็เปิดรอรับฟังทุกคืน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะเริ่มต้นจากศูนย์ คือ ไม่มีพื้นฐานทางธรรมมาก่อนเลย
เมื่อทางรายการบอกว่า มีการบริจาคหนังสือธรรม ก็เกิดความรู้สึกอยากได้ อยากได้ทุกอย่างที่ทางมูลนิธิ ฯ มีอยู่ (เกิดโลภะอย่างมากคล้ายกับคนสำลักกระมัง) วันก่อนที่มูลนิธิส่งหนังสือเรื่องเมตตาและทำไมข้าพเจ้าได้ศึกษาธรรมนั้นได้รับแล้ว ขอกราบขอบพระคุณธรรมที่มีอยู่ในทุกคนที่ดำเนินการในรายการนี้อยู่
ขอบอกอีกครั้งว่า เริ่มศึกษาธรรมจากความไม่รู้อะไรเลย รู้สึกว่าเริ่มเมื่อชีวิตย่างเข้าไป ๓๐ กว่าแล้ว เสียดายเวลาที่ผ่านมา เมื่อ ๒ คืนก่อน คือ วันที่ ๑ และ ๒ สิงหาคม ๓๐ รอรับฟังรายการเช่นเคย แต่ไม่ทราบเป็นอย่างไร ไม่มีออกอากาศมา เลยรอเก้อ เพราะคอยอัดใส่เทปอยู่ ซึ่งเพิ่งอัดได้ ๓ ม้วนเอง ฟังครั้งเดียวไม่ค่อยเข้าใจ ต้องฟังซ้ำ ๒ – ๓ ครั้ง ก็พอจะรู้เรื่องบ้าง
หลังจากที่ฟังรายการนี้แล้วก็ตั้งใจว่า ต้องปฏิบัติธรรมให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป แต่ก็บอกไม่ถูกว่าจะทำไปได้แค่ไหน จดหมายที่เขียนมานี้ เขียนมาเพราะอยากจะเขียน ไม่ค่อยจะมีสาระนัก ก็ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบรายการนี้
ขอให้รายการนี้จงอยู่คู่ประชาชนไปนานเท่านาน และพร้อมกันนี้ก็ขอบริจาค ให้มูลนิธิเพื่อใช้จ่ายในกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการนี้มา ๔๐ บาทด้วย ขออานิสงส์จงมีแด่ทุกๆ คน
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ธัญญาพร แสงเอี่ยม
อีกฉบับหนึ่งเป็นของพระคุณเจ้าซึ่งเพิ่งได้รับเมื่อสักครู่นี้เอง ท่านเขียนมาเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๐
ถึงอาจารย์สุจินต์ทราบ
อาตมามีความสงสัยในธรรมที่เคยอ่านพบเห็นมาดังนี้ เรื่องญาณ ๑๖ ญาณ ๑, ๒ ท่านจัดเป็นญาณปริยัติ ญาณ ๓, ๔ ขึ้นไป ท่านจัดเป็นญาณปฏิบัติ ไปตามลำดับ อาตมาก็เลยทำความเข้าใจว่า ญาณ ๑, ๒ นี้ เราก็เรียนหรือศึกษาจาก พระอาจารย์ให้เข้าใจว่า อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป และก็เรียนต่อไปว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยของนามของรูปทางตา หู จมูก เหล่านี้เป็นต้น เพราะญาณทั้งสองนี้ ท่านจัดความรู้อยู่ในขั้นญาณปริยัติ ก็คงจะหมายถึงได้ไปแล้ว ๒ ญาณ ต่อไปก็ เข้าห้องเล็กๆ น้อยๆ ไปกำหนดดูความเกิดดับของนามรูปต่อไป อันเป็นที่ ๓, ๔ ตามลำดับ
พระสาวกในครั้งอดีตบางรูปบางองค์ ท่านก็รับเอากัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้นำไปปฏิบัติดูความเกิดดับของนามรูป นั่งดูต่อมน้ำบ้าง พยับแดดบ้าง และอื่นๆ อีกบ้าง ความเกิดดับก็เป็นญาณที่ ๓, ๔ ไปตามลำดับ จนท่านได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามๆ กัน
จะอย่างนี้กระมัง ตามสำนักต่างๆ ทั่วประเทศไทย ท่านวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย ท่านจึงให้ผู้ปฏิบัติจ้องดูๆ ความเกิดดับของรูปนาม อันเป็นญาณ ๓, ๔ ไปตามลำดับ ทั้งนี้เพราะญาณ ๑, ๒ ได้เรียนไปกับท่านอาจารย์ของตนๆ แล้ว อันเป็นญาณปฏิบัติญาณแรก ดังนั้นอาตมาจึงคิดว่า ตามสำนักต่างๆ ท่านคงจะเอาแบบอย่างจากพระสาวกในครั้งอดีตกันกระมัง จึงได้กำหนดดูญาณ ๓, ๔ ไปตามลำดับจนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเช่นพระสาวกแต่ครั้งอดีต หรือคุณโยมอาจารย์ จะคิดเห็นเป็นประการใด กรุณาได้ชี้แจงตอบบรรยายให้ทราบอีกด้วย เพื่อจะได้หายความสงสัยข้อข้องใจอันมีอยู่นานแล้ว
