แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
ครั้งที่ ๑๗๑๒
สาระสำคัญ
ธรรมคืออะไร และจะปฏิบัติธรรมอะไร
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ที่โรงเรียนนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง ทหารอากาศ ดอนเมือง
วันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๐
สุ. พูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ทราบว่ามีความเข้าใจธรรมขั้นไหน หรือแค่ไหนแล้วที่จะปฏิบัติ เพราะว่าส่วนมากเมื่อพูดถึงพระพุทธศาสนาหรือพระธรรม ก็ดูเสมือนว่าเข้าใจแล้ว แต่ถ้าถามจริงๆ แต่ละคำว่า เข้าใจคำนั้นว่าอย่างไร ก็จะ เป็นความคิดความเข้าใจของตนเอง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับพระไตรปิฎกหรือพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
แม้แต่คำว่า ธรรม คำเดียว ครอบคลุมโลกทั้งโลก จักรวาลทั้งหมด และ คำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจว่า ธรรมหมายความถึง สิ่งที่มีจริง และสิ่งนั้นเป็นสภาพที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จึงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ถ้าเข้าใจธรรมแล้วจะรู้ว่า ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรม เสียง ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเป็นของจริงที่เกิดขึ้นปรากฏให้พิสูจน์ได้ว่ามีจริง
สิ่งที่มีจริงนั้น ใครจะเรียกว่า ธรรม หรือไม่เรียกว่า ธรรม แต่ลักษณะ สภาพนั้นก็เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม จนกระทั่งถึงการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ตั้งแต่ขั้นต้นว่า ธรรมคืออะไร และจะปฏิบัติธรรมอะไร
เมื่อทุกคนเกิดมา เป็นธรรมทั้งนั้น ทุกคนกำลังเห็น ถ้าเข้าใจธรรมแล้วว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ก็พิจารณาดูว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ เป็นธรรมหรือว่าเป็นเรา
นี่คือการที่จะเข้าใจคำว่า อนัตตา ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
การปฏิบัติ หมายความว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรับรองคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นคำสอนที่ได้พิสูจน์แล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เพียงเชื่อ แต่หมายความว่า เป็นสิ่งซึ่งรับฟังแล้วไม่ใช่เชื่อทันที แต่พิจารณาศึกษาในเหตุผลจนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า คำสอนนั้นเป็นคำสอนที่ถูกต้อง
ถ้าชีวิตประจำวัน ทุกวันๆ คือ ธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมที่จะปฏิบัติก็มี หลายขั้น ตั้งแต่ผู้ที่เป็นบุตรธิดา ก็มีธรรมที่จะต้องประพฤติต่อมารดาบิดา ไม่ใช่ว่าข้ามการที่จะประพฤติต่อมารดาบิดาไปประพฤติต่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ โดยละเลยการประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ในฐานะของบุตรธิดาก็มีหน้าที่ ที่จะปฏิบัติธรรมต่อมารดาบิดา และผู้ที่เป็นมารดาบิดาก็มีหน้าที่ คือ การปฏิบัติธรรมต่อบุตร เพราะฉะนั้น ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ไม่ว่า จะเป็นเพื่อนร่วมโลก ร่วมประเทศ ต้องมีธรรมที่จะพึงปฏิบัติต่อกัน
นอกจากนั้น ก็มีการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นตามลำดับด้วย ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสของตนเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของการปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นผู้ที่สนใจจริงๆ ที่จะปฏิบัติ มีวิธีเดียว คือ ต้องฟังพระธรรมจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และเมื่อเข้าใจแล้ว ก็เห็นประโยชน์ จึงน้อมประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่ผู้ใดก็ตามที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร และจะปฏิบัติธรรม จะปฏิบัติอย่างไร และจะปฏิบัติกับใคร ปฏิบัติเมื่อไร
เพราะฉะนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าใครอยากจะปฏิบัติธรรมโดยสมบูรณ์ทุกขั้น ต้องศึกษาธรรม จึงจะเข้าใจและประพฤติปฏิบัติได้ แม้ในขณะนี้ก็ประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้ ไม่จำกัดเวลาเลย