อาตมาได้ฟังการบรรยายวิทยุทุกเช้าเลย เข้าใจในการบรรยายแนวทางของ คุณโยมอาจารย์ได้ดีมากเลย ฟังมาตั้งสิบๆ ปีแล้ว ไม่เคยได้ยินใครถามหรือพูดถึง ปัญหาแนวนี้เลย มีแต่สูงไป ข้ามไป เคยมาหาอาจารย์ที่วัดบวรนิเวศ ๒ หน ไม่พบ ถามแม่ชีดู ได้คำตอบว่า อาจารย์ท่านพาลูกศิษย์ไปเที่ยว (หรือท่านผู้ฟังจะเห็นเป็นประการใด กรุณาตอบไปทางจดหมายก็ได้)
จากพระใบฎีกาคำต้น อนังคโน
สำนักสงฆ์บ้านระเบาะเกศ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีความคิดเห็นประการใดบ้างไหม
ผู้ฟัง ท่านได้ฟังท่านอาจารย์มาเป็นสิบๆ ปี แต่ท่านก็ยังเข้าใจว่า ญาณ ๑ ญาณ ๒ อ่านเอาจากตำรา คือ เป็นความรู้ขั้นปริยัติ หมายความว่า อ่านปริยัติก็ได้แล้วญาณ ๑ ญาณ ๒
ญาณ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ การพิจารณารู้จักแยกรูปแยกนามว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่รู้เหตุปัจจัยของนามและรูป ซึ่งถ้าหากท่านเข้าใจอย่างนั้นแล้ว ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแน่ๆ เพราะว่าที่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ไม่มีทางที่จะเป็นปริยัติหรืออ่านได้จากปริยัติ ปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนกันมา บางทีเรียนแล้วก็ไม่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติ เพราะปริยัติที่เรียนมานั้นไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่า ทำไมต้องเรียน เรียนไปทำไม
อย่างเรียนพระอภิธรรม บางคนเรียนตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แต่ไม่ทราบว่าเรียนไป ทำไป เวลาไปปฏิบัติ ก็ไม่ได้เอาข้อความที่เรียนจากพระอภิธรรมไปปฏิบัติ ต้องไป เข้าห้อง ต้องไปหาอาจารย์สอนต่างหาก ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจากตำรา ใช้ไม่ได้เลย อาจารย์ที่ไปหานั้นก็ไม่ทราบว่าท่านเรียนหรือเปล่า แต่ท่านสอนให้ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เหยียดได้ คู้ได้ เราก็ปฏิบัติตาม ถูกหรือไม่ถูกก็ไม่รู้ แต่เขาทำกันมาอย่างนั้นก็ทำไป ซึ่งเป็นการศึกษาที่แยกปริยัติกับปฏิบัติออกจากกันโดยเด็ดขาด ไม่ได้เกื้อกูลอะไรกันเลย
สำหรับพระภิกษุรูปนี้ ผมเข้าใจว่า ท่านคงเป็นอย่างนั้น ญาณที่ ๓ ขึ้นไป ท่านว่าต้องไปนั่งดูที่ห้อง หรือสถานที่ปฏิบัติ ดูน้ำไหลบ้าง อะไรๆ บ้าง และ วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นมาเอง ซึ่งลักษณะนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมากที่สุด และเป็นความเข้าใจที่มีอยู่ในสมัยนี้อย่างมากมาย เป็นความเข้าใจที่เดิมทีเดียว ผมก็เข้าใจอย่างนั้น และเมื่อทำไปแล้ว ไม่ได้อะไรเลย เพราะพื้นฐานความรู้ที่ได้มา ไม่ได้เกื้อกูลแก่การการปฏิบัติ การปฏิบัติก็ปฏิบัติไปตามที่อาจารย์สั่ง ที่อาจารย์แนะ ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ผมมีความเห็นอย่างนี้
สุ. ไม่ทราบท่านผู้ฟังท่านอื่น ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม ตามจดหมายของพระคุณเจ้าที่เขียนมา ซึ่งก็เป็นความชัดเจนอยู่แล้วตามที่ท่านผู้ฟังได้กล่าวว่า การศึกษาปริยัติ คือ การศึกษาเรื่องที่สติจะต้องรู้ จะต้องระลึก และปัญญาจะต้องศึกษาพร้อมสติจนกว่าจะประจักษ์แจ้งตรงตามที่ได้ศึกษา
เช่น ลักษณะของนามธรรม เพียงแต่ได้ยินก็ไม่ยากที่จะเข้าใจว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่ยากไหมที่จะรู้ว่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นธาตุรู้อย่างไร เป็นสภาพรู้อย่างไร ซึ่งก็ได้กล่าวถึงมามากทั้งในขั้นของปริยัติ และในขั้นของการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดตามลำดับขั้น
ผู้ฟัง เรื่องปริยัติ ปฏิบัติ และการศึกษา ผมมีความคิดเห็นว่า เราทุกคน ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็ชื่อว่าเป็นผู้ยังต้องศึกษา
ทีนี้คำว่า ปฏิบัติ อย่างไรจึงจะเรียกว่าปฏิบัติ บอกว่าต้องไปเข้าห้องกัมมัฏฐาน จึงเรียกว่า การปฏิบัติ อย่างเราที่นี่ก็คิดว่า เข้าห้องกัมมัฏฐานไม่ใช่การปฏิบัติ ที่ถูกต้อง ต้องมาศึกษาก่อน คือ เรามีความเห็นว่า ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ ก็ต้องไม่ใช่อย่างนี้
ผมมีความเห็นว่า การปฏิบัติอยู่ที่ไหน อาจารย์ก็บอกว่า ในชีวิตประจำวัน ก็ปฏิบัติได้ ผมก็เห็นด้วย ทีนี้คำว่าปฏิบัติ ที่เข้าใจกันว่าต้องไปห้องกัมมัฏฐานจึงจะเป็นการปฏิบัติ ผมเห็นว่า การปฏิบัติ ปฏิบัติอะไร คือ มีรูปกับนาม ถ้าเราพิจารณาว่า ปฏิบัติที่รูป รูปจะไปรู้อะไร เพราะฉะนั้น มีทางเดียว คือ ปฏิบัติที่จิต และจิตอย่างไรจึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ ผมมีความเห็นว่า ตอนที่จิตพิจารณารูปนาม และมนสิการอยู่ให้เป็นรูปนามตามวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น คำว่า การปฏิบัติ แม้การฟังอยู่ขณะนี้ ถ้าผู้ใดกำลังพิจารณาเสียงก็ดี หรือรูปต่างๆ ก็ดี ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ แม้แต่การอ่านปริยัติก็ดี ถ้าเรามนสิการหรือมีสติพิจารณาสิ่งที่เราอ่าน และเกิดความเข้าใจ เกิดปัญญาขึ้น ตอนนั้นแหละชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ
การปฏิบัติ ไม่ใช่ไปอยู่ห้องกัมมัฏฐาน แต่ผมไม่ได้สรุปว่า การอยู่ห้องกัมมัฏฐานไม่ใช่การปฏิบัติ แต่หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม จะอยู่ห้องกัมมัฏฐาน หรือการฟังธรรมก็ดี สามารถเป็นการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น ถ้าขณะนั้นเราพิจารณารูปนามให้เห็นตามความเป็นจริงอย่างที่เราศึกษาอยู่ในขณะนี้ ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ
ถ้าท่านผู้ฟังฟังแล้วปัญญาเกิดขึ้น ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติแล้ว พิจารณาแล้ว เห็นแล้ว ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง ปัญญาจึงชื่อว่าเกิดจากการฟังนั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่กล่าวกันว่า เข้าห้องกัมมัฏฐานก็ดี หรือเราปฏิเสธห้องกัมมัฏฐานว่า ต้องปริยัติก่อนก็ดี ไม่จำเป็นหรอก ทุกสิ่งทุกอย่าง หรือในชีวิตประจำวัน สามารถ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติได้ ขณะที่เราปฏิบัติทางจิตนี่แหละ โดยการพิจารณาอย่างนี้
สุ. หมายความถึงเข้าใจเรื่องขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่ จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ
สุ. หมายความว่า ต้องเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน โดยรู้ขณะที่ต่างกันของขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๑ ตอนที่ ๑๗๐๑ – ๑๗๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751