อ. คำถามคล้ายๆ กับว่า การปฏิบัติธรรมคืออย่างหนึ่ง ชีวิตประจำวัน ที่แท้จริงก็อีกอย่างหนึ่งต่างหาก อันนี้จะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะว่าตัวอย่าง ที่ยกขึ้นมาบอกว่า ไม่มีเวลา ต้องทำหน้าที่ ไม่มีเวลาไปสวดมนต์
ในชีวิตประจำวันของผม ผมมีโอกาสปฏิบัติธรรมบ่อย แต่ผมแทบจะไม่ได้ สวดมนต์เลย คล้ายๆ กับว่าการปฏิบัติธรรมเป็นพิธี ถ้าเชื่อก็จะทำ ถ้าไม่เชื่อจะไม่ทำ และชีวิตก็อีกอย่างหนึ่ง
การปฏิบัติธรรม คือ การใช้ชีวิตแบบหนึ่ง คือ แทนที่จะเป็นไปด้วยอกุศล ทุกสิ่งทุกอย่างทำแบบเพื่อตัวเอง อยากได้อะไรก็ทำไป นานๆ ทีอาจจะเสียสละ เพราะถ้าไม่เสียสละอาจจะเกิดอันตราย ไม่ใช่ว่าเสียสละเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อความสุขของคนอื่น
การปฏิบัติธรรม คือ การใช้ชีวิตในทางที่ไม่สร้างปัญหากับตัวเอง ไม่สร้างปัญหากับคนอื่น แต่ตรงกันข้าม ทำสิ่งที่มีประโยชน์แท้ๆ กับตัวเอง และทำประโยชน์แท้ๆ กับคนอื่น เพราะหวังดีต่อตัวเองและคนอื่นด้วยปัญญา ไม่ใช่หวังดีโดยไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ต้องหวังดีด้วยปัญญา ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ปฏิบัติธรรมได้เดี๋ยวนี้ ออกจากที่นี่ก็ปฏิบัติธรรมได้ต่อไป
ขึ้นรถเมล์ไปไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ แทนที่จะนั่งมองสิ่งที่อยากมองด้วยโลภะ เพราะน่าสนใจ หรือเห็นอะไรที่ไม่สวยก็ไม่ชอบ ก็เริ่มมีจิตใจเกิดขึ้นที่เป็นประโยชน์ เช่น อาจจะหวังดีต่อคนอื่นบนรถเมล์ที่เขาไม่มีที่นั่ง และสำหรับตนเองไม่จำเป็นจะต้องนั่ง ให้คนอื่นนั่งก็ได้ คือ หวังดีต่อเพื่อนร่วมโลกที่อยู่บนรถเมล์กับเรา มีโอกาสทุกเมื่อ
เรื่องสวดมนต์ ไม่สวดมนต์ ไม่เกี่ยวข้องเท่าไรนัก เพราะว่าเวลาสวดมนต์จิตใจเป็นอย่างไร ถ้าทำเป็นพิธีจริงๆ ไม่รู้ความหมายของคำที่สวด และไม่รู้ว่าสวดทำไม นอกจากมีคนบอกว่า ถ้าสวดแล้วจะได้อะไร ก็คงไม่ได้เป็นการปฏิบัติธรรม คือ ถ้าเป็นการปฏิบัติธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมที่ควรเรียกว่า อกุศลธรรม ธรรมที่ไม่ดี เพราะมีคนบอกว่าทำแล้วจะได้โน่น ได้นั่น แต่จิตใจเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตใจอาจจะ เป็นอกุศลเต็มที่ก็ได้ ใครๆ ก็สามารถสวดมนต์ได้ถ้าบอกว่าต้องสวดคำนี้ ต้องพูดคำนี้ออกมา ใครๆ ก็พูดออกมาได้ ไม่เห็นเป็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศลธรรมเลย ถ้าไม่รู้เรื่องสวดมนต์ว่าเป็นกุศลอย่างไร เป็นอกุศลอย่างไร
ถ. ถ้าอย่างนั้นจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็น เราจะทำบุญหรือ ทำกุศลเพื่ออะไร
สุ. เพื่อขัดเกลาอกุศลหรือกิเลส
ถ. เท่าที่ทราบ เท่าที่ได้ยินได้ฟัง คนทำกุศลเพื่อไปเกิดในสวรรค์บ้าง เพื่อจะได้ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ ๑ บ้าง เพื่อจะได้เป็น ผบ.ทอ. บ้าง เพื่อ จะได้เป็นแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้าง
สุ. คนสวดมาก และคนที่จะได้เป็น ผบ.ทอ. มีกี่คน เพราะฉะนั้น การสวดมนต์จะทำให้ได้ผลอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะการทำอะไรโดยที่ไม่เข้าใจจะ ทำให้หวังผลโดยที่ไม่ตรงกับเหตุ
ถ. ที่อาจารย์บรรยายเรื่องการปฏิบัติธรรม กรุณายกตัวอย่างวิธีปฏิบัติธรรมนิดๆ หน่อยๆ ผมเองปัญญาน้อย ไม่สามารถจะจับใจความได้ ขอการปฏิบัติธรรม ที่มีหลักการง่ายๆ เป็นหัวข้อ เป็นหลักปฏิบัติธรรม อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วย
อ. การปฏิบัติธรรมง่ายๆ ไม่มี มีแต่ยากๆ เพราะว่าแนะแล้วหลายอย่าง ฟังธรรมบ่อยๆ ธรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่ความคิดเห็นของใครๆ ที่คิดว่า อย่างนี้น่าจะ เป็นธรรม นั่นน่าจะเป็นความจริง น่าจะเป็นอย่างนี้ น่าจะเป็นอย่างนั้น ธรรมที่ถูกต้อง ต้องใช้ปัญญากว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ ต้องพิจารณา และการพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย
ถ. คือ ผมอยากจะได้หลักการปฏิบัติว่า มีอะไรบ้าง
อ. อยากปฏิบัติอะไร
ถ. ที่อาจารย์พูดว่า ธรรม ผมอยากจะทราบหลักการปฏิบัติธรรมว่า มีอะไรบ้าง
อ. ธรรมที่ปฏิบัติแล้วได้ผลจริงๆ ใช่ไหม ก็ต้องเป็นกุศลธรรม ซึ่งมี ๑๐ ประการ การให้สิ่งของที่มีประโยชน์เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ไม่ว่าเป็นใคร ไม่ใช่เฉพาะคนที่เราชอบ เรารัก หรือคิดว่าให้แล้วจะได้อะไรกลับคืนมาจากเขา นี่ข้อแรก ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะกว่าจะให้ได้ต้องมีของที่จะให้คนอื่นได้ และต้องมีผู้รับด้วย ไม่ใช่อยากให้เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีผู้รับ การให้จะสำเร็จต้องมีสิ่งของ ที่ให้ ฉะนั้น ไม่ง่าย ต้องฟัง ถ้าอยากจะเข้าใจ ต้องมีสิ่งของที่จะให้ ต้องมีผู้รับ และต้องมีจิตใจที่เป็นกุศลด้วย นั่นเป็นประการแรก และมีอีก ๙ ประการด้วย ซึ่งยากขึ้น เรื่อยๆ และนั่นเป็นหลัก ถ้าใครไม่สนใจที่จะให้สิ่งของแก่คนอื่น เพื่อให้เขามีความสุข ไม่เห็นประโยชน์ คือ ถ้าเสียสละขั้นนี้ไม่ได้ เสียสละขั้นอื่นๆ ก็คงไม่ได้ เพราะว่า ยากกว่านี้
สุ. คำถามเมื่อกี้คงจะรวมกับคำถามของท่านที่เขียนถามมาว่า หลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่สรุปได้ ๓ ข้อ คือ ๑. ทำความดี ๒. ละความชั่ว ๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส เพราะฉะนั้น เพียงแค่ ๓ ข้อนี้ ถ้าเราทำได้ ก็น่าจะพอเพียงสำหรับปุถุชนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องเรียนธรรมอะไรเพิ่มเติม จริงหรือไม่จริง
ที่ว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่สรุปได้ ๓ ข้อฟังดูเหมือนกับว่า แทนที่จะศึกษาให้ครบ ๘๔,๐๐๐ ถ้าเข้าใจจริงๆ เพียงแค่ ๓ ข้อ และประพฤติปฏิบัติตามได้ก็คงจะครบทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ว่าแต่ละข้อไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายอย่างที่คุณอัลลันได้เรียนให้ทราบแล้ว เช่น ข้อที่ ๑. ทำความดี ข้อที่ ๒. ละความชั่ว ซึ่งความจริงรู้สึกว่าจะสลับกัน คือ ข้อที่ ๒. ควรเป็นข้อที่ ๑. คือ ละความชั่วแล้ว ก็ทำความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส
เพียง ๓ ข้อนี้ ถ้าเราทำได้ก็น่าจะพอเพียงสำหรับปุถุชนทั่วไป
พอแน่ ถ้าทำได้ แต่ว่าทำได้หรือเปล่า
ข้อที่ ๑. ที่ว่าละความชั่ว ทำได้ครบไหม แม้แต่เพียงศีล ๕ ไม่ต้องถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือศีลที่มากกว่านั้น เพียงศีล ๕ ข้อซึ่งควรจะเป็นนิจศีล แต่ผู้ที่ละ ความชั่ว คือ เว้นทุจริต ๕ ประการนี้ได้โดยสมบูรณ์ ต้องเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระโสดาบัน
แม้แต่ศีลข้อที่ ๑ คือ งดเว้นการฆ่าสัตว์ ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่รู้สึกว่าทุกคนก็งดเว้นอยู่เป็นประจำ แต่สัตว์เล็กสัตว์น้อย มดยุงปลวกเหล่านี้ ก็ยังมีเหตุ มีข้ออ้าง ที่ไม่สามารถจะงดเว้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้บรรลุถึงการละความชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส คือ หมดจดจากกิเลสจริงๆ ต้องเป็นพระอริยบุคคล รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่ว่าปุถุชนสามารถจะทำได้ครบทั้ง ๓ ข้อ
นี่เป็นเหตุที่ถ้าศึกษาพระธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพื่อจะประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะรู้จักกำลังของตัวเองว่า มีความเลื่อมใส มีความศรัทธา มีความเข้าใจในพระธรรมมากน้อยแค่ไหน ถ้าใครสามารถรักษาศีลได้ครบทั้ง ๕ ข้อ โดยที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ก็นับว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธามาก
ถ้าเหตุการณ์ยังอำนวยอยู่ที่จะให้รักษาศีลได้ ทุกคนก็รู้สึกว่าศีล ๕ ไม่ยาก แต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำให้รักษาศีลได้ไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งข้อใด ก็ล่วงศีล ไปแล้ว เพราะฉะนั้น แม้แต่ศีล ๕ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้โดยง่ายเลย ถ้าทุกคนรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ยังต้องล่วงศีล ๕ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ถ้าอยากจะเป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ ได้ครบ จริงๆ มีทางเดียว คือ ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจโดยถูกต้อง เพื่ออบรมเจริญปัญญาเป็นพระโสดาบันเมื่อไร เมื่อนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องการที่จะล่วงศีล ๕ เลย
อ. รู้สึกว่าการศึกษาสำคัญมาก ทำให้เริ่มสังเกตหลายสิ่งหลายอย่างที่ ถ้าไม่ได้ศึกษายากที่จะสังเกต ในชีวิตประจำวันถ้าหากว่าใครเกิดสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความสนใจนั้นเองที่ทำให้อ่านหนังสือ หรือฟังคนอื่นพูดถึงสิ่งนั้น ซึ่งจะทำให้ตนเองสำเร็จหลายอย่างเกี่ยวกับสิ่งนั้นต่อไปในอนาคต
ผมเองเป็นคนที่สนใจสะสมรูปภาพของศิลปินไทย เมื่อปีที่แล้วไม่มีความรู้ เดี๋ยวนี้ผมฟัง ผมอ่าน ผมมีความรู้ ผมไปไหนผมเห็นภาพที่ไหน ผมสามารถบอกได้หลายครั้งว่า ใครเป็นคนวาด ใครเป็นศิลปิน เพราะผมศึกษามา
เรื่องของธรรม เรื่องของกุศล อกุศล ถ้าคุณศึกษา คุณจะค่อยๆ สังเกต อย่างละเอียดขึ้นๆ ว่า ความคิดที่เกิดขึ้นเป็นความคิดที่ดีหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จะรู้ละเอียดขึ้น และจะเกิดศรัทธาอยากให้ดีขึ้นด้วย อาจจะเกิดละอายความคิด หลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเมื่อก่อนก็เป็นสิ่งปกติธรรมดาของตัวเอง ไม่ได้สังเกตว่า เป็นแบบไหน เฉยๆ แต่หลังจากศึกษาแล้ว รู้ดีขึ้นแล้ว จะสังเกต และรังเกียจ และอยากให้ดีกว่านี้
เพราะฉะนั้น การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และช่วยให้เกิดกำลังใจ ช่วยให้เกิดความสนใจขึ้น เกิดศรัทธา เกิดปัญญาที่รู้เรื่องของการปฏิบัติธรรม และมีกำลังใจ ที่จะปฏิบัติธรรมมากขึ้นด้วย
สุ. มีคำถามหลายข้อ ซึ่งคำถามทั้งหมดนี้จะตอบได้เมื่อท่านศึกษา พระธรรม คำถามที่เขียนมามีว่า
ข้อ ๑. ในปัจจุบันมีคนนิยมปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า ธรรมกาย (ถ้าผิดขอประทานโทษ) คือ ได้ยินคำว่า ธรรมกาย บ่อยครั้งมาก จนเกิดความสงสัยว่า ธรรมกายคืออะไรกันแน่
แนวทางสั่งสอนของหลวงพ่อพระพุทธทาสแห่งสวนโมกข์ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร แนวทางสั่งสอนธรรมของพระพยอมเป็นอย่างไร พระกิตติวุฒโทเป็นพระเช่นไร เป็นพระการเมือง หรือเป็นพระนักพัฒนา
สุ. ที่จะเข้าใจธรรม และสามารถรู้ว่าข้อปฏิบัติต่างๆ มีอยู่ในพระไตรปิฎก หรือว่าคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก ก็ต้องด้วยการศึกษาพระธรรม
ทั้งหมดนี้ ถ้าศึกษาพระธรรม ท่านตอบได้ด้วยตัวของท่านเองจริงๆ
สำหรับคำถามข้อนี้ แนวทางสั่งสอนธรรมในแนวความคิดของท่านอาจารย์ อัลลัน ไดร์เวอร์ ควรจะเป็นอย่างไร
อ. เป็นอย่างไรก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ขอให้ถูกต้องแค่นั้นเอง เพราะว่าการศึกษาและการสอนธรรม ธรรมเป็นเรื่องชีวิตเรา ผมคิดว่า ทุกคนสนใจชีวิตของตัวเองมาก คิดว่าทุกคนจะไม่เบื่อการศึกษาธรรม ถ้ารู้ว่าธรรมคือชีวิตของตัวเอง และถ้าเจอคน ที่มีความรู้เมื่อไร ก็ควรจะคุยกับเขาเมื่อนั้น ไม่ว่าที่ไหน ไม่ต้องใช้คำทางด้านศาสนา ก็ได้ ไม่ต้องใช้ชื่อยาวๆ ก็ได้ ใช้คำธรรมดาๆ ได้ เพราะเป็นเรื่องชีวิตของเราทุกวินาที
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะศึกษาธรรมหรือว่าสอนธรรม คือ คนสอนต้องมีความรู้ และคนฟังต้องมีปัญญาพอที่จะพิจารณาเห็นว่า บุคคลที่สอนนั้น มีความรู้ มีความเข้าใจ คือ สิ่งที่เขาสอนมีประโยชน์ มีเหตุผลที่ถูกต้อง พยายามฟังที่เขาอธิบาย และหาโอกาสที่จะพบเขาอีก หรือถ้าเป็นหนังสือ ก็อ่านบ่อยๆ
สุ. ใช้คำว่า สอนธรรม แนวทางสอนธรรม เพราะฉะนั้น ไม่พ้นจากเรื่องธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุทั้งหลาย หรือคฤหัสถ์ก็ตาม ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจศึกษาธรรม และมีความรู้พอที่จะพูดหรือแสดงธรรม ก็ต้องเป็นเรื่องธรรม ไม่ใช่เรื่องอื่น คือ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องอื่น แต่ต้องเป็นเรื่องธรรม
เพราะฉะนั้น ธรรม คือ ชีวิตประจำวัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทุกอย่างคือธรรม ถ้าใครก็ตามพูดเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน โดยแนวทางที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้ว นั่นคือผู้นั้นกำลังแสดงธรรมให้บุคคลอื่นเข้าใจ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗๒ ตอนที่ ๑๗๑๑ – ๑๗๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1686
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1687
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1688
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1689
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1690
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1691
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1692
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1693
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1694
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1695
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1696
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1697
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1698
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1699
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1700
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1701
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1702
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1703
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1704
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1705
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1706
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1707
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1708
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1709
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1710
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1711
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1712
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1713
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1714
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1715
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1716
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1717
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1718
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1719
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1720
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1721
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1722
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1723
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1724
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1725
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1726
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1727
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1728
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1729
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1730
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1731
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1732
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1733
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1735
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1736
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1737
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1738
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1739
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1740
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1741
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1742
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1743
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1744
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1745
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1746
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1747
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1748
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1749
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1750
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1751